posttoday

ถอดยศทักษิณเข้าทาง"พท."จุดไฟขัดแย้ง

12 สิงหาคม 2558

การถอดยศอาจกลายเป็นชนวนให้ทั้งมวลชนฐานเสียงเพื่อไทยออกมาเคลื่อนไหวท้าทาย คสช.

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

กระบวนการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินหน้ามาจนถึงปลายทางท่ามกลางการจับจ้องว่านี่จะเป็นชนวนสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดขึ้นในสังคมที่เต็มไปด้วยบรรยากาศอันเปราะบาง

ต้องยอมรับว่าความพยายามถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ มีมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายรัฐบาลที่ผ่านมา แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่อาจผลักดันไปจนถึงปลายทางได้ ต่างจากกรณีการถอนหนังสือเดินทาง พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ทำสำเร็จมาหลายรอบ รวมทั้งรอบล่าสุดหลังรัฐบาลก่อนได้คืนหนังสือเดินทาง​ ซึ่งต่อมารัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีมติถอนหนังสือเดินทางอีกครั้ง

ความแตกต่างระหว่างการถอดยศ กับการถอนหนังสือเดินทางอยู่ตรงแง่มุมของข้อกฎหมายที่การถอดยศจะมีประเด็นซับซ้อนมากกว่าการถอนหนังสือเดินทาง และที่สำคัญการถอดยศมีความ “ละเอียดอ่อน” อาจกระทบต่อความรู้สึกมากกว่า จนเป็นห่วงกันว่าเรื่องนี้จะเป็นชนวนปลุกความขัดแย้งให้ฝ่ายขั้วอำนาจเก่าออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านท้าทายอำนาจ คสช.ในอนาคต

สำหรับรอบนี้กองเชียร์ตั้งความหวังเป็นพิเศษ ทั้งในแง่อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในมือ คสช. รวมทั้งกระแสเรียกร้อง กดดันจากสังคม จนเห็นท่าทีการออกตัวอย่างรวดเร็วของฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ก่อนทุกอย่างจะกลับจากหน้ามือเป็นหลังมือ ทุกอย่างค่อยๆ หยุดชะงัก ต่างฝ่ายต่างโยนเผือกร้อนไม่ต้องการแบกรับความรับผิดชอบนี้ไว้แต่เพียงผู้เดียว ท่ามกลางความสงสัยว่ามีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไรที่ทำให้เรื่องนี้ถูกยื้อ

หากจำได้ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง เมื่อครั้งขึ้นมารับตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) แสดงท่าทีขึงขังส่งสัญญาณลุยเรื่องถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ สอดรับกับที่คณะกรรมการถอดยศข้าราชการตำรวจ ซึ่งมี พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล ที่ปรึกษา (สบ 10) เป็นประธานคณะกรรมการถอดยศข้าราชการตำรวจ มีมติเป็นเอกฉันท์ 5 ต่อ 0 รับรองให้ถอดยศ

แต่กระนั้น ​พล.ต.อ.สมยศ ก็ยังไม่ผลีผลามรีบเซ็นคำสั่งถอดยศในทันที อธิบายเพียงแค่ว่าเป็นขั้นตอนให้ฝ่ายกฎหมายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ตรวจสอบข้อกฎหมายว่าถูกต้องตามข้อกฎหมาย ไม่ใช่แค่ “ตรายาง” ที่เอาแต่ปั๊ม เพราะในฐานะ ผบ.ตร.ก็ต้องปกป้องสิทธิตนเองในการตรวจสอบให้รอบคอบ หากเซ็นไปแล้วเกิดปัญหาขึ้น คนที่โดนฟ้องคือตนเอง ใน 4 เดือนหลังจากนี้อยากลงจากตำแหน่ง ผบ.ตร.โดยไม่ต้องขึ้นศาล

ทำให้เรื่องนี้คาราคาซังจนปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเพราะประเด็นข้อกฎหมายที่ทาง สตช.สามารถดำเนินการถอดยศผู้ที่ไม่ได้รับราชการอยู่จะได้หรือไม่ จึงได้ทำบันทึกถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และยังไม่ได้รับการตอบกลับ

ความล่าช้าทำให้เผือกร้อนถูกโยนไปอยู่ในมือ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ที่เดินหน้าคู่ขนานไปอีกทางได้เรียกคณะทำงานฝ่ายกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งคณะกรรมการพิจารณาถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ของ สตช. และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มาเข้าร่วมหารือ 

สุดท้ายผลออกมาที่ประชุมมีความเห็นว่าเข้าองค์ประกอบทางกฎหมายสามารถถอดยศได้ ไม่ติดเงื่อนไขใด พร้อมส่งเรื่องให้ สตช.เดินหน้าถอดยศ

แน่นอนว่างานนี้เรียกคะแนนจากมวลชนฝั่งตรงข้ามอำนาจเก่าได้ไม่น้อย เพราะก่อนหน้านี้การยื้อเรื่องถอดถอนถูกมองว่ามีความพยายามต่อรอง หรือฮั้วกันระหว่าง คสช.​และขั้วอำนาจเก่าหรือไม่

การถอดยศครั้งนี้จึงเป็นคำตอบให้หายข้องใจและดับฝันเส้นทางการประนีประนอมยอมความในอนาคต ทำให้นักการเมืองที่ยังมีคดีค้างคาอยู่ในกระบวนการยุติธรรมต้องเริ่มร้อนๆ หนาวๆ ไปตามกัน​​

​แต่อีกด้านหนึ่งการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ย่อมถือเป็นการตอกย้ำฝังแค้น ซึ่งประเมินแล้วสุดท้ายจะกลายเป็นชนวนให้ทั้งมวลชนคนเสื้อแดง หรือฐานเสียงเพื่อไทย รวมพลังออกมาเคลื่อนไหวท้าทาย คสช.

เมื่อความพยายามพุ่งไปเป้าใหญ่อย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกมองว่าเป็นการกลั่นแกล้ง แถมสอดรับกับคดีต่างๆ ก่อนหน้านี้ทั้งการถอดถอนอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร การดำเนินคดีอาญา คดีแพ่ง จากความเสียหายคดีจำนำข้าว ไปจนถึงการถอดถอนอดีต สส.ที่จ่อใกล้ลงมติชี้ขาด

​​นี่จึงยิ่งเป็นการเติมเชื้อความขัดแย้งที่อาจสร้างแรงกระเพื่อมย้อนกลับมายังรัฐบาลและ คสช.อย่างรุนแรง ​โดยในจังหวะเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญทางการเมือง ซึ่งมีปมร้อนจ่ออยู่ข้างหน้าหลายเรื่อง ผลจากการถอดยศครั้งนี้​ย่อมสั่นคลอนเสถียรภาพของ คสช.ที่รุนแรงมากกว่าที่ผ่านๆ มา

แถมอาจส่งผลกระทบต่อเนื่อง แปรเปลี่ยนจากคะแนนสงสาร และแรงแค้น กลายเป็นคะแนนเสียงเทให้กับพรรคเพื่อไทย หรือสร้างความเข้มแข็งให้มวลชนคนเสื้อแดงกลับมาเป็นปึกแผ่นเหนียวแน่นอีกครั้ง​