posttoday

ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งยาก ครม.กลัวหมู่บ้านกระสุนตก

07 สิงหาคม 2558

ยิ่งใกล้วันที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะลงมติร่างรัฐธรรมนูญมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้การเมืองใน สปช.เข้มข้นมากขึ้นเท่านั้น

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ยิ่งใกล้วันที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะลงมติร่างรัฐธรรมนูญมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้การเมืองใน สปช.เข้มข้นมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะการเปิดหน้าอย่างเป็นทางการของสมาชิก สปช. จำนวน 22 คน ในการเสนอให้ สปช.กำหนดคำถามประชามติว่า “เห็นด้วยกับการปฏิรูปประเทศ 2 ปีก่อนการเลือกตั้งหรือไม่”

กลุ่ม 22 สปช.ที่ออกตัวครั้งนี้ นำโดย ไพบูลย์ นิติตะวัน กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ อดีตแกนนำกลุ่ม 40 สว. พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 เตรียมทหารรุ่นที่ 12 รุ่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.ร.อ.สุรินทร์ เริงอารมณ์ อดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด เตรียมทหารรุ่นที่ 6 รุ่นเดียวกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม

คุรุจิต นาครทรรพ ปลัดกระทรวงพลังงาน เคยผ่านหลักสูตรวิทยาการธุรกิจและอุตสาหกรรมรุ่นที่ 1 (วธอ.) รุ่นเดียวกับ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.วรวิทย์ พรรณสมัย อดีตผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เตรียมทหารรุ่น 10 รุ่นเดียวกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป อดีตหัวหน้าสำนักงานมูลนิธิรัฐบุรุษของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี

“หากเห็นชอบให้มีการปฏิรูปประเทศอีก 2 ปีก่อนจัดการเลือกตั้ง มีผลให้ต้องแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นดังนี้ บทเฉพาะกาลมาตรา 277 (1) นับจากวันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อครบกำหนด 2 ปี ให้ดำเนินการเลือกตั้ง สส.ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน ซึ่งในระหว่าง 2 ปีที่ต้องดำเนินการปฏิรูปประเทศนั้นให้มีการตรา พ.ร.บ.ที่จำเป็นซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จทั้งหมด” สาระสำคัญของญัตติที่กลุ่ม 22 สมาชิก สปช.ได้ยื่นให้กับประธาน สปช.

ทั้งนี้ ตามขั้นตอนของการกำหนดประเด็นคำถามประชามติของ สปช. ทางวิป สปช.กำหนดให้เป็นเอกสิทธิ์โดยชอบธรรมของสมาชิก สปช.แต่ละคน โดยไม่จำเป็นต้องรวบรวมรายชื่อและทำญัตติเสนอเข้ามา จากนั้น สปช.จะไปตัดสินให้เหลือเพียงคำถามเดียวในวันที่ 7 ก.ย. ซึ่งเป็นวันเดียวกับการลงมติร่างรัฐธรรมนูญ

สำหรับสถานการณ์ของ สปช.ต่อการตั้งคำถามประชามติ ต้องถือว่ามีการแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน

กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มของสมาชิก สปช. 22 คน ที่สนับสนุนการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งขุมกำลังของ สปช.กลุ่มนี้ไม่ได้มีเพียง 22 คน แต่มีจำนวนคนมากกว่าที่ตาเห็น โดยเฉพาะอาจได้รับแรงสนับสนุนจาก สปช.สายทหารอีกแรง เพื่อผลักดันเรื่องนี้ไปให้ถึงเป้าหมาย

กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่ต้องการถามคำถามในประเด็นอื่น โดยเวลานี้มีความพยายามที่จะกำหนดประเด็นคำถามนอกเหนือไปจากการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง เพื่อไม่ต้องการให้ สปช.ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือในทางการเมืองที่นำไปสู่การต่ออายุให้กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เช่น การตั้งคำถามว่า “เห็นด้วยหรือไม่หากจะให้พรรคการเมืองที่ได้เสียงในสภาผู้แทนราษฎรลำดับที่ 1-4 ร่วมกันเป็นรัฐบาล” เป็นต้น

กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มสมาชิก สปช.ที่ไม่ประสงค์จะให้ สปช.ตั้งคำถามประชามติ เนื่องจากเห็นว่า ถ้า สปช.กำหนดประเด็นประชามติอย่างใดอย่างหนึ่งออกไป จะมีผลให้เกิดผลกระทบในทางการเมืองและสร้างบรรยากาศความขัดแย้งได้อีก

ทางที่ดีควรให้มีคำถามเดียว คือ เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่เท่านั้นก็พอ และที่สำคัญ สปช.จะไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดด้วย ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ที่แก้ไขเพิ่มเติมก็ไม่ได้บังคับให้ สปช.ต้องตั้งคำถาม สปช.จึงไม่จำเป็นต้องเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยง

ทั้งนี้ หาก สปช.ในกลุ่มที่ 3 เป็นฝ่ายชนะในสภาย่อมเท่ากับว่าจะไม่มีคำถามประชามติจาก สปช.ไปให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปให้พิจารณา แต่ในทางกลับกัน ถ้า สปช.มีมติให้มีมติส่งคำถาม ก็ไม่ได้หมายความว่าคำถามของ สปช.จะเป็นคำถามที่ถึงมือประชาชน เนื่องจาก ครม.จะเป็นผู้ตัดสินใจสุดท้ายว่าจะเห็นด้วยกับคำถามของ สปช.หรือไม่

อ่านใจ ครม.ในเวลานี้ แน่นอนว่าจะไม่ยอมทำอะไรที่สร้างความเดือดร้อนให้กับตัวเองอย่างแน่นอน ถ้ามองจากตรรกะดังกล่าว ย่อมมีความเป็นไปได้สูงที่ ครม.จะเขี่ยคำถามปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งทิ้ง

หาก ครม.ทำเช่นนั้นก็จะไม่ต่างอะไรกับการชงเองกินเอง โดยรู้ดีอยู่แล้วว่าถ้าประชาชนเห็นด้วยกับการปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้งก็มีผลให้แม่น้ำ 5 สายได้อยู่ในอำนาจต่อไป นั่นก็คือการเปลี่ยนโรดแมปนั่นเอง ซึ่งย่อมไม่เป็นผลดีต่อการบริหารประเทศในระยะยาว

ในเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศหลายต่อหลายครั้งแล้วว่าจะขออยู่ในอำนาจตามโรดแมป คงจะไม่มีอะไรที่ทำให้เปลี่ยนใจได้ เพราะเป็นคำพูดที่ออกมาจากชายชาติทหาร แม้จะมีแรงบีบจากคำถามประชามติของ สปช.ก็ตาม

ดังนั้น โอกาสที่จะได้เห็นการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งจึงเป็นไปได้ยาก แต่ถ้าเป็นคำถามอื่นๆ อย่างการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ หรือการแก้ไขเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ เช่น ที่มา สว. หรือการปฏิรูปประเทศ พอมีโอกาสเป็นไปได้ที่ ครม.จะนำมาพิจารณา เพราะไม่ได้เป็นการล่อเป้าให้ ครม.มีสภาพเป็นหมู่บ้านกระสุนตก