posttoday

ใครได้ ใครเสีย ระบบเลือกตั้งเยอรมัน

29 ธันวาคม 2557

เป็นที่แน่นอนแล้วว่ากมธ.ยกร่างรธน.ได้ทุบโต๊ะรูปแบบการเลือกตั้งครั้งต่อไปว่าใช้รูปแบบของประเทศเยอรมนีหรือ“ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม”

โดย...เลอลักษณ์ จันทร์เทพ

เป็นที่แน่นอนแล้วว่าคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ทุบโต๊ะ รูปแบบการเลือกตั้งครั้งต่อไป ว่าใช้รูปแบบของประเทศเยอรมนี หรือ “ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม” (Mixed-Member Proportional : MMP) แนวคิดดังกล่าวเป็นไปตามที่  “ปริญญา เทวานฤมิตรกุล” อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ เป็นผู้นำเสนอต่อคณะ กมธ.ยกร่างฯ

 ปริญญา ได้เริ่มต้นอธิบายว่า “ระบบเลือกตั้งในโลกนี้ มี 2 ระบบ คือ ระบบเลือกตั้งเสียงข้างมาก (Majority System) และระบบเลือกตั้งสัดส่วน (Proportional Representation) “ทั้งสองระบบมีข้อดีคนละแบบ จึงมี 30 ประเทศ ที่เอามาผสมกัน โดยมีการผสมกัน 2 แบบ แบบแรกคือระบบคู่ขนาน หรือ Parallel System คือทั้งสองระบบจะเลือกแยกกันเด็ดขาดไม่เกี่ยวข้องกันเลย แค่คู่ขนานกันเหมือนเส้นขนาน ซึ่งประเทศไทยใช้ระบบนี้มาตลอดในการเลือกตั้ง 4 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2544 ส่วนระบบผสมแบบที่ 2 เป็นการเอาคะแนนสัดส่วนคือคะแนนเลือกพรรคมากำหนดจำนวน สส.ทั้งสภา ซึ่งเรียกว่า Mixed-Member Proportional เรียกย่อๆ ว่า MMP หรือระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ที่เราเรียกกันว่า ระบบเลือกตั้งแบบเยอรมันนั่นเอง ปริญญา อธิบายว่า โดยปัจจุบันนี้มี 9 ประเทศ ที่ใช้แนวทางนี้ ได้แก่ เยอรมนี, แอลเบเนีย, เลโซโท, โบลิเวีย, เม็กซิโก, นิวซีแลนด์, เวเนซุเอลา, อิตาลี และฮังการี ระบบที่คณะ กมธ.ยกร่างฯ มีมติจะใช้นั้นก็คือระบบนี้”

“ความแตกต่างของระบบแบบสัดส่วนผสมกับระบบคู่ขนานที่เราเคยใช้มีแค่จุดเดียวคือ ระบบคู่ขนานคะแนนสัดส่วนจะใช้ในการกำหนดจำนวน สส.สัดส่วนเท่านั้น แต่ระบบสัดส่วนผสมจะใช้คะแนนสัดส่วนกำหนดจำนวน สส.ทั้งสภาของแต่ละพรรค พรรคใดได้คะแนนสัดส่วนเท่าไหร่ ก็จะได้ สส.ทั้งสภาตามสัดส่วนคะแนนนั้น” ปริญญายกตัวอย่างจากจำนวน สส.ในการเลือกตั้งปี 2554 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ซึ่งมี สส. 500 คน แบ่งเขตเลือกตั้ง 375 คน และ สส. สัดส่วนบัญชีรายชื่อ 125 คน สมมติว่า พรรค ก.ได้คะแนนแบบสัดส่วน 20% ถ้าเป็นระบบคู่ขนาน พรรค ก.จะได้ สส.แบบสัดส่วน 20% ของจำนวน สส. สัดส่วนที่มีคือ 125 คน ซึ่งเท่ากับ 25 คน และสมมติว่าพรรค ก.ชนะการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตได้ สส.มาแล้ว 60 คน พรรค ก.ก็จะได้ สส.รวมกัน 85 คน แต่ถ้าเป็นระบบเยอรมัน พรรค ก.จะได้ สส. 20% ของ สส.ทั้งหมดที่มี คือ 500 คน 20% ของ 500 ก็คือ 100 พรรค ก.จึงได้ สส.100 คน จากนั้นก็มาดูว่าพรรค ก.ได้ สส.แบบแบ่งเขตไปแล้วกี่คน ขาดอยู่เท่าใด ก็เอาผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อมาเติมให้จนครบ พรรค ก.ได้ สส.แบบแบ่งเขตไปแล้ว 60 คน ก็แปลว่ายังขาดอยู่อีก 40 คน และนั่นคือจำนวน สส.แบบสัดส่วนบัญชีรายชื่อที่พรรค ก.จะได้ คือ 40 คน

ใครได้ ใครเสีย ระบบเลือกตั้งเยอรมัน

ปริญญา ระบุต่อไปว่า “ข้อดีของระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม คือเป็นรูปแบบการเลือกตั้งที่ต้องการให้สภาสะท้อนเจตนารมณ์ความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง คือแต่ละพรรคจะมี สส.ในสภาตรงกับความเป็นจริงที่ประชาชนเลือก โดยที่ สส.แบ่งเขตไม่ได้หายไปไหน เสียงของประชาชนจะไม่สูญเปล่า ส่งผลให้พรรคขนาดเล็กและขนาดกลางมีโอกาสได้รับเลือกตั้งมากขึ้น ซึ่งจะทำให้รัฐบาลมีความเข้มแข็งตามความเป็นจริง และฝ่ายค้านก็จะมีความเข้มแข็งตามความเป็นจริง การตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างรัฐบาลและฝ่ายค้านในสภาก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

สำหรับปัญหาของระบบเลือกตั้งแบบเดิมของไทยนั้น หากยกตัวอย่างการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2554 แบบแบ่งเขตเลือกตั้งหรือเสียงข้างมากธรรมดาจำนวน 375 คน พรรคเพื่อไทยได้ไป 205 คน เท่ากับ 54% ซึ่งถ้ารวมคะแนนแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของผู้สมัครพรรคเพื่อไทยทุกคนทั้งสอบได้และสอบตก คะแนนได้เพียงแค่ 44% ยิ่งถ้าคิดรวมกับบัตรเสียและงดออกเสียงด้วยแล้ว พรรคเพื่อไทยได้คะแนนแบบแบ่งเขตแค่ 41% เท่านั้น แต่ได้ สส.ถึง 54% “จากตัวเลขนี้เราจะเห็นถึงข้อเสียว่า ระบบเลือกตั้งเดิมนั้นไม่ได้สะท้อนความเป็นจริง เพราะผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดคือผู้ที่ได้รับเลือกตั้ง โดยไม่สนใจคะแนนที่ไม่ได้รับเลือกตั้งเลย ทั้งที่คะแนนไม่ได้รับการเลือกตั้งอาจจะมากกว่าคะแนนที่ได้รับการเลือกตั้งก็ได้ แต่ข้อดีคือเลือกง่ายเท่านั้น ซึ่งผลที่จะตามมาทีหลังคือพรรคที่ใหญ่อยู่แล้วจะใหญ่ขึ้น และพรรคเล็กก็จะเล็กลง จนหายไปในที่สุด สุดท้ายจะนำไปสู่การเกิดระบบ 2 พรรคการเมือง เหมือนกับที่อังกฤษและอเมริกา” 

 ปริญญา ชี้ว่า เพราะการใช้ระบบดังกล่าวเป็นหลัก ประเทศไทยตอนนี้เราเริ่มจะเหลือเพียงแค่ 2 พรรคแล้ว คือพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ “ระบบแบบนี้มีผลเสีย คือพรรคใหญ่สุดที่ได้เป็นรัฐบาลจะเข้มแข็งเกินความเป็นจริง ส่วนฝ่ายค้านอ่อนแอเกินความเป็นจริง เพราะพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กจะได้ สส.น้อยกว่าความเป็นจริง ถ้าระบบตรวจสอบถ่วงดุลไม่ดีจะก่อให้เกิดปัญหาได้ และระบบ 2 พรรคนี้จะส่งผลให้การเมืองถูกบังคับว่าต้องเลือกข้าง เกิดการแตกหัก ซึ่งต่างจากการที่สภามีหลายพรรคจะเกิดการประนีประนอมมากกว่า ซึ่งเหมาะกับสถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังแตกแยก มีความขัดแย้งสูง ต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยมีความหลากหลาย ไม่ได้มีเพียงแค่ 2 ฝ่ายนะครับ แต่ที่ผ่านมาระบบเลือกตั้งของเราพาไปสู่ความแตกแยกมากขึ้น เพราะประชาชนถูกบังคับทางอ้อมให้ประชาชนต้องเลือกระหว่าง 2 พรรคใหญ่ เพื่อไม่ให้คะแนนเสียงของตนเองตกน้ำหายไป”

อย่างไรก็ตาม ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม หรือแบบเยอรมันนี้ จะส่งผลให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่หรือพรรคเพื่อไทยออกมาตั้งคำถามว่า การเลือกใช้ระบบดังกล่าวนี้มีเป้าหมายเพื่อลดจำนวน สส.ของพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ปริญญา ตอบว่า “พรรคใหญ่ที่สุดจะมี สส.ลดลงอย่างแน่นอน เพราะที่ผ่านมาพรรคใหญ่ที่สุดได้ที่นั่ง สส.เกินความเป็นจริงมาโดยตลอด แต่ผมอยากเรียนว่า ประวัติศาสตร์ทางการเมืองในโลกไม่เคยมีพรรคการเมืองใดจะเป็นรัฐบาลตลอดไป หรือเป็นฝ่ายค้านตลอดไปนะครับ ระบบเลือกตั้งที่เราต้องการจึงน่าจะเป็นระบบที่ไม่ว่าพรรคใดจะเป็นรัฐบาล หรือพรรคใดจะเป็นพรรคฝ่ายค้าน พรรคทุกพรรคจะได้ สส.ตรงตามเจตนารมณ์ของประชาชน ซึ่งเป็นระบบเลือกตั้งที่เป็นธรรมที่สุด”