posttoday

"ชีวิตหลังกรงขัง เมื่อคนดังอยู่ในคุก ที่นี่ไม่มีอภิสิทธิ์ชน" กอบเกียรติ กสิวิวัฒน์

13 กันยายน 2560

ไขข้อสงสัยชีวิต-กิจกรรมของผู้ต้องขังหลังกำแพงสูง พร้อมทางแก้ปัญหานักโทษล้นคุก ผ่านสายตาตลอดชีวิตการทำงาน 36 ปี ของ กอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์

โดย...วิรวินท์ ศรีโหมด

สังคมไทยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา หากทำผิดไม่ว่าเป็นประชาชน นักการเมือง นักธุรกิจ ผู้มีชื่อเสียง หลังถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุก (ไม่นับรวมหลายคนที่หลบหนีคดีออกนอกประเทศ) ต้องถูกนำตัวเข้าไปพันธนาการอยู่เบื้องหลังกำแพงสูง ที่มองเห็นแต่ฟ้าและเรือนนอน จนกว่าถึงวันพ้นโทษ 

เรือนจำ หรือ คุก จึงเปรียบเสมือนแดนสนธยาที่ไม่มีใครอยากเข้าไปสัมผัส แต่ที่ผ่านมามักได้ยินเรื่องราวภายใน จากผู้ที่เคยเข้าไปใช้ชีวิตออกมาเล่าเท่านั้น ว่าชีวิตเหมือนนกที่ถูกขัง ทำให้หลายครั้งพบว่าเมื่อผู้มีชื่อเสียงเข้าไป วันต่อไปข่าวจะออกว่า บุคคลเหล่านั้นมีอาการเครียด แต่หลังจากนั้นชีวิตบุคคลที่ถูกเรียกว่า คนคุก ไม่มีใครรับรู้ชีวิตอีกเลย

โพสต์ทูเดย์ได้พูดคุยกับ กอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผู้ทำงานแวดวงกรมคุกมานานกว่า 36 ปี และกำลังเกษียณอายุราชการ 30 ก.ย.นี้ จะมาไขข้อข้องใจ การใช้ชีวิตของนักโทษหลังกำแพงสูงว่าเป็นอย่างไร ทำไมนักโทษใหม่ต้องมีอาการเครียด บางคนยอมเสี่ยงหนีออกนอกประเทศ เพื่อไม่ต้องการติดคุก และทางแก้ปัญหาคนล้นคุกในอนาคตควรทำอย่างไร

เปิดชีวิต 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันแรกถึงวันพ้นโทษ

กรมราชทัณฑ์ เป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงยุติธรรม ทำหน้าที่ดูแลเรือนจำทั้งหมด 143 แห่ง ปัจจุบันมีนักโทษในความดูแลประมาณ 2.9 แสนคน 

กอบเกียรติ เล่าว่าวันแรกหลังถูกศาลตัดสินจำคุก เมื่อนักโทษถูกนำตัวเข้าเรือนจำ ทุกคนต้องทำประวัติ พิมพ์ลายนิ้วมือ ตรวจโรค รับของใช้ (เสื้อ 3 ชุด และของใช้จำเป็น) จากนั้นจะถูกส่งไปอยู่แดนแรกรับ เพื่อเตรียมเข้าสู่ขั้นตอนจำแนกลักษณะ ซึ่งจะทำกิจกรรมฝึกระเบียบวินัย อบรมพัฒนาจิตใจ แก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ 2 - 4 สัปดาห์ ตามโปรแกรม ก่อนแยกไปอยู่และฝึกอาชีพตามแดน โดยเกณฑ์พิจารณาดูจากความสามารถ ความประสงค์นักโทษ เช่น แดนช่างไม้ แดนช่างเชื่อม

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า เป็นเรื่องปกติเมื่อนักโทษเข้าใหม่ ต้องมีปัญหาสภาพจิตใจ เช่นเดียวกับคนที่พลัดบ้านไปเรียนต่างประเทศ แต่คนในคุกความรู้สึกอาจมากกว่านั้น เพราะไม่สามารถกลับบ้านได้ตามต้องการ รอถึงวันพ้นโทษ แต่การดูแลสภาพจิตใจนักโทษใหม่ เรือนจำจะมีนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา คอยแลดูนักโทษกรณีที่อาการหนัก แต่ถึงอย่างไรคิดว่า เมื่อเข้ามา ผู้ต้องขังทุกคนต้องใช้เวลาปรับตัวกับสภาพแวดล้อมสักระยะประมาณ 7-10 วัน ถึงจะชินสังคมใหม่

ขณะที่กิจวัตรผู้ต้องขัง ตื่น 6 โมงเช้า เพื่อลงจากเรือนนอนมาอาบน้ำ ทำกิจวัตรส่วนตัว เสร็จแล้วเข้าแถวเคารพธงชาติ กินข้าวเช้า หลังจากนั้นจะแยกไปฝึกตามแผนก พอเวลาเที่ยวก็มากินข้าว บ่ายทำกิจกรรมต่อ บ่าย 3 ก็เลิกทำงาน จากนั้นให้ไปอาบน้ำ กินข้าว เตรียมตัวขึ้นโรงนอน 5 โมงเย็น ส่วนการดูแลผู้ต้องขังในเรือนนอน แต่ละห้องขังจะมีหัวหน้าห้องคอยดูแล หากมีปัญหาอะไร จะเป่านกหวีดเรียกผู้คุม ประกอบกับดูแลด้วยกล้องวงจรปิดเพิ่มเติม

"ชีวิตหลังกรงขัง เมื่อคนดังอยู่ในคุก ที่นี่ไม่มีอภิสิทธิ์ชน" กอบเกียรติ กสิวิวัฒน์

คนคุกไม่มีอภิสิทธิ์ และไม่ได้ถูกแบ่งตามฐานะเศรษฐกิจ-สังคม

นักโทษคนดัง นักการเมือง ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ 60-70 ปี เมื่อเข้ามาจะถูกจัดให้อยู่แดนคนชรา อาจไม่ต้องฝึกหรือทำงานหนักเหมือนวัยหนุ่ม โดยกิจกรรมหลักเพื่อทำให้ผ่อนคลาย เช่น ฝึกสมาธิ ฝึกธรรม แต่หากอยู่ช่วงวัยปกติ ยังไงก็ต้องทำเหมือนคนอื่น คือ ฝึกอาชีพความถนัด ตามความเหมาะสม

“ถามว่านักโทษมีอภิสิทธิ์ไหม อภิสิทธิ์ มันต้องพูดเป็นกรณีไป ถ้าหากคนแก่ คนป่วย ไม่ต้องทำงาน ถือว่ามีอภิสิทธิ์ไหม เราทำตามความเหมาะสม คำว่า อภิสทธิ์ยังไง เราไม่ให้ใคร”

“โฟกัสแต่ คนดัง นักการเมือง แต่มันต้องดูว่า เค้าทำผิดอะไร เค้ามีความสามารถอย่างไรที่จะทำงานได้ ซึ่งเราไม่ได้ดูตามฐานะเศรษฐกิจ สังคม”

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า รวย ดัง มีผลไหมหรือไม่ในเรือนจำนั้น ที่จริงหากเอาเงินเข้าไปได้ ก็มี ดังนั้นต้องมีมาตรการจำกัดการใช้เงิน โดยมีกฎห้ามนำเงินสดเข้าเรือนจำ จะอนุญาตให้นักโทษใช้เงินวันละไม่เกิน 300 บาท แต่ละคนมีบัญชีเงินเก็บไม่เกิน 9 พันบาท ไว้ซื้อของจำเป็น เช่น กาแฟ ขนม นม บุหรี่ สิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน โดยการซื้อสินค้า นักโทษไม่มีสิทธิ์ถือเงิน แต่ใช้วิธีตัดผ่านบัญชี

กอบเกียรติ ยอมรับว่าปัญหาเรื่องผู้คุมรับเงินอาจมีบ้าง ฉะนั้นการแก้ปัญหาจึงต้องมีระบบตรวจสอบ ที่ทำคู่ไปกับสร้างวัฒนธรรมในองค์กร ซึ่งเป็นเรื่องระยะยาว ไม่เช่นนั้นก็อาจมีผู้ต้องขังให้ญาตินำเงินไปจ่ายเงินข้างนอก

"ชีวิตหลังกรงขัง เมื่อคนดังอยู่ในคุก ที่นี่ไม่มีอภิสิทธิ์ชน" กอบเกียรติ กสิวิวัฒน์

 

สังคมช่วยตรวจสอบ-ปลูกฝังจริยธรรม ทางแก้ปัญหาอาชญากรรม ฉ้อโกง

กอบเกียรติ มองว่าการแก้ปัญหาอาชญากรรม ฉ้อโกงในสังคม ควรเริ่มจากสถาบันสังคมที่ต้องช่วยกันแทรกแซง ตรวจสอบ แต่ถ้าหากมีการทำผิด และคนในสังคมยังมองเป็นเรื่องปกติ ยังคงมีคนไม่ทำตามกฎระเบียบอยู่ แต่ถ้าหากทำผิดแล้วจับ ก็จะไม่มีคนกล้าทำผิด

“ไม่ว่าโทษแรง ค่อย มันไม่สำคัญ แต่มันสำคัญว่า การตอบสนองกับการกระทำความผิด ช้าหรือเร็ว ฉะนั้นการแทรกแซงตรวจสอบของสังคม เป็นเรื่องสำคัญ”

การแก้ปัญหาต่างๆ ในสังคมต้องเริ่มจากการสร้างค่านิยมที่ถูกต้อง อย่ามองแค่ปลายเหตุ แต่ต้องดูต้นเหตุ ปัญหาใหญ่และสภาพสังคมโดยรวม หากยังยกย่อง ยกมือไหว้ คนกระทำความผิดที่สร้างอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจได้ ค่านิยมของสังคมจะไม่เปลี่ยนแปลง ฉะนั้นต้องเริ่มสร้างค่านิยมวัฒนธรรมการตรวจสอบ ซึ่งอาจต้องใช้เวลา

“สังคมมันต้องแซงชั่นกันเร็ว ไม่ต้องไปขู่คนอื่น เรานั่นแหละ ต้องช่วยกัน มัวคิดว่า ทำผิดยังไงก็รอด คนทำผิดเยอะแยะ ไม่เห็นถูกจับเลย ก็ยังมีปัญหาอยู่ ฉะนั้นสังคมต้องช่วยกันตรวจสอบ แซงชั่น”

กอบเกียรติ มองว่า ผู้ต้องขังในอนาคตยังไงต้องเพิ่มขึ้น หากเอาเรือนจำเป็นตัวแก้ปัญหาอย่างเดียว ซึ่งอาจใช้ไม่ได้อีกต่อไป ต้องปรับ เช่น คดียาเสพติดผู้ต้องหาโทษน้อย ควรพิจารณาว่า สมควรนำเข้าเรือนจำ หรือควรใช้มาตรการอื่นทดแทนการจำคุก แต่ถ้าปล่อยเป็นเช่นนี้ จำนวนนักโทษก็จะเพิ่มขึ้นทุกปี

กอบเกียรติ ปัจจุบันเหลืออายุรับราชการอีกไม่ถึงเดือน หลังจากทำงานเส้นทางเติบโตในกรมคุก มาตลอดระยะเวลา 36 ปี หลังเข้ารับราชการเมื่อปี พ.ศ. 2524 ตำแหน่งนักทัณฑวิทยา 3 ทำงานด้านวิชาการ ตลอดชีวิตการทำงานช่วงหนักสุดของชีวิต คือการกวาดล้างปัญหายาเสพติดและโทรศัพท์มือถือในเรือนจำ ซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงตกต่ำที่สุดของกรม แต่สุดท้ายมุ่งมั่นร่วมมือกับบุคลากรในองค์กร แก้ไขปัญหานั้นได้สำเร็จ

กอบเกียรติ เผยว่าหลักการทำงานตลอดอายุรับราชการ ยึดว่าต้องตั้งใจ จริงจังทุกเรื่อง ทั้งงานและเพื่อน โดยนำองค์กรมาเป็นหัวใจสำคัญ “ถ้าคุณรักองค์กรจริง ต้องบริหารทุกอย่าง โดยใช้องค์กรเป็นตัวตั้ง”

ณ วันนี้ เหลือเวลาอีกไม่กี่วัน กอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ จะพ้นจากตำแหน่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และยุติชีวิตข้าราชการที่เดินมา 36 ปี แต่วันนี้เขายังทำงานเป็นปกติ ไม่ลา ยังคงทำงานเต็มที่และคิดจะทำถึงวันสุดท้าย “ใกล้เกษียณ ก็ยังทำงานอยู่ งานยังมีทุกวัน ยังทำอยู่ จนกว่าจะหมดเวลาการทำงาน เมื่อถึงวันนั้น ก็หยุด จะให้ไปพักผ่อนช่วงใกล้เกษียณนั้น ทำไม่ได้”

"ชีวิตหลังกรงขัง เมื่อคนดังอยู่ในคุก ที่นี่ไม่มีอภิสิทธิ์ชน" กอบเกียรติ กสิวิวัฒน์