posttoday

ภารกิจ "หมอบุญ" สร้างเมืองวัยเกษียณ

05 กรกฎาคม 2560

"วัตถุประสงค์ไม่ใช่แค่เพียงเป็นโครงการดูแลคนชรา แต่เป็นโครงการบูรณาการการดูแลสุขภาพแบบครบวงจร"

โดย...จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

ในช่วงที่ผ่านมาจะเริ่มเห็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลในด้านการขยายสาขา การซื้อกิจการกันเอง เปิดตัวแบรนด์ใหม่เจาะตลาดใหม่ๆ หรือแม้กระทั่งแตกตัวไปทำธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งกลุ่มล่าสุดที่เปิดตัวโครงการใหญ่ออกมา ก็คือ กลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี หรือบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป ซึ่งริเริ่มทำโครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ เมืองแนวคิดใหม่เพื่อวัยเกษียณ ริมถนนพหลโยธิน (รังสิต) ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ถือเป็นการเปิดฉากรับสถานภาพไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างชัดเจน โดยแค่เฟสแรกใช้เงินลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท

นพ.บุญ วนาสิน ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป หัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการริเริ่มโครงการนี้ อธิบายว่า กลุ่มธนบุรีเป็นโรงพยาบาลกลุ่มแรกที่หันมาทำโครงการลักษณะนี้ โดยวัตถุประสงค์ไม่ใช่แค่เพียงเป็นโครงการดูแลคนชรา แต่เป็นโครงการบูรณาการการดูแลสุขภาพแบบครบวงจร (อินทิเกรด เฮลท์แคร์)

จุดเริ่มต้นโครงการนี้มาจาก นพ.บุญ มองเห็นว่า การเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ทั้งที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องอยู่โรงพยาบาลเกิน 2 วัน แต่บางคนกลับต้องอยู่ 5-10 วัน เพราะต้องรอถึงช่วงเวลาตัดไหม เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมองว่าโรงพยาบาลควรมีอีกตึกเพื่อเป็นตึกทำกายภาพและฟื้นฟู โดยคิดค่าใช้จ่ายถูกกว่า 3 เท่า เมื่อเทียบกับการนอนในโรงพยาบาล รองรับผู้ป่วยที่ยังย้ายกลับบ้านไม่ได้ ยังต้องการความช่วยเหลืออยู่บ้าง กลุ่มที่เป็นอัมพาต หรืออีกกลุ่มที่แข็งแรงดีแต่หาคนดูแลไม่ได้ ซึ่งโครงการนี้จะมาตอบโจทย์ทั้งหมด

ในโครงการจะประกอบด้วยอาคารที่พักอาศัยรองรับคนวัยเกษียณ อาคารดูแลผู้สูงอายุที่ต้องการ การดูแลเป็นพิเศษ รวมถึงอาคารสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น สปา ฟิตเนส สระว่ายน้ำ คลาสกิจกรรม ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพและฟื้นฟูสภาพร่างกาย ให้บริการการแพทย์ตั้งแต่ป้องกัน รักษา จนถึงฟื้นฟูด้วยบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญ นอกจากนี้จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกตอบโจทย์ลูกหลานที่มาดูแลผู้สูงอายุ มีพื้นที่สีเขียวด้วย

 นพ.บุญ กล่าวว่า ทฤษฎีสำคัญของโครงการนี้คือ คนที่มาอยู่ อยู่แล้วต้องมีความสุข ซึ่งผู้สูงอายุจะมีปัญหา 2 อย่าง ได้แก่ ซึมเศร้า และสับสน ดังนั้นสิ่งที่เราต้องเข้าไปดูแลมี 3 เรื่อง คือ ดูแลร่างกายให้แข็งแรง ป้องกันด้วยเรื่องอาหารและการออกกำลังกาย ดูแลจิตใจ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่สุดโดยจะมีนักจิตวิทยามาพูดคุยด้วยตลอด และสุดท้าย คือ ดูแลด้านการเงิน

สำหรับการเงิน ต้องวางแผนให้ผู้สูงอายุที่จะซื้อที่อยู่อาศัยในโครงการ ต้องส่งเงินส่วนหนึ่งเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญ (เพนชั่น ฟันด์) ทุกเดือนตั้งแต่ร่วมโครงการ และหากอยู่ในโครงการ 20-30 ปี หรืออายุ 90 ปีแล้วก็สามารถขายคืนที่อยู่อาศัยที่ซื้อไปให้กับโครงการได้ โดยอาจได้เงินคืน 2 เท่า เพราะที่ผ่านมาพบว่าในวาระสุดท้ายของชีวิตผู้ป่วยบางคนอาจต้องใช้เงินที่เก็บมาตลอดชีวิต แต่ถ้าไม่ต้องการขายก็ส่งต่อให้ลูกหลานได้

จากการเดินสายตามองค์กร 30-40 แห่ง เพื่อแนะนำโครงการนี้ พร้อมจัดกิจกรรมด้านสุขภาพออกบูธต่างๆ สำรวจความต้องการ สิ่งที่พบ คือ แม้โครงการนี้ยังไม่เปิดตัวขายเป็นทางการก็มีคนสนใจซื้อเข้ามาแล้วเกือบ 200 ยูนิต 40% เป็นคนที่เกษียณอายุแล้วตั้งใจมาอยู่จริง อีก 60% เป็นกลุ่มที่ยังไม่เกษียณอายุแต่ต้องการเตรียมพร้อมก่อนเกษียณ ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงอายุ 45-55 ปี มีเงินเดือน 5 หมื่น-1 แสนบาท ที่ยังไม่ได้แต่งงาน ไม่อยากเป็นภาระลูกหลาน มีความสามารถผ่อนจ่ายได้เดือนละ 3 หมื่นบาท และสามารถอดออมได้อีกเดือนละ 1 หมื่นบาท เก็บเงินเข้าเพนชั่น ฟันด์ เพื่อที่ในวันที่เป็นผู้สูงอายุจะมีเงิน 10 ล้านบาท กำไว้ในมือ

อย่างไรก็ตาม โครงการก็วางแผนไว้แล้วเพื่อช่วยลดภาระในการผ่อนจ่ายของผู้ที่ยังไม่ได้ต้องการมาอยู่ทันที คือ การนำไปปล่อยเช่า ซึ่งก็อาจช่วยแบ่งเบาภาระการผ่อนจ่ายไปได้เดือนละ 2 หมื่นบาท โดยกลุ่มเป้าหมายหลักของการปล่อยเช่า คือ คนญี่ปุ่นที่ต้องการมาใช้ชีวิตวัยเกษียณเมืองไทย เนื่องจากมีค่าครองชีพที่ต่ำกว่า

“ในโครงการนี้จะมีบริการกิจกรรม 40 อย่าง เป็นบริการขั้นพื้นฐานให้ใช้ฟรี 15 อย่าง อีก 25 อย่างต้องเสียค่าบริการเพิ่ม ก่อนจะมาทำโครงการนี้ก็ไปดูงานและศึกษาตัวอย่างโครงการในจีนมาแล้ว”

ด้านสาเหตุที่เลือกทำเลนี้ทำโครงการเพราะคมนาคมสะดวก ด้านหลังโครงการติดรถไฟฟ้าสายสีแดง และอยู่ไม่ไกลมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นทำเลที่เหมาะกับการที่ลูกหลานจะมาเยี่ยมได้ง่าย ส่วนอนาคตตั้งเป้าทำโครงการลักษณะนี้แต่สามารถรองรับกลุ่มชนชั้นกลางได้ คาดหวังว่า 10 ปีข้างหน้าจะรองรับผู้สูงอายุให้ได้ 4 หมื่นคน หรือ 10% ของผู้สูงอายุที่มีกำลังซื้อพอจะร่วมโครงการลักษณะนี้ ซึ่งเชื่อว่าหากมีโรงพยาบาลอื่นๆ สนใจมาทำโครงการลักษณะนี้อีกก็จะเป็นผลดีกับคนไทย เพราะยังมีความต้องการรออยู่อีกมาก

นี่คือภารกิจท้าทายของ นพ.บุญ วนาสิน

เพราะกำไรไม่ใช่หัวใจสำคัญ

กว่าจะมาเป็นผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป เจ้าของโรงพยาบาล ธนบุรี วันนี้ นพ.บุญ วนาสิน วัย 79 ปี เล่าย้อนว่าเขาก็เป็นหมอรักษาคนไข้คนหนึ่งที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศจนเชี่ยวชาญด้านส่องกล้องทางเดินอาหาร จากนั้นกลับมาทำงานในไทยสอนหนังสือต่อที่ศิริราช แล้วก็ได้เห็นปัญหาใหญ่ว่า จำนวนเตียงที่โรงพยาบาลมีไม่เพียงพอความต้องการของคนไข้ มีคนไข้รอเตียงไม่ไหวเสียชีวิตไปก่อน

ด้วยเหตุนี้ จึงตัดสินใจเปิดโรงพยาบาลธนบุรี รองรับความต้องการการรักษาพยาบาล ไม่ได้มีเป้าหมายหลักในการมุ่งหวังทำกำไรสูงสุด โดยอัตราค่ารักษาพยาบาลที่คิดก็ต่ำกว่าโรงพยาบาลเอกชนอื่นๆ 30% ปกติแล้วธุรกิจโรงพยาบาลจะทำกำไรเฉลี่ยได้ที่ 12% เครือโรงพยาบาลใหญ่บางแห่งในไทยทำได้ถึง 15% แต่กับโรงพยาบาลธนบุรีแล้วอยู่ที่ 8% เท่านั้น

ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะมีกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินใดๆ เข้ามา โรงพยาบาลก็รับไว้ตลอด แม้ภายหลังอาจต้องขาดทุนจากการรักษาพยาบาลในกรณีฉุกเฉินนั้นๆ บ้าง เพราะเงินที่รัฐบาลจ่ายชดเชยให้ไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด แต่ก็ยอมแบกรับภาระนั้นไว้เอง เพราะไม่ได้คิดเรื่องกำไรขาดทุนเป็นหัวใจสำคัญ แต่ถึงอย่างไรโรงพยาบาลก็ยังต้องมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขยายเตียงมากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการที่มากขึ้น เช่น โรงพยาบาลธนบุรี ปัจจุบันมี 400 เตียง ระยะต่อไปคงต้องเพิ่มอีก 100 เตียง โรงพยาบาลธนบุรี 2 ก็คงต้องเพิ่มเตียงตามมาอีก

นพ.บุญ กล่าวว่า ถึงวันนี้นอกเหนือจากธุรกิจโรงพยาบาลก็ทำหลายธุรกิจจนนับไม่ถ้วน สิ่งที่ชอบทำมากที่สุดเป็นเรื่องการศึกษา และคงยืนหยัดทำเรื่องการศึกษาต่อไป ขณะที่เดิมทีเคยตั้งเป้าหมายตัวเองว่าจะเกษียณอายุ 75 ปี แต่พอถึงเวลาจริงก็เลื่อนเวลาเกษียณอายุตัวเองเป็น 80 ปี และพอถึงวันนี้ในวัย 79 ปี ที่ยังมีโครงการในความคิดมากมายรออยู่ ก็คิดว่าคงต้องเลื่อนเกษียณอายุไปเป็น 83 ปีแล้ว ซึ่งก็คิดว่าถึงวันนั้นคงเลื่อนไปไม่ได้อีกแล้ว

จากการเป็นเจ้าโปรเจกต์มากมายเช่นนี้ นพ.บุญ จึงมีวินัยกับตัวเองในการดูแลร่างกาย โดยจะออกกำลังกายทุกวัน วันละ 2 ชั่วโมง คือ วิ่ง 1 ชั่วโมง และว่ายน้ำอีก 1 ชั่วโมง อีกทั้งจะเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพเพื่อทำให้ตัวเองแข็งแรงเสมอพร้อมลุยกับงาน

ถือเป็นซีอีโอวัยเกษียณที่ยังแรงดีไม่มีตก และยังมีไอเดียสร้างสรรค์โครงการใหม่ๆ ออกมาเสมอซึ่งคนรุ่นใหม่ๆ ควรมองไว้เป็นแบบอย่าง