posttoday

จากใจ "หมอมงคล" แก้กฎหมายบัตรทองทำลายความเท่าเทียม

02 กรกฎาคม 2560

"ทำให้เสร็จเร็วๆ เพื่อหาความดีความชอบให้ตัวเอง ผมมองแบบนี้เพราะมันรวบรัดอย่างมาก ที่สำคัญคือไม่เห็นหัวประชาชน"

โดย...กันติพิชญ์ ใจบุญ

นพ.มงคล ณ สงขลา อดีต รมว.สาธารณสุข ผู้ที่เมื่อต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ออกมากระตุกถึงรัฐบาลด้วยคำขอบคุณที่แฝงเอาไว้ด้วยความกดดันอย่างมีนัย กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันกับคนไทยที่มีสิทธิในบัตรหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ “บัตรทอง” ว่าแน่นอนที่สุด รัฐบาลจะไม่ยกเลิกอย่างเด็ดขาด

แต่นัยสำคัญคือ ข้อความของ นพ.มงคล เน้นย้ำให้รัฐบาลระมัดระวังการแก้ไขกฎหมายบัตรทอง หรือ (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนทั่วประเทศว่า การแก้ไขกฎหมายบัตรทองที่เกี่ยวพันกับคนที่มีสิทธิกว่า 48 ล้านคน อาจมีการสอดไส้จากผู้ให้บริการ คือกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการเข้ามาจัดการเงินอุดหนุนกว่าแสนล้านบาทต่อปีจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช.

ข้อกังวลภายในใจผู้ใหญ่ของวงการสาธารณสุขอย่าง นพ.มงคล คือ ประชาชนอาจเสียสิทธิอันพึงชอบธรรมด้านสุขภาพ ที่ สปสช.ดูแลมากว่า 15 ปี

นพ.มงคล เปิดประเด็นกับ “โพสต์ทูเดย์” ในเรื่องดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะข้อกังวลต่างๆ ในการแก้ไขกฎหมายบัตรทองว่า การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ก็เพื่อให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีอำนาจแทน สปสช. เพื่อจัดซื้อจัดจ้างเวชภัณฑ์ และเครื่องมือทางการแพทย์ ให้กับผู้ให้บริการคือโรงพยาบาล และสถานบริการต่างๆ ผลที่ตามมาคือ สธ.จะไม่สามารถซื้อได้ในราคาถูกอย่างที่ สปสช.ทำมา เพราะจะเป็นการกระจายกันซื้อไม่ใช่รวมอยู่เจ้าเดียวอย่างที่ทำกันอยู่ เมื่อปริมาณซื้อไม่มาก ราคาก็ไม่ได้ลดตาม แต่เงินที่รัฐบาลให้ก็ยังคงเท่าเดิม

เมื่อต้องซื้อเวชภัณฑ์ เครื่องไม้เครื่องมือที่แพงขึ้น แน่นอนว่าผลกระทบจะมาอยู่ที่ประชาชนที่ใช้สิทธิบัตรทอง เพราะยาก็ถูกจำกัด ผู้ป่วยก็ไม่ได้รับการรักษาอย่างทั่วถึง นพ.มงคล ยกตัวอย่างเช่น ยาสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ สปสช.ซื้อได้ในราคาไม่ถึง 1,000 บาท จากราคาที่ขายกันอยู่ที่ 4,000-6,000 บาท คนก็รับบริการได้อย่างทั่วถึง

อีกเรื่องที่ยังเป็นข้อกังวล โดยเฉพาะการแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มสัดส่วนคณะกรรมการ หรือบอร์ดใน สปสช. ซึ่งกฎหมายใหม่จะเพิ่มสัดส่วนผู้ให้บริการมาอีก 7 คน และลดสัดส่วนภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกไป ทั้งๆ สมดุลของบอร์ดจำนวน 30 คนก็มีการถ่วงดุลกันดีอยู่แล้ว และผู้ให้บริการก็อยู่ในบอร์ดจำนวนไม่น้อยด้วยเช่นกัน

“ผมมองว่าเขาต้องการเพิ่มน้ำหนักในบอร์ดให้กับผู้ให้บริการมากขึ้น ประชาชนก็ห่วงในประเด็นนี้เพราะมันมีผลต่อการจัดสรรงบประมาณ หวั่นกันว่างบจะเอียงไปฝั่งผู้ให้บริการมากจนเกินไปจนทำให้ภาคประชาชนต้องมาเสียเปรียบ” นพ.มงคล สะท้อนปัญหา

กอปรกับเรื่องของเงินเดือนผู้ให้บริการ ที่จะสร้างผลกระทบใหญ่หลวงให้กับความเท่าเทียมด้านสุขภาพของคนชนบทและคนเมือง
ซึ่งการแยกเงินเดือนออกจากค่าบริการรายหัวของประชากร ตามกฎหมายใหม่ที่มีการเสนอนั้น จะทำให้แพทย์ พยาบาล บุคลากรไม่อยากจะทำงานในพื้นที่ชนบทอีกต่อไป

นพ.มงคล ฉายภาพข้อกังวลในเรื่องนี้ว่า หลักการสำคัญคือต้องการให้เงินเดือนของแพทย์ เภสัชกร ทันตแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการนั้นไปอยู่กับประชาชนในพื้นที่นั้นๆ เพื่อให้บุคลากรทำงานกับประชาชนรักษาประชาชนในพื้นที่ เป็นการบังคับให้กระจายบุคลากรเพื่อให้คนชนบทที่อยู่ห่างไกลได้รับบริการจากภาครัฐอย่างเท่าเทียมกับคนในเมือง

“ประชาชนอยู่ที่ไหน เงินเดือนอยู่ตรงนั้น ระบบบัตรทองกำเนิดแนวคิดนี้ขึ้นมาเพื่อให้มีความเท่าเทียมกัน แต่ระบบอุปถัมภ์ในวงการแพทย์ก็ทำลายระบบนี้ เพราะในทุกวันนี้ สธ.ยังเอาเงินเดือนของชนบทมาจ่ายให้กับบุคลากรที่ขอมาช่วยราชการในเขตหัวเมือง หรือเมืองหลวง และหากกฎหมายผ่านเงินเดือนของบุคลากรจะมากระจุกอยู่ที่ สธ. ปัญหามันจะตามมาแน่นอน”  นพ.มงคล ย้ำ

นพ.มงคล กล่าวว่า หากจะแก้ไขกฎหมายบัตรทองนั้น ก็ขอให้เป็นไปตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงรับสั่งว่า การแพทย์การสาธารณสุข จะต้องดูแลสุขภาพของประชาชนทุกคน เพื่อที่จะให้ประชาชนเป็นทรัพยากรที่มาพัฒนาประเทศ หากประชาชนอ่อนแอ ไม่แข็งแรง ประเทศก็จะไม่ได้รับการพัฒนาที่ดี

ดังนั้น เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ที่ต้องนำเงินภาษีของราษฎรมาลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศ และการพัฒนาไม่ใช่การลงทุนรถไฟความเร็วสูง หรือการสร้างอะไรหลายอย่าง หากแต่ว่าประชากรไม่มีคุณภาพ อ่อนแอ เป็นโรค ประเทศชาติก็ไม่มีโอกาสที่จะพัฒนาให้ดีได้

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นในชั่วยามนี้ในวงการสาธารณสุขและมีผลกระทบต่อประชาชนผู้มีสิทธิในบัตรทองกว่า 48 ล้านคน ตามมุมมองของผู้ใหญ่อย่าง นพ.มงคล เห็นว่ารากเหง้าของปัญหาคือความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันเท่านั้น ระหว่างฟากฝั่งของผู้ให้บริการ และผู้รับบริการ รวมถึง สธ.เองก็เช่นกัน

นิยามความขัดแย้งในระยะเวลาที่เกิดขึ้นนพ.มงคล สะท้อนว่า ไม่มีการพูดคุยเพื่อแก้ไขปัญหากันอย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่คนในวงการสาธารณสุขเอง เมื่อเกิดข้อขัดแย้งกันขึ้น กลับไม่ใช้หลักฐานต่างๆ ทางวิชาการมาพูดคุย แต่กลับใช้ความอยาก กิเลส และความดื้อดึงมาแก้ไขปัญหา และเวทีประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นการแก้ไขกฎหมายบัตรทองก็ยิ่งไม่มีความเป็นธรรมใดๆ ทั้งสิ้น

ความไม่เป็นธรรมที่ว่าคืออะไร นพ.มงคล ตอบคำถามนี้ว่า เพราะให้ฝั่งผู้รับบริการพูดแค่คนละ 3 นาที ขณะที่ฟากผู้ให้บริการสามารถพูดได้อย่างอิสระ จะขนคนไปเท่าไหร่ก็ย่อมได้ เพราะมีงบของทางราชการดูแล ฝั่งประชาชนต้องเสียเงินค่าเดินทางค่าที่พักเอาเอง ผู้จัดก็รวบรัดตัดตอนอยากให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อเอาใจเจ้านายของตัวเอง

“ทำให้เสร็จเร็วๆ เพื่อหาความดีความชอบให้ตัวเอง ผมมองแบบนี้เพราะมันรวบรัดอย่างมาก ที่สำคัญคือไม่เห็นหัวประชาชน ความขัดแย้งหลายครั้งในหมู่คนไทยก็เกิดจากข้าราชการที่ใช้อำนาจมากกว่าใช้ใจกับประชาชน”

นพ.มงคล สะท้อนภาพอีกว่า เวทีประชาพิจารณ์ที่ภาคกลางจะเห็นความไม่เป็นธรรมชัดที่สุด รัฐบาลเอากำลังทหาร ตำรวจมายังเวทีแสดงความคิดเห็น สิ่งนี้คือการใช้อำนาจข่มขู่ มันตรงกันข้ามกับความปรองดองที่รัฐบาลอยากจะให้เกิดขึ้น แต่เป็นการเพิ่มความขัดแย้งเข้าไปอีก

“อย่าคิดว่าเอาตำรวจ ทหารไปจัดการแล้วทุกอย่างจะเรียบร้อย เพราะคุณแค่บังคับกายเขาได้เท่านั้น แต่คุณไปบังคับ หรือจับหัวใจเขาไปขังไว้ไม่ได้ สักวันหนึ่งใจเขาก็ต้องหลุดรอดออกมา”อดีต รมว.สธ. กล่าว

นพ.มงคล ย้ำอีกว่า สิ่งที่พูดออกไปหาใช่ว่าเป็นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ตนไม่ใช่คนเสื้อแดงหรือคนเสื้อเหลือง และตนเกลียดทุกสีเสื้อ ใครก็รักประเทศชาติของตัวเองทั้งนั้น อยากเห็นความเจริญทัดเทียมนานาชาติ การพูดคุยจึงเป็นทางออกที่สำคัญ และอย่าพยายามคิดว่าพวกคุณคือคนที่รักชาติพวกเดียว คนไทยก็รักชาติกันทุกคน

นพ.มงคล ขยายความว่า สธ.คิดว่าเมื่อเงินงบประมาณบัตรทองไปอยู่ในมือจะจัดการทุกอย่างได้ง่าย ซึ่งเป็นการคิดที่ผิด เพราะสมัยก่อนเงินตรงนี้ก็อยู่กับ สธ.มาก่อน แล้วสุดท้ายนักการเมืองที่เข้ามาก็มาโกงเงินตรงนี้เกิดการคอร์รัปชั่น

การตั้ง สปสช.จึงเกิดขึ้นเพื่อให้บริหารเงินของรัฐบาล และไปมอบให้กับประชาชนอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม นั่นคือการทำหน้าที่ของ สปสช. และคือหลักการของการประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ในวันนี้ สธ.ต้องการเงินก้อนนี้เพื่อมาบริหารเอง แน่นอนว่าประชาชนก็ได้รับผล
กระทบ เพราะว่ากันตามจริงผู้ให้บริการคงไม่อยากจ่ายเงินมาให้กับผู้รับบริการมากเท่าเดิม คงอยากจะเก็บเอาไว้เองมากกว่า

“แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าจะไม่ล้มบัตรทอง แต่การเปิดช่องให้แก้กฎหมายก็ทำให้ระบบบัตรทองมัน
เดี้ยง” นพ.มงคล กล่าว

อีกปัญหาคือการตีความกฎหมายบัตรทองในช่วงที่ผ่านมาของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ที่ นพ.มงคล ตั้งคำถามว่า การเข้ามาตรวจสอบที่ว่าเป็นการแก้ไขปัญหา หรือสร้างปัญหากันแน่

“เอาหน่วยงานที่ไม่แก้ปัญหา แต่สร้างปัญหามาทำงาน ก็จะได้ปัญหาตามที่ต้องการ ผมไม่แน่ใจว่าคนที่ไปตรวจถูกสั่งให้แก้ปัญหา หรือไปสร้างปัญหา หากถูกสั่งให้แก้ผมมั่นใจได้เลยว่าทุกอย่างจะได้รับการแก้ไข” 

ส่วนหนึ่ง นพ.มงคล วิเคราะห์การทำงานของ สตง.และ คตร.ว่าเป็นเพราะการตรวจสอบที่ตีความจากตัวบทกฎหมาย และมุ่งหาคนทำผิด ซึ่งทำให้เกิดการติดขัดด้านการเบิกจ่ายตามมา และนำไปสู่คำสั่งมาตรา 44 จากนายกฯ ที่ให้ขจัดความติดขัดนี้ออกไป จึงนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายที่เกิดขึ้น

แต่สิ่งที่ขัดกันระหว่างความเข้าใจในกฎหมายของ สตง.และ คตร. กับเจตนารมณ์ของกฎหมายของภาคประชาชน จึงนำไปสู่ความขัดแยัง แต่สิ่งที่ชัดเจนในตลอดระยะเวลา 15 ปีของบัตรทอง และการทำงานของบอร์ด สปสช. มีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ด้านสุขภาพของประเทศมาโดยตลอด ผ่านรูปแบบของมติคณะกรรมการ แต่สิ่งที่รัฐบาลมองกลับบอกว่าการแก้ไขที่ผ่านมาทำไม่ได้ เพราะไม่อยู่ในรูปของกฎหมาย

ส่วนปมที่ว่า กลุ่มแพทย์ชนบท คือหัวโจกที่คัดค้านการแก้ไขกฎหมายบัตรทอง และรัฐบาลกำลังใช้มาตรการนี้บั่นทอนกำลังของกลุ่มแพทย์ชนบทด้วย เพราะที่ผ่านมากลุ่มแพทย์กลุ่มนี้ได้ออกมาคัดค้านในโครงการของรัฐหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นโครงการท่าเรือน้ำลึก หรือโรงไฟฟ้าถ่านหิน นพ.มงคล มองเรื่องนี้ว่า รัฐบาลคงไม่โหดร้ายขนาดนั้นที่จะเอาประเด็นนี้มาโจมตีกลุ่มแพทย์ชนบท แต่บทบาทของแพทย์ชนบทเป็นเพราะผูกพันกับคนในพื้นที่ และหากคนในพื้นที่ได้รับความทุกข์ยาก มันก็คือทุกข์ของแพทย์ชนบทเช่นกัน

“จะมาบอกว่าแพทย์ชนบทมีอคติก็ไม่ใช่ และรัฐบาลจะเกลียดคนพวกนี้ก็ไม่ถูกต้องนัก เพียงแต่ว่าความเป็นคนนั้น ถ้าหากอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน ความคิดก็ต่างกัน ความเห็นก็จะต่างกัน หากความเห็นต่างกันตามแต่ฐานะบุคคล เมื่อใดที่มีโอกาสได้คุยกัน ก็จะเป็นการเดินหน้าเข้าหากัน ความเข้าใจก็เกิดขึ้นได้ง่าย ไม่ใช่ปัญหามาก แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้พูดคุยกัน ปัญหาจึงเกิด หากฟังกันหน่อย เอาผลประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง ทุกอย่างก็จบ” อดีต รมว.สธ. กล่าว

แล้วทางออกคืออะไร หากการพูดคุยเป็นไปด้วยบรรยากาศบนพื้นฐานความขัดแย้ง และไม่เป็นธรรมอย่างแท้จริงอย่างที่ นพ.มงคล ว่าเอาไว้ ในฐานะผู้ใหญ่ของวงการสาธารณสุข นพ.มงคล เสนอทางออกให้กับรัฐบาลเอาไว้ว่า หากมีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อ สปสช. ก็ยุบทิ้งไปเสีย แต่ต้องแยกผู้ให้บริการคือโรงพยาบาล และสถานบริการต่างๆ ออกจาก สธ. และ สธ.ก็เข้ามาทำหน้าที่แทน สปสช. จะได้ความรู้สึกว่ามีอำนาจในการบริหาร แต่ต้องตอบคำถามให้ได้ว่า ประชาชนจะได้รับการปกป้องเช่นเดิม หากทำได้ก็ยุบ สปสช.ไปเลย

หาไม่เช่นนั้น วิธีแก้ไขคือต้องเป็นการพูดคุยอย่างไม่มีกติกา ไม่ต้องมาจำกัดว่าแต่ละคนพูดกี่นาที มาแก้ปัญหาในส่วนที่ขัดแย้งกัน

“รัฐบาลชุดนี้ถึงแม้ว่าจะมีอำนาจมากล้น มีตำรวจ มีทหาร และมีมาตรา 44 อยู่ในมือ แต่มันไม่ยั่งยืนไปตลอดกาลหรอก ประชาชนคนไทยต่างหากที่จะยั่งยืนไปตลอดกาล ดังนั้น แม้ประชาชนจะถูกทำร้าย แต่ประชาชนก็ยังเป็นประชาชน แต่คนที่มาข่มขู่ไม่นานก็เกษียณอายุ และคนเหล่านี้เมื่อวันที่พ้นอำนาจหน้าที่มาถึงแล้วหรือไม่ จะทิ้งอะไรเพื่อให้คนด่าตามหลัง หรือ
จะเขียนประวัติศาสตร์ในกุศลกรรมให้คนชื่นชม คุณต้องเลือกเอาเอง”นพ.มงคล ทิ้งท้าย