posttoday

สืบทอดอำนาจได้ แต่ไร้ม.44ทำงานลำบาก

25 มิถุนายน 2560

"หากจะใช้คำว่า สืบทอดอำนาจ ก็มีโอกาสสืบทอดอำนาจได้สำเร็จ เพียงแต่ทำแล้วจะทำงานได้ไหม กับเงื่อนไขที่ถูกวางกับดักไว้เยอะแยะ ทำงานโดยไม่มี ม.44 และมีฝ่ายค้านคอยทำงานตรวจสอบ"

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

สปอตไลต์การเมืองจับมายัง คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อีกครั้ง ท่ามกลาง​กระแสข่าวว่าถูกวางตัวเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เตรียมลุยศึกเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2561  

ว่าที่บัณฑิตปริญญาเอก สาขาวิชาพระพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ​เจ้าของดุษฎีนิพนธ์ ในหัวข้อ “พุทธวิธีเชิงบูรณาการแก้ปัญหาความขัดแย้งการเมืองไทยในปัจจุบัน” เปิดใจให้สัมภาษณ์โพสต์ทูเดย์ เริ่มตั้งแต่เรื่องสำคัญอย่างทิศทางการปรองดองของประเทศ

“เรื่องปรองดองเดิมก็พอทราบ แต่มาเข้าใจลึกซึ้งตอนทำดุษฎีนิพนธ์ ซึ่งเป็นศาสตร์ชนิดหนึ่ง ที่มีการเรียนการสอนกัน มีการวิเคราะห์วิจัย และตัวอย่างการทำสำเร็จ ที่จะต้องมีขั้นตอน กระบวนการ มันไม่ใช่มาง่ายๆ จากการฟังคนนี้พูด คนนั้นพูด แล้วสรุปเป็นเปเปอร์แล้วจะกลายเป็นการปรองดอง”

สำหรับข้อเสนอที่จะให้กลุ่มการเมืองมาเซ็นสัญญาประชาคมเพื่อความปรองดองนั้น คุณหญิงสุดารัตน์ มองว่า คงต้องรอดูรายละเอียดว่าเนื้อหาเป็นอย่างไร และจะปฏิบัติได้จริงไหม แต่ถ้าพิจารณาจากเจตนาแล้วเห็นว่าเขาอยากทำให้เกิดการปรองดอง แต่กระบวนการยังไม่ครบถ้วน เพราะไม่เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย

“ปรองดองต้องสร้างจิตสำนึก และใช้กระบวนการที่ถูกต้อง ที่ผ่านมาเหมือนเรียกไปจัดระเบียบมากกว่า  อาจจะดูเหมือนสงบ เพราะเราใช้ ม.44 แต่เราได้ไปทำความเข้าใจกับคนเห็นต่างหรือไม่ รัฐบาลมองเห็นความคิดที่แตกต่างเป็นศัตรูกับรัฐบาล ภัยต่อความมั่นคง ทำให้รัฐบาลพลาดโอกาสทองในการรับฟังความเห็นต่าง”

ในฐานะนักการเมือง คุณหญิงสุดารัตน์ ยอมรับว่า นักการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความขัดแย้ง ดังนั้นฝ่ายการเมืองต้องปรับปรุงตัวเอง แก้ไขตัวเอง แต่การตบมือต้องตบมือสองฝั่งถึงจะดัง ต้องดึงทุกฝ่ายมาร่วมแก้ปัญหา ทั้งระบบยุติธรรม ที่บอกกันว่ามีหลายมาตรฐาน ระบบราชการ และฝ่ายอื่นๆ

“ทั้งหมดเป็นผู้เล่น แต่คนที่รับกรรม คือ ประชาชน​ ทำยังไงถึงจะทำให้ผู้เล่นได้คุยกันและหาทางออก ซึ่งเวลานี้ คสช.มีทั้งอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ มีทั้ง ม.44 หากทำให้ครบถ้วน เราจะเดินหน้าพาประเทศไทยออกจากวิกฤตได้”

ถามถึง พ.ร.บ.พรรคการเมืองที่กำลังร้อนแรงเรื่องไพรมารีโหวต​ คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า เป็นเรื่องดี ที่สนับสนุนให้ประชาชนที่เป็นสมาชิกพรรค ได้มีส่วนร่วม กำกับ ควบคุม​ตั้งแต่นโยบาย จนถึงตัวนักการเมือง แต่เมื่อดูรายละเอียดที่มาบัญญัติแบบสไตล์ไทยๆ ​นั้นยังมีจุดโหว่อยู่มาก

“การเขียนแบบนี้ ไม่เป็นไพรมารีโหวตตามหลักสากล ทำให้คนหนึ่งร้อยคนสามารถมากำกับทิศทางนโยบาย กำกับว่าใครจะเป็นผู้สมัคร สุดท้ายก็จะหนีไม่พ้นระบบเส้นสายของกลุ่มคนที่มีฐาน พอทำแล้วแทนที่จะพัฒนาดีขึ้นก็แย่ลง ผู้ที่มาแก้ไขปรับปรุงคงเจตนาดี แต่อาจไม่เคยลงเลือกตั้ง ทำให้ไม่รู้ว่าจะเกิดการบิดเบือนได้” ​

อีกด้าน​มองกันว่ามีความพยายามอยากจะทำให้พรรคการเมือง อ่อนแอ มีปัญหา ทะเลาะกันเอง ซึ่งถ้าคิดว่าพรรคการเมืองไม่ดี นักการเมืองไม่ดี ก็คิดระบบใหม่ไหม ​ไม่เอาประชาธิปไตย เอาระบบอื่นดีกว่าไหม ​เทียบกับการที่เป็นประชาธิปไตยแต่เปลือก แต่กลไกข้างในเสียหมด จนไม่มีประสิทธิภาพ ประเทศก็จะเดินไม่ได้

“ถ้าทำระบบนี้แล้ว ส่วนรวม ประเทศดีขึ้น แม้จะทำให้พรรคการเมืองลำบากก็ไม่เป็นไร คนที่ทำงานการเมืองลำบากก็ต้องยอม แต่ต้องให้แน่ใจว่าส่วนรวมของประเทศดีขึ้น แต่ถ้าพรรคการเมืองก็ทำงานยาก ประเทศก็แย่ ส่วนรวมก็แย่ ก็ไม่รู้จะทำไปทำไม”

มองข้ามช็อตไปหลังการเลือกตั้ง คุณหญิงสุดารัตน์ ยังมองว่า มีโอกาสสูงที่จะได้รัฐบาล หรือ นายกรัฐมนตรีที่มาจากกลุ่มอำนาจปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเพราะมีเสียง สว. 250 เสียงแล้ว ตั้งแต่ยังไม่เลือกตั้ง ซึ่งมีสิทธิสามารถโหวตเลือกนายกฯ ส่วนคนที่เป็นนักการเมืองก็ต้องไปแข่งกัน

“หากจะใช้คำว่า สืบทอดอำนาจ ก็มีโอกาสสืบทอดอำนาจได้สำเร็จ เพียงแต่ทำแล้วจะทำงานได้ไหม กับเงื่อนไขที่ถูกวางกับดักไว้เยอะแยะ ทำงานโดยไม่มี ม.44 และมีฝ่ายค้านคอยทำงานตรวจสอบ”

ถามถึงข้อเสนอเรื่องจับมือระหว่างพรรค การเมืองสกัดการสืบทอดอำนาจ คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ได้มองไปถึงหลังเลือกตั้ง แต่มองว่าพรรคการเมืองควรจับมือกันตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง ช่วยกันคิดเรื่องต่างๆ ทั้งปฏิรูปว่าจะปรับเปลี่ยนอย่างไร ในฐานะที่ทำงานการเมืองอยู่ฝ่ายบริหาร รัฐสภา มาก่อน  

“ถ้าฝ่ายการเมืองรวมตัวกันนำเสนอ ก็เหมือนจะช่วยไปดักปัญหาไว้ก่อน ซึ่งไม่ได้เป็นการรวมตัวกันเพื่อต่อต้านรัฐบาล แต่ช่วยกันคิดเสนอแนะ ลดปัญหาของประเทศที่จะเกิดในอนาคต ​ดีกว่าเลือกตั้งแล้วไปแก้ไขอะไรไม่ได้”​

ส่วนที่มองกันว่า เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ยากจะจับมือกันได้นั้น คุณหญิงสุดารัตน์ มองว่า นักการเมืองต้องปรับตัว เพราะการเห็นต่างคือความสวยงามของประชาธิปไตย การคิดสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ​แต่หลายปีมานี้เราเอาความเห็นต่างเป็นศัตรูกัน ทำให้เกิดปัญหา

ประชาธิปัตย์ กับเพื่อไทย ก็เคยเห็นตรงกัน เรื่อง ประชามติรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ทุกคนควรลดอคติตัวตน ร่วมมือกันลดเงื่อนไข สร้างการมีส่วนร่วมที่จะทำให้ระบบประเทศเป็นระบบที่ยั่งยืน ไม่เกิดปัญหาความขัดแย้งซ้ำเข้าไปอีก​ ส่วน​หลังการเลือกตั้งพรรคไหนได้เสียงข้างมากก็ว่ากันไป

“น่าจะเป็นการจับมือกันโดยไม่ใช่หวังผลการเลือกตั้ง แต่เป็นการมีส่วนร่วมเซตระบบของประเทศ ​อย่างเขาจะปฏิรูป ฝ่ายการเมืองเคยทำงาน รู้จุดแข็ง จุดอ่อน ก็สามารถแสดงความเห็นที่เป็นประโยชน์​กับการปฏิรูปการเมือง ส่วนเรื่องจับมือกันหลังเลือกตั้งก็ค่อยไปว่ากัน​

สำหรับความเคลื่อนไหวพรรคเพื่อไทยเวลานี้ยังทำอะไรมากไม่ได้ ทำได้เพียงแค่พูดคุยตามอัตภาพ ​จะเกิดอะไรตอนไหน ก็ต้องเตรียมพร้อมได้ทุกเมื่อ เหมือนนักเรียนที่กำหนดวันสอบไม่ได้ แต่สอบเมื่อไหร่ก็ต้องพร้อม

“ส่วนตัวไม่คิดเรียกร้องว่าต้องเลือกตั้งเร็ว ผู้มีอำนาจอยากเลือกตั้งตอนไหนก็เลือกตั้งไป ​แต่สิ่งที่ผู้มีอำนาจจะต้องทำขณะนี้ คือ ต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าทำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขจากการไม่มีการเลือกตั้ง หรือไม่มีเลือกตั้งดีกว่าเลือกตั้งอย่างไร”​

ถามถึงกระแสข่าวที่ถูกวางตัวเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่ คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า  ​ตามหลักการพรรคการเมืองต้องมีการกำหนดทิศทาง แนวนโยบายก่อน ว่าจะเดินไปทางไหน แบบไหน จากนั้นจึงจะหาผู้ที่เหมาะสมมาทำงาน เวลานี้ยังไม่ถึงขั้นตอนนั้น จึงยังตอบอะไรไม่ได้

สืบทอดอำนาจได้ แต่ไร้ม.44ทำงานลำบาก

"แก้ปัญหาบัตรทอง" คสช.เกาไม่ถูกที่คัน

ท่ามกลางความ “ขัดแย้ง” ในแนวทางการแก้ปัญหา “บัตรทอง” ที่เกิดความเห็นไม่ตรงกันระหว่างกระบวนการแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ในฐานะอดีต รมว.สาธารณสุข ที่เป็นหนึ่งในผู้ปฏิบัติที่ขับเคลื่อนโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค มองว่า การแก้ปัญหาเวลานี้ยังเป็นการ “เกาไม่ถูกที่คัน”

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาหลักการผิดเพี้ยนไปจากเดิมเรื่อยๆ ตั้งแต่หลังปฏิวัติ 2549 โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรคมี 3 ปัจจัย คือ 1.วัตถุประสงค์สร้างเสริมสุขภาพเป็นหลัก 2.เปิดโอกาสให้คนเข้าถึงโรงพยาบาลง่ายขึ้น ทัดเทียมทั่วถึง ไม่ใช่ถือบัตรอนาถา และ 3.การบริหารจัดการที่สะท้อนความเป็นจริง

ประเด็นสำคัญ คือ เรื่องสร้างเสริมสุขภาพนั้น เดิมระบบ 30 บาทรักษาทุกโรค จะจัดงบประมาณรายหัว เช่น โรงพยาบาลชุมชนรับผิดชอบ 7,000 คน จะทำอย่างไรที่จะดูแลคนเหล่านี้ให้แข็งแรงเจ็บป่วยน้อย ​เมื่อเข้ารับการรักษาพยาบาลก็จะน้อยลงไปด้วย ดังนั้นเงินก็จะเหลือเยอะ เพราะใช้ระบบเหมาจ่ายรายหัว ​

งบส่งเสริมสุขภาพที่จัดไป จะไปทำการส่งเสริมเพื่อให้ชาวบ้านแข็งแรง เป้าหมาย คือ 3 โรค ความดัน ไขมัน เบาหวาน ซึ่งจะนำไปสู่โรคร้ายแรง ที่จะต้องรักษาพยาบาลทั้งเส้นเลือดสมองตีบ เส้นเลือดหัวใจตีบ อัมพฤกษ์ ดังนั้น วัตถุประสงค์แรกจึงออกมาเพื่อการสร้างสุขภาพ หรือเรียกว่าเฮลท์แคร์

อีกทั้งการบริหารจัดการงบประมาณแบบใหม่นั้น ต้องทำให้สะท้อนความเป็นจริง จากเดิมที่โรงพยาบาลใหญ่ได้มาก ส่วนโรงพยาบาลเล็กแต่ดูแลประชากรจำนวนมาก ดูแลพื้นที่กว้างได้งบน้อย ดังนั้น ต้องทำให้การบริหารจัดการงบมีประสิทธิภาพ สะท้อนความเป็นจริง

“ต้องเข้าใจหลักตรงนี้ก่อน ถึงจะแก้ปัญหาถูก กฎหมายเป็นเพียงแค่เครื่องมือหนึ่งเท่านั้น  อย่างเรื่องการจัดสรรงบประมาณสร้างสุขภาพเอามาไว้ที่ส่วนกลางเยอะ ให้เขาแต่งบรักษา ก็กลายเป็นซิกแคร์คือรักษามากจ่ายมาก”

​จากเดิมเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ระบบเหมาจ่ายต่อหัวประมาณ 1,300 บาท จัดให้โรงพยาบาล 800 แต่ขณะนี้เพิ่มเป็น 3,000 บาท แต่งบประมาณไปสู่โรงพยาบาลกลับยังน้อยกว่าเดิม เพราะงบสร้างสุขภาพถูกดึงกลับ นี่จึงเป็นเรื่องใหญ่ ส่วนการแก้ไขกฎหมายนั้นเป็นเรื่องรอง

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า ภาคประชาชนเป็นห่วงว่าการแก้ไขกฎหมายอาจทำให้หลักการ 30 บาทรักษาทุกโรค รักษาพยาบาลทั่วถึงและเท่าเทียมอาจจะหายไป ที่จะเป็นการลิดรอนสิทธิ ดังนั้น ต้องเปิดรับฟังทุกเรื่อง และหากพรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาล จะมีการปรับแก้ไขหลักการที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม