posttoday

"นพรัตน์ กุลหิรัญ" จากหมวยเยาวราช สู่มาดามรถถังระดับโลก

15 มิถุนายน 2560

เปิดประวัติชีวิต "นพรัตน์ กุลหิรัญ" เจ้าของธุรกิจผลิตยุทโธปกรณ์ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก เธอเริ่มต้นจากร้านขายเหล็กที่เซียงกงสู่อาณาจักรพันล้านในวันนี้

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด ภาพ...ฉัตรอนันท์ ฉัตรอภิวันท์

อาหมวยเซียงกงที่คลุกคลีอยู่กับเศษเหล็กและเครื่องจักรจากกิจการของครอบครัว เธอไม่เคยคิดฝันถึงความร่ำรวยหรือการเป็นเจ้าของอาณาจักรหลายพันล้านบาท ด้วยความขยัน ความจริงใจ ประสบการณ์ ตลอดจนโชคชะตาที่ลิขิตให้เธอต้องแต่งงาน เปลี่ยนแปลงความอิสระในอาชีพครูสู่นักธุรกิจหญิงบนเวทีโลก

บ่ายวันหนึ่งภายในอาณาจักรขนาด 140,000 ตารางเมตร ในจังหวัดปทุมธานี ที่ตั้งของโรงงานขนาดใหญ่ 26 หลัง ทั้งโรงประกอบ โรงทดสอบเครื่องยนต์ โรงผลิตอุปกรณ์ โรงกลึง โรงพ่นทราย และโรงเก็บอะไหล่

นพรัตน์ กุลหิรัญ เจ้าของฉายามาดามรถถัง ผู้ก่อตั้ง บริษัท ชัยเสรีเม็ททอล แอนด์ รับเบอร์ จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนยางติดเหล็ก ข้อต่อสายพาน ล้อกดสายพาน ให้กองทัพไทยและกองทัพต่างประเทศ รอต้อนรับด้วยใบหน้าและท่าทางเป็นกันเอง

มาดามพร้อมแล้วที่จะเปิดเผยฉากชีวิต เบื้องหลังกลยุทธ์และเส้นทางความสำเร็จของชัยเสรี ที่อยู่ในมือของเธอ

"นพรัตน์ กุลหิรัญ" จากหมวยเยาวราช สู่มาดามรถถังระดับโลก

 

อาหมวยเยาวราชนักล็อบบี้

คุณพ่อคุณเเม่ของนพรัตน์ เป็นชาวจีนอพยพมาจากแดนมังกร เธอเป็นลูกสาวลำดับที่ 7 ของครอบครัวจากพี่น้องทั้งหมด 12 คน โดยเกิดและเติบโตที่บ้าน บริเวณถนนทรงวาดใกล้กับศาลเจ้าเซียงกง ย่านเยาวราช กรุงเทพมหานคร

ครอบครัวทำกิจการค้าเหล็ก โซ่ และเครื่องยนต์เก่า ภายใต้ชื่อ ‘ตั้งจุ้นฮวด’ ซึ่งสืบทอดมาจากรุ่นคุณปู่ที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากจีนโดยเรือสำเภาตั้งแต่ปี พ.ศ.2400

สมัยเป็นเด็กวัยเพียงแค่ 10 ขวบ ด้วยความที่คุณพ่อของนพรัตน์เป็นคนติดอ่าง ทำให้มีปัญหาและมักพลาดโอกาสเมื่อต้องไปร่วมประมูลเศษเหล็กที่คลองถม สถานที่ประมูลเศษเหล็กแห่งสำคัญในอดีต สาวน้อยที่ถูกคุณพ่อสั่งสอนมาตลอดว่าเกิดเป็นผู้หญิงต้องทำให้ได้ทุกอย่าง อย่าให้ใครดูถูก จึงต้องออกโรงแข่งขันแทนคุณพ่อ

“พ่อเป็นคนติดอ่าง พูดก็ช้า แต่ใจดี เวลาไปสู้ ต้องตะโกนแข่งกัน 20 ตังค์ 50 ตังค์ ตีฆ้องเป๊งๆ โอเคเจ้านี้เอาไปพ่อเราสู้เขาไม่ได้ เราเห็นแล้วอึดอัดใจ วันหนึ่งเอ่ยปากถามพ่อ พ่อจะเอากองไหน ‘เอากองนี้ แต่สงสัยพ่อจะพูดไม่ทันเขา’ เรารู้อย่างนั้นจัดการล็อบบี้เลย วิ่งบอกทุกคน เดี๋ยวสู้กันนะ ถึงราคาที่พ่อเราต้องการ ขอให้พวกท่านทั้งหลายหยุดก่อน เปิดโอกาสให้พ่อฉันพูดบ้าง ทุกคนทำหน้างงๆ แต่ก็รับฟังบอกเออๆ เดี๋ยวหยุดให้ สุดท้ายพ่อเราก็พูดและชนะ ตีฆ้องเป๊งๆ ได้โซ่ขนขึ้นรถกระบะไม้กลับบ้านสักที”

สาวน้อยสั่งสมประสบการณ์จากที่ได้คลุกคลีกับวงการเหล็ก ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการได้มาอย่างการประมูล จนกระทั่ง ทำความสะอาดเศษเหล็กและดัดแปลง ทั้งหมดคือสิ่งที่เธอได้เรียนรู้ กอปรกับเพื่อนบ้านข้างเคียงในเซียงกง ส่วนใหญ่ล้วนแต่มีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับวงการเหล็กแทบทั้งสิ้น

“เขาบอกอาหมวยคนนี้พูดเก่ง มาทีไรชอบมีของมาให้กินตลอด แถมยังคอยเสิร์ฟน้ำให้ด้วย เราเสิร์ฟไปก็ขอไป กองนี้ขอนะ ให้พ่อเรานะ ที่บ้านเลยได้งานมาเรื่อย เด็กๆ ไม่ค่อยไปไหน อยู่แต่ที่ทำงาน ชอบไปคุยกับคนงาน นั่งดูพ่อเชื่อมเหล็ก อ๊อกเหล็ก ถามโน่นนี่นั่น มาตลอด”  นพรัตน์เล่าเรื่องวันวาน

 

"นพรัตน์ กุลหิรัญ" จากหมวยเยาวราช สู่มาดามรถถังระดับโลก ตีนตะขาบที่กำลังรอซ่อมเเซม ภายในโรงงาน

 

เปิดโอกาสสำคัญในชีวิตด้วยภาษา

นอกจากความสามารถเรื่องเหล็กแล้ว เธอยังให้ความสนใจในเรื่องภาษา โดยแรงบันดาลใจเริ่มจากเห็นคุณพ่อแปลและเขียนจดหมายด้วยภาษาจีนช่วยเหลือผู้อื่น ขณะที่ตัวเองอ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้

นพรัตน์เล่าว่า ในอดีตคนจีนส่วนมากที่เข้ามาทำงานเมืองไทย มักทิ้งลูกเมียและญาติพี่น้องไว้ที่บ้านเกิด หากคิดถึงก็มักจะส่งจดหมายกลับไป ด้วยความที่คุณพ่อเป็นคนเขียนหนังสือเก่ง เลยรับหน้าที่ช่วยเหลือ นั่งรับฟังและถ่ายทอดความรู้สึกต่างๆ ผ่านน้ำหมึกส่งต่อความในใจแทนพวกเขา

“เขาไม่รู้ภาษา เขียนไม่ได้ มายืนต่อแถวเรียงคิวกันยาวที่หน้าบ้าน ให้พ่อเราเขียนจดหมายให้ ไอ้เรายืนตรงนั้นแท้ๆ แต่ทำไรไม่ได้ ทั้งๆ ที่อยากช่วยเหลือคนอื่นได้เหมือนพ่อ”

คุณพ่อนพรัตน์สอนเสมอว่า มนุษย์เกิดมาต้องเป็นที่พึ่งให้คนอื่น มีโอกาสและความสามารถอย่านิ่งนอนใจ ตรงกันข้าม อย่าไปหวังพึ่งใครให้คนเขาหยาม อย่ารบกวนหรือรบกวนให้น้อยที่สุด และต้องรู้จักบุญคุณคน ที่สำคัญเกิดเป็นหญิงอยู่กับพ่อเพียงเวลาไม่นานก็ต้องแต่งงาน สิ่งที่พ่อมอบให้ได้มากที่สุดคือ “การศึกษา” ลูกสาวต้องฝึกตัวเองให้มีความสามารถเพื่ออาชีพที่ดีในอนาคต

“พ่อมีลูกทั้งหมด 12 คน ลูกชาย 5 คน ผู้หญิง 7 คน พ่อบอกว่า ผู้ชายจะได้รับสมบัติ พวกเธอไม่ได้รับหรอก อย่าหวังอะไรจากพ่อแม่ ต้องช่วยเหลือตัวเอง เกิดเป็นลูกสาว เมื่อถึงเวลาไปอยู่บ้านคนอื่น อย่าให้ใครเขาดูถูก อย่าไปพึ่งพาเขา หัดฝึกฝนและทำให้ตัวเองมีคุณค่า”

ความสามารถของนพรัตน์เกิดจากการปลูกฝังของคุณพ่อ เริ่มเข้าเรียนในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ ร่ำเรียนภาษาอังกฤษและหัดงานฝีมือต่างๆ นานา ทั้งเย็บปักถักร้อย ทำกับข้าว หลังเรียนจบด้วยความที่คุณพ่อเห็นว่าเป็นคนพูดเก่ง ชอบคบค้าสมาคม จึงแนะนำให้เรียนต่อด้านภาษา

“เก่งคณิตศาสตร์ อยากจะสอบสายวิทย์ แต่พ่อบอกอย่าเลย ไปเรียนภาษาเถอะ ต่อไปอนาคตต้องก้าวไปไกล วิทยาศาสตร์ไม่เหมาะกับเธอ คนชอบพูดจา คบค้าสมาคม เรียนภาษาไว้เยอะๆ ดีกว่า”

สาวน้อยเลือดจีน เรียนต่อในระดับชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ เอกภาษาฝรั่งเศส และระดับอุดมศึกษาจากวิทยาลัยวิชาการศึกษา วิทยาเขตปทุมวัน สวนกระแสนิยมในยุคนั้นที่เด็กเรียนดีมักเลือกเรียนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“มาเซอร์ว่า นพรัตน์ใฝ่ต่ำ แต่เราไม่สน เพราะที่นี่เป็นสถาบันที่มีการสอนวิชาฝรั่งเศสที่ดีที่สุด ทื่อื่นไม่มีจะเลือกไปทำไม”

 

"นพรัตน์ กุลหิรัญ" จากหมวยเยาวราช สู่มาดามรถถังระดับโลก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิทย์ วงษ์สุวรรณ เเละ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ล้วนเเล้วเเต่เคยเยือนมาโรงงาน

 

ชีวิตนักศึกษาของนพรัตน์มีความสุขมาก ร่วมกิจกรรมมากมาย ทั้งค่ายอาสาพัฒนาชนบทและชายแดน เดินขบวนทำกิจกรรมกับเพื่อนต่อต้านประเด็นสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ด้วยความสามารถด้านภาษา ช่วงสงครามเวียดนาม ได้โอกาสจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugee: UNHCR) ให้เป็นล่ามภาษาฝรั่งเศสและครูสอนภาษาไทยในค่ายผู้อพยพ ณ ค่ายคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว แลกกับค่าแรงวันละ 20 เหรียญ จนกระทั่งถูกโรคระบาดในค่ายเล่นงาน ทำให้คุณพ่อต้องเรียกกลับบ้าน

“ติดไข้มาเลเรีย ปิดเทอมปี 4 พ่อพาไปโรงพยาบาล บอกว่า ไปช่วยเขามันก็ดี แต่ต้องดูแลตัวเองด้วย ชีวิตรอดเป็นสิ่งสำคัญ ที่นั่นไม่เหมาะกับเธอแล้ว”

ประสบการณ์และช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ในค่ายอพยพของเธอหยุดลง นพรัตน์กลับมาเรียนหนังสือ โดยระหว่างนั้นยังขยันแบ่งเวลามาสอนภาษาไทยฟรีให้กับชาวจีนที่วัดสามปลื้มและวัดไตรมิตรอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเรียนจบปริญญาตรี และสอบบรรจุเป็นคุณครูของโรงเรียนยานนาเวศได้ราว 5 เดือน ก่อนจะตันสินใจย้ายกลับไปเป็นครูที่โรงเรียนเก่าของตัวเองอย่างอัสสัมชัญคอนแวนต์ โดยสอนวิชาภูมิศาสตร์

“ชีวิตมีความสุขมาก แฮปปี้เหลือเกิน สอนเด็กๆ พอเลิกเรียนก็ไปสอนศึกษาผู้ใหญ่ที่วัด ไม่เคยรู้สึกเหนื่อยเลย”

แต่แล้วความสุขของคุณครูสาวก็ต้องสะดุดลง เมื่อคุณพ่อเกรงว่าเธอจะเลือกเส้นทางหลบหนีเข้าป่าตามรอยกลุ่มเพื่อนๆ ที่ทำกิจกรรมค่ายอาสาและเดินขบวนทางการเมืองมาด้วยกัน จึงตัดสินใจจับให้เธอแต่งงานในที่สุด

“เดี๋ยวเหอะ เดี๋ยวก็ได้ชวนกันไป พ่อเขากลัว เราบอกไม่ไปหรอก ไม่มีทาง เรารักพ่อแม่พี่น้องมาก ทิ้งไปไม่ได้หรอก แต่พ่อไม่เชื่อใจและจับเราแต่งงาน”

 

"นพรัตน์ กุลหิรัญ" จากหมวยเยาวราช สู่มาดามรถถังระดับโลก บรรดารถของกองทัพไทย ที่รอการซ่อมเเซม

 

 

พ่อบอกให้ออกจับปลาในทะเลหลวง

นพรัตน์ในวัย 26 ปี แต่งกับงาน “หิรัญ กุลหิรัญ” หนุ่มเจ้าของกิจการซ่อมรถและดัดแปลงเครื่องยนต์

ชีวิตแต่งงานเริ่มต้นด้วยความทุกข์ ต้องย้ายเข้าไปอยู่บ้านสามี แม่สามีเข้มงวดมากจนเธอไม่มีความสุข แตกต่างจากชีวิตอันแสนอิสระก่อนหน้านี้อย่างสิ้นเชิง ที่สำคัญยังออกคำสั่งให้เธอลาออกจากการเป็นครูด้วย

“ท่านดุมาก กลับบ้านก็ต้องขออนุญาต ไปไม่บอกกลับมาถูกตี วันหนึ่งท่านบอกว่า เลิกเป็นครูซะเถอะ หากินได้แค่ตัวเอง ครอบครัวเราใหญ่ มาบ้านนี้ต้องหาเงินเยอะๆ”

นพรัตน์เดินทางกลับบ้านมาปรึกษาคุณพ่อ ถามถึงหนทางแห่งความร่ำรวย มั่งคั่ง และยั่งยืน คำแนะนำที่เธอได้รับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจพันล้าน

“พ่อบอกว่า ถ้าเธอมัวแต่จับปลาในแม่น้ำเจ้าพระยา ปลามันมีจำกัด ต้องแย่งกัน นับวันก็มีแต่น้อยลง ถ้าเธออยากให้ยั่งยืน จับได้เยอะๆ ต้องต่อเรือไปจับปลาในทะเลหลวง เธอจะจับปลาได้ไม่รู้สิ้น”

นพรัตน์เข้าใจในสิ่งที่พ่อบอกทันทีและกลับมาพูดคุยกับสามีที่ระหว่างนั้นเริ่มติดต่อค้าขายกับกองทัพแล้ว โดยเป็นลักษณะเอเย่นต์จัดหาอุปกรณ์เครื่องยนต์ รวมถึงซ่อมบำรุงช่วงล่างให้กับรถบรรทุก

“ชีวิตเรากำลังจะเปลี่ยนไป จะเป็นแค่คนรับซ่อมรถยนต์หรือนายหน้าไม่ได้อีกแล้ว”

บทเรียนจากคุณพ่อมาประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่สงครามเวียดนามสิ้นสุดลง กองทัพอเมริกันถอนฐานทัพและทิ้งอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากไว้ในประเทศเวียดนาม เขมร และลาว

สามีของนพรัตน์จึงติดต่อกองทัพสหรัฐฯ เพื่อขอซื้อสิ่งของเหล่านั้นกลับประเทศไทย ส่งผลให้โรงงานชัยเสรีมีอะไหล่จำนวนมากเพียงพอต่อความต้องการของกองทัพไทย พร้อมกันนั้นเธอยังตระเวนหาข้อมูล ซื้อหาเครื่องจักรตามโรงงานที่ยกเลิกกิจการอีกหลายแห่งเพื่อเฟ้นหาอุปกรณ์ที่เหมาะสมกลับมา

วันหนึ่งด้วยความเป็นคนช่างพูด ช่างเจรจาและเก่งภาษาอังกฤษมาก นพรัตน์เอ่ยถามทหารสหรัฐฯ ที่เข้ามาเมืองไทยว่า ตีนตะขาบรถถังซื้อหาจากที่ไหน จนรับทราบที่อยู่และติดต่อขอซื้อเพื่อเสนอขายให้กับกองทัพ

ไฮไลท์สำคัญเกิดขึ้นระหว่างไปตรวจรับสินค้าที่สหรัฐฯ นพรัตน์ใช้ความจริงใจและไหวพริบในการพูดคุยจนสามารถเข้าไปภายในโรงงานผลิตได้สำเร็จ ทั้งที่เป็นเขตหวงห้ามและเต็มไปด้วยระบบรักษาความปลอดภัยขั้นสูง

“โรงงานนี้ เราซื้องวดแรก งวดเดียวและไม่เคยซื้ออีกเลย” นพรันต์ยิ้มให้กับประสบการณ์สุดพิเศษของตัวเอง

“เราคุยกับเขา มีคำถามอยู่นั่นแหละ ไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจ จนสุดท้ายเขาเห็นไอ้มาดามนี่ดูท่าทางไม่มีพิษสง เลยพาเข้าไปข้างใน โอ้โห....เห็นหลายอย่างเลย เขาซ่อมข้อต่อสายพาน ล้อสายพาน เอาของเก่ามาทำใหม่ได้อีก 3 รอบ เราเริ่มสนใจแล้ว ทำยังไง บ้านเราประเทศไทยกองเป็นภูเขา ไม่เคยทำใหม่เลย ซื้ออย่างเดียว”

คู่ค้าชาวอเมริกันเปิดเผยวิธีการผลิตและดำเนินการต่างๆ ให้มาดามฟัง โดยไม่คิดว่าผู้หญิงคนนี้จะจดจำทุกอย่างจนสามารถนำแนวคิดกลับมาก่อสร้างที่เมืองไทยได้

“ถามไอ้นี่ทำยังไง เหล็กยางมันติดแบบนี้เอาออกยังไง เขาก็บอกวิธี เอาออกด้วยไฮโดรเจนและความร้อนเผา เราก็ถามไฮโดรเจนหน้าตาเป็นไง เขาก็พาไปดู แล้วไอ้ที่ผุๆ ชำรุดนั่นล่ะทำยังไง เขาบอกใช้พ่นพอก แล้วเอามาเจีย”

ปัญหาสำคัญคือ ภายในโรงงานเต็มไปด้วยกล้องวงจรปิด มาดามไม่สามารถจดจำวิธีการและขั้นตอนต่างๆ ได้ด้วยเพียงแค่สมอง แต่เธอไหวพริบดี เลือกที่ขอตัวเข้าห้องน้ำอยู่เป็นระยะเพื่อไปจดความรู้ต่างๆ ลงในแผ่นกระดาษ ก่อนนำกลับมาบอกสามีและร่วมกันก่อสร้างโรงงานที่เมืองไทยตามแบบฉบับของอเมริกา

"นพรัตน์ กุลหิรัญ" จากหมวยเยาวราช สู่มาดามรถถังระดับโลก พนักงานของชัยเสรี กำลังซ่อมเเซมเครื่องยนต์ภายในโรงงาน

 

 

เรื่องขำขันอย่างหนึ่งก็คือ ระหว่างธุรกิจของชัยเสรีกำลังไปได้สวย วันหนึ่งหนุ่มฝรั่งเจ้าของโรงงานมาเยี่ยมเมืองไทยและขอเข้าชมโรงงาน

“ตายแล้วทำยังไง จะบอกเขายังไงดี เขาบอกมาดามฉันรู้สึกว่า เหมือนเดินอยู่ในโรงงานของตัวเองเลย นี่คุณทำได้ไง ต่อยังไงเหมือนกันเปี๊ยบเลย ไอ้เรากลัวเขาโกรธถ้าบอกว่าก๊อปปี้ เลยบอกไปว่าไม่ต้องตกใจ ฉันได้รับไอเดียมาจากท่าน”

ลูกค้าฝรั่งรายนี้ประทับใจนพรัตน์มาก ถึงขนาดบอกว่า หากพลาดงานประมูลครั้งต่อไปจะเลิกกิจการและขายเครื่องจักรทั้งหมดให้กับมาดาม

“เขาโทรมาบอกว่าจะขาย เราบอกขอโทษ ชอบมากแต่ไม่มีเงิน มีแค่ 1 มิลเลียน ตอนนั้นประมาณ 25 ล้านบาท เอางี้แล้วกัน ฉันโอนให้ไปก่อน ยูจะให้เครื่องจักรตัวไหนบ้างก็คิดเอา ซึ่งเขาโอเค”

นพรัตน์นำคนงานไป 15 คน พร้อมกับตู้คอนเทนเนอร์ 2 ตู้ หวังไปเรียนรู้การใช้งาน 7 วัน ก่อนขนย้ายเครื่องจักรกลับมา อย่างไรก็ตามไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เธอได้รับเครื่องจักรทั้งหมด 45 ตู้ และกินนอนอยู่ในโรงงานถึง 45 วัน

“โอ้โห เรางงเลย เขาให้มาหมดทุกอย่าง แบบพิมพ์ เครื่องอัดยาง เครื่องขึ้นรูปผลิตตีนตะขาบ แถมเขาแซวว่า มาดามมานี่ ทำคนงานเขาระส่ำระสายหมดเลย เล่นทำกับข้าว 3 มื้อ กลิ่นอาหารฟุ้งไปทั่ว คนนั่งรอกินข้าวของมาดามกันถ้วนหน้าเลย”

การได้รับเครื่องจักรจำนวนมากกลับทำให้มาดามรู้สึกเป็นทุกข์ รู้สึกว่าตัวเองเป็นนักฉวยโอกาส เอาเปรียบมิตรสหายเกินไป แถมยังถูกสามีดุที่ทำอะไรเกินตัว โลภมาก ไม่รู้จักประเมินกำลังและความสามารถของบริษัท

“กินไม่ได้นอนไม่กลับ รู้สึกเป็นทุกข์ นี่เราฉวยโอกาสหรอ เศษเหล็กเมืองไทยกิโลละ 10 บาท แต่ที่เราเอามาตกกิโลกรัมละบาท สุดท้ายเก็บเงินส่งไปให้เขาอีก 1 แสนเหรียญ ประมาณ 2.5 ล้านบาท ซึ่งตามกฎหมายเขารับไม่ได้ เพราะไม่มีที่มาของเงิน เลยส่งช่างเทคนิคมาช่วยเราจัดการโรงงานอีก 6 เดือนเป็นค่าตอบแทน”

ประสิทธิภาพและกำลังการผลิตของโรงงานชัยเสรี ทะยานเติบโตด้วยเครื่องจักรที่ทันสมัย จากเดิมครึ่งชั่วโมงสามารถหล่อยางประกอบตีนตะขาบได้เพียงแค่ก้อนเดียว กลายเป็น 130 ก้อน ขณะที่ออเดอร์ของกองทัพไทยขณะนั้นมีเพียงแค่ปีละ 2,000 ก้อนเท่านั้น เท่ากับว่าเพียงแค่ 2 วันก็สามารถผลิตได้ตามเป้าหมายแล้ว นพรัตน์จึงรับผิดชอบโอกาสที่เธอไขว่คว้ามาด้วยการตระเวนหาคู่ค้าในต่างประเทศ

“อีก 363 วันทำยังไง ไม่มีงานทำแล้ว บ้านสามีบอกว่า มาดามต้องรับผิดชอบ ขนมาทำไมเยอะแยะ”

 

"นพรัตน์ กุลหิรัญ" จากหมวยเยาวราช สู่มาดามรถถังระดับโลก ตัวอย่างตีนตะขาบรถถังเเละ ยาง Run Flat

 

 

ความจริงใจคือกลยุทธ์แห่งความสำเร็จ

ในยุค พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นผู้บัญชาการทหารบก มีการนำถังจากประเทศจีนเข้ามาประจำการ สายพานของรถได้สร้างความเสียหายให้กับพื้นผิวถนน เครื่องยนต์เสียงดัง และส่งผลต่อการแกะรอยของฆ่าศึก ทำชัยเสรีได้รับโอกาสทำการติดตั้งสายพานยางให้กับรถถังเป็นครั้งแรก ซึ่งทุกอย่างประสบความสำเร็จได้ด้วยดี ขณะที่ตลาดต่างประเทศ นพรัตน์ต่อยอดจากการติดตั้งสายพานยางให้กับรถถังจีนที่ประจำการอยู่ประเทศปากีสถาน และบังคลาเทศ

“เราไปคุยกับเขาถึงสถานทูตเลย ตอนแรกเขาปฏิเสธ ฉันเลยถามว่า วันชาติท่านวันไหน มีเดินพาเหรดใช่ไหม 23 มีนาคม หรอ...โอเค ชัยเสรีขอเสนอทำข้อต่อสายพานยางให้ท่านฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น แต่หากท่านประทับใจ สามารถจ่ายได้ในราคา 50 เปอร์เซนต์ ซึ่งสุดท้ายรัฐบาลเขาชอบและตัดสินใจยอมจ่าย แถมยังซื้อเพิ่มในราคาเต็มอีก 300 ชุด”

ไม่นานหลังจากนั้นการค้าครั้งสำคัญของชัยเสรีก็เกิดขึ้น เมื่อได้ติดต่อกับมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา เจรจาทางธุรกิจลงตัวจนสามารถเซ็นสัญญา ผลิตชิ้นส่วนยางติดเหล็ก ข้อต่อสายพาน ล้อกดสายพาน เพื่อติดตั้งให้กับรถถังเขาทั้งหมด จนได้ชื่อว่าเป็น OEM (original Equipment Material) พูดง่ายๆ ว่า เป็นชิ้นส่วนของแท้ติดรถถังสหรัฐฯ

กิจการชัยเสรีเติบโตรุ่งเรือง มีโอกาสสะสมอะไหล่จากค่ายทหารในหลากหลายประเทศที่ปลดประจำการกลับมาเมืองไทย และมีความสามารถในการซ่อมคืนสภาพ (Refurbish) หรือการผลิตใหม่ (Remanufacturing) ให้กับรถเกราะและรถบรรทุกแทบทุกแบบในกองทัพไทย

ขณะเดียวกันบริษัทยังนำเครื่องจักรและอุปกรณ์ไปจัดแสดงตามงานแสดงงานอาวุธนานาชาติเป็นประจำทุกปี ไม่ว่าจะเป็นงาน Eurosatory  นิทรรศการเกี่ยวกับเครื่องมือด้านความมั่นคงที่ใหญ่ที่สุดในโลก งาน IDEX: International Defense Exhibition & Conference ทำให้ชัยเสรีนั้นมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักอย่างมากในต่างประเทศ โดยปัจจุบันบริษัทผลิตชิ้นส่วนยางติดเหล็ก ข้อต่อสายพาน ล้อกดสายพาน ให้กองทัพไทยและกองทัพในต่างประเทศรวม 41 ประเทศทั่วโลก อาทิ รัสเซีย ฝรั่งเศส เยอรมัน ชิลี บราซิล เป็นต้น

 

"นพรัตน์ กุลหิรัญ" จากหมวยเยาวราช สู่มาดามรถถังระดับโลก รถหุ้มเกราะ First Win ผลผลิตของชัยเสรี

 

รถหุ้มเกราะเฟิร์สวิน ความภูมิใจคนไทย

หนึ่งในความภาคภูมิใจของชัยเสรีก็คือ การผลิต รถหุ้มเกราะ First Win ซึ่งพัฒนามากกว่า 10 ปี โดยหลังจากผ่านประสบการณ์ซ่อมรถกองทัพมาอย่างยาวนาน นพรัตน์รู้สึกว่า รถที่นำเข้ามาจากต่างประเทศไม่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศและการทำงานในเมืองไทย จึงเป็นที่มาของการสร้างสรรค์และออกแบบ First Win ขึ้น โดยวัสดุทุกอย่างถูกผลิตในเมืองไทย เว้นเพียงแค่เครื่องยนต์ที่นำเข้าจากสหรัฐฯ เท่านั้น ด้วยผลงานการออกแบบและพัฒนาของคนไทย 100% จึงทำให้ตัวรถมีราคาถูกกว่ารถที่นำเข้าจากต่างประเทศถึง 40%

“กันกระสุดรอบตัว ทั้งด้านบน หม้อน้ำ ถังน้ำมัน ช่วงล่างที่เป็นเหล็กหนา ไม่มี Chasis แต่ใช้การหล่อตัวถังทั้งหมดขึ้นเป็นชิ้นเดียว เวลาโดนระเบิด แรงระเบิดจะกระจายไปรอบๆ อีกอย่างที่เราเรียนรู้มาก็คือ ล้อสำรองที่ติดอยู่ด้านหลัง ไม่มีประโยชน์ ทุกครั้งที่เกิดการปะทะยางแบน ไม่มีเคยมีการลงจากรถไปเปลี่ยนล้อ  รถเราจึงออกแบบ ยาง Run Flat  ให้มียางเพียงชิ้นเดียว หากถูกยิงปะทะ รถยังสามารถวิ่งต่อไปได้อีก 150 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะทางที่ศึกษาและคำนวณมาแล้วว่า เพียงพอต่อการหลบหนีกลับฐาน”

 

"นพรัตน์ กุลหิรัญ" จากหมวยเยาวราช สู่มาดามรถถังระดับโลก

 

ปัจจุบัน First Win มีประจำการอยู่ในกองทัพไทย กรมสอบสวนคดีพิเศษ หน่วยปราบปรามยาเสพติด และหน่วยงานกรมราชทัณฑ์ ขณะที่ในต่างประเทศ First Win กลายเป็นรถที่กองทัพมาเลเซียให้ความเชื่อมั่น โดยสั่งซื้อถึง 200 คัน โดยส่งออกในราคากว่า 20 ล้านบาทตามแต่ออฟชั่นที่ติดตั้ง

“เป็นความภาคภูมิใจของเราที่กองทัพมาเลเซียเลือก First Win เราเอาชนะการแข่งขันและทดสอบจากหลากหลายประเทศที่เข้าร่วมประมูล ทั้ง อินเดีย ออสเตรเลีย แอฟริกา นี่คือสิ่งที่เราภาคภูมิใจ”

นพรัตน์ที่มีทายาทเป็นลูกชาย 2 คนคือ กานต์ กุลหิรัญ ที่สำเร็จการศึกษาวิศวกรรมไฟฟ้า ปริญญาโท จาก University of California Riverside และ กฤต กุลหิรัญ สำเร็จการศึกษาปริญญาโท บริหารธุรกิจ จากสหรัฐฯ บอกว่า บริษัทยังคงต้องการพัฒนาคุณภาพการผลิตต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงหวังว่าประเทศไทยจะให้ความสำคัญ และสนับสนุนการพัฒนา ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์เองมากขึ้น

อดีตอาหมวยเซียงกง ทิ้งท้ายว่า จุดชี้ขาดในการทำธุรกิจและความเป็นมนุษย์ คือ ความจริงใจ ใส่ใจกับสิ่งรอบข้างโดยไม่มุ่งหวังแค่เพียงผลประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น ที่สำคัญยังต้องเอาจริงเอาจัง ฝึกฝนตัวเองสู่ความสำเร็จ ไม่หลงตัวเอง และมีความรับผิดชอบกับสิ่งที่ทำ ไม่ใช่เพียงแค่พูดไปเรื่อย

“ชีวิตคนเราไม่ได้ทุกข์หรือสุขตลอด สุขๆ ดิบๆ มีทั้งกลางวัน กลางคืน เมื่อไหร่ก็ตามที่เจอทุกข์ ให้คิดเสียว่าอีกสักครู่ฟ้าก็สว่างแล้ว เช่นกันเมื่อไหร่ที่มีความสุข ให้คิดเสมอว่าประเดี๋ยวฟ้าก็มืดแล้ว ทำอะไรอย่าประมาท และไม่ว่าเราจะประสบความสำเร็จขนาดไหน จุดสำคัญที่ไม่ควรละเลยคือ ครอบครัว ยึดมั่นใจหน้าที่และความรับผิดชอบ เราเกิดมาเป็นลูก ภรรยา และแม่ รับผิดชอบแต่ละบทบาทให้ดีที่สุด”

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวกว่า 60 ปีของอาหมวยเยาวราช มาดามรถถัง ผู้สั่งสมประสบการณ์ เป็นนักเรียนรู้ ทำทุกอย่างด้วยความจริงใจจนมองเห็นโอกาสสู่ความสำเร็จในที่สุด

 

"นพรัตน์ กุลหิรัญ" จากหมวยเยาวราช สู่มาดามรถถังระดับโลก นพรัตน์เเละครอบครัว

 

"นพรัตน์ กุลหิรัญ" จากหมวยเยาวราช สู่มาดามรถถังระดับโลก ข้อต่อสายพานจากการผลิตของชัยเสรี