posttoday

"พลิกวิกฤตศรัทธาตำรวจ ต้องกระจายอำนาจสู่ประชาชน" ผศ.พ.ต.ท. ดร. กฤษณพงค์ พูตระกูล

08 มิถุนายน 2560

แนวคิดปฏิรูปตำรวจเพื่อพลิกฟื้นศรัทธาติดลบของประชาชนจากปาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พันตำรวจโท ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

"ปฏิรูปตำรวจ" กลายเป็นคำพูด ความตั้งใจ และความคาดหวังที่ทุกคนได้รับฟังมาอย่างต่อเนื่อง

แนวคิดต่างๆ ถูกนำเสนอผ่านสื่อ แต่ยังไม่มีเรื่องใดผ่านกระบวนการพิจารณาจากผู้มีอำนาจอย่างลึกซึ้ง จนนำไปสู่การปฏิบัติที่สามารถเปลี่ยนแปลงศรัทธาของประชาชนที่มีต่อตำรวจ ลดปัญหาอาชญากรรมและพัฒนากระบวนการยุติธรรมได้สำเร็จ

วันนี้ ผศ.พ.ต.ท.ดร กฤษณพงค์ พูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต, ที่ปรึกษาสำนักงานควบคุมยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNOCD) และอดีตอนุกรรมาธิการปฏิรูปกิจการตำรวจ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จะมาเปิดเผยหนทางสู่การปฏิรูปตำรวจ จากแนวคิดและความสำเร็จในหลากหลายประเทศทั่วโลก

“ถึงเวลาเปลี่ยนตำรวจให้เป็นที่เชื่อมั่นศรัทธาของประชาชน และมีความเป็นมืออาชีพเเล้ว”  นายตำรวจหนุ่มหมายมั่น

กระจายอำนาจสู่ประชาชน

โดยทั่วไปแล้ว โครงสร้างการบริหารงานของตำรวจทั่วโลกมีอยู่ 3 ระบบ ได้แก่ ระบบรวมศูนย์อำนาจ กระจายอำนาจ และผสมผสาน สำหรับประเทศไทย องค์กรตำรวจมีการบริหารงานในลักษณะรวมศูนย์อำนาจ ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ที่กำหนดให้ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) และประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)

ผศ.พ.ต.ท.ดร กฤษณพงค์ เสนอว่า ถึงเวลาที่ต้องกระจายอำนาจการบริหารจากส่วนกลางสู่ระดับภูมิภาคหรือในระดับพื้นที่ เพื่อสร้างความใกล้ชิดระหว่างตำรวจและประชาชนมากขึ้น โดยอาจจัดตั้งคณะกรรมการตำรวจระดับภาคหรือระดับท้องถิ่น ซึ่งประกอบไปด้วยคณะกรรมการจากภาคประชาชน โมเดลดังกล่าวทำให้ประชาชนและตำรวจรับรู้ข้อจำกัดของกันและกัน จนนำไปสู่การแก้ปัญหาอาชญากรรมและเพิ่มความศรัทธาต่อเจ้าหน้าที่

“คณะกรรมการภาคประชาชน ถูกคัดเลือกมาจากหลายๆ ภาคส่วน ทั้งส่วนราชการอย่างผู้ว่าราชการจังหวัด ตัวแทนจากผู้พิพากษา ตัวแทนอัยการ นักสิทธิมนุษยชน ภาคประชาชนซึ่งมาจากหลากหลายสาขาอาชีพ เช่น พ่อค้า นักธุรกิจ เกษตรกร นักวิชาการ คณะกรรมการภาคประชาชน จะทำงานควบคู่กันไปกับตำรวจกองบัญชาการภาค ร่วมกันปรึกษาหารือ หาทางออกของปัญหา ตลอดจนทำหน้าที่ตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของตำรวจในพื้นที่ด้วย”

การกระจายอำนาจเพื่อให้ตำรวจใกล้ชิดประชาชน จำเป็นต้องมาพร้อมกับระบบการคานอำนาจระหว่างจังหวัด ภูมิภาค และท้องถิ่น

“ไม่ต้องกลัวว่าการกระจายอำนาจจะทำให้เกิดแทรกแซงจากผู้มีอิทธิพล เพราะสามารถวางกลไก ระบบตรวจสอบถ่วงดุลที่เข้มแข็งได้ คณะกรรมการระดับจังหวัด ภูมิภาค ส่วนกลาง และท้องถิ่น เต็มไปด้วยคนจากหลากหลายภาคส่วน สามารถออกแบบได้ โอกาสล็อบบี้นั้นยากมาก”

"พลิกวิกฤตศรัทธาตำรวจ ต้องกระจายอำนาจสู่ประชาชน" ผศ.พ.ต.ท. ดร. กฤษณพงค์ พูตระกูล

ยกระดับตำรวจ ทุกคนต้องมีส่วนร่วม

เมื่อกระจายอำนาจไปสู่ภาคประชาชนแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือการมีส่วนร่วมของประชาชน  โดยประเทศพัฒนาแล้วมีตำแหน่งที่เรียกว่าผู้ช่วยเจ้าพนักงานตำรวจ (Auxiliary police) คอยทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง แบ่งเบาภาระเจ้าหน้าที่มืออาชีพ

ผศ.พ.ต.ท.ดร กฤษณพงค์ เล่าว่า ประเทศอังกฤษเคยมีอาสาสมัครตำรวจเหมือนในประเทศไทย ก่อนจะยกเลิกในเวลาต่อมา หลังจากเห็นว่ามีส่วนหนึ่งใช้อำนาจในทางที่ไม่ถูกต้อง โดยพัฒนามาเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานตำรวจ มีการฝึกอบรม ให้ค่าตอบแทนที่ชัดเจน และมีระบบการตรวจสอบการทำหน้าที่ ขณะที่ในประเทศสิงค์โปร์ ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้ามาทำหน้าที่ที่ตำรวจไม่ทำ เช่น ตรวจตรากระเป๋า อุปกรณ์อันตรายในงานคอนเสิร์ตหรือมหกรรมกีฬาขนาดใหญ่ และปล่อยให้ตำรวจมืออาชีพมีเวลาไปดูแลเรื่องความปลอดภัยอย่างการก่อการร้าย

“ต่างประเทศเขาสร้างระบบ ทำให้คนอยากเข้ามาช่วยงานตำรวจ อย่างอังกฤษ มีการกำหนดหลักเกณฑ์ เช่น สัปดาห์หนึ่งต้องทำงาน 20 ชั่วโมง แต่งตัวเหมือนตำรวจเพื่อให้คนเกิดความยำเกรงและเห็นว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ คนทั่วไปดูไม่ออก มีอำนาจใจการจับกุม ใช้ปืนไฟฟ้าเป็นอาวุธในการป้องกันและต่อสู้ อาจมีค่าตอบแทนตามสมควร

ผมลองคุยกับผู้ช่วยท่านหนึ่ง เขาบอกว่าภูมิใจที่ได้ทำงาน ไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย แถมยังเห็นว่างานตรงนี้ได้ส่งเสริมอาชีพหลักของตัวเองด้วย โดยเฉพาะการพัฒนาภาวะผู้นำ”

ในมุมมองของนักวิชาการด้านอาชญาวิทยา ประเทศไทยสามารถทำเรื่องแบบนั้นได้ โดยนำงบประมาณค่าจ้างผู้ช่วยมาจากภาษีท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น กทม. ผู้ช่วยตำรวจที่ผ่านระบบการคัดเลือก ฝึกอบรมและประเมินผล อาจทำหน้าที่ ตรวจตราดูแลการขับขี่รถย้อนศร บนทางเท้า ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน เป็นหน้าที่เล็กน้อย เพื่อให้ตำรวจมืออาชีพไปทำหน้าที่อื่น

“คนพวกนี้เข้ามาเเล้ว หากทำไม่ดีเองจะจัดการอย่างไร ขอตอบว่า เราสามารถสร้างระบบตรวจสอบการทำงานและประเมินผลได้ ที่สำคัญไม่ต้องมานั่งกังวลว่า เจ้าหน้าที่เหล่านี้จะแข่งขันเติบโต เลื่อนตำแหน่งเป็นยศอะไรด้วย เพราะเขาจะเป็นแค่ตำแหน่งผู้ช่วยนี่แหละ”

 

"พลิกวิกฤตศรัทธาตำรวจ ต้องกระจายอำนาจสู่ประชาชน" ผศ.พ.ต.ท. ดร. กฤษณพงค์ พูตระกูล

 

"พลิกวิกฤตศรัทธาตำรวจ ต้องกระจายอำนาจสู่ประชาชน" ผศ.พ.ต.ท. ดร. กฤษณพงค์ พูตระกูล

ตำรวจมืออาชีพต้องมีอุปกรณ์พื้นฐานที่เพียบพร้อม

เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ในการทำงานที่ขาดแคลน ถือเป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนารวมไปถึงลดทอนความมั่นใจของประชาชนที่มีต่อตำรวจ

“ตำรวจไทยแทบต้องซื้อทุกอย่างเองหมด เสื้อเกราะขอรับบริจาคจากวัดหรือมูลนิธิ  ไม่มีความพร้อมในการทำงาน ออกไปจับยาเสพติด 10 คน มีเสื้อเกราะใส่แค่ 3 ตัว คนไหนเสี่ยงมากก็ได้ใส่ ผิดกับเมืองนอก อย่างอังกฤษเคยมีตำรวจไปจับคนร้ายแล้วพลาดถูกคนร้ายใช้มีดแทง ปรากฎว่าวันรุ่งขึ้นตำรวจทั้งเกาะอังกฤษใส่เสื้อเกราะหมดเลย”

ผศ.พ.ต.ท.ดร กฤษณพงค์ บอกว่า ทุกการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพรัฐในการดูแลความปลอดภัยของประชาชน พูดง่ายๆ ว่า ถ้าตำรวจยังดูแลตัวเองไม่ได้ รัฐก็ไม่สามารถรักษาความปลอดภัยของประชาชนได้

อีกกุญแจสำคัญในการพัฒนาคือ การจัดเก็บข้อมูล ปัจจุบันระบบฐานข้อมูลยุติธรรมทางอาญาของตำรวจ อัยการ ศาล และหน่วยงานพัฒนาพฤตินิสัย มีลักษณะต่างจัดเก็บไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่เชื่อมโยง และไม่สามารถนำมาวิเคราะห์ใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ การยกระดับจำเป็นต้องพัฒนาระบบการใช้ข้อมูลกลางเพื่อช่วยเหลือในการวิเคราะห์และนำมาใช้ประโยชน์

ข้อมูลจากกองกำกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ปี 2556 ชี้ให้เห็นว่า สัดส่วนประชากรในประเทศไทยต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจมีประมาณ 305 ต่อ 1 นักวิชาการด้านอาชญาวิทยา บอกว่าไม่ใช่ปัญหา ใกล้เคียงกับประเทศอังกฤษและสิงคโปร์ แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้ตำรวจทำงานได้ดีกว่าคือ การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย

“อังกฤษขึ้นชื่อเรื่องการใช้กล้องสอดส่องพฤติกรรมคนในพื้นที่ทั่วไปมากที่สุดในโลก โดยมีการเก็บข้อมูลพบว่า คนๆ หนึ่งตั้งแต่ออกจากบ้าน เช้ายันค่ำกระทั่งกลับเข้าบ้าน เขาจะถูกจับภาพโดยกล้องวงจรปิดเฉลี่ย 300 ภาพต่อคนต่อวัน”

"พลิกวิกฤตศรัทธาตำรวจ ต้องกระจายอำนาจสู่ประชาชน" ผศ.พ.ต.ท. ดร. กฤษณพงค์ พูตระกูล

 

 

"พลิกวิกฤตศรัทธาตำรวจ ต้องกระจายอำนาจสู่ประชาชน" ผศ.พ.ต.ท. ดร. กฤษณพงค์ พูตระกูล

เปลี่ยนระบบการคัดเลือกและฝึกอบรม

ระบบการคัดเลือกผู้สมัครเข้ารับราชการตำรวจถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการยกระดับคุณภาพของผู้ปฏิบัติงาน

ผศ.พ.ต.ท.ดร กฤษณพงค์ เล่าว่า วิธีการคัดเลือกตำรวจของประเทศเยอรมันเน้นให้ความสำคัญเรื่องจิตวิทยา ความคิด และทัศนคติของผู้สมัครมาก

“บ้านเราสอบข้อเขียน ตรวจร่างกาย สอบสัมภาษณ์จากคณะกรรมการ 4-5 คน แต่เยอรมันมีเพิ่มเติมอีกคือการเน้นระบบคัดเลือกที่วัดเจตคติ และความคิดผู้สมัคร โดยการสอบเป็นกลุ่มผ่านโจทย์ที่ท้าทาย มีกล้องวงจรปิดคอยจับพฤติกรรมและการตัดสินใจ

ตัวอย่างเช่น โจทย์บอกว่าหากคนร้ายหลบหนีไปทางนั้น พวกคุณจะทำอย่างไร และปล่อยให้ผู้สมัครถกเถียงกัน ระหว่างถกเถียงจะถูกบันทึกวิดีโอไว้ ภาพทั้งหมดจะถูกส่งไปให้คณะกรรมการที่ประกอบไปด้วย นักจิตวิทยา ตำรวจผู้มีประสบการณ์สูง ผู้ชำนาญการในแต่ละสาขา เพื่อช่วยกันตัดสินว่า คนๆ นี้สมควรจะเข้ามาเป็นตำรวจหรือไม่”

นอกจากกระบวนการคัดเลือกแล้ว การฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอของผู้รับราชการ ก็สำคัญไม่แพ้กัน

ผศ.พ.ต.ท.ดร กฤษณพงค์ บอกว่า ตำรวจในหลายประเทศมีการฝึกอบรมทุกๆ 6 เดือนหรือ 1 ปี เพื่อประเมินผลว่า คุณยังทำหน้าที่ได้ดีในสายงานคุณหรือไม่ พัฒนาแนวคิดหรือวิธีปฏิบัติเท่าทันกับการพัฒนาของคนร้ายและอาชญากรรมในยุคปัจจุบันหรือไม่

“หากคุณเป็นตำรวจสายสืบสวน ทบทวนดูสิว่า ความเข้าใจข้อกฎหมายคุณเป็นอย่างไร เจอเคสแบบนี้สามารถไปจับเขาได้ไหม คนร้ายต่อสู้จะทำอย่างไร รวมถึงสอดแทรกเรื่องคุณธรรมจริยธรรมไปตลอดการฝึกอบรม โดยประเทศสิงคโปร์เน้นมากเรื่องการกระทำผิดของตำรวจ มีตัวอย่างบทลงโทษให้เห็นในการอบรม เพื่อให้เห็นตัวอย่างที่ไม่ถูกต้อง แต่บ้านเราตั้งแต่จบออกมาสิบปีผ่านไป ไม่เคยอบรมอีกเลย จนกระทั่งเกษียณเลยก็มี เพราะงบไม่มีหรือขาดแคลนคนทำงานจนไม่มีเวลา

“ปัจจุบันตำรวจจราจรหลายพื้นที่บอกเอง อยากให้วิทยากรมาอบรมด้านกฎหมายจราจรให้ เป็นเรื่องที่แปลกมาก เขาบอกอยากมีความรู้ เพราะเวลาไปทำงาน ถูกประชาชนถาม เถียง โต้กลับ อยากจะเถียงเรื่องกฎหมายกลับบ้าง”

ทั้งนี้ระบบงานตำรวจในประเทศพัฒนาแล้ว มีลักษณะที่แตกต่างจากระบบงานตำรวจในเมืองไทยหลากหลายประเด็น

อาจารย์กฤษณพงค์ มองว่า ระบบงานตำรวจต้องลดความเป็นทหารลงเปลี่ยนเป็นระบบงานตำรวจลักษณะเสรีนิยม ทั้งในแง่วิธีคิด การปฏิบัติตามนโยบายรัฐ ลำดับชั้นยศที่น้อยลง เพื่อลดช่องว่างระหว่างตำรวจกับประชาชน การปฏิบัติต่อผู้กระทำความผิดและการรักษาความสงบเรียบร้อย เช่นเดียวกันกับการให้บริการสาธารณะ ตำรวจจะต้องเปลี่ยนมุมมองในการให้บริการ โดยมองว่าประชาชนเป็นผู้รับบริการหรือลูกค้า

“ระบบงานตำรวจแบบทหารจะเน้นการปฏิบัติตามคำสั่งของผู้มีอำนาจ การแสดงกำลังและมองฝ่ายตรงกันข้ามคือศัตรู ตรงกันข้ามกับระบบงานตำรวจในรูปแบบเสรีนิยมที่จะมุ่งเน้นไปที่การปฏิบัติโดยยึดหลักกฎหมายและความรับผิดชอบที่ต้องมีต่อชุมชนและสังคม ตำรวจก็คือพลเมือง พลเมืองก็คือตำรวจ เป็นหุ้นส่วนกันและกันในการป้องกัน แก้ไขปัญหาอาชญากรรมและรักษาความสงบเรียบร้อยของชุมชน”

นักวิชาการหนุ่มยังแนะนำว่า ถึงเวลาที่ประเทศต้องพัฒนาระบบความโปร่งใสในการทำงาน ด้วยหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รวมไปถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการพิจารณาคดี เพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดความมั่นใจและวางใจกันมากขึ้น รวมถึงลดการใช้ดุลยพินิจซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งเช่นหลายกรณีในปัจจุบัน

"พลิกวิกฤตศรัทธาตำรวจ ต้องกระจายอำนาจสู่ประชาชน" ผศ.พ.ต.ท. ดร. กฤษณพงค์ พูตระกูล

 

ประชาชนมีสิทธิบริหารและแต่งตั้งโยกย้าย

การบริหารงานบุคคลเป็นเรื่องสำคัญที่ ผศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ บอกว่า มีผลกระทบต่อขวัญกำลังใจในการทำหน้าที่ หากปฏิรูประบบตำรวจด้วยการกระจายอำนาจ คณะกรรมการภาคประชาชนส่วนกลางและส่วนภูมิภาคจะมีส่วนร่วมต่อการเติบโตตามสายงานของตำรวจ ส่งผลให้การโยกย้ายตำแหน่ง มีความเป็นธรรม เกิดการยอมรับจากทุกฝ่ายมากขึ้น เนื่องจากถูกคานอำนาจจากทั้งรัฐบาล ภูมิภาค จังหวัด และท้องถิ่น

“ตำรวจคนไหนทำงานให้กับประชาชน แก้ปัญหาอาชญากรรมได้ดี คนนี้จะได้รับการสนันสนุนเรื่องตำแหน่ง เราต้องสร้างรูปแบบที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม โดยประชาชนมีส่วนสะท้อน ประเมินผลได้ว่า ตำรวจคนนี้ทำงานดีเหมาะสมที่จะได้เลื่อนตำแหน่ง วิธีการเช่นนี้ทำให้ตำรวจแข่งขันกันด้วยการทำงาน อย่างเอฟบีไอของสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับทุกคดีไม่เฉพาะแค่ที่สื่อสนใจเหมือนบ้านเรา”

เขา เล่าเรื่องในอดีตทิ้งท้ายให้ฟังว่า เมื่อ 60 ปีก่อน ภายหลังเยอรมันแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 อาชีพตำรวจกลายเป็นอาชีพที่คนในประเทศเกลียดมากที่สุดพอๆ กับนักการเมือง แต่ปัจจุบันพวกเขาทำให้ตำรวจกลายเป็น 1ใน 3 อาชีพที่ประชาชนศรัทธาและอยากเป็นมากที่สุด เพราะฉะนั้นถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องเรียนรู้ประสบการณ์และบทเรียนในหลากหลายประเทศทั่วโลก

“อย่าให้ความผิดพลาดในอดีตส่งต่อถึงคนรุ่นถัดไป ต้องจบในเจเนอเรชั่นนี้ อย่าให้คนรุ่นหลานมาถามว่า เมื่อ 30 ปีที่แล้ว คนรุ่นพ่อทำอะไรกัน”

หนทางปฏิรูปตำรวจไปสู่ความเป็นมืออาชีพนั้นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกคน ขอปิดท้ายด้วยประโยคสุดคลาสสิคจาก เซอร์โรเบิร์ด พีล (Sir Robert Peel) ผู้ก่อตั้งตำรวจนครบาลแห่งกรุงลอนดอนที่ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาของตำรวจอังกฤษ

“ตำรวจคือประชาชน และประชาชนคือตำรวจ”  (the police are the public and the public are the police)

 

หมายเหตุ-ข้อมูลบางส่วนจากหนังสือ "การป้องกันอาชญากรรมในทศวรรษหน้ากับการพัฒนาระบบงานตำรวจ" ของ ผศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล สำนักพิมพ์มติชน