posttoday

"เซตซีโร่-ตัดอำนาจ" เกมล้างกกต.คุมเลือกตั้ง

15 พฤษภาคม 2560

บรรดาองค์กรอิสระที่คุณสมบัติไม่ตรงตามรัฐธรรมนูญ จำเป็นต้องโบกมือลาการทำงานก่อนเวลาไปโดยปริยาย

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ต้องยอมรับว่าเวลานี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับของร้อนไว้หลายเรื่อง โดยเฉพาะร่างกฎหมายที่ต้องออกตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กำหนด ซึ่งเวลานี้มีเข้ามาสู่ สนช.แล้ว 4 ฉบับ

ร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ โดยคณะกรรมาธิการฯ (กมธ.) ของ สนช.ยังคงเนื้อหาว่าด้วยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเอาไว้ตามเดิมที่ให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน อีกทั้งไม่ได้มีการเปลี่ยนสัดส่วนของผู้นำเหล่าทัพในการเข้ามานั่งเก้าอี้กรรมการยุทธศาสตร์ เท่ากับว่าผู้บัญชาการกองทัพไทย ผู้บัญชาการกองทัพบก ผู้บัญชาการกองทัพอากาศ ผู้บัญชาการกองทัพเรือ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมเป็นกรรมการตามเดิม

ตามกำหนดแล้วคณะ กมธ.จะต้องจัดทำให้เสร็จภายใน 12 มิ.ย. และส่งให้ที่ประชุม สนช.ลงมติเห็นชอบในวันที่ 14 มิ.ย.

ร่าง พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ซึ่งบัญญัติให้ดำเนินการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเพื่อดำเนินการอย่างเป็นกิจจะลักษณะจำนวน 11 ด้าน

ประกอบด้วย ด้านการเมือง ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านกฎหมาย ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านการศึกษา ด้านเศรษฐกิจ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านสาธารณสุข ด้านสื่อสารมวลชนเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านสังคม และด้านอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด โดยจะมีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศแต่ละด้านเพื่อทำหน้าที่จัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศ

ในภาพรวมของของร่าง พ.ร.บ.แผนและขั้นดำเนินการปฏิรูปฯ คณะ กมธ.ของ สนช.ยังไม่ได้ปรับแก้เนื้อหาอย่างมีนัยสำคัญ

ส่วนหนึ่งต้องการให้เป็นไปตามแนวทางที่รัฐบาลในฐานะผู้เสนอร่างกฎหมายกำหนดเอาไว้ เช่นเดียวกับร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เพราะ สนช.แก้ไขเนื้อหาจำนวนมาก อาจกระทบต่อแผนการทำงานของรัฐบาลได้ ทำให้ที่สุดแล้วร่างกฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าวอาจจะมีรูปร่างหน้าตาออกมาไม่ต่างไปจากที่รัฐบาลเสนอเท่าไหร่นัก

ผิดกับร่างกฎหมายอีก 2 ฉบับที่อยู่ในมือ สนช.เวลานี้ คือ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ในกรณีของร่างกฎหมายพรรคการเมืองขณะนี้นั้นกำลังพิจารณาเนื้อหากันอย่างเข้มข้นภายใต้การกุมบังเหียนของ “พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม” สมาชิก สนช.ในฐานะประธานคณะ กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฯ ซึ่งได้มีการปรับแก้ไปบางส่วนแล้ว

เช่น การเก็บค่าบำรุงพรรคการเมืองจากสมาชิกพรรค ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำหนดให้พรรคการเมืองเก็บ 100 บาทต่อไป เป็นที่มาให้พรรคการเมืองออกมาแสดงความคิดไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก ปรากฏว่าคณะ กมธ.วิสามัญฯ ส่งสัญญาณพร้อมปรับแก้ให้เกิดความสมดุล

ขณะที่ร่างกฎหมาย กกต.ที่มี “ตวง อันทะไชย” สมาชิก สนช.ในฐานะประธานคณะ กมธ.วิสามัญฯ ก็มีความเคลื่อนไหวน่าสนใจเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอำนาจของ 5 เสือ กกต.

พลิกไปดูเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ในมาตรา 224 ได้วางหลักให้ กกต.มีอำนาจพิเศษ คือ “หากพบเห็นการกระทำที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าการเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้มีอำนาจระงับยับยั้งแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกการเลือกตั้งได้”

ประเด็นนี้คณะ กมธ.วิสามัญฯ กำลังครุ่นคิดว่าเจตนารมณ์ของมาตรา 224 เป็นอย่างไรกันแน่ ระหว่างการให้ กกต.เพียงหนึ่งคนที่พบการกระทำตามมาตรา 224 สามารถสั่งล้มการเลือกตั้งได้เลย หรือเป็นลักษณะของการใช้อำนาจที่ต้องผ่านมติของ กกต.ทุกคนก่อน

ทว่า ท่าทีของคณะ กมธ.วิสามัญฯ โน้มเอียงไปในทำนองว่าไม่ควรให้ กกต.เพียงคนเดียวล้มการเลือกตั้งได้ เพราะอาจเป็นการให้อำนาจกับ กกต.มากเกินไป จึงเตรียมปรับเนื้อหาให้เหมาะสมและให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญต่อไป

ขณะเดียวกัน มีอีกประเด็นหนึ่งที่คณะ กมธ.วิสามัญฯ กำลังพิจารณาเช่นกัน คือ การดำรงอยู่ของ กกต.ชุดปัจจุบัน

ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่จะดำรงตำแหน่ง กกต.ไว้ค่อนข้างสูง ไม่เพียงเท่านี้ ยังกำหนดให้สถานะการดำรงอยู่ของ กกต.ชุดปัจจุบันไปแขวนไว้กับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.

โดยร่างกฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้ กกต.ที่ดำรงตำแหน่งก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญเท่านั้นถึงจะมีสิทธินั่งทำงานที่ศูนย์ราชการต่อไปได้ กรณีเช่นนี้ทำให้จะมี กกต.ชุดปัจจุบันอย่างน้อย 2 คนต้องตกเก้าอี้ก่อนเวลาอันควร

ต่างกับกฎหมาย กกต.ฉบับที่ออกตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่ยังให้บุคคลที่เป็น กกต.ก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ยังสามารถทำหน้าที่ต่อไปได้

ในประเด็นนี้ท่าทีของ สนช.แบ่งรับแบ่งสู้พอสมควร โดยส่วนหนึ่งต้องการให้ กกต.ชุดปัจจุบันทำหน้าที่ต่อไปจนครบวาระ แต่อีกส่วนก็มองว่าควรแก้ไขให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

ส่งผลให้แนวโน้มของ สนช.อาจต้องจำใจเดินตามแนวทางของ กรธ. คือ การให้ กกต.บางคนต้องตกเก้าอี้ไป ซึ่งการตกเก้าอี้ของ กกต.ตามร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นมาตรฐานที่ใช้กับองค์กรอิสระอื่นๆ ที่ต้องอยู่ภายใต้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญด้วย

นั่นหมายความว่าบรรดาองค์กรอิสระที่คุณสมบัติไม่ตรงตามรัฐธรรมนูญ จำเป็นต้องโบกมือลาการทำงานก่อนเวลาไปโดยปริยาย ซึ่งทั้งหมดเพื่อเป็นการเปิดทางให้ คสช.ได้ส่งคนมาคุมการเลือกตั้งนั่นเอง