posttoday

กกต.พร้อมปรับตัว รับกฎหมายลูกรัฐธรรมนูญใหม่

30 เมษายน 2560

"ในสถานการณ์หน้างานของการเลือกตั้งจริง กกต.ควรมีความคล่องตัวในการคิดกลไกอะไรก็ได้ เพื่อช่วยให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม"

โดย....ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

ภายหลังรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้เป็นทางการ แน่นอนว่าถนนทุกสายจากนี้พุ่งเป้าไปยังการเลือกตั้ง แต่ก่อนถึงเวลานั้น กฎหมายลูก 4 ฉบับ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่ขณะนี้จะมีหน้าตาอย่างไร

สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารกลาง เปิดเผยผ่านโพสต์ทูเดย์ต่อประเด็นความเห็นต่างระหว่างกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยเฉพาะกลไกการทำงาน ว่าจะมี กกต.จังหวัด หรือผู้ตรวจการเลือกตั้ง ซึ่งส่วนตัวคิดว่ากฎหมายลูกไม่ควรเขียนรายละเอียด น่าจะเป็นการดำเนินการภายในของ กกต.ที่อาจมีกลไกอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างก็ได้

“แต่พอเขียนว่าไม่มีหรือต้องมี ทำให้รูปแบบการทำงานของ กกต.ถูกจำกัดด้วยรูปแบบ กรธ.เป็นฝ่ายเสนอ ซึ่งไม่เชื่อว่า กรธ.จะคิดรูปแบบหนึ่งขึ้นมามันจะดีที่สุดหรือเหมาะสมที่สุด เพราะในสถานการณ์หน้างานของการเลือกตั้งจริง กกต.ควรมีความคล่องตัวในการคิดกลไกอะไรก็ได้ เพื่อช่วยให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม”

สมชัย อธิบายเหตุผล 1.ใช้คนนอกพื้นที่ต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง มีความเป็นกลาง และพร้อมปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดใดก็ได้เวลาประมาณ 2-3 เดือน โดยรับเพียงเบี้ยเลี้ยงการทำงาน ก็จะเกิดปัญหาตั้งแต่เริ่มต้นว่าจะหาใครมาทำหน้าที่ดังกล่าว

2.ความคุ้นเคยในจังหวัดที่จะต้องไปทำงาน ไม่รู้ในเชิงภูมิศาสตร์ ผู้คน และวัฒนธรรม หรือเรื่องของหัวคะแนน ผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ก็จะเหมือนคนแปลกหน้าไปหาข่าว ไม่สามารถได้ข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อการป้องปรามทุจริตการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ สิ่งที่ กกต.เสนออยากให้มี กกต.จังหวัดนั้น ดัดแปลงจากของเดิม คือ มี กกต.จังหวัดแต่ให้รับเพียงเบี้ยประชุม และมาจากการสรรหาจากบุคคลหลากหลายอาชีพ ซึ่งเป็นข้อเสนอให้กับ กรธ.แต่ไม่ได้รับการพิจารณาดังนั้น สนช.และกรรมาธิการ สนช. ต้องชั่งน้ำหนักอะไรเป็นประโยชน์ต่อการจัดการเลือกตั้ง

ส่วนกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่ากฎหมายใหม่ที่ออกมาทำให้คนเป็น กกต. 2-3 คน ต้องพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระสูงขึ้นกว่าเดิม ในประเด็นนี้คนเตรียมงานมาเป็นเวลานานเข้าใจเกี่ยวกับระบบต่างๆ กับการเอาคนใหม่เข้ามา จะเป็นการเปลี่ยนม้ากลางศึก ทำให้การจัดการเลือกตั้งไม่มีประสิทธิผลหรือไม่

3.ในเรื่องหลักการออกกฎหมาย โดยหลักนิติธรรมจะไม่มีผลบังคับย้อนหลังในเชิงเป็นโทษกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นกับ กกต.โดยตรง คิดว่าไม่มากเท่ากับองค์กรอิสระอื่นถ้าใช้กติกานี้ ซึ่ง กกต.ที่กระทบแน่ๆ มีเพียงคนเดียว คือ ประวิช รัตนเพียร กกต.ด้านกิจการมีส่วนร่วม เพราะเคยดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน และพ้นจากการเมืองไม่ถึง 10 ปี ถ้าให้พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวก็ไม่เป็นธรรม

กกต.พร้อมปรับตัว รับกฎหมายลูกรัฐธรรมนูญใหม่

“สิ่งที่ผมมองผลกระทบต่อ กกต.น้อยกว่าองค์กรอิสระอื่น อย่างตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประมาณ 4-5 คน และกรรมการ ป.ป.ช. 7-8 คน ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งผลที่เกิดขึ้นแปลว่าคนที่เคยทำงานมาเดิมถูกรอนสิทธิ ขาดความต่อเนื่อง เพราะเอาคนใหม่เข้ามารับหน้าที่ คดีของ ป.ป.ช.และของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อกรรมการองค์กรอิสระดังกล่าวหากต้องพ้นตำแหน่งจะมีผลวันถัดไปทันที สมมติหากเกินกว่าครึ่งหนึ่งขององค์ประชุมแต่องค์กรนั้นๆ จะไม่สามารถจัดการประชุมได้นานถึงสองเดือนครึ่ง เท่ากับเกิดสุญญากาศ ซึ่งไม่น่าเป็นผลดี ดังนั้นขอให้ทาง สนช.ต้องช่วยดูว่าจะแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้อย่างไร”

ทั้งนี้ ยืนยันสิ่งที่พูดทั้งหมดไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ตัวเอง เพราะในรัฐธรรมนูญคุณสมบัติ กกต.มีข้อหนึ่งที่เขียนว่า หรือมีประสบการณ์การทำงานภาคประชาสังคมมาไม่น้อยกว่า 20 ปี เชื่อว่าจำนวนปีที่ทำงานในองค์กรภาคประชาสังคม อาทิ องค์กรกลางการเลือกตั้ง หรือพีเน็ต ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี 2535 นับถึงปัจจุบันก็ 25 ปี น่าจะเพียงพอ

3สถานะของสำนักงาน กกต.นั้น อยากให้แยกออกมาเป็นกฎหมายอีกฉบับ เรียกว่า พ.ร.บ.สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง แต่การร่างของ กรธ.ไปรวมอยู่ที่เดียวกัน ทำให้ขึ้นอยู่กับการคงอยู่ของกรรมการการเลือกตั้ง จะทำให้ฝ่ายข้าราชการประจำเกิดความไม่มั่นคงต่อการทำงาน ต่างจาก ป.ป.ช.

กกต.ฝีปากกล้า ยอมรับว่า ถ้าออกมาในรูปแบบที่รู้สึกเป็นปัญหา ก็พร้อมปรับตัวตามและหาวิธีการรองรับ โดยขณะนี้ได้สั่งการให้สำนักงานเตรียมพร้อมรับทุกรูปแบบ อาทิ กลไกในการรองรับผู้ตรวจการเลือกตั้ง เพื่อให้การทำงานคู่ขนานไปกับสำนักงาน ซึ่งเรียกโมเดลนี้ว่าสามประสาน คือ สำนักงาน กกต.จังหวัด ผู้ตรวจการการเลือกตั้ง และองค์กรเอกชนในจังหวัด ต้องประสานงานและตรวจสอบกันและกัน

“เราเคยได้ยินเรื่องที่ว่าเจ้าหน้าที่ของ กกต.ไปเรียกรับผลประโยชน์จากนักการเมือง ฉะนั้นต้องมีผู้ตรวจการเลือกตั้งเข้าไปตรวจสอบคนของเราว่ามีเรื่องราวเหล่านี้จริงหรือไม่ หรือต้องมีองค์กรเอกชนเข้ามาตรวจสอบจริงหรือเปล่า เป็นต้น และผู้ตรวจเองไม่ใช่ไม่มีการตรวจสอบ เขาต้องถูกตรวจสอบโดยเราว่าลงไปพื้นที่แล้วทำตัวเหมือนผู้มีอิทธิพลในพื้นที่หรือไม่ ไปเรียกรับผลประโยชน์จากฝ่ายการเมืองในพื้นที่หรือเปล่า”

นอกจากนี้ สั่งให้เตรียมการในการเลือกตั้งโดยเฉพาะด้านบริหารจัดการเลือกตั้งต้องพร้อมทุกอย่าง เมื่อกฎหมายลูก 4 ฉบับเสร็จและประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตรงนั้นเป็นการนับหนึ่งเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งจริงๆ และต้องให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน ทว่าตรงนี้ยังมีการตีความแตกต่างกันอยู่ของนักกฎหมายในประเทศไทย ซึ่งแบ่งเป็น 2 แบบ

โดยแบบแรก เมื่อกฎหมาย 4 ฉบับเสร็จแล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันเลือกตั้งอยู่ 150 วัน จะเลือกถึงวันที่ 149 ก็ได้ แต่การตีความแบบสอง คือ แล้วเสร็จต้องประกาศผลได้ 95% ด้วย สมมติถ้าจะเอาแบบที่สองจะลากไปถึง 149-150 วันไม่ได้ ต้องใช้เวลาพิจารณาใบเหลือง ใบแดง เรื่องร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ต้องทอนลงมาอาจจะเหลือเพียง 90 วัน เป็น 90 บวก 60 วันเลือกตั้ง ไม่ใช่ 145 วันบวก

“เมื่อถามฝ่ายร่างรัฐธรรมนูญ อาจารย์มีชัย ตอบว่า ตีความแบบแรก แต่ส่วนประกาศผลรอหลังจากนั้นอีกทีหนึ่ง บวกไปอีก คือ 150 บวก 60 วัน แต่สิ่งที่ กกต.คุยกันอยากเร่งรัดตัวเองสามารถทำแบบที่สองให้ได้ ต้องการทำให้เสร็จภายใน 90 วัน ถามว่าทำไมคิดในแนวทางที่สอง

คำตอบเพื่อให้เกิดความปลอดภัยว่าหลังจากการเลือกตั้งจะไม่มีใครไปร้องคัดค้านการเลือกตั้งเพราะผู้ชี้ขาดคือศาลรัฐธรรมนูญ หากขัดความรับผิดชอบตรงอยู่ที่ กกต. จะผิดทั้งอาญาและแพ่ง กกต.ต้องเพลย์เซฟ หาวิธีการที่ตัวเองไม่เดือดร้อนในอนาคต เป็นมุมมองทางกฎหมายที่แตกต่างกัน”