posttoday

ยุคใหม่การเมืองโปร่งใส

16 เมษายน 2560

"อย่าลืมว่าปัญหาความขัดแย้งที่ผ่านมา เพราะเรายึดติดกับรูปแบบมากกว่าเนื้อหา เราต้องการเข้าถึงเนื้อหา หรือประชาธิปไตยแบบเนื้อหาจริงๆ"

โดย...ปริญญา ชูเลขา

หลังรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา ภารกิจสำคัญของ “ปกรณ์ นิลประพันธ์” รองเลขาธิการกฤษฎีกาในฐานะเลขานุการกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) คือ ร่างกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับ ซึ่งต้องทำให้เสร็จภายใน 240 วัน

ปกรณ์ บอกว่า ตอนนี้เสร็จแล้ว 2 ฉบับ จะเร่งเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา คือร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง กับ พ.ร.บ.คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พร้อมทยอยออกกฎหมายลูกบรรดาองค์กรอิสระต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง เพราะต้องการให้มีการจัดกิจกรรมทางการเมืองจะได้มาเริ่มนับหนึ่งสู่เส้นทางประชาธิปไตย ทุกอย่างจะได้เริ่มต้นใหม่

ทั้งนี้ ประชาชนจะได้กลับมาสนใจการเมืองกันมากขึ้น สิ่งที่จะได้เห็นคือ พรรคการเมืองเป็นสถาบันสมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เช่น สนับสนุนเงินบำรุงพรรค การมีส่วนร่วมคัดเลือกผู้สมัคร หรือผู้บริหาร รวมถึงกำหนดนโยบาย ที่สำคัญเน้นที่พรรคต้องมีอุดมการณ์ทางการเมืองในการรวมกลุ่มที่มีอุดมการณ์เดียวกัน มาประกาศจะดำเนินการตามแนวทางนี้

“อย่าลืมว่าปัญหาความขัดแย้งที่ผ่านมา เพราะเรายึดติดกับรูปแบบมากกว่าเนื้อหา เราต้องการเข้าถึงเนื้อหา หรือประชาธิปไตยแบบเนื้อหาจริงๆ พรรคไม่ใช่ใครมีตังค์จะตั้งพรรคได้ แต่ต้องมีอุดมการณ์เดียวกัน มีการถ่วงดุล และตรวจสอบภายในพรรค เช่น คัดผู้สมัคร หรือผู้บริหาร ต้องตอบโจทย์สมาชิกให้ได้ ไม่ใช่ปล่อยให้ใครคนเดียวเป็นใหญ่ในพรรค จะสั่งอะไรก็ได้”ปกรณ์ กล่าว

ปกรณ์ กล่าวว่า กฎหมาย กกต.ที่จะมาดูแลการเลือกตั้งใหญ่และท้องถิ่น หรือประชามติ เดิมการทำงานของ กกต.จะรอให้มีผู้ร้องกล่าวหาร้องเรียนก่อน แต่ต่อไปนี้จะต้องทำงานเชิงรุก คือ ข้อมูลเบาะแสไม่ว่าจะเข้ามาทางไหนก็ตาม กกต.ต้องไปไล่ตรวจสอบ และคุ้มครองผู้ให้ข้อมูล หรือพยาน เพราะฉะนั้นจะเปลี่ยนเป็นอะไรเข้าหู กกต.ที่เห็นว่าผิดปกติ กกต.ต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบทันที และไม่มีอีกแล้วการแจกใบแดง หรือใบเหลือง

อย่างไรก็ตาม การตัดสิทธิทางการเมืองจะให้อำนาจศาลเป็นผู้พิจารณา ถ้าใครทำผิด อาจจะสั่งให้ยุติการเลือกตั้งชั่วคราวได้ ภายใน 2 เดือนก่อนประกาศผล ซึ่ง กกต.ทำได้ก่อน หรือหลัง เลือกตั้ง นับแต่มี พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ใครมีพฤติกรรมผิดปกติ สามารถระงับผู้สมัครคนนั้นได้ พอเลือกตั้งไปแล้ว ไปเจอความผิด ก็สามารถส่งฟ้องศาลได้ 

“กรธ.มีเวลา 240 วัน จะใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จะไม่ยื้อเวลาให้ยาวที่สุดแน่นอน เพราะกฎหมายทำยาก ต้องรับฟังความคิดเห็นอีกมากมายไม่ใช่เรื่องง่ายๆ กรธ.ทำเท่านี้ อะไรเสร็จก็ส่ง สนช.ทันที ไม่รู้จะยื้อไปทำไม เพราะไม่ได้เป็นพวกใคร โดยหลักการ คือ กฎหมายพรรคการเมือง และ กกต.ต้องเสร็จเรียบร้อย ไม่เช่นนั้นจะเกิดกรณีซ้ำรอยที่ผ่านมา พอจัดเลือกตั้งแต่กฎหมายลูกยังไม่เรียบร้อย ก็เกิดปัญหาข้อขัดแย้งทางปฏิบัติและกฎหมายตามมา กรธ.ไม่ต้องการให้เกิดข้อผิดพลาดแบบนี้อีก” ปกรณ์ กล่าว  

ปกรณ์ กล่าวอีกว่า ทิศทางการเมืองไทยเรื่องพรรคการเมือง ไม่ได้ให้ความสำคัญว่าใครหรือพรรคไหนจะเข้มแข็งหรืออ่อนแอไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่สำคัญตรงการพัฒนาประเทศจะต้องเดินไปข้างหน้า ซึ่งตอนนี้ได้เริ่มนับหนึ่งในการปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติ เพราะสิ่งเหล่านี้กระทบถึงชีวิตความเป็นอยู่ แต่นักการเมืองบางคนบางกลุ่มยังสนใจแต่ที่มาของอำนาจมากกว่าปัญหาปากท้องประชาชน ทั้งๆ ที่ควรจะสนใจว่าลูกหลานเราจะอยู่ในประเทศนี้ได้อย่างไรในอีก 20 ปีข้างหน้า

ยุคใหม่การเมืองโปร่งใส

ที่สำคัญพรรคการเมืองต้องปฏิรูปตัวเองด้วย คือ โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีความรับผิดชอบทางการเมือง และต่อสมาชิกพรรค และอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต้องชัดเจน และต้องทำตามกฎหมายบ้านเมือง เป็นพรรคการเมืองที่ต้องรู้จักความรับผิดชอบทางการเมือง นี่คือสิ่งที่สังคมเรียกร้องกันมานานแต่จะเกิดให้ได้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกที่ได้กำหนดไว้

“สิ่งที่ผู้ใช้อำนาจต้องมี คือ นโยบายที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม เป็นวิทยาศาสตร์พิสูจน์ถูกหรือผิดได้ จะต้องมีการบอกประชาชนให้รู้ล่วงหน้าถึงข้อดี หรือข้อเสีย ไม่ใช่หาเสียงแต่ข้อดีๆ เพื่อจะได้คะแนนเลือกตั้งมากๆ จนไม่สนใจว่าจะทำให้ประเทศเสียหายอย่างไร พอเกิดปัญหาหรือความเสียหายเรื่องแบบนี้กลับไม่ยอมบอกประชาชนให้รู้ ถ้ามีความรับผิดชอบจริงๆ นโยบายพรรค ต้องเปิดเผยให้ประชาชนได้รับทราบ”  

ปกรณ์ กล่าวอย่างมั่นใจว่า การทุจริตเลือกตั้ง เชื่อว่าไม่มีเลยเสียด้วยซ้ำ เพราะเราเดินมาไกลเกินกว่าจะกลับไปสกปรกโสมม พรรคการเมืองมีหน้าที่ดูแลสมาชิกไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง ขณะที่ กกต.จะดูแลเข้มข้นไม่ให้ใครทำผิดกฎหมาย และต่อไปในอนาคต จะมีประชาชน 67 ล้านคน มาช่วยแจ้งเบาะแสเป็นหูเป็นตาให้ข้อมูล กกต.มากยิ่งขึ้น เพราะด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย เช่น สมาร์ทโฟนถ่ายคลิปลงบนโลกโซเชียลมีเดีย ทางเฟซบุ๊ก หรือยูทูบ ฯลฯ สามารถเป็นหลักฐานในการแจ้งเบาะแสสำคัญให้ กกต.นำไปฟ้องร้องขึ้นศาลเอาผิดผู้สมัครทุจริตได้ ดังนั้น การเลือกตั้งยุคใหม่ กกต.ต้องไม่นั่งรอรับคำร้องอีกต่อไป

ปกรณ์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญใหม่ไม่ใช่สาเหตุความขัดแย้งทางการเมือง เพราะที่ผ่านมาวัฒนธรรมการเมืองไทยไม่เคยเอากันถึงตายขนาดนี้และไม่เคยเห็นวัฒนธรรมการเมืองไทยใช้สิทธิเสรีภาพเกินขอบเขตมากมายขนาดนี้เช่นกัน จนเมื่อช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ดังนั้นจากนี้ไปความขัดแย้งต่างๆ จะไปจบที่ระบบรัฐสภาที่มีกลไกต่างๆ รองรับ เช่น ฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ หรือ สว.เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบไม่ลงมติได้ หรือเปิดประชุมลับให้ทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบปัญหาความขัดแย้งต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องถ่ายทอดสด เพราะนักการเมืองมักชอบโชว์ออฟมากกว่าจะหาทางออกให้บ้านเมือง แต่มักจะหาคะแนนนิยมใส่ตัวเองมากกว่า ดังนั้นต้องร่วมกันรับผิดชอบทางการเมือง

“ความขัดแย้งเกิดขึ้นตลอดเวลาไม่ใช่เพราะรัฐธรรมนูญเป็นต้นเหตุ ก่อนหน้านี้ก็ขัดแย้งกัน สังคมควรกลับมาคิดว่า เราจะอยู่กันแบบเดิมๆ คงไม่ได้ เราต้องเปลี่ยนแปลง ผมไม่สบายใจ คำว่าอยู่แบบเดิมๆ ที่กลุ่มนั้นว่าอย่างนั้น กลุ่มนี้ก็ว่าอีกอย่าง เหมือนจะให้ตีกันอีก แต่เมื่อมีความเห็นต่างกัน ก็ควรจะคิดถึงผลประโยชน์สุดท้ายที่ตกกับประชาชน ทำไมต้องมาทะเลาะกันอีก”ปกรณ์ กล่าว