posttoday

ปรองดองไม่หน่อมแน้ม ใช้กฎเหล็กจบปัญหา

19 มีนาคม 2560

"ผมเชื่อว่าปรองดองคราวนี้สำเร็จ ถ้าไม่สำเร็จคือ ยังมีกระบวนการสร้างความแตกแยก ปลุกระดมทำให้คนออกมาแบ่งฝักแบ่งฝ่าย กระบวนการทางกฎหมายจะเอาผิด ลงโทษ และตัดสิน เอาเข้าคุกเข้าตะราง มันจะไม่สำเร็จได้อย่างไรถ้าคนสร้างปัญหาให้กับสังคมก็ต้องถูกแยกออกจากสังคม"

โดย...ศุภชัย แก้วขอนยาง และไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

จังหวะก้าวทางการเมืองของ “เสรี สุวรรณภานนท์” ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กำลังเป็นที่จับตามองอย่างมาก หลังจากเตรียมจัดทำรายงานข้อเสนอเกี่ยวกับการสร้างความปรองดอง

แม้ว่าจะเป็นเพียงแค่ข้อเสนอหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องไม่ลืมว่าเวลานี้รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงมาเป็นเจ้าภาพสร้างความปรองดองด้วยตัวเองผ่านกลไกคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.) ย่อมทำให้ทุกข้อเสนอที่เข้ามายัง ป.ย.ป.ล้วนแล้วมีความหมายทั้งสิ้น

“เสรี” หนึ่งในคีย์แมนปรองดอง บอกกับโพสต์ทูเดย์ถึงหลักการในการสร้างความปรองดองที่คณะกรรมาธิการฯ เตรียมเสนอคือ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นและให้ปัญหาทุกอย่างไปจบที่ศาล

“ความขัดแย้งที่มีปัญหาในบ้านเมืองไทยมันเป็นความขัดแย้งในเรื่องเชิงความคิดที่ไม่ใช่แค่ปัญหาระหว่างบุคคล มันเป็นปัญหาของคนในประเทศ ดังนั้น ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมันจึงต้องได้รับการแก้ปัญหา มิฉะนั้นแล้วมันจะกลายเป็นการสร้างวัฒนธรรมไปแล้วเป็นเรื่องปกติชีวิตประจำวันไปแล้ว ซึ่งมันไม่เป็นผลดีโดยรวม เพราะว่าเมื่อเกิดความขัดแย้งมันก็จะเกิดความไม่สงบเรียบร้อย เมื่อประเทศเกิดความไม่สงบเรียบร้อยมันจะมีผลกระทบด้านอื่นๆ เช่น ความเป็นอยู่ของประชาชน”

เสรี ยอมรับว่า “อาจจะบอกไม่ได้เต็มปากว่าจะแก้ปัญหาได้หมด หรือจะขจัดความขัดแย้งไปได้โดยสิ้นเชิง มันคงไม่ได้ไกลถึงขนาดนั้น แต่คิดว่าจะแก้ไขได้ส่วนหนึ่งที่จะลดปัญหามากกว่า ลดปัญหาในเรื่องความคิดเห็นที่แบ่งฝ่ายและการต่อสู้กันในทางการเมือง ให้มีแนวทางที่เป็นยอมรับของการอยู่ร่วมกันให้มากขึ้นกว่าเดิม”

สาเหตุที่ทำให้ข้อเสนอการสร้างความปรองดองไม่ค่อยได้รับการไปปฏิบัติต่อ “เสรี” มองว่า “เป็นเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างรักษาประโยชน์ของฝ่ายตัวเองเป็นสำคัญ พอเวลาจะเสนออะไรอีกฝ่ายที่ไม่ได้รับประโยชน์ตรงนั้นก็คัดค้าน ทั้งสองฝ่ายหรือหลายๆ ฝ่ายจะทำรูปแบบเดียวกัน มันก็เลยไม่สามารถลงตัวและหาข้อยุติได้ ทั้งๆ ที่แนวทางการนำเสนอนั้นมีหลายรูปแบบ และแต่ละรูปแบบมีหลักการที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายหรือให้กระบวนการยุติธรรมเข้ามาแก้ไขปัญหาแทนที่จะไปออกกฎหมายนิรโทษกรรมเหมือนอย่างที่เคยพยายามทำที่ผ่านมา ซึ่งการออกกฎหมายนิรโทษกรรมก็ไม่เป็นที่ยอมรับ

“ปัจจุบันเป็นที่ชัดเจนว่าการปรองดองในปัจจุบันไม่สามารถเอากระบวนการหรือวิธีการที่ผ่านมาอย่างการใช้กฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อแก้ปัญหาได้อีกแล้ว สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือ ทำให้เห็นอะไรได้อย่างหนึ่งว่ากระบวนการนิรโทษกรรมทั้งหลายที่ผ่านมาและทำมาแล้วหลายครั้ง พอทำแล้ว ฝ่ายการเมืองเอง หรือนักการเมืองเองจะเห็นช่องทางว่า ถ้าเกิดไปสร้างความรุนแรงความแตกแยกไปปลุกระดมสร้างความขัดแย้ง ในที่สุดแล้วก็จะไปออกกฎหมายนิรโทษกรรม

“มันก็เลยเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีว่าใครก็ตามที่อยู่ในกระบวนการทางเมืองก็จะใช้วิธีเหล่านี้มาต่อสู้ในทางการเมือง แล้วในที่สุดก็มีเป้าหมายสำคัญว่าจะต้องพ้นโทษหรือไม่ถูกเอาโทษ หรือล้างโทษได้ ดังนั้น เมื่อปัจจุบันสังคมไม่ยอมรับแล้ว มันก็จะทำให้เป็นมาตรฐานที่เกิดขึ้นมาใหม่และเป็นตัวอย่างที่ดีได้ว่าต่อไปข้างหน้าที่ใครก็ตามไปเล่นการเมืองและสร้างความเสียหายให้กับประเทศจะได้ไม่กล้าไปใช้วิธีการเหล่านั้น”

ด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงเป็นข้อเสนอสำคัญของคณะกรรมาธิการฯ ที่เตรียมเสนอให้ศาลเข้ามาทำหน้าที่ชี้ขาดปัญหาทั้งหมด

ปรองดองไม่หน่อมแน้ม ใช้กฎเหล็กจบปัญหา

“การแก้ไขปัญหาเรื่องความปรองดองและความขัดแย้งในปัจจุบัน สิ่งที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ ให้คนที่ถูกดำเนินคดีทั้งหลายเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วให้มีการพิสูจน์ความผิดถูกกันในศาล ให้ศาลเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดว่าถ้าผิดก็ต้องถูกลงโทษ ไม่ผิดก็ต้องปล่อยตัวไป ให้เป็นมาตรฐานเดียวกับที่ปฏิบัติต่อประชาชน จะไม่ได้รับสิทธิพิเศษทั้งสิ้น ดังนั้น ผมคิดว่าการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองในปัจจุบัน หลังจากที่มีการพยายามเสนอกันหลายรูปแบบมันน่าจะออกมาในแนวทางนี้ ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุด” เสรี ระบุ

แสดงว่าให้ปัญหาปรองดองไปจบที่ศาล? ประธานคณะกรรมาธิการฯ อธิบายว่า “ในเมื่อต่างฝ่ายต่างไม่ยอมรับ มันก็ไม่มีเหตุอื่น มันไม่สามารถจะทำอะไรได้ จะใช้กระบวนการถอนฟ้อง กระบวนการรอลงอาญา ใช้กระบวนการลดหย่อนผ่อนโทษอะไรทั้งหลาย ไม่มีการยอมรับ ไม่มีการลดราวาศอกให้กัน ไม่มีการให้อภัยซึ่งกันและกัน ดังนั้น หนทางที่เป็นไปได้มากที่สุดและเชื่อได้ว่าเป็นมาตรฐานทางกฎหมายและมาตรฐานทางกระบวนการยุติธรรมว่า ถ้าใครก็ตามที่กระทำความผิดแล้วต้องถูกดำเนินคดีและถูกพิจารณาให้ศาลตัดสินหาความจริงและข้อยุติและกำหนดบทลงโทษหรือไม่ต่อไป”

การให้กระบวนการเหล่านี้ไปอยู่ที่ศาล จะถือว่าเป็นการผลักภาระไปที่ศาลหรือไม่? เสรี ตอบทันทีว่า “ไม่ได้เป็นเรื่องผลักภาระ เพราะเป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรมอยู่แล้ว กฎหมายก็เขียนอย่างนั้นเราก็ปฏิบัติไปตามนั้น ทุกอย่างให้ศาลตัดสินดีที่สุด”

จากนั้นเป็นคำถามที่ถามว่าเมื่อให้ศาลเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ เท่ากับว่าจะไม่มีกลไกใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาความปรองดอง? เสรี ระบุว่า “ไม่ใช่ไม่มี...มี แต่เราพยายามที่จะเสนอให้ทางออกทุกรูปแบบแต่ไม่เป็นที่ยอมรับ ก็ไม่เอากันเอง มันก็ต้องใช้วิธีที่สุดท้าย ที่เสนอนี่ คือ วิธีสุดท้ายที่มันเป็นไปได้มากที่สุด ถ้าไม่เอาอะไรสักอย่างหนึ่งก็ไปว่ากันศาล ผิดถูกก็ให้ศาลตัดสิน เพราะจะตอบกับสังคมได้ถูกไหม”

ส่วนระยะเวลาในการขับเคลื่อนการสร้างความปรองดองนั้น เสรี คิดว่าการสร้างความปรองดองแม้จะไม่สมารถทำให้ประสบความสำเร็จได้เสียทีเดียว แต่ก่อนการเลือกตั้งต้องทำให้ประเทศมีความสงบเรียบร้อย เมื่อความสงบเกิดขึ้น ประชาชนก็จะเลิกแตกแยกและเลิกแบ่งฝ่าย เท่ากับว่าคนกลุ่มใหญ่ของประเทศจะไม่อยู่ความขัดแย้ง สิ่งที่หลงเหลืออยู่ก็อาจอยู่ที่ฝ่ายการเมือง ซึ่งมีอยู่ไม่กี่คน

“เราพยายามสร้างมาตรฐานทางการเมือง วัฒนธรรมทางการเมืองให้ดีกว่าเดิม มีการปฏิรูประบบพรรคการเมืองใหม่ ให้เป็นพรรคการเมืองของประชาชน แล้วการเลือกตั้งจะเป็นการเลือกตั้งสุจริตและเที่ยงธรรม ในที่สุดแล้วเมื่อประชาชนเกิดความปรองดองและยอมรับในความสงบเรียบร้อยแล้ว ต่อไปนักการเมืองเองต้องปรับตัว”  

ช่วงท้ายเป็นการถามถึงความคาดหวังว่าการสร้างความปรองดองครั้งนี้จะประสบผลสำเร็จหรือไม่ ซึ่ง “เสรี” ตอบแบบมั่นใจว่า “สำเร็จ”

“ผมเชื่อว่าปรองดองคราวนี้สำเร็จ ถ้าไม่สำเร็จคือ ยังมีกระบวนการสร้างความแตกแยก ปลุกระดมทำให้คนออกมาแบ่งฝักแบ่งฝ่าย กระบวนการทางกฎหมายจะเอาผิด ลงโทษ และตัดสิน เอาเข้าคุกเข้าตะราง มันจะไม่สำเร็จได้อย่างไรถ้าคนสร้างปัญหาให้กับสังคมก็ต้องถูกแยกออกจากสังคม ต้องไปอยู่ในพื้นที่จำกัด

“รอบนี้ต้องเอาจริงเอาจัง หลักของทุกประเทศที่มีความสงบเรียบร้อยอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย ที่ผ่านมามันหน่อมแน้ม อะไรต่อมิอะไรหย่อนยาน ถ้าเรายอมกติกาและกฎหมาย สังคมก็จะผ่านวิกฤตเหล่านี้ไปได้ ตอนนี้เราต้องมาอย่างนี้แล้ว มันไม่มีทางอื่นแล้ว มันเป็นกติกากฎเหล็กของสังคม เพราะที่ผ่านมาไม่มีใครกลัวกฎหมาย” เสรี ทิ้งท้าย