posttoday

"รื่นวดี" ชูบังคับคดีหนุนเศรษฐกิจโต

15 มีนาคม 2560

"ข้าราชการของกรมต้องเปิดตัวเองมากขึ้น ทำงานตอบรับโจทย์ของประชาชนให้กว้างขึ้นเพื่อให้ประชาชนเข้าหาได้ง่ายขึ้น"

โดย...เสาวรส รณเกียรติ

รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี ที่ปรับเปลี่ยนกรมที่ผู้คนคุ้นชินกับบทบาทในการยึดทรัพย์ อายัดทรัพย์ ขายทอดตลาด มามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ปลดล็อกข้อกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ให้เป็นสากลมากขึ้น เพื่อดึงความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น

รื่นวดี บอกว่า แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงมามาก แต่กรมบังคับคดีก็หยุดการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะสภาพแวดล้อมขณะนี้เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และยังมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เป็นนโยบายรัฐบาลที่กรมจะต้องเข้าไปรองรับอีกด้วย กรมจึงยังต้องเป็นกลไกหนึ่งในการเสริมสร้างความเติบโตด้านเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในบริบทกว้างขึ้นและบูรณาการร่วมกับหลายหน่วยงาน โดยปักธงผลสัมฤทธิ์ให้กรมทำงานเสริมสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ประเทศใน 20 ปีข้างหน้าของรัฐบาลด้วย

รื่นวดี ระบุว่า โดยข้อเท็จจริงเวลานักลงทุนตัดสินใจจะลงทุนในประเทศไทย จะดูกติกาในการบังคับคดีด้วยว่า มีความสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพหรือไม่ เพราะถ้าหากมีข้อขัดแย้ง หรือข้อพิพาทระหว่างกันขึ้น แล้วกระบวนการบังคับคดีในประเทศไทยมีประสิทธิภาพ ก็จะเป็นตัวหนึ่งในการใช้ตัดสินใจลงทุนในไทยได้ในสายตาของต่างประเทศ

ทั้งนี้ ในส่วนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้น กรมเข้าไปมีส่วนร่วมใน 2 ด้าน คือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและการปรับสมดุลการจัดการหน่วยราชการ

โดยในเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศนั้น จะเกี่ยวข้องกับการปรับปรุงกระบวนการขั้นตอนให้มีความสะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้การจัดอันดับการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ (Ease of Doing Business) ของธนาคารโลกดีขึ้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับแก้ไขกฎหมายให้เป็นมาตรฐานสากลและการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย

โดยในส่วนของอันดับการทำธุรกิจของธนาคารโลกนั้น ปี 2559 กรมบังคับคดีสามารถปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ ขั้นตอนต่างๆ จนในส่วนของกระบวนการแก้ปัญหาล้มละลายนั้น ไทยได้รับการเลื่อนอันดับดีขึ้นถึง 26 อันดับ คือจากอันดับที่ 29 ในปี 2558 มาเป็นอันดับที่ 23 ในปี 2559 จาก 190 ประเทศ

แต่ในปีนี้เป็นปีที่ท้าทายมากในการได้รับการเลื่อนอันดับ เพราะถ้าประเทศอื่นทำได้มากกว่า เร็วกว่า อันดับก็ถูกปรับเปลี่ยนได้ทันที รวมทั้งอันดับที่ดีขึ้นในปี 2559 นัยสำคัญมาจากคะแนนความแข็งแกร่งด้านกฎหมายที่เราได้ 13 คะแนน จากคะแนนเต็ม 16 คะแนน ปีนี้ถ้าเราทำเต็มที่คือได้ 15-16 คะแนน ก็เพิ่มขึ้นเพียง 2-3 คะแนนเท่านั้น

เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำหนักขึ้น และปีที่ผ่านมาเราคะแนนไม่ดีเท่าไหร่ คือคะแนนความสามารถในการรวบรวมทรัพย์สินคืนเจ้าหน้าที่ (Recovery Rate) ที่ไม่เกี่ยวกับกฎหมาย แต่เกี่ยวกับคน เกี่ยวกับข้อมูล เกี่ยวกับความรวดเร็ว และค่าใช้จ่าย โดยช่วงที่ผ่านมา กรมได้ทำการเชื่อมโยงข้อมูลทรัพย์สินบุคคลกับหน่วยงานที่เป็นนายทะเบียนทรัพย์สินจำนวน 16 หน่วยงาน เวลานี้ได้มีการเชื่อมข้อมูลได้หมดแล้ว ทำให้ต่อไปกรมสามารถเช็กสอบได้ว่าลูกหนี้มีทรัพย์สินอะไรบ้าง อยู่ที่ไหน

 

"รื่นวดี" ชูบังคับคดีหนุนเศรษฐกิจโต

ในเรื่องการรวบรวมทรัพย์สินคืนเจ้าหนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่มีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนเช่นเดียวกัน เพราะเขาต้องการรู้ว่า ถ้าเขามีข้อพิพาทกับลูกหนี้แล้ว เขาจะได้การชำระเงินคืนเท่าไหร่ ซึ่งขึ้นกับความสามารถในการรวบรวมทรัพย์สินของเรา โดยปีที่แล้วประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้คะแนนเป็นอันดับ 2 ด้านนี้ สามารถรวบรวมคืนได้ 96 จาก 100 ขณะที่ไทยได้ 59 จาก 100 ทำให้ต้องทุ่มเทการทำงานด้านนี้ ปรับวิธีการทำงาน เพื่อให้คะแนนในการจัดอันดับดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ ในเรื่องเพิ่มขีดความสามารถในช่วง 2 ปีเศษที่ผ่านมา ถือได้ว่ากรมมีการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายหลายฉบับ และล่าสุดอยู่ระหว่างการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายล้มละลายข้ามชาติ เพื่อให้ยึดทรัพย์ลูกหนี้ในต่างประเทศได้

ส่วนการปรับองค์กรให้สมดุลนั้น รัฐบาลมีเป้าหมายให้หน่วยงานเป็นองค์กรที่เล็กแต่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะรัฐบาลมีข้อจำกัดในเรื่องทรัพยากรบุคคล ทำให้กรมเพิ่มบุคลากรมารองรับงานทั้งหมดไม่ได้ จึงต้องคิดใหม่ โดยปัจจุบันกรมทำทั้งงานด้านกำกับดูแล และการบริหารจัดการ จึงมีการมาทบทวนว่ากรมบังคับคดีควรเหลืองานด้านกำกับดูแลอย่างเดียวหรือไม่ และโอนถ่ายงานด้านบริการจัดการให้ภายนอกเข้ามาดูแล เช่น การมีเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่เป็นเอกชน เป็นต้น รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เช่น การขายทอดตลาดผ่านอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

รื่นวดี ยอมรับว่า ที่ผ่านมาได้มีการเตรียมความพร้อมของข้าราชการกรมบังคับคดีให้รู้จักการคิดนอกกรอบ และยอมรับการเปลี่ยนแปลงให้ข้าราชการทุกคนเห็นตรงกันว่า กรมเป็นกลไกหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ ข้าราชการต้องคิดเชื่อมโยงงานของกรมบังคับคดีให้เป็นกลไกหนึ่งในการผลักดันเศรษฐกิจด้วย ไม่ใช่งานด้านกฎหมายเพียงอย่างเดียวเหมือนที่ผ่านมา

“ข้าราชการกรมต้องเห็นว่า การทำงานของเราต้องเป็นสหวิชาชีพคือ ต้องทำงานร่วมกันทั้ง นักกฎหมาย นักบัญชี นักการเงิน การทำงานของกรมไม่ได้อยู่เพียงลำพัง และเราไม่มีทางจะอยู่ลำพังหน่วยงานเดียวได้”

ด้วยเหตุนี้ ช่วง 2 ปี 6 เดือนที่ผ่านมาในตำแหน่งอธิบดีกรมบังคับคดี ข้าราชการทุกคนจึงเห็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวเพื่อทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ โดยคำนึงถึงความมีส่วนร่วมให้มากที่สุด และความเป็นธรรมในการทำงานตามหลักการดั้งเดิมของกรมบังคับคดี

ประชาชนเป็นเป้าหมาย

นอกจากการผลักดันกรมบังคับให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อสนับสนุนการลงทุนในประเทศผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวแล้ว กรมบังคับคดี ยังไม่ทิ้งบทบาทที่ต้องใกล้ชิดกับประชาชน ต้องมองประชาชนเป็นเป้าหมายในการให้บริการด้วย โดยเฉพาะประชาชนในกลุ่มเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร ลูกหนี้รายย่อย ลูกหนี้บัตรเครดิต รวมถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

รื่นวดี ระบุว่า ประชาชนที่เปราะบางกลุ่มนี้ กรมต้องช่วยให้ความรู้ให้คำแนะนำ โดยเฉพาะในแง่ของกฎหมาย เช่น ข้อกฎหมายเรื่องการค้ำประกัน การจำนอง จำนำ กฎหมายขายฝาก เป็นต้น ตัวอย่างเช่น เมื่อมีการออกไปทำงานในต่างจังหวัดจะพบว่า ชาวบ้านต่างจังหวัดไม่เข้าใจว่า ทำไมเขา ในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ แต่เวลาเกิดปัญหาขึ้น ทำไมมาเรียกเก็บเงินจากเขาก่อน ไม่เรียกเงินจากลูกหนี้ก่อน เจ้าหน้าที่ก็ต้องให้ความรู้ด้านกฎหมายแก่เขา หน้าที่ของกรมจึงต้องคิดจุดนี้ด้วย ดูแลกลุ่มประชาชนที่เปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลือดูแล

ทั้งนี้ กระบวนการคิดที่มองประชาชนเป็นเป้าหมาย ได้นำมาสู่การทำงานในเรื่องของการแก้ไขกฎหมายล้มละลาย เพื่อเปิดทางให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถขอฟื้นฟูกิจการได้ จากเดิมที่ขอฟื้นฟูได้เฉพาะกิจการขนาดใหญ่นำมาซึ่งแนวทางการจัดไกล่เกลี่ยหนี้ ทั้งลูกหนี้กลุ่มเอสเอ็มอี ลูกหนี้บัตรเครดิต ลูกหนี้ กยศ. เป็นต้น โดยข้าราชการต้องมาทำงานเสาร์-อาทิตย์ เป็นต้น

ที่สำคัญหลังจากที่ใช้กระบวนการทำงานรูปแบบนี้ ปรากฏว่าประชาชนที่เคยไม่กล้ามาพบเจ้าหน้าที่บังคับคดี หรือหนีหน้า กล้ามาขอพึ่งพิง กล้ามาขอคำปรึกษา

ขณะที่ข้าราชการกรมบังคับคดีก็ยังคงทำภารกิจการบังคับคดี แต่ก็ทำหน้าที่ช่วยให้ความรู้ด้านกฎหมายช่วยประสานการไกล่เกลี่ยหนี้ จนเวลานี้กรมบังคับคดีเข้าไปมีส่วนร่วมในกรรมการหลายชุด เช่น คณะกรรมการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบ คณะอนุกรรมการช่วยเหลือเกษตรและผู้ยากจน (อชก.) ของกระทรงงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น เรียกได้ว่าบทบาทของกรมขยายตัวขึ้น

และข้าราชการของกรมต้องเปิดตัวเองมากขึ้น ทำงานตอบรับโจทย์ของประชาชนให้กว้างขึ้นเพื่อให้ประชาชนเข้าหาได้ง่ายขึ้นด้วย