posttoday

ปฏิรูปวิธีปรองดอง เพื่อ 100 ปีประชาธิปไตย

05 มีนาคม 2560

คนไทยมีความขัดแย้งกันมาตลอด และใช้รูปแบบการแก้ไขปัญหาเดิมมาตลอด จึงถึงเวลาแล้วที่เราไม่สามารถรออีกต่อไป

โดย...ศุภชัย แก้วขอนยาง/ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดำเนินการตั้งคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อขยายผลการทำงานออกมาเป็นระยะ

หนึ่งในนั้น คือ การตั้งทีมที่ปรึกษาในการช่วยระดมสมองอย่างทีมที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง โดยคณะกรรมการชุดนี้เป็นหัวใจสำคัญของการสร้างความสามัคคีและเตรียมประชุมนัดแรกในวันที่ 6 มี.ค.

พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ในฐานะหนึ่งในที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฯ ได้ให้เวลากับโพสต์ทูเดย์ในการสนทนาถึงแนวทางการสร้างความปรองดองไว้อย่างน่าสนใจ

การสนทนาเริ่มต้นด้วยคำถามว่าทำไมประเทศไทยมีคณะกรรมการปรองดองมาหลายชุด แต่กลับไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ซึ่ง พล.อ.เอกชัย มีคำตอบให้ว่า “ส่วนใหญ่คณะกรรมการแต่ละชุดจะทำงานในรูปแบบของการค้นหาความจริงและหาสาเหตุความขัดแย้ง และข้อเสนอของการแก้ไขปัญหาในอนาคต แต่ขาดแผนปฏิบัติการ หรือผู้นำแต่ละยุคไม่ตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ทำ

“สมัยก่อนที่รัฐสภาดำเนินการโดยท่านดิเรก ถึงฝั่ง (อดีต สว.นนทบุรี อดีตประธานคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง และการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ) ก็จบแค่รัฐสภา ไม่มีการทำต่อจากนั้น พอมาสมัยนายกฯ อภิสิทธิ์ตั้งคณะกรรมการ 5 คณะ ทำเสร็จเก็บขึ้นหิ้งหมด ไม่ได้เอามาปฏิบัติทั้งสิ้นเลย เพราะฉะนั้น เราคิดว่าถึงแล้วต้องทำเชิงปฏิบัติการ ไม่ใช่มานั่งพูดๆ กันและทำรูปเล่มรายงานส่งไปแล้วไปเก็บไว้อีก

“ที่ผ่านมา ฝ่ายการเมืองไม่อยากตัดสินใจทำเรื่องนี้ เพราะคนจะทำเรื่องนี้ต้องอดทน อดทนที่ต้องทำเรื่องนี้ให้มันต่อเนื่องไป เพราะเราต้องมีจุดยืนว่าเราเป็นกลาง และต้องเปิดใจรับฟังทุกเสียงแม้แต่เสียงที่เราไม่ชอบที่อยากจะฟัง เราก็ต้องฟัง”

นอกจากปัจจัยเกี่ยวกับฝ่ายการเมืองแล้ว พล.อ.เอกชัย เห็นว่า การขาดความต่อเนื่องในการทำงานก็ถือเป็นอีกปัจจัยที่เป็นอุปสรรคเช่นกัน

“ความต่อเนื่องในการทำงานนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญเหมือนกัน เท่าที่ได้ประชุมในเวทีต่างประเทศมาพบว่าประเทศที่แก้ไขปัญหาได้สำเร็จก็เพราะอาศัยความต่อเนื่อง อย่างประเทศฟิลิปปินส์ที่ประสบความสำเร็จในการสร้างสันติภาพเพราะมีการตั้งสำนักงานเรื่องนี้ภายใต้สำนักงานของประธานาธิบดี ช่วยให้การทำงานเดินต่อเนื่องไปได้มาเป็น 30-40 ปี

“แต่สำหรับบ้านเราแล้วพอใครขึ้นมาใหม่ก็ต้องเริ่มต้นใหม่ทุกที คุณจะเริ่มต้นใหม่ไปทำไมในเมื่อของเก่าก็ดีอยู่แล้ว ทั้งที่ทำกันมาเป็น 10 ฉบับสูงกว่าหัวเข่าอีก จะไปเริ่มใหม่ทำไม มีแต่คนคิดแต่ไม่มีคนทำ ถึงแล้วที่ต้องทำ”

เมื่อการปรองดองมาเริ่มในช่วงปลายของรัฐบาลและในอนาคตจะต้องมีการเลือกตั้ง จะส่งผลให้การสร้างความปรองดองขาดความต่อเนื่องหรือไม่อย่างไร? พล.อ.เอกชัย เห็นว่า “ในอนาคตจะมีการเลือกตั้งไม่เป็นไร แต่ต้องทำแผนการปฏิบัติให้รูปธรรมด้วยการเอาเข้าไปสู่ระบบของงบประมาณด้วยว่าต้องมีงบประมาณสนับสนุนแผนการดำเนิน พูดง่ายๆ คือ ต้องแผนนี้ให้เป็นรูปของกฎหมาย ใครไม่ทำไม่ได้มิเช่นนั้นจะถือว่าเป็นความผิด

“เรื่องปรองดองต้องใช้ระยะเวลาจะทำระยะสั้นไม่ได้ เราลองดูง่ายๆ ว่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมามีความขัดแย้งเยอะ ทุกอย่างสะสมเอาไว้เป็นเวลานาน เพราะคุณไม่เคยเริ่มต้น มันต้องเริ่มต้นที่ต้องเคาะและเดินหน้าสักที จะ 3 ปี 5 ปี 10 ปี 20 ปีมันต้องเดินไปตลอด มิเช่นนั้นมันก็ไม่จบ”

พล.อ.เอกชัย อธิบายอีกว่า “7 ใน 10 ประเทศที่มีปัญหาความขัดแย้งที่เราศึกษาพบว่าถ้าทั้งสองฝ่ายมีเจตจำนงทางการเมืองที่จะทำร่วมกัน อย่างนั้นการปรองดองสำเร็จ แต่วันนี้สำหรับบ้านเรากำลังมีคำถามว่ามีเจตจำนงทางการเมืองร่วมกันหรือไม่ ส่วนตัวยังเห็นว่าต่างฝ่ายยังอยากจะเอาชนะกันอยู่ เพื่อที่จะหวังว่าเมื่อมีการเลือกตั้งแล้วตัวเองจะเป็นฝ่ายชนะ

“คนไทยมีความขัดแย้งกันมาตลอด และใช้รูปแบบการแก้ไขปัญหาเดิมมาตลอด จึงถึงเวลาแล้วที่เราไม่สามารถรออีกต่อไป ถ้ารอบ 20 ปีข้างหน้าแล้วค่อยมาแก้ ก็จะครบ 100 ปีประชาธิปไตย รอไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ต้องแก้ ณ บัดนี้ เพื่อให้การครบรอบ 100 ปีประชาธิปไตยไทย เข้ารูปเข้ารอยเสียที”

ประเด็นหนึ่งที่ พล.อ.เอกชัย ได้ย้ำ คือ การเริ่มต้นแก้ปัญหาความปรองดองจะเริ่มจากที่ตัวคนและการนิรโทษกรรมทันทีไม่ได้

“เอาตัวคนมาเป็นตัวตั้งไม่ได้ อย่างนั้นมันไปไม่ได้ แต่ต้องแก้ปัญหาด้วยการเมืองมองที่ระบบและโครงสร้างว่าเรายังขาดอะไร เช่น คนไทยยังไม่เคารพกติกาใช่ไหม องค์กรบังคับใช้กติกาก็ยังไม่เข้มแข็งใช่ไหม ทุกอย่างถูกซุกมาตลอด เป็นต้น

“นิรโทษกรรม จะอยู่ในส่วนอำนวยความยุติธรรมและการให้อภัย ที่จริงคำคำนี้ก็กลายเป็นคำเป็นพิษไปแล้วนะ ใครยกขึ้นมาพูดเมื่อไหร่ คนนั้นก็จะเป็นปัญหา แต่การนิรโทษกรรมก็คงต้องดูในรายละเอียดว่าจะให้ครอบคลุมขนาดไหน ซึ่งการนิรโทษกรรมจะเป็นการช่วยให้คนมีความสำนึกผิดและให้อภัยกัน

“เรื่องนี้เป็นเรื่องจำเป็นในการดำเนินการ เพราะต้องมีกฎหมายรองรับ ในอดีตประเทศไทยก็เคยทำกฎหมายนิรโทษกรรมมาแล้วหลายครั้ง ดังนั้น ถือว่ายังเป็นกลไกที่ต้องใช้อยู่ เพียงแต่อาจต้องมีการกำหนดกรอบเวลาและเนื้อหาให้ชัดเจนเท่านั้น เพราะไม่สามารถทำได้ทันทีทันใด ซึ่งอาจจะเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ก่อน”

สำหรับท่าทีของพรรคการเมืองที่แสดงออกมาในเวลานี้ พล.อ.เอกชัย คิดว่า “วันนี้เป็นบทเรียนของนักการเมือง เมื่อไหร่คุณทะเลาะกันและไม่ยอมจบด้วยคุณเอง ก็จะมีคนมาช่วยจบ พอมีคนมาช่วยจบ คุณมีแต่เสียคุณไม่มีได้เลย วันนี้ทั้งสองฝ่ายเริ่มตระหนักรู้แล้วว่าปล่อยให้ตาอยู่เอาไปกิน ตาอยู่กินยาวเลยนะ และเป็นบทเรียนให้ทหารด้วย ทหารถ้าคุณเข้ามาแบบนี้นะ แล้วคุณไม่มีชุดความรู้และความคิดที่จะบริหารจัดการเมืองที่ดี คุณก็โดนวิจารณ์ทุกวันแบบนี้

“ผมเชื่อว่า การเมืองจะไม่เป็นแบบเดิม เพราะมีบทเรียนกันมาแล้ว ทหารก็มีบทเรียนด้วย ทหารก็จะไม่เข้ามาง่ายๆ เพราะเข้ามาง่ายๆ คุณเสียคนนะ ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี ความขัดแย้งยังมีอยู่ ออกไปแล้วจะเอาอะไรส่งมอบให้กับคนที่เหลืออยู่”

สุดท้าย พล.อ.เอกชัย เชื่อว่า “ยังมีความหวังและโอกาสของการสร้างความปรองดอง แม้จะเริ่มช่วงปลายก็ตาม เพราะยังดีกว่าไม่เริ่มต้นอะไรเลย แต่เมื่อมีการเริ่มต้นแล้วจะต้องมีการเตรียมการส่งมอบเพื่อให้งานนี้เดินต่อไปได้ จะไปส่งมอบงานแบบอดีตไม่ได้ เพราะอย่างนั้นจะไม่มีทางเดินหน้าไปได้

“บ้านเรานี่ดีอย่างนะ เวลาขัดแย้งกัน ถ้าเป็นต่างประเทศ ตายเป็นหมื่นเป็นแสนคน แต่บ้านเราไม่ได้เป็นแบบนั้น ถือว่าเป็นต้นทุนของประเทศเรา ดังนั้น ต้องคิดให้ดีและเดินหน้าต่อไปให้ถูกต้อง”พล.อ.เอกชัย สรุป