posttoday

"พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลก"บันทึกจากองคมนตรี "สวัสดิ์ วัฒนายากร"

27 พฤศจิกายน 2559

"ทุกคนในขบวนเสด็จฯ สังเกตเห็นได้ชัดว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชปฏิสันถารกับราษฎรและทรงซักถามในรายละเอียดด้วยพระพักตร์ที่เบิกบานผ่องใส ทุกข์ของราษฎร คือทุกข์ของพระองค์ท่าน"

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เป็นอีกครั้งที่โพสต์ทูเดย์ขอนำเสนอเนื้อหาในหนังสือ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับคณะองคมนตรี” ซึ่งจัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธ.ค. 2554 ที่องคมนตรีได้ถ่ายทอดเรื่องราวการได้มีโอกาสทำงานใกล้เบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

หนึ่งในองคมนตรีที่ได้บันทึกเรื่องราวดังกล่าวไว้ คือ สวัสดิ์ วัฒนายากร อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ปัจจุบันได้ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ในวัย 78 ปี โดยเนื้อหาที่องคมนตรีได้บันทึกเอาไว้มีความน่าสนใจควรค่าแก่ชาวไทยจะได้รับทราบถึงพระราชกรณียกิจเยี่ยมเยียนปัญหาราษฎรในพื้นที่ทุรกันดารผ่านมุมมองจากองคมนตรี

บันทึกของ สวัสดิ์ วัฒนายากร พูดถึงวินาทีแรกที่ได้รับทราบจะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอันทรงเกียรติแห่งชีวิตคือ องคมนตรี เมื่อ 14 ปีที่แล้ว

“คืนวันที่ 10 ก.ค. 2545 เวลา 4 ทุ่ม 45 นาที เสียงโทรศัพท์บนโต๊ะหัวเตียงของผมดังขึ้น ผมงัวเงียลุกขึ้นมารับสาย เป็นเสียงของท่านราชเลขาธิการ อาสา สารสิน แจ้งว่า เพิ่งออกมาจากเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่วังไกลกังวล มีพระราชกระแสทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผมเป็นองคมนตรี”

“ความรู้สึกของผมหลังจากที่ได้ยินครั้งแรกยากที่จะบรรยาย คงต้องเรียกว่า ตะลึงไปขณะหนึ่ง ผมคิดว่าหูคงเพี้ยนไป ถามย้ำหลายครั้ง ท่านราชเลขาฯ ยืนยันว่า เมื่อได้ยินครั้งแรก ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันต้องกราบบังคมทูลถามอีกครั้งจึงแน่ใจ หลังจากวางหูโทรศัพท์ ผมนอนตาค้างอยู่ประมาณสิบห้านาที ตัดสินใจโทรกลับไปหาท่านราชเลขาฯ ขอให้พูดซ้ำอีกที เรื่องพระราชกระแส เพื่อผมจะได้แน่ใจว่า เมื่อครู่นี้ไม่ได้ฝันไป”

“หลังจากที่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณในการทำหน้าที่องคมนตรีเรียบร้อยแล้ว ผมถอยหลังมายืนอยู่ด้านข้าง ค่อนไปทางหลังของท่านประธานองคมนตรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปฏิสันถารกับท่านประธานองคมนตรี ซึ่งก็คงรวมถึงตัวผมด้วย เพราะผมยืนอยู่ในระยะที่จะได้ยินพระสุรเสียงชัด มีพระราชดำรัสใจความว่า เรื่องการแต่งตั้งองคมนตรีในครั้งนี้ ทรงพระราชดำริอยู่เป็นปี จะทรงหาคนช่วยองคมนตรี จุลนภ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ซึ่งสุขภาพไม่สู้ดีเพราะทำงานหนักมานาน

“พระองค์มีพระราชประสงค์ให้ผมมาช่วยในเรื่องโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่เกี่ยวข้องกับด้านการเกษตร โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับแหล่งน้ำซึ่งมีจำนวนมาก พระองค์ท่านทรงเล่าถึงโครงการต่างๆ ประโยชน์ที่จะได้รับ รวมถึงปัญหาอุปสรรคและแนวทางแก้ไข”

"พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลก"บันทึกจากองคมนตรี "สวัสดิ์ วัฒนายากร" สวัสดิ์ วัฒนายากร

ถวายงานในหลวง “ห้ามเดา”

ก่อนที่ สวัสดิ์ จะได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรีนั้นได้มีโอกาสถวายงานในหลวง รัชกาลที่ 9 มาตั้งแต่สมัยที่ทำหน้าที่เป็นอธิบดีกรมชลประทาน

“เป็นที่ตอกย้ำกันในหมู่ข้าราชการชลประทานที่กราบบังคมทูลรายงานว่า “ห้ามเดาเด็ดขาด!” ถ้าเรื่องไหนไม่รู้ ก็ให้กราบบังคมทูลตอบไปตรงๆ เคยมีช่วงแรกๆ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎรในหมู่บ้านแห่งหนึ่งทางภาคเหนือ มีกำหนดการเสด็จฯ ไปที่ฝายน้ำล้นใกล้ๆ หมู่บ้าน ผู้อำนวยการกองที่กรุงเทพฯ ในฐานะผู้ใหญ่ จึงไปรับเสด็จฯ และกราบบังคมรายงานด้วยตัวเอง โดยเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี ท่องจำข้อมูลเกี่ยวกับตัวฝายไว้พร้อม

ในช่วงหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงถามว่า สันฝายอยู่ระดับเท่าใด ผู้อำนวยการฯ เกิดจำไม่ได้ตัดสินใจดำน้ำกะตัวเลขที่ใกล้เคียง สมมติว่า “บวก 350 พระพุทธเจ้าข้า” (สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 350 เมตร) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหยุดนิดหนึ่งแล้วมีพระราชดำรัสว่า “ถ้าระดับ 350 น้ำก็ท่วมตำบลนี้ทั้งตำบล” ทรงชี้ไปที่แผนที่ 1:50,000 เส้นบอกระดับตำบลที่อยู่เหนือน้ำอยู่ที่ 349 นับแต่นั้นเป็นต้นมาผมท่องเป็นคาถาว่า เวลากราบบังคมทูลตอบเมื่อมีพระราชดำรัสถามห้ามเดา แต่ก็ยังไม่วายพลาดจนได้

คืนวันหนึ่ง ผมได้ร่วมโต๊ะเสวยหลังจากที่พระองค์ท่านเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ทุรกันดารแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พระราชดำรัสที่ยังก้องอยู่ในหูของผมจนทุกวันนี้ คือ “ที่เขายากจนต้องมาทำมาหากินในพื้นที่แห้งแล้งเช่นนี้ ไม่ใช่ว่าเขาอยากจะมา แต่เพราะเขาไม่มีที่อื่นจะไป ที่ฉันช่วยเขา ไม่ใช่ว่าจะช่วยตลอดไป แต่ช่วยเพื่อให้เขาได้มีโอกาสช่วยตัวเองต่อไป”

“ถนนดิสโก้-รั้วลวดหนาม”

บันทึกของสวัสดิ์ ระบุว่า หลังจากเสด็จฯ กลับจากแปรพระราชฐานที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ได้เพียงเดือนเศษ ก็เสด็จฯ แปรพระราชฐานไปยังพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จ.สกลนคร และมีกำหนดการเสด็จฯ ไป อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวันที่ 25 พ.ย. 2535

ครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระดำเนินตรงมายังพวกเราที่ยืนรอเฝ้าฯ รับเสด็จ ทรงชี้ไปที่ลำน้ำลำพะยังในแผนที่ จุดใกล้ๆ กับบ้านกุดตอแก่น พร้อมกับมีพระราชดำรัสว่า ลำพะยังเหมือนลำน้ำทั้งหลายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลำน้ำคดเคี้ยวมาก หน้าน้ำ น้ำจะท่วมเป็นประจำ พอหมดฝน ลำน้ำก็แห้งผาก กลายเป็นหุบเหวลึกถึงสิบเมตร น่าจะพิจารณาจุดที่เหมาะสมในการสร้างประตูเก็บน้ำไว้ใช้จากนั้นพระองค์ท่านเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรตรงจุดนี้ ทรงชี้ในแผนที่มีพระราชดำรัสแล้วพระองค์ท่านก็เสด็จฯ ไปยังที่ว่าการอำเภอ

รองสมุหราชองครักษ์ พล.อ.ท.สุพจน์ ครุฑพันธุ์ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล และผมจะต้องอยู่ในรถนำขบวน พวกเรารีบตะลีตะลานศึกษาเส้นทางที่จะไปยังจุดที่พระองค์ท่านทรงชี้ มีปลัดอำเภอโทอยู่คนเดียวที่เป็นคน จ.กาฬสินธุ์ แต่ก็ไม่ใช่คน อ.เขาวง ไม่ชำนาญพื้นที่เหมือนกัน สรุปว่า ระหว่างนำขบวนซึ่งต้องผ่านบ้านกุดตอแก่น เราจึงรีบไปพาตัวกำนัน ซึ่งมีบ้านอยู่ที่นั่นให้นำทางไป

เวลา 19.00 นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ลงจากอำเภอ ขบวนเริ่มออกเดินทางไปจุดที่ลำพะยังแห้งเป็นหุบเหวลึก พวกเราในรถใจคอไม่สู้ดี เพราะไม่รู้เส้นทางเลย ได้แต่ดูจากแผนที่ 1:50,000 และขณะนั้น บรรยากาศมืดสนิท การจัดขบวนเสด็จฯ รถยนต์พระที่นั่งจะเป็นคันที่สอง ต่อจากรถนำซึ่งเป็นรถของเรา และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงขับรถยนต์พระที่นั่งด้วยพระองค์เอง

จำได้ว่าเป็นรถ Jeep Wagoneer พวงมาลัยซ้าย เราเร่งเครื่องเต็มที่ เหลียวดูเห็นไฟหน้ารถขบวนยาวเหยียด เราทิ้งระยะขบวนประมาณ 2-3 กิโลเมตร พอถึงหน้าบ้านกำนันปลัดอำเภอตะโกนเรียก ได้ความว่า กำนันไม่อยู่ ไปกรุงเทพฯ พวกเราชักเลิ่กลั่กออกจากหน้าบ้านกำนันก็พบชายสองถึงสามคนยืนอยู่ริมถนน คนหนึ่งนุ่งผ้าขาวม้าไม่สวมเสื้อ ปลัดอำเภอส่งภาษาท้องถิ่นถามไปถามมา รถยนต์พระที่นั่งก็ใกล้เข้ามา รองสมุหราชองครักษ์ พล.อ.ท.สุพจน์ บอกให้คว้าตัวขึ้นมาเลย โดยให้นั่งเบียดข้างหน้า ปลัดอำเภอโต้ตอบกับมัคคุเทศก์ที่นุ่งผ้าขาวม้าซึ่งเราฟังไม่ออก

พอรถออกจากบ้านกุดตอแก่น มัคคุเทศก์บอกให้เลี้ยวซ้าย ขับไปได้ราว 2-3 กิโลเมตร มัคคุเทศก์สั่งให้เลี้ยวขวาลงทางเกวียน ถนนขรุขระสุดๆ รถกระเด้งกระดอนแกว่งไปมา มืดก็มืด พวกเราชักใจเสีย เพราะรถยนต์พระที่นั่งและขบวนตามมาติดๆ สิ้นสุดทางเกวียน เราคิดว่าต้องมาผิดทางแน่ คงจะสื่อสารกันไม่เข้าใจหรืออย่างไร รถยนต์พระที่นั่งมาจอดใกล้ๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ลงจากรถยนต์พระที่นั่ง ผมวิ่งไปถวายความเคารพ พระองค์ท่านมีพระราชดำรัสถามว่า “อธิบดีจะพาฉันไปดิสโก้ที่ไหน?” ผมยิ้มแห้งๆ กราบบังคมทูลตอบว่า “ข้าพระพุทธเจ้าไม่ทราบว่าที่นี่ที่ไหน พระพุทธเจ้าข้า”

พระองค์ท่านมีพระราชดำรัสว่า “ตอนออกจากบ้านกุดตอแก่น ต้องเลี้ยวขวา แต่รถนำเลี้ยวซ้าย ฉันเลยต้องตามมา” และยังมีพระราชดำรัสสั่งให้ถามมัคคุเทศก์ให้ชัดเจนว่า จุดที่ลำพะยังเป็นหน้าผาสูง มองเห็นลำน้ำเป็นร่องเหวลึก มีทางไปได้ไหม ปลัดอำเภอสอบถามได้ความว่า ต้องกลับไปบ้านกุดตอแก่นต่อไปอีก 2-3 กิโลเมตร แล้วต้องเดินไปอีกราว 500 เมตร จะถึงลำพะยังตรงจุดนั้น

ขบวนกลับรถกันกลางทุ่งนาอย่างทุลักทุเล ขณะนั้นเวลาประมาณ 19.30 นาฬิกา วิ่งกลับไปจนสุดทาง ตามที่มัคคุเทศก์บอก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ลงทรงพระดำเนินท่ามกลางความมืดไปในทุ่งนาตะปุ่มตะป่ำ โดยมีไฟฉายส่องทางและมีมัคคุเทศก์ผ้าขาวม้าเดินนำ ทุกคนต้องเดินอย่างระมัดระวัง ถ้าพลาด เท้าจะแพลงได้ทันที สักครู่มาถึงสระบังของราษฎร มีรั้วลวดหนาม โดยทรงให้เจ้าหน้าที่ถ่างลวดหนาม แล้วทรงพระดำเนินมุดรั้วลวดหนามเข้าไป

ความรู้สึกของผมบอกไม่ถูก นึกรำพึงในใจว่า จะมีพระเจ้าแผ่นดินหรือพระประมุขของประเทศไหนหนอในโลกนี้ ที่จะทรงตรากตรำพระวรกายจนถึงทรงมุดรั้วลวดหนาม เพื่อจะเสด็จฯ ไปทรงหาน้ำให้ราษฎร ยิ่งกว่านั้น พระองค์ท่านยังทรงหันกลับมามีพระราชดำรัสเตือนว่า “อธิบดี อย่าลืมซ่อมรั้วให้เขานะ”

"พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลก"บันทึกจากองคมนตรี "สวัสดิ์ วัฒนายากร" ลุงวาเด็ง

ตำนาน "ลุงวาเด็ง" พระสหายในหลวง

อีกหนึ่งเรื่องเล่าขานที่ประชาชนชาวไทยได้ยินกันมานาน คือ ลุงวาเด็ง ผู้ที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นพระสหายของในหลวง รัชกาลที่ 9 แต่แน่นอนว่ามีน้อยคนนักจะรู้ว่าในหลวงไปพบกับลุงวาเด็งได้อย่างไร

“ผมเข้ารับตำแหน่งได้เพียงเดือนเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ แปรพระราชฐานไปยัง พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ กรมชลประทานก็เปิดศูนย์รับเสด็จฯ ที่โครงการชลประทานนราธิวาส ดังเช่นที่เคยปฏิบัติมา เมื่อทราบว่าจะเสด็จฯ ออกทรงงานที่ใด พล.อ.เทียนชัย จั่นมุกดา กับ พล.อ.ท.สุพจน์ ครุฑพันธุ์ (ยศขณะนั้น) รองสมุหราชองครักษ์ จะรีบแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ เพื่อออกไปตรวจพื้นที่พร้อมกำหนดจุดที่จะเสด็จฯ ในวันที่ 30 ก.ย. 2535 มีกำหนดจะเสด็จฯ ไปพื้นที่พรุแฆแฆ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นพรุเสื่อมโทรมขนาดใหญ่”

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.เทียนชัย จั่นมุกดา พร้อมกับเจ้าหน้าที่กรมราชองครักษ์เฝ้าฯ ทรงชี้ในแผนที่ 1 : 50,000 แล้วมีพระราชดำรัสว่า จะเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรปากคลองน้ำจืด ซึ่งมีศักยภาพที่จะสร้างอาคารเก็บน้ำจืดไว้ให้ราษฎรในหน้าแล้งได้ เจ้าหน้าที่ รวมทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าของพื้นที่ ร่วมกันทัดทานว่า เสด็จฯ ไปไม่ได้ ทางที่ไปขรุขระ เป็นหลุมเป็นบ่อเพราะเป็นหน้าฝน และจุดที่จะเสด็จฯ ไปรถยนต์เข้าไม่ถึง อยู่ห่างจากถนนประมาณเกือบหนึ่งกิโลเมตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสสั้นๆ ว่า “ฉันไปได้”

การเปลี่ยนเส้นทางกะทันหันในยามค่ำมืดเช่นนี้ ย่อมมีปัญหาที่ทุกคนกังวลยิ่งคือเรื่องการถวายความปลอดภัย ไม่มีใครทราบว่า เส้นทางที่จะไปจะเจออะไรบ้าง ผมจำได้ว่า พอสุดเส้นทางถนนขรุขระที่รถแล่นได้ ทุกคนต้องลงเดิน ทางที่เดินนั้นมืดมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระดำเนินโดยมีเจ้าหน้าที่ใช้ไฟฉายส่องทาง ผู้ที่ตามเสด็จฯ ทุกคนเตรียมพกไฟฉายประจำตัวอยู่แล้ว ถ้าใครไม่มี เป็นต้องเดินตกท้องร่องแน่ๆ

“สักครู่ก็ถึงบ้านใต้ถุนสูงของเจ้าของสวน ซึ่งเป็นชาวไทยมุสลิมอายุประมาณ 70 ปีเศษ นุ่งกางเกงสีน้ำเงินไม่สวมเสื้อ เห็นกล้ามเป็นมัดๆ แสดงอาการตื่นเต้น ดีอกดีใจเมื่อทราบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระดำเนินผ่านที่ของเขา ชายคนนี้คือ ลุงวาเด็ง รับอาสานำทางไปยังจุดที่มีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตร คือ ปากคลองน้ำจืด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแนะนำให้กรมชลประทานไปพิจารณารายละเอียด เพื่อสร้างประตูบังคับน้ำที่ปากคลอง เพื่อเก็บน้ำจืดไว้ใช้ในหน้าแล้ง”

“หลังจากประทับอยู่เกือบหนึ่งชั่วโมง จึงเสด็จฯ กลับ โดยทรงแวะที่บ้านลุงวาเด็ง ช่วงนั้นมีสุภาพสตรีสามถึงสี่คน แต่งตัวคลุมศีรษะเรียบร้อยตามประเพณียืนรอเฝ้าฯ รับเสด็จ เข้าใจว่าเป็นครอบครัวของลุงวาเด็ง ลุงวาเด็งซึ่งยังคงอยู่ในชุดเดิม เฝ้าฯ กราบบังคมทูลฯ อยู่ข้างบ่อน้ำตื้น ซึ่งมีเครื่องสูบน้ำใหม่เอี่ยมวางอยู่ข้างบ่อ ลุงวาเด็งได้กราบบังคมทูลฯ เป็นภาษายาวี ว่า เป็นสิริมงคลแก่ครอบครัวของเขา ที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จฯ มาถึงบ้าน แต่เสียใจเหลือเกินที่ไม่มีผลไม้ทูลเกล้าฯ ถวาย”

“เงาะกับทุเรียนที่ปลูกไว้ก็เพิ่งขายไป เหลือทุเรียนลูกเล็กๆ ห้อยต่องแต่งอยู่ลูกเดียว และยังดิบอยู่ เงินที่ได้มาสองหมื่นบาทก็เอาไปซื้อเครื่องสูบน้ำใหม่ที่เห็นวางอยู่ ผมจำได้ว่าเป็น ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ที่กล่าวทำนองแหย่เล่นว่า “ไม่มีอะไรถวาย ก็ปั๊มน้ำนั่นไงล่ะ”

“ลุงวาเด็งแสดงอาการดีใจเหมือนเพิ่งนึกได้และกราบบังคมทูลฯ ว่า “ถวายเลย ขอถวายปั๊มน้ำ” พร้อมกับหันไปทางเจ้าหน้าที่ บอกว่า “ยกไปเลย ยกไปเลย” เสียงของลุงวาเด็งบ่งบอกถึงความจริงใจ ต่อมาเมื่อใกล้วันเฉลิมพระชนมพรรษา ลุงวาเด็งจะหอบหิ้วผลไม้ตามฤดูกาลเข้าไปทูลเกล้าฯ ถวายเป็นประจำทุกปี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเรียกลุงวาเด็งว่า “พระสหาย”

"พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลก"บันทึกจากองคมนตรี "สวัสดิ์ วัฒนายากร"

"ฉันดีใจมาก" รอยยิ้มพระเจ้าแผ่นดิน

สวัสดิ์ วัฒนายากร อดีตองคมนตรี บอกเล่าผ่านในหนังสือ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับคณะองคมนตรี” ถึงการเสด็จฯ ไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจครั้งหนึ่ง โดยครั้งนั้นในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ตรัสกับคณะผู้ติดตามนั้นว่า “ฉันดีใจมาก” เพราะสามารถแก้ไขปัญหาของประชาชนได้

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมองปัญหาในมุมที่คนส่วนใหญ่มองไม่ค่อยเห็น และพระองค์ท่านจะทรงแก้ด้วยวิธีง่ายๆ ซึ่งได้ผลอย่างที่ไม่มีใครคาดถึง โครงการมูโนะ เป็นโครงการหนึ่งที่ผมได้อยู่ในเหตุการณ์ เพราะได้ติดตามอธิบดีมนัส ปิติวงษ์ ไปรับเสด็จที่นราธิวาส ในช่วงปี พ.ศ. 2518-2522 แม่น้ำโก-ลกเป็นเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับมาเลเซีย ต้นน้ำเป็นเทือกเขาสันกาลาคีรี แม่น้ำไหลออกทะเลที่ อ.ตากใบ มีปัญหาน้ำท่วม อ.สุไหงโก-ลก และ อ.สุไหงปาดี เป็นประจำ ฝั่งมาเลเซียทำคันกั้นน้ำตลอดแนว น้ำแทนที่จะไหลล้นสองฝั่ง กลับล้นมาฝั่งเราฝั่งเดียว จึงท่วมหนักกว่าปกติ”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสกับอธิบดีกรมชลประทานว่า “ฝั่งมาเลเซียทำคันกั้นน้ำ ถ้าฝั่งเราทำบ้างต่อไปจะสูงขึ้นสูงขึ้นทั้งสองฝั่ง กลายเป็นกำแพง” พระองค์ท่านทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโครงการมูโนะ โดยทำประตูนำน้ำส่วนที่เกินจากแม่น้ำโก-ลกเข้ามาที่คลองมูโนะ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมชลประทานสร้างระบบชลประทาน ทำคลองส่งน้ำส่งไปเลี้ยงพื้นที่เกษตรใน อ.สุไหงโก-ลก กับ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส โครงการมูโนะสอดคล้องช่วยเหลือเกื้อกูลกับโครงการพรุโต๊ะแดงของพระองค์ท่านอีกโครงการหนึ่งด้วย

พรุโต๊ะแดงเริ่มต้นที่ อ.เมือง จ.นราธิวาส ไปสิ้นสุดที่ อ.สุไหงโก-ลก ระยะทางเกือบ 40 กิโลเมตร เดิมครอบคลุมพื้นที่เกือบ 2 แสนไร่ ในปีที่แล้งติดต่อกันราษฎรที่ทำกินอยู่บริเวณรอบพรุจะค่อยๆ รุกล้ำเข้าไปทำกิน บางปีก็เกิดไฟไหม้ป่าพรุจนปัจจุบันเหลือพื้นที่พรุเพียงประมาณ 8 หมื่นไร่ ปัญหาการทำกินของราษฎร คือ เรื่อง 4 น้ำ น้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเปรี้ยว และน้ำเค็ม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทราบถึงความเดือดร้อนของราษฎร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินโครงการพรุโต๊ะแดง โดยขุดลอกคูคลองแล้วสร้างประตูควบคุมน้ำ ให้บริหารจัดการโดยให้น้ำในพรุอยู่ในระดับไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร ถ้าน้ำน้อยกว่านั้น เมื่อดินแห้งปฏิกิริยาของใบไม้รากไม้ที่สะสมอยู่ใต้ดินลึกหลายสิบเมตรจะทำให้เกิดความร้อนเกิดไฟลุกขึ้นเองได้ ยากที่จะทำการดับ เมื่อน้ำมากก็เปิดประตูระบายน้ำออก ไม่ให้ล้นท่วมพื้นที่เกษตรของราษฎร และทรงกำชับให้กรมป่าไม้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องป้องกันไฟไหม้ป่า และป้องกันการรุกของราษฎร เพื่อรักษาผืนป่าชุ่มน้ำอันมีค่านี้ไว้

เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2529 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรบ้านโคกอิฐ โคกใน และโคกกูแว ต.พร่อน อ.ตากใบ ทอดพระเนตรสภาพความยากจนของชาวบ้าน ทรงซักถามถึงปัญหาอุปสรรคในการดำรงชีพของราษฎร ราษฎรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิมที่มารอเฝ้าฯ ได้กราบบังคมทูลฯ ว่าถึงแม้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมได้บรรเทาเบาบางลงตั้งแต่โครงการพรุโต๊ะแดงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แต่ก็มีเรื่องน้ำเปรี้ยวที่ไหลมาจากพรุ ทำให้สวนผลไม้ไม่ได้ผล ข้าวก็ได้ไร่ละ 10-15 ถัง บางปีได้เพียง 4-5 ถัง ไม่พอกิน สัตว์เลี้ยงมักจะล้มป่วย กรมพัฒนาที่ดินช่วยเหลือโดยนำปูนมาร์ลมาใส่ในนา แต่เนื่องจากค่าใช้จ่ายสูงไม่สามารถใส่ให้พอเพียงได้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำรัสว่า น้ำจืดในโครงการมูโนะมีเหลือเฟือ ให้กรมชลประทานสร้างคลองนำน้ำจืดมาซะล้างดินเปรี้ยวและใช้น้ำในการทำนา แล้วทำคันกั้นน้ำจากพรุโต๊ะแดง โดยให้ระบบคลองระบบน้ำเปรี้ยวแยกออกต่างหาก ไม่ให้เข้าไปในพื้นที่เกษตรของราษฎร และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แนะนำให้ความรู้ด้านวิชาการแก่ราษฎร

หลายปีต่อมา วันที่ 28 ก.ย. 2536 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ ไปยังบ้านโคกอิฐ โคกใน และโคกกูแวอีกครั้งหนึ่ง ทุกคนสังเกตเห็นมีบ้านสร้างใหม่ขึ้นหลายแห่ง ต้นไม้ผลไม้ก็ดูเขียวชอุ่มงามขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะข้าวในนากำลังงามแตกกอเต็มท้องทุ่ง ราษฎรที่มารับเสด็จทุกคนมีใบหน้าที่ยิ้มแย้ม ราษฎรกราบบังคมทูลฯ ว่า เดี๋ยวนี้ข้าวที่เคยได้ 5-10 ถัง/ไร่ไม่พอกิน ตั้งแต่ได้น้ำจืดพระราชทานและทำคันเอาน้ำเปรี้ยวออก ต้นข้าวก็งดงามได้ถึง 40-50 ถัง/ไร่ ทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง เหลือพอขาย ต้นไม้ผลไม้ก็พลอยงามให้ผลดี วัวควายก็อ้วนท้วนสมบูรณ์ทุกอย่างดีขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เดี๋ยวนี้สบายแล้ว

"พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลก"บันทึกจากองคมนตรี "สวัสดิ์ วัฒนายากร"

ทุกคนในขบวนเสด็จฯ สังเกตเห็นได้ชัดว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชปฏิสันถารกับราษฎรและทรงซักถามในรายละเอียดด้วยพระพักตร์ที่เบิกบานผ่องใส ทุกข์ของราษฎร คือทุกข์ของพระองค์ท่าน คงไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราทรงมีความสุขยิ่งไปกว่าความอยู่ดีกินดี รอดพ้นจากความยากจนของพสกนิกรของพระองค์ท่าน

ผมจำภาพนี้ติดตาไม่มีวันลืมเลือน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หันพระพักตร์มาที่พวกเรา แย้มพระสรวลแล้วมีพระราชดำรัสว่า “ฉันดีใจมาก”

ในช่วงท้าย อดีตองคมนตรี บอกว่า ที่ผมเล่ามาเป็นเพียงเกร็ดเล็กน้อย ของเศษเสี้ยวที่ได้ตามเสด็จและปฏิบัติงานถวายใกล้ชิด ภาพที่ประจักษ์แก่สายตาพสกนิกรเป็นประจำ คือ หยาดพระเสโทเต็มพระพักต์จนฉลองพระองค์เปียกชุ่ม หรือประทับบนพื้นดินทรงซักถามทุกข์สุขของราษฎรที่มารอเฝ้าฯ หรือเสด็จฯ ไปในป่าเขาหุบเหวท่ามกลางสายฝนที่กำลังกระหน่ำ ทั้งในเวลากลางวันหรือค่ำคืนดึกดื่น

“ผมเป็นเพียงคนไทยคนหนึ่งที่มีบุญได้ปฏิบัติงานถวายการรับใช้ได้เบื้องพระยุคลบาทในช่วงสั้นๆ ยังมีข้าราชการและผู้คนอีกเป็นจำนวนมาก ที่ได้ปฏิบัติงานสนองพระเดชพระคุณในพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ”

“เหนือกว่าสิ่งอื่นใด ผมคิดว่าเป็นบุญของประเทศไทยและคนไทยทั้งชาติ ที่เรามีพระมหากษัตริย์และพระราชินี สุดประเสริฐ ทั้งสองพระองค์ได้ทรงทุ่มเทและทรงตรากตรำพระวรกายอย่างต่อเนื่องมายาวนานกว่า 60 ปี ด้วยพระราชปณิธานอันแน่วแน่ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติ ที่ผมเล่ามานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของหลายๆ เหตุการณ์ที่ผมได้สัมผัสด้วยตนเอง และติดตาตรึงใจของผมมาโดยตลอด ราวกับว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้เอง”