posttoday

"โอท็อป" กู้ชาติ เป้า3ปีดันทะลุ2แสนล้าน

28 สิงหาคม 2559

"ถ้าการพัฒนาผลิตภัณฑ์โอท็อป สามารถเดินไปได้ตามทิศทางตามที่วางไว้ ผมเชื่อว่าจะสามารถผลักดันยอดขายสินค้าโอท็อปไทยจากปัจจุบันที่ 1.09 แสนล้านบาท ต่อจากนี้ภายใน 3 ปี จะสามารถไปถึง 2 แสนล้านบาทได้"

โดย...วิรวินท์ ศรีโหมด

ผลิตภัณฑ์สินค้าโอท็อป (OTOP) ชื่อนี้เกิดขึ้นมาแล้วกว่า 15 ปี ตั้งแต่ปี 2544 สมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งจุดเริ่มต้นเพื่อต้องการดึงสินค้าที่โดดเด่นของแต่ละชุมชนทั่วประเทศ อาทิ งานหัตถกรรม จักสาน งานผ้าไหม ผ้าฝ้าย เครื่องปั้นดินเผา เครื่องประดับ ของใช้ในครัวเรือน และอาหาร นำมาพัฒนายกระดับเป็นสินค้าอัตลักษณ์เด่นของแต่ละชุมชน ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนฐานรากและเศรษฐกิจของประเทศ

แต่หลังการรัฐประหาร ปี 2549 โครงการโอท็อป ได้ถูกยกเลิกไปชั่วครู่หนึ่ง และต่อมาได้ถูกนำมาฟื้นฟูอีกครั้ง และเปลี่ยนชื่อโอท็อปเดิม คือ หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น แต่ทว่าช่วงที่ผ่านมาชื่อของโอท็อป ก็เลือนหายไปจากสังคม โดยเห็นได้จากศูนย์โอท็อปหลายพื้นที่ต่างปิดตัวลงจำนวนมาก แต่ทว่าเมื่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามา ก็กลับมามุ่งมั่นส่งเสริมสินค้าโอท็อปอีกครั้ง โดยมอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชน สังกัดกระทรวงมหาดไทย เป็นหัวเรือใหญ่ในการกำหนดทิศทาง เพื่อพลิกฟื้นสินค้าโอท็อปให้กับมาสร้างชื่ออีกครั้ง

อภิชาติ โตดิลกเวชช์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักในการผลักดันเรื่องนี้ ได้ฉายภาพทิศทางการขับเคลื่อนพัฒนาส่งเสริมสินค้าโอท็อปต่อจากนี้ว่า กรมการพัฒนาชุมชน ก่อตั้งมากว่า 54 ปี มีจุดแข็งในการพัฒนาสินค้าโอท็อป คือ มีข้าราชการในสังกัดกว่า 7,000 คน ที่ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ระดับหมู่บ้าน ตำบล จากนั้นการทำงานจะแบ่งหน้าที่ให้ผู้ปฏิบัติงานระดับพื้นที่ 1 คน รับผิดชอบดูแล 2 ตำบล นี่จึงเป็นโครงสร้างที่มองว่าแข็งกว่ากระทรวงอื่นในการนำนโยบายลงไปสู่การปฏิบัติได้ทุกท้องถิ่น เห็นได้จากที่ผ่านมาหลายโครงการที่รัฐบาลต้องการจะแก้ปัญหา จึงวางใจมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดูแล

ภารกิจหลักของกรมการพัฒนาชุมชน อภิชาติ เล่าว่า มี 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ 1.สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง 2.สร้างฐานรากเศรษฐกิจให้มั่นคง ซึ่งการทำให้ชุมชนเข้มแข็ง รูปแบบการทำงานจะมีการพัฒนาผู้นำท้องถิ่นที่ต้องรู้ข้อมูลทุกอย่างในชุมชน และสามารถนำไปเผยแพร่ประชุมร่วมกับกลุ่มอื่นได้ทันที โดยผู้นำลักษณะนี้กรมจะสร้างขึ้นมาตำบลละ 2 คน นอกจากนี้จะมีอาสาพัฒนาหมู่บ้านละ 4 คน ดังนั้นนี่จึงทำให้ผู้นำท้องถิ่นที่อยู่กับกรมการพัฒนาชุมชน ขณะนี้มีประมาณ 3 แสนกว่าคนทั่วประเทศ

ในขณะที่ผลิตภัณฑ์โอท็อปที่ดำเนินงานมากว่า 15 ปี ซึ่งแรกเริ่มสินค้าโอท็อปสร้างมูลค่ารายได้ต่อปีประมาณหลักหมื่นกว่าล้านบาท แต่เมื่อมีการส่งเสริมพัฒนามาเรื่อยๆ พบว่ามีกลุ่มชุมชนผู้พัฒนาสินค้าโอท็อปเพิ่มมากขึ้นถึง 4.06 หมื่นกลุ่ม และมีสามาชิกรวมกว่า 8 หมื่นคน ในปัจจุบันนี่จึงทำให้ปี 2558 ที่ผ่านมา สินค้าโอท็อปสามารถสร้างมูลได้สูงถึง 1.09 แสนล้านบาท จนทำให้เมื่อ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ได้รับทราบรายงานตัวเลข ก็รู้สึกตกใจว่าทำไมรายได้สินค้าโอท็อปสามารถไปถึงหลักแสนล้านแล้ว ดังนั้นนี่จึงเป็นภาพรวมแบบก้าวพัฒนาโอท็อปใน 2 เรื่อง คือ การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และสร้างเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ

“ถ้าการพัฒนาผลิตภัณฑ์โอท็อป สามารถเดินไปได้ตามทิศทางตามที่วางไว้ ผมเชื่อว่าจะสามารถผลักดันยอดขายสินค้าโอท็อปไทยจากปัจจุบันที่ 1.09 แสนล้านบาท ต่อจากนี้ภายใน 3 ปี จะสามารถไปถึง 2 แสนล้านบาทได้ ซึ่งจะยิ่งเป็นการเสริมฐานรากทางเศรษฐกิจของไทย และช่วยประชาชนได้อย่างแท้จริง” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ระบุ

อย่างไรก็ตาม อภิชาติ อธิบายถึงแผนการขับเคลื่อนการพัฒนาผลิตภัณฑ์โอท็อปจากนี้ ว่า เรื่องกระบวนการขาย จากที่ได้ศึกษาช่วงที่เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่และพระนครศรีอยุธยา ก็เห็นภาพโอท็อปในพื้นที่ว่า ถ้าให้ข้าราชการนำสินค้าไปขาย ข้าราชการส่วนใหญ่ขายของไม่เป็นและไม่ควรทำ เห็นได้จากที่ผ่านมา ศูนย์โอท็อปส่วนใหญ่เลิกกิจการเกือบทุกจังหวัดแล้ว ยกเว้นบางพื้นที่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดใส่ใจดูแล

อภิชาติ มองว่า ไม่ใช่ข้าราชการไม่เก่ง แต่ราชการไม่มีหน้าที่ไปบริหารการขายของ แต่ควรทำเพียงเตรียมสินค้าให้พร้อมขายเท่านั้น คือ ให้ชาวบ้านยกระดับสินค้าโอท็อปขึ้นมาให้ได้ และจากนั้นทิศทางการทำงานที่ฝ่ายราชการจะลงไปทำจะมี 3 เรื่องหลัก คือ 1.ยกระดับสินค้าโอท็อปให้ได้ 2.เพิ่มช่องทางการตลาด 3.พัฒนาสินค้าโอท็อประดับ 1-3 ดาว ให้ขายได้จริง ฉะนั้นจึงมีการให้ชาวบ้านพัฒนายกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ของแต่ละชุมชนขึ้นมา

จากการที่กรมได้คัดสรรสินค้าโอท็อปในปี 2559 นี้ มีการส่งผลิตภัณฑ์โอท็อปเข้ามาคัดเลือกกว่า 8 หมื่นชิ้น โดยเกณฑ์มาตรฐานมี 5 ประเภท คือ 1.อาหาร 2.เครื่องดื่ม 3.ผ้า 4.สมุนไพร 5.ของที่ระลึก พบว่ามีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านระบบคัดสรรพิเศษเพียง 1.1 หมื่นชิ้นเท่านั้น เป็นระดับ 5 ดาว ประมาณ 1,000 ชิ้น นอกนั้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ระดับกลางเป็นเป็นส่วนใหญ่

นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ผลิตภัณฑ์อีก 7 หมื่นชิ้น ไม่ผ่านมาตรฐานที่ทางราชกำหนดไว้ เพราะสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ผ่านมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือสินค้าเกษตรบางชนิดกำหนด ที่ระบุให้ต้องมีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ซึ่งส่วนตัวมองว่าสินค้าที่ชาวบ้านผลิตเหล่านั้นที่ไม่ได้มาตรฐานไม่ใช่เพราะสินค้าไม่ดี แต่เมื่อมาติดต่อกับหน่วยงานราชการ พบว่ามีความยุ่งยาก นี่จึงเป็นปัญหาที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ชาวบ้านไม่ได้รับมาตรฐานรับรอง

แต่ถึงอย่างไรขณะนี้กรมการพัฒนาชุมชนได้วางแผนแก้ปัญหานี้ โดยจัดมาตรฐานสินค้าที่ไม่ผ่านกว่า 7 หมื่นชิ้น วิธีใหม่โดยแบ่งเป็น 4 ประเภท คือ 1.สินค้าที่ผลิตได้น้อย แต่มีมาตรฐานสูงและสามารถส่งออกได้ 2.สินค้าที่ผลิตจำนวนมาก ส่งออกได้ และมีการพัฒนาฝีมือ 3.สินค้าที่ขายในเมืองไทย คุณภาพพอประมาณ และ 4.สินค้าที่ควรต้องปรับปรุง

ในปี 2560 กรมการพัฒนาชุมชนตั้งเป้าหมายใหม่ว่า จะยกระดับสินค้าทั้งหมด คือ ประเภท 1 และ 2 ที่มีประมาณ 2 หมื่นผลิตภัณฑ์ และ 3-4 จะพัฒนาทำเป็นโอท็อปแบรนด์เนม โดยจะเลือกประเภทสินค้าที่มีความน่าสนใจ เช่น ประเภทกระเป๋า จากนั้นจะวางทิศทางเป็น 7 กลุ่มที่ส่งเสริมในการผลิตกระเป๋า เช่น เครื่องหนัง เสื่อกระจูด ผักตบชวา จากนั้นจะให้ผู้เชี่ยวชาญของสถาบันศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (ทีซีดีซี) ออกแบบและลงไปให้ความรู้ชาวบ้าน เพื่อยกระดับพัฒนาสินค้าให้มีความทันสมัย ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น

"โอท็อป" กู้ชาติ เป้า3ปีดันทะลุ2แสนล้าน

จากที่ทำมา 3 เดือน พบว่า ขณะนี้บางกลุ่มพัฒนาสินค้ากระเป๋าจากเดิมที่จำหน่ายได้ใบละ 1,000 บาท เมื่อพัฒนาออกใหม่จึงสามารถจำหน่ายได้ถึงใบละ 4,500 บาท ซึ่งนี่จึงถือว่าเป็นการยกระดับที่เห็นชัดเจนมากขึ้น ดังนั้นต่อจากนี้การพัฒนาจะเดินไปในทิศทางทีละกลุ่ม ต่อไปอาจเป็นประเภทอาหาร หรือสปา

ส่วนด้านผู้ประกอบการที่ผ่านมา กรมการพัฒนาชุมชน เห็นว่าปัญหาของผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะทำเฉพาะเพียงรับสินค้าที่ผ่านการตรวจมาตรฐานไปจำหน่ายเท่านั้น แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการจะไม่ยอมทำ คือ ดำเนินการเรื่องมาตรฐานรับรองให้กับกลุ่มชุมชนต่างๆ ดังนั้นเมื่อกรมการพัฒนาชุมชนทราบตรงจุดนี้ จึงลงไปเป็นตัวกลางเชื่อมต่อระหว่างผู้ผลิตกับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ให้เข้าถึงชาวบ้านในพื้นที่

ซึ่งจะมีการทำงานในลักษณะเทรดเดอร์ คือ จัดตั้งกลุ่มเพื่อทำการคัดเลือกหาสินค้าในพื้นที่เพื่อนำไปขาย ให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ รวมถึงทำหน้าที่บริหารจัดการทั้งหมดในพื้นที่ทั้งหมด ตอนนี้ได้ดำเนินการในรูปแบบเทรดเดอร์นำร่องไปแล้วใน 10 จังหวัด คือ จ.สระบุรี กาญจนบุรี พัทลุง สุราษฎร์ธานี ร้อยเอ็ด ชุมพร ตาก เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา และกาฬสินธุ์ ดังนั้นคาดว่าจะสร้างเทรดเดอร์ให้ครบทุกจังหวัดภายในปี 2560

“ผลิตภัณฑ์สินค้าโอท็อป ไม่ใช่สินค้าโรงงาน จึงไม่มีลอกเลียนแบบ เนื่องจากเป็นสินค้าที่ทำขึ้นจากภูมิปัญญาของแต่ละชุมชน” อภิชาติ กล่าว

ขณะที่ช่องทางด้านการตลาด อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยว่า ระดับประเทศ ทุกปีจะมีการจัดงานโอท็อปขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ ปีละ 3 ครั้ง โดยจะนำสินค้าของดีแต่ละพื้นที่มาจำหน่าย ส่วนระดับภูมิภาคมอบหมายให้ผู้ว่าราชการทุกจังหวัด จัดงานโอท็อปในพื้นที่ 4 ครั้ง/ปี และขณะนี้กระทรวงมหาดไทยมีการสนับสนุนงบประมาณให้หน่วยงานภายใต้สังกัดทั่วประเทศจัดตลาดนัดไทยช่วยไทยทุกอาทิตย์ เพื่อเปิดให้ชาวบ้านนำสินค้าที่มีคุณภาพของชุมชนในแต่ละท้องที่มาจำหน่ายที่หน้าหน่วยงานราชการ ตอนนี้ทั่วประเทศมีตลาดนัดดังกล่าวอาทิตย์ละ 3,000 ตลาดเป็นประจำ ซึ่งอนาคตมีแนวโน้มที่จะขยายเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังได้นำผลิตภัณฑ์โอท็อปไปวางขายที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท. 148 แห่งทั่วประเทศ ภายใต้ชื่อ ร้านประชารัฐสุขใจช็อป นอกจากนี้มีการจำหน่ายบนเว็บไซต์ ซึ่งบริการส่งฟรีภายในประเทศ ส่วนการขยายไปตลาดต่างประเทศนั้น ขณะนี้มีการนำผลิตภัณฑ์โอท็อปไปวางจำหน่ายในบางเมืองของสาธารณรัฐประชาชนจีน และประเทศมาเลเซีย และอนาคตกำลังเจรจาติดต่อการค้าเพื่อจะนำสินค้าโอท็อปไปวางจำหน่ายประเทศอื่นในระยะยาวต่อไป

ในส่วนการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าโอท็อปขึ้นเครื่องตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เล่าว่า ขณะนี้มีการทำแค็ตตาล็อกแสดงสินค้าโอท็อปจำนวน 128 รายการ นำไปวางบนเครื่องบินของสายการบินไทยแล้ว เนื่องจากการบินไทยมีผู้ใช้บริการ 20 ล้านคน/ปี และขณะนี้กำลังประสานกับสายการบินบางกอกแอร์เวย์สเพิ่มเติม นอกจากนี้ บริษัท รอยัลเจมส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นบริษัทรถทัวร์รับส่งนักท่องเที่ยวต่างประเทศรายใหญ่ในไทย ติดต่อขอนำผลิตภัณฑ์สินค้าโอท็อปไปจำหน่ายด้วยเช่นกัน

ญี่ปุ่นยอม โอท็อปไทย สุดยอดที่สุด

ต้นแบบโอท็อปโลก มีจุดเริ่มต้นมาจากหมู่บ้านโอยามา ซึ่งเป็นชุมชนหนึ่งในพื้นที่ห่างไกลของเมืองโออิตะ เป็นจังหวัดเล็กๆ บนเกาะคิวชู อยู่ทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น โดยเมื่อปี 2504 ชาวบ้านในหมู่บ้านแห่งนี้กว่า 1,000 ครัวเรือน ได้รวมตัวกันเริ่มโครงการพัฒนาเศรษฐกิจในชุมชน คือ บ๊วยและเกาลัด เนื่องจากบ๊วยและเกาลัดเป็นพืชที่เหมาะแก่การผลิตในพื้นที่ จากนั้นชาวบ้านก็เริ่มพัฒนาจนทำให้ก่อเกิดรายได้จำนวนมาก

จากนั้นในเวลาต่อมา เมื่อปี 2522 รูปแบบการพัฒนาสินค้าของหมู่บ้านโอยามา ได้ถูกนำไปปรับใช้เป็นแผนนโยบายการพัฒนาของจังหวัดโออิตะ ภายใต้การนำของ โมริฮิโกะ ฮิรามัทซึ ผู้ว่าราชการจังหวัดคนใหม่สมัยนั้น ได้ประกาศวิสัยทัศน์ที่จะฟื้นฟูและพัฒนาจังหวัดโออิตะ ที่ขณะนั้นมีประชากร 1.2 ล้านคน ให้มีความก้าวหน้า โดยเริ่มส่งเสริมสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะในพื้นที่ให้ประสบผลสำเร็จภายใต้นโยบาย 3 ประการ คือ 1.ท้องถิ่นสู่สากล โดยทำให้สินค้าทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นเข้าถึงรสนิยมของผู้บริโภคทั่วประเทศและทั่วโลก เหมือนกับต้มยำกุ้งของไทยที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก

2.เสริมสร้างการพึ่งพาตนเอง ให้คนในท้องถิ่นคิดตัดสินใจเลือกที่จะพัฒนาสินค้าเองอย่างสร้างสรรค์ ที่ไม่ได้เกิดจากนโยบายรัฐ แต่หน่วยงานรัฐมีเพียงสนับสนุนเทคโนโลยีและการตลาดเท่านั้น 3.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล เป็นผู้นำการพัฒนาในชุมชน เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างแท้จริง ทั้งหมดนี้จึงเป็นสูตรเริ่มต้นที่ทำให้ญี่ปุ่นเป็นต้นแบบความสำเร็จการผลิตสินค้าจากชุมชน ให้แพร่ขยายองค์ความรู้ไปหลายประเทศ อาทิ มาเลเซีย จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มองโกเลีย สหรัฐอเมริกา และไทย เป็นต้น

จากนั้นราวปี 2544 ทักษิณ ชินวัตร สมัยที่เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปดูงานและพบกับ ฮิรามัทซึ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดโออิตะ จึงนำแนวคิดนี้กลับมาพัฒนาในเมืองไทย เพื่อต้องการให้เกษตรกรผู้มีรายได้น้อยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยการนำภูมิปัญญาของท้องถิ่นมาพัฒนาเพิ่มมูลค่า จากนั้นก็ทำให้เกิดการค้าขายระหว่างกัน จนสุดท้ายสินค้าโอท็อปประสบความสำเร็จ จนสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเป็นอย่างดี

อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน จึงเล่าว่า ครั้งที่เดินทางไปดูงานประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากทราบว่าประเทศญี่ปุ่นเป็นต้นแบบและขึ้นชื่อในเรื่องการทำสินค้าชุมชน เพราะมีการส่งเสริมให้ผู้หญิงในพื้นที่ชนบทที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม นำสินค้ามาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าในลักษณะ 8 อย่าง อาทิ ปิ้ง ย่าง ต้ม ตากแดด ดองเค็มฯ ดังนั้นจึงทำให้ญี่ปุ่นขึ้นชื่อในเรื่องพัฒนาสินค้าโอท็อป

“ผมไปที่เมืองโออิตะ 2 ครั้ง เมื่อได้เจอกับผู้ว่าฯ เมืองโออิตะ ก็พูดกับผมว่าจะมาดูงานที่โออิตะทำไม เพราะโอท็อปที่เมืองไทยนี่สุดยอดแล้ว จนต้องยกย่องให้ผลิตภัณฑ์สินค้าโอท็อปไทย เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสุดยอดที่สุด ญี่ปุ่นยอมแล้ว และไม่สู้แล้ว” อภิชาติ ระบุ

เขามองว่า ถึงแม้ประเทศไทยจะส่งเสริมสินค้าการทำโอท็อปมานานกว่า 15 ปีแล้ว แต่ก่อนหน้านั้นจุดเริ่มต้นการพัฒนาสินค้าโอท็อปในไทยเกิดขึ้นมาเมื่อ 20 ปีก่อน โดยเริ่มมาจาก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงสร้างมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพขึ้นมาเพื่อฝึกให้ชาวนา ชาวไร่ให้เป็นศิลปินจำนวนกว่า 2 หมื่นคน จากนั้นได้นำองค์ความรู้ที่มีกระจายลงไปในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ จึงมองว่า นี่จึงเป็นการสร้างพื้นฐานโอท็อปไทยให้มีคุณภาพที่สุด

อภิชาติ เล่าอีกว่า ครั้งที่เดินทางไปสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อนำผลิตภัณฑ์โอท็อปไปขาย 2 ครั้ง ตามโครงการความร่วมมือโอท็อป 2 แผ่นดิน และจากที่เดินทางไปประเทศมาเลเซีย ก็พบว่ามีความนิยมมากจนไม่สามารถผลิตได้ทันตามความต้องการ ดังนั้นจึงคิดว่าควรมีการสร้างเทรดเดอร์ในจังหวัดติดชายแดน เช่น จ.เชียงใหม่ เชียงราย นราธิวาส หรือยะลา ขึ้นมา เพื่อให้เป็นตัวแทนของกรมการพัฒนาชุมชน ในการนำสินค้าส่งไปขายกับต่างประเทศ เพราะใครก็อยากได้สินค้าโอท็อป นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่นายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการในเรื่องนี้ เพราะมองเห็นความแตกต่างจากรองนายกฯ สมคิด ที่เห็นในแง่อุตสาหกรรม แต่นายกฯ เห็นในแง่พี่น้องประชาชน เนื่องจากท่านเคยเป็นทหารตามเสด็จพระราชินีมาก่อน จึงรับรู้ เข้าใจ รู้สึกร่วมกับสินค้าโอท็อป ซึ่งส่วนตัวคิดว่าที่ท่านนายกฯ ชนะการลงประชามติครั้งนี้ ก็อาจมาจากที่คอยขายของให้ชาวบ้าน โดยเห็นได้จากที่มักใช้เสื้อผ้าไทย พันคอโอท็อปเป็นประจำ

"โอท็อป" กู้ชาติ เป้า3ปีดันทะลุ2แสนล้าน

"ประชารัฐรักสามัคคี" สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง

การขยายการพัฒนาส่งเสริมสินค้าโอท็อป อีกหนึ่งช่องทางที่รัฐบาลพยายามหาวิธี มาขับเคลื่อนเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีรูปลักษณ์ที่สวยงาม ทันสมัย และมีการบริหารจัดการให้ได้มาตรฐาน เพื่อเป็นที่ยอมรับของตลาดนั้น ขณะนี้รัฐบาลได้ดึงตัวแทนภาคเอกชนเข้ามาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์โอท็อป ภายใต้รูปแบบองค์กรบริษัทชื่อ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี ขึ้นมาโดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นประธานฝ่ายภาครัฐ และมี ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ  เป็นประธานฝ่ายภาคเอกชน ในการรวมกันขับเคลื่อนทิศทางโอท็อปให้ก้าวไกล

อภิชาติ โตดิลกเวชช์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ในฐานะเลขาฯ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี ฝ่ายภาครัฐ ขยายภาพว่า การดำเนินการของบริษัท ประชารัฐฯ เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม เป็นรูปธรรมของการเคลื่อนงานที่มีการจัดตั้งคณะทำงานทั้งในระดับชาติ และระดับจังหวัด โดยจะมีการประชุมกันอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง และจะมีลงพื้นที่เพื่อติดตามดูข้อเท็จจริงในหมู่บ้าน ชุมชนอยู่ตลอด เพื่อประเมินศักยภาพในการนำมาวิเคราะห์และเมื่อพบปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจของชุมชนไม่พัฒนา ก็จะทำให้สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาได้

โจทย์ของบริษัทนี้ คือ ต้องการสร้างเศรษฐกิจฐานรากในชุมชนให้เข้มแข็ง เพื่อทำให้ชีวิตของเกษตรกรส่วนใหญ่เกือบ 25 ล้านคนมีรายได้เลี้ยงชีพ ดังนั้นนี่จึงตั้งเป้าหมายเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน ทำให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งทุนหรือปัจจัยการผลิต มีทักษะการบริหารจัดการองค์ความรู้ในการผลิตและประกอบอาชีพ มีช่องทางการตลาด และสร้างการสื่อสารความเข้าใจให้ทั่วถึง โดยจะทำเป็นระบบห่วงโซ่คุณภาพเพื่อทำให้เดินไปถึงเป้าหมาย

“การดำเนินการทั้งหมดถ้าภาคราชการ เอกชน ทำกันลำพังไม่สามารถทำได้ครบ แต่ขณะนี้ดึงเอาจุดแข็งของประชารัฐแต่ละฝ่ายมารวมกัน อาทิ ภาคราชการมีบุคลากรทั่วประเทศ 2 ล้านคน เอกชนมีเทคโนโลยีทันสมัย บริหารจัดการเก่ง มีเงินลงทุน ส่วนจุดแข็งของประชาชน สามารถผลิตสินค้าได้หลากหลาย มีนิสัยรักบ้าน ส่วนมหาวิทยาลัยมีองค์ความรู้ และเอ็นจีโอ โน้มน้าวใจเก่ง มีความรอบคอบในการตรวจสอบ ดังนั้นจึงนำทั้งหมดมาร่วมกันเป็น บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี เพื่อดำเนินการสร้างรายได้ให้ชุมชน ประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน” อภิชาติ ระบุ

ขณะที่ทิศทางการดำเนินงานของบริษัท ประชารัฐฯ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เล่าว่า ฐาปน ประธานฝ่ายภาคเอกชน ได้เสนอให้นำรูปแบบโครงสร้างการบริหารของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ มาใช้ที่มีทั้งบริษัทแม่เพื่อเป็นแกนกลางในการประสานการทำงานให้กระจายไปยังบริษัทลูกที่มีอยู่ทั่วประเทศ และให้มีคณะกรรมการผู้บริหาร รวมถึงต้องมีการทำเรื่องกำไร งบดุลทุกสิ้นปี และต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบการบริหาร 3 ชุด คือ คณะกรรมการตรวจสอบบัญชีซึ่งเป็นกลไกภาคบังคับ คณะกรรมการสรรหา และคณะกรรมการบรรษัทภิบาล

"โอท็อป" กู้ชาติ เป้า3ปีดันทะลุ2แสนล้าน

อภิชาติ เล่าว่า ช่วงแรกที่เริ่มตั้งก็มีเสียงคัดค้าน เนื่องจากเกรงว่าภาคเอกชนจะเข้ามาควบคุมอำนาจ จึงทำให้ช่วงแรกที่บริษัท ไทยเบฟ จะบริจาคทุนจัดตั้งจดทะเบียนบริษัท 300 ล้านบาท จึงลดเหลือ 76 ล้านบาท โดยแบ่งงบประมาณไปจังหวัดละ 1 ล้านบาท ซึ่งได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีสถานะเป็นนิติบุคคล มีผู้ถือหุ้น มีกรรมการบริหาร และแบ่งสัดส่วนหุ้นเป็น 2 ส่วนใหญ่เพื่อป้องกันข้อครหา คือ วางรูปแบบให้บริษัทลูก คอยควบคุมบริษัทแม่

สำหรับทุนจดทะเบียนบริษัทแม่มูลค่า 24 ล้านบาท ส่วนทุนจดทะเบียนบริษัทลูกที่มี 76 จังหวัด จะแบ่งสัดส่วนการดูแลถือหุ้นเป็น 5 ส่วน คือ 1.ส่วนราชการ เข้าไปซื้อหุ้นแต่ไม่สามารถบริหารได้ เพราะมีข้อห้ามของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อยู่ 2.ภาคเอกชน 3.ประชาชน 4.ประชาสังคม 5.มหาวิทยาลัย โดยแต่ละจังหวัดจะมีจำนวนหุ้นทั้งหมด 4,000 หุ้น ทุนรวม 4 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้เต็มหมดแล้ว

ขณะที่อัตราการถือหุ้นทุกคนจะมีสัดส่วนหุ้น 20% ทุกคนเท่ากัน ส่วนระบบการแบ่งปันผลกำไร อภิชาติ ระบุว่า วัตถุประสงค์หลักเพื่อสังคม ฉะนั้นกำไรที่ได้มาต้องนำไปขยายผล ไม่ใช่ปันผลเพื่อประโยชน์ส่วนตัวผู้ถือหุ้น ฉะนั้นเมื่อบริษัทดำเนินการจนได้กำไรแล้วจะไม่สามารถนำออกไปได้ แต่จะถูกนำไปขยายผลสู่ชุมชนอื่นต่อไป ยกเว้นแต่นำทุนหมุนเวียนไปทำทุนตัวอื่นเท่านั้น

อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน อธิบายถึงระบบการตรวจสอบบริษัทว่า ระบบการตรวจสอบภาพใหญ่จะดูจากข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ที่เก็บรายได้ในทุกเดือนไว้ประเมินการบริหารงานในแต่ละปีของบอร์ดในแต่ละจังหวัด และจะมีกลไกการทำงานอีกรูปแบบหนึ่ง โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดติดตามตรวจสอบสนับสนุน ควบคู่ไปในแต่ละพื้นที่ด้วย

ขณะที่หลายฝ่ายมองว่าการที่เอกกชนเข้ามาบริหารแบบไม่ได้เงินปันผลนั้นจะได้อะไร อภิชาติ อธิบายว่า ไม่ได้บอกว่าไม่มีผลตอบแทน แต่ไม่มีผลการแบ่งผลกำไรให้ แต่สิ่งที่เอกชนจะได้คือสามารถนำไปหักภาษีได้ เนื่องจากทุกบริษัทขนาดใหญ่จะมีโครงการหนึ่งอยู่แล้ว คือ กิจกรรมโครงการเพื่อสังคม (ซีเอสอาร์) เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม โดยแต่ละปีจะบริจาคสนับสนุนในโครงการสาธารณประโยชน์ต่างๆ  มากน้อยแล้วตามแต่ละบริษัทจะตั้ง ซึ่งรูปแบบ ซีเอสอาร์ เดิมคือ เมื่อให้แล้วก็จบ แต่การที่เอกชนเข้ามาสนับสนุนบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี นอกจากจะได้ช่วยสร้างการเรียนรู้แล้ว แต่เงินที่นำมาลงทุนรัฐบาลได้ออกกฎหมายยกเว้นภาษีให้ เพื่อเป็นแรงจูงใจ ดังนั้นภาคเอกชนที่เข้ามาจึงมีผลตอบแทนที่เป็นชื่อเสียง ภาพลักษณ์ ความน่าเชื่อถือ ซึ่งถือว่าเป็นกำไรที่มากกว่ามูลค่าของเงินทอง

ขณะที่รูปแบบการบริหารงานภายในบริษัท อภิชาติเผยว่า แต่ละจังหวัดรูปแบบการทำงานจะไม่เหมือนกัน ซึ่งก่อนที่บริษัทจะเลือกเข้าไปพัฒนาพื้นที่ใด จะมีการเลือกพื้นที่โดยพิจารณาดูที่ความสนใจของประชาชนในพื้นที่ และดูว่าในพื้นที่นั้นมีสินค้าโดดเด่นที่จะสามารถพัฒนาได้หรือไม่ และดูว่าชุมชนมีความสามัคคีหรือไม่ จากนั้นจะทำแผนธุรกิจเพื่อไปเสนอให้แต่ละชุมชนดูถึงความก้าวหน้า แต่อาจจะมีการขอหักค่าบริหารจัดการ 10% เพื่อเป็นค่าแนะนำปรึกษาในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งมองว่าตรงนี้คุ้มค่าถ้าสามารถพัฒนาคุณภาพสินค้าให้เพิ่มขึ้นได้หลายเท่าถึงว่าคุ้มค่ามาก

นอกจากนี้ อภิชาติอธิบายความต่างระหว่างบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีกับเทรดเดอร์ ว่า บริษัทดังกล่าวมีเป้าหมายหลักทำเพื่อสังคมไม่ใช่ผลกำไรสูงสุด ดังนั้นกำไรที่ได้มาต้องนำไปขยายผล ไม่ใช่ปันผลเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของผู้ถือหุ้น ซึ่งหมายความว่า เมื่อบริษัทได้กำไรมา จะถูกนำกำไรไปขยายในกิจการอื่น ซึ่งแตกต่างจากธุรกิจเอกชนทั่วไป นอกจากนี้บริษัทจะไม่ได้ส่งเสริมเฉพาะการพัฒนาผลิตภัณฑ์โอท็อปเท่านั้น แต่จะดำเนินการตั้งแต่เป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำการพัฒนา โดยดึงอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชนออกมาพัฒนา ตลอดไปจนถึงรับจดสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น

"โอท็อป" กู้ชาติ เป้า3ปีดันทะลุ2แสนล้าน

อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ระบุว่า ดังนั้นช่วงเริ่มตั้งเป้าว่าภายในสิ้นปี 2559 จะต้องจัดตั้งบริษัทลูก ประชารัฐรักสามัคคีให้ครบทั้ง 76 จังหวัด ซึ่งขณะนี้เริ่มดำเนินการแล้ว 22 จังหวัด เช่นที่ จ.ภูเก็ต ทางบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี ได้ลงไปส่งเสริมพัฒนาการทำกุ้งลอปเตอร์ ให้ส่งขายทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีการเข้าไปพัฒนาการจำหน่ายสับปะรดภูเก็ต ให้เพิ่มมูลค่า จากเดิมจำหน่ายลูกละ 20 บาท เพิ่มมูลค่าขึ้นเป็น 1,500 บาท/ลูก และตอนนี้บริษัทกำลังทำพัฒนาเครื่องสีข้าวในครัวเรือน เพื่อกลุ่มคนรักสุขภาพ ซึ่งจะเปิดตัวเดือน ธ.ค.นี้ โดยคุณสมบัติของเครื่องสีข้าวดังกล่าว สามารถนำข้าวเปลือกมาสีเป็นข้าวสารเพื่อใช้รับประทานได้แบบมื้อต่อมื้อ ซึ่งจะทำให้คุณค่าวิตามินในเมล็ดอยู่ครบถ้วน และยังเป็นการลดต้นทุนการซื้อข้าวอีกด้วย

ขณะที่ทิศทางในอนาคต อภิชาติมองว่า บริษัทจะมีคณะกรรมการบริหารมาเป็นกลไกดำเนินการบริหารจัดการเหมือนบริษัททั่วไป แต่สิ่งที่คณะทำงานอยากเห็นคือ เมื่อจัดตั้งบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี ครบ 76 จังหวัด บริษัทจะเป็นกลไกสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากใน 2 ระดับ คือ ระดับครัวเรือน เศรษฐกิจครัวเรือนของประชาชนที่ดำเนินใน 3 ประเภท คือ การเกษตร การแปรรูป การท่องเที่ยว จะถูกนำมาบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เกิดรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ สร้างเศรษฐกิจครัวเรือนเพื่อทำให้เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง อีกส่วนหนึ่งคือ ระดับชุมชน จะมีผลกำไรของบริษัทหมุนเวียนอยู่ในชุมชนเกิดการพัฒนาจากภายในสู่ความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป