posttoday

"กติกาที่มีอยู่ยังไม่ปลอดภัย" เสียงจากแพทย์สนามมวยถึง Fight club thailand

25 สิงหาคม 2559

"ต่อยไม่เป็น-ขาดเครื่องป้องกัน-เวทีไม่ได้มาตรฐาน" ความห่วงใยของแพทย์ประจำเวทีมวยลุมพินีต่อ Fight club thailand

เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล

ภาพชายหนุ่มสองคนสาวหมัดใส่กันอุตลุดราวมวยวัด หมัดลุ่นๆ แต่งตัวบ้านๆ สังเวียนคือพื้นซีเมนต์แข็งๆของสนามกีฬาใต้ทางด่วน กรรมการคอยคุมเชิง รวมถึงไทยมุงล้อมวงส่งเสียงเชียร์ ภายใต้เวลา 3 นาทีสุดระทึก

ทั้งหมดนี้คือ การต่อสู้ข้างถนน "Fight club Thailand" ที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

"กติกาการต่อสู้" ของกลุ่ม Fight club Thailand ระบุไว้อย่างเคร่งครัดว่า 1.ห้ามท้าทาย ยุแหย่ ให้เกิดอารมณ์ เกิดความขัดแย้ง 2.ห้ามจับคู่กันเอง หรือนัดชกกันเองภายในกลุ่ม 3.ห้ามสร้างศัตรู แสดงตัวตนโอ้อวด ท้าทายสถาบันการศึกษาทั้งกลุ่มคนและตัวบุคคลเด็ดขาด 4.ห้ามนักกีฬาที่ผ่านเวทีต่างๆที่เป็นรายการชิงแชมป์อาชีพ หรือนักชกอาชีพลงสมัคร (รายการจะเปิดรับเป็นรอบพิเศษเท่านั้นสำหรับสายอาชีพ) 5.ยึดหลักสร้าง มิตรภาพ ตามความคิดอุดมการณ์ของ Fight Club Thailand เป็นหลักสูงสุด

ขณะที่ "กฎเหล็กของการชกในสนาม" ประกอบด้วยดังนี้ 1.ห้ามโจมตีอวัยวะเพศ 2.ห้ามโจมตีลูกกระเดือก 3.ห้ามโจมตีท้ายทอย และแนวกระดูกสันหลัง 4.ห้ามจับทุ่ม จับเหวี่ยง 5.ห้ามซ้ำเวลาคู่ต่อสู้ล้ม หรือหันหลังไม่สู้

"กติกาที่มีอยู่ยังไม่ปลอดภัย" เสียงจากแพทย์สนามมวยถึง Fight club thailand

นพ.สุทธิชัย โชคกิจชัย รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลลาดพร้าว และแพทย์ประจำเวทีมวยลุมพินี กล่าวว่า เท่าที่ดูคลิปวีดีโอการต่อสู้ของกลุ่ม Fight club Thailand รู้สึกเป็นห่วงมาก

"หนึ่ง ตัวคนที่เข้าไปชก หรือ นักสู้ (fighter) ทั้งสองฝ่าย ไม่ได้มีการตรวจร่างกาย ปกติแล้วการแข่งขันที่มีการกระทบกระทั่งอย่างรุนแรงแบบนี้ ควรจะต้องตรวจร่างกายว่ามีโรคประจำตัวหรือไม่ ซึ่งบางโรค หากมีการออกกำลังกายอย่างหนัก หรือกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงก็อาจเป็นอันตรายได้ เช่น โรคหอบหืด และโรคหัวใจ

สอง กติกาข้อห้ามในการต่อสู้ เช่น ห้ามโจมตีลูกกระเดือก อวัยะเพศ ท้ายทอย และบริเวณหลัง มันไม่เพียงพอที่จะป้องกันอันตรายต่อตัวคู่ต่อสู้ ยกตัวอย่างที่เราเห็นกันอยู่ประจำในสนามมวยคือ กรามหัก ไหล่หลุด โดยเฉพาะเครื่องป้องกันตัวที่ควรใส่ก็ไม่ใส่ เช่น กระจับ เฮดการ์ด  นอกจากนี้การชกมวยต้องมีพื้นที่ชัดเจน มีเบาะรอง มีเชือกกั้น การชกกันบนพื้่นซีเมนต์ หากล้มศีรษะกระแทกอย่างรุนแรงก็อาจหมดสติ เป็นอันตรายต่อสมอง ถึงขั้นเสียชีวิต

อีกเรื่องน่าเป็นห่วงคือ อารมณ์ สมมติว่ามีพรรคพวกมาด้วย คู่ต่อสู้เกิดพลาดได้รับบาดเจ็บ ฝ่ายพรรคพวกอาจโมโห วิ่งเข้ารุมทำร้ายกัน สิ่งเหล่านี้ถ้าเป็นสนามมวยจะมีการป้องกันระดับหนึ่ง มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยดูแลไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน ฉะนั้นเรื่องมาตรการดูแลความปลอดภัย ทั้งตัวนักสู้ กติการการต่อสู้ รวมถึงสถานที่จัดการต่อสู้ ถือว่ายังไม่ปลอดภัยพอ"

แพทย์ประจำเวทีมวยลุมพินี ตั้งข้อสังเกตว่า นักสู้หลายคนไม่มีทักษะการชกมวย หรือฝึกฝนร่ำเรียนมาอย่างถูกต้อง จึงออกลูก "มวยวัด"มากกว่า ตรงนี้ยิ่งเสี่ยงอันตราย

"คนที่เรียนมวยมา ก่อนจะขึ้นชก เทรนเนอร์หรือค่ายมวยจะพิจารณาแล้วว่าตัวนักมวยคนนั้นมีความสามารถในระดับหนึ่ง เช่น การป้องกันตัวเอง อาวุธที่คู่ต่อสู้ปล่อยออกมาจะรู้ว่าต้องป้องกันอย่างไร ไม่ใช่อยู่ดีๆเอาคนสองคนมาชกกันเลย แบบนี้ในวงการมวยเราไม่ทำ จากนั้นจะต้องมีการ 'เปรียบมวย' โปรโมเตอร์ต้องดูนักมวยที่ความสามารถ และประสบการณ์ใกล้เคียงกัน สิ่งเหล่านี้จะเป็นกระบวนการป้องกันไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพลี่ยงพล้ำ หรือเสียเปรียบ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอันตรายแก่คู่ต่อสู้ได้"

"กติกาที่มีอยู่ยังไม่ปลอดภัย" เสียงจากแพทย์สนามมวยถึง Fight club thailand

นพ.สุทธิชัย ฝากทำความเข้าใจไปยังกลุ่ม fight club thailand ว่า เจตนารมณ์ของการเป็นนักสู้ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่การจะเป็นนักสู้ที่ดี ควรวางมาตรการดูแลความปลอดภัย เป็นกลาง และยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย เพราะเท่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ ยังไม่เพียงพอที่จะรับประกันความปลอดภัยและให้ความยุติธรรมแก่คู่ต่อสู้ได้

"ถ้าหากจะเดินหน้าต่อ ควรปรึกษาหารือผู้หลักผู้ใหญ่ให้เข้ามาช่วยดูแลว่าต้องมีมาตรการดูแลความปลอดภัยอย่างไร มีกฎเกณฑ์การต่อสู้อย่างไรบ้าง แล้วค่อยเดินหน้าต่อ ถ้ายังไม่มีกฎระเบียบ หรือมีองค์กรเข้ามารับรองอย่างเป็นทางการ ก็ไม่ควรเดินหน้าต่อ เพราะไม่มีใครการันตีความปลอดภัยได้ ผมมองว่าทำไมไม่ใช้โอกาสนี้เข้ามาศึกษามวยไทยอย่างจริงจังเสียเลย จะเรียนแบบสมัครเล่น และแข่งขันกันแบบสมัครเล่นก็ได้ ซึ่งมีการจัดแข่งขันชกมวยไทยสมัครเล่นอยู่เรื่อยๆ ไม่รุนแรงเท่ามวยไทยอาชีพ นอกจากได้ออกกำลังกาย ได้พิสูจน์จิตใจที่กล้าหาญ ยังได้วิชาการต่อสู้ของมวยไทยด้วย ที่สำคัญที่สุดคือ การแข่งขันที่เป็นมาตรฐานจะทำให้ทุกฝ่ายปลอดภัย"

กล่าวกันว่า มวยเป็นกีฬาที่คู่แข่งขันจงใจชกหรือทำร้ายให้บาดเจ็บในจุดต่างๆของร่างกาย เพื่อนำมาซึ่งชัยชนะ นักมวยต้องพยายามที่จะต่อยบริเวณจุดสำคัญๆของคู่ต่อสู้ให้แรง เร็ว และแม่นยำ จึงก่อให้เกิดการบาดเจ็บต่อส่วนต่างๆของร่างกายตามมา ดังนั้นหากผู้จัดแข่งขันไม่มีมาตรการดูแลความปลอดภัยอย่างเข้มงวดเพียงพอ ความเสียหายที่ไม่มีใครอยากให้เกิดก็อาจเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

"กติกาที่มีอยู่ยังไม่ปลอดภัย" เสียงจากแพทย์สนามมวยถึง Fight club thailand