posttoday

"โลกมอบเเสงแดดให้ฟรี ไม่เอามาใช้ก็ขาดทุน" เอกชัย รัตนะสิทธิ์ เจ้าของรถสามล้อพลังเเสงอาทิตย์

17 สิงหาคม 2559

คุยกับหนุ่มแปดริ้ว เจ้าของไอเดียจักรยานสามล้อไฟฟ้าพลังงานเเสงอาทิตย์ที่กำลังฮอตในโลกออนไลน์

เรื่อง...วรรณโชค ไชยสะอาด / ภาพ...กฤษณ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร

เมื่อเร็วๆนี้ ภาพจักรยานอลูมีเนียมสีแดง ล้อแม็กซ์สีทอง-ดำ ห้องโดยสารโปร่งโล่ง หลังคาโดดเด่นเป็นสง่าด้วยแผงโซล่าเซลล์ พร้อมข้อความโฆษณาถึงสมรรถนะอันยอดเยี่ยม ช่วงล่างอันแข็งแกร่ง นิ่มนวล สร้างกระแสฮือฮาในโลกออนไลน์

แม้ไม่ใช่คนแรกที่คิดค้นจักรยานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ แต่ปฎิเสธไม่ได้ว่า นาทีนี้ชื่อของ “เอกชัย รัตนะสิทธิ์” กำลังถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง

ท่ามกลางแสงแดดจ้า ลมพัดตึง ณ ริมท้องทุ่งในต.เทพราช อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ชายหนุ่มไอเดียบรรเจิดพร้อมแล้วที่จะเปิดเผยแนวคิดการสร้างสรรค์รถสามล้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้ทุกคนได้ฟัง

"โลกมอบเเสงแดดให้ฟรี ไม่เอามาใช้ก็ขาดทุน" เอกชัย รัตนะสิทธิ์ เจ้าของรถสามล้อพลังเเสงอาทิตย์

เอกชัย เป็นบัณฑิตจากสาขาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สนใจเรื่องนวัตกรรมและการพัฒนามาตลอด เคยมีชื่ออยู่ในทีมรองแชมป์รายการแข่งขัน “เอบียูโรบอตคอนเทสต์” การแข่งขันหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทยมาแล้ว หลังเรียนจบเขาเลือกเป็นมนุษย์เงินเดือน ทำงานที่บริษัทอุปกรณ์เครื่องเสียงติดรถยนต์มานาน 7 ปี กระทั่งเกิดอารมณ์เบื่อหน่ายไม่อยากเป็นลูกจ้างใคร ตัดสินใจลาออก นำความรู้ความสามารถที่สะสมมาเปิดธุรกิจของตัวเอง

“ผมเป็นคนชอบประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรม  ทำโน่นทำนี่ไปเรื่อย บวกกับสนใจเรื่องพลังงานทดแทนมาตลอด ทั้งดิน น้ำ ลม ไฟ คิดเสมอว่าจะใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร ของฟรีไม่เอามาใช้ก็ขาดทุน โลกมอบเเสงแดดให้เราพัฒนาเเล้ว”

ไอเดียของหนุ่มวัย 34 ปี มาลงตัวเหมาะเจาะที่จักรยานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หลังจากเล็งเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จจากต้นทุนซึ่งมีอยู่จำกัด ทั้งยังเชื่อมั่นแรงกล้าว่าจะสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง โดยจักรยานสีแสงคันงามเบื้องหน้าถือเป็นคันที่ 3 ของเขา หลังลองผิดลองถูกจนหมดเงินทุนไปหลายแสน

“คันแรกลงทุนไปแสนกว่าบาท ตั้งใจวิ่งจะด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ 100 % เลือกใช้แผงโซล่าเซลล์รุ่นใหม่ ขนาดบาง เบา กำลังวัตต์สูง ราคา 17,000 บาท ติดตั้งทั้งหมด 3 แผง แต่ด้วยความที่มันบาง ทำให้ไม่สมดุล เสี่ยงต่อการแตกหัก รวมทั้งตัวถังยังไม่สวยงามด้วย

คันที่สอง หมดไปประมาณ 4 หมื่นบาท ต้นทุนลดลงเพราะเลือกใช้แผงโซล่าเซลล์มือสอง มีความหนาและแข็งแรงมากขึ้น แต่ก็พบปัญหาใหม่คือ น้ำหนักเยอะ ทำให้รถเสียการทรงตัว เพราะไม่ได้ติดตั้งโช๊กอัพ เสี่ยงอันตรายมากเวลาทำความเร็ว เลยทดลองแก้ปัญหาด้วยการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ไว้ด้านหลัง แต่ก็ยังไม่ค่อยพอใจ มันดูเชย ไม่คล่องตัว

จนกระทั่งคันที่สาม ผมเกิดไปรู้จักกับสุดยอดฝีมือเข้า เขาเป็นช่างอลูมีเนียมที่เก่งมาก ผมจึงร่างแบบโครงสร้างรถให้เขาทำขึ้นมา ก่อนจะติดตั้งระบบพลังงาน ชุดระบบไฟฟ้าเข้าจนกระทั่งออกมาสวยงาม หมดไปเกือบ 7 หมื่น แต่พอใจมากกว่าทุกคันที่ผ่านมาครับ พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่า คันก่อนๆ ล้มเหลวนะ ถ้าไม่มีพวกมันก็ไม่มีคันนี้ อะไรมันไปเพอร์เฟคตั้งแต่คันแรก จริงไหม”

สองคันแรกที่เจ้าตัวพัฒนาขึ้น ได้รับความสนใจากอาจารย์นที ศรีทอง ชมรมพลังงานทดแทน ซื้อไปเป็นตัวอย่างในการเรียนการสอน ในราคาต่ำกว่าทุนที่ 4.5 หมื่นบาท และ 3.5 หมื่นบาท ตามลำดับ ก่อนนำเงินเหล่านั้นมาเป็นทุนในการสร้างคันต่อมา รวมทั้งคันที่ 3 นี้ด้วย

"โลกมอบเเสงแดดให้ฟรี ไม่เอามาใช้ก็ขาดทุน" เอกชัย รัตนะสิทธิ์ เจ้าของรถสามล้อพลังเเสงอาทิตย์

อุปสรรคในการพัฒนาคือ การทดลองให้ระบบทุกอย่างสอดคล้องกัน ทั้งความจุของแบตเตอรี่ ระบบไฟฟ้า แรงบิดมอเตอร์ที่มีรายละเอียดเรื่องกำลังวัตต์ ซึ่งจำเป็นต้องตั้งโจทย์ให้ชัดและทดลองจนกระทั่งสมบูรณ์

“การผลิตรถจักรยานไฟฟ้าขึ้นมาสักคัน ต้องกำหนดโจทย์ให้ชัด ความเร็วระดับไหน วิ่งได้ไกลเท่าไหร่ งบประมาณมากน้อยแค่ไหน ทำให้เราสามารถกำหนดสเปคมันได้ถูกต้อง ถ้าจะให้วิ่งเร็วก็ต้องใช้มอเตอร์กำลังวัตต์สูง แต่ก็สิ้นเปลืองพลังงานมากขึ้นเช่นกัน หรือหากต้องการแบตเตอรี่ที่มีขนาดความจุมาก ก็ต้องยอมรับกับน้ำหนัก มันเป็นเรื่องทฤษฎีและปฎิบัติประสานกัน มองไม่เห็น บางทีต้องทดลองเพื่อให้ลงตัว”

สำหรับจักรยานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สีแดงสุดฮอตคัน มีสเปคดังนี้

- โครงสร้างหลักเป็นอะลูมิเนียม

- ขนาด กว้าง ยาว สูง : 120 x 240 x 150 cm

- น้ำหนักรถ 125 กก.

- ความเร็วเฉลี่ย 30 กม./ชม.

- ความเร็วสูงสุด 40 กม./ชม.

- กรณีวิ่งที่ความเร็ว คงที่ 20 กม./ชม. รถกินพลังงาน 250W

- กรณีวิ่งที่ความเร็ว คงที่ 28 กม./ชม. รถกินพลังงาน 500W

- กรณีวิ่งด้วยแบตอย่างเดียวจะวิ่งได้ประมาณ 40 กม. (ดูจากการกินพลังงานและความเร็ว เทียบกับขนาดแบตเตอรี่ คิดที่ประสิทธิภาพแบต 60%)

- กรณีใช้ PAS System หรือระบบช่วยปั่นอัจฉริยะด้วยจะไปได้ไกลขึ้น เพราะแรงคนผสมแรงมอเตอร์ ปรับได้ 5 ระดับ

- ส่วนกรณีใช้งานแดดเพียวๆ 100% ไม่ยุ่งกับแบตเลย แผงขนาด 320W กรณีจ่ายได้ 70-80% ของสเปคแผง ก็จะทำให้รถวิ่งได้ ความเร็วประมาณ 20 กม./ชม. ได้เรื่อยๆ เมื่อมีแสงแดด

- กรณีใช้ ระบบช่วยปั่นด้วย + มีพลังงานจากแดด + พลังงานจากแบตด้วย จะทำความเร็วได้มากขึ้น

"โลกมอบเเสงแดดให้ฟรี ไม่เอามาใช้ก็ขาดทุน" เอกชัย รัตนะสิทธิ์ เจ้าของรถสามล้อพลังเเสงอาทิตย์

“การทำงานของรถจักรยานไฟฟ้าคันนี้ คือ นำพลังงานจากเเสงอาทิตย์ ส่งผ่านแผงโซล่าเซลล์ ก่อนนำไปเก็บไว้ที่เเบตเตอรี่ เพื่อแปลงเป็นพลังงานให้กับมอเตอร์ที่ติดตั้งอยู่บริเวณล้อหลัง อย่าเข้าใจผิดว่าใช้พลังงานแสงอาทิตย์ 100 % ในการวิ่ง เพราะหากทำอย่างนั้น ต้องใช้แผงขนาดใหญ่มาก ซึ่งไม่สะดวกเเละไม่สอดคล้องในการติดตั้งกับจักรยาน ทำให้แผงมีขนาดเท่าที่เห็น โดยจ่ายไฟได้สูงสุดที่ 320 วัตต์ และเฉลี่ยที่ 250 วัตต์ พูดง่ายๆว่า ช่วยแบ่งเบาภาระแบตเตอรี่ ไปประมาณ 30-50 % แล้วแต่การทำความเร็ว อย่างไรก็ดี ถ้าแดดแรงจริงๆ แผงโซล่าเซลล์อาจช่วยได้มากกว่า 50 %” 

เอกชัย ตั้งเป้าหมายในการพัฒนานวัตกรรมระยะสั้น แบบทุนต่อทุน เขากล่าวทิ้งท้ายว่า อยากให้กระแสที่เกิดขึ้นถูกต่อยอดในเชิงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ เพื่อทำให้รถจักรยานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มีราคาถูกลง จนทุกคนสามารถครอบครองและวิ่งให้เกลื่อนเมือง ภายใต้แนวทางที่รัฐบาลเตรียมไว้ให้ต่อไป

แรงบันดาลใจที่เอกชัยมอบไว้ให้แก่คนอื่นๆคือ การริเริ่ม พัฒนาต่อยอด และใช้ทรัพยากรใกล้ตัวให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันมากที่สุด

"โลกมอบเเสงแดดให้ฟรี ไม่เอามาใช้ก็ขาดทุน" เอกชัย รัตนะสิทธิ์ เจ้าของรถสามล้อพลังเเสงอาทิตย์

 

"โลกมอบเเสงแดดให้ฟรี ไม่เอามาใช้ก็ขาดทุน" เอกชัย รัตนะสิทธิ์ เจ้าของรถสามล้อพลังเเสงอาทิตย์


ชมคลิปสัมภาษณ์พิเศษ