posttoday

"ธรรศพลฐ์" หัวใจไทยแอร์เอเชีย จากเจ้าของสู่มืออาชีพ

14 กรกฎาคม 2559

"เมื่อก่อนไม่มีอะไรเลยก็ยังเปิดเส้นทางบินมาได้ตั้งหลายเมือง ผ่านมาหมดแล้วตั้งแต่มีหุ้นแค่ 1% จากนั้นก็เพิ่มไปเป็น 22% เป็น 45% ไปจนถึง 50% จนมาวันนี้เหลืออยู่ 5% ก็ยังซ่าได้เหมือนเดิม และอยากบอกให้ทุกคนรู้ว่า ความเป็นไทยแอร์เอเชียคงอยู่เหมือนเดิมเช่นกัน"

โดย...จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

หากเอ่ยชื่อสายการบินที่ประสบความสำเร็จมากในเมืองไทยเวลานี้ หนีไม่พ้นสายการบินไทยแอร์เอเชีย ที่มาพร้อมแคมเปญ “ใครๆ ก็บินได้” ล่าสุดผลการดำเนินงานไตรมาสแรกปี 2559 มีกำไรสุทธิถึง 1,009.08 ล้านบาท เกือบเท่ากับกำไรสุทธิที่ทำได้ทั้งปี 2558 อยู่แล้ว

ด้วยความสำเร็จเหนือเมฆเช่นนี้ ไทยแอร์เอเชียจึงหอมหวน ชวนให้คนอยากเป็นเจ้าของ มีกระแสออกมาต่อเนื่องว่าเจ้าสัวคนนั้นจะซื้อ มหาเศรษฐีคนนี้ก็สนใจ สุดท้ายตกร่องปล่องชิ้นที่ครอบครัวศรีวัฒนประภา เจ้าของอาณาจักรคิง เพาเวอร์ มาซื้อหุ้น 39.83% จากส่วนของ “โจ-ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น ผู้ดำเนินธุรกิจสายการบินไทยแอร์เอเชีย และครอบครัวของโจด้วยราคาหุ้นละ 4.20 บาท ทำให้โจเหลือสัดส่วนหุ้นที่ถืออยู่แค่ 5%

รวมเงินค่าหุ้นที่กลุ่มคิง เพาเวอร์ ต้องจ่ายให้โจเบ็ดเสร็จแล้วก็กว่า 7,944 ล้านบาท คนจำนวนมากอดคิดไม่ได้ว่า เหตุใดซีอีโอสายการบินไทยแอร์เอเชียท่านนี้ ยอมขายหุ้นจำนวนมากออกไปในราคาแค่ 4.20 บาท ทั้งที่ราคาในตลาดหุ้นเวลานั้นสูงถึง 6 บาท กลุ่มแบเลเว็ลด์จะนำเงินจำนวนมากนี้ไปทำอะไร และอีกข้อสงสัยที่โจมักโดนคนครหาก็คือ เป็นนอมินีถือหุ้นแทนอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร แน่ๆ แต่สำหรับผู้ชายชื่อโจ ไม่เคยแคร์คำพูดเหล่านี้

ธรรศพลฐ์ ชายหน้าละอ่อนอายุย่างเข้าสู่หลัก 50 ปี เปิดใจหลังการขายหุ้นว่า ก้าวแรกที่เข้ามาทำสายการบินไทยแอร์เอเชีย เริ่มจากเป็นผู้บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชียที่มีหุ้นแค่ 1% เท่านั้น กระทั่งกลุ่มชิน คอร์ปอเรชั่นในเวลานั้น ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นหลักขายหุ้นไทยแอร์เอเชียไปให้กองทุนเทมาเซก โฮลดิ้งส์ สิงคโปร์ โดยไทยแอร์เอเชียตอนนั้นเป็นเพียงธุรกิจเล็กๆ ที่มีเครื่องบินแค่ 8 ลำ เขาจึงจับมือกับผู้บริหาร 5-6 คน กู้เงินซื้อหุ้นไทยแอร์เอเชียกลับคืนจาก เทมาเซก โฮลดิ้งส์

แต่จนถึงทุกวันนี้ ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงถูกพูดถึงว่าเป็นนอมินี สิ่งที่เขารู้คือ 5 ปีกว่าหลังกู้เงินมาซื้อหุ้นไทยแอร์เอเชีย ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยกับการพยายามหาเงินเพื่อใช้หนี้ค่าหุ้นที่ไปกู้ยืมจากสถาบันการเงินมาจนหนี้กลายเป็นศูนย์ แล้วนำบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้

จากนั้นมา ธรรศพลฐ์ก็กลายเป็นหนี้อีกครั้งจากการไปลงทุนในสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ โดยถือหุ้นอยู่ 41% ซึ่งก็มาติดปัญหาเรื่ององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอซีเอโอ) ปักธงแดงกับไทยให้ต้องปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยทางการบินพอดี ทำให้สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ขยายมากไม่ได้ และนี่เป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ตัดใจขายหุ้นบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น ไป

“ผมเป็นหนี้อยู่ 5 ปีกว่าจะนำบริษัทเข้าตลาดหุ้น กว่าจะหาเงินไปใช้คืนแบงก์ได้เลือดตาแทบกระเด็น วันนี้ขายหุ้นไปแล้วก็มีเงินเหลือไม่เยอะ เพราะผมเอาเงินไปลงทุนกับสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ พอสมควร ซึ่งติดปัญหาไอซีเอโอทำให้ขยายตัวไม่ได้ ดังนั้นเงินก็ไปติดอยู่กับไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ พอควร ก็เลยขายหุ้นในบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น วันนี้ตื่นมาก็สบายใจ ไม่มีหนี้ ส่วนเงินที่เหลือจะเอาไปทำอะไรเดี๋ยวจะบอก คงเป็นการไปใช้ลงทุนในฐานะนักลงทุน ไม่ได้เข้าไปบริหารธุรกิจเอง อาจเลือกบริษัทดีๆ สักแห่งเพื่อลงทุน แต่คงไม่ไปขลุกอยู่ด้วย เพราะผมมีหน้าที่อยู่ที่แอร์เอเชียต่อไป และไม่ได้รีบไปไหน”

แม้คิง เพาเวอร์ จะเข้ามาถือหุ้นใหญ่ในไทยแอร์เอเชีย แต่ธรรศพลฐ์ยืนยัน คิง เพาเวอร์ ไม่ได้เข้ามาทำให้อะไรในไทยแอร์เอเชียเปลี่ยน เป็นเพียงนักลงทุนที่ส่งคนมานั่งเป็นกรรมการบริษัท ไม่ได้ยุ่งกับการทำงาน แค่บอกไว้ว่าเมืองไหนที่คิง เพาเวอร์มีคอนเนกชั่น อยากให้ช่วยอะไรก็บอกได้ ซึ่งขณะนี้เราก็ให้ทีมศึกษาอยู่ว่า คิง เพาเวอร์ ช่วยอะไรเราได้บ้าง เรียกง่ายๆ คือ คิง เพาเวอร์ เป็นนักลงทุน ส่วนเขาเป็นเวิร์กเกอร์ เป็นม้างาน ซึ่งการนั่งบริหารโดยถือหุ้นแค่ 5% ก็ไม่ได้ทำให้ความรู้สึกแตกต่างไปจากเดิม

ธรรศพลฐ์ย้ำว่า อย่าไปคิดมาก เมื่อก่อนเขาไม่มีอะไรเลยก็ยังเปิดเส้นทางบินมาได้ตั้งหลายเมือง เขาผ่านมาหมดแล้วตั้งแต่มีหุ้นแค่ 1% จากนั้นก็เพิ่มไปเป็น 22% เป็น 45% ไปจนถึง 50% จนมาวันนี้เหลืออยู่ 5% ก็ยังซ่าได้เหมือนเดิม และอยากบอกให้ทุกคนรู้ว่า ความเป็นไทยแอร์เอเชียคงอยู่เหมือนเดิมเช่นกัน เพราะอย่าลืมว่าไทยแอร์เอเชียยังเป็นพันธมิตรกับแอร์เอเชีย มาเลเซีย ไม่เปลี่ยน จะเปลี่ยนก็แค่พันธมิตรฝั่งไทย ผู้บริหารทั้งหมดของไทยแอร์เอเชียอยู่ครบ เปลี่ยนเพียงคณะกรรมการบริษัทแค่ 3 คน ส่วนสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ก็ยังอยู่กับธรรศพลฐ์เหมือนเดิม

"ธรรศพลฐ์" หัวใจไทยแอร์เอเชีย จากเจ้าของสู่มืออาชีพ

ด้านแผนงานที่ธรรศพลฐ์วางไว้กับไทยแอร์เอเชีย คือ การรักษาส่วนแบ่งตลาดผู้ใช้บริการเป็นจีน 20% อาเซียน 20% คนไทย 40-45% และอินเดียอยากได้ 10% จากปัจจุบันมีแค่ 1% เท่านั้น ซึ่งหลังจากนี้ยังขยายได้อีกไกล เหมือนตลาดจีน ที่ไทยแอร์เอเชียไปบุกเบิกมากว่า 10 ปีแล้ว

ครั้งแรกที่ไปเปิดบินเมืองเซียะเหมิน เวลานั้นมีสายการบินเดิมบริการแค่ 2 ราย คนจีนยังงงกับรูปแบบของไทยแอร์เอเชียที่ต้องซื้ออาหาร ซื้อน้ำหนักกระเป๋า ส่วนไทยแอร์เอเชียก็ยังจับตลาดไม่ถูกจุดก็ต้องปิดเส้นทางบินไป หลังจากนั้นจึงกลับไปเปิดบินเข้าเสิ่นเจิ้น เพราะเริ่มจับตลาดคนจีนได้ถูกจุดและทยอยเปิดเส้นทางบินไปเมืองอื่นของจีนต่อเนื่องตั้งแต่นั้น ซึ่งอินเดียคงคล้ายกัน ที่ผ่านมาเคยไปเปิดบินเข้าอินเดียแล้ว แต่ยังจับจุดไม่ถูกก็ปิดไป จากนี้คงกลับไปอีกครั้ง เพราะธุรกิจการบินในอินเดียเป็นระบบระเบียบ มีมาตรฐานสากลขึ้น และไทยแอร์เอเชียรู้จักตลาดอินเดียดีขึ้น ส่วนในกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นกลุ่มที่ไทยแอร์เอเชียชอบ เพราะใช้เวลาบินน้อย ส่วนต่างของกำไรดี

ปัจจุบันมีเส้นทางบินอาเซียนเกือบครบแล้ว นับเฉพาะในซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา-สปป.ลาว-เมียนมา-เวียดนาม) ถือว่าต่อจิ๊กซอว์ครบแล้วหลังเพิ่งเปิดบินเข้าเวียงจันทน์ เมืองหลวงของ สปป.ลาวได้ เพราะก่อนหน้านี้เปิดบินเข้าเมืองหลวงประเทศอื่นในซีแอลเอ็มวีหมดแล้ว จากนี้ไปคงมองหาโอกาสขยายเส้นทางบินจากเมืองอื่นที่ไม่ใช่กรุงเทพฯ เข้าไปในซีแอลเอ็มวีเพิ่ม ขณะที่เมืองที่ยังเหลืออยู่ในอาเซียนที่ยังไม่ไปมีเพียงบรูไน กับฟิลิปปินส์ ซึ่งบรูไนคงไม่ได้ไป เพราะมีคนบรูไนมาไทย แต่คนไทยอาจไม่ได้ไปบรูไน ส่วนฟิลิปปินส์ ปัจจุบันสนามบินที่มะนิลาแน่น ต้องรอให้ขยายสนามบินก่อนจึงไปได้

เมื่อถามหาศักยภาพในการไปขยายเส้นทางจากเมืองรองของไทยเข้าเมืองในซีแอลเอ็มวี ธรรศพลฐ์ ตอบกลับทันที “ไม่มีคำว่าศักยภาพในโลกนี้หรอก ถ้าเราไม่ไปกระตุ้นตลาด มันอยู่ที่คนต้องไปกระตุ้น” ซึ่งข้อดีของสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์แอร์ไลน์) คือ 70-80% ของผู้ใช้บริการเป็นนักท่องเที่ยว หากมีที่เที่ยวใหม่ก็มีคนไป กลยุทธ์การเปิดเส้นทางบินของธรรศพลฐ์คือ ไม่รีบ แต่ขอไปก่อนคนอื่นก็พอ

ธรรศพลฐ์ ทิ้งท้ายไว้ว่า ในฐานะที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยว นอกจากทำให้บริษัทเจริญขึ้นแล้ว เขามองว่าทีมงานมีศักยภาพพอจะทำให้ประเทศชาติเจริญได้ด้วยการผลักดันจังหวัดต่างๆ ที่บินไปให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และการไปเปิดฐานการบิน (ฮับ) นอกกรุงเทพฯ ก็ตอบโจทย์นี้ เพราะไม่อย่างนั้นอะไรต่อมิอะไรจะมากระจุกตัวแค่ที่ดอนเมืองและสุวรรณภูมิหมด ทั้งที่โครงสร้างพื้นฐานไม่ได้โตตามธุรกิจท่องเที่ยวไปด้วย

ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า 2 ปีตั้งแต่ปฏิวัติ รายได้ที่พยุงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของไทยให้เป็นบวกได้คือท่องเที่ยว ถ้าถอดรายได้ท่องเที่ยวออกไปจีดีพีคงติดลบ ดังนั้นการไปเชิญชวนคนมาเที่ยวมาใช้เงินเป็นทางเลือกที่หาเงินง่าย และมีธุรกิจต่อเนื่องอยู่มาก เช่น โรงแรม สายการบิน สนามบิน รถ สปา บันเทิง ร้านข้างถนน ได้อานิสงส์หมด ถือเป็นหน้าที่ของเราในฐานะคนไทยมีศักยภาพจะสร้างรายได้ให้ชุมชนได้ด้วยการดึงคนไปเที่ยว

นี่คือหัวเรือใหญ่สายการบินไทยแอร์เอเชีย ที่แม้วันนี้จะมีหุ้นอยู่น้อยนิดเป็นเพียงมือปืนรับจ้างบริหาร แต่สำหรับโจ-ธรรศพลฐ์แล้วทุกอย่างยังคงเดิม ใจที่มีให้ไทยแอร์เอเชียก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง

"ธรรศพลฐ์" หัวใจไทยแอร์เอเชีย จากเจ้าของสู่มืออาชีพ

ผู้ชายสนุกทุกวัน

หากจะจัดว่าผู้ชายชื่อ ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ เป็นบุคคลที่ผ่านสังเวียนธุรกิจมาอย่างโชกโชนก็คงได้ เพราะก่อนเป็นผู้บริหารสายการบิน เขาคลุกคลีมาแล้ว 3 บริษัท คือ เป็นพนักงานดูแลสินค้าลูกอมฮอลล์ ที่บริษัท แคดเบอรี อาดัมส์ (ประเทศไทย) เป็นผู้จัดการประจำประเทศไทยที่บริษัท มอนซานโต้ ไทยแลนด์ ดูแลธุรกิจน้ำตาล แล้วไปเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท วอร์นเนอร์ มิวสิค (ประเทศไทย) ทำธุรกิจเพลง เรียกว่าขายมาแล้วตั้งแต่ลูกอม น้ำตาล ยันเทปเพลง ก่อนมาขายตั๋วเครื่องบินอย่างทุกวันนี้

ธรรศพลฐ์ มองว่า ผ่านสังเวียนมาหลายธุรกิจแล้ว ธุรกิจทุกอย่างที่เคยทำก็มีเอกลักษณ์ของตัวเอง มีความยากง่ายหลากหลายต่างกันไป แต่ที่เหมือนกันคือ ทุกธุรกิจก็จะมีคู่ค้า หากเป็นธุรกิจลูกอม น้ำตาล หรือเทปเพลงที่เคยทำ คู่ค้าก็จะเป็นห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ แต่ถ้าเป็นธุรกิจสายการบินต้องติดต่อกับผู้บริโภคโดยตรงมากกว่า เพราะคนส่วนใหญ่ซื้อตั๋วเครื่องบินผ่านหน้าเว็บไซต์ของสายการบินได้เลย ดังนั้นความยากง่ายก็จะเป็นอีกรูปแบบเมื่อไปเทียบกับธุรกิจอื่นๆ ที่เคยทำมาที่ต้องติดต่อกับตัวกลางขายเป็นหลัก แทนที่เวลาไปติดต่อแล้วต้องไปเชิญชวนตัวกลางว่าซื้อของเราเถอะ เงื่อนไขเราดี ก็ต้องเปลี่ยนไปส่งสารกับผู้โดยสารอีกรูปแบบ เช่น ให้ข้อมูลว่าถ้าไปเที่ยวที่นี่มีที่ไหนสวยๆ หรือน่าสนใจบ้าง

“สิ่งที่ต่างกันของธุรกิจที่เคยทำมา คือ สิ่งแวดล้อมธุรกิจและคู่ค้าต่างกัน แต่ทุกธุรกิจคือการค้าขายไม่ต่างกัน และสิ่งที่ธุรกิจทุกที่ต้องมีเหมือนกันคือการบริหารคน มีคนถามผมว่ามาทำสายการบินมีคนทำงานเยอะแยะ อยู่ค่ายเพลงมีคนทำงานไม่กี่ร้อยคน จะบริหารคนได้อย่างไร ผมก็บอกไปว่าถ้าคุณดูแลแอ๊ด คาราบาวได้ จะคนกี่คนก็ไม่มีอะไรยาก”

ธรรศพลฐ์ ขยายความเพิ่มว่า ที่เปรียบเปรยเช่นนี้เพราะ “แอ๊ด คาราบาว” เป็นทั้งนักธุรกิจและศิลปิน มีความแข็งกร้าว ความอ่อนไหว และความกล้าตัดสินใจ ทุกอย่างล้วนอยู่ในตัวคนเดียวครบ ถือเป็นปูชนียบุคคล วันไหนมีอารมณ์ศิลปินก็สามารถแต่งเพลงออกมาได้จับใจด้วยศัพท์แบบกวี ถ้าดูแลแอ๊ด คาราบาวได้ ในปฐพีนี้ ทุกคนในโลกนี้คุณก็เอาอยู่ เพราะหัวใจสำคัญของการบริหารคนก็คือ คนเราอยู่กันได้ด้วยความเข้าใจ นี่เป็นข้อเดียวเท่านั้น ข้ออื่นไม่มีเลย ขอเพียงไม่แทงกันข้างหลัง ไม่มีวาระซ่อนเร้น แม้รู้ว่าวันนี้จะต้องทะเลาะกันก็ต้องคุย แต่คุยแล้วต้องจบ มีน้ำใจเป็นนักกีฬา มันคือพื้นฐานสำคัญ ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนอย่างที่คิด

ทั้งนี้ คนที่มีความคิดใกล้เคียงศิลปินที่สุดก็คือ นักบิน เพราะนักบินมีความคิดเป็นของตัวเอง ถูกสอนมาให้เป็นขาวกับดำ ไม่มีเทาๆ คือมีแต่สนามบินนี้ไปลงได้กับไปลงไม่ได้ แต่ไม่มีคำว่าสนามบินนี้ต้องพยายามไปลง เมื่อหัวสมองนักบินเป็นแบบดิจิทัล ความคิดแบบดิจิทัล คุณจะไปคุยกับเขาแบบอะนาล็อก คงคุยกันไม่รู้เรื่อง คุณต้องบอกตัวเลือกข้อเอ ข้อบี ข้อซีให้เขาเลือก ให้เขาไปเขียนบรรยายคงไม่ใช่ แต่ถ้าไปคุยกับฝ่ายการตลาดก็อีกแบบ

“คุยกับมาร์เก็ตติ้งบางทีต้องคุยเป็นชั่วโมง เพราะมาร์เก็ตติ้งต้องมีของมาหักล้างเสมอ แต่ถ้าคุยกับนักบิน 3 นาทีจบ เพราะนักบินมีแค่ใช่หรือไม่ใช่ ดำหรือขาวแค่นั้น”

"ธรรศพลฐ์" หัวใจไทยแอร์เอเชีย จากเจ้าของสู่มืออาชีพ

เมื่อถามสไตล์การทำงานแบบธรรศพลฐ์ เขาไม่ขอตอบสไตล์ตัวเอง ด้วยเหตุผลว่าถ้าให้ตอบเองคงต้องบอกให้ตัวเองดูดีอยู่แล้ว ธรรศพลฐ์หันไปถามพนักงานรอบข้างทันควันให้ช่วยไขข้อข้องใจว่าสไตล์การทำงานของเขาเป็นเช่นไร คำตอบที่ได้กลับมาคือ ผู้ชายชื่อธรรศพลฐ์ เป็นคนที่มีความมุ่งมั่น มีทิศทางการทำงานชัดเจน กล้าได้กล้าเสีย ถ้ามั่นใจแล้วก็ทำเลย

ขณะเดียวกัน เมื่อขอให้ธรรศพลฐ์วิเคราะห์ความสนุกในการทำธุรกิจสายการบิน ในฐานะที่วนเวียนอยู่ในธุรกิจมากว่า 10 ปี เพื่อเทียบกับธุรกิจอื่นที่เคยทำมา เขามองว่า ความสนุกไม่ได้อยู่ที่ไหน แต่อยู่ที่ใจ ที่ตัวเราเองทั้งนั้น ถ้าหากใจเราไม่สนุก การทำงานก็จะไม่สนุก แต่สำหรับเขาแล้วเป็นคนสนุกทุกวัน พร้อมพูดติดตลกสไตล์คนสนุกว่า วันไหนพนักงานทำผมผิดสีผมอาจไม่สนุกเพราะลูกน้องดูไม่ดี ไม่สวย วันไหนทาลิปสติกสวยทำผมสวยก็อารมณ์ดี เพราะเขามองว่าเมื่อออกไปพบปะสาธารณชนก็อยากเห็นพนักงานดูดี ถ้าจะหงุดหงิดก็มีแค่เรื่องนี้

ธรรศพลฐ์ กล่าวถึงการทำงานของเขาที่ไทยแอร์เอเชียว่า ราคาค่าโดยสารไทยแอร์เอเชียที่นำเสนออาจถูกกว่าบางสายการบิน แต่ประเด็นนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า ไทยแอร์เอเชียไปดึงใครให้ต้องกดราคาลงมา เพราะไทยแอร์เอเชียทำตามโครงสร้างราคาที่ตัวเองมี ส่วนสายการบินอื่นจะลดราคาหรือไม่ลดก็แล้วแต่ ทุกวันนี้ตลาดมีสายการบินอื่นที่บินอยู่ได้ด้วยราคาของเขา กลุ่มลูกค้าของเขาก็เหมือนประเทศไทย ถ้ามีแต่โรงแรม 3 ดาวอย่างเดียว นักท่องเที่ยวคงไม่มากอย่างทุกวันนี้ ต้องมีโรงแรม 5-6 ดาว 4 ดาว 3 ดาว ลงไปถึงที่พักที่ไม่ได้มีดาว ทุกระดับก็มีคนมาพัก

ทั้งหมดนี้คือมุมมองและสไตล์การทำงานของนักบริหารแบบธรรศพลฐ์