posttoday

"ประชามติต้องไม่ล้ม ไม่โกง ไม่อายพม่า" จตุพร พรหมพันธุ์

19 มิถุนายน 2559

"บางคนบอกว่า คสช. กินเบ็ดที่ไม่มีเหยื่อของ นปช. แต่เราบอกว่าไม่ได้กินเบ็ด แต่กินคันเบ็ดที่ไม่มีสาย เพราะเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. เมื่อประกาศตั้งศูนย์ปราบโกงแล้ว คสช.ฉลาดสักหน่อยที่จะบอกว่าดีแล้ว จะได้ร่วมมือกัน ช่วยกันคนละไม้คนละมือ"

โดย...ฐายิกา จันทร์เทพ/วิรวินท์ ศรีโหมด

ดีเดย์ 19 มิ.ย. กับแคมเปญเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติทั่วประเทศของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ภายใต้สโลแกน “ประชามติ ต้องไม่ล้ม ไม่โกง ไม่อายพม่า” ซึ่งศูนย์นี้ถือว่าเป็นศูนย์ที่เป็นกับดักหนึ่งที่ก่อกวนสมาธิของผู้มีอำนาจต่อการผลักดันร่างรัฐธรรมนูญ

จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. เปิดโอกาสให้ทีมข่าวโพสต์ทูเดย์ได้ชมศูนย์ปราบโกงประชามติ ที่ตั้งอยู่บนชั้น 5 ของห้างอิมพีเรียล ลาดพร้าว ซึ่งเป็นชั้นเดียวกันกับพื้นที่ทำการด้านการสื่อสารโทรทัศน์ช่องต่างๆ ของคนเสื้อแดง และเป็นศูนย์รวมที่ทำงานของแกนนำคนเสื้อแดงเช่นกัน โดยภายในศูนย์ปราบโกงถูกสร้างขึ้นเป็นห้องกระจกใหญ่โต ภายใต้โทนห้องสีแดงสด มีเจ้าหน้าที่ประจำการรับโทรศัพท์ประมาณ 5 คน คอมพิวเตอร์ 4 เครื่อง และโทรทัศน์ พร้อมกับระบบเครื่องเสียงจำนวน 1 ชุดเท่านั้น

จตุพรได้เล่าถึงที่มาของการตั้งศูนย์ปราบโกงว่า เพราะรู้สึกว่าการเขียนพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 เอาเปรียบและปิดช่องฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยต่อร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่รัฐใช้กลไก ครู ก. ครู ข. ครู ค. รวมถึงข้าราชการที่ร่วมเป็นล้านคน ที่จะไปช่วยกันทำความเข้าใจต่อร่างรัฐธรรมนูญ ได้แต่ฝ่ายที่ไม่รับและไม่เห็นด้วย กลับไม่มีช่องทางในการแสดงความคิดเห็นหรือขับเคลื่อนอะไรได้ นปช.ประกาศจุดยืนชัดเจนว่าไม่ใช่พวกเป็นกลาง และประกาศตั้งแต่ต้นแล้วว่า “ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ”

ขณะที่ฝ่ายรัฐเอง แม่น้ำ 5 สาย ก็ไม่ได้เป็นกลางเช่นกัน เพราะเป็นฝ่ายรับร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งสองฝ่ายไม่ได้เป็นกลางทั้งคู่ สิ่งที่ นปช.กลัววันนี้ คือจะทุจริตกันหรือไม่ และประชาชนจะออกมาใช้สิทธิน้อย เพราะไม่มีแรงกระตุ้น ต่างกับเวลาเลือกตั้งที่คนออกมาใช้สิทธิมากเพราะมีแรงกระตุ้นคือการแข่งขันกันสูง

“ศูนย์ปราบโกงประชามติเป็นที่รู้จักและรับรู้ มาจาก คสช.เอง คนที่สร้างมูลค่าความน่ากลัวให้ก็คือ คสช. ซึ่งเปรียบเสมือนเขียนเสือจนตัวกลัวเอง ไม่ใช่ให้วัวกลัว ดังนั้น ที่ศูนย์แห่งนี้ดูน่ากลัว พล.อ.ประยุทธ์ (จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี) พล.อ.ประวิตร (วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี)  และ พล.อ.อนุพงษ์ (เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย) มาช่วยเป็นพรีเซนเตอร์ให้ จนกระทั่งกลายเป็นเรื่องใหญ่และสั่นสะเทือนไปหมด”

จตุพร แจกแจงอีกว่า สื่ออาวุโสบางคนบอกว่า คสช. กินเบ็ดที่ไม่มีเหยื่อของ นปช. แต่เราบอกว่าไม่ได้กินเบ็ด แต่กินคันเบ็ดที่ไม่มีสาย เพราะเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. เมื่อประกาศตั้งศูนย์ปราบโกงแล้ว คสช.ฉลาดสักหน่อยที่จะบอกว่าดีแล้ว จะได้ร่วมมือกัน ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ไม่มีปัญหาอะไรที่จะมาช่วยกันจับโกง เท่านี้ก็จบ แต่ทันทีที่มองศูนย์ปราบโกงเป็นปฏิปักษ์ เลยกลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะทาวน์ จนบัดนี้ยังไม่เลิกพูดกัน

ประธาน นปช. ยังได้ตั้งข้อสังเกตถึงความผิดปกติต่อระบบคำสั่งของผู้มีอำนาจต่อเรื่องการตั้งศูนย์ปราบโกงว่า ตั้งแต่วันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศูนย์แห่งนี้ก็เปิดทำหน้าที่เป็นปกติ และช่วงขณะนั้นมีนักข่าวไปถาม พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ที่ถือว่ามีอำนาจเป็นรัฏฐาธิปัตย์ว่าศูนย์นี้สามารถเปิดได้หรือไม่ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ระบุชัดเจนว่า เปิดไปสิ แล้วอย่าลืมจับตัวเองด้วย ซึ่งเรื่องนี้ นปช.ไม่ขัดข้อง พวกเราผิดเราก็จะจับ พวกท่านผิดเราก็จะจับ

ทั้งหมดจะเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ พูดชัดเจนว่า ศูนย์ปราบโกงสามารถเปิดได้ พูดอยู่ 3-4 รอบ หรือแม้แต่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย และ กกต.เอง ก็บอกว่าตั้งได้ ถ้าไม่ผิดกฎหมายใด

“พล.อ.ประยุทธ์ คือรัฏฐาธิปัตย์ มีอำนาจสูงสุด กฎคือข้า ข้าคือกฎ แต่ทันทีที่ พล.อ.ประวิตร ออกมาดุใส่ศูนย์ปราบโกงแล้วสั่งห้ามเปิด ปัญหาที่เกิดคือ พล.อ.ประวิตร ลืมตัวหรือไม่ว่าตนเองเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ พล.อ.ประยุทธ์ แม้จะเป็นพี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ก็จริง แต่ในทางการปกครองตัวเองคือผู้ใต้บังคับบัญชา ลืมไปหรือเปล่าว่ามันไม่มีตำแหน่งซูเปอร์รัฏฐาธิปัตย์ หรืออัครรัฏฐาธิปัตย์  หรือแม้แต่ พล.อ.อนุพงษ์ ก็เช่นเดียวกัน เมื่อรัฏฐาธิปัตย์บอกว่าตั้งได้ คนอื่นก็ต้องบอกว่าตั้งได้ เพราะฉะนั้นสำคัญที่สุดคือ เวลานี้เราจะฟังคำสั่งของ พล.อ.ประวิตร หรือ พล.อ.ประยุทธ์”

อย่างไรก็ตาม เมื่อ พล.อ.ประวิตร พูดสั่งห้ามเปิดศูนย์ปราบโกง ก็พบว่ามีการสั่งการให้ทุกจังหวัดว่า จังหวัดใดที่มีการตั้งศูนย์ปราบโกง ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองต้องรับผิดชอบ เวลานี้พูดง่ายๆ ก็ชักเย่อทั่วประเทศ แต่ได้บอกกับพี่น้องว่าอย่าไปวิตกกังวล อย่างมากก็แค่ยึดป้ายปิดสถานที่ แต่หัวใจของประชาชนไม่มีทางที่จะปิดกันได้ คสช.จะชนะได้แค่ป้ายกับสถานที่ แต่ภาคประชาชนยังทำหน้าที่นี้ต่อไป

ทั้งนี้ ระบบการทำงานของโครงสร้างศูนย์ปราบโกงระดับจังหวัด จะมีโครงสร้างตั้งแต่ระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ซึ่งมีอยู่แล้ว แต่จะเปิดกว้างมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะพวกเรา จะเปิดรับทุกคนผู้รักประชาธิปไตย ขอให้วางเรื่องตนเองไว้ก่อนแล้วมาร่วมมือกัน

ในส่วนข้อสงสัยว่าจะจับการทุจริตอย่างไร แล้วทำไมจึงคิดว่าฝ่ายรัฐจ้องการทุจริต ในเมื่อมันไม่ได้ส่งผลอะไรมาก จตุพร อธิบายพร้อมยกตัวอย่างว่า คิดแบบนั้นอาจจะแคบไป ในทางปฏิบัติเมื่อครู ค. และเจ้าหน้าที่ชุดอื่นๆ ลงไป รวมถึงบุคลากรทุกภาคส่วนที่ใช้นั้นร่วมล้านคน

ดังนั้น ปัญหาเหล่านี้ก็จะเยอะมาตามจำนวนบุคลากรที่ใช้เช่นกัน อาทิ เมื่อคนเหล่านี้ไปพูดข้อดีของรัฐธรรมนูญเข้าทุกวัน พอชาวบ้านถามว่าจะให้ดิฉันทำอย่างไรในวันที่ 7 ส.ค.นี้ แค่เจ้าหน้าที่ไปบอกว่าให้รับสิ นั่นล่ะ ก็ผิดเลย แค่จับเรื่องง่ายๆ แบบนี้ก็จะมีปัญหาเต็มไปหมดแล้ว หรือไม่ก็วิธีการเจ้าหน้าที่ไปรับปากกับชาวบ้านว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านแล้วจะทำอะไรให้บ้าง นี่ก็ถือว่าเป็นความผิดและทุจริต

“ทราบกันดีว่าเวลานี้แต่ละจังหวัดมีการกดดันกัน ถ้าไปถามผู้ว่าราชการจังหวัดก็ต้องบอกว่าชนะกันหมดอยู่แล้ว ความกดดันเหล่านี้ไล่เรียงลงไปยันประชาชน แต่เรามีนโยบายบอกประชาชนเราว่าอย่าไปเครียด อย่าไปปะทะ เรามีหน้าที่เปิด เขามีหน้าที่ปิดก็ว่ากันไป การที่ประชามติจะผ่านหรือไม่ผ่านเวลานี้เป็นการเดิมพันด้วยตำแหน่งหน้าที่ ข้าราชการจะบอกว่าชนะทุกคน เพราะถ้าบอกว่าแพ้จะไปตั้งแต่วันนี้ แต่ถ้าบอกว่าชนะ คือยืดเวลาไป คือหลัง 7 ส.ค. ถ้าการลงประชามติไม่มีความกดดัน หรือไม่คิดจะทุจริตการโกง จะไม่ออกอาการวิตก จะไม่เครียด หรือเดือดร้อนกับศูนย์ปราบโกงมากถึงขนาดนี้”

ทั้งนี้ ให้รอดูหลังจากวันที่ 19 มิ.ย.ไป เรื่องราวจะมีมากขึ้น อย่างน้อยๆ จะเห็นกำลังตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง จะไปตามศูนย์ปราบโกงจุดต่างๆ ทั่วประเทศทุกจังหวัด 76 แห่ง รวมอีก 1 ศูนย์กลางกรุงเทพฯ จะเจอเจ้าหน้าที่ไปยังศูนย์ต่างๆ แต่ไม่รู้จะทำอะไร ทำได้ก็แค่ดึงป้ายลงมา แล้วเจรจากัน เพราะไม่รู้ว่าจะผิดกฎหมายเรื่องอะไร มันไม่ใช่เรื่องชุมนุมการเมืองเกิน 5 คน เพราะศูนย์ปราบโกงเราประกาศภารกิจชัดเจนคือ จับโกง กับเชิญชวนคนมาใช้สิทธิ จึงไม่เข้าข่ายคนมาชุมนุม

“หลักหนึ่งทางผู้มีอำนาจและฝ่ายทหารไม่รู้จักประชาชนคือ ยิ่งใช้อำนาจรัฐมากเท่าไร จะยิ่งได้รับการต่อต้านจากประชาชนมากเท่านั้น การต่อต้านของประชาชนไม่จำเป็นต้องแสดงอาการไม่พอใจ แต่รอเช็กบิลวันเดียวคือวันที่ 7 ส.ค. ถ้าเดินไปถึง ผมเชื่อว่า ยิ่งใช้อำนาจรัฐแบบลุแก่อำนาจแบบนี้ คสช.จะแพ้ยิ่งกว่าประเทศพม่า ที่พรรคทหารแพ้พรรคอองซานซูจี”จตุพร กล่าวถึงผลลัพธ์ของการใช้อำนาจ

สำหรับคำถามที่สังคมสงสัยว่า นำเงินมาจากไหน หรือได้รับท่อน้ำเลี้ยงจากใคร จาก ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือไม่ ว่า พวกเราเป็นกุ้งฝอย ความจริงต้องโทษปลากะพง เพราะภายในศูนย์ปราบโกงที่ กทม. ก็เพียงแค่คอมพิวเตอร์ 4 เครื่อง โทรศัพท์มือถืออีก 10 เครื่อง และเก้าอี้ประมาณ 100 ตัวเท่านั้น ส่วนศูนย์ต่างจังหวัดก็จัดตั้งที่บ้านพักของประชาชนในพื้นที่เล็กๆ ไม่จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากมายอะไร เงินกองทุนของแต่ละจังหวัดที่ได้จากการเดินสายจัดโต๊ะจีน หรือการทำกิจกรรมต่างๆ ก็พอมีอยู่แล้ว ส่วนทักษิณเวลานี้ก็พยายามนิ่งๆ เงียบๆ ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไร

"ประชามติต้องไม่ล้ม ไม่โกง ไม่อายพม่า" จตุพร พรหมพันธุ์

ถ้าประชามติผ่านบ้านเมืองไม่สงบสุข

ประธาน นปช. ยังได้วิเคราะห์ทิศทางอนาคตผล “ประชามติ” จะผ่านหรือไม่ผ่านไม่นั้น ว่า โพลที่บอก คสช.ได้รับความนิยม 99.5% เป็นโพลที่หลอกตัวเอง ช่วงที่ผ่านมาตลอด 2 ปี คนที่ไม่พอใจกับระบบเผด็จการมากที่สุด คือ คนชนชั้นกลาง ที่ต่างเห็นปัญหาความขัดแย้งมานาน และจากที่ได้ไปสัมผัสแต่ละพื้นที่ จากคนที่ไม่เคยมีการคุยกัน เขาเริ่มมาคุยกันแล้ว

“ฉะนั้น การลงประชามติครั้งนี้ นักการเมืองแทบจะไม่มีใครเสนอออกเสียงว่าควรให้รับไปก่อนและค่อยมาแก้ไขทีหลัง มีเพียงเฉพาะเสียงของสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. เท่านั้น เชื่อว่าแม้แต่คนที่เคยร่วมกับสุเทพ ส่วนใหญ่ก็ไม่มีวันที่จะเดินตามหลังแล้ว โดยขอให้ไปวัดกันในวันที่ 7 ส.ค. วันลงประชามติ”

ทั้งนี้ คสช.ไม่เข้าใจปฏิบัติการข่าวสารด้านจิตวิทยา ที่สามารถใช้ได้เพียงช่วงเวลาสั้นๆ การปฏิบัติมาถึง 2 ปี ทุกคนจับได้ไล่ทันหมดแล้ว เพราะฉะนั้นคนจึงหมดความเชื่อไปเยอะ แม้คนที่ไม่พอใจในฝั่ง นปช. แต่ตอนนี้ทุกคนเห็นว่าภัยของเผด็จการนั้นมันร้ายแรงกว่า

“โพลของผม คือ 1.ถ้าประชามติผ่าน บ้านเมืองจะไม่สงบสุข จะเริ่มปัญหาใหม่ วิกฤตใหญ่กว่าเดิม เพราะฉะนั้นจึงเป็นโพลจอมปลอม และเชื่อว่าผู้มีอำนาจรู้ด้วยว่าถ้าชนะต้องแสดงความเหนือกว่า หน้าตาสดใส ไม่ใช่หน้าหงิกงอ เหมือนแบงก์ยี่สิบถูกพับใส่กระเป๋ากางเกงยีนส์”

จตุพรแสดงความมั่นใจว่า ประชามติจะไม่ผ่านและผลคะแนนยังจะแพ้ขาดชนิดที่แทบคาดไม่ถึง เพราะขณะนี้ คสช. ไม่เข้าใจว่าประชาชนลำบาก และไม่ทราบอนาคตว่าหลังจากนี้จะมีอะไรดีขึ้น แต่ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติแล้วต้องร่างใหม่ และเชื่อว่าจะเขียนแบบเดิมไม่ได้ ต้องเขียนใหม่ใช้คนละสูตรกับร่างนี้ แต่ไม่ว่ายังไง ประชามติจะผ่านหรือไม่ผ่านรัฐบาลต้องอยู่ตามเวลาที่ประกาศไว้ คือเลือกตั้งปี 2560 แต่การไม่ผ่านจะเป็นการแสดงว่ารัฐทำอะไรได้ อะไรไม่ได้ และอำนาจการต่อรองของรัฐ คสช. จะไม่มีเท่าเดิม

จตุพรยังได้พูดฝากไปถึงนักการเมืองที่อยากจะลงเลือกตั้งว่าจะคิดเลือกตั้งไปเพื่ออะไร เพราะรู้อยู่ไม่สามารถปกครองได้ การเลือกนายกรัฐมนตรี โอกาสก็เป็นคนในจนแทบจะปิดประตู หรือแม้จะไม่มีคำถามพ่วงก็ยังคงสามารถเดินไปถึงจุดที่มีนายกรัฐมนตรีคนนอกอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการเลือกตั้งจึงไม่มีความหมาย

“วันนี้ถ้านักการเมืองคิดเพียงแค่เห็นการเลือกตั้งเป็นใหญ่ บ้านเมืองจะกลับไปที่จุดวิกฤตเดิม ซึ่งถ้าเลือกตั้งเสร็จมันจะไม่ได้รัฐบาลใหม่ แต่จะได้การสืบทอดอำนาจของ คสช. และรัฐธรรมนูญฉบับที่เขียนโดย  มีชัย ฤชุพันธุ์ และผู้ที่อยู่ในอำนาจได้คือ คสช.เท่านั้น เพราะหากเทียบเสียงเข้าก็มี 250 เสียงในสภา ซึ่งเสมือนพรรคการเมืองต้องวิ่ง 750 เมตร แต่ คสช.วิ่งเพียงแค่ 500 เมตร มันเอาเปรียบกันถึงขนาดนี้ เพราะฉะนั้น มันจะเป็นการไปเพิ่มวิกฤตและการเลือกตั้งชนะ เพื่อรอวันพ่ายแพ้เท่านั้นเอง“ จตุพร กล่าว

ขณะเดียวกัน การรีบเลือกตั้งโดยที่ไม่สนใจกติกาเท่ากับพาประเทศไปประสบความหายนะ นักการเมืองไม่ควรทำตัวเป็นนักเลือกตั้ง มิฉะนั้นบ้านเมืองก็จะอยู่ที่จุดเดิม ถามเป็นรัฐบาลแล้วแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้หรือไม่ คำตอบคือไม่ได้ เพราะอำนาจก็จะอยู่ที่ คสช.เหมือนเดิม มิฉะนั้นรัฐบาลก็คงไม่กล้าคิดเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีข้างหน้า

สำหรับพรรคเพื่อไทยควรมีบทเรียนมากที่สุด เพราะปัญหาใหญ่ของพรรคเพื่อไทยไม่ใช่เรื่องชัยชนะ เพราะชนะแล้วปกครองไม่ได้ ถูกดำเนินคดีโดยองค์กรอิสระและถูกยึดอำนาจอีก ไม่สามารถรักษาชัยชนะที่ประชาชนมอบให้ไว้ได้ ฉะนั้น พรรคเพื่อไทยควรมองข้ามเรื่องการเลือกตั้งไปได้แล้ว จะชนะไปทำไม ทำไมไม่สร้างกฎกติกา ประชาธิปไตยที่ถูกต้อง เพื่อนำมาปกครองประเทศ แก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ต้องอดเปรี้ยวไว้กินหวาน อย่าทำตัวเป็นนักเลือกตั้งกระจอก

ประธาน นปช. ยังได้ระบุถึงเส้นทางประชาธิปไตยประเทศไทยในอนาคตว่า ถ้า คสช.ยังดื้อที่จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่มีปัญหาเช่นนี้ มองว่าต่อไป คสช.จะได้รับการต่อต้านแน่ คสช. ไม่จำเป็นต้องคิดเลยว่าถ้าไม่ผ่านแล้วจะทำอย่างไร เพราะวันนั้นประชาชนคิดแทนแล้วเสียงของประชาชนในวันที่ 7 ส.ค. จะเป็นเครื่องส่งสัญญาณ คือ ประชามติไม่ผ่าน คสช.ยังอยู่ ก็จะเป็นการอยู่ที่ไม่เหมือนเดิม อยู่แบบไม่มีอำนาจกับประชาชน หรือใช้อำนาจอย่างที่เคยใช้ได้

“ตอนนี้พวกผมกำลังพยายามคิดถึงวันที่ 7 ส.ค. จะเดินไปไม่ถึงเหมือนอย่างร่างรัฐธรรมนูญฉบับของบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่ตอนท้ายมีเรื่องของคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ทาง คสช.ก็ยังไม่กล้าให้ผ่าน ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญครั้งนั้นยังเบากว่าร่างฉบับของมีชัยเสียอีก เพราะสภาพบ้านเมืองปัจจุบันช้ำกว่าเดิมมาก คสช.ก็รู้ดี ดังนั้นอาจมีการยกเลิกการทำประชามติ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วง ซึ่งปัจจัยที่มาจะทำให้วันที่ 7 ส.ค.ไม่ผ่าน คือ 1.ใช้อำนาจมาตรา 44 ของ พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยเหตุผลว่าบ้านเมืองมีการขัดแย้งกัน คนไทยจะตีกัน และถ้าหากทำประชามติต่อไปคนไทยอาจจะฆ่ากัน และ 2.การใช้เส้นทางศาลรัฐธรรมนูญยกเลิก”