posttoday

ร่าง รธน.ฉบับมีชัย ประเทศถอยหลังสู่อำนาจนิยม

14 กุมภาพันธ์ 2559

"อาจารย์มีชัยท่านคงเอาชีวิตสมัย 40 ปีก่อนของท่านมาใส่ในนี้ ทั้งที่สังคมนี้มันไม่ใช่สมัยนั้น ควรจะให้ประชาชนเป็นประธานมากขึ้น ที่สำคัญรัฐสมัยนี้พึ่งไม่ได้ ประชาชนควรลุกขึ้นและดูแลประโยชน์ตัวเองได้ แบบนี้จะช่วยให้การทุจริตลดลงได้ ไม่ใช่มีอะไรก็ไปให้ ป.ป.ช."

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

นับตั้งแต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มี “มีชัย ฤชุพันธุ์” เป็นประธาน ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีเสียงท้วงติงออกมารุนแรงมากพอสมควร โดยนอกเหนือไปจากเรื่องโครงสร้างของสถาบันการเมืองแล้ว ไม่น่าเชื่อว่าบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชนในร่างรัฐธรรมนูญเวอร์ชั่น กรธ.จะถูกวิจารณ์หนักหน่วงไม่แพ้กัน ถึงขั้นมีการระบุว่าพาประเทศถอยหลังกลับไปก่อนมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540

แก้วสรร อติโพธิ ซึ่งเคยผ่านตำแหน่งสำคัญในทางการเมืองอย่างโชกโชนอย่างสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) พ.ศ. 2540 สว.กทม. และเลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ก็เป็นอีกคนที่แสดงความผิดหวังกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านพื้นที่ของโพสต์ทูเดย์

โดยมองว่า กรธ.เขียนร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่พยายามแก้ไขปัญหาที่เป็นปัญหา แต่กลับไปดำเนินการเปลี่ยนแปลงในทางที่ไม่ดีในสิ่งที่ไม่ได้เป็นปัญหา เหมือนกับการเขียนร่างรัฐธรรมนูญด้วยความมือบอน พร้อมกับไม่ขอรับร่างรัฐธรรมนูญ จนกว่าจะมีการแก้ไขเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญหลายประเด็น

อาจารย์แก้วสรร เกริ่นว่า “การร่างรัฐธรรมนูญจะต้องไม่เป็นการแต่งขึ้นมาใหม่ตามจินตนาการของตัวเอง ต้องเอาปัญหาที่เกิดขึ้นมาตั้งและมาวางว่าจะแก้ไขอย่างไร ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ได้กำหนดมาแล้ว ผมก็ตั้งความหวังว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญจะยึดตามแนวทางนี้ อะไรที่มันไม่ได้เป็นปัญหา ไม่ได้เป็นต้นเหตุก็อย่าไปมือบอน หรืออย่าไปแต่งใหม่ด้วยความคันไม้คันมือ ก็หวังว่าจะเป็นอย่างนั้น”

“ผมมองร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ข้อแรกคือ ใช้คำว่ามือบอนก็แล้วกัน คือเรื่องที่มันไม่ใช่ปัญหา คุณจะไปยุ่งกับมันทำไม สำคัญที่สุดคือเรื่องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของปวงชนชาวไทย ตรงนี้มันไม่ได้เป็นปัญหาเลย ปัญหา 10 ปีที่่ผ่านมาจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ 2550 เป็นเรื่องของอำนาจมันเฟ้อ มันไม่ใช่สิทธิมันเฟ้อ แล้วคุณจะไปยุ่งกับมันทำไม ผมไม่เข้าใจ”

กรธ.พยายามอธิบายเป็นการเขียนให้กะทัดรัดมากขึ้น แต่เนื้อความก็ยังครอบคลุมไว้ทั้งหมด? อาจารย์แก้วสรร ตอบสวนขึ้นมาทันทีว่า “ไม่จริง ตอนผมร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 กับเพื่อนที่เป็น ส.ส.ร. สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานก่อนหน้านั้นมันมีเฉพาะสิทธิมนุษยชน สิทธิในเนื้อตัว ร่างกาย การเดินทาง การนับถือศาสนา ความเป็นส่วนบุคคล อะไรก็ว่าไป แต่สิ่งที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ 2550 เพิ่มขึ้นมา คือ โลกปัจจุบันการดำรงอยู่ซึ่งความเป็นมนุษย์มันไม่ใช่แค่เรื่องสิทธิมนุษยชนและเรื่องทางการเมือง มันมีเรื่องสิทธิทางสังคมด้วย มีการศึกษา การสาธารณสุข ทั่วถึงอย่างมีคุณภาพ รวมไปถึงสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร สิทธิชุมชน สิ่งที่เห็นอีกคือสิทธิในความโปร่งใสของระบบราชการ ที่ต้องมีการทำประชาพิจารณ์ ต้องรับฟังความคิดเห็นและให้เหตุผล”

“เรื่องเหล่านี้ไม่ควรเป็นเรื่องแนวนโยบายแห่งรัฐ แต่ควรเขียนให้เป็นสิทธิเลย ปรากฏว่าร่างรัฐธรรมนูญของคุณมีชัยได้เอาเรื่องเหล่านี้ออกจากหมวดสิทธิเสรีภาพหมดเลย เอาไปอยู่หมวดใหม่ที่เรียกว่าหน้าที่ของรัฐ เดิมทีรัฐธรรมนูญจะมีหมวดสิทธิเสรีภาพและไปที่แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ โดยเรื่องแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ จะเป็นแค่แนวทางที่รัฐพึงปฏิบัติโดยไม่ก่อให้เกิดสิทธิฟ้องร้อง แต่พอสร้างหมวดหน้าที่ของรัฐขึ้นมา ก็มีคำถามว่าเมื่อเป็นหน้าที่ของรัฐขึ้นมาแล้วหมายความว่าอย่างไร มันเป็นสิทธิหรือเปล่า

“ถ้าเป็นรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ  2550 เขาบอกให้มีสิทธิในสิ่งแวดล้อม ดังนั้น สมมติถ้าหน่วยงานของรัฐไม่ปิดเหมืองแร่ที่ปล่อยน้ำเสียใส่ที่นาของชาวบ้าน รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 บอกให้เป็นสิทธิที่ประชาชนสามารถฟ้องบังคับให้กรมทรัพยากรธรณีสั่งปิดเหมืองนี้ แต่พอคุณยกไปเป็นหมวดหน้าที่ของรัฐก็มีคำถามว่าจะฟ้องได้หรือไม่ คำตอบคือไม่ได้”

“คุณมีชัยบอกว่าถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ทำก็ถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ถูกฟ้องร้องให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งหรือไปร้อง ป.ป.ช. คำตอบของผมคือ ไม่ต้องให้ใครติดคุกหรือปลดใครออกจากตำแหน่ง มันเป็นเรื่องของพวกคุณ แต่ผมต้องการให้น้ำสะอาดและคุณมีหน้าที่ ผมต้องการบังคับตามสิทธิของผม ไอ้ความเป็นสิทธิที่จะบังคับโดยเจาะจงมันหายไป ตัวนี้ผมเห็นว่าคุณมีชัยยังอธิบายไม่ได้”

“การเอาสิทธิหลายตัวไปอยู่ในหมวดหน้าที่ของรัฐเสียหมด ผมอธิบายว่ามันเหมือนกับเราเคยเอาแกะหลายตัวและเอารั้วมาล้อมเพื่อคุ้มครองไม่ให้หมาป่าเข้ามา แต่กลับเอาแกะหลายตัวออกจากรั้วนี้ มันเป็นการถอยกลับไป”

อาจารย์แก้วสรร มองอีกว่า “ที่สำคัญการเอาแกะออกไปจากรั้ว ปัญหาที่มีต่อไปอีกว่ารั้วที่มีอยู่และมั่นคงอยู่แล้วที่เรียกว่าหลักประกัน คุณก็ทำให้มันอ่อนแอลงไปอีก เดิมทีสมัยผมเรียนหนังสืออยู่ สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญจะลอยอยู่สูงๆ คอยควบคุมไม่ให้สภาตรากฎหมายขัดกับรัฐธรรมนูญแค่นั้น แต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ 2550 เราให้สิทธิเสรีภาพทั้งหมดผูกพันทุกหน่วยงานของรัฐ ตั้งแต่โรงพักยันไปถึงรัฐสภาและรัฐบาล ควบคุมทุกกิจกรรมทั้งการตีความ การใช้ และการตรากฎหมาย พร้อมกับให้สิทธิตามรัฐธรรมนูญไปฟ้องศาลได้”

“แต่มาตอนนี้ความผูกพันเหล่านี้หายไปหมด เพียงแต่เขียนว่าถ้าไปเจออะไรที่ขัดกับรัฐธรรมนูญก็ไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ มันเป็นการทำให้สิทธิพิการและที่น่าห่วงคือ ปกติการใช้สิทธิเสรีภาพขึ้นพื้นฐานจะต้องไม่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐธรรมนูญ แต่ปรากฏว่ามีการเอาออกและไปเติมมาใหม่ว่าจะต้องไม่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ และความสงบไอ้ตรงนี้แหมมันเป็นสิทธิที่มีต่อรัฐ คุณใช้มันเมื่อไหร่มันกระทบรัฐแน่นอน ตรงนี้ทำให้สิทธิมันพิการมากเข้าไปอีก”

“ผมไม่เข้าใจว่าความก้าวหน้าที่เขาทำกันมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ 2550 เดินมาตลอด ซึ่งไม่ใช่ปัญหาของบ้านเมือง และทำให้คนมีสิทธิเกินกว่ารั้วบ้านเนี่ย คุณเอามันออกทำไม ทำไมคุณดึงประเทศกลับมาสู่ยุคระบบของอำนาจนิยมโดยระบบราชการ ให้ประชาชนมีสิทธิเฉพาะในรั้วบ้าน ผมไม่เห็นด้วยอย่างแรง และผมไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เลย ถ้าอันนี้ยังอยู่”

“เรื่องสิทธิเสรีภาพไม่ใช่เรื่อง รายละเอียดนะ มันเป็นเรื่องของวิธีคิดเลยนะ มันเป็นการดึงวิธีของผู้คนกลับมาว่าต่อไปนี้คุณจะมีสิทธิเฉพาะอยู่ในบ้านและเนื้อตัวของคุณ แทนที่ประชาชนจะเป็นมนุษย์ที่เป็นประธานที่ยอมเสียสิทธิเท่าที่จำเป็นและเอาประโยชน์ส่วนรวมไปให้ดูแล ตัวนี้มันหายไป ถ้าพูดในแง่หลักวิชาการเท่ากับว่าสัญญาประชาคมที่มีกับเราว่าเรามีรัฐเพื่ออะไรมันหายไปเลย มันหมายความว่าเขาจะทำอะไรก็ได้ ซึ่งโลกสมัยนี้คนไม่ได้มีสิทธิแค่ในรั้วบ้าน”

แสดงว่าเรื่องสิทธิและเสรีภาพในร่างรัฐธรรมนูญยังน้อยไปในความคิดของอาจารย์? อดีต ส.ส.ร. ตอบว่า “ไม่ใช่น้อยไป มันเป็นเรื่องวิธีคิดเลย มันไม่ใช่แขนสั้น หรือเดินกะเผลกไป มันจากคนกลายเป็นหมาเลยสำหรับผมนะ ดังนั้น ผมไม่รับ ผมไม่เข้าใจด้วย มันไม่ใช่ปัญหาของบ้านเมืองและใช้มาเป็น 10 ปี และคนก็เริ่มเคยชิน เริ่มเป็นผู้ใหญ่ทางการเมืองขึ้นมาแล้ว”

ในเมื่ออาจารย์ก็มองออกและคิดว่า กรธ.ก็น่าจะมองออกเช่นกัน แต่ทำไม กรธ.ถึงยังดำเนินการในลักษณะนี้? อาจารย์แก้วสรรคิดว่า “อาจารย์มีชัยท่านคงเอาชีวิตสมัย 40 ปีก่อนของท่านมาใส่ในนี้ ทั้งที่สังคมนี้มันไม่ใช่สมัยนั้น ควรจะให้ประชาชนเป็นประธานมากขึ้น ที่สำคัญรัฐสมัยนี้พึ่งไม่ได้ ประชาชนควรลุกขึ้นและดูแลประโยชน์ตัวเองได้ แบบนี้จะช่วยให้การทุจริตลดลงได้ ไม่ใช่มีอะไรก็ไปให้ ป.ป.ช. ผมไม่เชื่อเปาบุ้นจิ้น”

ร่าง รธน.ฉบับมีชัย ประเทศถอยหลังสู่อำนาจนิยม

แก้การเมืองไม่ตรงจุด เสียสมดุล-สร้างปัญหา

ในมุมมองของอาจารย์แก้วสรร นอกเหนือไปจากเรื่องสิทธิและเสรีภาพในร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ.ที่เป็นปัญหาแล้ว ยังมีบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับโครงสร้างทางการเมืองเช่น พรรคการเมือง การเลือกตั้ง สส. การได้มา ซึ่ง สว. และที่มาของนายกรัฐมนตรี เป็นต้น ซึ่งกรธ.กำลังดำเนินการปรับปรุงไม่ถูกจุด เพราะไม่ได้มีการนำปัญหามาตั้งเป็นโจทย์ที่นำไปสู่การหาคำตอบและลงมือแก้ไขปัญหา

“ปัญหาเสรีภาพในพรรคการเมืองมีหรือไม่ทุกวันนี้กลายเป็นการสวามิภักดิ์กันหมดเพราะกลัวเจ๊ไม่เลือก ทำไมเข้าพรรคการเมืองแล้วกลายเป็นควายวะ กระบวนการเลือกผู้สมัคร สส.จะต้องทำให้สมาชิกหรือพื้นที่มีส่วนร่วมมากขึ้นกฎหมายพรรคการเมืองเดิมบอกให้สาขาพรรคการเมืองเสนอชื่อผู้สมัครขึ้นมาหรือไม่ก็ได้ ปรากฏว่าไม่มีใครทำ คิดว่าในร่างรัฐธรรมนูญควรทำให้ชัด

“เสรีภาพในสภาเนี่ย สิทธิเสรีภาพของเสียงข้างน้อยอยู่ตรงไหน ซึ่งตรงนี้คุณก็ไม่ทำ คุณจะต้องไปทำ หรืออย่างเรื่องคณะกรรมาธิการที่สำคัญในสภาอย่างคณะกรรมาธิการปราบการทุจริตและงบประมาณต้องระบุลงไปว่าให้ฝ่ายค้านและรัฐบาลมีเท่าๆ กัน ดังนั้นกลไกอะไรที่นักการเมืองเขาตรวจทานกันได้ ก็ควรสร้างมันขึ้นมา ไม่ใช่ไปให้เปาบุ้นจิ้นอย่างเดียว คุณทิ้งการเมืองและไปพึ่งเปาบุ้นจิ้นหมด มันไม่สำเร็จหรอก คุณต้องสร้างระบบการตรวจสอบขึ้นมาในนี้ ลองดูสิแบบนี้พรรคเพื่อไทยจะกล้าบอกว่าไม่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่”

อาจารย์แก้วสรร วิพากษ์ระบบการเลือกตั้งสส.ที่ กรธ.ออกแบบว่า “ผมก็ยังไม่เข้าใจ เขาเคยมีบัตรเลือกตั้งอยู่ 2 ใบ ใบหนึ่งเลือกพรรค อีกใบเลือกคน พอมาเหลือใบเดียวแบบนี้ก็ถือว่าเป็นการเลือกพรรค พรรคก็ได้โควตาตามใบเลือกตั้งนี้ มันทำให้ต้นตอของพรรคการเมืองกลายเป็นการลงทุนและบ้าอำนาจขึ้นมา สามารถเอาเงินลงทุนเป็นพันล้านบาท สร้างสินค้าประชานิยมขึ้นมาและเปิดเป็นร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศคุณเสียงดีใช่ไหม คุณเอาเสื้อสีนี้ไปใส่ เอาสินค้านี้ไปขาย”

“บรรดาคนในพื้นที่ที่เป็นที่พึ่งพาอยู่ก็เหมือนตึกแถวที่มีทำเล ก็ถูกเปลี่ยนจากร้านโชห่วยมาเป็นร้านสะดวกซื้อและอยู่ใต้อิทธิพลของร้านสะดวกซื้อ ในทำนองเดียวกัน สส.เขตที่ลงสมัครเป็นผู้มีเสียงและบารมีพอสมควรก็ถูกจับเข้าพรรคพ่อค้า พรรคลงทุนหมด คุณสร้างระบบเลือกตั้ง คุณทำให้พรรคการเมืองใหญ่ขึ้นไปและถูกอิ๊บไปอีกว่าเสียงที่เลือกเป็นเสียงที่เลือกพรรคการเมือง ผมยังไม่เห็นคำอธิบายว่าระบบการเลือกตั้งแบบนี้จะทำลายเสรีภาพในพรรคการเมืองหรือไม่”

“คุณต้องออกแบบให้เกิดความสมดุลเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นการออกแบบให้สมดุลพรรคการเมืองมีความจำเป็นจริง แต่ถึงขนาดที่ สส.ในพรรคกลายเป็นควายในคอกแบบนี้ไม่สมดุลแล้ว จุดสมดุลอยู่ตรงไหนที่เขาจะพอมีเสรีภาพในการท้วงติงอะไรได้บ้าง”

ต่อด้วยเรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรีที่ กรธ.ให้เป็นหรือไม่เป็น สส.ก็ได้ แต่ต้องเป็นบุคคลที่อยู่ในบัญชีรายชื่อจำนวน 3 คนที่พรรคการเมืองเสนอชื่อก่อนการเลือกตั้ง โดยอาจารย์แก้วสรรติงว่า ทำไมต้องมีการประกาศชื่อก่อนโดยจะเป็นหรือไม่เป็น สส.ก็ได้ อยากถามที่ผ่านมาการเลือกนายกฯ ปัญหาอยู่ตรงไหน

“อะไรที่เป็นปัญหาก็ไม่ควรไปยุ่ง ที่มานายกฯ ก็อยู่ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และพ.ศ. 2550 แบบเดียวกันมาตลอด ไม่เคยก่อปัญหาอะไร ด้วยสภาพของมันก็ควรให้นายกฯมาจากการเลือกตั้งอยู่แล้ว วิกฤตเรื่องนายกฯที่ผ่านมาไม่ได้อยู่ที่การรัฐธรรมนูญห้ามไม่ให้มีนายกฯ คนนอก เพราะปัญหาอยู่ที่ตัวบุคคลมากกว่า”

ที่สำคัญในฐานะอดีต สว.กทม.ก็มองถึงการได้มาซึ่ง สว.ในรูปแบบที่ กรธ.กำหนดว่า “ไม่เห็นด้วยกับการให้ สว.มาจากการสรรหา ระบบนี้โอเคถ้าใช้กับการสรรหาศาลรัฐธรรมนูญหรือ ป.ป.ช.จะมาสรรหาบุคคลเป็นร้อยสองร้อยไม่ได้ บอกตรงๆ ตั้งแต่ปี 2550 มา มีพวกรอการสรรหาเยอะมาก หน้าเก่าเยอะแยะ เคยชินไม่ยอมไปไหนแล้วไม่เอา ต้องเอาออกไป จะมาแบบนี้ไม่ได้”

“ส่วนจะให้มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมก็ต้องแบ่งให้ชัดลงไปว่า ถ้าเป็นชาวนาก็ให้กลุ่มชาวนาเลือกกันเอง ไหนบอกมีอำนาจแค่ให้ตรวจกฎหมายและอภิปรายนโยบายทั่วไป ก็แค่นั้นเอง ปัญหาของเราเป็นเรื่องระบบผู้แทนว่าแทนอะไรไม่ครบบ้าง แทนความเห็นของเกษตรกร แทนปัญหาท้องถิ่นไม่ได้ แทนปัญหาข้าราชการไม่ได้ แทนปัญหาพ่อค้าไม่ได้ แบบนี้ก็ให้คนในกลุ่มเดียวกันเลือกกันเข้ามาสิ ถ้าจะให้ดีก็ไม่ควรมีเงินเดือนก็ได้ ให้เฉพาะเบี้ยเลี้ยงเวลามาประชุมพอ ให้หายบ้าไปเลย เราต้องการฟังเสียงที่ระบบผู้แทนมันหายไป”แก้วสรรทิ้งท้าย

ร่าง รธน.ฉบับมีชัย ประเทศถอยหลังสู่อำนาจนิยม

ประชามติ ไม่ผ่าน เผชิญวิกฤต 14 ตุลา

หลังจากมองไปที่เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญแล้ว อาจารย์แก้วสรร อติโพธิ เล็งเห็นว่าหากร่างรัฐธรรมนูญยังเป็นไปในลักษณะนี้ และไม่ได้มีการแก้ไขไปในทิศทางที่ดีขึ้นจนนำไปสู่การยอมรับ อาจส่งผลให้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ผ่านประชามตินั้นจะนำมาซึ่งปัญหาทางการเมืองอีกมากให้กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

“ถ้าร่างรัฐธรรมนูญแล้วประชามติไม่ผ่านมาจะเกิดปัญหาแน่นอน จะมาคิดว่าร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือหยิบอะไรมาใช้ได้ง่ายๆ ไม่ใช่นะ” แก้วสรร เริ่มต้นการวิเคราะห์

“ถ้าไม่ผ่านประชามติขึ้นมา คสช.เท้าลอยเลย ทุกวันนี้คุณก็ไม่เอาพลังประชาชนมาร่วมในการปฏิรูปประเทศ และไม่ได้รับการสื่อสารให้เห็นว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญจะไปทางนี้เอาหรือไม่ คุณไม่มีอะไรหนุนอยู่เลย แต่พอคุณแพ้ในการประชามติร่างรัฐธรรมนูญ คุณจะอยู่ต่อเหรอ ในภาวะอย่างนั้นพวกป่วนเมืองดันไม่เท่าไหรก็เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา ได้ง่ายๆ เพราะเศรษฐกิจผมก็ยังไม่เห็นแววว่าจะแก้ไขได้ อัดเงินเข้าไปมันไม่หมุนนะเดี๋ยวนี้ คนเก็บหมด ไม่เอามาใช้หนี้ ไม่เอามาใช้จ่าย ไม่รู้ว่าจะลงทุนอะไร หมุนเท่าไหร่มันก็ไม่ไปหรอก

“ความน่าเชื่อถือคุณก็เจ๊งอีก ตอนนี้ถ้าพูดอย่างหวังดี คือ รู้เถอะว่าตัวเองทำอะไรไม่ได้อีกแล้ว เวลาที่เหมาะเจาะมันผ่านไปหมดแล้ว ตอนนี้มีแต่เพียงว่าอย่าให้เศรษฐกิจสะเทือนและสมูทแลนดิ้ง (Smooth landing : ทำให้ราบรื่น) ให้ได้”

สมูทแลนดิ้ง คือ ต้องไปเลือกตั้ง? อาจารย์แก้วสรร ตอบว่า “ต้องไปเลือกตั้ง ร่างรัฐธรรมนูญต้องทำให้ผ่านโดยอะไรที่ไม่ใช่ปัญหาให้เอากลับไปที่เดิมให้หมด และแก้ไขเฉพาะที่เป็นปัญหาเท่านั้น พร้อมกับอธิบายกับสังคมถึงความจำเป็น แบบนี้ยังมีสิทธิผ่านประชามติ

“เวลาที่เหลือก็เอาไปออกกฎหมายที่ควรจะออก โดยเฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างและการกำหนดราคากลางที่เป็นมาตรฐาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น หรือการทำกฎหมายหลักทรัพย์ที่ให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของไทยมีอำนาจเข้าไปตรวจสอบหุ้นในตลาดไทยที่ดูแลโดยต่างประเทศ เพื่อให้รู้ว่าใครเป็นเจ้าของหุ้น ต้องกำหนดลงไปในสัญญาระหว่างเจ้าของหุ้นและผู้ดูแลว่าถ้า ก.ล.ต.
ไทยเรียกตรวจสอบจะให้ความร่วมมือกับหน่วยงานของไทย โลกอื่นเขาทำกันหมดแล้ว การแก้ไขปัญหาแบบนี้ทำไมไม่ตั้งขึ้นมาแล้วดำเนินการแก้ไขปัญหา”

อาจารย์แก้วสรร ขยายถึงการแก้ไขปัญหาการทุจริตให้ได้ผลว่า “การป้องกันการทุจริต ไม่ใช่ทำแต่การปราบปราม มันต้องทำตั้งแต่ต้น ถ้าเราไปเทอยู่แต่การปราบปราม ป.ป.ช.ก็ไปไม่ไหว งานเยอะ คดีมาก แต่ทำไมเราไม่ป้องกันตั้งแต่ต้น เช่น ถ้าอยากแก้ปัญหาที่เอางบประมาณแผ่นดินไปทำเป็นงบประมาณของ สส. ก็ควรคุมตรงการออกงบประมาณ จะไปถอดถอนทำไม คุณปล่อยให้อำนาจมันเฟ้อทำอะไรก็ได้ แต่มาคุมตอนท้ายโดยมีเปาบุ้นจิ้น ทำไมไม่ไปคุมตั้งแต่ต้นไม่ให้อำนาจเฟ้อ”

มีพลังที่มากพอที่จะออกมาต่อต้าน คสช.หลังจากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ? อาจารย์แก้วสรร ประเมินว่า “ทุกวันเขาให้โอกาส คสช. คนจำนวนส่วนหนึ่งเลยนะเขาก็อดทนได้ แต่เมื่อไหร่ที่คุณพาประเทศไปไหนไม่ได้ แล้วก็นึกว่าคุณใหญ่ แต่จริงๆ ไม่ได้ใหญ่ ร่างรัฐธรรมนูญคุณเจ๊งไปแล้ว และถึงตรงนั้นเศรษฐกิจไม่ไหวจริงๆ ถ้าคุณเป็นฝ่ายตรงข้ามคุณจะทำอะไร ผมคิดเลยว่าพวกเขากำลังเตรียม 14 ตุลา”

จริงๆ ก็มีบางกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวอยู่แล้วหลายครั้ง แต่ไม่ได้มีผลเปลี่ยนแปลงอะไร? ได้รับคำตอบจากอาจารย์แก้วสรรว่า “ปัจจัยไม่เหมือนกัน สถานการณ์ไม่เหมือนกัน คนจะหาเรื่องมันมีอยู่แล้ว เขาถึงอ่อยให้คุณจับ คุณจับเขา ก่อหวอดตรงนั้นตรงนี้ วันหนึ่งประกาศกฎอัยการศึกเข้าไปจับ เละไหมล่ะ เขาอาจจะไล่ คสช.ไม่ได้ แต่ประเทศเละไปเลย เศรษฐกิจไม่เหลือ ผมไม่ได้ห่วง คสช.แต่ผมห่วงประเทศ คุณให้ไปถึงจุดนั้นเกิดปัญหาแน่

“ถ้าตอนนี้ผมเป็นที่ปรึกษาเขาและเขาถามผมนะ ผมจะบอกว่าให้สมูทแลนดิ้งดันร่างรัฐธรรมนูญให้ผ่านให้ได้ อะไรที่เป็นปัญหามากก็เอาออกให้หมด แก้ไขปัญหาเฉพาะที่เป็นปัญหาจริงๆ และอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ พูดถึงปัญหา พูดถึงการแก้ไข ไม่ใช่มาประกวดว่าผมแต่งรัฐธรรมนูญดีไหม ทุกวันนี้เขาเป็นนักแต่งรัฐธรรมนูญ ไม่ได้แก้ไขปัญหา อยากได้รางวัลกันหรืออย่างไร”

ร่าง รธน.ฉบับมีชัย ประเทศถอยหลังสู่อำนาจนิยม

ขณะนี้ถือว่า คสช.เสียของแล้ว? อาจารย์แก้วสรร ตอบทันทีว่า “เสียแล้ว เพราะเขามาจมกับอำนาจในฐานะรัฐบาล ส่วนอำนาจของ คสช.ที่ต้องใช้เพื่อการปฏิรูป ความมั่นคง และขุดความชั่วที่มันแทรกอยู่ ปรากฏว่ากลับไม่ได้ใช้ เพราะเอามาตรา 44 ไปใช้ไม่เหมาะ อย่างเช่น การแก้ระเบียบตำรวจ อันนั้นมันเรื่องรัฐบาล เป็นเรื่องราชการปกติ

“จริงๆ แล้วคุณไม่ควรลงมาเป็นรัฐบาลด้วยซ้ำไป คุณยืนเป็น คสช.และใช้อำนาจในการปฏิรูป ขุดรากที่ไม่ดีออกมา แต่พอคุณโดดลงมาเป็นรัฐบาล และคุณเพลินอยู่กับอำนาจตรงนี้ ทำให้เรื่องดังกล่าวมันไม่เดิน คุณมาตั้ง สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) และ สปท. (สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ) เพื่อปกปิดการไม่ทำหน้าที่ของคุณเท่านั้น เรื่องปฏิรูปกับการจัดปัญหาความชั่วร้ายในสังคม มันต้องใช้อำนาจ คสช.เท่านั้น จะมาใช้อำนาจ สปท.หรือ สนช.ไม่ได้”

“การปฏิรูปต้องมีการนำประชาชน มีความเข้าใจ มีการเดินตาม มีความต่อเนื่อง และต้องถึงรากถึงโคนถึงจะเรียกว่าการปฏิรูป มันไม่มีหรอกการปฏิรูปโดยสภาอะไรก็ไม่รู้ มันไม่มีในโลก คุณต้องปฏิรูปความคิดในสังคม” แก้วสรรสรุป