posttoday

รัฐธรรมนูญเวอร์ชั่น "มีชัย" ผูกเงื่อนวิกฤต ท่อต่อเผด็จการ

31 มกราคม 2559

"ถ้าร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่านจนบังคับใช้ จะเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นเผด็จการมากที่สุด และมีผลต่อเนื่องไปยาวนานที่สุด เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญนี้ผูกปมเอาไว้ว่าเมื่อใช้แล้วจะไม่สามารถจะแก้ไขได้เลย แต่ถ้าจะแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงมีทางเดียวคือ การฉีกรัฐธรรมนูญ"

โดย...เลอลักษณ์ จันทร์เทพ

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้แถลงรัฐธรรมนูญร่างแรกไปเรียบร้อยแล้ว และถูกวิพากษ์วิจารณ์ ตลอดจนมีการคัดค้านมากพอสมควรว่าไม่เป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะจากฝั่งนักการเมือง

"โพสต์ทูเดย์" สัมภาษณ์พิเศษ จาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย เพื่อเป็นการสะท้อนมุมมองและท่าทีต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์

จาตุรนต์ ระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นการวางระบบที่เชื่อมโยงกันเป็นระบบที่เอาอำนาจไปจากประชาชน ทำให้ประชาชนไม่มีอำนาจในการกำหนดการปกครอง การบริหารประเทศ ตามหลักการการปกครอง การบริหารประเทศ คือ 3 อำนาจอธิปไตย ประกอบด้วย บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังจะมีอำนาจที่ 4 ที่เป็นกึ่งๆ อำนาจอธิปไตย นั่นคือองค์กรอิสระที่อยู่ภายใต้การควบคุมกำกับขององค์กร ซึ่งบุคคลในองค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและไม่มีความเชื่อมโยงประชาชน

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จาตุรนต์ เห็นว่า นอกจากการวางระบบแล้ว ยังได้สร้างเงื่อนไขไว้เพื่อนำไปสู่การปกครองโดยมีรัฐบาลที่เปิดให้ "คนนอก" เป็นนายกรัฐมนตรีได้ สร้างเงื่อนไขให้เกิดแรงจูงใจและส่งเสริมให้เกิดวิกฤต เพื่อที่จะเกิดภาวะที่ศาลรัฐธรรมนูญสามารถวินิจฉัยตีความให้นำระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมาใช้และอาจจะใช้ได้นาน

การเชื่อมโยงระบบแบบนี้มันคือการรับรองระบบเผด็จการโดยรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้าร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่านจนบังคับใช้จะเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นเผด็จการมากที่สุด และมีผลต่อเนื่องไปยาวนานที่สุด เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญนี้ผูกปมเอาไว้ว่า เมื่อใช้แล้วจะไม่สามารถจะแก้ไขได้เลย ไม่มีใครแก้ไขได้

"แต่ถ้าจะแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงมีทางเดียวคือ การฉีกรัฐธรรมนูญ เท่ากับว่าเป็นการผลักดันให้ประเทศเกิดวิกฤต จะมีการแก้รัฐธรรมนูญด้วยวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และทำให้เกิดวิกฤตที่ร้ายแรงยิ่งขึ้นแบบต่อเนื่องและยาวนาน” แกนนำพรรคเพื่อไทยวิเคราะห์

จาตุรนต์ มองว่า เจตนารมณ์ของผู้มีอำนาจต่อร่างรัฐธรรมนูญว่า ทั้ง กรธ. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล ต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน และผ่านไปโดยจะไม่มีการแก้ไขในสาระสำคัญ

"สำหรับผมแล้วหากร่างนี้ไม่ผ่านจะมีผลดีกว่าผ่าน ผลเสียจะน้อยกว่า อาจจะเสียเวลาบ้าง แต่มันไม่ใช่เรื่องใหญ่ ถ้าร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ผ่านจริงๆ สังคมจะเรียกร้องให้คืนประชาธิปไตยเร็วขึ้น จะทำให้เกิดการเลือกตั้งเร็วกว่าที่กำหนด

"ตอนนี้จะพูดว่า พล.อ.ประยุทธ์ กำลังโบกธงให้ทุกกลไกต้องปฏิบัติตาม เพื่อผลักดันให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านก็ว่าได้ แม้จุดมุ่งหมายการร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ.ไม่ได้ต้องการให้เกิดวิกฤตความขัดแย้ง หรือความเสียหายต่อเนื่อง แต่มันคือผลพวงที่เกิดขึ้นเองอัตโนมัติ

"ทั้งที่จริงแล้วจุดมุ่งหมายเขาคือ การบริหารปกครองประเทศอยู่ภายใต้อำนาจขององค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ต้องการให้มีนายกฯ คนนอกได้มาบริหารประเทศ เพื่อให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเกิดวิกฤตได้ง่าย

"ซึ่งสิ่งที่จะตามมาโดยไม่ได้ตั้งใจอยากจะให้เกิดคือ วิกฤตความเสียหาย ความล้าหลัง การชะงักงันของการพัฒนาและการเจริญเติบโตของประเทศ สร้างเงื่อนไขให้เป็นวิกฤต และผูกปมเอาไว้ไม่ให้แก้รัฐธรรมนูญจึงนำไปสู่วิกฤตที่ใหญ่หลวงยิ่งกว่า" อดีต รมว.ศึกษาธิการรัฐบาลเพื่อไทย ระบุ

จาตุรนต์ เปรียบเทียบประเทศอื่นๆ ที่ใช้รัฐธรรมนูญในการปกครองว่า ประเทศที่ต้องการมีรัฐธรรมนูญนั่นเพราะเขาต้องการมีหลักประกันว่า การบริหารปกครองประเทศต้องเป็นอำนาจของประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ความแตกต่างทางความคิด

โดยเฉพาะความคิดเกี่ยวกับการบริหารปกครองบ้านเมือง ซึ่งต้องตัดสินโดยกฎกติกาที่เป็นประชาธิปไตย เช่น ให้มีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม มีการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างอำนาจอธิปไตย หรือสำหรับคนมีความเห็นขัดแย้งแตกต่างกันในเรื่องกฎกติกา

เช่น ถ้าเห็นว่ากฎหมายไม่ดี ไม่ถูกต้อง ก็ให้ผู้ที่มาจากประชาชน หรือรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งมาแก้ไขปรับปรุง หรือเสนอกฎหมายใหม่ และหากมีความเห็นแตกต่างขัดแย้งเรื่องรัฐธรรมนูญก็ให้มีการแก้ไขโดยรัฐสภา

ในทางตรงกันข้าม จาตุรนต์ เห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญของประเทศไทยที่กำลังจะมีขึ้นกลับไม่มีในสิ่งนั้น

ถามว่า เหตุผลที่พรรคการเมืองเคลื่อนไหวล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะเป็นร่างฉบับปราบโกงนักการเมืองจึงกลัวหรือไม่ แกนนำพรรคเพื่อไทย อธิบายว่า ความพยายามบอกว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้เป็นฉบับป้องกันการทุจริตมากที่สุด เป็นเรื่องหลอกลวง เพราะไม่ได้มีความพยายามที่จะแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นเชิงระบบและโครงสร้าง เพียงแค่ทำให้ดูขึงขังเท่านั้น เพื่อที่จะเอามาพูดว่าต้องการจะป้องกันการทุจริตของนักการเมือง แล้วก็โยนมาบอกว่าใครที่ค้านเพราะกลัว

จาตุรนต์ ยอมรับว่า นักการเมืองคือตัวแสดงหนึ่งที่สำคัญ แต่ต้องดูพลังส่วนใหญ่ในสังคมด้วย ไม่ใช่เฉพาะพรรคการเมือง แต่การที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะเป็นโอกาสให้สังคมได้ออกมาช่วยกันหาทางออกกับประเทศ เพราะกระบวนการจากนั้นจะต้องมาพูดกันเรื่องว่าจะร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร ให้มีเลือกตั้งเมื่อไหร่

"ถ้าเขาจะหาเหตุให้ยืดออกไปอีกบ้างก็ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว เมื่อเทียบกับการให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน เพราะจะเท่ากับเป็นการรับรองว่าเราจะได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างถาวรจะได้รัฐบาลที่อ่อนแอ ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ และในที่สุดก็จะนำไปสู่วิกฤตที่ทำให้ได้รัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเลย ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนี้" 

จาตุรนต์ ย้ำจุดยืนการแสดงออกต่อร่างรัฐธรรมนูญนี้ว่า ต้องการเห็นบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย จึงจะพยายามทำหน้าที่ในฐานะเป็นนักการเมืองที่เป็นปากเสียงประชาชน ซึ่งถือเป็นเรื่องประจำตัวที่นักการเมืองแต่ละคนพึงจะกระทำ จะพยายามทำหน้าที่ไปให้ดีที่สุด

"การแสดงออกต่อร่างรัฐธรรมนูญเวลานี้ก็ถือว่ารณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ด้วยการแสดงความเห็นผ่านช่องทางต่างๆ ที่ทำได้ ผมเชื่อว่ากระบวนการจากนี้ไปเมื่อใกล้จะมีการทำประชามติ ทาง คสช.และรัฐบาลจะหาทางปิดกั้น ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่มีความเห็นคัดค้านกับร่างรัฐธรรมนูญนี้มากขึ้น

"จึงขอเรียกร้องให้ คสช.และรัฐบาลไม่ปิดกันการแสดงความคิดเห็น เรื่องความคิดเห็นที่แตกต่างแล้วใช้มาตรการดำเนินต่างๆ ของ คสช.มาพยายามปิดกั้น นักการเมืองหลายคนก็โดนกันมามากแล้ว ผมก็โดนมาจนครบทุกมาตรการ หรือเกินกว่ามาตรการปกติไปแล้ว

"แต่ไม่ว่าจะใช้มาตรการอะไรเพื่อมาปิดปาก ผมเชื่อว่าก็ไม่มีทางปิดปากประชาชนทุกคนได้ เรื่องความเป็นประชาธิปไตยของบ้านเมือง เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องถือเป็นหน้าที่ที่ต้องช่วยกัน” จาตุรนต์ ย้ำจุดยืน

แกนนำพรรคเพื่อไทยได้ประเมินท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ที่ประกาศเดินหน้าให้มีการเลือกตั้งตามโรดแมปในกลางปี 2560 ว่า เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะการบริหารประเทศของรัฐบาล คสช.เจอแรงกดดันจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องรู้ว่า การที่ไม่มีความชัดเจนหรืออึมครึมต่อไปอีกจะเป็นผลเสีย

ขณะเดียวกัน การบริหารงานในประเทศเวลานี้มีปัญหารุมเร้ามากขึ้น และ พล.อ.ประยุทธ์ คงจะรู้ดีว่าการบริหารประเทศอย่างที่ทำอยู่ นับวันจะยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นจึงต้องออกมายืนยันว่าจะมีการเลือกตั้งตามโรดแมป

แต่พอประกาศไปอย่างนั้นกลับเห็นถึงความไม่สอดคล้องกันของผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรธ.พูดว่าอาจจะต้องยืดโรดแมปออกไป อีกทั้งแม้จะยืนยันว่าจะมีการเลือกตั้งแน่ แต่ไม่รู้ว่าจะโดยวิธีไหน ไม่เปิดเผยว่าจะเลือกตั้งอย่างไร แล้วจะทำอย่างไรเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญในกรณีที่ร่างนี้ไม่ผ่าน ทั้งสวนทางกันและสร้างความอึมครึมสับสนมาก

“วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะไม่ได้คิดหรือยังคิดไม่ถึงว่าต่อไปก็จะมีเสียงเรียกร้อง เพราะใครๆ ก็รู้ว่าการปกครองแบบไม่เป็นประชาธิปไตย แล้วไม่มีการเลือกตั้งเสียที มันส่งผลเสียต่อการส่งออก การลงทุน การคบค้าสมาคมกับต่างประเทศ

"การที่จะไปชี้แจงกับต่างประเทศในกรณีที่ถูกตรวจสอบ ถูกเข้มงวดจากมาตรการต่างๆ ที่เป็นมาตรการองค์กรระหว่างประเทศ เพราะฉะนั้นการที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน แล้ว คสช.หรือรัฐบาลจะทำอะไรตามใจชอบแบบไปเรื่อยๆ แล้วแต่อยากจะทำมันคงไม่ง่ายอย่างที่คิด

“อย่างไรก็ตาม ผมยังมีความหวังว่าร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ผ่าน แม้จะรู้ดีว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็มีความหวังอยู่ เพราะเป็นห่วงว่าประเทศนี้จะชะงัก ล้าหลัง สูญเสียโอกาสครั้งใหญ่ไปอีกหลายปี ซึ่งสังคมไทยไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่แตกต่างทางความคิด โดยกฎกติกาภายใต้รัฐธรรมนูญได้เลย” จาตุรนต์ ตอกย้ำจุดยืน

รัฐธรรมนูญเวอร์ชั่น "มีชัย" ผูกเงื่อนวิกฤต ท่อต่อเผด็จการ

ร่าง รธน.ผูกเงื่อนคว่ำรัฐบาล

จาตุรนต์ ยกตัวอย่างบางมาตราในร่างรัฐธรรมนูญที่เล็งเห็นว่าเป็นปัญหาใหญ่และมีการตั้งข้อสังเกตว่ามีนัยทางการเมือง เช่น ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ถือเป็นระบบการเลือกตั้งที่บิดเบือนหลักการของการเลือกตั้งแบบ 1 คน 1 เสียง ในเขตละคน ซึ่งระบบแบบนี้เป็นระบบสากล เพราะในกรณีที่เขามีระบบบัญชีรายชื่อเข้ามา ที่ให้ความสำคัญเสียงของพรรคการเมืองที่ไม่ได้รับเลือกตั้ง เพื่อนำมาถ่วงดุลกันบ้าง

"แต่ร่างรัฐธรรมนูญของไทยในเวลานี้กลับนำเอาระบบสัดส่วนผสมมามีน้ำหนักมากกว่า 1 คน 1 เสียง ที่ให้คนมีสิทธิเท่ากัน ระบบแบบนี้จะทำให้พรรคการเมืองที่ได้เสียงเกินครึ่งหนึ่งจากเสียงเลือกตั้ง กลายเป็นเสียงข้างน้อยอัตโนมัติ เท่ากับว่าเป็นการบิดเบือนระบบ ซึ่งอาจจะเป็นจุดมุ่งหมายเพื่อขัดขวางบางพรรคและเพื่อสนับสนุนบางพรรค"

จาตุรนต์ อธิบายอีกว่า เรื่องระบบเลือกตั้งยังมีความสับสนที่ใช้บัตรใบเดียวเลือก 3 อย่าง คือ สส.เขต บัญชีรายชื่อ และการเสนอชื่อนายกฯ 3 คน ซึ่งทั้ง 3 ส่วนมีผลกระทบต่อกัน เวลาคนไปเลือกอาจจะเน้นตัวบุคคล แต่เมื่อมีเรื่องของบัญชีรายชื่ออยู่ด้วย เมื่อคนไปเลือกนาย ก. มากในเขตเลือกตั้งของตัวเอง ก็กลายไปมีผลทำให้ผู้สมัครบัญชีรายชื่อที่ไม่ได้รับความสนใจเลยได้รับการเลือกตั้ง

"ถือว่าแปลกประหลาด เช่น พรรคเล็กๆ ต้องไปหาผู้สมัครให้ครบทุกเขต แล้วไม่ได้รับเลือกตั้งต้องนำเอาคะแนนไปให้บัญชีรายชื่อ เพื่อได้เป็นผู้แทน เท่ากับลงคะแนนให้อีกคน แต่ได้กับอีกคนหนึ่ง นอกจากนี้ประเด็นที่สำคัญคือการเสนอชื่อนายกฯ 3 คน เป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุมีผล เพราะจริงๆ แล้วมันคือเจตนาแอบแฝงที่ต้องการเปิดช่องให้คนนอกมาเป็นนายกฯ โดยฝากชื่อไปกับพรรคการเมืองบางพรรค"

แกนนำพรรคเพื่อไทยขยายความด้วยว่า เรื่องนายกฯ คนนอกในภาวะปกติเกิดขึ้นยาก แต่ครั้งนี้นายกฯ คนนอกจะมาภาวะวิกฤต ซึ่งจะชี้ขาดโดยศาลรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นภาวะวิกฤตจะเกิดขึ้นและตีความได้ง่าย

"เช่น ถ้าจะยุบสภาเลือกตั้ง การขัดขวางการเลือกตั้งก็ทำง่ายมาก ไม่ต้องใช้กำลังไปยึด ไปบุกหน่วยเลือกตั้ง เพียงแค่พรรคการเมืองบางพรรคประกาศไม่ส่งผู้สมัครในบางเขต แล้วรณรงค์ให้โหวตโน จนสุดท้ายเกิดสุญญากาศ ไม่มี สส.เพียงพอต่อการประชุมสภา การเลือกตั้งก็เป็นโมฆะ

"แล้วก็ฉายหนังซ้ำแบบเดิมนำเข้าสู่วิกฤตต้องมีนายกฯ หรือแม้กรณีที่นายกฯ ยุบสภาไปแล้ว หรือถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลทั้งๆ ที่ไม่ผิดก็ได้ จึงกลายเป็นวิกฤตที่ต้องการมีรัฐบาล หรือตีความง่ายๆ คือต้องการให้วุฒิสภาทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร แล้วเอาคนมาจากไหนไม่น่าเกลียด นั่นคือเอาคนที่เคยถูกเสนอชื่อมา แต่เป็นคนนอก แบบนี้ง่ายๆ อยู่แล้ว

“การให้มีคนนอกเป็นนายกฯ ได้เป็นเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดการแทรกแซงอำนาจนอกระบบ และอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในระบบรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะแตกต่างจากอดีตคือองค์กรในรัฐธรรมนูญ ซึ่งรวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจมากกว่าในอดีต

"ทั้งหมดนี้ปัญหาคือระบบมันผิดเพี้ยนไม่สามารถที่จะอธิบายหลักเหตุผลอะไรได้ เขาพยายามที่จะแถไปจนกระทั่งเพื่อให้มีช่องทางให้คนนอกมาเป็นนายกฯ” แกนนำพรรคเพื่อไทยกล่าว

จาตุรณต์ ยกตัวอย่างปัญหาที่ กรธ.ร่างรัฐธรรมนูญให้อำนาจกับองค์กรอิสระ ว่า การให้ 3 องค์กร คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการ ป.ป.ช. และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) มาทักท้วงตักเตือนรัฐบาลได้ขัดกับหลักการประชาธิปไตย

ทั้งนี้ เพราะจะมีผลเท่ากับการระงับยับยั้งต่อการตัดสินใจในการบริหารประเทศของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง การทักท้วงของ 3 องค์กรนั้น จะพบปัญหาในเรื่องความเข้าใจต่อหลักการบริหารประเทศในระบอบประชาธิปไตย

"เช่น ความเห็นแตกต่างทางนโยบายมันไม่สามารถทักท้วงกันได้ เป็นเรื่องรัฐสภา และประชาชน องค์กรเหล่านี้จะมาทักท้วงนโยบายนี้ดีกว่านโยบายนั้นไม่ได้ แล้วองค์กรเหล่านี้จะเข้าใจหรือไม่ รัฐธรรมนูญนี้จะเขียนกำหนดหลักเกณฑ์อย่างไร ว่าจะเสียหายหรือไม่เสียหาย นโยบายใดจะเกิดผลดีหรือผลเสียต่อประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ให้องค์กรซึ่งไม่มีความเข้าใจมาคอยถ่วงดุลไม่ได้

“การใช้กติกานี้เป็นการสร้างเงื่อนไขในการล้มรัฐบาลมากกว่า เพื่อไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดี เพราะอ้างว่าได้มีการตักเตือนแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตาม ดังนั้นแนวความคิดนี้เกิดจากไม่ยอมรับในความคิดเห็นที่แตกต่าง ซึ่งที่ผมพูดไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะตรวจสอบถ่วงดุลไม่ได้ แต่ต้องดำเนินไปตามระบบและกลไก แต่จะถ่วงดุลเรื่องอะไร อย่างไร แต่เวลานี้กลับเอามาปะปนกันหมด” จาตุรนต์ กล่าว

รัฐธรรมนูญเวอร์ชั่น "มีชัย" ผูกเงื่อนวิกฤต ท่อต่อเผด็จการ

การปรองดองปิดปาก-ใคร?เลี้ยงไข้ความขัดแย้ง

จุดประสงค์หลักการเข้ายึดอำนาจการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คือการเริ่มต้นสร้างความปรองดองของคนในชาติ ด้วยก่อนการก่อรัฐประหารครั้งนี้มีความขัดแย้งทางการเมืองสูง แต่แล้วการใช้ “อำนาจกองทัพ” ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะคลี่คลายสถานการณ์วิกฤตให้สัมฤทธิ์ผลภายในระยะเวลาอันสั้น

จาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย สะท้อนว่า การสร้างความปรองดองขึ้นในประเทศไทยไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นไม่ได้ เพียงแต่รู้สึกเสียดายเวลากว่าปีครึ่งที่ผ่านมา ภายใต้การบริหารประเทศของ คสช. กระบวนการปรองดองไม่ได้เริ่มต้นขึ้น

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้มีการให้ความสนใจเกี่ยวกับความขัดแย้งที่เกิดจาก คสช.และรัฐบาลนี้ เวลาที่เสียไปกว่าปีครึ่ง ที่ คสช.ดำเนินการต่างๆ วางระบบต่างๆ นอกจากจะไม่นำไปสู่การปรองดองแล้ว กลับกำลังทำให้มีความขัดแย้งเพิ่มขึ้น และจะรุนแรงมากยิ่งขึ้นในอนาคต

“พอพูดถึงการปรองดองทีไร นายกฯ ประยุทธ์ก็จะบอกว่าให้มารับโทษก่อน เข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมก่อน แล้วก็รับโทษ แล้วค่อยพูดถึงการให้อภัยหรือนิรโทษกรรม นั่นแสดงว่านายกฯ ไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องปรองดองเลยแม้แต่น้อย

“การปรองดองไม่ใช่การนิรโทษกรรม นิรโทษอาจจะเป็นกระบวนการส่วนหนึ่งของการปรองดองเท่านั้น ในเวลานี้การนิรโทษกรรมก็เป็นประเด็นที่ยากเกินไปสำหรับสังคมไทยที่คิดมาทำกัน รวมทั้งไม่มีผลอะไรมากต่อกระบวนการปรองดองเลย

“การปรองดองหมายถึงการที่จะทำให้สังคมหมดปัญหาความขัดแย้งที่แตกต่างกันทางความคิด ด้วยการอาศัยกฎกติกาที่เป็นธรรม แต่ถ้าในกรณีที่ขัดแย้งกัน เห็นแตกต่างกันในเรื่องของกฎกติกาก็ต้องสามารถแก้กฎกติกาหรือเขียนกฎกติกาใหม่ได้ ด้วยกระบวนการที่เป็นธรรม

“ไม่ว่าความขัดแย้งในสังคมจะมีกี่คู่ก็ตาม จะต้องสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้ โดยอาศัยกฎกติกาที่เป็นธรรมมาแก้ปัญหาความขัดแย้ง ไม่ใช่อาศัยกระบวนการที่นอกกฎกติกา หมายความว่า ไม่ใช่มุ่งเข้าห้ำหั่นกันด้วยทุกวิธี และไม่ต้องพึ่งกฎกติกา

“ถ้าจะทำอย่างนี้ก็ต้องมาดูว่าความขัดแย้งที่ผ่านมาในรอบ 10 กว่าปี เกิดจากอะไร ทำไมมีหลายครั้งที่คนไม่พึ่งกฎกติกา หันไปทำนอกกฎกติกา และมีคนทำผิดกฎหมายมากมาย” จาตุรนต์ ตั้งคำถาม

แกนนำพรรคเพื่อไทย บอกว่า ที่ผ่านมาบ้านเราแก้ปัญหาโดยการมิชอบด้วยกฎหมายซ้ำเติมเข้าไป ไม่เป็นประชาธิไตย ถามว่ามีข้อเสนอเกี่ยวกับการปรองดองมากมายในสังคมนี้ ทั้งการเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาพูดจาแลกเปลี่ยนความเห็นก็มีการทำแล้ว ข้อเสนอต่างๆ เหล่านั้นก็ยังอยู่

“แต่ คสช.และรัฐบาลนี้ไม่เคยสนใจที่จะดูเลย และยังไม่เคยพูดถึงการปรองดองที่จะทำให้เห็นถึงความเข้าใจเลยแม้แต่น้อย เพราะฉะนั้นการปรองดองจึงไม่ได้เกิดขึ้น ถ้าไปถาม คสช.หรือรัฐบาลนี้ หรือไปบอกว่าท่านทั้งหลายยังไม่เข้าใจ หรือยังไม่ได้ทำอะไรเกี่ยวกับการปรองดองเลย

คำตอบก็จะบอกว่า เราได้จัดเวทีการปรองดองมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งเป็นการจัดให้เล่นกีฬาบ้าง เล่นเพลงด้วยกันบ้าง มันไม่มีสาระ ยิ่งพูดยิ่งแสดงให้เห็นว่าคนพูดนี้ไม่ได้เข้าใจเรื่องการปรองดองเลยแม้แต่น้อย”

จาตุรนต์ ระบุว่า ที่ผ่านมา คสช.เคยเชิญนักการเมือง นักวิชาการ หรือสื่อมวลชนบางส่วนไปประชุมเกี่ยวกับการปรองดอง โดยตนเองเข้าร่วมทุกครั้ง มีหัวข้อเกี่ยวกับการปรองดอง เสร็จแล้วให้แสดงความเห็นเรื่องโน้นบ้าง เรื่องนี้บ้าง ตอนท้ายของการประชุมก็จะบอกว่าท่านทั้งหลายพูดกันที่นี้แล้วออกไปข้างนอกขออย่าแสดงความเห็น

“ถามว่าเจตนาจริงๆ ไม่ได้ประชุมกันเพื่อการปรองดองใช่หรือไม่ แต่เป็นการประชุมเพื่อการปิดปาก การปรองดองจะเกิดขึ้นก็คือการให้ผู้ที่มีความคิดเห็นที่ขัดแย้งหรือแตกต่างกันในสังคมมานั่งพูดกันได้อย่างเท่าเทียม มีผู้ฟังและฟังเขาอย่างให้ความเคารพ สิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้น ไม่เคยพูดจากันอย่างเท่าเทียม เป็นการเชิญไปคุยเหมือนกับอยู่ภายใต้การควบคุมของอีกฝ่ายและก็คิดว่าที่เชิญผู้ขัดแย้งทั้งหลายไปคุย

“ต้องตั้งคำถามว่า ผู้ขัดแย้งอยู่ที่ไหนบ้าง เป็นใครบ้าง ก่อนหน้านี้เขาก็นึกถึงพรรคการเมือง พรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ ถ้าเป็นสีก็เป็นสีเหลืองกับแดง ถ้าเป็นองค์กรก็เป็น กปปส.กับ นปช. ตอนนี้บริบทความขัดแย้งทางการเมืองก็เปลี่ยนไปมาก

คสช.ซึ่งเคยอ้างตัวว่าเป็นคนกลางเข้ามาแก้ปัญหาความขัดแย้ง แต่ขณะนี้ก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของของความขัดแย้ง อยู่ในคู่ขัดแย้งไปเรียบร้อยแล้ว รู้ตัวหรือเปล่า ถ้าจะคุยก็ต้องมาหาคู่ที่อยู่ในความขัดแย้งเหมือนกัน แล้วมาถามกัน ข้อเสนอที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์ในอดีต หรือคณะอื่น มีข้อสรุปหรือข้อเสนอที่ตรงกันหรือคล้ายกันอยู่หลายข้อ

“หนึ่งในนั้นคือการปฏิรูปกระบวนการยุติกรรม จนถึงวันนี้ไม่ว่าจะเป็นใน สปช. สปท. สนช.หรือกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ไม่มีใครพูดถึงการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเลย แล้วคุณจะแก้อย่างไร”จาตุรนต์ ย้อนถาม

รัฐธรรมนูญเวอร์ชั่น "มีชัย" ผูกเงื่อนวิกฤต ท่อต่อเผด็จการ

แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวต่อไปว่า อย่ามาถามตนเองว่าทำไมไม่มีข้อเสนออะไร เพราะที่ผ่านมาได้ไปร่วมประชุมตามคำเชิญทุกครั้ง ให้ทำข้อเสนอเกี่ยวกับปรองดองเป็นเปเปอร์ก็ทำให้ไปแล้ว โดยได้รวบรวมความเห็นของผู้ที่มีความรู้มีประสบการณ์

“ช่วยกันคิด ทำส่งไป สุดท้ายก็เก็บเข้าลิ้นชักหมด เพราะฉะนั้นที่อ้างว่ายึดอำนาจมาเพื่อที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้ง จึงไม่ได้ทำจริงเลย แล้วขณะนี้เรายังไม่เห็นวี่แววของการที่จะป้องกันหรือแก้ปัญหาความขัดแย้งหลังเลือกตั้งเลยด้วย”

ถามว่า การตั้งคณะกรรมการต่างๆ ขึ้นมา เพื่อเป็นกลไกในการสร้างกระบวนการปรองดอง ปฏิรูปประเทศ ไม่มีความหมายเลยใช่หรือไม่ จาตุรนต์ บอกว่า ไม่ถึงขนาดนั้น แต่หลักใหญ่ใจความจริงๆ อยู่ที่เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่ยุติธรรม สร้างเงื่อนไขให้เกิดวิกฤตความขัดแย้ง เป็นเรื่องใหญ่กว่าที่จะกลบเรื่องคณะกรรมการที่จะมาทำอะไรเกี่ยวกับการปรองดองไปหมด

อย่างไรก็ตาม การมุ่งไปที่จะให้มีคณะกรรมการต่างๆ มาดูแลเรื่องการปรองดองหลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้ โดยไม่ได้ให้ความสนใจกับการเริ่มกระบวนการปรองดองมาตลอดระยะเวลา 1 ปีครึ่ง และอาจจะไม่ได้มีการทำอะไรไปอีกปีครึ่ง จาตุรนต์ เห็นว่า เป็นการสะท้อนถึงความไม่มีวิสัยทัศน์ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการปรองดองของ คสช.และรัฐบาลชุดนี้ รวมทั้งแม่น้ำทั้ง 5 สาย ด้วย

จาตุรนต์ อธิบายว่า นั่นหมายความถึง ปัญหาความขัดแย้งถูกสะสมและสร้างเงื่อนไขให้เกิดเป็นความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น หลังจากรัฐธรรมนูญนี้ถูกใช้บังคับ ต้องตั้งคำถามว่าแล้วใครจะได้ประโยชน์จากความขัดแย้ง และนั่นก็เป็นคำตอบในตัวที่ความขัดแย้งยังดำรงอยู่ การปรองดองไม่เกิดก็เพราะจะมีผู้ที่ได้ประโยชน์จากความขัดแย้ง รวมถึงการที่สังคมไม่มีความปรองดองด้วย