posttoday

วุฒิชาติ : เร่งรถไฟเร็วสูง หัวหิน-กรุงเทพฯ-ระยอง

22 มกราคม 2559

เป็น 3 โครงการลงทุนยักษ์ใหญ่ระดับหลักแสนล้านบาท/ต่อโครงการ ที่น่าจะเห็นเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนภายในปีนี้

โดย...ทีมข่าวเศรษฐกิจภาครัฐ โพสต์ทูเดย์

เป็น 3 โครงการลงทุนยักษ์ใหญ่ระดับหลักแสนล้านบาท/ต่อโครงการ ที่น่าจะเห็นเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนภายในปีนี้

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง ความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตร (กม.)/ชั่วโมง จำนวน 2 เส้นทาง คือ เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน มูลค่าลงทุนเบื้องต้น 9.46 หมื่นล้านบาท และเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง มูลค่าลงทุนเบื้องต้น 1.55 แสนล้านบาท รวมทั้งโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย และแก่งคอย-มาบตาพุด ความเร็วสูงสุด 180 กม./ชั่วโมง มูลค่าลงทุน 4-5 แสนล้านบาท

วุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้สัมภาษณ์ “โพสต์ทูเดย์” ว่า รฟท.ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมและรูปแบบการลงทุนรถไฟความเร็วสูงเส้นกรุงเทพฯ-หัวหิน และเส้นกรุงเทพฯ-ระยอง ซึ่งผลการศึกษาจะเสร็จเดือน มี.ค.นี้

จากนั้น รฟท.จะเสนอผลศึกษาและแนวทางการลงทุนโครงการไปให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาเพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการพีพีพี) ที่มี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

“เราเริ่มขั้นตอนเสนอโครงการตามมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2556 แล้ว โดยได้ว่าจ้างที่ปรึกษาศึกษาและวิเคราะห์โครงการ เช่น รูปแบบการเปิดให้เอกชนร่วมทุน การเปรียบเทียบต้นทุนและความคุ้มค่า ผลกระทบและความเสี่ยงต่างๆ ซึ่งผลศึกษาจะแล้วเสร็จในเดือน มี.ค.นี้ จากนั้นจะเสนอให้คณะกรรมการพีพีพีเห็นชอบ โดยทั้ง 2 โครงการจะอยู่กลุ่มโครงการพีพีพี ฟาสต์แทร็กด้วย” วุฒิชาติ กล่าว

วุฒิชาติ ระบุว่า หากคณะกรรมการพีพีพีเห็นชอบแล้ว รฟท.จะตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ พิจารณาแนวทางการคัดเลือกเอกชนมาร่วมลงทุน โดยยืนยันว่า รฟท.จะไม่ใช้วิธีเจรจาตรงกับเอกชนบางรายหรือบางกลุ่มแน่นอน เพราะมีข้อจำกัดมาก แต่จะใช้วิธีเปิดประมูลเป็นการทั่วไป

“เราจะออกประกาศเชิญชวน (ทีโออาร์) ว่ามีใครสนใจลงทุนบ้าง ไม่จำเป็นต้องมีแค่ไทยเบฟ หรือ ซีพี นักลงทุนเยอรมนีและเกาหลีใต้ก็สนใจ ส่วนกลุ่มที่มีศักยภาพและไม่เผยตัวน่าจะมีอีก” วุฒิชาติย้ำ

ขณะที่รูปแบบการเปิดประมูลนั้น วุฒิชาติ กล่าวว่า รฟท.จะให้เอกชนที่สนใจเสนอแนวทาง รูปแบบ และเงื่อนไขการลงทุนเข้ามาให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ พิจารณา เช่น รูปแบบการร่วมทุน องค์ประกอบที่เอกชนต้องการให้ภาครัฐสนับสนุน และระยะเวลาการให้สัมปทานที่เหมาะสม ซึ่งทำให้การลงทุนมีความคุ้มค่า โดย รฟท.จะใช้ผลการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาเป็นกรอบ และว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินมาร่วมพิจารณาข้อเสนอเอกชนด้วย

“เราอยากจะให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้ง 100% โดย รฟท.มีหน้าที่สนับสนุนเขตทางในการลงทุน ซึ่งจะคู่ขนานไปกับแนวรถไฟเดิม แต่อาจมีการเวนคืนที่ดินบ้างในบางจุดที่ตัดผ่านชุมชน ในขณะที่เงื่อนไขที่เอกชนเสนอมาทุกฝ่ายต้องรับได้ คือ นักลงทุนเขาก็ต้องมีกำไร แต่กำไรต้องไม่เวอร์ รฟท.ก็ต้องได้ประโยชน์ และประชาชนต้องสะดวก อย่างไปหัวหินจะใช้เวลาแค่ชั่วโมงเดียว แทนที่จะขับรถซึ่งใช้เวลา 3-4 ชั่วโมง ค่าตั๋วต้องไม่แพงไป เพราะถ้าแพงคนก็ไม่ขึ้น สุดท้ายก็เจ๊ง”

วุฒิชาติ ระบุว่า รถไฟความเร็วสูงเฟสแรกกรุงเทพฯ-หัวหิน และกรุงเทพฯ-ระยอง จะต้องเกิดให้ได้ จากนั้นจะเป็นการลงทุนส่วนต่อขยายในอนาคต เช่น ขยายรถไฟความเร็วสูงไปถึงหาดใหญ่ เพราะเมื่อเปิดประชาคมอาเซียนเต็มตัวในอนาคต เชื่อว่าปริมาณผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นมาก แต่ในระหว่างนี้ก็จะใช้รถไฟทางคู่ราง 1 เมตรไปก่อน

ในส่วนความคืบหน้าการเจรจารถไฟไทย-จีน วุฒิชาติ ระบุว่า ขณะนี้แบบก่อสร้างเสร็จไปแล้ว 80-90% แต่ยังต้องปรับลดแบบบางรายการ เช่น สถานีบางแห่งจีนออกแบบใหญ่เกินไป ซึ่งต้องเจรจาลดขนาดลงมา รวมทั้งค่าจ้างแรงงานที่จีนเสนออัตราค่าแรงมา 800-900 บาท/วัน ในขณะที่บ้านเราค่าแรง 300 บาท/วัน ก็ได้ขอให้ลดลงมา ส่วนเรื่องดอกเบี้ยก็ตกลงกันได้แล้ว ดังนั้น โครงการก็น่าจะเริ่มต้นลงทุนได้ในไม่ช้า

วุฒิชาติ กล่าวว่า สำหรับรถไฟไทย-ญี่ปุ่น เส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-สระแก้ว ในวันที่ 27 ม.ค.นี้ จะมีการเปิดเดินรถขนส่งสินค้านำร่องช่วงกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทร่วมทุนระหว่าง รฟท.-ญี่ปุ่น-เอกชนไทย ขณะที่บริษัทร่วมทุนอาจทำหน้าที่ขยายการลงทุนรถไฟทางคู่ตลอดแนวเส้นทาง ซึ่งตรงนี้รัฐบาลไทยกำลังเจรจากับญี่ปุ่นอยู่ว่าใครจะลงทุน