posttoday

เปิดใจพี่ใหญ่เอ็นจีโอ ปลดบอร์ด สสส. แค่ผิดพลาดโดยสุจริต

10 มกราคม 2559

แรงกระเพื่อมก่อตัวทันทีหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

โดย...เลอลักษณ์ จันทร์เทพ / ธนพล บางยี่ขัน

แรงกระเพื่อมก่อตัวทันทีหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)งัดไม้แข็งใช้อำนาจตามมาตรา 44 เด้งกรรมการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 7 ตำแหน่ง ที่มาจากสัดส่วนภาคประชาสังคม

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่านี่อาจเป็น “ยาแรง” สำหรับเปิดทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบ ทั้งเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนและการใช้งบไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ จนอาจเป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” ที่จะผลักเอ็นจีโอที่เคยยืนอยู่ฝั่ง คสช.ให้กลายไปเป็นศัตรู

ก่อนที่ทุกอย่างจะบานปลายไปกว่านี้ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ประธานสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา คุณหมอเอ็นจีโอที่ออกตัวว่าอยู่ตรงกลางระหว่าง สสส. และ คสช. คุมนโยบายรัฐและหนุนให้ภาคประชาสังคมขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานล่าง ให้สัมภาษณ์พิเศษโพสต์ทูเดย์วิเคราะห์ ปรากฏการณ์ “ผิดคิว” ที่เกิดขึ้น และแนวโน้มทางออกในอนาคต

หมอพลเดช มองว่า คำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 รอบที่ 3 นี้เป็นเรื่องปกติ ต่อไปก็อาจมีรอบที่ 4 เป็นกลไกการทำงานตามปกติ เพียงแต่รอบนี้มีเรื่อง สสส. พ่วงเข้ามาด้วย ซึ่งที่ผ่านมาตรวจสอบแล้วก็ไม่มีปัญหาเรื่องทุจริต แต่คำสั่งที่ออกมากลับไปมัดเป็นพวงเดียวกับกรณีอื่นที่เป็นเรื่องทุจริต

“ทั้งที่กรรมการที่มีรายชื่อทั้ง 7 ท่าน ล้วนแต่เป็นคนดี ทำงานสาธารณะ เพื่อประโยชน์สังคม แล้วท่านมีมูลนิธิของท่าน บางท่านถูกตั้งหรือเป็นกรรมการอยู่ก่อนแล้ว หรือทำมานานแล้ว และด้วยผลงานเป็นที่ยอมรับทำให้ สสส.เชิญท่านมาเป็นกรรมการหรือส่งรายชื่อเข้ามาสู่กระบวนการสรรหา

...ที่น่าเสียใจคือเอารายชื่อเหล่านี้ไปปนกับเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตามย่อมกระทบกับความรู้สึกของท่านเหล่านั้นและเสียหายทางจิตวิทยา โดนแบบนี้ก็เฮิร์ต เป็นที่น่าเสียใจ และเห็นใจผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 7 ท่าน ถ้าจะรู้สึกดีกว่านี้ควรแยกคำสั่งออกมาเป็นคนละส่วนมากกว่ามามัดรวม”​

ถามว่าคำสั่งที่ออกมาดูรุนแรงเกินไปหรือไม่ นพ.พลเดช ตอบแบบเลี่ยงๆ ว่า น่าเสียใจ ถ้าทำอย่างอื่นที่ดีกว่านี้ได้ก็จะดีกว่า แต่มันเกิดไปซะแล้ว เราต้องมาคิดว่าจากนี้ไปจะเป็นยังไง เพราะต้องยอมรับว่ากระบวนการของ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ก็ทำงานตามปกติ

อย่างไรก็ตาม เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียน หากเป็นความเห็นของคนนั้นคนนี้ก็ไม่มีน้ำหนักเท่าไร แต่เมื่อเป็นความเห็นหลักๆ ของหน่วยงานรัฐ ทั้งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ออกมาทำนองเดียวกันว่ามีลักษณะที่น่าจะเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ถ้าเป็นนายกฯ อันนี้ก็ลำบาก เพราะหน่วยงาน 3 หน่วยงานออกมาเห็นไปในทางเดียวกัน หากไม่ทำอะไรสายบังคับบัญชาก็จะรวนไปหมด เพราะเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับคนคนเดียว เพราะฉะนั้นน่าเห็นใจนายกฯ และ พล.อ. ไพบูลย์

“พอเห็นอย่างนี้ต้องฟันไป แต่แทนที่จะมัดพวงรวมกับกรณีทุจริต น่าจะเขียนเฉพาะกรณีนี้ หรือเขียนเวิร์ดดิ้งให้ชัดเจนว่ากรณีนี้ไม่มีปัญหาเรื่องทุจริต เป็นเรื่องความไม่เหมาะสม หรือประโยชน์ทับซ้อนเอื้อประโยชน์ให้องค์กร ควรจะแยกล็อต ออกมาก็จะเบาต่อความรู้สึกเยอะ กระทบต่อความรู้สึกน้อยลง”

อีกทั้งข้อกล่าวหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนนั้นก็ยังไม่ใช่ เพราะ​คนเหล่านี้ไม่ได้ผลประโยชน์อะไรส่วนตัว แต่เป็นเรื่องขององค์กรที่ไปพิจารณาให้ทุนไปทำประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่ผลประโยชน์ส่วนตัว กรณีนี้จะไปใช้เหมือนกับเรื่องประโยชน์ทับซ้อนแบบภาคธุรกิจไม่ได้

“แต่ทางสังคมเข้าใจว่าอธิบายได้ยากว่าบริสุทธิ์ใจ ซื่อสัตย์ ซื่อตรง ไม่มีปัญหา แต่เชื่อถือได้เพราะไม่มีหลักฐานที่จะไปพิสูจน์ความทุจริตคอร์รัปชั่น คุณไม่มีหลักฐานว่าเขาได้รับผลประโยชน์ส่วนตัว แต่ว่าอธิบายกับสังคมลำบากมาก”​

นายกฯ เป็นคนเจรจา หาทางออกด้วยตัวเอง

นพ.พลเดช กล่าวว่า ดังนั้นจึงต้องไปปรับแก้กฎระเบียบให้รัดกุม ต่อจากนี้ไปถ้าคุณเป็นกรรมการมูลนิธิแล้วมาเป็นกรรมการ สสส.​องค์กรคุณจะต้องไม่รับทุนจาก สสส. ต้องเลือกเอาอันหนึ่ง ลาออกจากที่ใดที่หนึ่ง อย่าเป็นพร้อมกันสองที่ อย่างนี้มีเหตุมีผล

“ตรงนี้มีการแก้กฎระเบียบให้รัดกุม แต่ก่อนอาจหละหลวม ซึ่งมีทั้งหมด 26 ข้อที่แก้ไปแล้ว มอบให้ปิยะสกล รมว.สาธารณสุข และ สสส. ไปประชุมร่วมกัน รอบแรกแก้ไปแล้ว 26 ข้อ เตรียมเอาเข้าที่ประชุมบอร์ด เตรียมรายงานนายกฯ จากนายกฯ ปลดล็อกมาตรการตรวจสอบการใช้เงินของ สสส.ที่ผ่านมา

...กระบวนการที่จะทำตรงนี้จะเสร็จวันที่ 15 ม.ค.นี้จะจบ แต่พอดีมีเพิ่มมาอีก 3 ข้อ จากเดิม 26 ข้อ เป็น 29 ข้อ กำลังรอเอาเข้าที่ประชุมบอร์ดวันที่ 15 ม.ค. แล้วค่อยรายงานนายกฯ ขณะที่กรรมการคนที่เป็นปัญหาก็เตรียมลาออก บางคนลาออกไปแล้ว แต่ไม่รู้ทำไมถึงมีคำสั่งนี้มาวันที่ 5 ม.ค.”

ถามย้ำว่า คำสั่งปลด 7 กรรมการที่ออกมา “ผิดคิว” หรือ “ตั้งใจ” ที่จะให้ผลออกมาเป็นเช่นนี้ นพ.พลเดช คิดสักพักก่อนตอบว่า “ไม่รู้เหมือนกัน แต่ส่วนตัวคิดว่าน่าจะแยกออกมาเป็นคำสั่ง คสช. ที่ 4 หรือเป็นคำสั่งพิเศษต่างหาก การที่รอบนี้มาพ่วงคำสั่งนี้ด้วยความร้อนรนเช่นนี้ ไม่รู้ว่าด้วยเจตนาอะไร​

ส่วนที่มีการวิเคราะห์ว่านี่อาจเป็นแผนที่ต้องการสกัดไม่ให้คนจากฝั่งภาคประชาชนไม่ให้มานั่งเป็นผู้จัดการ สสส.คนใหม่นั้น นพ.พลเดช มองว่าเป็นเรื่องของการวิเคราะห์ เป็นเรื่องของความเห็น ไม่ใช่ข้อเท็จจริง แล้วแต่ใครจะวิเคราะห์ คนหนึ่งมีพื้นฐาน ทัศนคติแบบหนึ่งก็จะวิเคราะห์ไปแบบหนึ่ง ไม่เหมือนกัน

“ผมไม่วิเคราะห์ แต่คิดว่าในทางเทคนิคมันมีข้อที่อาจจะเรียกว่าความบกพร่องผิดพลาด หรือมีข้อจำกัดในกระบวนการ เพราะทางฝั่งที่จะออกคำสั่งอันนี้ เขาอาจจะไม่รู้ ... แต่เมื่อนายกฯ ​เซ็นคำสั่งไปแล้ว ประกาศไปเมื่อวันที่ 5 ม.ค. เหมือนแก้ไขไม่ได้ ผมเข้าใจว่าท่านนายกฯ รู้สึกไม่สบายใจและพยายามแก้ปัญหา”

ทั้งนี้ เป็นสิทธิที่บางกลุ่ม บางเครือข่าย จะออกมาเคลื่อนไหว เพราะเรื่องที่ออกมากระทบความรู้สึก ก็อาจมีการแสดงออกบ้าง ซึ่งหวังว่าตัวนายกฯ ผู้ที่เกี่ยวข้อง พล.อ.ไพบูลย์ ซึ่งมีความตั้งใจดีจับเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นดีอยู่แล้ว ส่วนตัวเชียร์เต็มที่

“ผมหวังว่าท่านจะหนักแน่นต่อเรื่องความไม่พอใจสังคม หรือเครือข่ายที่ออกมา ท่านเป็นทหาร แต่ตอนนี้ท่านอยู่ในตำแหน่งทางการเมือง เป็นบุคคลสาธารณะต้องพร้อมถูกเยาะเย้ย วิพากษ์วิจารณ์ ด่าทอ แต่เห็นใจท่าน ท่านไม่ได้เป็นนักการเมืองอาชีพ อาจรู้สึกเซนซิทีฟ ซึ่งหวังว่าท่านจะไม่เซนซิทีฟมากเกินไป เขามีปฏิกิริยาก็ต้องปล่อย เรามีหน้าที่อธิบายและหาทางออก”

นพ.พลเดช กล่าวว่า นายกฯ ได้เชิญตัวเขาและคนที่เกี่ยวข้องมาหาทางออก เริ่มตั้งแต่ประเด็นโครงการที่ยังค้างคารอการพิจารณาอยู่ ซึ่งหากโครงการที่ใช้งบเกิน 5 ล้านบาท ต้องผ่าน คตร. กลั่นกรอง ซึ่งทำให้กระบวนการเพิ่มขั้นตอนใช้เวลานาน และส่วนใหญ่ไม่ผ่านการกลั่นกรอง

“​เพราะความเข้าใจเรื่องสุขภาพ สุขภาวะ มิติกว้าง เขาไม่เคยอยู่ในแวดวงนี้ก็อาจเข้าใจได้ยาก เพราะฉะนั้นเราบอกเรื่องสุขภาพสังคม สุขภาวะสังคมเป็นไง เขาฟังแล้วไม่ค่อยเข้าใจ เขาคนละแวดวง เมื่อเป็นแบบนี้โครงการต่างๆ เมื่อไปถึงเขาและให้เขาเป็นคนกลั่นกรองเขาก็ไม่เข้าใจหมด เขาจะเข้าใจทุกเรื่องได้อย่างไร ยิ่งเรื่องในวงการแพทย์ วงการสาธารณสุข เป็นคนละฝั่ง มันก็ไม่ผ่าน ไม่ผ่าน ไม่ผ่าน เข้าไปสิบยี่สิบโครงการถูกบล็อก ตีกลับมา กระบวนการล่าช้า”

ประเด็นนี้ทางออก คือ นายกฯ บอกแนวปฏิบัติ ระยะยาวโครงการที่คาอยู่ทั้งหมดจะปลดล็อกทั้งหมดเร็วๆ นี้ โดย คตร. หลังแก้ระเบียบ 29 ข้อ ที่จะผ่านความเห็นชอบในวันที่ 15 ม.ค.นี้ หากผ่านบอร์ด พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ประธานบอร์ด สสส. ก็จะทำหนังสือถึงนายกฯ และทำถึง คตร. ขอให้ปลดล็อกมาตรการตรวจสอบที่ทำอยู่

“จากนั้นก็จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ มันจะปลดหมดเลยไม่มี คตร.มายุ่ง เหมือนดำน้ำอึดอีกนิดเดียวก็จะเห็นปลายทางแล้ว เพราะวันที่ 15 ม.ค. จะเห็นปลายทาง​ นายกฯ พูดประเด็นนี้ บอก พล.ร.อ.ณรงค์ พล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ ประธาน คตร.​ไปจัดการตรงนี้ซะ ผมรอเซ็นปลดล็อก ผมว่าท่านเป็นคนหาทางออกให้เป็นคนเจรจาด้วย บอกณรงค์ ชาตอุดมไปทำอย่างนี้นะ ตัวท่านอยู่ตรงนี้ เมื่อเขาเป็นคนออกมาตรการ ก็ต้องเป็นคนปลดล็อกมาตรการตามระบบราชการ”​

เปิด 3 แผน ผ่าทางตัน 4,000 โครงการ

ขณะที่โครงการต่างๆ กว่า 4,000 โครงการที่ติดขัดนั้น แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1.โครงการที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ พ.ร.บ.สสส. 6 ข้อ ก็ไม่ต้องตีความเรื่องสุขภาวะ มิติแคบ มิติกว้าง ถ้าทำตามวัตถุประสงค์ 6 ข้อ ต้องให้ผ่าน แต่จะมีความเห็นว่างบประมาณสูงเกินไป ก็เป็นความเห็นให้ปรับแก้ได้ แต่ต้องให้ผ่าน

2.โครงการทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับประชารัฐ ที่ว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจฐานราก สุขภาวะสังคม นายกฯ บอกอันนี้ต้องให้เขา เป็นนโยบายที่สั่ง พล.อ.ชาตอุดม พล.ร.อ.ณรงค์ และ 3 ส่วนที่ไม่ใช่ ทั้งข้อ 1 และข้อ 2 ถ้ามีข้อแก้ไขก็ไปปรับแก้กันต่อไป

“ตรงนี้ท่านหาทางออกในการบริหารจัดการเสร็จเรียบร้อย เป็นนิมิตหมายที่ดี ผมไม่รู้ว่าเหมือนกับรู้สึกว่าคำสั่งแบบนี้เคยมี คือเซ็นคำสั่งแล้วรู้สึกพลาดไปหน่อย แต่ดีที่ท่านแก้เกมไว วันรุ่งขึ้นบังเอิญผมจะต้องมีประเด็นไปปรึกษากับนายกฯ อยู่แล้ว ท่านก็เชิญมาหลายคน”​

นพ.พลเดช กล่าวว่า นายกฯ ช่วยคลายปัญหาต่อไปอีกว่า สำหรับในส่วนของบอร์ด 7 คนนั้น นายกฯ ถามว่าต้องสรรหาใหม่หรือไม่ ก็ได้คำตอบว่าบอร์ดก็ยังทำหน้าที่ต่อไปได้ เพราะมี 21 คน ออกไป 7 คน เหลือ 14 คน องค์ประกอบยังครบองค์ประชุม

อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบของบอร์ดมี 3 ส่วน คือ การเมือง ราชการ และภาคประชาสังคม ซึ่งมี 9 คน แต่เมื่อภาคประชาสังคมขาดไป 7 คน เหลือ 2 คน ในแง่นี้ก็อาจเสียสมดุล แต่ยังทำงานต่อไปได้

“นายกฯ ให้แนวไว้ว่าไม่ต้องสรรหา หรือสรรหาไม่ครบก็ได้ เพราะว่าให้ออกไปก่อนเพื่อให้มีการชี้แจง ก็สามารถทำได้ ตรงนี้แฟร์ดี ออกไปก่อน แต่ถ้าท่านไหนไม่มีปัญหา เข้าใจผิด ก็ต้องคืนให้เขา ก็ต้องกลับมาได้ อยู่ที่กรรมการบอร์ดที่เหลือ เป็นเรื่องที่ทางบอร์ดต้องตัดสินใจ”

ประชาสังคมต้องใจเย็นใช้เหตุใช้ผล

ถามว่าจากคำสั่งเรื่องนี้จะทำให้ปัญหาบานปลายในอนาคตหรือไม่ หลังมีหลายฝ่ายออกมาเคลื่อนไหว นพ.พลเดช กล่าวว่า อดีตมาอย่างนี้แล้ว แต่มันยังมีทางออก ถ้ายังมาติดตรงจุดเดิม มันไปต่อไม่ได้ หรือทะเลาะกันโดยไม่จำเป็น

“แต่ว่ามันก็ห้ามกันไม่ได้ บานปลายไม่บานปลาย ขึ้นอยู่กับภาคประชาสังคม จะใช้เหตุใช้ผล ข้อเท็จจริง แต่ดูจากความพยายามในการแก้ปัญหาของนายกฯ ผมพูดได้เต็มที่เพราะอยู่ในนั้น ส่วนกรรมการท่านใดจะมีปฏิกิริยาเป็นสิทธิของท่าน ผมเคารพ แต่ไม่อยากให้ใช้อารมณ์ เพราะจะทำให้สังคมเกิดบานปลาย บ้านเมืองเราจะเจอเรื่องราวอีกเยอะ”

นพ.พลเดช กล่าวว่า พอดีตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค. หลายคนยังไม่เห็นว่ามีทางออก ก็เป็นธรรรมดาที่จะมีอารมณ์ บางคนเขียนบทความลงเฟซบุ๊ก เขาเหมือนถูกปล่อยหมัด แต่เราเห็นความตั้งใจดีทุกคน ทางนายกฯ มีความตั้งใจเสียสละ ท่านถูกแซะ ถูกซักฟอกทุกวัน เราเป็นท่านก็หนัก

“เราฟังทั้งหมดมีทางออก ผมเชื่อว่าพี่น้องเราที่กำลังฮึ่มๆ พอถึงจุดนั้น บางทีไม่ต้องอธิบาย มันจะคลายตัวไปเอง ถ้าวันนี้ไปพยายามอธิบาย สวนกระแสอารมณ์ ก็อาจกระแทกเราไปอีก”

ส่วนคำถามที่ว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาจากความขัดแย้งภายในแวดวงสาธารณสุขหรือไม่ นพ.พลเดช กล่าวว่า ปนๆ กัน แต่ว่าเรื่องนี้จะว่าไม่เกี่ยวก็ไม่ใช่ มันมีความเป็นมายาวนาน เรื่องของแนวคิดใหม่กับแนวคิดเก่าในกระบวนการสุขภาพ สาธารณสุข

“ส่วนเรื่องการตัดสินใจออกคำสั่งครั้งนี้ เราไม่รู้ ต้องถามคนออกคำสั่ง ไม่ควรเดา คนมีอำนาจหน้าที่ ทั้ง พล.อ.ไพบูลย์ ทั้งนายกฯ มีข้อมูลรับมาหลายทางเหลือเกิน จะทางโปรคอน จะไปปิดกั้นเขาให้ฟังข้อมูลด้านเดียว เชื่อด้านเดียวไม่ได้”

สำหรับความเป็นห่วงว่าประเด็นนี้จะถูกหยิบยกไปปลุกปั่นสร้างปัญหาแทรกซ้อนหรือไม่ นพ.พลเดช กล่าวว่า อยากฝากให้แง่คิดพี่น้องเครือข่ายเอ็นจีโอภาคประชาสังคมท้องถิ่น ที่ทำงานกับ สสส. ห่วงใย เป็นเดือดเป็นแค้น ตั้งสติ ตอนนี้มีทางออกหมดแล้ว

อยากให้ตั้งสตินิดหนึ่ง แน่นอนเราเสียใจ เราไม่พอใจ ไม่แฮปปี้ แต่มันผ่านไปแล้ว ต้องกลับมาดู หาทางออก ทุกคนรับบัญชาพร้อมๆ กัน จะเบี้ยวทีหลังไม่ได้ นายกฯ บอก ถ้าปรับแก้ระเบียบ26 ข้อ แล้วคุณส่งมาผมก็อนุมัติ ก็จบ เข้าใจกันเปล่า ซักซ้อมด้วยนะ ชาตอุดม ท่านณรงค์ เข้าใจตรงกัน นายกฯ รอเซ็นอย่างเดียว

“ในใจท่านนายกฯ คิดอะไรไม่รู้ แต่ไม่มีใครไม่เคยทำงานพลาด บางทีเรารู้สึกพลาดอะไรไปบางอย่างต้องกลับมาแก้ ซึ่งแก้ทันควันแบบนี้ผมก็ซูฮกเหมือนกัน” นพ.พลเดช กล่าว