posttoday

แบงก์กระตุกรัฐรับมือ แรงกระแทกเฟดขึ้นดอกเบี้ย

02 มกราคม 2559

ปี 2559 เป็นปีเริ่มต้นที่ระบบการเงินโลกจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้ง หลังจากเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มพ้นจากวิกฤต

โดย...เสาวรส รณเกียรติ

ปี 2559 เป็นปีเริ่มต้นที่ระบบการเงินโลกจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้ง หลังจากเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มพ้นจากวิกฤตปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ หรือวิกฤตซับไพรม์ ที่ดำรงมานานถึง 10 ปีนับแต่ปี 2548

ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบ 9 ปี เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2558 จากระดับ 0-0.25% เป็น 0.25-0.50% รวมทั้งประกาศว่าอัตราดอกเบี้ยเป้าหมายอาจจะอยู่ที่ 1.325% ในปี 2559 บ่งชี้ว่า เฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% เป็นจำนวน 4 ครั้งในปี 2559

การปรับเปลี่ยนนโยบายอัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น หลังจากที่เฟดปล่อยสภาพคล่องท่วมโลกด้วยการทำคิวอี ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตลาดการเงินของโลกครั้งใหญ่ และส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศในตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งประเทศไทยด้วย

แต่ผลกระทบดังกล่าวจะมากหรือน้อย หรือในรูปแบบใดนั้น ลองมาฟังความเห็นจาก กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ

กอบศักดิ์ ระบุว่า เฟดประกาศว่าจะขึ้นดอกเบี้ยปีนี้ 4 ครั้ง เพื่อไปยังเป้าหมาย 1.325% ถือว่าเป็นความท้าทายของเฟดมาก ในการสื่อสารกับตลาดการเงินให้รับรู้ว่าเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในยังเป้าหมายอย่างไร ไม่มีการสร้างเซอร์ไพรส์ให้กับตลาด จะส่งผลดี ทำให้ตลาดการเงินปรับตัวได้

เหมือนตอนที่เฟดทำคิวอีครั้งแรก 10 พันล้านเหรียญสหรัฐ คนคิดว่าเขาจะหยุด พอเขาทำครั้งที่สอง ครั้งที่สาม มันสื่อสารว่า ทุกการประชุมของเฟด เขาจะทำคิวอีมากขึ้น 10 พันล้านเหรียญสหรัฐ การขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเฟดขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% ในการประชุมสักสองสามครั้ง ตลาดก็จะรับรู้ว่า เฟดจะไปลักษณะนี้จนกระทั่งถึงจุดจบของเขา แต่ถ้าการขึ้นของเขาทำครั้ง และหยุด ตลาดจะงง

นั่นหมายถึงธนาคารกลางต้องรู้จักสื่อสารกับตลาด ไม่ไช่สร้างเซอร์ไพรส์ให้กับตลาด แต่ต้องทำให้ตลาดเข้าใจ และยิ่งตลาดเข้าใจเรามากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้ตลาดปรับตัวรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นข้างหน้าได้เร็วขึ้น

แต่ถ้าเฟดบอกจะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งเว้นครั้ง ประชุมครั้งที่หนึ่งขึ้นดอกเบี้ย แต่พอประชุมครั้งที่สองหยุดขึ้นดอกเบี้ย ตลาดจะคิดว่าเฟดไม่เอาจริงนั่นคือปัญหา คือความท้าทายของเฟด เหมือนที่รัฐบาลไทยประกาศว่า จะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแต่ในทางปฏิบัติ ทำบ้างไม่ทำบ้าง นักลงทุนก็หยุดก็ชะลอไป

นอกจากนี้ ตลาดการเงินโลกกำลังปรับตัว จากการที่เศรษฐกิจสหรัฐดีขึ้น และส่งผลมาหลายปีแล้ว เห็นได้จากดัชนีค่าเงินดอลลาร์ หรือ Dollar Index ปรับตัวแข็งขึ้นจาก 80 เป็น 100 หรือปรับขึ้นเกือบ 25% โดยที่ค่าเงินดอลลาร์ไม่เคยเป็นอย่างนี้มาก่อน

เพราะฉะนั้น ในปี 2559 ตลาดการเงินจะเป็นอย่างไร จะปรับตัวได้หรือไม่นั้น ขึ้นกับความสามารถในการสื่อสารการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

ในด้านดูดซับสภาพคล่องของเฟดเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการขึ้นดอกเบี้ยนั้น กอบศักดิ์ เห็นว่า เฟดมีกระบวนการที่คนทั่วไปยังไม่เข้าใจ เพราะเฟดยืนยันว่าจะไม่ขายพันธบัตรมาดูดซับสภาพคล่อง เพราะตอนที่เฟดไล่ซื้อพันธบัตรนั้น ใช้เวลาถึง 7 ปี จนทำให้มีพันธบัตรอยู่ในมือถึง 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งที่ ปกติสภาพคล่องในระบบควรอยู่ที่ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เท่ากับมีสภาพคล่องส่วนเกินประมาณ 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

เฟดจะทำอย่างไรกับสภาพคล่องส่วนเกินนี้ เพราะดอกเบี้ยทุกระดับจะมีสภาพคล่องที่เหมาะสมกับตัวเอง ปรากฏว่า เฟดใช้วิธีเปิดหน้าต่างอีกหน้าต่างหนึ่ง เพื่อให้คนมาฝากเงินกับเฟดได้ ที่เรียกว่า รีเวิร์สรีโป ซึ่งต้องเป็นหน้าต่างที่ดูดสภาพคล่องที่ใหญ่พอสมควร ฉะนั้น เฟดจึงเปิดหน้าต่างรับฝากเงินจากธนาคารทุกแห่งทั่วโลก ด้วยอัตราดอกเบี้ยปีนี้ 1% ปีหน้า 2% ปีถัดไป 3%

ซึ่งหากเทียบกับธนาคารในยุโรปที่ผู้ฝากจะต้องจ่ายเงินค่าฝาก และปล่อยสภาพคล่องเพิ่มขึ้น ญี่ปุ่นปล่อยสภาพคล่องเพิ่ม จีนเองก็ปล่อยสภาพคล่องเพิ่ม ไม่ต้องแปลกใจเลยว่า เงินจะวิ่งไปไหน

การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐครั้งนี้จึงไม่ใช่เหตุการณ์ธรรมดา แต่เป็นเหตุการณ์ที่จะส่งผลกระทบมูลค่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาทองคำ ทุกอย่าง

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทย กอบศักดิ์ เห็นว่า ความเสี่ยงจากการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐไม่ได้เกิดจากผลกระทบในระลอกแรก หรือการไหลออกของเงินทุนต่างชาติ เพราะอย่างที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง ระบุ คือ ไม่เป็นไร ไทยมีเงินลงทุนของต่างชาติในตลาดหลักทรัพย์และตลาดพันธบัตรไม่มาก นอกจากนี้ยังมีดุลบัญชีเดินสะพัดที่ดี มีการเกินดุลมาโดยตลอด

แต่ความเสี่ยงของประเทศไทยอยู่ในผลกระทบในระลอกที่สองมากกว่า คือการที่เงินไหลออกจากประเทศเกิดใหม่ (อีเมิร์จจิ้ง มาร์เก็ต) ทำให้ค่าเงินของแต่ละประเทศอ่อนค่าลงเรื่อยๆ สภาพอย่างนี้ประเทศไทยจะยืนหยัดได้อยู่หรือไม่ ประเทศไทยจะยืนหยัดไปได้อย่างไร ค่าเงินบาทของไทยจะยืนอยู่ที่ 36 บาท/เหรียญสหรัฐได้หรือเปล่า

คือตอนนี้ปัญหาไม่ใช่ของประเทศไทยแล้ว แต่เป็นปัญหาจากประเทศอื่นที่มากระทบต่อไทย ซึ่งในโลกจะมีประเทศที่ถูกกระทบจากการที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยหลักๆ คือ บราซิล แอฟริกาใต้ รัสเซีย ตุรกี อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

และในอีก 3 ปีข้างหน้าจะมีอะไรเกิดขึ้นกับกลุ่มประเทศเกิดใหม่เหล่านี้ ขณะที่ไทยแม้จะมีข้อดี คือการเปิดเสรีทางการค้ากลุ่มประเทศอาเซียน หรือเออีซี และมีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐมาช่วย แต่คำถามคือ มันจะมากเพียงพอที่จะรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในโลกนี้ได้หรือไม่

ฉะนั้น เกมที่่รัฐบาลและเราต้องอ่าน คือ มีใครหรือประเทศใดบ้างที่จะป่วย และอาการป่วยจะลามมาถึงประเทศไทยมากน้อยแค่ไหน ประเทศไทยแข็งแรงพอที่จะรับมือหรือเปล่า

และรัฐบาลจะเตรียมการอย่างไรให้ไทยมีความเข้มแข็งในการรองรับเวลาประเทศอื่นเริ่มป่วย ประเทศไทยจะได้มีภูมิคุ้มกันภัย