posttoday

เลือกตั้งใบเดียว แก้ปัญหาการเมืองทั้งระบบ

31 ธันวาคม 2558

"พรรคการเมืองบอกว่านี่เป็นการเปิดโอกาสให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอก แต่จริงๆแล้วไม่ได้เป็นการเปิดโอกาสเลย เพราะจริงๆแล้วคนที่จะประกาศให้ ประชาชนทราบว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีจำนวน 5 คน คือ พรรคการเมือง"

โดย....ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ใกล้คลอดเต็มทีแล้ว โดยร่างแรก ที่จะเป็นตัวบทจริง จะได้เห็นหน้าค่าตากัน ประมาณวันที่ 29 ม.ค.2559 แต่กระนั้น ก็ตามหลักใหญ่ใจความ สาระของรัฐธรรมนูญ ดังกล่าว คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)ได้แถลงออกมาเป็นระยะๆ

และก่อนที่กรธ.จะไปปักหลังเขียนตัวบทกัน ระหว่างวันที่ 11-17 ม.ค.2559 ที่หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธุ์ ทาง โพสต์ทูเดย์ ได้สัมภาษณ์ "มีชัย ฤชุพันธุ์" ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ถึงภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ซึ่งมีสาระน่าสนใจดังนี้

อาจารย์มีชัย ได้สรุปภาพรวมของเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ 4 ส่วนสำคัญ ประกอบด้วย ‘สิทธิและหน้าที่ของประชาชน’ ‘โครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติ’‘การปราบปรามทุจริต’ และ ‘โครงสร้างฝ่ายบริหาร’ โดยมีเนื้อหาดังนี้

“สิทธิและหน้าที่ของประชาชน เราเปลี่ยนโครงสร้างของการบัญญั ติรับรองสิทธิของประชาชนใหม่ แทนที่จะบัญญัติว่าสิทธิมี อะไรบ้าง แต่เราบัญญัติตรงกันข้าม คือ อะไรที่จะไปจำกัดในเรื่องใดจะต้ องมีการบัญญัติลงไปในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมาย ส่วนอะไรที่ไม่ได้ห้าม ถือว่าประชาชนจะมีสิทธิหมด การออกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิ ของประชาชนนั้นจะไม่ดำเนิ นการเกินพอสมควรและต้องไม่ขัดกับหลักการของรัฐธรรมนูญ ตรงนี้จะเป็นการเปิดช่องให้ไม่ ต้องเจียระไนอะไรกันมากในรัฐธรรมนูญ แต่เจียระไนเฉพาะเรื่องสำคัญเท่านั้น”

“นอกจากนี้ จากเดิมที่รัฐธรรมนูญจะเขียนสิทธิบางอย่างไว้ลอยๆ เราจึงมาเขียนสิทธิบางอย่างใหม่ โดยให้เป็น หน้าที่ของรัฐ คือ รัฐมีหน้าที่ต้องทำ แปลว่าไม่ว่าพรรคการเมืองจะเข้ามามีสิ่งที่ต้องทำตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นหน้าที่ ของรัฐ เช่น การศึกษา หรือ การปราบปรามการทุจริต เป็นต้น ส่วนแนวนโยบายแห่งรัฐที่จะมีอยู่รัฐธรรมนูญนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐจะดำเนินการหรือไม่ก็ได้ เพราะไม่ต้องการให้เกิดก้าวก่ายในการทำหน้าที่ของรัฐบาลมากเกินไป”

“เดิมทีเวลาเขียนรัฐธรรมนูที่เกี่ยวกับคณะรัฐมนตรีก็จะบอกแค่ว่าคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน แต่เกิดปัญหาว่าเรื่องไหนเป็นหน้าที่ของรัฐบาล เนื่องจากมีการตั้งองค์กรอิสระที่ได้พ่วงอำนาจบางอย่างไปด้วย เช่น เมื่อมีป.ป.ช.(คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) แล้ว รัฐบาลก็จะบอกว่าการปราบปรามทุจริตไม่ใช่เรื่องของรัฐ แต่เป็นเรื่องของป.ป.ช. เป็นต้น ทำให้เกิดความสงสัยว่าแล้วรัฐบาลจะเหลือความรับผิดชอบอะไร”

“เราจึงมาคิดว่าควรมีหน้าที่บางประการที่รัฐต้องทำโดยไม่สามารถปฏิเสธได้นอกเหนือไปจากการบริหารราชการแผ่นดินทั่วไป ตรงนี้เราทำเพื่อเตือนรัฐบาลว่าคุณจะปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ไม่ได้นะ คุณจะต้องรับผิดชอบ”

ด้านโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติ อาจารย์มีชัยได้โฟกัสมาที่การเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งสส.ระบบเขตเลือกตั้งและสส.ระบบบัญชีรายชื่อจากการเลือกตั้งด้วยบัตรเลือกตั้งสองใบมาเป็นใบเดียวและเรียกระบบการเลือกตั้งนั้นว่า “การเลือกตั้งระบบจัดสรรปันส่วนผสม”

“ที่มาของสส.เราคิดว่าที่ผ่านมาเวลาเราไปเลือกสส. เราจะรู้สึกได้ด้วยตัวเราเองว่าเวลาเราไปเลือกแล้วคะแนนเราจะมีผลหรือไม่มีผล เพราะถ้าเราไปอยู่เขตที่ทุกคนฮือกันไปอีกข้าง เราไปเลือกตั้งก็ซังกะตายไป พอดีพอร้ายก็ไม่อยากไป เพราะเลือกไปคนนั้นก็แพ้แน่ๆ แต่คะแนนระหว่างคนที่ได้รับเลือกตั้งและไม่ได้รับเลือกตั้งมี ความสูสีกันเลยพอสมควร ประมาณ 40%ต่อ50%ทีเดียว แสดงว่าคะแนนถูกทิ้งน้ำไปมากกว่าครึ่ง แล้วบางพื้นที่คะแนนของคนที่ไม่ได้รับเลือกตั้งรวมกันกลับมากกว่าคนที่ได้รับเลือกตั้ง แต่คะแนนพวกเขากลับถูกทิ้งน้ำไปเลย”

“เรามาคิดว่าทางที่ดีที่สุด คือ การให้ลงคะแนนเลือกตั้งด้วยบัตรเพียงใบเดียว และเอาคะแนนมาแยกว่าพรรคการเมืองได้คะแนนนิยมกี่เปอร์เซ็นต์ สมมติเขาได้คะแนนนิยม 60% ก็จะได้สส.คิดเป็น 60% แต่หากเกิดได้จำนวนที่นั่งสส.ไม่ถึงคะแนนนิยมก็จะต้องมีการชดเชยจำนวนสส.ให้ครบตามคะแนนความนิยม”

“ถามว่าเราทำอย่างนี้เพื่อหวังอะไร เราไม่ได้หวังให้พรรคการเมืองใดได้เปรียบใครเลย เราดูแต่ว่า 1.ประชาชนไปลงคะแนนแล้วคะแนนของเขาได้รับการยอมรับนับถือ 2.เวลาไปลงคะแนนแล้ว ประชาชนจะต้องคิดมากขึ้น คุณจะต้องดูทั้งพรรคและทั้งคน เพราะคนดีไปอยู่พรรคไม่ดีก็ทำอะไรไม่ได้ หรือ คนไม่ดีไปอยู่พรรคดี ก็ทำให้พรรคนั้นปั่นป่วน ดังนั้น ประชาชนต้องขยับขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง และต้องคิดว่าเลือกพรรคถูกไหม ต้องดูทั้งพรรคทั้งคนแล้วไปเลือกตั้ง”

“ส่วนการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ทางเราคงไปยุ่งอะไรมากไม่ได้ มีเรื่องเดียวที่เราเป็นกังวล คือ การตั้งงบประมาณสำหรับ สส. ซึ่งรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาได้กำหนดการห้ามจัดงบประมาณให้กับสส. แต่เรากลับพบความจริงที่ขมขืนว่าในที่สุดส.ส. และส.ว. สำนักงบประมาณ และคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ กระทรวง ทบวง กรม ร่วมกันละเมิดรัฐธรรมนูญอย่างหน้าตาเฉย เพราะไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่างบท สส.นั้นไม่มี ทุกคนก็รู้”

“เราก็เขียนในรัฐธรรมนูญว่าคุณทำได้ทำไป แต่เมื่อไหรจับได้ เมื่อมีเครื่องมือยืนยันได้ว่ามันเป็นอย่างนั้น สส.ไปทั้งสภา สว.ไปทั้งสภา คณะรัฐมนตรีไปทั้งชุด กระทรวง ทบวง กรม สำนักงบประมาณต้องรับผิดชอบ นี่ยาแรงที่สุดเท่าที่เราจะคิ ดออก เพราะเรารู้กันทุกคนว่างบประมาณเหล่านั้นจะไปที่ไหน มันก็ไปเร่ขายกันใช่หรือไม่ กี่เปอร์เซ็นต์  30-40% เห็นกันชัดทั้งเมือง สื่อมวลชนก็รู้”

“ทำได้ทำไป และนี่จะไม่มีอายุความ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณคนไหนรู้เห็นเป็นใจ เกษียณอายุราชการไปแล้ว10ปี ก็ยังสามารถถูกดำเนินคดีได้”

สำหรับการออกแบบการปราบปรามการทุจริตในร่างรัฐธรรมนูญ นับว่าเป็นเนื้อหาส่วนสำคัญที่ ประธานกรธ.ยอมรับว่าได้ให้ ความใส่ใจเป็นพิเศษ โดยให้ทัศนะว่าการทุจริตซึ่งรวมไปถึงปัญหาจริยธรรมทางการเมืองได้นำมาซึ่งความขัดแย้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องแก้ต้นเหตุของปัญหานี้ให้ได้ด้วยการให้มีกลไกพิเศษที่ชี้ถูกชี้ผิดแบบเด็ดขาดเพื่อจะได้ไม่ให้ เกิดข้อโต้เถียงที่บานปลาย

“ปัญหาที่ถกเถียงกัน คือ การกระทำแบบใดถึงเรียกว่าการทุจริต บางคนบอกว่าการทำแบบนี้ไม่ทุจริตบางคนบบอกว่าการทำแบบนี้เป็นการทุจริต เถียงกันแบบไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้น เราต้องหาจุดที่มันจะสามารถหยุดปัญหา โดยให้มีคนชี้ขาดที่ชัดเจนแน่นอนเวลาเกิดปัญหาว่ามันทุจริ ตหรือสุจริต ก็ให้มีองค์กรมาชี้ และเมื่อชี้แล้วกลไกทางการเมื องก็ควรเดินต่อไป”

“เมื่อกลไกทางการเมืองจะเดินต่อไป เราก็ย้อนกลับไปดูว่าของเดิมทำกันอย่างไร ของเดิมใช้วิธีการถอดถอน แต่การถอดถอนได้กลายเป็นเรื่องทางการเมืองที่สุดแต่ว่าพรรคการเมืองจะกำกับสมาชิกได้มากน้อยแค่ไหน และในที่สุดเราก็จะพบว่าในยามปกติไม่เคยมีการถอดถอนได้เลย และลักษณะอย่างนั้นมันเลยเป็นการฟอกให้คนอ้างว่าเห็นไหมว่าผมไม่ได้ผิด จึงไม่ถูกถอดถอน ทั้งๆที่จริงๆแล้วการถอดถอนหรือไม่ถอดถอนมันเป็นผลจากการประสานทางการเมืองมากกว่าจะดูว่าคนนนั้นทำผิดจริงหรือเปล่า”

“เราก็คิดว่ากระบวนการในการถอดถอนที่ฝรั่งเคยใช้ได้ มันใช้ไม่ได้สำหรับคนไทย เราจึงเปลี่ยนสภาพมันเสียว่า ถ้าคนนั้นทำผิดก็ต้องหาคนมาชี้ หากชี้แล้วว่าเขาผิดก็ต้องมี บทลงโทษเหมือนกับเวลาที่ถูกกล่าวหาไปฉ้อโกงมาหรือไม่ก็จะมีคนมาชี้ว่าเราฉ้อโกงหรือเปล่า คือ ศาล เมื่อศาลชี้ว่าเราฉ้อโกงปั๊บกลไกในการลงโทษก็จะตามมา ไม่ต้องไปนั่งถอดถอนหรือโหวตกันว่าจะลงโทษหรือไม่ เราเลยมาคิดว่าเมื่อกลไกการถอดถอนมันไม่ทำงานก็ต้องเปลี่ยนใหม่ คือ เมื่อคุณทำผิดอย่างใดอย่างหนึ่งจะถูกนำไปสู่องค์กรบางองค์กรทำการชี้ว่าผิดหรือไม่ ถ้าชี้ว่าผิดคุณก็ต้องไป”

อีกเรื่องที่สมควรมีกลไกที่เข้มแข็งในสายตาของอาจารย์มีชัยและต้องทำให้เป็นรูปธรรม คือ จริยธรรมทางการเมือง

“เรื่องหนึ่งที่สำคัญ คือ จริยธรรมทางการเมือง บางเรื่องอาจไม่ได้เป็นเรื่องผิดในทางกฎหมายแต่การผิดจริยธรรมว่าควรหรือไม่ควรทำ ซึ่งมักจะเรียกร้องว่าควรมีสปิริต คำว่าสปิริตในบ้านเรามันใช้ไม่ค่อยได้ เราเลยไปกำหนดไว้ว่าในระหว่างทีคุณดำรงตำแหน่งใดก็ตาม คุณจะต้องไม่ประพฤติผิดหรือไม่ ฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง”

“ถามว่าจริยธรรมเหล่านี้ ใครจะเป็นคนทำ แต่ก่อนหน้านี้เป็นรูปแบบต่างคนต่างทำ พอทำแล้วก็ไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับ ดังนั้น เราคิดว่าองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบอำนาจรัฐที่เป็นองค์กรอิสระประมาณ 4-5 องค์กร ถ้าเราจับเขามานั่งรวมกลุ่มกันและไปคิดว่าจริยธรรมทางการเมืองทั้งหมดควรเป็นอย่างไร พอร่วมกันทำกันเสร็จก็มาบังคับใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันหมด ถ้าใครผิดจริยธรรมขั้นธรรมดาก็ให้ภายในองค์กรไปว่ากันเอง แต่ถ้าเป็นขั้นทำผิดร้ายแรงก็ อาจเข้าข่ายคุณสมบัติ การดำรงตำแหน่งทันที ไม่ต้องไปสู่กระบวนการถอดถอนอีก”

“ด้วยกระบวนการเหล่านี้เราคิดว่าการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐจะมีผลที่สมบูรณ์มากขึ้น ไม่ต้องรอการพึ่งพาในการประสานทางการเมือง ซึ่งมันอันตราย และทำให้คนท้อใจเกินไป” ประธานกรธ.กล่าวโดยสรุป

เลือกตั้งใบเดียว แก้ปัญหาการเมืองทั้งระบบ

พรรคการเมืองกำหนดนายกฯคนนอก

ขณะที่ โครงสร้างของฝ่ายบริหาร คณะกรธ.ได้ถูกเพ่งเล็งเป็นอย่างมากถึงการกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีจากบุคคลที่เป็นสส.หรือไม่ได้เป็นสส.ก็ได้ จนเป็นเป้าให้มีการโจมตีว่าคณะกรธ.เปิดประตูให้เกิดการสืบทอดอำนาจผ่านมีนายกฯคนนอกหรือไม่

พอนำประเด็นนี้มาสนทนากับอาจารย์มีชัยก็ได้คำตอบที่แฝงนัยว่า “คนนอกจะเข้ามาได้ก็ เพราะพรรคการเมือง” จากนั้นได้อธิบายถึงเหตุผลของการกำหนดกระบวนการในการได้มาซึ่งนายกฯแบบใหม่

“ทุกวันนี้เวลาเราไปเลือกตั้งแล้วบอกว่าให้สส.มาลงคะแนนเลือกใครมาเป็นนายกรัฐมนตรี ถามว่ามันขึ้นอยู่กับอะไร ก็ขึ้นอยู่กับพรรคที่เป็นตัวตั้งในการจัดตั้งรัฐบาลว่าจะไปเอาใครมา ถามว่าประชาชนรู้กระบวนการนี้หรือไม่ ก็คงไม่รู้ไม่รู้ว่าเขาจะไปเอาใครมาเป็นนายกรัฐมนตรี อาจเดาๆแค่ว่าเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองนั้น ซึ่งบางทีก็ไม่ใช่”

“เราจึงมาคิดว่าถ้าอย่างนั้นมันก็ไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรง ถ้าพรรคการเมืองจะบอกให้ ประชาชนรู้ก่อนได้หรือไม่ว่าถ้าพรรคตัวเองได้จัดตั้งรัฐบาล ไม่ว่าจะจัดตั้งรัฐบาลโดยลำพัง หรือ ต้องมีพรรคร่วมรัฐบาล จะเอาใครมาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยจะต้องประกาศชื่อนั้นในวันสมัครรับเลือกตั้งสส.ให้ประชาชนได้ทราบด้วย ซึ่งสามารถประกาศรายชื่อได้ไม่ เกิน 5 คน แบบนี้ทำให้เวลาประชาชนไปเลื อกตั้งจะต้องดู 3 อย่าง 1.คน 2.พรรคการเมือง 3.นายกรัฐมนตรี”

“พรรคการเมืองบอกว่านี่เป็นการเปิดโอกาสให้มี นายกรัฐมนตรี คนนอก แต่จริงๆแล้วไม่ได้เป็นการเปิดโอกาสเลย เพราะจริงๆแล้วคนที่จะประกาศให้ประชาชนทราบว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีจำนวน 5 คน คือ พรรคการเมือง และถามว่าตอนนั้นมีใครรู้หรือยังว่าใครจะเป็นสส. ก็ต้องตอบว่ายัง เพราะเป็นการประกาศชื่อตอนไปสมัครเลือกตั้งสส.”

“เวลาประกาศชื่อไปแล้ว ชาวบ้านจะได้รู้ว่าเวลาเลือกพรรคการเมืองนั้นแล้วก็จะได้คุณเป็นนายกรัฐมนตรี เขาก็จะได้ไปคิด ดังนั้น ที่บอกว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญไปเปิดช่องให้คนนอก จึงไม่ใช่ คนนอกจะเข้ามาได้ก็ เพราะพรรคการเมืองนั้นเอง เพราะเรากำหนดไว้ว่าการเสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรี จะต้องเป็นมติพรรค”

ประธานกรธ.ระบุอีกว่า “แล้วถามว่าทำไมไม่บังคับให้ นายกฯเป็น สส.ไปเลย ก็ต้องตอบว่าหากทั้ง 5 คนที่คุณเสนอขึ้นมาเกิดไม่ได้รับเลือกตั้งเป็นสส. คุณจะทำอย่างไร ไม่โกลาหลเหรอ ยิ่งพรรคการเมืองใหญ่ยิ่งอันตรายถูกไหม สมมติคุณเสนอให้ผู้สมัครสส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 ถึง 5 เป็นนายกรัฐมนตรี ถามว่าคุณจะรู้ได้ไงว่าผู้สมัครของคุณจะได้รับเลือกตั้งเป็นสส.ระบบบัญชีรายชื่อ เพราะด้วยระบบเลือกตั้งแบบใหม่ โอกาสที่คุณจะไม่ได้รับเลือกให้ เป็นสส.บัญชีรายชื่อก็มีอยู่”

“เช่น พรรคคุณได้คะแนนนิยม 50% แต่คุณสส.ระบบเขตมาแล้ว 60% เท่ากับว่าจะไม่ได้สส.บัญชีรายชื่ออีก ถือว่าตกเลย คุณจะไปเอาสส.ที่ไหนมาเป็นนายกรัฐมนตรี เราไม่ได้ใจไม้ไส้ระกำขนาดนั้น เราก็บอกแค่ว่าโอเค คุณก็เลือกของคุณเอาเอง ถ้าคนนั้นได้รับเลือกตั้งหรือไม่ได้รับเลือกตั้งเป็นสส.ก็ยังมีสิทธิได้เป็นนายกรัฐมนตรี”อาจารย์มีชัยแจกแจง

นิรโทษกรรม ไม่สร้างปรองดอง

การสร้างความปรองดอง เป็นอีกโจทย์สำคัญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งนับตั้งแต่ “มีชัย ฤชุพันธุ์” มาทำหน้าที่ประธาน กรธ.ก็ให้ความสำคัญกับการสร้างความปรองดอง โดยได้ตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาประเด็นปัญหาการสร้างความปรองดองขึ้นมาศึกษาเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ

อย่างไรก็ตาม ประธาน กรธ.บอกว่า กลไกต่างๆ ที่ กรธ.ได้นำมาใส่ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญจะช่วยให้การปรองดองเกิดขึ้นได้ในตัวเอง

“เราเชื่อว่าแนวทางและกลไกต่างๆ ที่เราใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญจะเป็นกลไกที่นำไปสู่ความปรองดองไปในตัวด้วย ได้แก่ ปรองดองระหว่างราษฎรด้วยกัน โดยแต่ก่อนเวลาคุณไปเลือกตั้ง เวลาคุณแพ้คุณจะแพ้หมดตัว ก็ได้แต่นั่งเคียดแค้นอยู่ในใจ รออีกที 4 ปี ป่วนได้ก็ป่วน แต่ต่อไปนี้คะแนนของคุณมันถูกยอมรับนับถือ เพราะนำไปคิดจำนวน สส. ถ้าคุณไปลงคะแนนให้พรรคไหน พรรคการเมืองก็จะได้ คุณก็มีโอกาส ไม่ได้รัฐบาลแต่ก็จะได้ สส.ไปดูแลแทน มันไม่ใช่เป็นการชนะแบบเด็ดขาด แต่เป็นการเฉลี่ยกันไป มันก็จะทำให้พออยู่กันไปได้ ไม่ใช่สูญสิ้นหมด”

“ขณะเดียวกัน เราก็สร้างกลไกอื่นๆ เพิ่ม เพื่อให้เกิดการปรองดอง เช่น เมื่อก่อนนี้ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พอเป็นแล้วก็ไม่มีอะไร แต่เมื่อตั้งแล้วก็ควรให้มีบทบาท อย่างยามวิกฤตต่างๆ ก็ให้ผู้นำฝ่ายค้านมีสิทธิยื่นข้อเสนอแนะข้อคิดเห็นไปให้รัฐบาลไปดำเนินการ ซึ่งไม่ใช่การเปิดอภิปรายทั่วไปที่มามะรุมมะตุ้มกัน”

“แต่เราให้ผู้นำฝ่ายค้านเป็นคนเสนอ และเมื่อรัฐบาลรับข้อเสนอแล้วจะต้องกลับมารายงานว่าทำได้หรือไม่ได้อย่างไร เรียกว่าเป็นการพูดคุยกันในทางการเมืองเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง มันจะได้มีช่องทาง ตรงนี้ก็เป็นอีกวิธีการปรองดอง เพื่อไม่ให้เกิดการหักโค่นไปเสียทีเดียว”

“เช่นเดียวกับการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งเดิมถ้าจะอภิปรายเรื่องทุจริตจะต้องแจ้งกับ ป.ป.ช.ก่อน และต้องระบุว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งส่วนนี้ทำให้กระบวนการเปิดอภิปรายมันเป็นการเอาเป็นเอาตายกันเกินไป แล้วในที่สุดมันก็ไม่ได้อย่างที่ต้องการหรอก ดังนั้น คุณจะไปกำหนดเงื่อนไขนั้นทำไม เพราะปกติแล้วถ้ามีหลักฐานที่กล่าวหาว่ามีการทุจริตเพียงพอ ก็มีการเสนอไปยัง ป.ป.ช.อยู่แล้ว”

“บางทีกลไกทางการเมืองไม่จำเป็นต้องเอากันให้ตาย เพียงแต่เป็นการบอกให้รู้ว่าเรารู้ทันคุณนะ อย่างน้อยที่สุดรัฐบาลก็จะระมัดระวังมากขึ้น ความเสียหายก็จะได้ไม่เกิด”

เมื่อขอให้ประธาน กรธ.ชี้ลงไปว่า สาเหตุของการไม่ปรองดองมาจากจุดใด ปรากฏได้คำตอบว่า “มันเป็นเรื่องของการมองต่างมุมในแง่ของการบริหารบ้านเมือง และจุดใหญ่ใจความมันอยู่ที่การทุจริต คนที่บริหารอยู่ก็อยากทำอะไรเยอะแยะ และคิดว่านั่นไม่ใช่การทุจริต ฝ่ายหนึ่งบอกว่าที่ทำกันอยู่เป็นการทุจริต เกิดการเถียงกันไปเถียงกันมาจนหาคนชี้ขาดไม่ได้”

“ถ้าเราสร้างกลไกว่า เมื่อไหร่เกิดปัญหาอย่างนี้ขึ้นมา ต้องไปหาคนมาชี้ขาด พอชี้แล้วต้องหยุด เรื่องมันจะไม่บานปลายและไม่ไปทะเลาะกันริมถนน ให้ทุกอย่างมีทางออกและมีจุดที่สิ้นสุด มันก็จะสามารถหยุดการแตกแยกเอาไว้ได้ และเป็นกลไกทางการเมืองโดยเฉพาะที่ช่วยให้บ้านเมืองเดินต่อไปข้างหน้าได้”

เลือกตั้งใบเดียว แก้ปัญหาการเมืองทั้งระบบ

การนิรโทษกรรมมีความจำเป็นต่อการสร้างความปรองดอง? ประธาน กรธ.ตอบว่า “การนิรโทษกรรมไม่น่าจะเป็นเรื่องของการปรองดอง การนิรโทษเป็นเรื่องของการให้อภัยไม่ใช่ปรองดอง เพราะมันมีที่ไหนบอกว่า ถ้านิรโทษกรรมให้คุณแล้ว คุณจะดีกับผม มันไม่มี”

“มันไม่มีหลักคิดที่ว่าถ้านิรโทษกรรมแล้วทุกคนจะลืมทุกอย่างหมด ถามในทัศนะของคุณคิดว่าถ้านิรโทษกรรมแล้วทุกคนจะกลับมายิ้มแย้มแจ่มใสกันหรือเปล่า ถ้ามันใช่ ก็โอเค ก็ทำไป แต่ผมไม่คิดว่ามันจะใช่ (หัวเราะ)”

ในช่วงท้ายการสัมภาษณ์ได้ถามถึงความคาดหวังของประธาน กรธ.ในการให้บ้านเมืองได้รับการแก้ไขผ่านกลไกของร่างรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นประชาธิปไตยที่เหมาะกับประเทศไทย”

“ผมก็คิดว่ากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 21 คน เป็นมนุษย์ ก็พยายามเค้นสติปัญญาออกมา ได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น มันคงยืนยันไม่ได้หรอกว่าที่เราเขียนออกมาทั้งหมด มันจะแก้ไขได้หมดทุกปัญหา แต่อะไรที่มีใครบอกมา เราก็จะพยายามไปคิดสูตรและหาทางแก้ไขปัญหาออกมาให้ได้”

“อีกอันหนึ่งที่เราคิดว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้บ้านเมืองไม่กลับไปสู่กลียุคได้ง่ายนัก คือ 1.การมีวินัยของคน 2.การบังคับใช้กฎหมายที่ต้องเข้มงวดและเคร่งครัด ถ้าไม่มีการทำสองเรื่องนี้ ไม่ว่าเขียนรัฐธรรมนูญกี่หนมันก็ล้ม”

“ถามว่าความมีวินัยของคนจะทำอย่างไร มันทำได้ด้วยทางเดียว คือ การศึกษา ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา และต้องเริ่มตั้งแต่ก่อนวัยเรียน สอนเด็กให้มีวินัย ปัญหาบ้านเมืองของเราที่เกิดขึ้น เพราะขาดความมีวินัย เมื่อคนไม่มีวินัย ก็ทำผิดอะไรได้เรื่อย ทำในทุกอย่างที่อยากได้สุดแต่ว่าอะไรที่ได้ประโยชน์ เมื่อกลไกบังคับใช้กฎหมายมันไม่ทำงาน ก็ทำให้ปัญหาไปกันใหญ่ กลไกบังคับใช้กฎหมายอยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่ตำรวจ ถ้าคุณปฏิรูปตำรวจให้ตำรวจสามารถทำงานได้ตามความรู้ความสามารถ ไม่ใช่ทำงานตามที่ใครสั่ง เมื่อนั้นคุณก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้”

ต่อมา อาจารย์มีชัยมีข้อความฝากถึงฝ่ายที่แสดงความคิดเห็นในเชิงต่อต้านการร่างรัฐธรรมนูญว่า “คือว่าถ้าเวลาเขาค้านเนี่ย ค้านมาจากประโยชน์ที่ตนมองเห็น มันก็ต้องละวางกันบ้าง เพราะว่าบ้านเมืองเราบอบช้ำมาเยอะแล้ว ถึงเวลาที่เราต้องคิดถึงประเทศเป็นหลัก ว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศเดินไปได้ราบเรียบ”

“คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ได้คิดถึงพรรคหนึ่งพรรคใดเลยเวลาที่ทำในเรื่องต่างๆ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำอย่างนี้แล้วพรรคไหนจะได้เปรียบเสียเปรียบหรือได้คะแนนมาอย่างไร เราก็บอกว่าอย่าไปสนใจ ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติของการเมือง”

“สิ่งที่เราต้องป้องกันให้ดีที่สุด คือ การทุจริตที่ต้องไม่ให้เกิดขึ้น และผมเชื่อว่าถ้าเราป้องกันตัวนั้นได้ผล การเมืองถึงเราจะชอบใครหรือเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับใคร ก็คงพอรับกันได้ รอไปจนกว่าจะมีเสียงข้างมาก แต่ถ้าเมื่อไหร่เกิดการทุจริตระหว่างทาง จนกระทั่งบ้านเมืองจะหายนะ ในที่สุดคนก็จะรับไม่ได้ ดังนั้น เราต้องสกัดตรงนี้ให้มากที่สุด เราเน้นตรงนี้มากที่สุด”

กับคำถามสุดท้ายที่ถามว่า มั่นใจหรือไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านการทำประชามติ? ประธาน กรธ.ตอบแบบไม่ฟันธงว่า “ผมคิดว่าเราก็ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราไปอธิบายได้กว้างขวางแค่ไหน ถ้าเราอธิบายได้กว้างขวางเพียงพอ ผมก็เชื่อว่าประชาชนเขาเอาด้วย แต่ละเรื่องที่เราทำ เราก็ทำโพลมาก่อน”