posttoday

"กรุณาอย่าแย่งที่จอดรถคนพิการ!" มานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักรณรงค์เพื่อสิทธิผู้พิการ

21 ธันวาคม 2558

เบื้องหลังวีรกรรมอันกล้าหาญของ "มานิตย์ อินทร์พิมพ์" นักถ่ายคลิปรณรงค์เพื่อที่จอดรถคนพิการ

เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล / ภาพ...วีรวงศ์ วงศ์ปรีดี

"ผมแข็งแรงพอๆกับคุณ ไม่ต้องช่วยผม แค่อย่าเบียดเบียนผมก็พอ"

น้ำเสียงดุดัน แววตาเอาจริง ทำให้คลิปวีดีโอชื่อ "ขอแค่ไม่จอดเบียดเบียนผม (Do not take away my space)" เพื่อการรณรงค์ไม่ละเมิดสิทธิ์ที่จอดรถคนพิการของ มานิตย์ อินทร์พิมพ์ เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก Accessibility Is Freedom นั้นทรงพลังยิ่ง

กว่า 2 ปีเต็มที่ชายพิการวัย 48 ผู้นี้ เข็นวีลแชร์ไปสำรวจตรวจตราที่จอดรถคนพิการภายในห้างสรรพสินค้าทั่วกรุงเทพและต่างจังหวัด พร้อมถ่ายภาพ บันทึกวีดีโอในสิ่งที่พบเห็น เพื่อสะท้อนปัญหาการละเมิดสิทธิ์ที่จอดรถคนพิการ หวังปลุกจิตสำนึกให้สังคมตื่นตัว หันมาเอาใจใส่ให้ความสำคัญต่อสิทธิของผู้พิการมากกว่าที่เป็นอยู่

ไม่น่าเชื่อว่า คลิปวีดีโอสั้นๆเพียงคลิปเดียว จะกลายเป็นกระแสทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์อย่างรวดเร็วปานไฟลามทุ่ง

"กรุณาอย่าแย่งที่จอดรถคนพิการ!" มานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักรณรงค์เพื่อสิทธิผู้พิการ

จากวีลแชร์สู่หลังพวงมาลัย

มานิตย์ อินทร์พิมพ์ หรือ ซาบะ วัย 48 มีร่างกายไม่สมบูรณ์มาตั้งแต่กำเนิด เพราะป่วยเป็นโรคโปลิโอทำให้ขาซ้ายลีบ เดินเหินไม่ค่อยสะดวก ทว่ายังใช้ชีวิตเยี่ยงคนปกติ เรียนหนังสือ มีเพื่อนฝูง ทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง กระทั่งอายุ 24 ปี เขาประสบอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์พลิกคว่ำ ส่งผลให้เป็นอัมพาตตั้งแต่เอวลงมา ต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลนาน 1 ปีเต็ม

"ตอนนั้นหดหู่มาก กินไม่ได้ นอนไม่หลับ เครียด ไม่พูดกับใครทั้งนั้น ชีวิตพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด วันหนึ่งพยาบาลบอกว่า จะมีหมอจิตเวชจะมาให้คำปรึกษา ผมก็รู้สึกว่าเฮ้ย เราไม่ได้บ้า เราไม่ได้เพี้ยนนะเว้ย ตรงนี้เองที่กระตุ้นให้เรารู้สึกตัว ด้วยนิสัยไม่ยอมใคร ทำนองฆ่าได้ หยามไม่ได้ เลยคิดอยากจะกลับมาใช้ชีวิตอีกครั้ง จากนั้นมาผมเริ่มปรับเปลี่ยนตัวเองใหม่ กลับมาสดใสดังเดิม จนคนรอบข้างยังตกใจ"

ชีวิตใหม่บนรถวีลแชร์เป็นไปอย่างยากลำบาก ต้องหัดช่วยเหลือตัวเองไม่ต่างจากเด็กหัดเดิน กระทั่งเข้าที่เข้าทางจึงเริ่มร้องหาเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อกลับมาทำงาน ซาบะเตือนตัวเองเสมอว่าเขาไม่ใช่คนพิการ แข็งแรงดี จิตใจเข้มแข็ง จึงจำเป็นต้องพัฒนาตัวเองให้ใช้ชีวิตร่วมกับคนปกติได้ โดยไม่หวังพึ่งใคร

กระนั้น หัวใจอันแข็งแกร่งยังต้องเผชิญกับข้อจำกัดทางร่างกาย

"อุปสรรคที่กัดกินใจผมมากคือ การเดินทาง ผมต้องนั่งแท็กซี่อย่างเดียว หมดสิทธิ์หวังพึ่งระบบขนส่งมวลชนอย่างรถเมล์ รถตู้ รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน ลองนึกดูแค่คนธรรมดาเรียกแท็กซี่ยังปฏิเสธไม่ยอมไป แล้วคนพิการล่ะ พอเห็นวีลแชร์ก็ขับหนีแล้ว ไม่อยากเสียเวลาแบกขึ้นแบกลง นี่คือชะตากรรมอันน่าเศร้าที่คนพิการต้องเจอ ตอนนั้นเงินเดือนผม 13,000 บาท ไม่น้อยนะ แต่หมดไปกับค่าแท็กซี่วันละไม่ต่ำกว่า 200 บาท หรือประมาณ 7,000 บาทต่อเดือน เท่ากับครึ่งหนึ่งของรายได้ คนพิการที่มีฐานะมีคนคอยขับรถรับส่งก็โชคดีไป แต่คนพิการยากจนจะเอาเงินที่ไหนจ่ายค่าแท็กซี่ สุดท้ายเมื่อออกไปไหนไม่ได้ก็ต้องนอนเฉาอยู่กับบ้าน"ซาบะเล่าถึงอุปสรรคในการเดินทางของผู้พิการอันสวนทางกับแนวคิดของรัฐบาลที่หวังจะให้ผู้พิการออกสู่สังคม

หนทางเดียวที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของตัวเองได้คือ ต้องซื้อรถเป็นของตัวเอง ทว่าสำหรับผู้พิการที่คิดอยากจะมีรถเป็นของตัวเองนั้นย่อมลำบากยากเข็ญกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณและความสามารถในการขับรถ

"คนพิการกว่าจะเก็บเงินซื้อรถได้ใช้เวลานานกว่าคนปกติ เนื่องจากต้องเสียไปกับค่ารถแท็กซี่ ค่าอุปกรณ์ช่วยเหลือตัวเองอื่นๆอีกมากมาย เก็บหลายปีถึงจะซื้อรถเกียร์ออโต้ได้สักคัน ซื้อรถแล้วยังต้องมีค่าใช้จ่ายราว 3-4 หมื่นสำหรับติดตั้งอุปกรณ์พิเศษระบบแฮนด์คอนโทรลที่ออกแบบมาเพื่อคนพิการ ต้องขอใบรับรองแพทย์เพื่อสอบใบขับขี่ เวลาสอบก็ต้องมีนายทะเบียนนั่งคุมไปด้วยเพื่อให้เห็นว่าคนพิการขับรถได้อย่างปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อเพื่อนร่วมถนน"

เพราะความไม่ย่อท้อต่อโชคชะตา ใบขับขี่รถยนต์จึงไม่ใช่เรื่องเหนือบ่ากว่าแรง แต่เมื่อสามารถขับรถออกสู่ถนน กลับต้องเผชิญกับปัญหาที่จอดรถคนพิการถูกแย่งโดยคนมือดีเท้าดี

"กรุณาอย่าแย่งที่จอดรถคนพิการ!" มานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักรณรงค์เพื่อสิทธิผู้พิการ มานิตย์สาธิตการยกวีลแชร์ขึ้น-ลงรถ ซึ่งต้องใช้พื้นที่กว้างพอสมควร

ร่างกายไม่พิการ แต่ใจพิการ

ระเบียบข้อบังคับของกฎกระทรวง กำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคาร สำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชราพ.ศ. ๒๕๔๘ หมวด 4 เรื่องที่จอดรถ ระบุไว้ว่า ตามสถานที่สาธารณะต้องจัดให้มีที่จอดรถสำหรับผู้พิการ โดยคิดอัตราส่วนเป็น 10% ของที่จอดรถทั้งหมด เป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างไม่น้อยกว่า 2,400 มิลลิเมตร และยาวไม่น้อยกว่า 6,000 มิลลิเมตร และจัดให้มีที่ว่างข้างที่จอดรถกว้างไม่น้อยกว่า 1,000 มิลลิเมตร ตลอดความยาวของที่จอดรถ โดยที่ว่างดังกล่าวต้องมีลักษณะพื้นผิวเรียบและมีระดับเสมอกับที่จอดรถ นอกจากนี้ยังต้องจัดไว้ใกล้ทางเข้าออกอาคารให้มากที่สุด รวมทั้งมีสัญลักษณ์รูปผู้พิการนั่งเก้าอี้ล้ออยู่บนพื้นของที่จอดรถให้เห็นได้อย่างชัดเจน

หารู้ไม่ว่า ความเป็นจริงทุกวันนี้ ที่จอดรถผู้พิการ คนพิการไม่เคยได้ใช้ !!?

"ปัญหาใหญ่เรื่องที่จอดรถคนพิการคือ ความมักง่าย ความขี้เกียจของคนไม่พิการ ยิ่งคนมีตังค์ยิ่งขี้เกียจ เพื่อนผมเล่าให้ฟังว่า เคยทดลองขับรถหรูไปจอดที่จอดรถคนพิการ ปรากฎว่าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเห็นปุ๊บ รีบเอาแผงเหล็กออกพร้อมโบกให้จอดเลย อำนวยความสะดวกเต็มที่ เพราะได้ทิปทีนึง 50-100 บาท เพื่อนผมบอกเลยว่าเหตุผลที่ซื้อรถแพงก็เพราะหาที่จอดง่าย ห้างก็เกรงใจ เลยวินวินกันทั้งสองฝ่าย"

"กรุณาอย่าแย่งที่จอดรถคนพิการ!" มานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักรณรงค์เพื่อสิทธิผู้พิการ ลงพื้นที่ไกลถึงโลตัส ปากช่อง พบปัญหาไม่แพ้กัน

ปฏิกิริยาของผู้ที่แย่งที่จอดรถคนพิการส่วนใหญ่มักชอบแก้ตัว อ้างว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์

"ยกตัวอย่างเช่น ขอโทษที ไม่เห็นป้าย ทั้งที่ติดสัญลักษณ์ใหญ่โตเบ้อเริ่มเทิ่ม ทาสีฟ้าโดดเด่นสะดุดตาเสียขนาดนั้น บางคนโบ้ยรปภ.ว่ามาเปิดแผงเหล็กให้จอดเอง หลายคนชอบอ้างว่าขาเจ็บ เดินไม่ไหว ลองไปนั่งดูกล้องซีซีทีวีตามที่จอดรถห้างต่างๆรับรองได้ว่าเจอทุกวัน โดยเฉพาะที่จอดรถที่เป็นจุดลับตา ไม่มีรปภ.เฝ้า  ถึงจะมีแผงเหล็กกั้น ยังไงก็ไม่รอด ที่จอดรถคนพิการมีเพียงพอนะครับ แต่เวลาคนพิการจะไปใช้จริงๆกลับไม่ว่าง พูดง่ายๆคือ มีแต่คนอยากพิการ ผมท้าเลย เรามาสลับกันไหม คุณเอามือเอาเท้ามาให้ผม แลกกันตลอดชีวิตเลย ถ้าอยากจอดนัก เอาไหม"น้ำเสียงของเขาฉุนเฉียวบ่งถึงความไม่สบอารมณ์

"กรุณาอย่าแย่งที่จอดรถคนพิการ!" มานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักรณรงค์เพื่อสิทธิผู้พิการ ตรวจสอบที่จอดรถคนพิการศูนย์การค้าพาราไดซ์ ปาร์ค พบว่าป้ายประกาศที่ชัดเจนช่วยแก้ปัญหาได้มาก

ประสบการณ์ปะทะคารมระหว่างชายพิการบนวีลแชร์กับคนไม่พิการแต่อยากใช้ที่จอดรถคนพิการ ช่างดุเดือดเลือดพล่าน

"ครั้งหนึ่งที่ห้างเซ็นทรัลบางนา รถสปอร์ตหรูมาจอดทับที่จอดรถคนพิการ ผมแจ้งให้รปภ.ตามตัวเจ้าของรถ พอมาถึงผมยกมือไหว้บอกว่า 'พี่จอดตรงนี้ไม่ได้นะครับ' เขาชักสีหน้าไม่พอใจ อ้างว่าแฟนขาเจ็บ ผมยืนยันว่ายังไงก็จอดไม่ได้ ผมจัดหนักอยู่แล้ว ไม่ได้ด่า แต่ค่อนข้างจะแข็งกร้าว ไม่ยอมใคร ถ้าเขายังดื้อ ผมก็แจ้งรปภ.มาจัดการ ถ้ารปภ.ไม่ยอมทำตาม ผมจะขึ้นไปแจ้งผู้จัดการห้างเลย นี่คือไม้ตายสุดท้าย

อีกครั้งหนึ่งที่ เซ็นทรัล พระราม 3 ผมไปเที่ยวกับแฟน บังเอิญเจอรถเอสยูวีคันหนึ่งจอดคร่อมช่องคนพิการ ผมมั่นใจเลยว่าไม่ใช่รถคนพิการแน่นอน เพราะไม่มีสติ๊กเกอร์ และถ้าเป็นคนพิการจริงจะรู้ดีว่าไม่ควรจอดกินพื้นที่แบบนี้ ผมทนไม่ไหวนั่งรอเลย 2 ชั่วโมงจนเจ้าของรถมา พอเห็นผมเขาตกใจมาก ปิดประตูรถทำทีเป็นคุยโทรศัพท์ ผมเข็นรถไปจอดชิดกระจกเลย สุดท้ายเขาบึ่งรถหนี เกือบจะชนผมอีกด้วย

ต่อมา บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า ศรีนครินทร์ ผมสนิทกับรปภ.ที่นี่ เขาชี้ให้ดูกล้องซีซีทีวีบอกมีผู้ชายคนหนึ่งมาแย่งที่จอดรถคนพิการ พอเข้าไปห้าม ผู้ชายคนนั้นบอกว่า 'ผมเป็นผู้ว่า จะจอด มีอะไรไหม' ดูสินี่ขนาดระดับผู้ว่านะ น่าเห็นใจเจ้าหน้าที่รปภ.มากๆ โดนลูกค้าด่าพ่อล่อแม่ เจอตะคอก เจอเบ่ง เจอดูถูกเหยียดหยาม กูจะจอดมึงจะทำไม มึงมีปัญหาอะไร รู้ไหมกูเป็นใคร

เคสสุดท้าย ห้างเดียวกัน ผมเจอคนนำรถมาจอด เลยเข้าไปถาม 'พี่ครับ นี่รถคนพิการรึเปล่า' เขาบอก 'เปล่า' ผมบอก'อ้าว จอดตรงนี้ไม่ได้ครับ นี่มันที่จอดรถคนพิการ' เขาเถียงว่า 'นายสั่งให้จอด แป๊บเดียวน่า' ผมเริ่มฉุน บอกเสียงเข้มเลยว่า 'พี่ครับ จอดแป๊บเดียวนี่แค่ไหน นานเท่าไหร่' สุดท้ายเขาเบ่งว่านายผมเป็นนายทหาร ผมบอกเลยอ้าว ยิ่งเป็นนายทหารยิ่งควรรู้ว่าจอดไม่ได้ ไปเรียกนายพี่มาหน่อย สรุปคนขับรถคนนี้โทรหานาย นายเลยสั่งให้ไปจอดที่อื่น"

"กรุณาอย่าแย่งที่จอดรถคนพิการ!" มานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักรณรงค์เพื่อสิทธิผู้พิการ ตรวจที่จอดรถคนพิการภายในห้างสรรพสินค้าแฟชั่น ไอส์แลนด์ พบว่าจัดการได้น่าชื่นชม

ติเพื่อก่อ ประจานเพื่อปลุก

กว่า 2 ปีเต็มที่เว็บไซต์ www.accessibilityisfreedom.org เคลื่อนไหวเรียกร้องให้สังคมหันมาใส่ใจด้านสิทธิผู้พิการ โดยเฉพาะเรื่องระบบขนส่งมวลชนและการคมนาคม ไล่ตั้งแต่สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ เช่น ห้องน้ำ ทางลาด ลิฟท์ ที่จอดรถคนพิการ รถเมล์ชานต่ำ รถไฟฟ้าบนดิน-ใต้ดิน ยันเครื่องบินพาณิชย์

ซาบะใช้แค่กล้องถ่ายวีดีโอ โทรศัพท์มือถือ และใจถึงๆ เอาชนะใจใครต่อใครมานักต่อนัก เรียกได้ว่าห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วกรุงล้วนจดจำเขาได้ขึ้นใจ

"ในสายตาเจ้าของห้างคงมองผมเป็นไอ้ตัวแสบ ตั้งแต่คลิปแรกที่เซ็นทรัล เฟสติวัล พัทยาดังระเบิด เชื่อไหมพอผมกลับไป ทีมรปภ.ส่งคนประกบผมทุกฝีก้าวเลย (หัวเราะ) ถ่ายรูปส่งไลน์หากัน แต่หารู้ไม่ปัญหามาจากพวกคุณทั้งนั้น พวกคุณดูแลไม่ดีเอง นโยบายหละหลวม รวมทั้งสำนึกของผู้บริหารห้างด้วย ผู้บริหารห้างต้องมีส่วนรับผิดชอบ ถ้านโยบายผู้บริหารห้างสั่งการลงมาว่ารปภ.ต้องดูแลที่จอดรถคนพิการให้ดี ห้ามให้คนอื่นมาจอดเด็ดขาด รับรองไม่มีใครกล้ามาจอดแน่นอน

หน้าที่ผมเสี่ยงอันตรายนะ เอาตัวเข้าแลกเลย ต้องใช้ความกล้าหาญมาก แต่ผมเห็นประโยชน์มากกว่า คิดดูว่าคนไทย 65 ล้านคน คนพิการ 1.6 ล้าน มีใครทำอย่างผมบ้าง แล้วคุณจะรู้ได้ไงเจ้าของรถไม่โกรธ โชคดีผมนั่งวีลแชร์ ลองผมเป็นคนปกติมือดีเท้าดีไปถ่ายคลิปแบบนี้สิ มีเรื่องแน่นอน ผมพิการเลยมีเกราะป้องกัน ยังไงก็ไม่โดนหรอก"

"กรุณาอย่าแย่งที่จอดรถคนพิการ!" มานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักรณรงค์เพื่อสิทธิผู้พิการ สำรวจห้างเพลินนารี มอลล์ ก่อนพบว่ามีคนปกติที่มาแย่งที่จอดรถคนพิการ

ไม่ดีก็ต้องด่า ทำดีก็ต้องชม จากการทำงานลงพื้นที่สำรวจตรวจตราที่จอดรถคนพิการตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ ซาบะยอมรับว่า ห้างที่สมควรได้รับคำชื่นชมมากที่สุดคือ 1.แฟชั่นไอส์แลนด์ แม้ช่วงแรกจะเหมือนห้างทั่วไปคือ ที่จอดรถคนพิการไม่เพียงพอ ไม่ครบถ้วนตามระเบียบที่กำหนดไว้ พอเข้าไปหารือทำความเข้าใจกับเจ้าของห้าง ผลคือ ไม่ถึงเดือนห้างปรับปรุงที่จอดรถคนพิการใหม่ ทำเป๊ะถูกต้องทุกอย่าง 2.ห้างพาราไดซ์ ปาร์ค ทีมรปภ.เข้มงวดมาก กันที่จอดรถคนพิการไม่ให้คนอื่นมาจอด ทั้งยังอำนวยความสะดวกช่วยเหลือผู้พิการอย่างดีเยี่ยม กระทั่งพักหลังปัญหาการแย่งที่จอดรถคนพิการไม่ค่อยมีให้เห็น 3.ห้างสรรพสินค้าเครือเซ็นทรัล พอโพสต์คลิปวีดีโอตำหนิลงในโลกโซเชียลปุ๊บ ก็แก้ไขปรับปรุงเรียบร้อยหมดจด

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า รู้ตัวว่าผิดแล้วรีบแก้ไขก็สมควรได้รับคำชม

"เจตนารมณ์สูงสุดในการทำเพจคือ อยากกระตุ้นให้สังคมเกิดสำนึกที่ดี ม้อตโตของเราคือ Friendly city เมืองแห่งความเป็นมิตร คนมีสำนึกที่ดี ดูแลกัน ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน มีความรับผิดชอบต่อคนอื่นๆในสังคม ผมอยากเห็นประเทศไทยเป็นอย่างนั้น ถ้าคนไทยมีสำนึกดี มันจะแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง การถ่ายคลิปประณามพฤติกรรมแย่งที่จอดรถคนพิการมีส่วนช่วยเยอะมาก การแก้คนนิสัยเสีย จัดการคนนิสัยไม่ดีต้องใช้หลายแนวทางควบคู่กันไป เช่น ห้างออกนโยบายเข้มงวดต่อทีมรปภ. หน่วยงานรัฐออกกฎหมายจริงจังชี้ชัดเลยว่าห้ามผู้ใดแย่งที่จอดรถคนพิการ เจอโทษปรับ 2 หมื่น ยึดใบขับขี่ คลิปวีดีโอเป็นเพียงการประจานให้สังคมเห็นว่านี่เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ส่งสัญญาณไปยังห้างว่าต้องปรับปรุงแก้ไข ไกลกว่านั้นคือส่งเสียงไปยังรัฐบาลให้ออกกฎหมายคุ้มครองสิ่งอำนวยความสะดวกคนพิการ ความชื่นใจของผมในตอนนี้คือ ทุกครั้งที่ปล่อยคลิปวีดีโอไปในโลกโซเชียล 99.99 % เห็นด้วยกับผม"

สุดท้ายนักเคลื่อนไหวเรื่องที่จอดรถคนพิการรายนี้ ย้ำว่า ถ้าทุกคนในสังคมมีสำนึกดีสามารถแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง สำนึกดีเสียอย่าง บางทีกฎหมายแรงๆอาจไม่จำเป็น.

"กรุณาอย่าแย่งที่จอดรถคนพิการ!" มานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักรณรงค์เพื่อสิทธิผู้พิการ