posttoday

"ผมทำเพื่อในหลวง" เปิดใจศิลปินพิการผู้พิชิตยอดเขาคิลิมานจาโร

19 ธันวาคม 2558

เปิดใจ "เอกชัย วรรณแก้ว" จิตรกรหนุ่มพิการไร้แขนชาวไทย ผู้พิชิตยอดเขาคิลิมานจาโร

โดย...อินทรชัย พาณิชกุล

"ตอนที่ยืนอยู่บนยอดเขาคิลิมานจาโร ผมแทบจะไม่เชื่อตัวเองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความจริง มันทั้งเหนื่อยแสนสาหัส และดีใจจนบอกไม่ถูก เมื่อผมวาดภาพพระบรมสาทิศลักษณ์ของในหลวง ผมลืมความเหนื่อยและความหนาวไปเลย ยิ่งตอนที่พี่ๆเขาร้องเพลงสดุดีมหาราชาไปด้วย ผมน้ำตาไหลเลยครับ การเดินทางครั้งนี้สอนผมหลายอย่าง สิ่งสำคัญที่ได้คือความอดทน ความศรัทธาในสิ่งที่ทำ และอย่าเพิ่งท้อแท้ ถ้ายังไม่ได้ลงมือทำ"

ความรู้สึกจากก้นบึ้งหัวใจของ เอกชัย วรรณแก้ว จิตรกรหนุ่มไร้แขน ผู้พิการคนแรกของเมืองไทยและไม่กี่คนในโลกที่สามารถพิชิตยอดเขาคิลิมานจาโร ประเทศแทนซาเนีย ยอดเขาที่สูงที่สุดของทวีปแอฟริกา

หลายคนรู้จักเขาในฉายา 'มนุษย์เพนกวิน' อันมาจากร่างกายไม่สมประกอบ ไร้แขนแต่กำเนิด ขาทั้งสองข้างบิดเบี้ยวผิดรูป ทว่าด้วยความไม่ยอมจำนนต่อโชคชะตา ใช้พลังใจสยบข้อจำกัดทางร่างกาย จนสามารถคว้าปริญญาตรี คณะจิตรกรรม วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ พร้อมๆกับยืนบนลำแข้งตัวเองอย่างสง่างามด้วยการเป็นจิตรกร ครูสอนศิลปะ ควบคู่ไปกับวิทยากรสร้างแรงบันดาลใจ

วันนี้ ชื่อของเขาดังกระหึ่มอีกครั้ง หลังสร้างวีรกรรมอันน่าเหลือเชื่อด้วยการพิชิตยอดเขาที่มีความสูงถึง 5,895 เมตร ด้วยเหตุผลสั้นๆแต่กินความหมายลึกซึ้งว่า

"ผมอยากวาดรูปถวายในหลวง"

"ผมทำเพื่อในหลวง" เปิดใจศิลปินพิการผู้พิชิตยอดเขาคิลิมานจาโร

ฝันใหญ่ของชายพิการ

จุดเริ่มต้นของภารกิจพิชิตเทือกเขาคิลิมานจาโร ประเทศแทนซาเนีย ก่อตัวขึ้นจากความฝันลึกๆในใจของชายพิการ

"ผมใฝ่ฝันมานานแล้วว่า ชีวิตนี้อยากจะขึ้นไปวาดรูปในหลวงบนยอดเขาที่ไหนสักแห่ง แต่ก็ไม่มีโอกาส กระทั่งรุ่นพี่ซึ่งรู้จักกับพี่หนึ่ง (วิทิตนันท์ โรจนพานิช คนไทยคนแรกที่พิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสต์ได้สำเร็จ) เลยพูดคุยหารือกันว่ามันจะเป็นไปได้ไหม ท้ายที่สุดก็ได้เข้าร่วมโครงการ The Impossible dream ด้วยการพิชิตยอดเขาคิลิมานจาโร เหตุผลอีกประการคือ ผมเป็นวิทยากรเกี่ยวกับการสร้างแรงบันดาลใจมา 5 ปี ทำให้พบว่าสิ่งที่คนไทยยังขาดแคลนไม่ใช่ความรู้ ไม่ใช่เงินทอง แต่ขาดแคลนกำลังใจ ผมจึงอยากเอาตัวเองเป็นกระจกสะท้อนให้คนอื่นเห็นว่า เห็นนั่นไหม ภูเขาสูงเสียดฟ้า ที่ใครๆบอกว่าผมปีนขึ้นไปไม่ได้เพราะไม่มีแขนไม่มีขา ผมจะทำให้ทุกคนเห็นว่า ผมทำสำเร็จ ผมกล้าทำตามความฝัน แล้วพวกคุณล่ะมัวรออะไรอยู่ ลงมือทำเสียที"

หลังได้ยินชื่อเสียงร่ำลือของยอดเขาคิลิมานจาโร เอกชัยตะลุยค้นคว้าศึกษาหาข้อมูล ไล่ตั้งแต่ลักษณะภูมิประเทศ สภาพอากาศ อุณหภูมิ ภาพถ่าย ยันข่าวเก่าๆ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเดินทางครั้งสำคัญที่สุดในชีวิต ขณะเดียวกันต้องฟิตซ้อมร่างกายอย่างหนักหน่วงมากกว่าคนปกติ

"นั่งเสิร์ชกูเกิ้ลดู รู้สึกว่าโอ้โห นี่มันหนึ่งในเจ็ดยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกเลยนี่หว่า ก็หวั่นๆนะ ไม่กลัวเหนื่อย กลัวลำบาก แต่กลัวว่าจะทำเป็นภาระคนอื่นมากกว่า จากนั้นเป็นต้นมาผมเริ่มฝึกซ้อมร่างกาย เดินออกกำลังกายวันละประมาณ 2-3 กิโลทุกวัน รวมทั้งการเดินขึ้นตึกบันยันทรี 63 ชั้นด้วย ต้องควบคุมอาหาร ห้ามน้ำหนักเกินกำหนด เพราะไม่งั้นต้องแบกน้ำหนักตัวเองบนยอดเขาที่มีอุปสรรคเรื่องความกดอากาศและแรงโน้มถ่วงโลก ฝึกดำน้ำขยายปอด ฝึกควบคุมลมหายใจ เพื่อรับมือกับอากาศเบาบางบนยอดเขาสูงกว่า 6,000 เมตร ช่วงนั้นโค้ชคือพี่หนึ่ง วิทิตนันท์ กำชับตลอดว่า สิ่งสำคัญคือ การหายใจ และเดินให้เป็นจังหวะ อย่าเร็วเกินไปหรือช้าเกินไป หัดสังเกตสภาพแวดล้อมรอบตัว เช่น หินก้อนไหนแข็งแรง หินก้อนไหนลื่นและเป็นอันตราย ตรงไหนเป็นทางลาด ชัน แคบ ใช้เวลานานเกือบ 3 ปีเต็มจนรู้สึกว่าเราเฟิร์มขึ้น หุ่นกระชับ แข็งแกร่ง คล่องแคล่ว เมื่อร่างกายพร้อม ใจก็พร้อมครับ"จิตรกรผู้ผันตัวมาเป็นนักปีนเขายิ้มกว้าง

"ผมทำเพื่อในหลวง" เปิดใจศิลปินพิการผู้พิชิตยอดเขาคิลิมานจาโร

 

"ผมทำเพื่อในหลวง" เปิดใจศิลปินพิการผู้พิชิตยอดเขาคิลิมานจาโร

 

"ผมทำเพื่อในหลวง" เปิดใจศิลปินพิการผู้พิชิตยอดเขาคิลิมานจาโร

หัวใจไม่ยอมแพ้

ภูเขาคิลิมานจาโรอันยิ่งใหญ่ ทะมึน และน่าเกรงขาม ทำให้จิตรกรหนุ่มร่างจิ๋วสั่นสะท้าน เอกชัยเผยว่า คณะปีนเขามีทั้งหมด 11 คน รวมลูกหาบพื้นเมือง อุปกรณ์ไม่มีอะไรพิเศษกว่าคนอื่น มีเพียงเสื้อกันหนาว รองเท้า และหัวใจที่เต้นโครมครามอยู่ใต้อกข้างซ้าย

สั่นสู้ อย่าสั่นถอย --- เขาย้ำกับตัวเอง

"ภูเขาคิลิมานจาโรของจริงตรงหน้ากับภาพที่เห็นในอินเทอร์เน็ตมันคนละเรื่องกันเลย สูงโคตรๆ สูงกว่าเมฆอีก ที่สำคัญหนาวมาก อุณหภูมิติดลบกว่า 25 องศา ความกดอากาศต่ำ ไหนจะลม ฝน หิมะ รวมทั้งเส้นทางยากลำบาก ทั้งสูง ทั้งชัน ทั้งแคบ ทั้งลื่น พูดง่ายๆว่าอุปสรรครอเราอยู่ข้างหน้าสารพัด ตอนนั้นพี่ๆที่ร่วมคณะย้ำตลอดว่า เอก ถ้าไม่ไหว อย่าฝืนนะ ให้รีบบอก ไม่งั้นจะแย่ หนักสุดอาจถึงขั้นตายได้เลย ผมก็ไม่กลัวนะ กังวลเหมือนเดิม กังวลว่าเราจะไปเป็นตัวถ่วงเขา แต่ทริปนี้เขาไม่มีกำหนดว่าวันนี้จะต้องเดินให้ได้กี่กิโล กี่ชั่วโมง แล้วแต่สภาพอากาศ บางวันก็เดินกัน 5 ชั่วโมง บางวันก็ 7 ชั่วโมง บางวันหนักล่อเข้าไป 12 ชั่วโมง การปีนเขาจริงๆมันไม่เหมือนเดินขึ้นดอยที่ค่อยๆเดินชิลๆ มองวิวสองข้างทาง การปีนเขาลูกนี้สายตาต้องจดจ่ออยู่กับทางเดินข้างหน้าตลอด ดูหินอันไหนมันแข็งแรง อันไหนลื่น ต้องฟังโค้ชชาวพื้นเมือง อย่าตะแบง เขาให้เดินจังหวะ 1 -2 -3 แล้วหยุดหายใจ 5 ครั้ง 1-2-3-4-5 แล้วเดินต่อ"

วันแรกตั้งใจไว้ว่าจะเดินให้ได้ 4 ชั่วโมง ไปๆมาๆเดินไปกว่า 6 ชั่วโมง อากาศหนาวประมาณติดลบ 2 องศา ไร้หิมะ แค่ปวดเมื่อยเล็กน้อย แต่ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง วันที่สอง ไฮไลต์อยู่ตรงช่วงหนึ่งที่เอกชัยไม่สามารถเดินได้ด้วยตัวเอง เนื่องจากเส้นทางเสี่ยงอันตรายมาก จึงต้องขึ้นไปนอนบนเปลสนามแล้วใช้เชือกผูกรัด ไม่ต่างจากสัมภาระชิ้นหนึ่ง

"คนอื่นแบกนี่ไม่ได้สบายนะ ขยับเขยื้อนก็ไม่ได้ พอไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย 3-4 ชั่วโมงติดต่อกันมันหนาวจนตัวแข็งทื่อ แถมโดนเขย่าตลอดทางเพราะทางขรุขระ รู้สึกเหมือนเราฝากชีวิตไว้กับคนอื่น ถ้าเขาพลาดแค่ก้าวเดียวก็ตายไปพร้อมเขาเลย มองเหวข้างล่างเห็นลำธารเล็กๆแล้วขนลุก สูงเท่าตึก 10 ชั้นได้ กลัวมากแต่ก็พูดไม่ได้ เดี๋ยวคนแบกเสียสมาธิ ทำเป็นหลับตาไม่มอง แต่ได้ยินเสียงลำธาร โอ้โห หลอนหนักเข้าไปอีก คิดในใจกูจะรอดกลับเมืองไทยไหมเนี่ย (หัวเราะ) รู้สึกคล้ายกับตัวเองเป็นเหรียญบาทตั้งไว้บนขอบโต๊ะ ลมพัดนิดเดียวร่วงแน่

ตอนนั้นสมองฟุ้งซ่านมาก คิดอะไรเพ้อเจ้อไปหมด รู้ซึ้งเลยกับคำว่าชีวิตแขวนไว้บนเส้นด้าย มีอยู่แว่บนึงคิดอยากจะบอกพี่ๆเขาว่าขอกลับบ้านเถอะ ทั้งเหนื่อย ทั้งหนาว ทั้งปวดหัว ทั้งอ้วก มันมาพร้อมๆกันหมด คิดไปถึงขั้นว่าถ้ามีเครื่องบินผ่านมา เราขอโบกกลับเมืองไทยแน่"น้ำเสียงกลั้วหัวเราะให้กับประสบการณ์สุดระทึก

"ผมทำเพื่อในหลวง" เปิดใจศิลปินพิการผู้พิชิตยอดเขาคิลิมานจาโร

 

"ผมทำเพื่อในหลวง" เปิดใจศิลปินพิการผู้พิชิตยอดเขาคิลิมานจาโร

วันที่ 3 เอกชัยฝืนตัวเองด้วยการเดินเร่งเกินไป ทำให้ร่างกายปรับอุณหภูมิไม่ทัน จนเกิดความผิดปกติที่เรียกกันว่าโรคแพ้ความสูง ผลคือปวดหัวอย่างรุนแรง อาเจียนไม่หยุด กว่าจะเอาตัวรอดมาได้เกือบตาย ต่อมาวันที่ 4 5 6 และ 7 ร่างกายค่อยๆปรับตัว เดินตามจังหวะไปเรื่อย กว่าจะผ่านพ้นแต่ละจุดไปได้แทบหืดขึ้นคอ

"ถามว่ามีเวลาซึมซับความงามสองข้างทางไหม มีครับ บางทีก็เจอต้นไม้แปลกๆ ลักษณะภูมิประเทศที่ไม่เคยเห็น งดงามอย่างกับอยู่อีกโลกนึงเลย พวกเราไม่ได้ก้มหน้าก้มตาเดินอย่างเดียว มีพูดคุยเฮฮากันบ้าง แต่ถึงขนาดนั่งสเก็ตช์ภาพ ถ่ายรูปไหม อย่าหวัง แค่เอาตัวเองให้รอดจากฐานหนึ่งสู่อีกฐานหนึ่งก็แทบสะบักสะบอมแล้ว ส่วนใหญ่ผมโฟกัสไปยังทางเดินข้างหน้ามากกว่า เพราะมันอันตราย ทุกๆวันจะมีความคิดเข้ามาในหัวผมตลอดว่า ทำไมมันไกลจังวะ เมื่อไหร่จะถึงซักที ตรงนี้ทำให้ผมรู้สึกได้ว่าสิ่งสำคัญที่สุดของนักปีนเขามากกว่าอุปกรณ์ มากกว่าร่างกาย นั่นคือจิตใจ คุณสามารถถอดใจได้ง่ายๆทุกนาที ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะเส้นทางอันยากลำบากแทบขาดใจ และความทรมานจากอากาศอันหนาวเหน็บ"

นักปีนเขาไร้แขนคนนี้ยืนยันว่า โชคดีที่ทุุกคนในคณะเอ็นดูเขา ไม่เคยแม้แต่นิดเดียวที่ทำให้รู้สึกว่าเขาเป็นตัวถ่วง มีแต่ให้กำลังใจกัน

บทเรียนยิ่งใหญ่ของชีวิต

หนึ่งสัปดาห์เต็มที่คณะนักปีนเขาชาวไทยฝ่าฟันอุปสรรคขวากหนามอันสาหัสเกินกว่ามนุษย์คนหนึ่งจะแบกรับไหว ในที่สุดก็มาถึงยอดเขาคิลิมานจาโร ทว่าบรรยากาศที่พบเจอกลับกลายเป็นพายุซัดกระหน่ำบ้าคลั่งจนไม่เห็นแสงเดือนแสงตะวัน เอกชัยยังจำภาพนั้นได้ไม่มีวันลืม

"ทุกอย่างปิดหมด ทั้งฝนตก หิมะตก หมอกลงเต็มไปหมด มองไม่เห็นอะไรเลย ผมกับพี่หนึ่ง วิทิตนันท์เป็นสองคนแรกที่เดินขึ้นไป สักประเดี๋ยวพี่หนึ่งก็พูดพึมพำออกมาคนเดียว จนลูกหาบชาวแทนซาเนียถามว่าคุยกับใคร พี่หนึ่งบอกว่าคุยกับเทวดา ลูกหาบตกใจ นึกว่าสมองแกบวม เพี้ยนไปแล้ว ผมถามว่าพี่หนึ่งคุยอะไรกับเทวดา แกบอกว่า ผมมาทำความดี ผมมาเพื่อในหลวง ผมขอเวลาสักครึ่งชั่วโมง หรือสักชั่วโมงเดียวเถิด ให้อากาศเปิด ให้แสงอาทิตย์มันสาดส่อง เพื่อให้ทำภารกิจสำเร็จลุล่วงลูกหาบขำ บอกมันเป็นไปไม่ได้หรอก แต่คุณเชื่อไหม แป๊บเดียวเท่านั้น เหมือนเปิดสวิตช์ไฟพรึ่บ หมอกค่อยๆจาง ดวงอาทิตย์โผล่ตู้ม ทุกอย่างสว่างจ้าเลย ตอนนั้นรู้สึกมหัศจรรย์มาก ทึ่ง  แต่ภารกิจผมยังไม่สำเร็จ ผมยังต้องเขียนรูปในหลวง ว่าแล้วก็ถอดเสื้อกันหนาวออก ท่ามกลางอุณหภูมิติดลบ 20 กว่าองศา แล้วลงมือวาดรูปในหลวง และต้องวาดทีเดียวจบ ต้องแข่งกับเวลา ผมใช้เวลา 10 นาทีเท่านั้น ก่อนพวกเราจะร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี"

จิตรกรไร้แขนคนนี้เผยความรู้สึกหลังการได้วาดรูปในหลวงบนยอดเขาคิลิมานจาโรว่า ฝันของเขาเป็นจริงแล้ว

"มันสะใจ ท้อแทบเป็นแทบตาย สุดท้ายก็ทำสำเร็จจนได้ การทำเพื่อในหลวง เพื่อพ่อของประเทศไทย เป็นความอิ่มใจที่สุดในชีวิต นอกจากนี้ผมยังอยากให้คนไทยทั้งประเทศรู้ว่า ถ้าเราคิดที่จะทำ กล้าที่จะทำ ทุกอย่างสำเร็จได้ ขึ้นอยู่กับใจเราอย่างเดียวเท่านั้นว่าใจสู้รึเปล่า ถ้าไม่ถอดใจ ทุกอย่างก็เป็นไปได้ ถ้าเราชนะตัวเราเองได้ เราชนะได้ทุกอย่าง ตัวผมเองติดลบมาตั้งแต่เกิด ยังทำได้เลย คนอื่นที่มีต้นทุนมากกว่าผมเป็นสิบเป็นร้อยเท่า ทำไมคุณจะทำไม่ได้"

"ผมทำเพื่อในหลวง" เปิดใจศิลปินพิการผู้พิชิตยอดเขาคิลิมานจาโร

บทเรียนที่ไม่มีวันลืมจากการพิชิตยอดเขาครั้งนี้ นอกจากมิตรภาพของพี่น้องร่วมคณะผู้เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายมาด้วยกัน กำลังใจจากคนไทยที่ไหลบ่าเข้ามาอย่างท่วมท้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ มหัศจรรย์ของการลงมือทำ

"หลายคนมองผมว่าทำโน่นทำนี่ได้ วาดภาพได้ โอ้โห ทำได้ยังไง มหัศจรรย์มาก จริงๆแล้วผมแค่ 'คิดและทำ' ไม่มีอะไรนอกเหนือไปจากนี้เลยครับ" 

นี่คือเรื่องราวการเดินทางครั้งสำคัญของเอกชัย วรรณแก้ว ศิลปินพิการชาวไทยผู้พิชิตยอดเขาคิลิมานจาโร หนึ่งในยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก

"ผมทำเพื่อในหลวง" เปิดใจศิลปินพิการผู้พิชิตยอดเขาคิลิมานจาโร

 

"ผมทำเพื่อในหลวง" เปิดใจศิลปินพิการผู้พิชิตยอดเขาคิลิมานจาโร

 

"ผมทำเพื่อในหลวง" เปิดใจศิลปินพิการผู้พิชิตยอดเขาคิลิมานจาโร

 

"ผมทำเพื่อในหลวง" เปิดใจศิลปินพิการผู้พิชิตยอดเขาคิลิมานจาโร