posttoday

"กานต์ ตระกูลฮุน" ปฏิรูปองค์กรด้วยนวัตกรรม

15 ธันวาคม 2558

"R&D เป็นวิถีทางเดียวของประเทศไทยที่จะช่วยให้อยู่รอดได้ โดย R&D จะช่วยในเรื่องของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น"

โดย...โชคชัย สีนิลแท้

หากนับเวลาถอยหลังอีกประมาณครึ่งเดือนที่ กานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี จะนั่งบริหารองค์กรเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 100 ปี แห่งนี้ ก่อนที่เขาจะต้องเกษียณในตำแหน่งหัวเรือใหญ่ของเอสซีจีที่บริหารงานมานาน 10 ปี  โดยมี รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส เข้ามารับไม้ต่อ หลังจากนั้นเขาจะไปนั่งเป็นประธานที่ปรึกษาฝ่ายจัดการ เอสซีจี แทน  

ภาพของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย ในวันที่ กานต์ ตระกูลฮุน เดินเข้ามา และในวันที่เขากำลังจะเดินจากไปในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่นั้น แตกต่างจากในอดีตอย่างสิ้นเชิง จากเดิมเป็นบริษัทผลิตปูนซีเมนต์เป็นหลัก รูปแบบการทำธุรกิจยังเป็นแบบโปรดักต์ เอาต์ คือส่งของออกไปขาย แทบไม่มีการทำการตลาด หรือทำตลาดแต่ก็น้อยมาก มีผู้แทนจำหน่ายแต่รูปแบบยังเป็นแบบดั้งเดิม

แต่ปัจจุบันกลุ่มเคมีคอลส์กลายเป็นขาธุรกิจที่ใหญ่กว่าปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง และยังมีธุรกิจกระดาษและบรรจุภัณฑ์เพิ่มเข้ามา จากวันแรกที่เข้ามาทำงานเอสซีจีหรือซิเมนต์ไทยในยุคนั้น มีมูลค่าสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 3,000-4,000 ล้านบาท ณ เวลานี้สินทรัพย์ของเอสซีจีมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท เติบโตไม่ต่ำกว่า 100 เท่า เมื่อเทียบกับวันที่กานต์เริ่มต้นทำงานในตำแหน่งวิศวกรผู้ช่วย ขณะที่เอสซีจีได้ก้าวสู่การลงทุนในระดับภูมิภาคอาเซียน และการปฏิรูปสู่องค์กรนวัตกรรม ซึ่งกานต์มีบทบาทอย่างสูงในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้

กานต์ ย้ำว่า ปูนซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจีไม่ใช่เป็นองค์กรในรูปแบบวันแมนโชว์ แต่ทำงานไปด้วยกัน ซึ่งทีมเวิร์กมีส่วนสำคัญมาก และต้องมีการวางแผนที่ดีไปด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการขยายลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน ไปจนถึงการพัฒนาทางด้านนวัตกรรมเพื่อสร้างสินค้ามูลค่าเพิ่ม หรือ High Value Added Products and Services (HVA) ซึ่งทั้งสองแนวทางได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตของเอสซีจีในอนาคต

จุดเริ่มต้นของการปฏิรูปไปสู่องค์กรนวัตกรรมเริ่มจากปี 2544 มีการประชุมกันว่าทิศทางของบริษัทในอนาคตจะเดินไปในทิศทางใด ซึ่งได้ข้อสรุปว่าอนาคตตลาดอาเซียนจะมาแน่ และเอสซีจีกำหนดกลยุทธ์จะต้องเข้าไปปักหมุดลงทุนในภูมิภาค รวมถึงเดินหน้าทางด้านนวัตกรรม ซึ่งในเวลานั้นยังไม่มีใครพูดถึงประเทศเวียดนามและเมียนมาเลย แต่ ณ วันนี้ ทั้งสองประเทศถือเป็นประเทศเกิดใหม่ที่ต้องจับตามอง

ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ ต่อไปสินค้าของไทยจะแข่งขันด้วยราคาสินค้าต่อไปไม่ได้อีกแล้ว เนื่องจากต้นทุนสู้ไม่ได้ จำเป็นต้องยกระดับสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเป็นจุดเริ่มต้น ซึ่งบอร์ดผู้บริหารหลายท่านก็เห็นด้วย จึงเริ่มลงทุนเรื่องการวิจัยและพัฒนาสินค้า (Research & Development : R&D) ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา เพื่อต่อยอดสู่การเป็นองค์กรนวัตกรรม

ในปี 2547 เอสซีจีใช้งบประมาณค่อนข้างน้อย เริ่มจาก 40 ล้านบาท ทำให้มีรายได้จากสินค้า HVA คิดเป็น 4% ปี 2550 ใช้งบ R&D 370 ล้านบาท มีรายได้จากสินค้า HVA คิดเป็น 17% ปี 2557 ที่ผ่านมาใช้งบประมาณ 2,700 ล้านบาท มีรายได้จากสินค้า HVA คิดเป็น 35% ส่วนในปี 2558 ใน 9 เดือนแรกมีรายได้จากสินค้า HVA ในสัดส่วน 37% จากการใช้งบ R&D กว่า 5,000 ล้านบาท

สำหรับในช่วงปี 2559-2560 ได้เตรียมงบสำหรับ R&D ไว้ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นปี 2559 จำนวน 6,700 ล้านบาท และปี 2560 จำนวน 8,300 ล้านบาท มีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้จากสินค้า HVA 50% ของรายได้รวม ซึ่งจริงๆ แล้ว ถ้านับเฉพาะประเทศไทยสินค้า HVA มีสัดส่วนรายได้เกิน 70% ไปแล้ว แต่เนื่องจากการขยายตลาดไปในภูมิภาคอาเซียนยังมีสินค้า HVA น้อยมาก จึงทำให้สัดส่วนโดยรวมนั้นลดลง

"กานต์ ตระกูลฮุน" ปฏิรูปองค์กรด้วยนวัตกรรม

ทั้งนี้ หัวใจสำคัญของการพัฒนาสินค้านวัตกรรมนั้น ต้องมีองค์กรประกอบ 3 ส่วน ที่สำคัญ ได้แก่ Products Innovation, Process Innovation และ Business Innovation ไม่อย่างนั้นจะเรียกว่าเป็นการพัฒนาทางด้านนวัตกรรมที่สมบูรณ์ไม่ได้ และต้องพิสูจน์ได้ว่านวัตกรรมนั้นสามารถก่อให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม

กานต์ ยกตัวอย่างว่า ในบริษัทได้ส่งเสริมให้คนคิดในเรื่องนวัตกรรมที่ไม่ใช่แค่ไอเดีย แต่ต้องนำไปใช้ได้จริงๆ เช่น ถ้าเป็นสินค้า HVA จะสามารถเพิ่มมูลค่าได้เท่าไร หรือถ้าเป็นนวัตกรรมด้านการผลิต จะต้องลดต้นทุนได้เท่าไร ต้องให้เห็นผลลัพธ์ตรงนี้ก่อนจึงจะเอามาประกวดกัน สำหรับสินค้า HVA นั้น จะต้องมีมูลค่ามากกว่าสินค้าในรูปแบบเดิมอย่างน้อย 5-10% และยังมีกำหนดระยะเวลาที่อยู่ในตลาด เช่น ถ้าเป็นสินค้า HVA ที่มาจากการออกแบบ บริษัทให้เวลา 2 ปี เนื่องจากคุณค่าของสินค้ามีเวลาอยู่ได้เท่านั้น เพราะคนอื่นสามารถลอกเลียนแบบได้ แต่หากเป็นสินค้านวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีจะให้เวลาอยู่ในตลาด 5 ปี เป็นต้น

ในช่วงเวลานี้รัฐบาลได้มีแนวทางที่จะส่งเสริมให้ภาคเอกชนหันมาลงทุนเรื่อง R&D มากยิ่งขึ้น ซึ่งกานต์มองว่าเรื่องของ R&D เป็นวิถีทางเดียวของประเทศไทยที่จะช่วยให้อยู่รอดได้ โดย R&D จะช่วยในเรื่องของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา เรายังให้ความสำคัญกับเรื่อง R&D น้อยมาก มีการลงทุนในเรื่องนี้เพียง 0.2% ของตัวเลขจีดีพี ไม่ว่าเศรษฐกิจไทยจะขึ้นหรือลง การลงทุน R&D ก็อยู่เท่านี้มาตลอด

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การลงทุน R&D เริ่มมีการปรับขึ้น โดยขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 0.4% ของจีดีพี เป้าหมายของรัฐบาลคือต้องการให้มีการลงทุนด้าน R&D ประมาณ 1% ในปี 2559 แม้ว่าจะเป็นไปได้ยาก แต่รัฐบาลได้พยายามผลักดันแนวทางต่างๆ ออกมา แม้เรื่องนี้เราจะช้าไปบ้าง แต่ตอนนี้ถือว่าเราอยู่ในแนวทางที่ถูกต้องแล้ว

ยึดมั่นความเป็นธรรม

กานต์ ตระกูลฮุน เป็นลูกคนเดียว พ่อแม่เป็นคนจีน มาจากเกาะไหหลำ เข้ามาตั้งรกรากทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและเฟอร์นิเจอร์อยู่ที่เทเวศร์ เขาเรียนหนังสือที่โรงเรียนสตรีวรนาถ เทเวศร์ พร้อมๆ กับช่วยงานบ้านไปด้วย และด้วยความที่เป็นเด็กหัวดี เพียงแค่อยู่ชั้น ป.5 เขาก็เริ่มอ่านแบบงานโยธาได้แล้ว เมื่อธุรกิจรับเหมาก่อสร้างของครอบครัวเกิดปัญหาเพราะเงินงวดสุดท้ายมักจะเก็บไม่ได้ สุดท้ายต้องปิดกิจการ ต้องขายทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วย้ายมาเช่าห้องอยู่หน้าสลัมย่านบางโพ

“ชีวิตต่างกันอย่างสิ้นเชิง ตอนไปเรียนสมัยธุรกิจดีเคยมีคนขับรถไปส่งไปรับ เมื่อธุรกิจแย่ก็ต้องขายทุกอย่าง และ ก็ต้องย้ายมาเช่าบ้านอยู่บางโพ อยู่ตรงหน้าสลัมเลย ได้เห็นชีวิตเด็กๆ สมัย 50 ปีที่แล้ว ซึ่งน่าเห็นใจมาก เฮโรอีน ผงขาวมา ก็จะแพร่ระบาดกันทั้งกลุ่ม แต่การได้เจอสภาพที่แย่มากทำให้เข้าใจชีวิตได้เร็ว ทำให้เราขึ้นรถเมล์ก็ได้ กินอาหารง่ายๆ ในสถานการณ์นั้นก็ได้เผชิญชีวิต ได้ไปสอนหนังสือให้กับคนในชุมชน ให้เด็กๆ ในชุมชน แม้ว่าจะมีปัญหาฟันกัน แทงกันในชุมชน แต่ก็ไม่มีใครมาทำร้ายเรา”กานต์ กล่าว

พอจบ ม.ศ.3 ก็มาสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จากนั้นก็สอบติดคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนหนึ่งมาจากแรงผลักดันสมัยเด็กที่ได้คลุกคลีกับงานก่อสร้าง ซึ่งตอนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยก็เลือกคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แห่งเดียว แม้ว่าเขาเลือกได้ 6 คณะ ที่เลือกคณะเดียวเลย เพราะหากได้มหาวิทยาลัยแห่งอื่นก็ไม่มีโอกาสได้ไปเรียน แม้แต่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในเวลานั้นก็อยู่ไกล ต้องขึ้นรถเมล์หลายต่อ ยิ่งไปต่างจังหวัด ขอนแก่น เชียงใหม่ หรือสงขลา ยิ่งไม่มีทาง มีที่จุฬาฯ ก็เลือกสอบเข้าที่เดียวก็สอบได้ พอมาสมัครงานก็สมัครที่ปูนซิเมนต์ไทยแห่งเดียวอีกเหมือนกัน

ตอนเรียนที่จุฬาฯ ก็ได้เข้ามาฝึกงานที่ปูนซิเมนต์ไทย ตั้งแต่เรียนอยู่ปี 2 เหตุผลของการฝึกงานคือต้องการรายได้ด้วย ตอนนั้นได้ 30 บาท/วัน จริงๆ เขารับปี 3 แต่เป็นคนเดียวที่ปี 2 เขาก็รับ ก็ได้มาฝึกงาน 2 เดือน เวลานั้นบริษัทกำลังทำเรื่องคอมพิวเตอร์ที่ต้องดูเรื่องชิ้นส่วนของทุกโรงงาน พอเรียนปี 4 ทางปูนซิเมนต์ไทยมาสัมภาษณ์งานที่มหาวิทยาลัยก็สอบสัมภาษณ์ผ่าน รอเรียกเข้าทำงาน

“ในช่วงที่รอเรียกเข้าทำงานก็ได้ไปเป็นเพื่อนสมัครงานตลอด แต่ก็ไม่ได้ไปเขียนใบสมัครที่ไหนเลย แม้ตอนนั้นก็ไม่มั่นใจนักว่าจะได้เรียกเมื่อไหร่ เพราะว่ารุ่นก่อนหน้านี้ทางปูนซิเมนต์ไทยรับพนักงานเข้าไปเยอะแล้ว ส่วนรุ่นเดียวกันที่จบทางปูนฯ รับวิศวกรไฟฟ้า 2 คน จากคณะวิศวกรรมจุฬาฯ จบกัน 130 คน ซึ่งชื่อเสียงของปูนซิเมนต์ไทยนั้นถือว่าสูงมาก ต้องเรียนได้ที่ 1 ถึงจะมาเข้าที่นี่ได้”

สุดท้ายได้ถูกเรียกให้ทำงานตำแหน่งวิศวกรผู้ช่วยไปอยู่ที่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช จนถึงวันนี้ กานต์อยู่กับปูนซิเมนต์ไทยมา 38 ปี 6 เดือน จากตำแหน่งวิศวกรผู้ช่วยจนก้าวสู่ตำแหน่งสูงสุดขององค์กร เขามีบุคคลที่เขายึดเป็นแบบอย่างมาตลอด คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากการที่ได้เห็นพระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่อประชาชนของพระองค์ เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จฯ มาประทับที่เรือนรับรองของปูนซิเมนต์ที่ทุ่งสงในช่วงที่ยังไม่ได้สร้างพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์

“นอกจากนี้ พี่ๆ ทุกคนที่ปูนซิเมนต์ไทยก็ถือเป็นแบบอย่างให้เราได้ เพราะทุกคนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งเราสามารถเลือกเอาข้อดีของทุกคนมาใช้ในการทำงานได้ พี่ๆ ทุกคนจึงเหมือนเป็นต้นแบบ”

สิ่งที่กานต์ยึดเป็นหลักในการทำงานเสมอมา คือ ความเป็นธรรม เพราะหากลำเอียงไปนิดเดียวจะเสียการปกครองทันที เราจึงต้องเป็นธรรมและมีเหตุมีผลกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

"กานต์ ตระกูลฮุน" ปฏิรูปองค์กรด้วยนวัตกรรม

จากตราช้างสู่เอสซีจี บุกตลาดสากล

อีกหนึ่งก้าวสำคัญของเอสซีจี คือ การเดินบุกตลาดอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ หลังจากที่เข้าไปปักหลักลงทุนในอาเซียนมาได้พักใหญ่ ความเคลื่อนไหวล่าสุดที่ชี้ให้เห็นว่า บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย เอาจริงเอาจังกับตลาดในต่างประเทศ คือการยอมละทิ้งแบรนด์ตราช้างที่ใช้มาอย่างยาวนานตั้งแต่ พ.ศ. 2456 และถือเป็นแบรนด์ทรงพลังที่คุ้นเคยของคนไทย โดยได้เปลี่ยนมาเป็นแบรนด์ เอสซีจี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับอาเซียนและระดับโลก

แบรนด์เอสซีจี จุดแข็งเรื่องคุณภาพและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ครบครันด้านที่อยู่อาศัย ทั้งสินค้า บริการโซลูชั่น และช่องทางจำหน่าย เพิ่มความสะดวก จดจำง่าย ภายใต้แบรนด์เอสซีจี พร้อมกับการปรับโฉมแพ็กเกจจิ้ง และสื่อภายในร้านค้าตัวแทนจำหน่าย พร้อมจัดทำภาพยนตร์โฆษณาและสื่อต่างๆ เพื่อสร้างการรับรู้กับแบรนด์ใหม่

กานต์ ให้เหตุผลว่า การปรับเปลี่ยนแบรนด์ในครั้งนี้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การนำวัสดุก่อสร้างของไทยบุกตลาดทั่วทั้งอาเซียน เนื่องจากมีนโยบายมุ่งสู่ความเป็นผู้นำธุรกิจทั้งในประเทศไทย อาเซียน และตลาดโลก โดย "ตราช้าง" เป็นหนึ่งในแบรนด์หลักของธุรกิจเอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ที่อยู่ในตลาดมากว่า 100 ปี ซึ่งการก้าวสู่การแข่งขันระดับอาเซียนครั้งนี้ ได้ชูจุดแข็งทั้งในเรื่องคุณภาพและนวัตกรรมของวัสดุก่อสร้างเป็นหัวหอกในการทำตลาดทั่วอาเซียน ซึ่งแบรนด์เอสซีจีนั้นได้รับการยอมรับว่าเป็นเลิศในเรื่องการพัฒนานวัตกรรมอยู่แล้ว ดังนั้น การเปลี่ยนชื่อเอสซีจีในครั้งนี้จึงเป็นการยกระดับแบรนด์ให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น

ที่ผ่านมาได้นำแบรนด์เอสซีจีก้าวสู่การแข่งขันกับประเทศต่างๆ ในอาเซียนอยู่แล้ว ทั้งในอินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และเมียนมา มีเพียง 2 ประเทศเท่านั้นที่ใช้ชื่อแบรนด์ ตราช้าง คือ ไทย และลาว ซึ่งการเปลี่ยนชื่อเรียกในครั้งนี้ มั่นใจว่าจะไม่มีผลกระทบต่อกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดในประเทศไทยอย่างแน่นอน และได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มเจ้าของบ้าน สถาปนิก ผู้รับเหมา ช่าง และกลุ่มผู้แทนจำหน่าย ถึงการเปลี่ยนชื่อแบรนด์สินค้าตราช้างมาเป็นเอสซีจี พบว่า 99% ของผู้ให้ความเห็นรับรู้ว่าตราช้างและเอสซีจีเป็นแบรนด์เดียวกัน ทั้งยังเชื่อว่าการเปลี่ยนแบรนด์ครั้งนี้ จะช่วยยกระดับทั้งด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีให้ดียิ่งขึ้น

นี่คือเกมรุกครั้งใหญ่ของเอสซีจี ในฐานะผู้ประกอบการเอกชนชั้นนำของไทย ที่เป็นต้นแบบองค์กรที่ไม่หยุดนิ่งทางด้านนวัตกรรม

"กานต์ ตระกูลฮุน" ปฏิรูปองค์กรด้วยนวัตกรรม