posttoday

เสียงจากนักวิชาการถึง คสช. "หากให้คิดเหมือนกัน ก็คงโง่กันหมด"

29 พฤศจิกายน 2558

"หากจะบังคับให้คิดแบบเดียวกันอย่างที่ คสช.ต้องการ ก็โง่กันหมด ซึ่งที่ต้องถามกลับไปที่ คสช.ก็คือว่า คิดอย่างนี้มีโทษมั่วสุมทางการเมืองถึงขนาดต้องติดคุกเชียวหรือ"

โดย...เลอลักษณ์ จันทร์เทพ / สุภชาติ เล็บนาค

เป็น เรื่องใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ หลังตำรวจ สภ.ช้างเผือก จ.เชียงใหม่ ออกหมายเรียกคณาจารย์ ที่แถลงข่าวเรื่อง “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” พร้อมตั้งข้อหาขัดคำสั่ง คสช. “ร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป”

คณาจารย์ทั้งหมดที่โดนข้อหามาจากทั่วประเทศตั้งแต่ ศ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จรูญ หยูทอง นักวิชาการสถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และ มานะ นาคำ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ผลกระทบที่ตามมา ทำให้นักวิชาการทั่วประเทศรวมตัวกันกว่า 289 คน และยังสมทบมาด้วยนักวิชาการจากต่างประเทศอีกกว่า 64 คน รวมเป็นทั้งหมด 353 คน เพื่อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ 1.หยุดข่มขู่คุกคามคณาจารย์ที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยบริสุทธิ์ใจ 2.หยุดสั่งห้ามและคุกคามนักศึกษารวมทั้งประชาชนที่จัดกิจกรรมทางการเมือง และ 3.หยุดแทรกแซงการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยให้มีแนวทางหรือเนื้อหาวิชาที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ต้องการ

ตัวอย่างรายชื่อที่ร่วมกันลงนามอาทิ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดชรัตสุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมถึงอาจารย์จากมหาวิทยาลัยน้อย-ใหญ่ทั่วประเทศ

ทว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ยังยืนยันคำเดิม ให้นักวิชาการทำตามกติกาของ คสช. หยุดพูดในเรื่องที่ห้ามพูด และให้ระวังกลุ่มผู้ไม่หวังดีที่อาจยิงปืน หรือปาระเบิดใส่

เสียงจากนักวิชาการถึง คสช. "หากให้คิดเหมือนกัน ก็คงโง่กันหมด" คณาจารย์เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีขอให้หยุดคุกคามนักวิชาการที่แสดงความเห็นต่าง เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2558

ในฐานะ 1 ในนักวิชาการที่ร่วมลงชื่อ โพสต์ทูเดย์ สัมภาษณ์ พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ รองศาสตราจารย์ ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อทำความเข้าใจข้อเรียกร้อง-จุดยืน ของคณาจารย์ ในวันที่ถูกมองกลายเป็นศัตรูกับผู้นำประเทศไปแล้ว

“อารมณ์ในหมู่คณาจารย์ เราคิดว่าเป็นเรื่องเสรีภาพในการจัดเสวนา การสอนหนังสือ ซึ่งเขาก็ทำมาตลอดทุกรัฐบาล ไม่มีใครรู้สึกว่าต้องไล่ คสช.ออกไป หรือต้องเลือกตั้งเร็วๆ เพราะฉะนั้น จุดยืนของทุกคนไม่เกี่ยวอะไรกับการเรียกร้องทางการเมือง หรือสอนให้เด็กไปทำอะไรเลย” พิชิตตอบคำถามเรื่องจุดยืน

พิชิต เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ น่าจะได้ข้อมูลมาผิดๆ เรื่องการปลุกปั่น-ชี้นำ นักศึกษา เพราะสิ่งที่อาจารย์ทำในรั้วมหาวิทยาลัย หรือจัดเวทีเสวนาตามที่ต่างๆ นั้น มีคนฟังเพียงหลักร้อย และฟังเสร็จต่างคนก็ต่างแยกย้ายกันกลับบ้านมากกว่าที่จะไปเคลื่อนไหวอะไรต่อ

“ชาวบ้านที่เข้ามาฟัง เขาก็อยากมีความรู้ใหม่ๆ ทั้งหมดนี้ อยากให้เข้าใจว่ามันเป็นเรื่องวิชาการ ที่ทำกันในมหาวิทยาลัย ไม่ได้เป็นอันตรายกับ คสช. เด็กมีไม่กี่สิบคน อาจารย์ไม่กี่ร้อยคน จะไปทำอะไรได้ จะไปล้ม คสช.เหรอ ไม่มีทาง” พิชิต ระบุ

เขายังยืนยันอีกว่า ก่อนที่จะจัดเสวนาวิชาการจะต้องมีการขออนุญาตไปยังหน่วยทหารในพื้นที่ทุกครั้งว่าจะใช้หัวข้อใด โดยทหารก็จะตีกรอบมาว่าเรื่องในอดีต สามารถพูดคุยได้หมด ยกตัวอย่างเช่น สัปดาห์ที่ผ่านมามีการจัดเสวนาเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่น ยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทหารมาขอดูข้อมูลว่าเป็นเรื่องจอมพลสฤษดิ์ ก็ไม่ได้มีการห้ามปรามอะไร

“ทหารระดับเจ้าหน้าที่เขาให้เกียรติเรา พูดจาสุภาพ ไม่มีข่มขู่ ดุดัน หรือหยาบคาย เขาก็บอกกรอบเราว่าพูดเรื่องการเมืองยังไงก็ได้ แต่อย่ากระทบกับรัฐบาล หรือคนในรัฐบาลในทางลบตรงๆ เช่น เรื่องอุทยานราชภักดิ์ เพราะมันอาจจะระคายเขา” พิชิต เล่าให้ฟัง

ขณะที่การเรียนการสอนในห้องเรียนนั้น พิชิต บอกว่า ไม่ได้มีการวิจารณ์รัฐบาล หรือปลุกปั่นนักศึกษา อย่างที่หัวหน้า คสช.ได้รับข้อมูล ที่อาจจะกระทบบ้างคือการยกตัวอย่าง ประกอบบทเรียน ซึ่งอาจไปกระทบใครบางคนได้ อย่างไรก็แล้วแต่ทั้งหมดนี้ เป็นการสอนในคลาส เป็นห้องเรียนปิด นักเรียนเรียนจบ ก็เอาไปสอบเท่านั้น

ส่วนที่ พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำว่า อยากให้อาจารย์มหาวิทยาลัยสอนสิทธิ หน้าที่พลเมืองมากกว่าจะสอนให้เลือกตั้งอย่างเดียว พิชิต บอกว่า ไม่มีอาจารย์คนไหนที่จะไปสอนให้นักเรียนทำผิดกฎหมาย มิเช่นนั้นก็ถือว่าทำผิดวินัยอาจารย์ ผิดกฎมหาวิทยาลัย

ถามว่าอาจารย์สนใจหรือไม่กับคำท้วงติงของ คสช. พิชิต ตอบทันทีว่า ไม่มีใครสนใจ เพราะทุกคนถือว่าทำตามหน้าที่อยู่แล้ว ที่ไม่สบายใจก็คือการที่ คสช.พูดถึงการเรียนในมหาวิทยาลัยในทางลบ โดยที่ไม่เข้าใจองค์ประกอบอะไรเลย

ย้ำวิพากษ์ทุกรัฐบาล

หนึ่งในเสียงที่หัวหน้า คสช. และกองเชียร์ย้ำเสมอก็คือการถามกลับไปยังนักวิชาการ มช. ที่โดนออกหมายจับ รวมถึงคณาจารย์อีกกว่า 300 คน ว่า “รัฐบาลก่อนไปอยู่ที่ไหนมา ทำไมไม่ออกมาบ้าง”

ตัวแทน 345 อาจารย์ ยืนยันแทนคณาจารย์กลุ่มมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ว่าที่ผ่านมากลุ่มนี้วิพากษ์ทุกรัฐบาล โดยเฉพาะในยุคที่ ทักษิณ ชินวัตร เรืองอำนาจนั้น มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน คือกลุ่มที่ออกมาอัดแรงที่สุด และก่อนคนอื่นด้วยซ้ำ

“ลูกน้องท่านคงรายงานข้อมูลผิดๆ ผมขอให้ท่านเอาชื่อไปเสิร์ชกูเกิลดูก็ได้ว่า คนพวกนี้เขาเคลื่อนไหวมาตั้งแต่รัฐบาลชวน รัฐบาล พล.อ.ชวลิต รัฐบาลทักษิณ หรือรัฐบาลอภิสิทธิ์ อาจารย์อรรถจักร์ สู้มาตั้งแต่หนุ่มยันแก่ เพราะฉะนั้นจะบอกว่าเขาตั้งใจโจมตี คสช.นั้นไม่ถูกเลย” อาจารย์ มธ. กล่าว

นอกจากนี้ พิชิต ยังยืนยันว่า กลุ่มมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนยังต่อสู้กับชาวบ้านที่ถูกละเมิดสิทธิมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเรื่องการก่อสร้างเขื่อน การก่อสร้างโรงไฟฟ้า การทำเหมืองแร่ หรือการที่อำนาจรัฐเข้ามารังแกชาวบ้าน เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่การเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการเลือกตั้ง หรือการต่อต้านเผด็จการอย่างที่ คสช.เข้าใจ

เช่นเดียวกับรายชื่อ 300 อาจารย์ที่ร่วมกันร่างนั้น หลายคนก็มีประวัติวิพากษ์รัฐบาลทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ รวมถึงต่อสู้ร่วมกับชาวบ้าน ทุกรัฐบาลเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นจึงสามารถการันตีได้ว่าไม่มีใครคิดอคติกับ คสช.อย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับรายงาน

อย่างไรก็ตาม พิชิต บอกว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีรัฐบาลไหนสนใจนักวิชาการ หรือห้ามพูดโต้แย้งนโยบายรัฐ มีแต่รัฐบาล คสช.ที่รู้สึก “หวั่นไหว” เป็นพิเศษ ซึ่งหากการแสดงความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นความผิดที่ต้องติดคุกติดตะราง ประเทศนี้ก็ผิดปกติมาก

“ตอนแถลงการณ์ 6 คน ไม่มีคนรู้ด้วยซ้ำ ตัวผมเองยังไม่ได้อ่านแถลงการณ์เลยนะ ดูแต่ชื่อเขา แต่พอมีการไปออกหมายเรียก-ตั้งข้อหา และไปจับเขา จากคนอ่านแค่พันคน ก็อ่านเป็นแสนคน กลายเป็นว่า คสช.ไปกระตุ้นให้อาจารย์พวกนี้ดังขึ้นด้วยซ้ำ”

พิชิต บอกว่า อยากให้หัวหน้า คสช.ไปอ่านแถลงการณ์ “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” อย่างละเอียดก็จะพบว่า เนื้อหาเพียงแค่ย้ำเตือน คสช.ว่า จะเที่ยวให้มหาวิทยาลัยสอนเรื่องนู้นเรื่องนี้ อย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะมหาวิทยาลัยจะต้องเป็นดินแดนที่มีเสรีภาพทางวิชาการ

“หากจะบังคับให้คิดแบบเดียวกันอย่างที่ คสช.ต้องการ ก็โง่กันหมด ซึ่งที่ต้องถามกลับไปที่ คสช.ก็คือว่า คิดอย่างนี้มีโทษมั่วสุมทางการเมืองถึงขนาดต้องติดคุกเชียวหรือ”

“ยืนยันว่า ทั้ง 300 กว่าคน ไม่ได้มีอคติจะต้องต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ กับรัฐบาลที่ผ่านมา เราก็มีประเด็น แต่กับ คสช.อาจมีเยอะหน่อย เพราะท่านห้ามแสดงความเห็น ห้ามพูด ห้ามเขียน ห้ามนักศึกษาทำกิจกรรม ซึ่งกระทบกับเสรีภาพทางวิชาการ แต่ถ้าเรื่องพัฒนาเศรษฐกิจก็ไม่ได้มีประเด็นอะไรต่างจากรัฐบาลที่ผ่านมา”พิชิต ย้ำ

แล้วอะไรทำให้ คสช.ยังต้องห้ามปรามคนคิดต่าง พิชิต บอกว่า คสช.อาจคิดว่าการแสดงความเห็นต่างนั้น ทำให้คนที่ไม่เห็นด้วยกับ คสช.ออกมา และทำให้อำนาจของ คสช.มั่นคงน้อยลง ซึ่งก็เป็นความคิดที่ผิดมหันต์

“การที่คุณกดมากๆ ห้ามมากๆ ไม่ให้แสดงออกเลย ความอึดอัดมันก็เยอะ เหมือนกาน้ำ ถ้าคุณปิดไว้ไม่ให้มีรูออกเลย มันก็มีปัญหา แต่ถ้าคุณให้แสดงออกแบบมีขอบเขต แสดงความเห็นโดยบริสุทธิ์ใจ คุณก็ต้องปล่อยเขาไป เว้นแต่ว่าจะมีเรื่องเงินทองเข้ามาเกี่ยว มีอาวุธ หรือทำอะไรผิดกฎหมาย คุณก็ไปแจ้งความเอาผิดสิ สังคมไม่ยอมรับอยู่แล้ว”พิชิต บอก

“ผมอยากจะบอกกับ คสช.ว่า มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหารจริงๆ อาจารย์สั่งนักศึกษายังไม่ได้เลย เนื้อหาวิชาการก็ว่ากันไป นักศึกษาสงสัยในคลาสก็ยังแย้งได้ แต่นอกห้องเรียน อาจารย์สั่งนักศึกษาให้กล้อนผมไม่ได้ ในมหาวิทยาลัยเขาอยู่กันแบบเข้าใจกันแบบนี้ ถ้าท่านไม่เข้าใจเป็นอย่างไร ก็ขอให้ไปถามลูกหลานท่านว่าเป็นอย่างไร”

พิชิต บอกอีกว่า แม้แต่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ก็ไม่เหมือนกับระบบราชการปกติ แม้แต่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหาร หรือระบบราชการ ที่ผู้บังคับบัญชาสั่งเด็ดขาดกับลูกน้องได้ก็ไม่ใช่ แล้วอะไรที่เป็นความเห็นส่วนตัว เช่น ความเห็นทางการเมือง ผู้บริหารก็จะไม่ยุ่งเด็ดขาดเหมือนกับที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“ถ้าไปถามอาจารย์ในคณะ หลายคนก็ไม่เห็นด้วยหรอก อาจารย์ที่เชียร์ คสช.เยอะๆ ก็มี แต่ส่วนใหญ่เขาก็สอนไปตามเรื่องตามราว อาจารย์ที่แสดงออกว่าชอบ หรือไม่ชอบ นั่นส่วนน้อย ก็อย่าไปยุ่งกับเขา แต่ขอให้มีความเข้าใจว่ามันต่างจากค่ายทหาร การเรียนการสอนก็ต่างจากโรงเรียน จปร.”อาจารย์ มธ. ระบุ

เสียงจากนักวิชาการถึง คสช. "หากให้คิดเหมือนกัน ก็คงโง่กันหมด"

คสช.ต้องลดความพารานอยด์

อีกหนึ่งคำพูดของหัวหน้า คสช. ก็คือการตอกย้ำว่ามีขบวนการเคลื่อนไหวล้ม คสช.อยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พิชิต ย้ำอีกครั้งว่าไม่จริงแม้แต่น้อย เพราะผู้บริหารธรรมศาสตร์ก็อยู่กับ คสช.สุดตัว ส่วนอาจารย์ก็ไม่เคยเข้าไปอยู่ในที่ชุมนุมล้ม คสช. มีแต่อยู่ในห้องเรียน หรืองานเสวนา เพราะฉะนั้นจึงไม่มีเหตุอะไรให้ต้องระแวงธรรมศาสตร์

เขายังแนะนำให้ คสช.ต้องลดความ “พารานอยด์” ลงอีกหน่อย เพื่อเปิดช่องให้คนแสดงความเห็นได้บ้าง ส่วนในมหาวิทยาลัยก็ต้องปล่อยนักศึกษาให้มีโอกาสแสดงออกและทำกิจกรรมนอกห้องเรียน โดยอย่าไปคิดว่าการทำกิจกรรม หรือการเคลื่อนไหวจะเป็นไปเพื่อล้ม คสช.เพียงอย่างเดียว

“ต้องเข้าใจว่าสังคมมันมีความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติ คนเรามันต้องคิดต่างได้ แสดงความเห็นได้ พูดกันก็จบ ไม่ใช่ทะเลาะกัน การที่อ้างว่าเห็นต่างกันแล้วจะทะเลาะกัน อันนี้ผมคิดว่าเขาไม่เข้าใจสังคมไทย เพราะสังคมไทยเราก็คิดต่างกันมาตลอด”

“ที่บอกว่าอาจารย์แสดงความเห็นแล้วจะมีคนมาปาระเบิด ยิง ผมก็เข้าใจว่าหมายถึงประชาชนที่ไม่เห็นด้วย อันนี้ก็เข้าใจผิดอีก เพราะอาจารย์ก็เคลื่อนไหวในห้องประชุม เสวนา แล้วประชาชนที่ไหนจะเอาระเบิดมาปาใส่ เราไม่ได้ไปด่าใครข้างนอก มันไม่มีอยู่แล้ว ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยจะมาปาระเบิดใส่เราเพื่ออะไร”

ทั้งนี้ พิชิต บอกว่า ในหมู่อาจารย์ยังไม่ได้มีการคุยกันว่าจะเดินหน้าอย่างไรต่อไป แต่หากมีท่าทีเป็นลบจาก คสช.ออกมาต่อเนื่อง ก็คงจะออกแถลงการณ์ต่อเนื่อง และคงจะมีการเสวนาวิชาการ เพื่อเรียกร้องสิทธิและเรียกร้องให้หยุดการคุกคามโดย คสช.ต่อไป

นปช.มันจบไปแล้ว "เมื่อแพ้ก็ต้องกลับบ้านไปซะ"

ในฐานะหนึ่งในนักวิชาการที่เคยขึ้นเวทีคนเสื้อแดง พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า ปัจจุบันเขาไม่เกี่ยวข้องอะไรกับ นปช.แล้ว ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา และคิดว่าปัจจุบันการเคลื่อนไหวของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นเพียงแค่อดีต รวมถึงไม่น่าจะเป็นกำลังหลักเคลื่อนไหวล้มคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อย่างที่หลายคนประเมินอีกต่อไป

“สำหรับผม ผมคิดว่า นปช. มันจบไปแล้ว ตลอดปีกว่าที่ผ่านมามันเป็นอดีตไปแล้ว กลายเป็นประวัติศาสตร์ แต่ก็ไม่ได้ถือว่าน่าผิดหวังอะไร เพราะเมื่อเหตุการณ์ช่วงหนึ่งที่เขาพยายามสู้ แล้วเขาแพ้ เมื่อแพ้ก็จบ เสียไพ่ เสียกระดาน คุณก็ต้องกลับบ้านไปซะ” พิชิต ประเมินความเคลื่อนไหวของ นปช.

เขาบอกอีกว่า นปช.คงไม่มีการเคลื่อนไหวอะไรอีกแล้ว ด้วยเหตุ 1.พรรคเพื่อไทยไม่เอาด้วย ไม่ร่วมเคลื่อนไหวแล้ว ซึ่งถ้า นปช.ไม่มีพรรคเพื่อไทย หรือ ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาหนุนก็จบ 2.เสื้อแดงจำนวนมากถอดใจกับแกนนำ นปช. เพราะที่ผ่านมาไม่ได้มีผลอะไร มีแต่เจ็บ ตาย แล้วก็เข้าคุก

และ 3.คนเสื้อแดงเหนื่อยล้ามากพอควรแล้ว มีแต่การตาย ติดคุก แถมติดปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาส่วนตัวก็มาก การเคลื่อนไหวร่วม 10 ปีที่ผ่านมา ก็หมดสภาพแล้ว สุดท้ายเสื้อแดงทำได้เพียงรอการเลือกตั้ง ถ้าจะมีก็ส่วนน้อยมากที่ยังเคลื่อนไหวเล็กๆ อยู่ ซึ่งเป็นระดับส่วนบุคคล แทบจะไม่มีผลอะไรในภาพรวมเลย

พิชิต เชื่อว่า นปช.ไม่ใช่ภัยที่ คสช.ต้องมาวิตกกังวล เพราะต่อให้ นปช.เรียกชุมนุมในวันนี้ คนจะมาไม่กี่คน เพราะคนเขาอาจจะเบื่อแกนนำ เหนื่อย ผิดหวัง ผลที่ออกมาทุกครั้งก็เหมือนเดิม ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาของพรรคเพื่อไทย และกลุ่มเคลื่อนไหวเอง เราอยู่ข้างนอกเราคงไม่รู้ตื้นลึกหนาบางมาก คงไปวิจารณ์ไม่ได้มาก แต่สุดท้ายเขาคงพลาดด้วย

สำหรับข้อสังเกตที่ว่ามีกลุ่มคนเสื้อแดงที่เบื่อการเคลื่อนไหว นปช. แล้วหันมาร่วมกับนักวิชาการและนักศึกษา พิชิต ระบุว่า ไม่เห็นจะมี เท่าที่เห็นก็พวกคุณลุงคุณป้า หน้าเดิมสัก 20-30 คน ที่จะมาเข้าฟังการเสวนาแต่ละครั้ง มิหนำซ้ำคนส่วนใหญ่ยังกระแนะกระแหนด้วย เช่น คำพูดที่ว่า “ไปอยู่ที่ไหนมา นี่ไงต้องโดนกับตัวเองใช่ไหมถึงจะรู้ สมน้ำหน้า” แต่เราก็ไม่ว่ากัน

นอกจากนี้ พิชิต ยังได้ประเมินอนาคตของรัฐบาล คสช.ด้วยว่า ถ้า คสช.ไปทำอะไรผิดพลาดที่ร้ายแรง หรือใช้มาตรการเข้มงวด มีปัญหาข่าวฉาวอยู่เรื่อยๆ ก็คงไม่ดีกับ คสช. เช่น จับอาจารย์เข้าคุกสัก 100 คน ก็คงเป็นเรื่องแน่ แต่ถ้าเขาสามารถที่จะประคองตัวให้ดีเชื่อว่า คสช.คงอยู่จนถึงปี 2560 ตามโรดแมปที่จะเลือกตั้ง เพราะทุกวันนี้ถามว่ามีใครไปต่อต้านเขาได้หรือเปล่า

พิชิต กล่าวอีกว่า การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้น โดยเฉพาะมาตรา 44 เราไม่เห็นด้วยเลย เพราะขัดกับหลักกฎหมาย หลักนิติธรรม มันไม่เป็นตามหลักสากล ที่ให้อำนาจคนคนเดียว ทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ มันผิดหลัก ดังนั้นกฎหมายหรือคำสั่งที่ออกมา โดยหลักวิชาเราก็ไม่เห็นด้วย แต่ก็เท่านั้น จะทำอะไรได้ เพราะเขามีอำนาจ ก็บังคับใช้ไป

ส่วนเรื่องของเสรีภาพการทำรัฐธรรมนูญ หรือเสรีภาพระหว่างการทำประชามติ พิชิต คาดการณ์ว่า คสช.คงไม่อยากให้มีการพูดคุย หรือเสวนาถกเถียงกันในที่สาธารณะ เพราะ คสช.กลัวว่าจะคุมสถานการณ์ไม่ได้ กังวลว่าประเด็นการถกเถียงจะเลยเถิด แล้วส่งผลกระทบ คสช. ซึ่งประเด็นนี้ คสช.เข้าใจผิด

เพราะการถกเถียงเรื่องรัฐธรรมนูญ ก็คือ การชี้ให้เห็นถึงข้อดีข้อเสีย ดีหรือไม่ดีอย่างไร ควรรับหรือไม่ควรรับ ซึ่งคนจะตัดสินใจได้ต้องมีข้อมูลทั้งสองด้าน จะไปปล่อยให้มีโฆษณาสนับสนุนรัฐธรรมนูญ ให้ประชาชนรับอย่างเดียวไม่ได้ แบบนั้นมันไม่ใช่ประชามติ ไม่อย่างนั้นก็ประกาศใช้เลย

“เชื่อผมเถอะ ถ้าถึงเวลาที่จะมีการทำประชามติ หรือเลือกตั้ง จะไม่เกิดความเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล เพราะตอนนั้นใครๆ เขาก็อยากให้มีเลือกตั้งแล้ว เขาจะไปวุ่นวายทำไม ทุกอย่างจะได้จบๆ คสช. รัฐบาลก็จะได้ไปด้วย เรื่องอะไรเขาจะก่อเรื่องให้พวกคุณอยู่ต่อ ดังนั้นไม่มีเหตุผลใดที่จะห้ามไม่ให้คนแสดงความคิดเห็นต่อต้าน คสช.” นักวิชาการ ระบุ

เสียงจากนักวิชาการถึง คสช. "หากให้คิดเหมือนกัน ก็คงโง่กันหมด"

นอกจากนี้ ประเด็นทิศทางการร่างรัฐธรรมนูญ ที่ถูกกล่าวหาว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต้องการจะลดอำนาจซีกฝั่งการเมือง หรือให้ร่างรัฐธรรมนูญออกมามีผลลบ โดยเฉพาะกับพรรคเพื่อไทย

พิชิต ระบุว่า เป็นเรื่องของนักการเมืองที่ต้องว่ากันไป นักการเมืองจะเดือดร้อนอะไรให้เขาโวยไป

“แต่ที่สำคัญการร่างรัฐธรรมคือต้องโฟกัสไปที่ประชาชนและสังคม ว่าจะได้อะไรจากรัฐธรรมนูญมากกว่า เราต้องการประชาธิปไตยที่มั่นคง ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ เป็นประชาธิปไตยที่เต็มรูปแบบตามตามหลักสากล เราขอแค่นี้”

พิชิต สำทับข้อมูลการร่างรัฐธรรมนูญต่อไปอีกว่า การร่างรัฐธรรมนูญที่ให้นักการเมืองถูกตรวจสอบมีอยู่แล้วเป็นปกติ แต่จะทำอย่างไรให้การตรวจสอบมีความสมดุล จะมากจะน้อยแค่ไหนจึงจะพอเหมาะพอดีให้รัฐบาลสามารถทำงานได้

ทั้งนี้ การควบคุมนักการเมืองก็ต้องให้เขาทำงานให้เป็นประโยชน์กับประเทศชาติได้ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีกระบวนการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นให้มีประสิทธิผล แต่ถ้าตรวจสอบมากไปจนรัฐบาลทำงานไม่ได้ ส่งผลให้ 3 เดือนต้องยุบรัฐบาลครั้งหนึ่ง แบบนี้เราต้องมานั่งคุยกันว่ามันจะคุ้มไหม ต้องอย่าลืมว่าในต่างประเทศเคยมีตัวอย่างมาแล้วที่ตรวจสอบรัฐบาลเยอะจนรัฐบาลล้มแล้วเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทุก 3 เดือน นั่นคือที่ประเทศฝรั่งเศส หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ดังนั้นการตรวจสอบและการทำงานต้องสร้างความสมดุล

ขณะที่ภาพรวมของการร่างรัฐธรรมนูญชุดของ มีชัย ฤชุพันธุ์ นั้น เขาให้ความเห็นว่า ส่วนตัวคิดว่ายังไม่ค่อยเป็นบวกเท่าไร รายละเอียดยังขาดเยอะ แต่เท่าที่ฟังจากคนที่อยู่ใน กรธ. คือ พบว่ามีแนวโน้มที่จะกลับไปอย่างที่ผ่านมา คือพยายามที่จะให้มีการตรวจสอบ ลงโทษนักการเมืองเยอะมาก จนอาจกลายเป็นรัฐบาลที่อ่อนแอ แต่เวลานี้อาจจะยังไม่ชัดมาก ต้องรอให้สะเด็ดน้ำก่อน และคณาจารย์ที่ออกมาเคลื่อนไหวก็ไม่ได้คุยเรื่องร่างรัฐธรรมนูญเลย เราหารือกันแค่เพียงเรื่องสิทธิเสรีภาพในหลักสูตรการเรียนการสอนเท่านั้น

นอกจากนี้ พิชิต ได้กล่าวย้ำถึงบทบาทการเคลื่อนไหวของนักศึกษาว่า เป็นเพียงกิจกรรมเคลื่อนไหวที่เป็นสัญลักษณ์ เป็นเครื่องเตือนต่อสังคมเบาๆ ให้ทราบว่ายังมีคนที่มีความเห็นต่างอยู่ ปัจจุบันการเคลื่อนไหวของนักศึกษาส่วนใหญ่ยังไม่แอ็กทีฟอะไรมาก ยังคงห่วงเรียนกันอยู่ ซึ่งต่างกับในอดีต

“อย่าไปเทียบเลยคนละเรื่อง สมัยก่อนคนรุ่นผมแก่แดดกว่าเยอะ อายุแค่ 18-19 ปี คิดจะเปลี่ยนประเทศไทย มีแรงผลักดันเยอะ เพราะด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น การอยู่กับเผด็จการมา 16 ปี แต่นี่เราอยู่กับ คสช.มาเพียงแค่ปีกว่า ยังอึดอัดกันขนาดนี้ จะตายกัน แรงดันมันต่างกันเยอะ”

“ก็ไม่แน่ ถ้า คสช.อยู่นานมาก 5-6 ปี ก็มีโอกาสที่จะเจอสภาวะแรงดันแบบนั้นได้ แต่คิดว่า คสช.ถ้ารู้จักสรุปบทเรียนในอดีตก็น่าจะรู้ตัว และคงไม่ใช้เวลาอยู่นาน ผมหวังว่าอย่างนั้น ถ้า คสช.ไม่สะดุดตัวเองแล้วผิดพลาดไปเสียก่อน”นักวิชาการ กล่าวเตือนสติ คสช.ทิ้งท้าย

เสียงจากนักวิชาการถึง คสช. "หากให้คิดเหมือนกัน ก็คงโง่กันหมด"