posttoday

อัดฉีดตำบลละ 5 ล้าน เดิมพันอนาคต "กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน"

30 กันยายน 2558

"ถ้าครั้งนี้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ท่านนายอำเภอ ร่วมมือกันทำงาน นอกจากจะได้ประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนแล้ว จะทำให้สถาบันกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่เกรงกันว่าเขาจะมายุบก็คงจะไม่มีใครทำได้"

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ภายหลังที่รัฐบาลคลอดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินลงไปสู่ตำบลทั่วประเทศแห่งละ 5 ล้านบาท ได้เกิดความสับสนในการบริหารจัดการขึ้น เนื่องจากผู้นำท้องถิ่นเข้าใจผิดว่าทุกพื้นที่จะต้องได้รับงบประมาณเต็มวงเงิน 5 ล้านบาทเท่ากันหมด ทั้งที่ข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น

เพื่อความชัดเจนในนโยบายและความชัดแจ้งในการปฏิบัติ “โพสต์ทูเดย์” นัดหมายกับ กฤษฎา บุญราช อธิบดีกรมการปกครอง (ปค.) และว่าที่ปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อยุติความคลุมเครือ

กฤษฎา อธิบายว่า รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย (มท.) ได้ประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ และผู้บริหาร มท.ว่า การดำเนินงานตามโครงการดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนในระดับตำบล ตำบลละ 5 ล้านบาทนั้น ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้บริหาร มท.ได้ให้ความสนใจเป็นสำคัญ

นั่นเพราะรัฐบาลมีเป้าหมายชัดเจนว่า ต้องการอัดฉีดงบประมาณรวมแล้วกว่า 3.6 หมื่นล้านบาท ลงไปใน “หมู่บ้าน” ของทุกตำบล ดังนั้นโครงการที่จะนำเสนอควรเป็นโครงการประเภท “จ้างแรงงาน” เพื่อให้เกิดสาธารณประโยชน์และแก้ปัญหาของหมู่บ้าน เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับตำบลนั้นๆ โดยโครงการที่จะนำเสนอต้องผ่านคณะกรรมการหมู่บ้านซึ่งได้รับคัดเลือกมาจากประชาชน

อธิบดีกรมการปกครอง อธิบายต่อว่า ทาง ปค.ได้ขยายกรอบที่รัฐบาลวางมาเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจของนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งคณะกรรมการหมู่บ้าน ได้แก่ 1.ให้สำรวจตรวจสอบว่าในหมู่บ้านมีเหมืองฝายที่เสียหายอยู่หรือไม่ ถ้าเสียหายอยู่แล้วจะต้องซ่อมแซมก็สามารถจ้างแรงงานในหมู่บ้าน หรือสามารถซื้อวัสดุบางอย่างเข้ามาดำเนินการได้

2.มีการประเมินสถานการณ์เอาไว้ว่า อีก 2-3 เดือนข้างหน้า จะเกิดภาวะแห้งแล้ง ฉะนั้นหากสามารถทำฝายทดน้ำหรือทำหลุมขนมครกไว้ตามจุดต่างๆ ของหมู่บ้านได้ ก็สามารถใช้งบประมาณเพื่อดำเนินการได้เช่นกัน 3.หากหมู่บ้านนั้นๆ มีการทำสินค้าโอท็อปแต่ยังไม่มีสถานที่ขาย ก็สามารถเอางบประมาณ 5 ล้านบาท ไปทำร้านค้าชุมชน อยู่บริเวณข้างถนนหรือตามสถานที่ท่องเที่ยวได้

4.ทาง ปค.ได้ประสานงานกับมูลนิธิปิดทองหลังพระและสำนักงานประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อขอทราบว่าโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานไว้ มีโครงการใดบ้างที่จะขยายต่อไปได้ รวมถึงมีโครงการใดที่จำเป็นต้องได้รับการซ่อมแซมหรือไม่ ก็ให้เอางบประมาณนี้ไปสนับสนุนได้ ยกตัวอย่างเช่น บางจุดท่านได้ทำฝายหรืออ่างเก็บน้ำไว้ให้แล้ว แต่ยังไม่มีทางระบายน้ำไปยังพื้นที่เกษตรกรรม ก็สามารถใช้เงิน 5 ล้านบาทได้

กฤษฎา ให้ภาพเพิ่มเติมอีกว่า แม้จะไม่ได้มีข้อกำหนดหรือกฎเกณฑ์สั่งห้ามคณะกรรมการหมู่บ้านไปว่าจ้างผู้รับเหมา แต่ต้องขึ้นอยู่กับสภาพและข้อจำกัดของพื้นที่ และหากจะว่าจ้างผู้รับเหมาจริง ก็มีเงื่อนไขว่าต้องมีการว่าจ้างแรงงานส่วนหนึ่ง คือประมาณ 30-40% ของโครงการ นั่นหมายความว่าผู้รับเหมาก็ต้องมาจ้างแรงงานอีกทีหนึ่ง

“ถ้าในพื้นที่มีแรงงานแต่ไม่ยอมจ้าง โดนสอบแน่” ว่าที่ปลัด มท.พูดชัด “ผมได้บอกกับท่านนายอำเภอไปแล้วว่าเรามี 3 มาตรการในการลงโทษ 1.มาตรการทางปกครอง คือ ถ้าร้องเรียนมาแล้วและมีหลักฐานเอาผิดได้ ก็ต้องถูกย้าย 2.มาตรการทางวินัย ถ้าผลสอบสวนออกมาก็มีตั้งแต่การภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน ไล่ออก 3.มาตรการอาญา คือ ถ้าผิดอาญาก็ต้องว่าไปตามนั้น”

สำหรับขั้นตอนการดำเนินโครงการ ทุกตำบล หมู่บ้าน ต้องเสนอโครงการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย.นี้ จากนั้นคณะกรรมการระดับจังหวัด ซึ่งมีทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการที่มาจากส่วนราชการ ประธานหอการค้า ประธานอุตสาหกรรม รวมถึงตัวแทนสำนักงบประมาณอีกจังหวัดละ 2 คน จะลงไปตรวจสอบรูปแบบรายการว่าถูกต้องตามระเบียบหรือไม่

“ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติงบประมาณ ซึ่งจะพิจารณาไปถึงวันที่ 30 ก.ย. นั่นหมายความว่าเงินจำนวน 3.6 หมื่นล้านบาท ยังไม่ได้ลงไปในจังหวัด อำเภอ หมู่บ้าน แม้แต่สลึงเดียว ดังนั้นใครที่บอกว่ามีการหักหัวคิวเอาไว้แล้ว คงไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องตรงกับข้อเท็จจริงสักเท่าไร” กฤษฎา ระบุ

ในส่วนของการประชาสัมพันธ์โครงการที่บอกว่าตำบลจะได้รับเงินแห่งละ 5 ล้านบาทนั้น ข้อเท็จจริงคือเมื่อครั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไปตรวจราชการยัง จ.นครราชสีมา มีประชาชนที่ได้รวมตัวกันตามกลุ่มอาชีพ เช่น กลุ่มทำสวนยาง กลุ่มชาวนา ได้มาขอรับงบประมาณสนับสนุนกลุ่มอาชีพซึ่งท่านนายกฯ ก็ได้อนุมัติงบประมาณไปเพื่อลดต้นทุนการผลิตและถึงมือชาวบ้านจริงๆ

จากนั้นจึงมีการนำโมเดลที่ จ.นครราชสีมา มาใช้กับจังหวัดต่างๆ ทำให้มีหลายจังหวัดมาขอรับการสนับสนุนงบประมาณพัฒนากลุ่มอาชีพ ซึ่งรัฐบาลก็อนุมัติไปแล้วกว่า 3,200 ล้านบาท เมื่อมาถึงโครงการตำบลละ 5 ล้านบาท หากแจกทุกตำบลเท่ากันหมดเงินก็จะไปซ้อนกัน และเงินก็จะไม่พอ

ดังนั้น ในรอบแรกรัฐบาลจึงให้นายอำเภอดูว่าตำบลใดบ้างที่ได้รับเงินงบประมาณสนับสนุนกลุ่มอาชีพไปแล้ว ก็จะหักออก เช่น ตำบล ก.ไก่ ได้รับเงินสนับสนุนกลุ่มอาชีพไปแล้ว 2 ล้านบาท ก็จะได้รับเงินสนับสนุนตำบลอีก 3 ล้านบาทเท่านั้น

ทุกวันนี้เรามีตำบลทั่วประเทศ 7,255 ตำบล ทราบว่าตำบลที่ได้รับสนับสนุนงบกลุ่มอาชีพไปแล้วมีประมาณ 1,000 ตำบล นั่นหมายความว่าส่วนใหญ่จะได้เงิน 5 ล้านบาท เต็มจำนวน

สำหรับการป้องกันการรั่วไหลของเงินนั้น กฤษฎา ยืนยันว่าได้กำหนดมาตรการป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ 1.หลังจากวันที่ 30 ก.ย.เป็นต้นไป ทาง ปค.จะมอบหมายให้ผู้ตรวจราชการ มท.กับผู้ตรวจราชการ ปค. รวมทั้งสิ้น 24 คน ลงไปตรวจติดตามการดำเนินงาน

2.พล.อ.อนุพงษ์ ได้สั่งการว่า ทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน ต้องขึ้นป้ายแสดงงบประมาณที่จังหวัดอนุมัติมา เพื่อโชว์ให้คนในหมู่บ้านรับรู้ เช่น ตำบล ก.ไก่ ทำเหมืองฝาย 3 แสนบาท ทำร้านค้าชุมชน 5 แสนบาท ทุกคนก็จะได้รับรู้และสามารถตรวจสอบได้

ขณะเดียวกัน ปค.อยู่ระหว่างทำเว็บเพจประจำตำบลอีกกว่า 7,200 เว็บ แต่ละตำบลหมู่บ้านก็จะถ่ายรูปการดำเนินโครงการ ทั้งก่อนดำเนินงาน ระหว่างดำเนินงาน และหลังดำเนินงาน ให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบได้

3.หากประชาชนยังติดใจเรื่องการทุจริตก็สามารถแจ้งไปยังสายด่วน 1567 หรือศูนย์ดำรงธรรม หรือแจ้งตรงไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้ รวมทั้งยังมีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) รวมถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่จะเข้ามาดูแลด้วย

“ผมมั่นใจว่า โครงการครั้งนี้จะไม่ใช่การก่อสร้างเพียงอย่างเดียว เพราะหากดูตามไทม์ไลน์ที่รัฐบาลวางไว้ คือ ระหว่างวันที่ 1 ต.ค.-31 ธ.ค.เท่านั้น ฉะนั้นระยะเวลาเพียง 3 เดือน ถ้าไปทำโครงการใหญ่รับรองว่าเบิกไม่ทัน และคณะกรรมการระดับจังหวัดก็คงไม่ผ่านให้ ตรงนี้จะเป็นการควบคุมกันในตัว รวมทั้งได้สั่งการไปแล้วว่าโครงการประเภทซื้อของแจกชาวบ้านนั้นห้ามทำโดยเด็ดขาด เช่น ซื้อเต็นท์ ซื้อกล้องซีซีทีวี จานชาม ห้ามเด็ดขาด”

อัดฉีดตำบลละ 5 ล้าน เดิมพันอนาคต "กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน"

อธิบดีกรมการปกครอง มั่นใจว่า การดำเนินโครงการผ่านกลไก มท.จะสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี อีกทั้งได้พูดกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ ว่า ถ้าครั้งนี้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ท่านนายอำเภอ ร่วมมือกันทำงาน นอกจากจะได้ประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนแล้ว จะทำให้สถาบันกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่เกรงกันว่าเขาจะมายุบ มาเปลี่ยน มาแปลง ก็คงจะไม่มีใครทำได้ นั่นเพราะคุณมีผลงานดี ทำดีแล้ว

ส่วนความสำเร็จหรือผลสัมฤทธิ์ของโครงการ กฤษฎา บอกว่า จะพิจารณาทั้งจาก “เอาต์พุต” และ “เอาต์คัม” โดยเริ่มจากเอาต์พุตนั้น หากตำบลเสนอมา 11 โครงการ ในจำนวนนี้เป็นฝาย 3 แห่ง เป็นร้านชุมชน 2 แห่ง ก็จะไปดูว่าในพื้นที่มีฝายครบตามที่เสนอจริงหรือไม่ คุณภาพเป็นอย่างไร และจากนั้นเราก็จะวัดเอาต์คัม คือ ประชาชนจะได้รับประโยชน์เท่าไร โดยอาจขอความร่วมมือสถาบันการศึกษาหรือองค์กรกลางเข้าไปประเมินผลโครงการนี้อีกทีหนึ่ง เพราะ มท.ในฐานะผู้ดำเนินโครงการคงจะไม่ประเมินเอง

นอกจากนี้ จะมีการจัดประกวดโครงการดีเด่นจากนโยบายตำบลละ 5 ล้านบาทด้วย โดยจะแบ่งออกเป็นภาคเหนือ กลาง ใต้ ตะวันออก ซึ่งที่ หนึ่ง สอง สาม ของแต่ละภาค จะได้รางวัลเป็นงบประมาณพิเศษจาก ปค.ไปพัฒนาหมู่บ้าน และตัวของผู้รับผิดชอบพื้นที่ คือนายอำเภอ ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ก็จะได้รับคะแนนพิเศษด้วย เพราะโครงการนี้ถือเป็นโครงการหลักของรัฐบาล

กฤษฎา ออกตัวว่า ไม่กล้าบอกว่าโครงการนี้จะดีกว่าโครงการอื่นที่แล้วๆ มาหรือไม่ แต่โครงการนี้มีจุดเด่นอยู่ 3 เรื่อง คือ 1.เป็นโครงการที่เสนอโดยประชาชนขึ้นมา ซึ่งจะสะท้อนสภาพปัญหาของชุมชนได้ชัดเจน 2.เงินมุ่งลงไปที่ตำบลหมู่บ้าน ฉะนั้นถ้ากรรมการหมู่บ้านสามารถจัดลำดับความสำคัญของปัญหาได้ เงิน 5 ล้านบาท อาจไปช่วยลดปัญหาจาก 10 ปัญหา เหลือ 2 ปัญหาได้ 3.เป็นโครงการที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ระบอบประชาธิปไตย จะเป็นเครื่องชี้วัดได้ว่าคนไทยมีความพร้อมหรือเข้าใจระบอบประชาธิปไตยชัดเจนแล้วหรือยัง

ทั้งนี้ โครงการนี้เสนอโดยประชาชน และมีการควบคุมโดยประชาชน แต่ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ยังมาฮั้วกับผู้รับเหมาหรือข้าราชการ เพื่อกินเล็กกินน้อย แสดงว่าการเรียนรู้หรือจิตสำนึกที่จะมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของตำบล หมู่บ้าน ของคนไทยยังมีน้อยมาก แสดงว่าเรายังไปไม่ถึงไหนกัน

“โครงการนี้สังคมจับจ้องตั้งแต่เริ่มต้น เราจะทำให้โปร่งใสที่สุด ถือเป็นการวัดใจกัน งานนี้เป็นการเดิมพันระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับรัฐบาล เป็นการเดิมพันระหว่างสถาบันกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กับนายอำเภอ โครงการนี้จะวางเดิมพันว่ากำนันและผู้ใหญ่บ้านยังใช้ได้หรือไม่ นายอำเภอยังใช้ได้หรือไม่ ยังเป็นกลไกของรัฐในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขได้หรือไม่”

มท.ไม่ปิดกั้น นศ.เคลื่อนไหวการเมือง

บทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัด สำหรับ กฤษฎา แล้ว มีความสำคัญและเป็นกลไกหลักในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง โดยการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องทำความเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้องกับประชาชน อย่าไปโกหกประชาชน ต้องพูดความจริงกับประชาชน

เขายกตัวอย่างว่า หากมีคำถามว่าทำไมร่างรัฐธรรมนูญถึงยาวนานนัก ทำไมถึงยังไม่เสร็จสักที ก็ต้องอธิบายประชาชนได้ว่า แน่นอนรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งสำคัญ แต่รัฐธรรมนูญที่ร่างออกมาแล้วต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้ได้ ประชาชนต้องไม่มาตีกันเพราะรัฐธรรมนูญ ถ้าเราไปเขียนรัฐธรรมนูญที่ไม่ครอบคลุมปัญหา เราเลือกตั้งแล้วก็มีคนมาตีกันอีก นำไปสู่การรบราฆ่าฟัน สุดท้ายก็มีการรัฐประหาร ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ต้องเข้าใจมิติเหล่านี้ และต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจด้วย

“แต่ถ้าเป็นเรื่องนิสิตนักศึกษาที่แสดงออกทางการเมือง เรามีนโยบายชัดเจนว่า เราจะไม่หวงไม่ห้าม ถ้านิสิตนักศึกษาคนหนุ่มคนสาวมาแสดงออกที่ต้องการประชาธิปไตย ไม่ได้ถูกจ้างหรือชักจูงมา ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ต้องไปสกัดกั้น เพียงแต่ไปทำความเข้าใจ แต่หากเขาต้องการแสดงออกต่อไปก็ให้ปล่อย เพราะถ้าใช้ความรุนแรงมาใส่กัน สถานการณ์ก็จะยิ่งไปกันใหญ่ เช่นเดียวกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการต่างๆ ทั้งเหมืองทองคำ โรงไฟฟ้า ตรงนี้ก็ต้องปล่อยให้เขาแสดงออกถึงความเดือดร้อน แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ต้องทำความเข้าใจให้ได้" กฤษฎา กล่าว

อัดฉีดตำบลละ 5 ล้าน เดิมพันอนาคต "กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน"

ว่าที่ปลัดมหาดไทย สวมบทประธานบริษัทดูแลประเทศ

ดีเดย์ 1 ต.ค. 2558 “กฤษฎา บุญราช” อธิบดีกรมการปกครอง จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย รับหน้าที่ผู้นำทัพในซีกฝั่งข้าราชการประจำ แน่นอนว่าไม่ได้ง่ายดั่งใจคิด แม้ว่ากฤษฎาจะเป็นลูกหม้อของกระทรวงมหาดไทยโดยแท้ เพราะเริ่มรับราชการครั้งแรกเมื่อปี 2522 แต่สถานการณ์การเมือง ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา 

ว่าที่ปลัดกระทรวงมหาดไทยฉายภาพแนวนโยบายในอนาคตว่า จะมอบหมายและเน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเข้าถึงประชาชน โดยลงไปยังพื้นที่ดูแลปัญหาภายในพื้นที่นั้นๆ หรือทำหน้าที่เป็นเหมือนผู้จัดการบริษัท บริหารจัดการในส่วนที่รับผิดชอบ แทนที่จะเอาแต่กำไรที่เป็นเงินมุ่งเข้าบริษัท แต่จะเป็นเรื่องการบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชนเป็นกำไรแทน

นอกจากนี้ จะนำประสบการณ์ผู้ว่าราชการจังหวัด 5 ปี มาทบทวนดูว่าการบริหารงานในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ มีปัญหาใดบ้างที่ส่วนกลางไม่สามารถเข้าไปสนับสนุนได้ โดยจะพยายามเข้าไปสนับสนุน โดยสนับสนุนปัจจัยการบริหารทุกอย่างที่มีทั้ง เงิน งบ ระบบ คน เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถปฏิบัติงานได้คล่อง

“ผมเปรียบเหมือนเป็นประธานบริษัทที่จะต้องพร้อมสนับสนุนให้ผู้จัดการมีอำนาจหน้าที่ และเครื่องมือกลไกต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนการทำงานให้บริษัทเจริญรุ่งเรืองที่สุด”

จากนี้ไปการดำเนินงานของกระทรวงมหาดไทยจะต้องทำงานหลักใหญ่ๆ คือ การบริการประชาชน เช่น งานทะเบียนราษฎร ที่จะใช้เทคโนโลยีเข้ามาเข้ามาสนับสนุนในการทำงานให้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น จะใช้ระบบออนไลน์คอมพิวเตอร์เข้ามาทำงาน เมื่อประชาชนไปติดต่องานราชการ ไม่ต้องเอาสำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนไป ให้นำเอาบัตรประจำตัวประชาชนแบบสมาร์ท การ์ดใบเดียวได้เลย

อีกทั้งเจ้าหน้าที่จะต้องอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน รวมทั้งงานกรมที่ดิน โดยขณะนี้ได้ขยายงานกรมที่ดินให้ครบ 878 อำเภอแล้ว ซึ่งได้หารือกับอธิบดีกรมที่ดินคนใหม่วางระบบการบริการที่ดินแบบสะดวกและรวดเร็ว

อีกเรื่องที่ให้ความสำคัญคือ ศูนย์ดำรงธรรม ซึ่งในมิติของตนที่วางไว้คือ ศูนย์ดำรงธรรมจะต้องมี 3 หน้าที่ คือ 1.เป็นศูนย์แก้ไขปัญหาให้ประชาชน ถ้าปัญหานั้นอยู่ในอำนาจหน้าที่ในระดับของอำเภอหรือจังหวัด 2.เป็นศูนย์ส่งต่อปัญหาไปยังส่วนกลาง หากปัญหานั้นเกินหน้าที่ของนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัด

และ 3.ศูนย์บริการประชาชน เช่น ถ้าประชาชนอยากทราบเรื่องการเปิดโรงงานอุตสาหกรรมต้องใช้หลักฐานอะไร ติดต่อใครบ้าง คำตอบเหล่านี้ประชาชนจะต้องดำเนินการได้ทันทีและได้รับการอำนวยความสะดวก พร้อมผลักดันให้ข้าราชการกว่า 300 ตำแหน่งที่ได้รับจากข้าราชการพลเรือน ไปกระจายทำงานที่ศูนย์ดำรงธรรมทั้ง 76 จังหวัด 

สำหรับนวัตกรรมใหม่อย่าง พ.ร.บ. อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ ที่ถูกพูดถึงอย่างมากในเวลานี้นั้น กฤษฎา วิเคราะห์ว่า จะส่งผล 2 มิติ คือ เจ้าหน้าที่ ข้าราชการ ต้องทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกและรวดเร็ว แต่ถ้าผิดพลาดประชาชนจะสามารถมีสิทธิที่จะฟ้อง

“ตรงนี้จะต้องหาจุดที่จะสร้างความพอดีระหว่างกัน ต้องดูแลลูกน้องของผมด้วย และจะไม่ให้ลูกน้องทำงานด้วยความกดดัน แต่จะให้นโยบายการทำงานอย่างไรให้งานเร็วแต่มีประสิทธิภาพ เจ้าหน้าที่จะต้องไม่ถูกฟ้อง ต้องช่วยกันป้องกันความผิดพลาด” 

กฤษฎา อธิบายว่า เบื้องต้นได้บอกผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องแล้วว่า อะไรก็ตามที่ประชาชนเข้ามาทำเรื่องและไม่สามารถอนุมัติหรือไม่อนุญาต ต้องเขียนเหตุผลให้ชัดเจน ว่าเพราะอะไร หรือขาดคุณสมบัติอย่างไร เพราะคนมักจะเข้าใจผิดว่า มี พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ และจะสามารถได้ทุกอย่างเสมอไป 

“เราต้องทำตัวเป็นลมใต้ปีก งานมีสัมฤทธิผล ประชาชนพึงพอใจ”

“ถามว่าทำไมต้องเป็นลมใต้ปีก เพราะเมื่อตอนเด็กๆ ผมดูเครื่องบินลำใหญ่เบ้อเริ่ม แต่ทำไมจึงบินขึ้นฟ้าได้ นั่นเพราะมีลมใต้ปีก เช่นเดียวกันกับข้าราชการกระทรวงมหาดไทยก็เหมือนลมใต้ปีก ที่ค้ำจุนประเทศ ทำให้ประเทศมั่นคง เคลื่อนไปข้างหน้าได้ ตัวชี้วัดว่างานสัมฤทธิผลหรือไม่ นั่นคือ ประชาชนพึงพอใจหรือไม่ แต่ถ้ายังมีประชาชนยังฟ้องร้องอยู่ แสดงว่าลมใต้ปีกเริ่มเบา เครื่องบินอาจจะตกลงมาก็ได้”

ว่าที่ปลัดกระทรวงมหาดไทย เล่าใหัฟังเพิ่มเติมว่า กำลังจะเขียนแนวทางการปฏิบัติให้แก่ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยได้ศึกษาว่านายใหม่เขาต้องการอะไร เพื่อที่วันที่ 1 ต.ค.นี้ ทันทีที่เริ่มงานก็จะนำมาเผยแพร่ทันที

โดยเนื้อหาคร่าวๆ ได้แก่ 1.ระบบเศรษฐกิจประเทศไทย ที่ผูกพันกับระบบเศรษฐกิจโลกมากขึ้น 2.จุดเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ที่กำลังจะมีรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งหวังว่าจะเป็นการเมืองที่รับผิดชอบต่อประชาชนมากขึ้น เพราะการเมืองไม่ใช่แค่เรื่องเลือกตั้งอย่างเดียว ผู้ว่าฯ หรือพ่อเมืองจะต้องรู้จักวิธีทำความเข้าใจกับประชาชน ดังนั้ันต้องเข้าใจมิติตรงนี้ด้วย

“ไม่ใช่ว่าจะให้ข้าราชการทำงานหนักอย่างเดียว แต่ต้องไม่กดดันลูกน้องด้วย เพราะในอดีตเคยผ่านประสบการณ์การทำงานที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชามาก่อน ทราบดีถึงข้อติดขัดการทำงาน ดังนั้นหากข้อสั่งการที่มีข้อสงสัยอะไรไม่สามารถทำได้ ให้รายงานขึ้นมาชี้แจง เราต้องพร้อมที่จะรับฟังเหตุผลและต้องช่วยกันแก้ไขปัญหา”

ที่สำคัญ ยังต้องคำนึงเรื่องระบบสวัสดิการ ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของเจ้าหน้าที่ข้าราชการ เช่น ปลัดอำเภอ ทำงานหนัก ฝนจะตก แดดจะออก มีแต่คนร้องหาปลัดอำเภอ หรือแม้แต่โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ แทนที่จะเป็นเรื่องกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง แต่ปรากฏว่างานทุกอย่างคือหน้าที่รับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย เพราะมีข้าราชการอยู่ในพื้นที่ทั่วประเทศ

“เขาทำงานหนักแล้วจำเป็นที่ต้องให้ความเป็นธรรม โดยขอให้ปลัดอำเภอได้รับเงินเพิ่มพิเศษ เหมือนกับ ตำรวจ พยาบาล ที่อยู่ประจำตำบล หรือเหมือนปลัด อบต. มิเช่นนั้นคนทำงานจะไม่มีขวัญและกำลังใจการทำงานภายใต้ภาวะ เศรษฐกิจไม่ดี แถมงานยังเยอะอีกด้วย”ว่าที่ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าว