posttoday

"ภูมิธรรม" วิพากษ์ รธน.ฉบับคนดี ไม่นำพาประเทศพ้นทุกข์ยาก

30 สิงหาคม 2558

"เป้าประสงค์การสร้างระบบเลือกตั้งแบบผสม คือต้องการให้เกิดพรรคการเมืองแตกกระสานซ่านเซ็น ต้องการให้รัฐบาลอ่อนแอ เพื่อเอื้ออำนวยให้นายรัฐมนตรีคนนอกเข้ามาได้ง่าย จึงไม่แปลกที่ถูกมองว่าเป็นกระบวนการสร้างรัฐธรรมนูญเพื่อปูทางสืบทอดอำนาจ"

โดย...เลอลักษณ์ จันทร์เทพ, ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

เสียงวิจารณ์จากซีกฝั่งนักการเมืองที่ไม่เห็นด้วยต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กำลังจะลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในวันที่ 6 ก.ย.นี้ ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนไปยังคณะรัฐประหาร จนบิ๊ก คสช.ต้องออกมาติดเบรก

ทีมข่าว “โพสต์ทูเดย์” เปิดใจ ภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในเรื่องเนื้อหาของรัฐธรรมนูญอีกครั้ง เพื่อฉายภาพการเมืองช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน “ยากที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะแก้ปัญหาภายในชาติได้ เพราะการออกแบบรัฐธรรมนูญด้วยระบบการเมืองไม่เปิดโอกาสให้คนในสังคมมายอมรับและเป็นรัฐธรรมนูญที่ปูทางเพื่ออำนาจของกลุ่มคนบางกลุ่ม”

ภูมิธรรม ย้ำว่า กรอบความคิดการออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่อยู่บนพื้นฐานความกลัว และตั้งสมมติฐานว่า นักการเมืองเลว ระบอบประชาธิปไตยที่ผ่านมาเลวร้าย แล้วตัดสินให้คนกลุ่มหนึ่งที่บอกว่าเป็นคนดี เข้ามาเลือก ตัดสินใจแล้วบอกว่าทุกอย่างที่ทำดีหมด ทั้งที่เรื่องความดีความชั่ว ใครจะมาตัดสินกันไม่ได้ เพราะไม่มีใครดีหรือจะชั่ว 100% เมื่อมนุษย์เป็นผู้สร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมา ต้องดูด้วยว่าเป็นกลไกที่ใช้ได้จริงหรือไม่

เมื่อไม่เห็นด้วย ภูมิธรรม จึงมั่นใจว่า เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เดินหน้าไปไม่ได้ เพราะมีปัญหาหลายประเด็น เช่น กำหนดให้คนกลางเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่กลัวเสียงต้าน จึงกำหนดไว้ภายใต้คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ซึ่งกำหนดให้อยู่ในบทเฉพาะกาล, กลไกการเลือกตั้งแบบผสมที่ต้องการให้รัฐบาลอ่อนแอ, ที่มา สว.ในจำนวน 123 คน ให้ ครม. คสช.เป็นผู้สรรหา

“ไม่เข้าใจว่าเมื่ออนาคตต้องการเปิดระบบให้มีการเลือกตั้ง แทนที่จะเปิดช่องให้เกิดพัฒนาการประชาธิปไตย ให้ระยะเวลาเป็นตัวพิสูจน์การตัดสินใจของประชาชน กลับวางกลไกโดยพยายามให้เกิดรัฐบาลแห่งชาติ จะมั่นใจได้อย่างไรว่า รัฐบาลแห่งชาติที่ถูกออกแบบภายใต้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะสามารถบริหารประเทศได้

“เพราะตามหลักความเป็นจริง การจะตั้งรัฐบาลแห่งชาติได้ ต้องมีเรื่องนโยบาย หลักคิดต่างๆ ของทุกฝ่ายตรงกัน ไปในทิศทางเดียวกัน เราเป็นพรรคการเมืองของประชาชนจะต้องพูดถึงแนวคิดนโยบายของตนเอง และถ้าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับพรรคการเมืองนั้น ระบอบประชาธิปไตยก็ควรเปิดโอกาสให้พรรค การเมืองที่ได้รับเลือกเข้ามาบริหาร

“ส่วนอีกฝ่ายที่มีนโยบายแตกต่างกันก็ควรจะเป็นฝ่ายตรวจสอบ ไม่ใช่อยู่ๆ จะมาบอกว่าให้มารวมกันเลย ถามว่าจะรวมกันได้อย่างไร เพราะทั้งวิธีคิดด้านเศรษฐกิจก็ต่างกัน วิธีการมองแก้ปัญหาในแต่ละเรื่องก็ต่างกัน”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดทางให้ตั้ง “นายกฯ คนนอก” ภูมิธรรม ย้ำว่า เป็นการคิดที่ผิดหลักการประชาธิปไตย เพราะระบอบประชาธิปไตยจะต้องกำหนดให้พรรคการเมืองลงไปหาการยอมรับจากประชาชน โดยมีปัจจัย ดังนี้ 1.เข้าใจปัญหาประชาชนหรือไม่ 2.มีสติปัญญาที่จะแก้ปัญหาให้ประชาชนได้หรือไม่ 3.มีตัวบุคลากรที่จะช่วยแก้ปัญหาอย่างไร

“ถ้ามีคุณสมบัติครบถ้วน ประชาชนก็จะสนับสนุน แต่ถ้าวางกติกาที่ไม่พูดถึงนโยบาย พอถึงเวลาบอกว่า รัฐบาลแห่งชาติเรามาร่วมมือกัน สะท้อนให้เห็นว่ากำลังคิดผิด การรวมตัวกันแก้ปัญหาประเทศ ไม่ใช่จะจับให้ทุกคนมารวมกันอยู่ในห้องหนึ่ง แล้วให้คนทุกคนคิดเหมือนกันทั้งหมด ไม่ใช่ มันไม่สามารถตอบโจทย์ในสถานการณ์ได้ว่า คนดีคนหนึ่งจะแก้ปัญหาได้

“อย่าลืมว่า ที่ผ่านมาระบอบประชาธิปไตยเดินไปไม่ได้ ไม่ใช่เพราะประชาธิปไตยมีปัญหา แต่เป็นเพราะคนส่วนหนึ่งมีปัญหาต่างหาก และสร้างปัญหา ถ้าทุกอย่างทำตามหลักยุติธรรม ใช้กระบวนการนิติธรรม เป็นจริง ว่ากันตามกรอบกติกา เหตุการณ์ประท้วงปิดประเทศจะเป็นไปไม่ได้ ถ้าคิดว่าประเทศเราเป็นอารยะ แล้วที่ทุกคนเคารพกติการ่วมกัน ปัญหาที่เกิดคิดทุกคนไม่เคารพกติกาตกลงไว้อย่าง ทำอีกอย่าง”

สำหรับระบบเลือกตั้งแบบผสม ภูมิธรรม ในฐานะผู้มีส่วนสำคัญในการจัดบัญชี สส. ในการลงเลือกตั้งแต่ละครั้ง สะท้อนว่า การกำหนดให้มี สส. 450-470 คน แบ่งเป็น สส.เขต 300 คน สส.บัญชีรายชื่อ 150-170 คนนั้น ขอให้นึกภาพย้อนไปในอดีตระบบการเลือกตั้งที่ทำให้เกิดรัฐบาลผสม ที่พิสูจน์มาแล้วว่าไม่สามารถแก้ปัญหาประเทศได้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แทนที่จะหาจุดอ่อน แล้วหาระบบป้องกัน สร้างกลไกที่ตรวจสอบให้เกิดการถ่วงดุลกัน แต่กลายเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ถอยหลังไปสู่อดีตที่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไร

“แต่ระบบเลือกตั้งครั้งนี้กลับกำหนดว่า หากพรรคใด สส.เขตสามารถทำพื้นที่ได้มาก ก็จะได้ สส.บัญชีรายชื่อน้อยลง หรือว่าไม่ได้เลยก็เป็นได้ โดยจะส่งผลให้เกิดรัฐบาลที่มีพรรคเล็กพรรคน้อยเต็มไปหมด ซึ่งเป็นเป้าประสงค์ที่เขาไม่ต้องการให้เกิดพรรคการเมืองที่เข้มแข็งเพียงพรรคเดียว กลายเป็นรัฐบาลที่อ่อนแอ สร้างจุดอ่อนของรัฐบาลเข้าไปอีก

“เป้าประสงค์การสร้างระบบเลือกตั้งแบบผสม คือต้องการให้เกิดพรรค การเมืองแตกกระสานซ่านเซ็น ต้องการให้รัฐบาลอ่อนแอ เพื่อเอื้ออำนวยให้นายกรัฐมนตรีคนนอกเข้ามาได้ง่าย จึงไม่แปลกที่ถูกมองว่าเป็นกระบวนการสร้างรัฐธรรมนูญเพื่อปูทางสืบทอดอำนาจให้กลุ่มบุคคลบางกลุ่ม ต้องการให้เกิดอำนาจรัฐซ้อนรัฐที่มีอำนาจนิติบัญญัติเหนือการบริหาร”

ถามแย้งแม่บ้านพรรคเพื่อไทยว่า อดีตที่ผ่านมาพรรคการเมืองไปเชิญนายทุนมาลง สส.ระบัญชีรายชื่อ ภูมิธรรม ชี้แจงว่า “ผมเรียนรัฐศาสตร์มา และอาจารย์มักสอนเสมอว่า ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ต้องใช้เวลา ต้องให้โอกาสระบอบคลี่คลายด้วยการมีส่วนร่วม แต่ที่ผ่านมากว่า 80 ปี ไม่เคยเปิดโอกาสให้ประชาธิปไตยไทยได้พัฒนาด้วยตัวมันเอง

“ที่ผ่านมา มีแต่คนประกาศตัวที่คิดว่าตัวเองถูกต้อง แล้วบอกว่าประชาธิปไตยมันไปผิดทางแล้ว ขอให้เชื่อเราจัดการให้ เพราะแบบนี้ประชาธิปไตยไทยจึงได้ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด เราในฐานะนักการเมืองไม่เคยรังเกียจ ใครที่จะเป็นนายทุนหรือไม่ใช่นายทุน จะรวยจะจนไม่เคยสนใจ เพราะระบบประชาธิปไตยเป็นระบบที่ทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่กีดกันใครออกไป

“การออกแบบร่างรัฐธรรมนูญวันนี้ เราไม่จำเป็นต้องไปโฟกัสว่าใครจะได้เสียงข้างมากข้างน้อย เพราะถึงอย่างไรรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ยากที่จะเดินหน้าบริหารประเทศได้อย่างเต็มที่ จริงๆ แล้วไม่ต้องประกาศให้พรรคการเมืองหาเสียง แต่ประกาศไปเลยว่า วางนโยบายของประเทศไว้แล้ว ใครสนใจจะอาสาสมัครเข้ามาบริหารก็ดำเนินการเลย ไม่ต้องเลือกตั้ง

“...พรรคเพื่อไทย คิดว่า หัวใจสำคัญไม่ได้ขึ้นอยู่ว่าระบบเลือกตั้งที่ถูกออกแบบจะเป็นปัญหากับการดำเนินการจัดระบบรายชื่อภายในพรรค เชื่อเถอะว่าทุกพรรคการเมืองเขามีวิธีจัด แต่ปัญหาที่ควรจะโฟกัส คือจะกระทบต่อประโยชน์ของประชาชนหรือไม่ กระทบหลักการประชาธิปไตยอย่างไร

“อย่าลืมว่ามนุษย์ที่สร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมา เพื่ออำนวยความสะดวก เพื่อทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ แต่หากสร้างกฎกติกามาพันธนาการตัวเองให้ไม่สามารถทำอะไรได้ เท่ากับว่าผู้ร่างกฎนั้นไม่ได้เฉลียวที่จะสร้างสิ่งดีๆ แต่มนุษย์ทุกคนที่อยู่ภายใต้กฎกติกาที่ชัดเจน เขาจะเรียนรู้ที่จะเอาตัวรอดได้”

อย่างไรก็ดี หากจำต้องใช้ระบบเลือกตั้งตามที่รัฐธรรมนูญใหม่กำหนด ภูมิธรรม ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นปัญหา “ผมจัดการได้ เพราะเป็นการจัดการภายในที่แบ่งให้คนลงไปทำงานการเมือง ทุกคนจะได้ทำงาน และเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะเป็นพรรคที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง เชื่อเถอะว่าเราสามารถปรับตัวได้ที่จะเอาตัวให้อยู่รอดเพื่อจะไปรับใช้ประชาชนได้

“ถ้าคุณอยากแก้ปัญหาประเทศ ก็ต้องออกแบบให้รัฐบาลเข้มแข็ง สามารถแก้ปัญหาได้ แต่มาออกแบบรัฐธรรมนูญแบบนี้ แก้ปัญหาก็ไม่ได้ การเดินหน้าประเทศไม่เกิด เครดิตประเทศไม่มี และจะไม่มีทางที่จะนำพาประชาชนให้พ้นจากความทุกข์ยากได้” ภูมิธรรม กล่าว

การให้เดินตามคนกลุ่มหนึ่ง...อันตราย

ภูมิธรรม ชวนย้อนไปดูจุดเริ่มต้นของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า มีผู้ที่เกี่ยวข้องกับร่างรัฐธรรมนูญว่าเป็นใคร มาจากไหน และมีแนวความคิดอย่างไร โดยเฉพาะแนวความคิดที่ทำให้รู้สึกสับสนจากคำยืนยันของ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) ระบุว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้หมกเม็ดอะไรเลย วางอยู่บนโต๊ะ” ขณะที่ จรัส สุวรรณมาลา หนึ่งในกรรมาธิการยกร่าง รธน. กลับบอกว่า “นี่ยังไม่ใช่รัฐธรรมนูญจริงๆ เป็นรัฐธรรมนูญในสถานการณ์พิเศษ เป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราว”

ภูมิธรรม อธิบายต่อท่าทีเหล่านั้นว่า ตามความเข้าใจในการร่างรัฐธรรมนูญในแต่ละครั้งจะต้องเป็นฉบับถาวร แต่ทำไมกำลังรู้สึกว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว ถามว่านั่นเพราะการร่างไม่ได้เป็นไปตามหลักสากลใช่หรือไม่ เป็นเพียงรัฐธรรมนูญที่พยายามนำมาใช้แก้ไขสถานการณ์ปัจจุบันใช่หรือไม่ และคนที่จะตอบคำถามหรือจะประเมินนั่นคือกลุ่มคนกลุ่มเดียวที่คิดว่าตัวเองหวังดี เจตนาดีถูกต้องต่อบ้านเมือง แล้วเห็นว่าคนอื่นที่มีความคิดไม่ตรงกับตัวเองนั้นผิด

“จุดเริ่มต้นของการออกแบบร่างรัฐธรรมนูญบนความคิดความเชื่อเฉพาะกลุ่ม จะก่อให้เกิดปัญหา การออกแบบกฎกติกาบ้านเมืองที่ดี จะต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของคนที่อยู่ร่วมกันทั้งสังคม ต้องมากางข้อจำกัดต่างๆ แล้วให้คนในสังคมมาช่วยกันดู และจะต้องไม่บอกว่าพวกตัวเองเป็นคนที่หวังดีต่อประเทศชาติ มาเสนอกฎต่างๆ เพื่อให้บ้านเมืองเดินไปได้ตามความคิดของตัวเอง มันจะอันตรายมาก

"ความคิดของคนกลุ่มเดียวมากำหนดให้คนกลุ่มใหญ่เดินตามเป็นสิ่งที่ไม่มีใครทำ...กรอบวิธีคิดที่พยายามให้คนส่วนใหญ่ในสังคมเดินไปด้วยกันที่เริ่มต้นจากความกลัวความขัดแย้งที่ดำรงอยู่มายาวนานมาก จึงระมัดระวังมากเกินไป จนไม่สบายใจ พยายามปิดเงื่อนไขที่กลัวว่าจะเป็นปัญหาทั้งหมด ทุกอย่างจึงเดินไปไม่ได้

"นี่คือเงื่อนไขสำคัญ ดังนั้น สิ่งที่ควรจะทำเวลานี้คือการระดมความเห็นให้มากที่สุด ยอมรับในความคิดเห็นที่แตกต่าง อย่าไปกลัวว่าจะเกิดความแตกแยก เพราะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาภายใต้สถานการณ์พิเศษ ทุกคนพร้อมให้ความร่วมมืออยู่แล้ว และอารมณ์ของคนในสังคมเองก็เบื่อความรู้สึกกับสังคมที่มีแต่ความขัดแย้ง ทำให้ประเทศติดขัดเดินหน้าไปไม่ได้

"ขณะเดียวกันต้องอย่าลืมว่าคนที่อยู่ร่วมกันในสังคม เขาต้องการประชาธิปไตยเช่นกัน แม้จะไม่มีอะไรที่คนทุกคนจะเห็นทุกอย่างเป็นหนึ่งเดียวได้ 100% แต่สังคมประชาธิปไตยเขายอมรับความแตกต่างอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นต้องถกเถียงกันให้เต็มที่ ดูว่าอะไรที่ไปได้ไปไม่ได้บ้าง กระบวนการประชาธิปไตยล้วนมีทางออกร่วมกัน

"แต่ในทางกลับกันกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำสวนทางกัน ไม่เปิดโอกาสให้สังคมได้คิด ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น แบบนี้สังคมจะเกิดความแตกฉานได้อย่างไร"

ภูมิธรรม อธิบายด้วยว่า การระดมความคิดเห็นจะต้องเจาะลึกลงไปดูด้วยว่ากระบวนการที่สำรวจนั้นได้สำรวจอย่างอิสระ กว้างขวาง อย่างพอเพียงหรือไม่ แต่ถ้าถามฝ่ายการเมืองบอกเลยว่ายังไม่พอเพียง เพราะยังเป็นการจัดในเฉพาะกลุ่มที่มีเครือข่ายเท่านั้นเอง ซึ่งเรื่องประชาธิปไตยคือเรื่องของคนทั้งประเทศ ถ้าผู้ร่างรัฐธรรมนูญสามารถระดมได้กว้างเท่าไหร่ ก็จะเห็นถึงวิสัยทัศน์ได้มากเท่านั้นไม่มีอะไรเสียหาย

"อย่ากลัวความขัดแย้ง ความเห็นที่แตกต่างไม่ใช่ความขัดแย้งทั้งหมด เพียงแต่ต้องมาตกลงร่วมกันว่าจะไม่ใช้วิธีการรุนแรง และจะมาหาข้อสรุปร่วมกันเดินไปด้วยกัน จากนั้นให้เวลาได้เริ่มต้นพิสูจน์ว่าสิ่งที่ได้ทำมาถูกหรือไม่ถูก ถ้าไม่ถูกก็ปรับปรุงแก้ไข

"ถ้าถูกเราก็จะได้เดินหน้าต่อไปด้วยความมั่นใจ ถ้าทุกคนเข้าใจประชาธิปไตย เข้าใจรู้จักอดทนรอ ยอมรับข้อสรุปที่ได้จากเสียงส่วนใหญ่ ร่วมกันแก้ปัญหาความขัดแย้ง นี่คือหัวใจสำคัญ” ภูมิธรรม ตอกย้ำ

"ภูมิธรรม" วิพากษ์ รธน.ฉบับคนดี ไม่นำพาประเทศพ้นทุกข์ยาก

ปรองดองเกิดยาก หากความคิดต่างยังสูง

ใกล้ชี้ชะตาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หลายฝ่ายต่างจับจ้องด่านสำคัญ คือ สมาชิก สปช. ที่จะลงมติผ่านความเห็นชอบในวันที่ 6 ก.ย.นี้ หรือไม่

“รัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ อยู่ที่แม่น้ำสี่สาย แทบไม่ต้องประเมิน อยู่ที่ว่าอยากให้เป็นอย่างไร” คำยืนยันจาก ภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าว

ภูมิธรรม ฉายภาพว่า ต้องยอมรับแม่น้ำทุกสายมาจากต้นสายที่กำหนด คิดว่าทางไหนคือทางออกเหมาะ จะถูกหรือไม่ถูกเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เวลานี้จะประชามติหรือไม่ผ่านแล้วกลับไปให้ คสช.เลือกตั้งใหม่ ทั้งหมดเป็นกระบวนการที่คนบางส่วนต้องการให้ยืดออกไปเรื่อยๆ ซึ่งตรงนี้ติงว่าไม่ดี แต่อยู่ที่เจตนาของผู้สร้างแม่น้ำ

“มันไม่ใช่สาระสำคัญที่ต้องมานั่งคิด ส่วนออกมาแล้วสู่ประชามติ จะประเมินผ่านหรือไม่ อยู่ที่การเปิดกระบวนการรับฟังมากพอหรือเปล่า จะผ่านหรือไม่ ไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะประชาชนตัดสินใจ ผู้มีหน้าที่ทางการเมืองต้องยอมรับการตัดสินใจของประชาชน”

ส่วนผลประชามติออกมาพรรคเพื่อไทยจะยอมรับหรือไม่ ภูมิธรรม ย้ำชัดเจนว่า เรื่องดังกล่าวยังไม่ควรมาถกเถียงกัน แต่ปัญหาคือกระบวนการเหล่านี้ต้องตัดสินใจให้เร็วที่สุด เพราะหากช้ายิ่งเป็นผลร้ายต่อการพัฒนาและคืนความปกติให้กับ ประเทศ มันสำคัญกว่ามาเถียงเรื่องนี้ 

ภูมิธรรม ระบุว่า หลักการคือ ให้คนส่วนใหญ่มีส่วนร่วมตัดสินใจและเป็นที่ยอมรับ มีเวทีให้คนส่วนใหญ่ระดมความเห็นกันได้กว้างขวางขึ้น สิ้นข้อสงสัย เมื่อถึงเวลานั้นประชาชนตัดสินใจอย่างไรก็ต้องยอมรับ ไม่ใช่ไม่ทำอะไรเลย แล้วทำประชามติ มันผิดหลักทั่วโลก

“คำว่ากว้างขวาง คือ เปิดประชามติให้ประชาชนได้แสดงความเห็นได้อย่างเต็มที่ ไม่มีข้อจำกัดเป็นสากล ตัวอย่างสกอตแลนด์ หรือที่ทั่วโลกทำมาแล้ว เช่น ประชามติจะยุบหรือรวมประเทศ ซึ่งก็มีทั้งฝ่ายสมหวังและไม่สมหวัง ต้องยอมรับ และเมื่อสถานการณ์ผ่านไปสักระยะหนึ่งถ้าจะเสนออีกก็ว่ามา”

แม้หน้าตารัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไร แต่พรรคเพื่อไทยต้องการให้เกิดการเลือกตั้งเร็วที่สุด ภูมิธรรม พูดด้วยน้ำเสียงดุดันว่า เป้าหมายของพรรคต้องการกฎเกณฑ์และกติกาที่เป็นประชาธิปไตย ทำให้คนสังคมส่วนใหญ่อยู่ร่วมกันได้อย่างเหมาะสมและมีความสุข ซึ่งเป็นพื้นฐานทำให้ประเทศเดินหน้าไปได้ พรรคเพื่อไทยไม่ได้ดิ้นรนว่าต้องชนะเลือกตั้ง อยู่ที่ประชาชนพอใจพรรคแค่ไหนก็แค่นั้น

ภูมิธรรม ย้ำว่า เรื่องให้รับร่างรัฐธรรมนูญไปก่อนแล้วแก้ไขทีหลัง ซึ่งอย่าลืมว่าประเทศไทยช้าและล้าหลังมา 10 ปี และวาทกรรมนี้ก็เคยพูดมาแล้ว แต่มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะตอนทำรัฐธรรมนูญ 2550 ให้รับไปก่อนค่อยแก้ เช่น 248 สส. ตามมาตรา 291 แต่กลับโดนถอดถอน ก็เพราะกระบวนการมันไม่ปกติ

“วาทกรรมแบบนี้ใช้ได้ครั้งเดียว วันนี้ที่สำคัญคือ ทำให้คนเห็นความจริงใจ และหาทางออกร่วมกันของคนทั้งสังคม ไม่ใช่วาทกรรมหรือข้อเสนอที่ทำให้เป็นไปตามความมุ่งหมายของตน สังคมยุคนี้ไม่ใช่ 2475 ที่เพิ่งคลอดประชาธิปไตย”

อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยไม่ได้คัดค้านอะไรแบบหัวชนฝา มีเจตนาดี เพราะเห็นสังคมมีอะไรดีก็บอก ส่วนจะเชื่อหรือไม่เป็นเรื่องอนาคต แต่ยังยืนยันว่า ถ้าเดินไปแบบนี้ ไม่เป็นผลดีต่อประเทศ ความเสียหายไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะบุคคลเท่านั้น แต่ส่งผลถึงประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ส่วนจะมากหรือน้อยไม่อาจคาดเดาได้

ภูมิธรรม ครุ่นคิดเล็กน้อยถ้าจะให้พรรคร่วมกติกานี้ในอนาคต แต่ก็คงต้องดูวันนั้นว่ากติกาให้ทำอะไรได้บ้างและเป็นประโยชน์ที่สุด เวลานี้ให้ตัดสินใจก็เร็วเกินไป แต่อยากให้สังคมเดินไปข้างหน้า กระบวนการที่ผ่านกาลเวลาและผ่านการถกเถียง ทำให้คนในสังคมไทยมีส่วนช่วยได้มากขึ้น ทำให้หาทางออกได้ดีที่สุด ซึ่งถึงที่สุดก็ต้องดูวินาทีนั้นและสภาพทั้งหมด ซึ่งทุกคนก็ต้องมาช่วยกันตัดสินใจ

ภูมิธรรม ย้ำเสียงหนักแน่นหากยื้อกติกาออกไปแล้วค่อยเลือกตั้ง ถามว่าหนึ่งปีที่ผ่านมาพรรคไม่ได้เป็นเงื่อนหรืออุปสรรค บอกให้เสนอความเห็นก็ทำ แต่กระบวนการไม่คืบหน้า วันนี้คำถามไม่ควรมาถามพรรค แต่ต้องกลับไปถามผู้ร่างว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้ร่างจริงหรือไม่ ทำงานเต็มที่แล้วหรือเปล่า เมื่อไม่มีเงื่อนไขใดๆ

อย่างไรก็ดี ถ้าให้พรรคเพื่อไทยดีเบตถึงข้อดีข้อเสียรัฐธรรมนูญ ภูมิธรรม ระบุชัดเจนว่า พร้อมยืนยันความคิดความเชื่อ การถกเถียงความคิดความเชื่อ ไม่ใช่เรื่องเสียหาย และพร้อมดีเบต เพราะมันไม่ใช่เรื่องระบบการปกครองที่ดีและการมีกติกาดี ไม่ใช่พรรคกับกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญไปตกลงลับ แต่ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย พรรคก็ไม่เห็นด้วย

ผมเรียกร้องให้คนในสังคมมีส่วนร่วมทางความคิด ถ้าคุณจัดเวทีไม่มีความรุนแรงเรายินดี เพราะเวลานี้เรากำลังต้องการให้คนในสังคมมีส่วนรับรู้ เวลานี้กำลังตีกรอบการเมืองในหมู่คนชนชั้นนำมาตกลงกัน ซึ่งคิดว่าเหมือนกับจัดกลุ่มมาฮั้วการเมือง ไม่อยากทำแบบนั้น เราอยากให้สื่อเป็นหัวหอกหลัก สถาบันศึกษาเป็นเวทีกลาง พรรคการเมืองระดมความเห็น สมาชิกพรรคเสนอ และ กมธ.รวบรวมข้อมูลเป็นวิชาการ โดยใช้กลไกทุกส่วน เขาก็พร้อมทำ ไม่ใช่บอกว่าส่งคนไปแล้วร้อยชุด แต่คนอื่นไม่รู้”

ภูมิธรรม มองถึงรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ พอเริ่มต้นกระบวนการก็ขัดกับความเป็นจริงระบอบประชาธิปไตย การเปิดบรรยากาศมีการเลือกตั้งเพื่อให้ประชาชนแสดงเจตจำนง พรรคการเมืองก็ไปทำหน้าที่ ถึงที่สุดวันลงบัตร คนตัดสินใจ เลือกความไว้วางใจให้พรรคการเมืองไหน นโยบาย ตัวบุคคลอย่างไร

ทั้งนี้ ถ้าผลการตัดสินใจเสียงมากไปพรรคไหนก็ให้เข้าบริหารประเทศ ถ้าตัดสินใจไม่เด็ดขาด ทุกคนก็ต้องมาร่วมมือกัน ซึ่งตามหลักการต้องมีแกนกลางที่ทำให้ร่วมงานกัน เช่น แนวนโยบายกลางเป็นอย่างนี้ ไปด้วยกันได้ไหม ซึ่งต้องมีแกนนโยบาย แกนความคิด แต่อยู่ๆ เอาสองพรรคต่างกันมาจับมือเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล ไม่ใช่ว่าต่างคนต่างยึดกระทรวงไม่แตะต้องกัน ก็จะได้รัฐบาลแนวความคิดแตกต่างกัน ตัดสินใจอะไรก็ทะเลาะตลอดเวลา มันไม่ปรองดอง

ภูมิธรรม ยอมรับว่า การจะให้เกิดแบบนั้นตามหลักการมันยาก เพราะการปรองดองต้องมีแกนกลาง และปัญหาเหมือนกัน แต่ถ้ามีเงื่อนไขพิเศษก็อาจง่ายขึ้น ส่วนจะให้พรรคไหนหรือใครมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลปรองดอง ต้องคิดอะไรเหมือนกัน

“สมมติพอเริ่มประชานิยม อีกฝ่ายไม่เอา ก็ไปไม่ได้ ไม่จำเป็นต้องคุณอภิสิทธิ์ หรือใครก็ได้จะมาเป็นนายกฯ ถ้าเรื่องหลักการ นโยบาย ชัดเจน เลือกคน เหมาะสมที่คิดว่าทุกฝ่ายยอมรับและ ทุกคนต้องการ ใครก็ได้”

ภูมิธรรม ยอมรับนโยบายพรรค เพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ไปด้วยกันลำบาก แต่ถ้าปรับกันก็ไปได้ แต่ทุกวันนี้มันคนละทาง เช่น จำนำข้าว ซึ่งพรรคยังเชื่อเรื่องนี้ว่าแก้ปัญหาได้ แต่หากร่วมกันแล้วเห็นต่างมันก็ต้องถกในรายละเอียด ไม่ใช่ใช้ความรู้สึก เพื่อไทยยึดมั่นประชาธิปไตย ในการอยู่ร่วมกัน ของประโยชน์ร่วมสังคม

ทั้งนี้ การปรองดองที่รัฐบาลประกาศมา ทุกคนพูดจากความรู้สึกห่วงใยปัญหาที่เกิดขึ้น อยากแก้ แต่ไม่มีใครเสนอว่าจะปรองดองอย่างไร ทุกอย่างในสังคมอยากปรองดอง แต่วิธีทำ เช่น ขั้นตอนพื้นฐาน คือ ความยุติธรรม รัฐเป็นรัฐ เป็นนิติรัฐ นิติธรรม ทำให้กระบวนการยุติธรรมมันเกิดขึ้น ถ้ารัฐมีความชัดเจน กฎหมายเป็นธรรม ทุกฝ่ายอยู่ภายใต้กรอบกติกานี้ มันก็สามารถเกิดขึ้นได้  

ภูมิธรรม บอกว่า หนึ่งปีกับการปรองดองที่ผ่านมา สิ่งที่สะท้อนได้มากสุด คือ คนเบื่อความขัดแย้ง แตกแยก และเฝ้ารอว่าจะคลี่คลายไปทางไหน แต่รายละเอียดให้สังคมเดินหน้า เจตนาความต้องการสังคม คือ กระบวนการ เพราะนอกจาก เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่ทำ ก็ยังไม่เห็นรายละเอียดอื่นเป็นรูปธรรม ต้องมีคำตอบชัดเจน

“พอไม่ชัดเจน เสนอให้พรรคการเมืองจับมือกัน ก็กลายเป็นการฮั้วของชนชั้นนำ ซึ่งไม่ตอบโจทย์ปรองดอง สิ่งที่พูดกำลังพูดเนื้อหา ถ้ามีกติกาเป็นธรรม ทุกอย่างก็เกิดขึ้น การปฏิรูปของ คสช.ยังไม่มีอะไรให้เห็นว่าปฏิรูปอะไร แต่วันนี้มันยากไปวิจารณ์ แต่การปฏิรูปต้องทำเลยไม่ต้องขอเวลา เวลานี้การปฏิรูปต้องคิดเสนอและปฏิบัติ

ผมไม่ได้บอกว่าแม่น้ำทุกสายไม่ได้พูดถึงการปฏิรูป แต่ไม่สำคัญเท่าการทำกฎหมาย กติกา ทุกคนให้เวลาท่าน ปัญหาสำคัญ จะปฏิรูปการเมือง การศึกษา แบบไหน กระบวนการรองรับเป็นอย่างไร ไม่เห็น ปฏิรูปพระ แบบไหน ไม่เห็น หรือเห็น แต่ผมอาจตกหล่นไป แต่เราเป็นห่วงใย เพราะเราต้องลงไปเล่นในกติกากำหนด รัฐธรรมนูญตามตลอด มันผิดหลักไปผิดทางจนย้อนยุค”