posttoday

พ่อผมเป็น "แพะ"

26 กรกฎาคม 2558

"ผมมีพ่อคนเดียว มีข้อแตกต่างลูกนักการเมือง ลูกทหารถูกด่าจะมีองครักษ์พิทักษ์ แต่หม่อมอุ๋ยไม่ชกกลับ ไม่มีองครักษ์ จึงเหลือแค่ผม ถ้าผมไม่ทำอะไรเลยก็แย่ ผมจำเป็นต้องระเบิดพลีชีพ"​

โดย...ธนพล บางยี่ขัน, ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

“สิ่งที่ผมทำให้วันนี้ ไม่ใช่หน้าที่ของสื่อมวลชน แต่เป็นหน้าที่ของลูกคนหนึ่ง ที่ไม่ต้องการให้ทั้งสังคมเข้าใจบิดาในทางที่ผิด เพราะความบกพร่องจนนำมาสู่การที่ประชาชนไม่ได้รับทราบผลงาน ฝ่ายที่ีมีหน้าที่รับผิดชอบประชาสัมพันธ์ผลงานของรัฐบาลเชิงรุก ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างครบถ้วน”

ปลื้ม-ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ผู้ที่ประกาศตัวว่ายืนอยู่ฝั่งคนเสื้อแดงและไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ออกตัวในช่วงเริ่มต้นสัมภาษณ์พิเศษ ถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ปนเหน็บแนมกับท่าทีที่เปลี่ยนไป เมื่อออกมาแจกแจง “ผลงาน” ของคุณชายอุ๋ย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ที่กำลังตกเป็นเป้ารุมถล่มสังเวยสภาพเศรษฐกิจตกสะเก็ด

“มันน่าเศร้าถึงขนาดที่ลูกต้องเป็นคนที่ออกมาเพื่อพิทักษ์เกียรติยศ อย่าลืมว่ารองนายกฯ ​อันดับสองของรัฐบาลที่มีอำนาจล้นฟ้า ในการคุมสื่อมวลชน ทำพร็อพพากันด่าสื่อของรัฐ มันน่าเศร้า​สำหรับรองนายกฯ ​ทำงานเหน็ดเหนื่อยทุกวัน แทบไม่ได้หลับได้นอน ​เท่าที่ผมเห็น ผมทำงานเลิกสามทุ่มกว่า กว่าจะกลับถึงบ้านสี่ทุ่มกว่า กลับไปถึงเหลือบมองไปเห็นไฟในห้องทำงานของพ่อเปิดอยู่คือ นอนดึกกว่าผม ขณะที่ผมทำงานเป็นผู้สื่อข่าว บางทีตื่นออกมาตีห้า ไฟยังเปิดอยู่

...มันน่าเศร้าเมื่อถึงเวลา กลับไม่มีใครออกมาปกป้อง ว่าผลงานที่ผ่านมามีอะไรบ้าง หน้าที่นี้เป็นของรัฐบาลที่ต้องมาสรุปผลงานของหม่อมอุ๋ยให้ทุกคนฟัง ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติมันไม่มีความจำเป็นต้องออกมาทำขนาดนี้ แต่ทำเพราะเป็นหน้าที่ลูก ซึ่งทนไม่ได้และไม่ยอมให้พ่อผมถูกลอยแพ” ม.ล.ปลื้ม ขยายความ

ม.ล.ณัฏฐกรณ์ ตั้งข้อสังเกตว่าตั้งแต่ยุคจอมพลสฤษดิ์ และยุครัฐบาลทหารในอดีตที่ผ่านมา สื่อมวลชนจะเกรงใจ รมว.ทหาร และรวมถึงนายกฯ ไม่กล้าวิจารณ์เพราะรู้ว่าจะโดนเรียกตัวไป ในอดีตและยุคนี้ รองนายกฯ หรือ รมว.พลเรือนโดนด่าได้ ไม่มีกลไกปกป้อง ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นการออกแบบหรือบังเอิญ นำมาสู่ภาพลักษณ์เหมือนหม่อมอุ๋ยล้มเหลวเรื่องการทำงาน

“ผมต้องไปกินกาแฟที่ทัพภาคที่ 1 สามครั้ง เพราะวิจารณ์รัฐบาลนี้และ คสช. ผมโอเค ให้ความร่วมมือ ​ไม่อยากสร้างบรรยากาศไม่ปรองดอง แต่เมื่อกลับมานั่งนึกสิ่งที่หม่อมอุ๋ยทำสำคัญๆ ทำไมจึงไม่มีองครักษ์พิทักษ์ รมว.พลเรือน คือ ผมไม่ได้เชียร์ให้มีการปรับทัศนคติชาวบ้านทุกคน แต่การที่มีการเลือกปรับทัศนคติเฉพาะประเด็นความมั่นคง เลยทำให้หม่อมอุ๋ยกลายเป็นแพะของรัฐบาล

...มันมีเรื่องเลวร้ายมากกว่าเศรษฐกิจ เช่น การปิดกั้นเสรีภาพสื่อ จนถูกวิจารณ์จากองค์กรระหว่างประเทศ การทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับสหรัฐอเมริกาแย่ลง การทำผิดพลาดร้ายแรงในการตัดสินใจส่งอุยกูร์  109 คน กลับจีน ซึ่งคนข้างในข้าราชการวิจารณ์กันเต็มพูดไปไม่ฟัง หรือผลงานยอดแย่กฎหมาย 2 ฉบับ ออกมา พ.ร.บ.อุ้มบุญ หรือคดีของ ป.ป.ช.ที่มีโทษประหารชีวิต ออกมาได้ไง อย่างนี้ใครรับผิดชอบ”

ปัญหาเศรษฐกิจโทษพ่อคนเดียวไม่ได้

ทั้งนี้ ภารกิจที่นายกฯ ได้ประกาศต่อ สนช. ส่วนใหญ่มอบหมายมาให้หม่อมอุ๋ยทำเป็นนโยบายของรัฐ ซึ่งหลายเรื่องก็สำเร็จ และมีบางเรื่องผลักดันอยู่ และถึงเวลามีคนวิ่งเต้นเข้าไป สนช.ไปพยายามทำในสิ่งที่หม่อมอุ๋ยและรัฐผลักดันไปต่อไม่ได้ เช่น พ.ร.บ.ภาษีมรดก ซึ่งมีคนวิจารณ์มาก แต่คนผลักดันจริงตามนโยบายรัฐคือหม่อมอุ๋ย ทั้งเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและสังคม

“แต่จุดบกพร่องคือ ตัวเลขเศรษฐกิจไม่ดี ตัวเลขความเชื่อมั่นจีดีพีและการส่งออกมันตก แต่ถ้าปล่อยให้คนพูดว่าพ่อผมไม่ทำงาน ผมไม่ยอมให้เป็นแบบนั้น เพราะเขาทำงานหนักกว่าหลายคน ที่ประชาชนคิดว่าทำงานหนักอยู่  ทั้งนี้ เรื่องการแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ ตัดริบบิ้น จับมือพบปะประชาชนเป็นงานง่าย เพื่อประชาสัมพันธ์ตัวเอง ให้ดูเหมือนว่าทำงานหนัก

...แต่หม่อมอุ๋ยอยู่ข้างหลัง ​ถ้าวันๆ ออกงานแสดงวิสัยทัศน์ เก๋ๆ หรูๆ แล้วแถลงข่าวกับสื่อมวลชน มีวาทกรรมเศรษฐกิจโดนๆ ไปพบปะกับประชาชน แล้วลากสื่อไปถ่ายภาพออกข่าวภาคค่ำทุกคืน ก็จะมีภาพลักษณ์ออกมาอีกแบบหนึ่ง บังเอิญ ผมรู้จากพ่อ ว่าเขาไม่ได้สนใจเรื่องความนิยมที่ได้จากประชาชน เขาสนใจว่าเข้าไปรับใช้ชาติในรอบนี้จะผลักดันโครงการอะไรที่ควรทำ เพื่อให้ประสบความสำเร็จ แค่นั้นเวลาภาพลักษณ์เขาไม่ทำงาน มันตรงข้ามความจริง และทัศนคติคนติดตามข่าวผิวเผิน หรือแค่พาดหัวข่าว จะคล้อยตามในเรื่องนี้”

ม.ล.ปลื้ม กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาไม่เห็นท่าทีปกป้องคนทำงานภายใต้การบังคับบัญชา ถ้าเขาเป็นหัวหน้าสั่งลูกน้องไปทำงาน 10 กว่าเรื่อง แล้วมีคนมาด่าลูกน้องว่าไม่ทำงาน เขาคงไม่อยู่เฉยๆ แต่จะด่ากลับไปว่าคุณไม่รู้เรื่องอะไรเขาทำงานหนักขนาดไหน แต่เรื่องนี้ที่รับไม่ได้คือคนที่วิจารณ์แบบมักง่าย เอาตัวเลขจีดีพีส่งออกมาบอกว่ามันห่วย อันนี้มันง่าย ใครๆ ก็ทำได้

“จะโทษหม่อมอุ๋ยในเรื่องความเชื่อมั่น ตัวเลขส่งออก ได้ไหมก็ได้ แต่ภารกิจที่ทำอยู่หลายๆ เรื่องมันไม่ได้เกี่ยวข้องกัน มันเป็นการแก้ไขปัญหาประเทศชาติที่มีอยู่ ต้องทำ ไม่มีใครทำ กระทรวงดิจิทัล ที่กำลังตั้งขึ้นมาใหม่ ควบคุมการทำกฎหมายของกระทรวงกว่า 10 ฉบับ เอาคนปกติทำคนเดียว ก็ไม่เหลือเวลาทำอย่างอื่น และหม่อมอุ๋ยเวลาทำงานเป็นคนลงลึกในรายละเอียด ไม่ได้ใช้อำนาจสั่งการแล้วให้คนอื่นไปลงในรายละเอียด ไม่ทำงานชุ่ยๆ”

ที่สำคัญส่วนที่เป็นนโยบายเป็นเนื้องานของรัฐบาลที่ทำร่วมกัน ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกัน ใครได้เครดิต แต่หม่อมอุ๋ยไม่ได้ ไม่จำเป็นต้องให้ แต่ไม่ควรให้โดนด่าฟรีเป็นแพะทุกเรื่อง เพราะมีเรื่องเสียหายมากกว่าเศรษฐกิจ ถ้าแยกปัญหาออกมา รมว.แต่ละคนมีผลงานที่ดีและไม่ดี หากจะหาแพะเรื่องตัวเลขเศรษฐกิจไม่ดี แล้วทำไมไม่หาแพะความผิดพลาดเรื่องอื่นใหญ่กว่านั้นด้วย

ปรับ ครม.ได้แต่อย่ามาโยนบาป

คิดว่าเป็นกระบวนการดิสเครดิตเพื่อนำไปสู่การปรับ ครม.หรือไม่? ม.ล.ณัฏฐกรณ์ ตอบว่า การที่มีนักการเมืองเคยโดนตัดสิทธิจับมือหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง และเสนอให้นายกฯ ปรับ ครม.เป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะเกิดขึ้นบ่อยในการเมืองไทย และส่วนตัวไม่มีปัญหาหลายๆ คนในก๊วน ส. เป็นบุคลากรที่มีความสามารถและคุณภาพควรมีโอกาสรับใช้ชาติหลายคน​​

“การปรับ ครม.เกิดขึ้นได้ในทางการเมือง แต่ปล่อยให้มีการโยนบาปในทุกเรื่องให้คนคนเดียวมันเกินไป”

​การจะอยู่ใน ครม.หรือไม่อยู่ไม่ใช่ประเด็น แต่เรื่องนี้มีการโยนบาปให้คนคนหนึ่งรับไป แต่ส่วนตัวก็ไม่อยากให้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ถูกปรับออก เพราะหนึ่ง หน้าที่สำคัญที่คอยสอดส่องดูแลป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริต ที่ทำมาตั้งสมัยรัฐบาล อานันท์​ ปันยารชุน อีกด้านหนึ่ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ทำงานไม่เคยกลัวโดนด่า หากเป็นเรื่องถูกต้องและกล้าทำจริง ​

ม.ล.ณัฏฐกรณ์ กล่าวว่า หากดูโผปรับ ครม.​ที่ออกมานับวันหน้าตายิ่งคล้ายรัฐบาลทักษิณมากขึ้นทุกวัน ถือเป็นโจ๊กที่บอกบางสิ่งบางอย่างว่าในยุคไทยรักไทย ที่ประเทศชาติกำลังเติบโต มีเสถียรภาพทางการเมือง มีรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ชื่อ วิษณุ เครืองาม คนที่นั่งสกรีนงานคือ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ​ คนที่ดูแลเศรษฐกิจมหาภาค คือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร คนที่เป็น รมว.คลัง คือ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

มาถึงตอนนี้บุคลากรบริหารประเทศก็หนีไม่พ้นกลุ่มคนพวกนี้ ​มันเป็นเหมือน “โลกมายาทางการเมือง” ที่เราสร้างขึ้นมาเอง ​ในที่สุดประเทศไทยก็ถูกบริหารโดยคนกลุ่มนี้เท่านั้น อยู่ที่ว่าหัวจะเป็นใครในรอบไหน ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง หรือทหาร อย่างสมัยก่อน สมคิด เป็น รมว.คลัง หม่อมอุ๋ยเป็นผู้ว่าแบงก์ชาติ ทำงานคนละฝ่าย ภาพรวมประเทศเดินหน้าไปได้ด้วยดี

พ่อผมเป็น "แพะ"

อยากได้ "สมคิด" ทำไมไม่ตั้งแต่แรก

ส่วนประเด็นเรื่องความรับผิดชอบเรื่องเศรษฐกิจต้องเป็นเรื่องของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร คนเดียวหรือไม่? ม.ล.ปลื้ม มองว่า บทบาทของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เป็นเรื่องไม่เกี่ยวกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ บทบาทด้านอื่นทำได้สำเร็จ บางข้อไม่สำเร็จ เพราะยังไม่ได้รับการผลักดัน ถ้าจะให้หม่อมอุ๋ยเป็นแพะเรื่องตัวเลขเศรษฐกิจ ก็หมายความว่ามันเป็นการแก้ปัญหาทางการเมืองของรัฐบาลเท่านั้น

ม.ล.ณัฏฐกรณ์ กล่าวว่า ตอนตั้ง ครม.ชุดแรก มีชื่อต่างๆ ที่ปรากฏและยังมาปรากฏรอบนี้ ทำไมไม่มาตั้งแต่แรกจะได้ร่วมกันรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหา หากบอกว่าติดขัดเพราะข้อกฎหมายห้าม ก็ต้องถามว่าใครไปเขียนไว้ หม่อมอุ๋ยไม่ได้เขียน งานที่ทำอยู่คือ งานเบื้องหลัง ปิดทองหลังพระ ไม่ออกมาบอก แต่งานเบื้องหน้ากลับต้องเป็นแพะ ​ถ้ารัฐบาลทำได้ ควรมีบุคลากรครบเซ็ตตั้งแต่แรก

“ผมคิดว่ามันตลกที่บางฝ่ายมาโทษหม่อมอุ๋ย เรื่อง มีไม่มีสมคิด ทั้งที่ใครเป็นคนตั้ง ไม่ตั้งสมคิด หัวหน้า คสช.​มีอำนาจเต็มแต่แรกที่จะมอบหมาย ติดต่อ ทาบทามใครให้ทำงานอะไร ​มันไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับหม่อมอุ๋ย​สื่อไปโทษหม่อมอุ๋ยว่าบล็อกคนนั้นคนนี้ ไม่เข้าใจว่าหม่อมอุ๋ยไปมีอำนาจบล็อกใคร ตั้งแต่เมื่อไหร่  

...กระบวนการเลื่อยเก้าอี้รัฐมนตรีในวันนี้คล้ายการเลื่อยเก้าอี้รัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลทักษิณ คือสื่อเปิดประเด็น นักการเมืองสายหนึ่งวิ่งไปบอกผู้ใหญ่ ว่าคนนี้เป็นอย่างนี้ไม่ดี แต่วันนี้บังเอิญเป็นประวิตรและประยุทธ์ แต่ตอนนั้นเป็นทักษิณผมไม่ได้คุยอะไรกับพ่อผมนะ มาจากการวิเคราะห์ของผมจริงๆ”​ ม.ล.ณัฏฐกรณ์ กล่าว​

มีหมวก 3 ใบ หน้าที่ลูกสำคัญที่สุด ​ ​

ออกมาขยับรอบนี้ "ปลื้ม" เปรียบเปรยว่า เป็น "ภารกิจระเบิดพลีชีพ" ที่แม้จะถูกต่อว่าต่อขานจากหลายฝ่าย แต่ก็เป็นที่ต้องทำในฐานะ "ลูก" และก่อนออกมาทำหน้าที่แจกแจงผลงานก็ไม่ได้บอกกล่าวบิดาแต่อย่างไร ​

​​ปลื้ม อธิบายว่า เขามีหมวก 3 ใบ คือ 1.สื่อมวลชน ทำข่าว จัดรายการโทรทัศน์ 2.เคยสนับสนุนจุดยืนคนเสื้อแดง ให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้งหรือไม่ให้มีการแทรกแซงฝ่ายตุลาการ การแทรกแซงอำนาจจากนอก รธน. ทหาร ศาล รธน. การก้าวก่ายการใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ หรือฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้ง

และ 3.ในฐานะลูก เมื่อพ่อถูกเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรม ไม่มีองครักษ์ ทุกฝ่ายด่าได้ ซึ่งมันไม่มีแฟร์ ​เพราะเขาคงไม่ออกมาพูด ได้แต่นั่งปิดทองหลังพระ ซึ่งถ้าแน่จริงเลิกปรับทัศนคติ แล้วเปิดให้สื่อได้วิจารณ์อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน และลองมาดูว่าอันไหนเป็นปัญหามากกว่ากัน ระหว่างตัวเลขจีดีพี การส่งออก ซึ่งมันเป็นไปตามเศรษฐกิจโลกกับไทยที่ทำผิดพลาดเองในหลายๆ เรื่อง ละเมิดสิทธิ หรือพันธกรณีระหว่างประเทศ

"ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูกสำคัญกว่าบทบาทสื่อ ให้ผมไม่เหลือความเป็นสื่อเลย แต่พ่อลูกมีแค่นี้ คนอ่านที่ผมเขียนไม่ต้องการให้อ่านในฐานะที่ผมเป็นสื่อ หรือสนับสนุนคนเสื้อแดง นั่นเป็นภารกิจของบุคคลสาธารณะ แต่เรื่องนี้เป็นภารกิจของลูก พ่อจะถูกลอยแพการปรับ ครม.เกิดขึ้นได้ในทางการเมือง แต่ปล่อยให้มีการโยนบาปในทุกเรื่องให้คนคนเดียวมันเกินไป"​

"ผมมีพ่อคนเดียว มีข้อแตกต่างลูกนักการเมือง ลูกทหารถูกด่าจะมีองครักษ์พิทักษ์ ลูกน้องออกมาตอบโต้ นักการเมือง ทหาร เครือข่ายคอยซัดกลับให้คนเบาลง แต่หม่อมอุ๋ยไม่ชกกลับ ไม่มีองครักษ์ จึงเหลือแค่ผม อาจมีเสื้อแดงออกมาด่า แต่ถ้าเข้าใจผมจริงๆ ถ้าผมไม่ทำอะไรเลยก็แย่ ผมจำเป็นต้องระเบิดพลีชีพ"​

ม.ล.ณัฏฐกรณ์ ระบุว่า การทำหน้าที่สื่อ หลักการที่มีประชาธิปไตยไม่เอารัฐบาลรัฐประหาร เป็นหลักการถูกต้อง ​ไม่เอาด้วยกับรัฐประหาร ​แต่ว่าหน้าที่ของลูกที่มีต่อพ่อ ไม่ปล่อยให้พ่อโดนรุมยำจากทุกฝ่าย มันสำคัญกว่าหน้าที่อื่นๆ ทั้งหมด ​ในฐานะคนเคยแสดงวิสัยทัศน์ มันคนละเรื่อง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของเลือดเนื้อ ที่ไม่ปล่อยให้บิดาถูกลอยแพ"  

พ่อผมเป็น "แพะ"

ปัญหาพลังงานหนักสุด ควรหาทีมเสริมกู้เศรษฐกิจ

ออกตัวชัดเจนอยากเล่นการเมือง แต่เท่าที่ดูจากโครงสร้างรัฐธรรมนูญเวลานี้ ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล เห็นว่า “ได้ไม่คุ้มเสีย”

“ผมต้องการมีบทบาทในการบริหารประเทศไทย แต่ว่าการเป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้การร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างอยู่เวลานี้ ผมไม่แน่ใจว่าคุณจะได้บริหารประเทศไทยจริงๆ มันมีเรื่องที่ต้องทำกำหนดไว้ จนไม่เห็นว่าเวทีนี้จะสามารถทำอะไรที่สร้างสรรค์ได้มาก”

ม.ล.ณัฏฐกรณ์ วิเคราะห์ว่า ปัญหาเวลานี้ส่วนหนึ่งอยู่ที่บุคคลหน้าใหม่ไม่อาจเข้ามาสู่อำนาจ เวลานี้ไม่ควรมีแค่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล หรือเวลามีปัญหาเศรษฐกิจก็วิ่งไปหา ดร.โกร่ง รามางกูร หรือแม้แต่วงการทหาร ก็มีแต่บูรพาพยัคฆ์ที่เป็นใหญ่ทางการเมือง ส่วนนักกฎหมายสายที่เข้ามามีอำนาจก็ไม่เชื่อในการที่ประชาชนมีสิทธิเลือกตั้ง

วันนี้ปัญหาประเทศชาติคือเรื่องพลังงาน ถ้าเป็นผม สร้างไปหมดแล้ว ตายเป็นตาย ม็อบพวกนี้กลัวไปทำไม คุณเอา กปปส. เอาเสื้อแดง ให้นอนอยู่บ้านได้ แต่ทำไมเอาม็อบพลังงานอยู่บ้านไม่ได้ ทำไมเอาม็อบถ่านหินที่กระบี่อยู่บ้านไม่ได้ ทำไมไม่เอากฎหมายความมั่นคงมาใช้และเดินหน้าพลังงาน

“ผมหวังว่ารัฐบาลนี้จะทำเรื่องนี้ แต่ก็ไม่ทำ พ.ร.บ.ปิโตรเลียมไม่รู้ค้างอยู่ที่ไหน สัมปทานปิโตรเลียมก็ไม่ทำ ทั้งที่ีต้องขุดเจาะก๊าซธรรมชาติเพิ่ม แต่ก็เข้าใจโครงสร้างที่มีอยู่และเครือข่ายทางการเมืองของฝ่ายที่คัดค้านเรื่องนี้ก็เล่นงานให้คนออกจากตำแหน่งได้เหมือนกัน เรื่องพลังงานคือเรื่องที่แย่ที่สุดของรัฐบาลรองจากอุยกูร์

“ผมเข้าใจภาพรวมการเมืองของประเทศไทยว่าเข้าไปก็ทำอะไรไม่ได้มาก ถามว่าอยากไหม อยาก​ ผมอยากมีอำนาจบริหารเต็มใ​บและ​จัดการปัญหาหาพวกนี้ ณ วันนี้ยังไม่มี ช่องทางถ้าจะสร้างไปถึงเป้าหมาย มันไม่คุ้ม มีแต่เสีย ​ทั้งชื่อ ทั้งเงิน อยากไปตรงโน้น แต่ตรงนี้เป็นสื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากกว่า”

ถามว่ายังคิดสนใจกลับไปลงสมัครผู้ว่า กทม.อีกรอบหรือไม่? ม.ล.ณัฏฐกรณ์ ตอบทันทีว่า “ตอนนี้ผู้ว่า กทม. ไม่ได้อยู่ในเรดาร์ ส่วนตัวได้เห็นปัญหาต่างๆ มากมายในประเทศ แม้รัฐบาลนี้ก็ทำไม่สำเร็จ แต่หลายเรื่องก็ทำได้ มาถูกทาง รัฐบาลก็ทำอะไรเยอะ งานที่ออกมาเป็นฝีมือทั้ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ณรงค์ชัย อัครเศรณี”  

“คนที่ทำงานหนักที่สุดในมุมมองผมคือ ณรงค์​ชัย โดนด่าเยอะสุดแต่ทำงานหนักเยอะสุด”

ม.ล.ณัฏฐกรณ์ มองว่า ผลงานที่ผ่านมารัฐบาลทหารยังมีอุปสรรคมากมายมีหลายเรื่องสำหรับรัฐบาลนี้ที่ต้องระมัดระวัง ทั้งเรื่องอุยกูร์ที่ีไม่รู้ว่าใครเป็นคนแนะนำ แต่คนที่ีแนะนำลืมคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ถ้าคุณจะหาแพะเรื่องจีดีพี ส่งออก กับความเชื่อมั่น ทั้งหมดไม่ได้เกิดขึ้นจากการตัดสินใจในเชิงนโยบายที่ผิดพลาดโดยตรงของ
หม่อมอุ๋ย

“วิเคราะห์การดำเนินงานด้านเศรษฐกิจที่ผ่านมา หากแยกผลงานของรัฐบาลเป็นเรื่องๆ คือ กระตุ้นเศรษฐกิจ การส่งออก จีดีพี ความเชื่อมั่น เกษตรกร ตรงนี้ยังทำไม่สำเร็จ ต้องพยายามบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัญหาสำหรับเกษตรกรที่สินค้าราคาตก กำลังซื้อลดลง ซึ่งแก้ไม่ได้ตรงนี้ก็ต้องได้รับการแก้ไข”

งานที่เหลือแต่ละข้อที่หม่อมอุ๋ยทำ ต้องใช้เวลาลงรายละเอียดอย่างมากในแต่ละเรื่อง เช่น รถไฟกับจีนและญี่ปุ่น ถามว่าใครนั่งทำตรงนี้ให้รายละเอียดไม่ผิดพลาด การปรับลดหนี้ที่มาจากโครงการจากรัฐบาลชุดที่แล้ว จำนำข้าว และอีกหลายโครงการกี่แสนล้านบาท ที่ต้องมานั่งปรับกัน ใครทำ”

ม.ล.ณัฏฐกรณ์ กล่าวว่า เรื่องที่ไม่ได้ทำและต้องทำและต้องกระตุ้น หลักๆ การจำนำข้าวอย่างรัฐบาลชุดที่แล้ว สร้างกำลังซื้อให้กับชาวนาจริง มันเยอะมาก อัดเงินลงระบบที่มีผลต่อการจับจ่ายชัดเจน และเห็นผลบริโภคในระดับรากหญ้า เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม

“อย่างไรก็ตาม จะทำแบบรัฐบาลชุดที่แล้วไม่ได้ เพราะมีหนี้แล้วต้องมานั่งปรับโครงสร้างหนี้ตอนนี้ ทยอยขายข้าวจากสต๊อก เพราะฉะนั้นเป็นหน้าที่ มันมีความจำเป็นต้องช่วย ถ้าเกิดหาทางออกไม่ได้ก็ต้องหาทางเสริมบุคลากร นั่นคือหน้าที่นายกฯ ส่วนตัวไม่มีคำตอบเพราะเชื่อในฟรีมาร์เก็ต อย่างการลดต้นทุน พูดง่ายถึงเวลาทำยาก แต่จำนำให้เงินเยอะไปเลยไม่ยั่งยืนภาครัฐรับไม่ได้ระยะยาว”

พ่อผมเป็น "แพะ"

ม.ล.ณัฏฐกรณ์ ยอมรับว่า ก่อนหน้านี้ไม่มีโอกาสคุยกับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เรื่องงานที่ทำ มีบางครั้งอยากเดินไปถามว่าขอให้ทีมงานสรุปเรื่องที่ได้ทำไปแล้วว่ามีเรื่องอะไร จะได้ช่วยเผยแพร่ เพราะที่ทำกันอยู่ ก็ไม่ได้ป่าวประกาศเรื่องพวกนี้ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ ทำได้แต่ติดตามในฐานะสื่อมวลชน

“ส่วนหนึ่งเป็นปัญหาเรื่องการประชาสัมพันธ์ ประโยคสำคัญที่ไม่ได้ยิน และที่ควรจะได้ยินจากผู้มีอำนาจเรื่องนี้ กลไกควบคุมการวิจารณ์ที่มีกับเรื่องอื่นๆ แต่ไม่มีกับเรื่องที่เป็นการทำงานของรัฐมนตรีพลเรือน”

ต่อมา ลูกชายของรองนายกฯ ได้ระบุถึงผลงานของผู้เป็นพ่อว่า ผลงานของหม่อมอุ๋ยนั้นมีเพียบ ไล่เรียงมาตั้งแต่ 1.ตั้งศูนย์รวมข้อมูลดาต้าเซ็นเตอร์ใหม่ 2.ผลักดันการประมูลคลื่นความถี่ทั้งหมด (4G) 3.ปิดกั้นโอกาสล็อบบี้ของภาคเอกชนรายใหญ่ 4.เริ่มโครงการ National Broadband 5.ประสานความร่วมมือต่างประเทศในฐานะพลเรือน

6.ปรับโครงสร้างหนี้เกษตรกร 9 เเสนล้านบาท 7.ยกระดับราคายางขึ้นมาถึง 60 บาท/กก. 8.เจรจาจีน/ญี่ปุ่นลงทุนโครงการรถไฟ 9.พ.ร.บ./สัมปทานปิโตรเลียม/โรงไฟฟ้าเพิ่มเติม 10.ทำ MOU ตั้งคลังแอลเอ็นจีลอยน้ำกับเมียนมา 11.ออกใบอนุญาติลงทุนเปิดโรงงาน (ร.ง.)

12.ริเริ่ม-ก่อตั้ง-คุมร่างกฎหมายกระทรวงดิจิทัล 10+3 ฉบับ 13.ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางพลังงานแสงอาทิตย์ AEC 14.เปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน (OSS) 15.จัดทำเเละผลักดันกฎหมายเก็บภาษีที่ดินเเละภาษีมรดก

ก่อนตบท้ายการสนทนาว่า “ผมไม่อยากให้พ่อผมถูกปรับออกเพราะ หนึ่งหม่อมอุ๋ย คอยสอดส่อง ป้องกันการทุจริต ซึ่งทำมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน และ  สองทำงานไม่กลัวโดนด่า หากเห็นว่าถูกต้อง ก็ทำจริง ไม่ใช่แค่ส่งสัณญาณว่าจะทำ แต่เดินหน้าทำจนสำเร็จ”