posttoday

ไม่เปิดพื้นที่ประชาชน จบแบบ "พฤษภาทมิฬ"

19 กรกฎาคม 2558

"ผมจะบอกให้ว่าตอนนี้ประชาชนเขาให้เวลาแล้ว แต่ถ้าให้ไปแล้วรัฐบาลกลับไม่มีท่าทีที่จะฟังเลย ประชาชนก็จะยิ่งอึดอัด เพราะยิ่งให้เวลาก็จะยิ่งไม่ฟังเข้าไปใหญ่"

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม, เลอลักษณ์ จันทร์เทพ

ชื่อของ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ปรากฏเป็นข่าวไม่กี่สัปดาห์ก่อน หลังออกมาวิจารณ์รัฐบาล คสช. ตรงๆ ถึงการใช้อำนาจไม่ถูกต้อง หลังเหตุการณ์จับนักศึกษากลุ่มดาวดินที่ออกมาชุมนุมขัดคำสั่ง คสช. ทั้งที่เจ้าตัวได้ร่วมกับ กปปส. ขับไล่รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ” ก่อนจะมาสู่การยึดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ไกรศักดิ์ หรือ “อาจารย์โต้ง” ผู้มีตำแหน่งในอดีตมากมาย ทั้งอดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) นครราชสีมา อดีตประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สว. อดีตที่ปรึกษาผู้ว่า กทม. หลายปีก่อนนั่งเก้าอี้เป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในยุค อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรค ก่อนจะลาออกมาทำงานดูแลด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เจ้าตัวถนัด ในทีมของ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในปัจจุบัน พร้อมกับทำงานช่วยเหลือชาวเมียนมาไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิในภาคใต้ และเป็นประธานมูลนิธิเพื่อนป่า หรือมูลนิธิฟรีแลนด์

เทียบ "สุจินดา" กับ "บิ๊กตู่" ความเหมือนบนความต่าง

“ตั้งแต่มีการทำรัฐประหารของ คสช. ผมว่าความเดือดร้อนของชาวบ้านเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว... และหากที่สุดแล้ว ประชาชนผิดหวังจากการทำรัฐประหาร มันก็อาจจะจบแบบพฤษภาทมิฬก็ได้นะ” ไกรศักดิ์ เปิดใจกับทีมข่าวโพสต์ทูเดย์ ก่อนวิจารณ์ต่อว่า 1 ปีที่ผ่านมา รัฐบาล คสช.เดินหน้าเร่งอนุมัติเมกะโปรเจกต์อย่างรวดเร็ว ขาดการทบทวนในรายละเอียด ต่อให้นักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน ผู้เชี่ยวชาญ หรือแม้แต่ประชาชนออกมาเรียกร้อง ต่อต้าน หรือเสนอแนะอะไรไปก็ไม่ได้รับความสนใจ หนักกว่านั้น เมื่อประชาชนออกมาต่อต้าน ประท้วง ก็จะถูกจับกุม ข่มขู่ทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะในรูปแบบของเอกชน จ้างนักเลง หรือเจ้าหน้าที่โดยตรงมาจัดการ

“ตอนนี้ผมมานั่งคิดและสงสัยว่าจุดจบของรัฐบาลจะเป็นยังไง จะจบแบบพฤษภาทมิฬหรือไม่ เพราะรัฐบาลไม่เคยพูดให้เกียรติประชาชนเลย เหมือนประชาชนไม่มีความรู้ แต่ทำเป็นรัฐบาลรู้ไปหมด ผมทำเองทั้งนั้นเหนื่อยแทบตาย มาด่าผมทำไม แต่ถ้าเรามองจากข้างนอกจะรู้ว่าหลายๆ เรื่องก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่ควรทำ ถ้ารัฐบาลปราศจากความเข้าใจว่าสังคมไทยต้องอยู่ร่วมกันหลายๆ ส่วน ไม่ใช่อยู่แต่กับกลุ่มทุนใหญ่ๆ ที่เขากินข้าวด้วย สังสรรค์ด้วยเท่านั้น”ไกรศักดิ์ วิพากษ์ตรงๆ 

มูลเหตุที่ทำให้คิดว่ารัฐบาลจะจบแบบพฤษภาทมิฬ อาจารย์โต้ง ซึ่งผ่านประสบการณ์ขณะนั้น ในฐานะทายาทของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี ที่ถูกคณะ รสช. ยึดอำนาจเมื่อปี 2534 ก่อนที่ รสช.จะตั้ง พล.อ.สุจินดา คราประยูร หัวหน้า รสช. เป็นนายกฯ ได้เพียงเดือนเดียว ก็ถูกขับไล่และเกิดเหตุทหารปราบปราม ประชาชนวิเคราะห์เทียบเคียงไว้อย่างน่าสนใจ

“ถ้าย้อนเหตุการณ์ รวมถึงคำพูดของผู้นำครั้งนั้น ผมว่ามันเหมือนกับเหตุการณ์ตอนนี้เลยคือ ประชาชนเริ่มผิดหวังจากการรัฐประหาร และการตกต่ำของเศรษฐกิจ พล.อ.สุจินดา เข้ามารัฐประหารก็ไปทะเลาะกับสหประชาชาติ เศรษฐกิจก็ตกต่ำ บุคลิก คำพูด ความคิดของ พล.อ.สุจินดา กับ พล.อ.ประยุทธ์ เหมือนกันมากคือ ดูถูกประชาชน ด่านักการเมืองและสื่อมวลชน แต่ที่ยังต่างคือ ชนชั้นกลางปัจจุบันยังสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ แล้วบอกว่าให้รอไปก่อนๆ อย่าพึ่งเลือกตั้ง ต้องให้เวลา ผมจะบอกให้ว่าตอนนี้ประชาชนเขาให้เวลาแล้ว แต่ถ้าให้ไปแล้วรัฐบาลกลับไม่มีท่าทีที่จะฟังเลย ประชาชนก็จะยิ่งอึดอัด เพราะยิ่งให้เวลาก็จะยิ่งไม่ฟังเข้าไปใหญ่”

ไกรศักดิ์ ระบุว่า การที่ประชาชนออกมาพูด เสนอแนะเรื่องต่างๆ ถือเป็นการหวังดี ไม่ได้ต้องการโค่นล้มรัฐบาล แต่วันนี้ไม่มีช่องทางที่ประชาชนจะเข้าถึงหรือได้พูดกับรัฐบาล บางครั้งต้องพูดสะท้อนผ่านทางสื่อ แต่ปรากฏว่าพอสื่อไปถามก็โดนด่ากลับมาอีก ซึ่งคำถามบางเรื่องนายกฯ ต้องตอบ เพราะประชาชนเป็นคนถามขึ้นมา และสื่อก็เป็นตัวแทนของประชาชนส่วนหนึ่ง

“คนออกมาประท้วงตอนนี้ก็จะโดนทหารหาว่าเป็นคนเสื้อแดง เป็นศัตรูกับเขา แล้วก็โดนเรียกไปปรับทัศนคติ ทุกวันนี้ผมก็ยังหวั่นไหวอยู่นะ ผมเคยถามทหารยศนายพล ว่ารายชื่อผมมีหรือเปล่า นายพลก็ตอบแบบอ้ำอึ้งว่า ก็ว่า...เอ่อ ไม่ค่อย (หัวเราะ) แต่อย่าลืมว่าการออกมาประท้วงของประชาชน เป็นการเปิดทางให้ทหารเข้ามายึดอำนาจ แต่การยึดอำนาจ ไม่ใช่ว่าจะมีอำนาจในการอนุมัติโครงการใหญ่ๆ ที่จะมากระทบเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบต่อชาวบ้านขนาดนี้”

“ความยุติธรรมที่จะมาจากสิทธิมนุษยชน แต่รัฐบาลไม่มีความรู้ในด้านนี้เลย และทหารถูกฝึกมาให้ละเมิดอย่างเดียว ถึงแม้ว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อการปรองดอง มีนายพลนั่งอยู่แต่ว่าไม่มีบทบาทอะไรเลยทั้งสิ้น และการที่ประชาชนจะเข้าถึงผู้มีอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นเรื่องที่ลำบากมาก จะเข้าทางรัฐสภาก็ไม่มีทางเข้า พวกกรรมาธิการนั่งร่างกันอย่างเดียว ไม่เปิดประตูให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม เมื่อเป็นแบบนี้การปรองดองในสังคมจะเกิดขึ้นได้ยังไง”

ไม่เปิดพื้นที่ประชาชน จบแบบ "พฤษภาทมิฬ"

มัวเมาเมกะโปรเจกต์ลงทุน ละเมิดสิทธิ ขัดแย้งชาวบ้าน

มุมมอง ไกรศักดิ์ สิ่งที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่และกำลังลุกลามให้เกิดการประท้วงในอนาคตคือ การที่รัฐบาล คสช.ไปสร้างความขัดแย้งกับประชาชนคือ การที่รัฐบาลอนุมัติโครงการพัฒนาต่างๆ สร้างโรงไฟฟ้าในภาคใต้ เปิดเหมืองแร่ทองคำในภาคอีสาน เปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนภาคเหนือ ซึ่งสร้างปัญหาและกระทบวิถีชีวิตประชาชนอย่างใหญ่หลวง

เขาระบุว่า คสช. มองข้ามการแก้ปัญหาให้ประชาชนระดับล่าง และยังไปทำลายรายได้การท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม เพราะไปลงทุนเมกะโปรเจกต์ เช่น โครงการท่าเรือปากบารา จ.สตูล สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.กระบี่ จนมีผู้มาอดอาหารประท้วงรัฐบาล เนื่องจากโครงการเหล่านี้ทำให้ชาวประมงรายได้ลดลง

“เวลานี้ทั่วประเทศทุกภาคกำลังได้รับผลกระทบจากเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลทั้งสิ้น เช่น 5 จังหวัดภาคใต้ก็ลุกฮือ ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ภาคอีสานก็ไม่เอาเหมืองแร่ ภาคเหนือก็ไม่เอาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะกระทบที่ดินทำกินของชาวบ้าน ในอดีตโครงการใหญ่ๆ ไม่สามารถทำได้ เพราะว่าประชาชนไม่เห็นด้วย อยากแก้ไข ปรับปรุง หรืออยากยกเลิกเลย ระบอบประชาธิปไตยที่ผ่านมาถึงแม้จะเกเร และบกพร่องแต่อย่างน้อยก็ยังมีสิทธิเสรีภาพในด้านนี้ แต่วันนี้มันไม่มีใครประท้วง รัฐบาลจับหมด”

“ตอนนี้เรื่องที่อันตรายมากคือ ความชอบธรรมการทำรัฐประหารของ คสช.เริ่มลดลง เพราะปัญหาของชาวบ้าน คนระดับล่างที่ออกมาเรียกร้องปัญหาจากการดำรงชีวิต เช่น สิ่งแวดล้อม ที่ดินทำกิน ชาวนา ชาวไร่ ไม่สามารถเข้าถึงบุคคลที่จะสามารถแก้ปัญหาเขาได้”

ไกรศักดิ์ เสนอแนะว่า รัฐบาล คสช.ต้องปรับกลไก เปิดช่องทางการรับฟังเสียงประชาชนที่เดือดร้อนให้มากกว่านี้ เพราะสุดท้ายถ้าประชาชนเข้าถึงทหารไม่ได้ ก็มาร้องเรียนผ่าน กสม. และเมื่อ กสม.เป็นตัวแทนไปคุยให้ กลับว่าเป็นการคุยกันคนละภาษา ทหารเหมือนไม่เข้าใจ ทำตาลอยๆ ไม่มีปฏิกิริยาอะไรทั้งสิ้น

“นี่คือความเศร้าที่สุดในชีวิตของผม เมื่อ คสช.ประกาศว่าเข้ามาเพื่อจัดการความไม่เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม คุณต้องทำให้ได้ จากนี้ไปรัฐบาล คสช.ต้องเร่งเดินหน้าปฏิรูปได้แล้ว ไปดูว่าจะทำอย่างไรให้สังคมไทยไม่มีการละเมิดทางอำนาจ”

รัฐประหารเพื่อตัวเอง ถลำลึกหาทางอยู่ต่อ?

อีกเรื่องที่ ไกรศักดิ์ สะท้อนตรงๆ คือ คสช.ยังแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ดีและไม่กระเตื้อง รวมถึงการปัญหาหลายเรื่องค้างสะสมมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เช่น การค้ามนุษย์ เรื่องประมง แม้ คสช.จะพยายามทำอย่างเต็มที่ จนคืบหน้าในบางเรื่อง แต่ก็ยังช้ามากเพราะติดที่เจ้าหน้าที่บางคนทำตัวเป็นสวะ เอาแต่ฉ้อราษฎร์บังหลวงเกือบจะเป็นสันดานถาวร เพราะไปสมรู้ร่วมคิดสิ่งเลวร้ายทุกเรื่อง

ไกรศักดิ์ สะท้อนว่า สิ่งที่ทหารตัดสินใจเข้ามาเพราะต้องการให้เกิดความมั่นคง และให้ภาพพจน์ประเทศไทยดีขึ้น แต่ต่างประเทศและประชาชนจำนวนหนึ่ง ไม่ได้มองแบบนั้น ทุกครั้งที่เกิดการรัฐประหาร ก็จะมีทุนที่รวยที่สุดผูกขาดอยู่กับทหารเพียงไม่กี่กลุ่ม เพราะโดยปกติกองทัพจะแคบมาก กลุ่มอำนาจเหล่านี้มักซ้อนกันอยู่ในกลุ่มผู้มีอำนาจกองทัพบก ผ่านบอร์ด ปตท. ไทยอินเตอร์ การไฟฟ้า

“ฉะนั้นไม่ว่าจะมีความคิดอะไรก็มาจากแวดวงพวกนี้ ไปตามกันมา ไปจูงมา นัดกินอาหารจีนกัน และก็จะได้โครงการเมกะโปรเจกต์ขึ้นมา มิหนำซ้ำการบริหารเศรษฐกิจยังเอา หม่อมอุ๋ย-ปรีดิยาธร เทวกุล ณรงค์ชัย อัครเศรณี จักรมณฑ์ ผาสุก
วนิช เข้ามา คนพวกนี้คิดอย่างเดียวว่าจะทำอย่างไรให้มีการลงทุน ปั๊มเงินเข้าในระบบเศรษฐกิจให้โตขึ้นมา แต่รากหญ้าข้างล่าง กลับไม่คำนึงถึง รัฐบาลไม่มีนโยบายทางสังคม จึงทำให้ขัดแย้งกับประชาชนมาก”

ไกรศักดิ์ ระบุว่า วันนี้สถานการณ์ที่ชาวบ้านถูกละเมิดสิทธิจะไม่ดีขึ้น คสช.ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ส่วนตัวต้องทำงานหนักมากขึ้น เพราะชาวบ้านถูกละเมิดสิทธิเยอะมาก

“ตอนนี้การรัฐประหารดูเหมือนว่าจะเป็นการรัฐประหารเพื่อตัวเองมากเกินไป ทหารต้องการที่จะมีผลงานทางเศรษฐกิจ แต่หารู้ไม่ว่าผลงานของเขามาจากการลงทุน และอาจจะเป็นการลงทุนที่สร้างปัญหาอย่างมหาศาลให้กับประเทศชาติด้วยก็ได้ การทำรัฐประหารตอนนี้ถลำลึกเกินไป และยิ่งถลำลึกมากขึ้นก็ยิ่งต้องหาทางอยู่ต่ออีก”

“รัฐบาล คสช.ให้เหตุผลไว้สวยหรูถึงเหตุผลที่เข้ามายึดอำนาจว่า จะคืนความสุขและสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในประเทศ แต่รัฐบาล คสช.กลับมองความปรองดองแค่ด้านเดียว คือการยุติความขัดแย้งระหว่างเสื้อเหลืองและเสื้อแดง และเดินหน้าดำเนินคดีต่างๆ ของทั้งสองฝ่ายอย่างเต็มที่ แต่ในความเป็นจริงความขัดแย้งปัจจุบันมีเหตุผลที่นอกเหนือจากการเมือง” ไกรศักดิ์ ทิ้งท้าย

สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ ท่องเที่ยวล่มจม จุดชนวนลุกฮือ

ไกรศักดิ์ ชี้จุดผิดพลาดว่า รัฐบาลได้ทำลายวิถีชีวิตชาวบ้าน เพื่อที่จะเอาบริษัทข้ามชาติใหญ่ๆ เข้ามาแทน ยกตัวอย่างเช่น การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 870 เมกะวัตต์ ที่ จ.กระบี่ แต่สิ่งแวดล้อมจะถูกทำลาย ชาวประมงเป็นแสนคนจะออกเรือ หากินไม่ได้ การท่องเที่ยวจะล่มจม ซึ่งหากมีโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นมาจริง ก็จะไปกระทบในหลายจังหวัดในภาคใต้ กลุ่มนักธุรกิจในแถบทะเลอันดามันจึงร่วมกันออกมาต่อต้านโครงการของรัฐบาลอย่างพร้อมเพรียง

นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นอีกหนึ่งโครงการทำลายชาวบ้านอย่างมหาศาล ด้วยการยึดเอาที่ดินทำกินของชาวบ้านมาทำร่วม 8 แสนไร่ เพื่อทำโครงการดังกล่าว ช่วงแรกใช้พื้นที่ก่อน 1 หมื่นไร่ ปรากฏว่าได้รับผลกระทบกว่า 400 ครัวเรือน เมื่อรัฐบาลถูกต่อต้าน จึงลดพื้นที่ลงเหลือ 2,000 ไร่ ก็ยังกระทบชาวบ้านอีกเป็น 100 ครัวเรือน เรื่องแบบนี้ควรหรือไม่ ที่รัฐบาลประกาศว่าจะต้องเป็นวาระเร่งด่วน และเอาประชาชนในพื้นที่ออกให้หมด รัฐบาลอย่ามองข้ามปัญหาปากท้องชาวบ้าน เพราะพื้นที่นั้นเป็นที่เพาะปลูกของชาวบ้านมา 3 ชั่วอายุคนแล้ว ต้องถาม รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่า ใช้อะไรตัดสินยึดพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน

"เขตเศรษฐกิจพิเศษหมายถึง การลงทุนภาคอุตสาหกรรมจากต่างประเทศ และใช้แรงงานถูกจากพม่า ขอตั้งคำถามว่า คุณไปลิดรอนที่ดินของคนไทยที่อยู่มาสามสี่ชั่วอายุคน เพื่อที่จะเอาไปให้โรงงานต่างประเทศลงทุนอย่างนั้นหรือ ผมพูดได้เลยว่าเป็นนโยบายที่ขัดแย้งกับความยุติธรรมโดยสิ้นเชิง ถ้ารัฐบาลยังทำแบบนี้อยู่ตั้งใจทำลายวิถีชีวิต และเศรษฐกิจขนาดเล็ก และขนาดกลางของคนไทยทั่วประเทศ"

ผลกระทบที่จะตามมาจากเขตเศรษฐกิจพิเศษ คือภาคธุรกิจขนาดเล็กจะทรุด เกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับรัฐบาลทำให้ภาพพจน์ของรัฐบาลแย่ลงในแง่ที่ว่า เผด็จการร้ายแรงและเลวร้ายมาก ถ้าเป็นแบบนี้จริงก็จะไม่ได้มีแค่กลุ่มดาวดินเท่านั้นที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมด้วย แต่วิธีการตอบโต้ของรัฐบาลไม่เคยรับฟัง มีแต่จะปกปิดความผิดพลาดขอตัวเองอย่างเดียว

"ข้างในรัฐบาลก็ไม่มีใครยอมรับข้อผิดพลาดของตัวเอง เราเห็นว่าวิธีคิดของรัฐบาลคือต้องการที่จะอนุมัติโครงการใหญ่ๆ อย่างเดียว ซึ่งก็ไม่รู้ว่ารัฐบาลมีจุดประสงค์อะไร นี่คือการหาพรรคพวก และผูกพันธมิตรทางทุนใหญ่ๆ เท่านั้น ทำให้สูญเสียความชอบธรรมจากชาวบ้าน ทั้งที่จริงแล้วการเข้ามาด้วยวิธีการรัฐประหารไม่มีความชอบธรรมอยู่แล้ว”

ไกรศักดิ์ ยังได้ตอบคำถามที่มักได้ยินประจำ ถ้าไม่เอาการพัฒนาแล้วจะเอาอะไร?

"ผมไม่ได้คัดค้านการพัฒนา แต่คำถามคือแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไรมากกว่า ถามว่าประเทศเราอยู่ได้ โดยไม่ต้องมีโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ ลองดูตัวอย่างจากต่างประเทศ การใช้พลังงานทางเลือกเราสามารถทำได้ เช่น ปัจจุบันเดนมาร์กประกาศเลิกใช้ถ่านหินแล้ว แต่ใช้พลังงานลมเป็นพลังงานหลักในประเทศถึง 80% มีการเผาขยะเพื่อมาเป็นพลังงาน ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ จนประเทศนอร์เวย์ต้องมาจ้างโรงงานเผาขยะของประเทศเดนมาร์ก ทั้งๆ ที่นอร์เวย์เป็นประเทศที่มีแก๊สธรรมชาติอยู่เยอะแล้ว

"เยอรมนีมีพลังงานที่ใช้ในประเทศ 30% มาจากพลังงานแสงอาทิตย์ ลม น้ำ แต่ไม่มีเขื่อนยักษ์ ทำไมเขาถึงทำได้ ซึ่งเมื่อกลับมามองประเทศไทย จ.กระบี่ ถือเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะ 47-50% ของพลังงานที่ผลิตได้จากกระบี่มาจากการใช้ไบโอแก๊ส และปัจจุบันนี้สามารถเพิ่มการผลิตได้จาก 50% เป็น 100-150% และยังสามารถส่งไฟฟ้าไปที่จังหวัดอื่นได้อีกด้วย ซึ่งการใช้ไบโอแก๊สเป็นพลังงานที่สอดคล้องกับการทำการเกษตร ยกตัวอย่างเช่น โรงกลั่นน้ำมันปาล์มใช้น้ำเสียจากการกลั่นน้ำมันปาล์มมาทำไบโอแก๊สได้ เมื่อกลั่นปาล์มเสร็จ มีกากปาล์ม ก็สามารถส่งไปอีกโรงงานหนึ่งเพื่อเผาเป็นพลังงานได้เช่นกัน

"ปัจจุบันนี้ทั่วโลกมีการผสมผสานกันการใช้พลังงาน ผมไม่ได้เป็นฮิปปี้พวกต่อต้านอย่างเดียวนะ แต่การใช้พลังงานทดแทนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในทั่วโลก และกำลังครองความเป็นใหญ่ในหลายประเทศในยุโรป การใช้ถ่านหินเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ถ่านหินจะสร้างมลพิษมากกว่าแก๊สและน้ำมันถึง 2,000 เท่า

"เราไม่ได้อยู่ในยุคศตวรรษที่ 19 ที่อุตสาหกรรมพึ่งเริ่มต้นและต้องใช้ถ่านหิน สมัยตอนปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่ประเทศอังกฤษ มีการใช้ถ่านหินเป็นจำนวนมากในกรุงลอนดอน จนทำให้ทั้งเมืองมีหมอกที่มาจากมลพิษเต็มไปหมด ตอนนี้ที่กรุงปักกิ่งเด็กบางคนยังไม่เคยเห็นแสงอาทิตย์เลย เพราะมีการใช้ถ่านหินเป็นจำนวนมาก จนมีมลพิษปกคลุมไปทั้งเมือง ซึ่งถ้าคุณเชื่อประเทศจีนก็จะได้รับผลกระทบแบบนั้น จีนเมื่อปีที่แล้วสร้างเขื่อนไปทั้งหมด 1.5 หมื่นเขื่อน ตอนนี้จีนไม่มีทางน้ำแล้ว เลยต้องมาสร้างแถวลาวแทน โดยร่วมมือกับประเทศไทย ตอนนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้เซ็นสัญญาสร้างเขื่อนสิบกว่าเขื่อนในแม่น้ำน้ำสาละวิน ซึ่งจะไม่ได้แค่สร้างความขัดแย้งแค่ภายในประเทศ แต่จะก่อให้เกิดคามขัดแย้งในภูมิภาคอีกด้วย"

ไม่เปิดพื้นที่ประชาชน จบแบบ "พฤษภาทมิฬ"

อิงจีนเสียสมดุล โลกยิ่งล้อมไทย

กะเทาะปัญหาด้านยุทธศาสตร์ต่างประเทศของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเห็นแต่ปัญหาเป็นใยแมงมุม และถูกวิพากษ์ว่าสร้างสมดุลความสัมพันธ์ระหว่างประเทศผิดพลาด เพราะรัฐบาลไปให้ความสำคัญอิงไปทางจีนมากจนเกินไป จนถูกชาติตะวันตกทั้งสหรัฐหรือสหภาพยุโรปกดดัน และแรงปะทะอย่างหนักทั้งเรื่องปัญหาประมง การค้ามนุษย์ การส่งตัวอุยกูร์ให้จีน จนถูกประณามด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน

“ในอดีตทุกรัฐบาลมีแต่จะพยายามรักษาสมดุลกับทุกขั้วอำนาจ เพราะว่าเราไม่ใช่ประเทศที่มีอำนาจทางทหารหรือความมั่นคงเพียงพอ” ความเห็นของ “ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ” ในฐานะอดีตประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา สำทับปัญหาด้านนโยบายต่างประเทศของรัฐบาล

ไกรศักดิ์ ระบุว่า เมื่อรัฐบาลมองว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คือมิติหนึ่งที่สำคัญมากสำหรับความมั่นคงของชาติ นั่นคือความคิดที่ถูกต้อง แต่ต้องไม่ใช่ความคิดที่ว่า ถ้าเราไปซื้อเรือดำน้ำมาแล้ว เราจะมีความสามารถจะไปสู้กับสหรัฐได้ มันตลก ไม่ใช่ว่ารัฐบาลจะตัดสินใจไปซื้อเรือดำน้ำกับจีน เพื่อหวังจะไปต่อรองกับสหรัฐ ถามว่าจะได้ผลหรือไม่ สหรัฐมีเรือดำน้ำใหญ่กว่าเรือที่เราจะไปซื้อกับจีนอยู่หลายเท่า เทียบแล้วของเราเหมือนของเล่นไปเลย เรือดำน้ำเขาวิ่งด้วยปรมาณูหมดแล้ว การกระทำและความคิดเหล่านี้ทำให้เขาหัวเราะเราจนฟันหลุดมาแล้ว

“การที่รัฐบาลไปเอาใจประเทศจีน ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ตอนนี้จีนมีปัญหามากในเรื่องของสิทธิมนุษยชน เพราะจีนไปคุกคามประเทศเพื่อนบ้านมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเมียนมาหรือลาว แถมยังความขัดแย้งกับเวียดนาม ฟิลิปปินส์ด้วย และถ้าไทยไปกอดกับประเทศจีนแล้วความสัมพันธ์ของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนจะเป็นยังไง กับญี่ปุ่นจะเป็นยังไง นอกจากนี้ต้องคิดหลักเศรษฐกิจด้วยว่า อเมริกาและยุโรปเป็นตลาดส่งออกหลักของเรา”

“ผมขอสะท้อนปัญหาการตัดสินใจซื้อเรือดำน้ำว่า สภาวะเศรษฐกิจของไทยขณะนี้มีความเหมาะสมแล้วหรือไม่ ผมเป็นห่วงเรื่องงบประมาณและหนี้สินของประเทศไทยมาก เพราะตอนมีหนี้สินมหาศาล ที่มีจากโครงการประชานิยมของรัฐบาลเลือกตั้งที่ทำสะสมกันมา กอปรกับปัญหาเศรษฐกิจที่รายได้จากการส่งออกก็ตกต่ำลง ขณะเดียวกันรัฐบาลกลับมีเมกะโปรเจกต์ยักษ์ใหญ่ในส่วนของงบประมาณกลาโหมซะมาก ซึ่งสวนกระแสเศรษฐกิจมาก

“ทุกครั้งที่ทหารเข้ามาเป็นใหญ่ ทำรัฐประหารหรือ สังเกตได้ว่าตั้งแต่การปฏิวัติสมัย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หรือบิ๊กบัง สมัย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ พบว่างบประมาณส่วนของกองทัพบกเพิ่มขึ้นประมาณ 30% ซึ่งมันไม่ใช่เลยที่จะต้องเป็นแบบนี้ เวลานี้ผมได้แต่หวังและภาวนาว่า รัฐบาล คสช.ยุค พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่เป็นอย่างนั้น รัฐบาลต้องตระหนักและอย่าลืมว่างบประมาณของกองทัพบก ไม่ได้สร้างผลกำไรกลับคืนเป็นรายได้สู่ประเทศ แต่เป็นงบประมาณที่สูญเสียไปทั้งหมด เสียแล้วเสียเลย เช่น งบประมาณที่รัฐบาลกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่าจะตัดสินใจเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีหรือไม่ ตอนนี้ผมได้แต่ภาวนาอย่างเดียวว่า อย่าซื้อเลย อย่าซื้อเลย”

แรงปะทะ ปัญหาโลกล้อม

ไกรศักดิ์ ชี้เป้าปัญหาที่ไทยกำลังได้รับผลกระทบการกดดันจากต่างประเทศ หรือเรียกได้ว่าปัญหาโลกล้อมด้วยมาตรการต่างๆ อาทิ ปัญหาที่คณะกรรมาธิการยุโรปออกแถลงการณ์แจ้งเตือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ กรณีไม่ดำเนินมาตรการแก้ปัญหาแรงงานประมงเถื่อนอย่างเพียงพอตามมาตรฐานการป้องกันและขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือไอยูยู ซึ่งหากไทยไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทันอาจจะจอดอยู่ที่เทียร์ 3 ยังไม่แน่ใจว่าอียูจะให้ใบแดงหรือเปล่า

ถ้าเป็นแบบนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะร่วงอย่างมหาศาล เพราะว่าเศรษฐกิจในวงจรประมงเราจะสูญเสียมูลค่าเกือบ 8 แสนล้านบาท เพราะบริษัทของไทยที่เกี่ยวโยงกับการซื้อขายการผลิตทูน่ากระป๋องที่ใหญ่ที่สุดในโลก โรงงานทั้งหมดอยู่ในประเทศไทย เราวางตลาดยุโรป ตลาดสหรัฐ รายได้เหล่านี้อยู่ในบัญชีการส่งออกของประเทศไทยทั้งสิ้น

นอกจากปัญหาที่กระทบด้านเศรษฐกิจแล้ว รัฐบาลไทยกำลังเจอกับอีกปัญหาใหญ่ที่เกิดจากการเลือกสานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่อขั้วอำนาจใหญ่ ด้วยการตัดสินใจส่งตัวชาวมุสลิมอุยกูร์ร่วม 109 คน กลับไปที่ประเทศจีน

ไกรศักดิ์ ในฐานะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวอย่างชัดเจนเลยว่า รัฐบาลตัดสินใจผิด ยิ่งตัดสินใจเพื่อเอาใจรัฐบาลจีนจะยิ่งผิด ผิดหลักทั้งหลักการมนุษยธรรม ผิดหลักการผู้ลี้ภัย และผิดหลักการของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะด้านการทูตการส่งตัวผู้อพยพชาวอุยกูร์ไปให้กับจีน แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่เข้าใจโลกและไม่เข้าใจมาตรฐานสากลเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่ทุกประเทศลงนามเมื่อปี 1948 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งน้อยประเทศมากที่ทำแบบนี้ เหมือนที่รัฐบาลไทยทำกับชาวอุยกูร์

ถามว่ารัฐบาลส่งเขาไปจีนทำไม เพราะเขาถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และโดนครอบงำในเรื่องของประเพณีและเศรษฐกิจ ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยอยู่ประมาณ 1.6 แสนคน ถามว่าทำไมไม่กล้าส่งผู้ลี้ภัยเหล่านี้กลับไปยังประเทศนั้นๆ เช่น เมียนมา ทั้งๆ ที่เป็นสมาชิกประชาคมอาเซียน นั่นเป็นเพราะหลักมนุษยธรรมที่ประเทศไทยทำมาตลอดใช่หรือไม่ ดังนั้นถ้าไทยไม่อยากถูกประชาคมโลกประณาม รัฐบาลจะต้องไม่ส่งชาวอุยกูร์ที่เหลืออยู่ในประเทศไทยไปยังประเทศจีน เพราะประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามองในเรื่องของการค้ามนุษย์อยู่แล้ว อย่าทับถมปัญหาทำให้ท่าทีของประชาคมโลกต่อประเทศไทยแย่ลงอีก

ไกรศักดิ์ บอกว่า ประเทศไทยตอนนี้เป็นที่ลี้ภัยของคนจากประเทศที่มีความเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีเหนือ
เมียนมา เวียดนาม หรือชาวโรฮีนจาก็ดี ทีนี้พอชาวอุยกูร์หนีมา เหมือนกับว่ารัฐบาลไทยจะพยายามเอาใจประเทศจีนอย่างน่าเกลียดเกินไป และจีนก็สะท้อนให้เห็นว่าประเทศจีนนั้นไม่มีมาตรฐานเรื่องสิทธิมนุษยชนเลย พอจับชาวอุยกูร์จากไทยได้ก็จับมัดและคลุมหัวเลย และรัฐบาลไทยบอกว่าจะตามไปดู จะตามไปดูหลุมฝังศพหรือยังไง

“เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ท่านประยุทธ์และท่านธนะศักดิ์ (ปฏิมาประกร รมว.ต่างประเทศ) คงไม่เข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชน และไม่ได้ให้ความสนใจ คงจะคิดแต่เรื่องอาวุธและอุปกรณ์สงครามอย่างเดียว ที่ผ่านดูเหมือนว่ากองทัพจะมีกลไกในการทำเรื่องพวกนี้ ไม่ว่าจะเรื่องของการเจรจา การประนีประนอม การพัฒนาสังคม แต่รู้สึกว่ากลุ่มบูรพาพยัคฆ์จะไม่มีนโยบายเหล่านี้เลย นโยบายของบูรพาพยัคฆ์ คือ ปราบปราม ลงทุนใหญ่ มีอยู่แค่นี้ในการปฏิรูป และสามัคคีกันมาก ทุกคนไม่มีการขัดแย้ง ไม่แตกแถว นั่นเพราะประเพณีของทหาร ทหารชั้นผู้น้อยก็ไม่กล้ารายงานเรื่องที่นายไม่ชอบ คนไหนเอาข่าวร้ายมารายงานเผลอๆ ตายด้วยซ้ำไป”ไกรศักดิ์ กล่าว

ไม่เปิดพื้นที่ประชาชน จบแบบ "พฤษภาทมิฬ"