posttoday

ถึงเวลา "ไทยสามฝ่าย" ล้างอดีตสร้างชาติหลังเลือกตั้ง

12 กรกฎาคม 2558

"ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่รัฏฐาธิปัตย์ต้องเริ่มคุยกับฝ่ายต่างๆ ว่าจะออกแบบรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรกให้ถูกต้องตามหลักการและสมควรกับดุลอำนาจที่เป็นจริง และก็รวบรวมคนที่รักสันติต้องการความสงบกลับคืนสู่ประเทศด้วย"

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย, เลอลักษณ์ จันทร์เทพ 

ปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวต่อต้านคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ของกลุ่มนักศึกษา จนนำมาสู่การจับกุมนักศึกษาจำนวน 14 คนเมื่อหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา กลายเป็นกระแสที่เกิดการวิจารณ์ต่อเนื่อง โดยเฉพาะมีการตั้งสมมติฐานว่าจะเป็นชนวนนำไปสู่การขบวนการต่อสู้กับทหารแบบเดียวกับเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 หรือไทยฆ่าไทยในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 หรือไม่

ในทัศนะของ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ นักรัฐศาสตร์ชื่อดัง ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตเคยต้องเข้าป่าระหว่างเหตุการณ์ 6 ตุลา มองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันผ่านโพสต์ทูเดย์ว่า “ก็น่าสนใจ เพราะเคยคิดว่าพลังนักศึกษาเป็นพลังที่หมดไปแล้ว พอมีปรากฏการณ์ 14 นักศึกษาขึ้นมา ก็เลยต้องกลับมาคิดใหม่ มันจะไปจนถึงขั้นแบบ 14 ตุลา หรือ 6 ตุลา อย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ ก็ยังเร็วเกินไปที่จะบอก”

ปรากฏการณ์ 14 นักศึกษา ยังไม่เป็นไฟลามทุ่ง

“เงื่อนไข 14 ตุลา ที่มันเกิดขึ้นเป็น 14 ตุลา จริงๆ มันก็อะไรอีกหลายๆ ปัจจัยมาก ไม่ได้มีแต่เรื่องพลังนักศึกษาอย่างเดียว ตอน 6 ตุลาก็มีเหมือนกันก็มีปัจจัยอื่นๆ เยอะ ตอนนี้มันเป็นเพียงเหตุ ที่พูดไปก็เหมือนไฟป่า จุดขึ้นมาแล้วตอนนี้ก็ดับไป ยังไม่เป็นไฟที่ลามทุ่ง และก็ทางรัฏฐาธิปัตย์เขาก็มีการตอบสนองที่ค่อนข้างรวดเร็วและเป็นไปในทางที่ทำให้ประกายไฟมันไม่ไหม้ลามทุ่ง ตอนนี้ก็ยังไม่ต้องสรุปว่ามันจะมีไฟขึ้นมาอีกหรือเปล่า หรือจะดับได้หรือเปล่า คงต้องตามดูไปเรื่อยๆ”

เบื้องหลังที่นักศึกษาได้รับการปล่อยตัว ที่มีข่าวว่าหลายกลุ่มช่วยกันประสานไปยังรัฐบาล ซึ่งรวมถึงเอนกด้วยนั้น เจ้าตัวออกตัวว่า ไม่ได้มีส่วนเจรจากับหน่วยงานความมั่นคง มีเพียงแต่หารือกับนักกฎหมายและทนายความที่คิดว่าน่าจะเชื่อมต่อกับรัฐบาลได้เท่านั้น

“ผมไม่ได้ไปบอกใครให้ปล่อย เพียงแค่พยายามทำให้นุ่มนวลที่สุด อย่าให้ไปใช้ความรุนแรงความเฉียบอะไรกับพวกเขา เด็กเหล่านี้เรียกว่าเป็นวัยเยาว์ผู้กล้า เพราะยอมถูกจับไปอยู่ในคุก 12 วัน มันไม่สนุก เท่าที่ผมคุยอย่างไม่เป็นทางการผ่านหลายคน ไม่มีใครอยากกลับไปคุกอีก ต่อให้เป็นคนธรรมดาก็คิดว่าการเข้าไปอยู่ในนั้นมันไม่สนุก หรือต่อให้ได้ชื่อว่าเป็นฮีโร่ ถ้าเข้าไปในคุกวันแรกอาจจะดีอยู่ แต่วันที่ 2 ก็เริ่มลำบากแล้ว ตราบใดที่เขารับรู้ว่ามีคนเชียร์อยู่ข้างนอกก็ยังพอได้ แต่อย่างไรมันก็ลำบาก”

เอนก บอกว่า ไม่อยากเห็นเด็กต้องเข้าคุกอีกจึงได้หารือ ช่วยกันหลายฝ่าย ทั้งนักกฎหมาย ทนาย คนที่เคยผ่านเรื่องคดีการเมืองมาบ้าง แต่ไม่ได้ไปคุยกับรัฐบาลหรือระดับผู้ใหญ่อะไรมากมาย ไปคุยกับคนที่เขาสามารถไปต่อเชื่อมได้

กลุ่มคนตรงกลางทางการเมืองกำลังคิดอะไรอยู่ต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้สนับสนุนนักศึกษา? เอนก ตอบว่า “ต้องระมัดระวัง อย่าไปดีใจจนไม่คิดอะไรให้ลึกซึ้ง เพราะการต่อสู้มันซับซ้อนกว่าตอน 14 ตุลาเยอะ ตอน 14 ตุลา มันทั้งสังคมที่ต่อต้านทหารเกือบทั้งหมด แต่ตอนนี้ความขัดแย้งเป็นเรื่องของทหารกับประชาชนหรือเปล่า มันยังไม่ใช่ แต่ถ้าทหารทำผิดพลาดไปเรื่อยๆ ก็อาจจะใช่ ความขัดแย้งที่มาตอนนี้มันมาจากความขัดแย้งของสองสี ดังนั้น ฝ่ายที่จะร่วมให้เกิดเป็นประชาชนฝ่ายเดียวสู้กับทหาร มันยังยาก ผมก็ให้กำลังใจ แต่ต้องคิดอะไรให้สร้างสรรค์”

มีการวิเคราะห์ว่าสถานการณ์ที่นักศึกษาออกมาเริ่มคล้ายกับเหตุการณ์ 6 ตุลา? เอนก บอกว่า “ไม่รู้เหมือนกัน แต่ต้องประเมินกำลังกันให้ดี มันเผชิญหน้ากับคณะทหารที่มันเป็นปึกแผ่นมากมันก็ไม่ง่าย ก่อนหน้านั้นก็พูดถึงการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงประเทศเยอะแยะ แต่พอเกิด 22 พ.ค. 2557 ขึ้นมา ฝ่ายรัฏฐาธิปัตย์ก็คุมอำนาจได้ยันถึงหมู่บ้าน”

“อย่ารีบร้อน อย่าประมาท ผมพูดแบบผู้ใหญ่ที่ปีนี้อายุ 62 ปี พวกนั้นก็เป็นคราวหลานแล้ว ก็อย่าประมาท”

เอนก วิพากษ์ว่า นักศึกษาต้องพยายามให้ได้ใจคนทั้งสองฝ่าย พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ตัวเองต้องเป็นสีใดสีเดียว เพราะถ้าเป็นสีหนึ่งแล้ว อีกสีหนึ่งก็จะไม่ฟังแล้ว เพราะฉะนั้นจะต้องเลี่ยงให้ได้ ผมจึงบอกว่าเรื่องมันสลับซับซ้อน ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์เยอะ และสิ่งที่เคยมีมาในอดีตเป็นประสบการณ์ก็ใช้ไม่ค่อยได้ เพราะสังคมไทยมาถึงขั้นที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

“นักศึกษาเองก็ต้องเคลื่อนไหวในเวลานี้ต้องรู้ว่าสังคมใหม่ ไม่ใช้สังคมเดิม หรือสังคมแบบ 6 ตุลา หรือสังคมแบบ 14 ตุลา แต่เป็นสังคมที่สลับซับซ้อนมาก เพราะฉะนั้นต้องพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ตัวเองปรากฏเป็นเครื่องมือ หรือสีใดสีหนึ่ง สีเดียว ควรต้องสร้างพันธมิตรที่กว้างขวาง ถ้าพูดจากใจจริงผม คือ อยากให้ระยะเปลี่ยนผ่านไปด้วยดี เร็ว และสร้างกลไก สร้างระบอบ ให้ทุกฝ่ายเข้ามาช่วยกันสร้างบ้านสร้างเมืองขึ้นมาใหม่”

สำหรับท่าทีของอาจารย์และปัญญาชนบางกลุ่มที่ต้องการให้เกิดการต่อสู้จนสุดทางเพื่อไม่ให้เกิดการรัฐประหารต่อไปในอนาคต เอนก มีทัศนะว่า “เราจะต้องใช้เลือดมาเป็นปุ๋ยเพื่อรดต้นไม้ประชาธิปไตยอีกหรือ ฟังดูมันก็สูงส่งดี เป็นเรื่องน่าสรรเสริญ แต่มันก็เป็นเรื่องกึ่งๆ โศกนาฏกรรมเหมือนกัน เรื่องการสร้างสันติภาพมันมีวิธีอื่นๆ อีกตั้งเยอะแยะ ก็ต้องเอามาใช้ สถานการณ์ที่มันจะมุ่งไปสู่ความแตกหัก การปะทะ หรือการนองเลือด ผมคิดว่าพวกเราที่อยู่ในยุคเอาเรื่องสันติวิธีมาใช้แล้วต้องอย่าลืม”

“เหตุการณ์ที่มีดาวดิน หรือในอนาคตจะมีดาวดิน 2 ดาวดิน 3 ขึ้นมา นั่นคือการส่งสัญญาณว่าคนไทยให้โอกาสกับการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไม่นานมาก เพราะนั้นต้องอยู่และทำด้วยความไม่ประมาท อย่าพลาด ผมขอส่งความปรารถนาดีให้” เอนก สรุป

ถึงเวลา "ไทยสามฝ่าย" ล้างอดีตสร้างชาติหลังเลือกตั้ง

พรรคใหญ่-กลาง-ปัญญาชน รวมพลังปรองดอง

กับบทบาทเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญด้วย เอนก เสนอว่า สถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นถึงเวลาที่ควรเกิดการสร้างความปรองดองร่วมกันของกลุ่มไทยสามฝ่าย ประกอบด้วย พรรคการเมืองขนาดใหญ่ พรรคการเมืองขนาดกลาง และกลุ่มนักศึกษาปัญญาชน เพื่อให้เกิดความคิดที่จะพัฒนาประเทศร่วมกัน

“ทุกฝ่ายจะมีผู้สนับสนุน เช่น พรรคเพื่อไทยก็มี นปช. พรรคประชาธิปัตย์ก็มีพันธมิตรและ กปปส. อะไรทำนองนี้ รวมไปถึงฝ่ายที่สามอย่างกลุ่มนักศึกษาด้วย มันเหมือนเรามีไทยหลายฝ่าย อาจจะเป็นสามฝ่าย ทำอย่างไรที่เราจะสร้างประเทศไทยของสามฝ่าย นอกจากนั้นเราต้องคิดถึงทหารและคณะรัฏฐาธิปัตย์ด้วยว่าจะให้เขามีบทบาทอย่างไรต่อไป ถ้าคิดแบบง่ายๆ ก็ให้เขาลงไปเลย แต่ว่าคงไม่ง่าย ที่มันเป็นไปได้มากกว่านั้น คือ ให้เขายังดูอยู่ห่างๆ”

เอนก อธิบายอีกว่า การบริหารบ้านเมืองหลังจากที่มีรัฐธรรมนูญใหม่บังคับใช้ต้องเป็นบทบาทของพรรคการเมือง นักการเมือง และปัญญาชนคนเก่งที่เข้าไปร่วมกันบริหาร คล้ายกับที่ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ระบุว่า “รัฐบาลของชาติ” อันนี้อย่าคิดไปว่าเป็นความคิดของใคร แต่ว่าให้เป็นลักษณะแบบนี้ และมาช่วยกันคิดในรายละเอียด

“ฉะนั้น ก็วกกลับมา ผมคิดว่าถึงเวลาที่แล้วรัฏฐาธิปัตย์ต้องเริ่มคุยกับฝ่ายต่างๆ ว่าจะออกแบบรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรกให้ถูกต้องตามหลักการและสมควรกับดุลอำนาจที่เป็นจริง และก็รวบรวมคนที่รักสันติต้องการความสงบกลับคืนสู่ประเทศด้วย”

...อย่าไปคิดตามกรอบเดิม กรอบเดิมของเราก็คือไล่เผด็จการออกไป สร้างประชาธิปไตยขึ้นมา อะไรแบบเนี่ย มันก็จะต้องคิดต่อไปว่าแล้วไอ้ที่ประชาธิปไตยขึ้นมาเนี่ย คุณจะทำอย่างไรไม่ให้มันปั่นป่วน ไม่ให้วุ่นวาย ไม่ให้โกลาหล ไม่ให้บ้านเมืองแตกแยกแตกหัก อะไรที่มันไม่เคยคิด เช่น การมาตั้งรัฐบาลร่วมกัน ก็ต้องเริ่มคิด”

รัฐบาลในอนาคตตามแนวคิดนี้จะเป็นไปได้ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่? เอนก ตอบทันทีว่า ก็พอทำได้ แต่ต้องอาศัยความตั้งใจด้วยว่าตอนนี้ประเทศมันไม่สามารถอยู่แบบเดิมได้ ไม่สามารถรบกันต่อได้ ปีสองปีที่อยู่กับ คสช.ต้องไม่ใช่แค่พักรบเพื่อกลับไปรบกันอีก มันต้องทำอย่างไรให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สามารถทำงานร่วมกันได้ ส่วนใครจะขัดแย้งกันก็ว่ากันไป แต่ทุกคนต้องมีส่วนมีบทบาทในรัฐบาล ซึ่งดูแล้วตอนนี้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ พยายามเปิดพื้นที่ให้ฝ่ายตรงข้ามโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยมาออกทีวี ล่าสุดที่เห็นมีพิชัย นริพทะพันธุ์ และทหารก็ยังเชิญ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมถึง จาตุรนต์ ฉายแสง มาออกรายการด้วย

เอนก สรุปว่า จากประสบการณ์ที่เคยต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมานานและเฝ้าสังเกตปัญหาบ้านเมือง คิดว่าครั้งนี้มันเป็นการต่อสู้ที่ยืดยาวนาน ฉะนั้น ไม่ควรเอาชีวิตเข้าไปเสี่ยง

“คุณจะเห็นว่าพอเพื่อนฝูงและนักต่อสู้ร่วมอุดมการณ์ตายแล้วและมีประชาธิปไตยขึ้นมา ไม่นานประชาธิปไตยก็ต้องซ่อมอีก ฉะนั้น มันควรต่อสู้ด้วยสันติวิธี ไม่ควรต่อสู้ด้วยความรุนแรง” เอนก ให้ข้อคิด

5 ปี หลังลูกกรง เหลือง- แดง ปลง/ปรารถนา "อภัยโทษ"

ปัจจุบัน “เอนก” ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งได้มีโอกาสลงพื้นที่ไปพบกับผู้ต้องหาทุกสีเสื้อ ในเรือนจำที่ถูกจับกุมจากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

เอนก เผยถึงคำบอกเล่าของ “เหยื่อ” ที่ถูกคุมขังว่า ผู้ที่อยู่ในเรือนจำปรารถนาที่จะได้รับการอภัยโทษ ซึ่งการอภัยโทษในที่นี้ต้องเข้าใจว่าหมายถึงรับโทษ อยู่ในคุกระดับหนึ่งแล้ว ตอนนี้อยากขอความเมตตาลดหย่อนให้ ซึ่งคนเหล่านั้นทั้งๆ ที่อยู่ต่างสีต่างฝ่าย เมื่อมาอยู่ในเรือนจำ ก็ได้สมัครสมานสามัคคีช่วยเหลือ ไม่ได้คิดเรื่องสีเสื้ออะไรอีกแล้ว

“เท่าที่คุยกัน ก็พบว่าหากออกมาจากเรือนจำก็ไม่อยากที่จะมาทำอะไรมันเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ทำให้บ้านเมืองเกิดความเสียหายแล้ว อยากกลับไปเป็นคนที่สนใจการเมืองและเป็นคนที่มีอุดมการณ์เหมือนเดิม แต่ก็จะระมัดระวังและมีความรอบคอบและไม่ทำอะไรให้เกินเหตุ ซึ่งผมก็บอกเขาไปว่าเราก็พยายามจะสร้างการเมืองที่ไม่ให้คนละทิ้งอุดมการณ์เดิมหรอก ใครเคยรักอะไร ชอบอะไร ก็มีสิทธิรักษาเอาไว้ได้ เพียงแต่ขอให้การต่อสู้ การแข่งขันกันเป็นประโยชน์และเป็นไปด้วยสันติวิธีมากที่สุด”

เอนก เล่าว่า หลายคนบ่นและร้องว่า จริงๆ แล้วเขาไม่ได้ทำผิดตามที่ถูกตัดสิน บางคนหน้าตาดูแล้วเหมือนนักธุรกิจหรือเหมือนรัฐมนตรีมากกว่า และพอคุยประวัติไปก็พบว่าจบปริญญาโทจากประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นคนเสื้อแดง ส่วนคนอื่นๆ เช่น มือปืนป๊อปคอร์น ดูแล้วก็ไม่น่าเป็นคนปราดเปรียวคนเก่งอะไร แต่เหมือนคนทั่วไป ไม่ทะมัดทะแมงเท่าไร

“ทุกคนไม่กังขา ไม่ต่อสู้แล้ว ไม่ยื่นอุทธรณ์แล้ว ยกเลิกการขอยื่นฎีกา เพราะทุกคนปรารถนาที่จะได้รับการอภัยโทษ เขาขอให้ได้ออกมาให้เร็วที่สุด”

...มีบางคนที่ถูกขังมา 4 ปี 9 เดือน และยังเหลืออีก 9 ปี 4 เดือน มันนานมาก และบางคนก็เสียครอบครัวตอนอยู่คุก ภรรยา สามี ก็ไปแต่งงานใหม่ บางคนตาก็เกือบจะบอดอยู่แล้ว จากบอดข้างเดียวกำลังจะบอดสองข้าง จากที่มัวๆ ก็ทำท่าจะดับไปแล้ว มีคนชื่อเหมือนผม เอนก สิงขุนทด ที่ต้องออกมารักษาตัวที่โรงพยาบาล”

อย่างไรก็ตาม เอนก ระบุว่า ความลำบากในการดำรงชีวิตไม่ได้มีเฉพาะแค่คนที่อยู่ในเรือนจำเท่านั้น เพราะแม้แต่ฝ่ายการเมืองที่ใช้ชีวิตนอกเรือนจำก็มีความลำบากเหมือนกัน

“ตอนนี้มันลำบากกันทุกฝ่ายนะ รวมทั้งฝ่ายที่ชอบออกมาพูดว่าไม่ต้องนิรโทษกรรมให้กับเขาด้วย จริงๆ แล้วพวกนั้น ถ้าพูดในใจเขาก็อยากจะบอกว่ารีบๆ ทำให้มันเสร็จๆ สักที เพราะผมเองมันก็ลำบากเหลือเกินแล้ว จะออกเดินทางไปต่างประเทศทีมันไม่ง่ายเลย คุณจาตุรนต์ ฉายแสง จะไปรักษาตัวที่ประเทศจีนก็ต้องผิดนัดกับหมอ อันนี้เรื่องจริง ส่วนคุณสุริยะใส กตะศิลา จะไปต่างประเทศก็ไปได้ยากมาก นักศึกษาหลายคนที่อยู่ในสำนักสันติวิธีฯ ก็ออกไปต่างประเทศยาก”

ถึงเวลา "ไทยสามฝ่าย" ล้างอดีตสร้างชาติหลังเลือกตั้ง

สัญญาณเป็นบวก แกนนำม็อบสลับร่างเปลี่ยนสี

การสนทนากับ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ยังอยู่กับประเด็นเรื่องความเป็นไปได้ที่จะมีการนิรโทษกรรมผู้ชุมนุมสองสี เมื่อถามไปว่า ควรใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 นิรโทษกรรมเพื่อให้จบหรือไม่?

เอนก แสดงทัศนะว่า “เรื่องนิรโทษกรรมไม่ใช่ของผม แต่สิ่งที่ผมได้มาจากการไปพูดคุยกับทุกฝ่ายทุกระดับ ถ้าใช้มาตรา 44 เพื่อการนี้ แทบทุกคนก็จะพอใจ ซึ่งก็เป็นที่น่าพิศวงว่านักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย พวกที่ไม่ชอบทหารอยากจะได้มาตรา 44 เพื่อการนี้”

“ผมว่าสังคมไทยนอกจากจะกลับไปกลับมาระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตยแล้ว แต่สิ่งที่มันฝังลึกยาวนาน คือ การวางระเบียบบริหารราชการแผ่นดินและการจัดองค์กร ที่เวลาจะทำอะไรดีๆ แต่ละทีมันทำยากเหลือเกิน เช่น ถ้าคุณจะนิรโทษกรรม ถ้าคุณเอาระเบียบราชการแผ่นดินปกติและเอาการแบ่งองค์กรปกติมาทำ มันสามารถพูดจนคุณหมดกำลังใจที่จะทำ ไอ้นี่ก็ไม่ได้ ไอ้นั่นก็ไม่ได้ ร้อยแปดไปหมด แต่ว่าถ้ามันมีมาตรา 44 อยู่ เขียนลงไปทีเดียวทุกอย่างจบหมด เพราะฉะนั้นผมว่าอันนี้คนที่ชอบมาตรา 44 ไม่ได้แปลว่าเขาชอบเผด็จการ แต่เขาต้องการที่จะลด Red Tape (ข้อบังคับที่เข้มงวดของข้าราชการ) พวกนี้ลงไป”

เอนก วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ในขณะนี้มีความสุกงอมมากพอที่จะดำเนินการให้มีการนิรโทษกรรมได้ หลังจากทุกฝ่ายในทางการเมืองได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด ซึ่งลักษณะแบบนี้จะทำให้เมื่อเกิดการนิรโทษกรรมแล้ว จะไม่มีใครมากล่าวหาได้ว่าเป็นการกระทำสองมาตรฐาน

“ตอนนี้เงื่อนไขเรื่องความปรองดองในบางแง่ก็สุกงอมขึ้น เพราะมันโดนกันครบแล้ว ไม่ได้เป็นเรื่องที่สีแดงหรือเหลืองถูกทำฝ่ายเดียว คดีมันดำเนินมาจนถึงขั้นที่จะส่งคนเข้าคุกหรือถึงขั้นที่จะเรียกค่าเสียหายเรือนแสน เรือนล้าน เรือนหลายร้อยล้านแล้ว ดังนั้นมันก็แปลว่า ถ้าจะทำนิรโทษกรรมอะไรเหล่านี้ก็จะเกิดผลกับทุกฝ่ายค่อนข้างครบถ้วน”

“แต่ถ้าเรายังวิตก ตัวสำคัญๆ เราก็เก็บเอาไว้ก่อนก็ได้ เช่น คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ คุณทักษิณ ชินวัตร คุณจตุพร พรหมพันธุ์ คุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แต่ตอนนี้ควรปล่อยพวกที่เกี่ยวกับคดีการชุมนุมหรือคดีอาญาที่ไม่มีความร้ายแรงจนเกินไปออกมาก่อนก็ได้ มันก็จะส่งสัญญาณให้คนได้เห็นว่ารัฐาธิปัตย์มายึดอำนาจ ไม่ใช่เพื่อให้บ้านเมืองเป็นเผด็จการ หรือไม่ใช่เพื่อมาเอาประโยชน์จากการที่ได้เข้ามาคุมอำนาจ แต่เข้ามาเพื่อที่จะให้บ้านเมืองเกิดความปรองดองด้วย ผมว่ามันก็น่าทำ”

จากการได้พบกับกลุ่มการเมืองตามแผนการสร้างความปรองดองที่เจ้าตัวรับบทอยู่ เอนก บอกว่า ได้ค้นพบสิ่งที่สำคัญประการหนึ่ง คือ แกนนำสีเสื้อทั้งสองฝ่ายสามารถคุยกันได้ในระดับพอสมควรจากเมื่อก่อนที่ไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กัน

“จริงๆ แล้ว แกนนำสองฝ่ายเวลานี้สามารถคุยกันได้มากพอสมควร และได้รู้ว่าล้วนมีกำเนิดมาจากที่เดียวกันเยอะ บางคนกำเนิดมาจาก  14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภา 35 หลายคนเคยเป็นสีแดงก็เปลี่ยนเป็นสีเหลือง หลายคนเคยเป็นสีเหลืองก็เปลี่ยนเป็นสีแดง นอกจากนั้นยังมีบ้านเกิดจังหวัด โรงเรียนเดียวกันอีก เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกัน พอฟังความคิดเห็นของการสร้างความปรองดองก็เห็นด้วยกัน และในที่สุดก็มาร่วมมือกันทำงานต่อไป”

เอนก ระบุว่า ตอนนี้ก็คุยกันจนถึงขนาดที่ว่า ถ้ามีเงื่อนไขที่เหมาะสมจะจัดคุยเรื่องสถานการณ์บ้านเมืองและความจำเป็นที่ต้องปฏิรูปในด้านต่างๆ ของบ้านเมืองร่วมกัน โดยยังไม่ได้คุยกันว่าใครจะเป็นเจ้าภาพ แต่ช่วงที่คุยกันเบื้องต้นมีศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป หรือ ศปป. เป็นเจ้าภาพ

ความปรองดองที่อาจเกิดขึ้นได้คงเพราะทุกฝ่ายเหนื่อยกันมาพอควรแล้ว? เอนก ตอบว่า “เรื่องเหนื่อยมันก็มีจริง คนเราทำสงครามตลอดเวลาไม่ได้ สันติภาพบางทีก็เกิดขึ้นจากการกรำศึกมานานจนทนต่อไปไม่ได้แล้ว ในโลกนี้เต็มไปด้วยเรื่องสันติภาพเยอะแยะ ไม่ได้มีแต่เรื่องความขัดแย้งอย่างเดียว ดังนั้นเราต้องเอาชนะกรอบความคิดของพวกเราที่คิดว่ามันเกิดการปรองดองไม่ได้ ต้องออกจากกรอบนี้”

“แอฟริกาใต้ ตั้งแต่ผมเป็นเด็ก มีแต่ข่าวนายเนลสัน แมนเดลา ถูกจับกุม ผมไม่เคยคิดเลยว่า นายเนลสันจะได้รับการปล่อยตัวออกมา แต่ในที่สุดประเทศนี้ก็คืนสู่ความสมานฉันท์ได้ เวียดนามเหนือ เวียดนามใต้ ก็รบกันอยู่นานมาก ถ้าไปถามว่ามันจะมีสันติภาพหรือไม่ ไม่มีใครคิดว่าจะมีหรอก แต่ก็รวมประเทศได้ เยอรมันตะวันตก เยอรมันตะวันออก ก็สู้กันจนเบื่อ วันดีคืนดีก็ได้เห็นกำแพงเบอร์ลินล่ม กลับคืนมาสู่สันติภาพ ดังนั้นการปรองดองต้องทำต่อไปไม่หยุดยั้งและอาศัยจิตใจที่เชื่อว่าอะไรที่มันยากก็ต้องทำให้สำเร็จ”

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือไปจากการสร้างความปรองดองที่ต้องทำให้สำเร็จเพื่อเป็นบทพิสูจน์ว่าไม่เสียของแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องเร่งดำเนินการ คือ การทำให้ร่างรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปประเทศได้รับความชอบธรรม

“ต้องพยายามสนับสนุนให้รัฐธรรมนูญออกมาโดยเร็ว และช่วยกันทำให้ประชาชนสนับสนุนรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบใหม่หลังการเลือกตั้งโดยเร็ว จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองสองพรรคใหญ่ หรือสองพรรคใหญ่บวกพรรคเล็กพรรคกลางด้วย ผมคิดว่าจำเป็นที่รัฐาธิปัตย์ต้องเริ่มพูดคุย และต้องหารือปรึกษาและให้บทบาทแก่สองสามฝ่ายที่เป็นฝ่ายการเมืองให้เข้ามาช่วยกัน”        

เอนก ทิ้งท้ายว่า เวลานี้ยังสรุปไม่ได้ว่า การรัฐประหารครั้งนี้ทำให้เสียของหรือไม่ได้ของ ที่ผ่านมาก็ถือว่ามีความคืบหน้าในการแก้ปัญหา แต่อีก 6-8 เดือนจากนี้คงจะตกผลึกว่าการยึดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสียของหรือได้ของ ถ้า คสช.และรัฐบาลสามารถทำเรื่องปรองดองได้ จนกระทั่งเรามีโอกาสได้รัฐบาลสามัคคีแห่งชาติขึ้นมาได้จะคุ้มมาก หรือการปฏิรูปสามารถทำได้มากขึ้น เช่น เรื่องยาเสพติด โดยใช้มาตรา 44 จัดการเด็ดขาดให้สมกับความผิด เพื่อทำให้คนรู้สึกว่ารัฐบาลปกติทำไม่ได้ หรือจัดการยึดคืนพื้นที่ป่ากลับมาได้ เส้นทางรถไฟก็เร่งทำ