posttoday

"ผมติดทีมชาติไทยตลอดชีวิต" ดักแด้ ไทยแลนด์

28 มิถุนายน 2558

เบื้องหลังเส้นทางทรหดของนักเชียร์กีฬาทีมชาติไทย "ดักแด้ ไทยแลนด์"

โดย...อินทรชัย พาณิชกุล

เสียงตะเบ็งเชียร์ "ไทยแลนด์สู้สู้" ดังกระหึ่มไปทั้งสนาม

ขณะที่เกมกีฬากำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น บรรยากาศของกองเชียร์บนอัฒจรรย์ก็เป็นไปอย่างคึกคักและมีพลังยิ่ง

ความเคลื่อนไหวโดดเด่นสะดุดตาอยู่ตรงชายชุดไทยประยุกต์ที่ประดับประดาสีสันธงไตรรงค์น้ำเงิน แดง ขาวพร่างพราวไปทั่วร่าง โบกธงชาติปลิวไสว กระหน่ำกลอง แหกปากร้องตะโกน ยืนหยัดนำกองเชียร์ทีมชาติไทยให้กำลังใจอยู่ข้างสนามชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่าโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

เขาคือ "ดักแด้ ไทยแลนด์" หรือ "ไทยแลนด์ คำทอง" วัย 49 นักเชียร์กีฬาทีมชาติไทยคนดังนั่นเอง

หลังจากประกาศตัวเป็นผู้นำเชียร์กีฬาทีมชาติทุกประเภท ไม่ว่ากีฬาชาย หญิง เยาวชนหรือคนพิการ ดูเหมือนว่าดักแด้จะทุ่มเทเกินร้อยทุกแมตช์ประหนึ่งนักกีฬาอีกคนในสนาม ร้อง เล่น เต้น สร้างสีสันมาตลอดยี่สิบกว่าปี

นี่คือเรื่องราวชีวิตต้องสู้ของนักเชียร์กีฬาเบอร์หนึ่งทีมชาติไทย ผู้เคยทั้งจำนำรถขายแลกเงินซื้อตั๋วเครื่องบิน ล้มป่วยเกือบตายเพราะเดินสายเชียร์จนหมดแรง แถมโดนด่าแทบจมดินโทษฐานนำชุดไทยไปเผยแพร่ต่อชาวโลก

อีกหนึ่งปูชนียบุคคลที่แวดวงกีฬาไทยต้องไม่ลืมเป็นอันขาด ...

"ผมติดทีมชาติไทยตลอดชีวิต" ดักแด้ ไทยแลนด์

เข้าสู่วงการบันเทิงได้ยังไง

ผมชอบแสดงออกตั้งแต่เด็กๆ ชอบร้องเพลงลูกทุ่ง หมอลำ เวลาต้องออกไปแสดงหน้าห้อง เราจะเป็นตัวโจ๊ก ตัวสร้างสีสัน เวลามีงานกีฬาสีก็จะเป็นผู้นำเชียร์ เป็นเชียร์ลีดเดอร์ อยู่บ้านนอกไม่มีเงินซื้อกีต้าร์โปร่ง กีต้าร์ไฟฟ้า เลยอาศัยเอาถังน้ำ กระป๋อง ขวด มาทำเครื่องดนตรี เหมือนวงมหรสพเล็กๆ ไม่มีอุปกรณ์ก็เคาะโต๊ะเป็นจังหวะ ร้องสดเอา (หัวเราะ)

ตอนนั้นเห็นการแสดงตลก ก็ใฝ่ฝันอยากจะเล่นตลก ไม่ได้มองเรื่องเงินเลย มองแค่ว่าเมื่อไหร่จะมีโอกาสได้แสดงความสามารถของเราบ้าง พอเข้ามาเรียนรามคำแหง ก็เข้าชมรมการแสดงลูกทุ่งสุโขทัย ว่างจากเรียนก็ไปสมัครเป็นตัวประกอบ วันละ 200-300 บาท ได้เงินมาก็ไปดูตลกที่วิลล่าคาเฟ่ทุกวัน ดูป๋าต๊อก ดูพี่เทพ โพธิ์งาม ใจก็คิดว่าเมื่อไหร่จะได้เข้าไปเล่นบ้างหนอ จนวันหนึ่งจำได้ว่าหน้ารามเขาจัดกิจกรรมการแสดง เราก็ขึ้นไปเล่นสนุกๆ เผอิญพี่อู๊ด-สินชัย ซึ่งเป็นผู้จัดการของวิลล่าคาเฟ่ผ่านมาเห็นแล้วชอบใจ แกถามว่าอยากจะไปเล่นตลกไหม ผมก็ตอบว่าอยากครับ แกบอกเออ เดี๋ยวฝากให้ ตอนนั้นพี่อ๊อดแกถือว่ามีพาวเวอร์ในวงการตลก สุดท้ายเลยฝากให้ไปอยู่กับคณะป๋าต๊อกจนได้เล่นตลกคาเฟ่อยู่ 2 ปีกว่าๆ

ได้ยินว่าเคยฝันอยากเป็นนักกีฬาทีมชาติด้วย

ครับ (หัวเราะ) สมัยเรียน เวลาว่างผมชอบเล่นกีฬา เตะตะกร้อ ฟุตบอล เล่นวอลเล่ย์บอล ควบคู่กับทำงานเป็นเด็กเก็บบอลในสนามวอลเล่ย์บอล ความใฝ่ฝันของเราคืออยากจะเอาดีทางวอลเล่ย์บอล อยากมีธงไตรรงค์ติดบนหน้าอก แต่วาสนาเราไม่ถึง ก็ยังดีที่เราได้เป็นเด็กเก็บบอลให้ทีมชาติ (หัวเราะ)

ยุคนั้นวอลเล่ย์บอลชายดังๆก็ทีมทอ. ทีมธนาคารกรุงเทพ แล้วยังมีทีมชาติมาซ้อมด้วย จำได้ว่ามีพี่อ๊อด(เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร โค้ชวอลเล่ย์บอลหญิงทีมชาติไทยชุดปัจจุบัน) แกเรียนที่ม.เกษตรแต่มาซ้อมที่รามคำแหง ก็เริ่มเชียร์กีฬามาตลอด เก็บบอล ถูพื้น สมัยก่อนเด็กถูพื้นจะชอบโชว์อะไรแผลงๆฮาๆ คนกันชอบมาก เราก็คิดว่าเออ มันเอนเทอร์เทนได้เหมือนกันโว้ย ตรงนั้นทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่อยากจะเป็นผู้เชียร์กีฬา

เริ่มต้นเส้นทางการเป็นนักเชียร์กีฬาทีมชาติไทยยังไง

ผมไม่ได้เชียร์กีฬาชนิดเดียว แต่เชียร์ทุกชนิด กีฬาคนพิการเราก็ไปเชียร์ด้วย

แรกๆเชียร์ในกรุงเทพ เพราะใกล้บ้านยังพอไปได้โดยใช้ทุนตัวเอง แต่หลังๆต้องไปต่างประเทศ จำได้ว่าครั้งแรกคือซีเกมส์ที่มาเลเซีย เราก็ต้องดิ้นรนไป เก็บหอมรอมริบเงินจากการแสดงเป็นตัวประกอบ ไม่ก็รับงานพิธีกร ร้องเพลง เล่นตลก ต่อมาเริ่มขยายไปทั่วภูมิภาคเอเชีย จนไปถึงกีฬาโอลิมปิคที่ไปเอเธนส์ ปี 2004

ตอนนั้นต้องหาเงินไปซื้อตั๋วเครื่องบินก่อนเป็นอันดับแรก ที่พักยังไม่รู้ ไปตายเอาดาบหน้า (หัวเราะ) คิดคร่าวๆว่าจะนอนกับพวกนักกีฬา สมัยก่อนยังไม่มีหมู่บ้านนักกีฬา ต้องนอนโรงแรม เลยคิดจะใช้วิธีแจมขึ้นรถไปกับเขา ได้ไม่ได้ไม่รู้ ขอไปถึงสนามบินให้ได้ก่อน สมมติจะบินอาทิตย์หน้ายังไม่มีเงินซื้อตั๋วเครื่องบิน ก็เอารถไปจำนำ ยืมเงินแม่เพื่อนดอกเบี้ยร้อยละ 20 ยืม 30,000 บาท ถูกหักเหลือประมาณ 24,000 บาท ผมก็ขอร้อง แม่ๆ อย่าเพิ่งหักเลยได้ไหม กลับมาค่อยหัก (หัวเราะ) เพราะเปอร์เซนต์ที่หายไปนั้นมันมีความหมายสำหรับผมมาก เก็บไว้เป็นทุนสำหรับค่าแท็กซี่เข้าเมือง ค่ากิน ค่าที่พัก อย่างน้อยเราต้องไปหาที่นอนด้วยตัวเองก่อนสักคืน แล้วค่อยหาที่พักถูกๆ ไม่ก็โน่นเลย วัดไทย ขอนอนหน่อย บางทีคนไทยใจดีชวนไปนอนที่บ้านก็มี

แล้วเอาเงินจากไหนมาคืนเจ้าหนี้

บางทีโชคดีไปเจอประเทศที่มีร้านอาหารไทยให้ร้องเพลง เราก็ขึ้นไปร้องได้ทิปมานิดหน่อย บางทีเจอคนไทยที่นั่นเขาเห็นเราก็ควักสตางค์ให้บอกเอ้า ฝากไปเชียร์ด้วย เทียบเงินไทยแล้วแค่พันสองพัน บางทีนายกสมาคมนักกีฬาเขาแบ่งให้บ้าง หรือเวลากลับเมืองไทยมาเลี้ยงฉลอง นักกีฬาบางคนเขาก็ให้เป็นรางวัลนิดๆหน่อยๆ

น้ำจิตน้ำใจคนละนิดละหน่อยเก็บสะสมไว้จนครบสามหมื่นก็เอาไปคืนเขา

"ผมติดทีมชาติไทยตลอดชีวิต" ดักแด้ ไทยแลนด์

คนในวงการกีฬามองเรายังไง

ให้การต้อนรับดีมาก (เสียงสูง) ต้องเข้าใจก่อนว่าเวลานั้นมันไม่มีใคร เพราะพี่เป็ด(เป็ด ซูเปอร์แมน นักเชียร์กีฬาชื่อดัง) แกก็จะเชียร์เฉพาะฟุตบอลอย่างเดียว ไปไม่กี่แมตช์ก็กลับ ต่างประเทศก็ไปเฉพาะแมตช์สำคัญ แต่ผมไปทุกชนิด และไม่ได้เฉพาะที่สนิทสนม เช่นรู้จักกับนายกสมาคมนี้ รู้จักนักกีฬาคนนั้น ผมเห็นว่ากีฬาชนิดไหนเงียบๆเราก็แบกกลองเข้าไปเชียร์เลย พอหลังๆคนเห็นก็ทักอ้าว ไปยังไงมายังไง ชื่ออะไร ก็เลยสนิทคุ้นเคยกัน อย่างกรีฑา เราไปนอนกับพวกโค้ชปรากฎว่าเป็นรุ่นพี่ที่รามคำแหง เพราะนักกีฬาสมัยก่อนเรียนรามทั้งนั้น แต่ถึงแม้เขาจะดีกับเราก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีเงินมีค่าอำนวยความสะดวกให้ เราต้องควักเอง

ตั๋วเข้าชมการแข่งขันซื้อเองเหรอ

บางทีเขาก็ให้ บางทีก็ต้องซื้อเอง มีอยู่ช่วงหนึ่งได้ไอดีการ์ดมาใบนึง บัตรนี้เปรียบเสมือนใบผ่านทางสามารถเดินเข้าออกได้ฉลุยทุกสนาม เรียกว่าเป็นใบกันตายเลยแหละ (หัวเราะ) ผมไปขอจากผู้ใหญ่ในโอลิมปิกหลังจากเชียร์มาได้สักสิบปี สมัยก่อนไม่มีปัญหาเพราะโควต้ามันเยอะ แต่เดี๋ยวนี้เริ่มยาก เพราะหน่วยงานอะไรต่อมิอะไรเยอะแยะไปหมด

โชคดีได้รับความเมตตาจากท่านรัฐมนตรีกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาท่านฝากกำชับลูกน้องว่าให้ดูแลกองเชียร์ด้วย การกีฬาแห่งประเทศไทยก็เลยสนับสนุนตั๋วเครื่องบินทั้ง 3 ทัวร์นาเมนต์ โอลิมปิค เอเชียนเกมส์ และซีเกมส์ แต่ถ้าอยากไปก่อนกลับหลังก็ต้องจัดการเลื่อนตั๋วเอง เพราะทุกครั้งจบทัวร์นาเมนต์ก็จะมีกีฬาคนพิการต่อ เราเลยต้องขยายเวลาด้วยการเลื่อนตั๋วเครื่องบิน อยู่ช่วยเชียร์ต่อ จะให้บินกลับแล้วบินมาใหม่ไม่มีเงินแน่ ระหว่างนั้นก็อาศัยวัดไทยกินนอน ค่อยกลับมาพร้อมพวกสมาคมคนพิการ ทำแบบนี้มาสิบกว่าปี

นึกว่าเขาออกค่าใช้จ่ายให้เหมือนทีมงานคนหนึ่ง

บางครั้งการไปขอสมาคมกีฬาต่างๆ แม้กระทั่งนักกีฬาเองยังลำบาก ยังขาดแคลน เบี้ยเลี้ยงยังไม่ได้รับ เราเคยเป็นนักกีฬาก็เข้าใจหัวอกความยากลำบาก อันไหนช่วยตัวเองได้ก็ต้องช่วยตัวเองไปก่อน

ลำบากลำบนแค่ไหน

ช่วงแรกๆที่ต้องไปเชียร์นอกประเทศ ต้องไปขออาศัยนอนกับนักกีฬา ทำตัวเนียนๆเหมือนทีมงานช่วยเขาขนกระเป๋าลงจากรถบัสเข้าโรงแรม ช่วยเข็นของ บางทีนักกีฬาต้องนอนในหมู่บ้านนักกีฬาเราเข้าไม่ได้ ก็ต้องไปขอนอนกับพี่ๆนักข่าว พอเข้าห้องปุ๊บ นักข่าวนอนบนเตียง ผมจะบนพื้นก็นอนไม่ได้ เพราะวางอุปกรณ์กล้อง วางขาตั้งเต็มไปหมด เลยต้องไปนอนในตู้เสื้อผ้า

เรื่องอดๆอยากๆก็มี เราก็ต้องเตรียมมาม่า หม้อหุงข้าว เตรียมข้าวสารไปด้วย เพราะจะไปกินที่โรงแรมทุกวันก็ไม่ได้ กีฬาแข่งเช้าเราต้องออกไปล่วงหน้าก่อน บางทีกลับมาดึกร้านอาหารในต่างประเทศเขาปิด ไม่รู้จะกินที่ไหน ก็มานั่งหุงข้าวกินในห้อง เหยาะซอสแม็กกี้ ไม่แบกปลากระป๋องเพราะมันหนัก (หัวเราะ) อาศัยไข่ต้มจากโรงแรมที่แอบเก็บจากมื้อเช้าทีละ 3-4 ฟอง ข้าวสวยแพ็คใส่ย่าม บางทีเอากล้วยเอาผลไม้ยัดเป้มาด้วย ใครจะว่ายังไงก็ช่าง แต่นี่คือการเอาตัวรอดของเราให้อยู่ได้ตลอดทั้งวัน

"ผมติดทีมชาติไทยตลอดชีวิต" ดักแด้ ไทยแลนด์

ก่อนไปเชียร์แต่ละครั้ง ต้องวางแผนอย่างไรบ้าง

การแต่งตัวต้องยึดความเป็นไทย ทำให้เป็นจุดเด่น ถ้าแค่ใส่เสื้อไปเชียร์ ทาหน้าทาตามันไม่เป็นที่สนใจ ใครๆก็ทำได้ แต่ถ้าเราคิดจะเป็นผู้นำเชียร์ ต้องให้แปลกกว่าเพื่อน ท่ามกลางกลุ่มคนไทยเป็นร้อยเป็นพัน เราต้องแปลก ต้องเด่นกว่าคนอื่น อีกอย่างต้องทำให้สื่อต่างชาติและสื่อไทยเข้ามาถ่ายภาพ มาสนใจเรา ไปไหนมาไหนตามถนน ป้ายรถเมล์ สถานีรถไฟ สถานที่ท่องเที่ยว ทุกคนต้องหันมามอง ต้องมาขอถ่ายรูป นี่คือความภูมิใจว่านอกจากมาเชียร์กีฬาแล้ว เราทำให้คำว่า'ไทยแลนด์'เป็นที่รู้จัก

แล้ววิธีการนำเชียร์ในสนามล่ะ

ต้องดูกระแสก่อน กีฬาแต่ละชนิดเขาจะมีกลุ่มกองเชียร์ของเขา เราเดินเข้าไปปุ๊บ ยกมือไหว้เลย เขาก็ให้การต้อนรับ ทีนี้ก็ต้องดูจังหวะ เพราะเขาไม่ได้เชียร์ตลอด บางทีตีกลองร้องเพลง บางทีพักเหนื่อย ก็อาศัยช่องว่างเข้าไปสลับกัน เหมือนกับเราที่เชียร์ตลอดทั้งวันก็ไม่ได้ต้องสลับ ช่วงนี้เป็นของเขา ช่วงนี้เป็นของเรา จะเล่นเวฟเล่นอะไรก็ต้องดูจังหวะ จะทำยังไงให้จูนกันได้

เชียร์ทีมชาตินี่ดีหน่อยไม่แบ่งว่าทีมใครเป็นทีมใคร ขึ้นชื่อว่าเชียร์ทีมชาติไทย ทุกคนคือไทยแลนด์หมด

ตำแหน่งผู้นำเชียร์ถือว่ายากไหม

ต้องใช้แรง ใช้พลัง ศรัทธา และรอยยิ้ม บางทีตะโกนเสียงแหบเสียงแห้ง กลับบ้านมาต้องซื้อยาไว้พ่นคอตลอด ไม่งั้นไม่ไหว เพราะวันหนึ่งเราต้องใช้เสียงไม่ต่ำกว่า 6-8 ชั่วโมง ร้องเพลงเต็มที่ชั่วโมงเดียว หรือคอนเสิร์ตเต็มที่ก็ไม่เกินสองชั่วโมง แถมสองชั่วโมงนั้นยังได้พัก แต่เชียร์กีฬานี่ตั้งแต่เช้ายันเย็น ไปทุกสนาม อย่างน้อยวันละ 3-4 สนาม อันนี้แข่งเสร็จปั๊บ อีกอันนึงกำลังจะชิงเหรียญทอง ก็ต้องวิ่งไปให้ทัน

ทำอะไรต้องวางแผน ผมวางโปรแกรมไว้ตลอด ดูจากข่าวนสพ.บ้างทีวีบ้าง ดูจากโปรแกรมการแข่งขันที่เขาแจก เวลาไปต่างประเทศก็ซื้อซิมโทรศัพท์ประเทศเขาแล้วโทรถามพี่ๆนักข่าว แล้วจดลงสมุดส่วนตัวว่าผู้ชายแข่งอะไร ผู้หญิงแข่งอะไร อันไหนชนกัน จะวิ่งไปตรงไหนได้บ้าง สนามไหนเชียร์แบบส่งเสียงได้หรือไม่ได้ ไหนจะแบกธง แบกกลอง แบกชุด ทั้งหนักทั้งเหนื่อย

เห็นว่าเคยล้มป่วยจนเกือบตายมาหนนึง

ป่วยด้วยอาการปอดอักเสบ มาจากการหักโหม ใช้เสียงเยอะ พักผ่อนไม่เพียงพอด้วย อีกอย่างเรายังอยู่ในวงการบันเทิง ดึกๆดื่นๆยังต้องร้องเพลง ควันบุหรี่บ้าง ดื่มบ้าง ยิ่งเราไม่ดูแลสุขภาพ กินแล้วนอน ไม่เหมือนแต่ก่อนที่ออกกำลังกาย ทำงานหนักสะสมมาหลายปีบวกกับร่างกายอ่อนล้า พอถึงจุดหนึ่งก็พ่ายแพ้แก่ตัวเอง

จำได้ว่าปีที่แล้วหลังกลับมาจากซีเกมส์ที่พม่า รู้สึกว่าเฮ้ย ทำไมเพลียจัง คิดว่าตัวเองเป็นแค่ไข้หวัดเลยฝืนรับงานเดินถือป้ายนำขบวนกีฬาคนพิการที่สุพรรณบุรี เดินได้แป๊บเดียวก็หอบ ไปหาหมอเลยรู้ว่าปอดอักเสบ มาช้ากว่านี้มีสิทธิ์ตายได้

ประสบการณ์นั้นให้บทเรียนอะไรบ้าง

ได้เรียนรู้ว่าการไม่ดูแลสุขภาพมันส่งผลเสียหายแค่ไหน ชีวิตนี้สุขภาพต้องมาก่อน นี่เป็นเรื่องสำคัญที่อยากจะเตือนทุกๆคนไว้ ไม่ว่าจะทำงานอะไรก็ตาม ต้องดูแลสุขภาพให้ดีเสียก่อน ถ้าไม่มีสุขภาพที่ดี เราก็ไม่มีแรงจะไปทำงาน ไปเชียร์ หรือไปทำอะไรต่างๆ อย่างที่เขาว่าสุขภาพดีไม่มีขาย ถ้าอยากได้ต้องทำเอง

ผมช่วยวงการกีฬามาเยอะ พอรู้ว่าป่วยปุ๊บ พี่ๆนักข่าวที่เคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา ผู้ใหญ่ในกกท. นายกสมาคมต่างๆก็จัดฟุตบอลการกุศลเพื่อหาเงินมาช่วย ลงข่าวให้เพื่อให้ประชาชนคนไทยที่ศรัทธาได้เข้ามาช่วยอีกแรง สุดท้ายได้รับพระเมตตาจากทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ ในนามมูลนิธิมิราเคิล ออฟ ไลฟ์ ให้เป็นคนไข้ในพระบรมราชูปถัมภ์

ตรงนี้ทำให้เห็นเลยว่าวงการกีฬาไม่เคยทอดทิ้ง ถ้าเราตั้งใจทำดีและทำเพื่อชาติ ผมยังแอบคิดว่านักกีฬาทีมชาติบางคนจะได้รับการดูแลอย่างผมหรือเปล่า มันอยู่ที่ตัวเราด้วย เพราะอยู่ในวงการนี้มาผมไม่เคยทำเรื่องเสียหาย มีแต่ทำสิ่งดีๆให้แก่วงการกีฬามาตลอด

เคยคิดท้อแท้ อยากเลิกทำเชียร์ไหม

ไม่ท้อครับ ทุกอย่างในชีวิตเวลาจะทำอะไรผมจะมีจุดมุ่งมั่นว่าต้องทำให้สำเร็จ ผมจะเอาคนสูงกว่าเป็นจุดให้เรามุ่งมั่น เอาคนด้อยกว่าเป็นสิ่งเตือนใจ คนที่สูงกว่าเรา เราต้องมุ่งมั่นว่าสักวันเราต้องทำให้ได้เหมือนเขา แต่ถ้าไม่สำเร็จอย่างน้อยๆก็เตือนใจได้ว่ายังมีคนด้อยกว่าเรา
 
โดนดูถูกเหยียดหยามบ้างรึเปล่า

ก็มีบ้าง บางคนบอกว่าไปเชียร์ไม่ได้อะไร ไปลำบาก แล้วมึงไปทำไม อยากดังเหรอ อยากสร้างกระแสเหรอ ผมก็บอกก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามาทำไม รู้แค่ว่าได้ทำในสิ่งที่อยากทำ ทุกวันนี้พอเขารู้ว่าผมทำจริงจังก็เลิกพูด กาลเวลามันพิสูจน์

ผมไม่ได้เชียร์กีฬาชนิดเดียว บอลมาก็มา คนพิการก็มา ขอให้เป็นทีมชาติเถอะ ระดับไหนผมก็ไปหมด บางทีผมก็ไปนั่งตีกลองอยู่คนเดียว ไม่มีคนดูเลยสักคน ยกเว้นพ่อแม่ผู้ปกครองจนเขาต้องให้พวกตัวสำรอง เจ้าหน้าที่ทีมมา

ช่วยกันเชียร์ สิ่งที่ได้รับหลังจบเกมคือคำขอบคุณของพ่อแม่ผู้ปกครองของนักกีฬา ความสุขอยู่ตรงนี้ นี่แหละที่สำคัญ

อย่างเรื่องชุดมโนราห์ไม่ได้บั่นทอนจิตใจเราเลย ผมกลับมองเป็นแรงผลักดันด้วยซ้ำ สิ่งที่้เราทำมันต้องมีคนชอบ และคนที่ไม่ชอบ ผมยืนยันว่าทำไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่มีเจตนาลบหลู่ให้เสียหาย สิ่งที่เรานำไปแสดงก็เพื่อต้องการเผยแพร่ความเป็นไทย เผยแพร่วัฒนธรรมของแต่ละภาคซึ่งไม่ได้มีแค่ชุดมโนราห์ ผมเตรียมชุดประจำภาคของแต่ละภาคไปด้วยให้คนต่างชาติเขารู้ว่าบ้านเรามีของดีอยู่

"ผมติดทีมชาติไทยตลอดชีวิต" ดักแด้ ไทยแลนด์

เชียร์เต็มร้อย กีฬาชนะ เกมจบ นักกีฬาในสนามเขามองมาที่เราบ้างไหม

ยกตัวอย่างนักกีฬาพิการทางสายตา ตาเขาบอดก็เหมือนกับว่าโลกทั้งใบมืดสนิท เขาไม่เห็นหรอกว่าใครมาเชียร์ แต่พอเราไปตะโกนเชียร์ปุ๊บ เขาร้องหาเลย โอ้ พี่ดักแด้มาแล้ว สวัสดีครับพี่ ขนาดตาเขามองไม่เห็น ขนาดคนตาบอดยังจำเราได้

หรือนักกีฬาขาพิการที่ต้องนั่งวีลแชร์ เวลาไปไหนใช้มือปั่นรถ เราก็ต้องไปช่วยเขา เวลาไปเชียร์กีฬาคนพิการ ผมจะเหนื่อยกว่าปกติ เพราะไม่ได้แค่ไปเชียร์อย่างเดียว แต่เวลาไปสนาม ช่วยได้เราก็ต้องช่วยเขา ยกของ เข็นรถ กีฬาคนพิการไม่ค่อยมีคนเชียร์มากหรอกครับ มีแต่เราไปเย้วๆอยู่คนเดียว จำได้ว่าโอลิมปิคที่เอเธนส์เจ้าภาพเขาให้เราขึ้นไปเต้นบนสนามฟันดาบ (หัวเราะ) หรือที่เกาหลีใต้เชิญเราขึ้นไปมอบเหรียญทองให้นักกีฬา เพราะเห็นว่าเราเป็นตัวมัสคอตสร้างสีสันอยู่เชียร์มาหลายวันตั้งแต่ต้นจนจบ ...ดูสิเขาให้เกียรติเราขนาดไหน

ทุกครั้งเวลามีงานมอบรางวัลให้นักกีฬา คนเชียร์อย่างเราได้กับเขาไหม

น้อยมาก ไม่ค่อยได้ แล้วแต่บางคนจะให้ เพราะนักกีฬาบางคนก็ยังไม่ได้เลย ทุกครั้งที่แข่งจบกลับเมืองไทย นักกีฬาที่ได้เหรียญเขาก็เดินสายรับรางวัล เราก็ไม่ได้ไปยุ่งกับเขา แต่บางทีเจอหน้ากันเขาก็แบ่งให้พันสองพันแล้วแต่น้ำใจ 

ทุกวันนี้รายได้กินอยู่มาจากงานแสดง อีเวนท์ โชว์ตัว พิธีกร ประกอบกับเดินสายเชียร์มาได้ระยะหนึ่งผมก็ได้รับเมตตาจากผู้ใหญ่ทางช่อง 3 ให้เงินเดือนเดือนละ 7,000 เหมือนเป็นเงินช่วยสนับสนุนจนถึงทุกวันนี้ เราพออยู่พอกิน เดี๋ยวมีงานวันเกิดคนนั้นวันเกิดคนนี้ก็มาเรียกไป อาศัยว่ารู้จักกัน ผู้ใหญ่ช่วยไว้เยอะ อาทิตย์นึงอาจมีวันสองวันพอได้อยู่ได้กิน ไม่มีงานก็ไปร้องเพลงก็ได้ทิปมาบ้าง นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่น เช่น ทำเทปทำซีดีเพลงขาย ทำเสื้อผ้าขาย แต่ก็มีเหมือนกันที่ต้องเอาของไปจำนำหมุนก่อน (หัวเราะ)  แต่ผมเป็นคนโชคดีอยู่อย่างคือ พอทำท่าจะไม่มี แค่วันสองวันงานก็เข้ามาแล้ว

เคยคิดไหมว่าถ้าไม่ได้มาทำตรงนี้ ชีวิตจะเป็นยังไง

การได้ทำตรงนี้ดีที่สุดแล้ว ผมได้เลือกทางเดินของตัวเองแล้วในการเสียสละ ถ้ามองว่าจะไปหาผลประโยชน์ จะเอาแต่เงิน ก็อาจจะร่ำรวยมีเงินทอง แต่จะทำได้นานสักแค่ไหนกัน กินได้แค่คนไม่กี่คน แต่เราทำตรงนี้ได้ใจคนตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงผู้ใหญ่ ได้คนทุกวงการ นี่คือสิ่งที่ตีเป็นมูลค่าไม่ได้

เวลาเราเดือดร้อน ผู้ใหญ่มีแต่บอกว่ามาหาผมนะ มาหาพี่นะ เชื่อไหมครับ ทุกคนไม่เคยปฏิเสธ อาจเพราะผมไม่เคยไปขอพร่ำเพรื่อ ถ้าไม่จำเป็นสุดๆ ถ้าไม่ถึงที่สุด ผมไม่ขอใคร เราต้องหายใจด้วยตัวเองก่อน ถ้าหายใจด้วยตัวเองไม่ได้ค่อยใช้เครื่องช่วยหายใจ

อะไรที่ยังทำให้ยืนหยัดทำหน้าที่เชียร์กีฬาไทยอยู่จนถึงทุกวันนี้

กำลังใจครับ กำลังใจจากนักกีฬา กำลังจากใจคนไทย แล้วก็รอยยิ้ม เสียงปรบมือ เวลาไปไหนคนมาทักพี่ดักแด้ ไทยแลนด์ แล้วยกนิ้่วให้ แม้กระทั่งตามสี่แยก วินมอเตอร์ไซค์มาขอถ่ายรูป คนขี้เมายังมา นี่คือความภาคภูมิใจ นี่แหละคือพลังที่ทำให้ผมต้องอยู่วงการกีฬาต่อไป

สิ่งที่ทำให้เราภาคภูมิใจอีกอย่างคือคำลงท้าย 'ดักแด้ ไทยแลนด์' พูดง่ายๆเป็นนามสกุลที่มีศักดิ์ศรี เหมือนนักกีฬาทีมชาติที่ปักคำว่า'ไทยแลนด์'ลงบนแผ่นหลัง ความเป็นทีมชาติมันเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่มาก

ตอนนี้รู้สึกเหมือนได้ติดทีมชาติอย่างที่เคยฝันไว้หรือยัง

สมัยก่อนแค่ต้องการติดธงชาติบนหน้าอก พอมาทำตรงนี้มันไม่ใช่แค่ติดหน้าอก แต่มันติดทั้งตัว ทั้งหน้า ทั้งหมวก ทั้งเสื้อผ้า ผมยังแซวน้องๆนักกีฬาว่าทีมชาติไทยน่ะ คุณเล่นได้ไม่นานหรอก ถ้าคุณไม่ขยันซ้อม ฝีมือคุณตก เดี๋ยวก็มีตัวใหม่ขึ้นมา แต่การเชียร์ทีมชาตินี่มันเชียร์ได้ไม่จำกัดอายุ ส่งเสียงเชียร์ได้ทุกที่ทุกเวลา ผมก็เลยถือว่าผมติดทีมชาติไทยตลอดชีวิต (หัวเราะ)

"ผมติดทีมชาติไทยตลอดชีวิต" ดักแด้ ไทยแลนด์

 

"ผมติดทีมชาติไทยตลอดชีวิต" ดักแด้ ไทยแลนด์

 

"ผมติดทีมชาติไทยตลอดชีวิต" ดักแด้ ไทยแลนด์

 

"ผมติดทีมชาติไทยตลอดชีวิต" ดักแด้ ไทยแลนด์