posttoday

เปิดใจ "กมธ.สายล่อฟ้า" คล้องนกหวีดลุยปฏิรูป

05 พฤศจิกายน 2557

ประชาชนกลุ่มนี้ถือว่าเป็นกลุ่มใหญ่ ดังนั้นความคิดเห็นที่ออกมากรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องนำมาใช้ประกอบการพิจารณา

โดย...เจษฏา จี้สละ

ไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ด้านการเมือง ได้กลับมาเป็นที่น่าสนใจในทางการเมืองอีกครั้ง เมื่อถูกรับเลือกจากที่ประชุม สปช.ให้ดำรงตำแหน่งกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเข้าไปร่วมเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้กับประเทศ

โดยปัจจัยที่ทำให้ กมธ.ยกร่างฯ รายนี้ถูกเพ่งเล็งคือ การประกาศว่าจะร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามหลักการของมวลมหาประชาชน ซึ่งในที่นี้ย่อมหมายถึงคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)ที่อดีต สว.สรรหารายนี้เคยร่วมเคลื่อนไหวกับม็อบนกหวีดมาก่อนจึงไม่แปลกที่ไพบูลย์จะถูกจับจ้องเป็นพิเศษว่ากำลังจะกำหนดกติกาเพื่อทำลายฝ่ายตรงข้ามหรือไม่

ไพบูลย์ กล่าวกับโพสต์ทูเดย์ถึงเรื่องนี้ว่า "ประชาชนกลุ่มนี้ถือว่าเป็นประชาชนกลุ่มใหญ่ ดังนั้นความคิดเห็นที่ออกมาจากมวลมหาประชาชนนั้น กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องนำมาใช้ประกอบการพิจารณาอยู่แล้วแต่โดยฐานะที่ส่วนตัวได้ไปใกล้ชิดก็จะนำมาประมวลให้เป็นประเด็นสำหรับเตรียมการยกร่างรัฐธรรมนูญ"

"ไม่คิดว่าจะเป็นการสร้างแรงกดดันในการทำงานหรือสร้างปัญหา เพราะสิ่งที่ทำคือการทำตามหน้าที่อีกทั้งยังเป็นเรื่องความต้องการของประชาชนจำนวนมาก ดังนั้น กรรมาธิการรับฟังอยู่แล้ว แต่กรรมาธิการจะต้องไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอีกด้านหนึ่งด้วยเพื่อให้เกิดความสมดุลกัน"

ไพบูลย์ ย้ำว่า อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง ไม่ว่าประชาชนในฝ่ายไหนก็มีความต้องการที่ตรงกันทั้งสิ้น การทำหน้าที่ตรงนี้ไม่คิดว่าจะเป็นสายล่อฟ้า เพราะเน้นการทำงานแบบเปิดเผย โปร่งใสตรวจสอบได้ ถ้าเห็นด้วยก็ช่วยกัน แต่ถ้าเห็นค้านก็ช่วยกันนำเสนอว่าจะทำอย่างไร เพราะถือว่าเป็นกระบวนการที่ต้องแลกเปลี่ยนทางความคิดกัน

"ที่รับปากมวลมหาประชาชน คือ เรื่องนี้จะต้องลดอำนาจพรรค เพิ่มอำนาจประชาชน สัญญาใจที่รับปากว่าจะต้องทำ"

ต่อมา กมธ.ยกร่างฯ รายนี้ บอกถึงแนวคิดการปฏิรูปประเทศที่จะพยายามนำมาใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไว้ให้ได้ว่า จุดใหญ่ของการปฏิรูป คือ การลดอำนาจพรรคการเมือง เพิ่มอำนาจให้ภาคประชาชนโดยการปฏิรูปให้ สส.เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่ลูกจ้างพรรคการเมือง วิธีการ คือ

"1.สส.ต้องมีอำนาจการตรวจสอบฝ่ายบริหาร โดยสส.และ สว.ร่วมลงนามแล้วสามารถยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมโดยตรง ซึ่งแตกต่างจากกระบวนการในอดีตที่ สส.และ สว. มีสิทธิเพียงอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือส่งฟ้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระเท่านั้น

2.ผู้สมัคร สส.ไม่พึ่งงบประมาณในการหาเสียงจากพรรค กระบวนการนี้จะสร้างความเท่าเทียมในการหาเสียงของผู้สมัคร ส่งผลให้ผู้สมัครไม่ต้องแสวงหางบประมาณจากภาคธุรกิจในการหาเสียง

3.ยกเลิกกองทุนพรรคการเมือง โดยรัฐสภาจะต้องเป็นผู้จ่ายเงินอุดหนุนให้กับนักการเมืองแทนพรรค เพื่อให้พรรคได้รับงบประมาณเพียงทางเดียว คือ รายรับจากรัฐสภาซึ่งจำนวนเงินที่จะได้รับจะขึ้นอยู่กับจำนวน สส.ที่ได้รับเลือก"

"ไม่มีหรอกรัฐธรรมนูญที่จะป้องกันทุนทุจริตได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ การยุบพรรคไปสร้างความชอบธรรมให้พรรคแทน กลายเป็นข้ออ้างที่นักการเมืองเอามาอ้างแต่กำจัดธุรกิจการเมืองไม่ได้ พวกกรรมาธิการพรรคสมาชิกพรรคที่ถูกยุบ นำมาพูดอยู่เสมอว่าไม่เป็นธรรม แต่พรรคไม่เคยพูดในเรื่องประโยชน์ที่ตนได้โดยเฉพาะอำนาจที่ล้นเหลือ ไม่ต่างจากบริษัทดีที่มีเจ้าของคนเดียว บ้างก็มีเจ้าของหลายคน เป็นทุนนิยมสมบูรณ์"

อดีต สว.สรรหาระบุอีกว่า นอกจากนี้การปฏิรูประบบการเมืองครั้งนี้ ไม่ควรปฏิรูปเฉพาะโครงสร้างระบบการเมืองเท่านั้น แต่ต้องแก้ไขที่รากเหง้าของปัญหาในอีกมิติหนึ่ง คือ การซื้อสิทธิขายเสียงเพราะบุคคลที่ขายเสียง โดยการรับเงินจากหัวคะแนนแล้วเลือกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถือเป็นการใช้อำนาจรัฐในทางฉ้อฉล ซึ่งเป็นการกระทำผิดต่อรัฐ ดังนั้นควรดำเนินคดีอาญากับผู้ที่ปฏิบัติมิชอบดังกล่าวโดยเด็ดขาด ด้วยกระบวนการทางอาญาไม่ต่างจากผู้เสพยาเสพติด เพราะสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อรัฐ"

อย่างไรก็ตาม ไพบูลย์เองก็ยอมรับแนวคิดที่ออกมาอาจจะมีคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ได้ย้ำว่าข้อเสนอที่คิดมานั้นล้วนมีเจตนาต้องการแก้ไขปัญหาให้กับประเทศอย่างแท้จริง

"ใครจะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย เป็นอีกเรื่องเนื่องจากเห็นว่าวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา มีระบอบการเมืองเป็นต้นเหตุ ลุกลามไปยังระบบบริหารราชการแผ่นดิน จนนำไปสู่การรัฐประหาร ต้นตอสำคัญล้วนเป็นผลมาจากระบบการเมืองที่ล้มเหลว หากไม่เริ่มปฏิรูปที่จุดนี้ การปฏิรูปด้านอื่นๆ ก็เป็นหมัน"

"รัฐธรรมนูญที่ให้ประโยชน์กับประเทศ แต่ไม่ให้ประโยชน์กับพรรคการเมืองรัฐธรรมนูญนั้นอยู่ได้แต่รัฐธรรมนูญที่ไม่ให้อำนาจประชาชนรัฐธรรมนูญนั้นอยู่ไม่ได้" ไพบูลย์ทิ้งท้าย