posttoday

แบงก์ปิดสาขา หันพัฒนาออนไลน์

10 มีนาคม 2560

การเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกรรมการเงินออนไลน์ที่ได้รับแรงส่งจากโทรศัพท์มือถืออย่างสมาร์ทโฟน

โดย...พรสวรรค์ นันทะ

การเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกรรมการเงินออนไลน์ที่ได้รับแรงส่งจากโทรศัพท์มือถืออย่างสมาร์ทโฟน ได้ทำให้การดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์เปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะความต้องการใช้สาขาของลูกค้าลดลง หันไปใช้บริการธนาคารทางอิเล็กทรอนิกส์มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องฝากเงิน เครื่องเอทีเอ็ม เครื่องปรับสมุดบัญชีอัตโนมัติ เครื่องรับฝากเช็ค ฯลฯ

การเปลี่ยนแปลงนี้ยังไม่มีวี่แววว่าจะหยุดเมื่อไหร่ ทั้งนี้ อนุชิต อนุชิตานุกูล ประธานสายพัฒนาระบบงานช่องทางขายและผลิตภัณฑ์ ธนาคารเกียรตินาคิน เปิดเผยว่า แนวโน้มการลดลงของจำนวนสาขาธนาคารพาณิชย์ในระยะต่อไปน่าเร่งตัวขึ้นอีกเพราะพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนเร็วมาก

“การลดลงน่าจะมีอัตราที่เร่งขึ้นอีก ลูกค้าต้องการความสะดวกรวดเร็ว จึงหันไปเลือกใช้บริการอินเทอร์เน็ต โมบายแบงก์ หรือช่องทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สะดวกรวดเร็วกว่ามากขึ้น  เห็นได้จากช่องทางการใช้บริการอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งและโมบายแบงก์กิ้งเมื่อ  5 ปีที่แล้ว ที่มีอยู่ประมาณ 6 ล้านบัญชี ปัจจุบันเพิ่มเป็นประมาณ 30 กว่าล้านบัญชี เพิ่มหลายเท่า” อนุชิต กล่าว

เมื่อธุรกรรมผ่านสาขามีน้อยก็อาจไม่คุ้มทุน ธนาคารจึงต้องปรับการให้บริการให้ตรงตามความต้องการของลูกค้ามากขึ้น การปิดสาขาจึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก

ณ เดือน ม.ค. 2560 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานจำนวนสาขาธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศและสาขาธนาคารต่างประเทศ ที่เปิดให้บริการอยู่ทั่วประเทศ พบว่าจำนวนสาขาธนาคารทั้งระบบลดลง 59 แห่ง หรือ 0.84% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จาก 7,063 แห่ง เหลือ 7,004 แห่ง

ทั้งนี้ หากแบ่งรายละเอียดตามรายภาคจะพบว่าทุกภาคมีจำนวนสาขาลดลงทั้งนั้น แบ่งเป็น สาขาในเขตกรุงเทพฯ ลดลง 34 แห่ง จาก 2,174 แห่ง เหลือ 2,140 แห่ง  ภาคกลางลดลง 13 แห่ง จาก 2,229 แห่ง เหลือ 2,216 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดลง 2 แห่ง จาก 962 แห่ง เหลือ 960 แห่ง ภาคเหนือลดลง 5 แห่ง จาก 838 แห่ง เหลือ 833 แห่ง และภาคใต้ลดลง 5 แห่ง จาก 860 แห่ง เหลือ 855 แห่ง

จำนวนสาขาธนาคารที่ลดลงนั้น ส่วนใหญ่ธนาคารจะการปิดสาขาที่ซ้ำซ้อน หรืออยู่ในทำเลใกล้เคียงกันก่อน เพราะเปิดไปก็ไม่คุ้มต้นทุนการดำเนินงาน  และการปิดสาขาเช่นนี้ไม่กระทบต่อการให้บริการลูกค้า เนื่องจากลูกค้าไปใช้บริการสาขาใกล้เคียงได้ และเลือกนำเทคโนโลยีอัตโนมัติต่างๆ รวมถึงเทคโนโลยีการเงิน (ฟินเทค) และการบริการช่องทางอื่นๆ มาทดแทน

“การหันไปใช้บริการช่องทางอื่นของลูกค้า จนทำให้ธุรกรรมผ่านสาขาลดลงไม่ได้กระทบต่อธุรกรรมหรือรายได้ของธนาคารในภาพรวมลดลง การปิดสาขาเป็นผลดีด้วยซ้ำ เพราะช่วยลดต้นทุน ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้เกิดการคิดบริการใหม่ๆ มากขึ้นลดความไม่มีประสิทธิภาพในการให้บริการลงได้ และยังช่วยให้เกิดโอกาสเสนอบริการใหม่ๆ ในบางจุดของผู้ให้บริการบางรายด้วย ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของธุรกิจ” อนุชิต กล่าว

สมรภูมิการแข่งขันของธนาคารปัจจุบัน คือ สาขาในห้างสรรพสินค้า ที่มีลูกค้ามาใช้บริการมากกว่าธนาคารที่เป็นสาขาเดี่ยวๆ ทุกธนาคารจะต้องมีสาขาในห้างสรรพสินค้าชั้นนำไม่ว่าจะเป็นในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด เพราะไลฟ์สไตล์คนไทยนิยมไปเดินห้าง แล้วทำธุรกรรมได้ครบ ทั้งช็อปปิ้ง รับประทานอาหาร ทำธุรกรรมการเงิน

อย่างไรก็ดี แม้จะมีบางธนาคารปิดสาขาไปบ้าง แต่บางธนาคารก็ยังเปิดสาขาเพิ่ม อาทิ กรุงศรีอยุธยาเพิ่มขึ้น 23 แห่ง เป็น 659 แห่ง  กรุงเทพเพิ่มขึ้น 17 แห่ง เป็น 1,157 แห่งไทยเครดิต เพิ่ม 14 แห่ง เป็น 88
แห่ง แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เพิ่มขึ้น 7 แห่ง เป็น 133 แห่ง ธนาคารแห่งประเทศจีนเพิ่มขึ้น 3 แห่ง เป็น 9 แห่ง โดยเพิ่มจากการขยายไปเปิดสาขาในภาคตะวันออกเฉียงเหลือ ภาคเหนือ และภาคใต้อย่างละแห่ง และ ธนาคารไอซีบีซี ไทย เพิ่ม 1 แห่ง เป็น 21 แห่ง เป็นต้น

นอกจากนี้ สาขาธนาคารหลายแห่งยังคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง เช่น กรุงไทยอยู่ที่ 1,213 แห่ง ทิสโก้อยู่ที่ 57 แห่ง เมกะสากลพาณิชย์ 5 แห่ง เอเอ็นแซด ไทย  1 แห่ง ซูมิโตโม มิตซุย ทรัสต์ (ไทย) 1 แห่ง เป็นต้น