posttoday

เพิ่มทักษะมนุษย์ทองคำรับปีไก่

25 ธันวาคม 2559

ปี 2560 นักษัตริย์ปีระกา หรือปีไก่ที่จะมาถึงนี้ หลายคนถือโอกาสเป็นช่วงเริ่มสิ่งใหม่สิ่งดีมีสิริมงคลให้กับชีวิต ขณะที่ผู้ประกอบการ ลูกจ้าง ต่างก็เล็งหาหนทางใหม่ๆ ภายใต้แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า

โดย...ทีมข่าวเศรษฐกิจโพสต์ทูเดย์

ปี 2560 นักษัตริย์ปีระกา หรือปีไก่ที่จะมาถึงนี้ หลายคนถือโอกาสเป็นช่วงเริ่มสิ่งใหม่สิ่งดีมีสิริมงคลให้กับชีวิต ขณะที่ผู้ประกอบการ ลูกจ้าง ต่างก็เล็งหาหนทางใหม่ๆ ภายใต้แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า โดยในส่วนของลูกจ้างอาชีพ เมกะเทรนด์ที่ควรเพิ่มทักษะอัพเกรดตัวเอง นพวรรณ จุลกนิษฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) ให้ความเห็นว่าปี 2560 จ๊อบส์ ดีบี มองอาชีพดาวรุ่งไว้ 7 อาชีพ

ทั้งนี้ อาชีพแรก คือ อาชีพที่เกี่ยวกับดิจิทัล เพราะเป็นสาขาที่ขาดแคลนแรงงาน มีสถาบันการศึกษาเพียงไม่กี่แห่งที่มีหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งนโยบายรัฐบาลประเทศไทย 4.0 ก้าวข้ามจากประเทศกำลังพัฒนาไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วด้วยนวัตกรรม ก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่ขับเคลื่อน โดยบุคลากรด้านดิจิทัลจะมีเงินเดือนสูงกว่าอาชีพดั้งเดิมถึง 61% ตัวอย่างอาชีพด้านดิจิทัลที่มีความต้องการสูง เช่น นักพัฒนาแอพพลิเคชั่น ผู้ดูแลเครือข่ายไอที

อาชีพถัดมาที่มีแววรุ่งเรืองไม่แพ้กัน คือ อาชีพที่เกี่ยวกับการวางแผนด้านการเงินและการลงทุนสำหรับวัยเกษียณ เพราะในปี 2563 ประเทศไทยจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ คาดว่าจะมีจำนวนผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 12 ล้านคน ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ยังมีปัญหาการจัดการเงินออมน้อย ไม่รู้จักการลงทุน แต่ก็เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารจัดการเงินและทรัพย์เพื่อให้ใช้ชีวิตอย่างไม่ลำบากในวัยเกษียณ อีกทั้งอยากจะเกษียณอายุงานเร็วขึ้น แล้วหันไปเป็นเจ้าของกิจการ เลี้ยงชีพด้วยการเล่นหุ้น ให้เงินทำงานแทน ดังนั้นก็ต้องการใช้บริการกลุ่มคนที่จะช่วยวางแผนบริหารจัดการเงินที่ดี

ต่อมาคือนักโภชนาการและเทรนเนอร์ออกกำลังกาย เพราะ 2-3 ปีที่ผ่านมากระแสรักสุขภาพมาแรง วิถีชีวิตคนยุคนี้เปลี่ยนไป ดูแลสุขภาพมากขึ้น เลือกรับประทานอาหารและออกกำลังกายเพื่อดูแลรูปร่างและสุขภาพ อีกทั้งสังคมเริ่มตระหนักถึงโรคภัยใหม่ๆ ที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ทำให้ต้องการหาผู้ช่วยดูแลทั้งโภชนาการและการออกกำลังกายที่ถูกต้องและได้ผลดี ไม่เพียงเท่านี้ยังเป็นผลจากกระแสที่คนยุคปัจจุบันต้องการการยอมรับสูง มีภาพลักษณ์ทางสังคมและภาพลักษณ์ของตัวบุคคลที่ดี พยายามสร้างแบรนด์ให้กับตัวเอง โดยมีผู้นำกระแสเป็นคนดังและนักแสดงที่เน้นรักษาความงาม ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพและความงามเป็นตัวอย่าง

สำหรับอาชีพที่ 4 คือ อาชีพที่เกี่ยวกับการพยาบาลและดูแลผู้สูงอายุ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ เมื่อคนทำงานนอกบ้านมากขึ้น อาจไม่มีเวลาดูแลผู้สูงอายุในบ้าน หรือผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวต้องการการดูแลเอาใจใส่มากเป็นพิเศษ ต้องอาศัยพยาบาลที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางมาดูแล

ขณะที่อาชีพที่ 5 คือ อาชีพผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางยังถือเป็นกลุ่มที่ตลาดแรงงานต้องการสูงต่อเนื่อง เช่น วิศวกร พนักงานบัญชี นักกฎหมาย แพทย์ เพราะเป็นอาชีพที่จำเป็นต้องจบตรงสายงาน จบสายอื่นไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งแรงงานบางส่วนออกจากตลาดไปทำธุรกิจของตัวเอง หรือคนที่มีประสบการณ์ทำงานเชี่ยวชาญสูงในตลาดก็ถูกซื้อตัวด้วยค่าตัวสูงมาก

อาชีพที่ 6 คือ อาชีพด้านสอนภาษาอังกฤษ รองรับความต้องการใช้ภาษาอังกฤษในการทำงานที่สูงขึ้น โดยผู้สมัครงานที่ได้ภาษาอังกฤษมีอัตราเงินเดือนสูงกว่าผู้ที่ไม่ได้ภาษาอังกฤษถึง 30% และสุดท้ายอาชีพที่ 7 เกี่ยวข้องกับการพัฒนาแรงงานฝีมือเพื่อหารายได้เสริม เพราะคนทำงานยุคนี้ต่างมีอาชีพสำรอง เช่น ขายของออนไลน์ ขายอาหารเพื่อสุขภาพ เก็บรายได้จากอพาร์ตเมนต์ให้เช่า ทำโฮมสเตย์เน้นวิถีชีวิตเชิงอนุรักษ์ ดังนั้นอาชีพที่สอนเพื่อพัฒนาทักษะด้านวิชาชีพจึงได้รับความนิยมมาก เช่น จัดคอร์สอบรม สัมมนา จัดเวิร์กช็อปต่างๆ

นพวรรณ กล่าวว่า อาชีพดาวรุ่งในปี 2560 ยังมีความคล้ายคลึงกับปี 2559 เพราะกระแสต่างๆ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก โดยเฉพาะกระแสที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต สมาร์ทโฟน ที่เติบโตต่อเนื่องทุกปี ซึ่งก็คาดว่าจะทำให้อาชีพที่เกี่ยวข้องกับกระแสนี้ คือ ด้านไอทีและดิจิทัล จะยังเป็นกลุ่มอาชีพดาวจรัสแสงในตลาดงานไปอีกอย่างน้อย 2-3 ปี

“อาชีพใหม่ๆ ที่ปี 2560 จะยิ่งเห็นความต้องการในตลาดแรงงานมากขึ้น น่าจะเป็นนักการตลาดดิจิทัล กราฟฟิกดีไซเนอร์ ฝ่าย SEO คือ ผู้ที่ปรับแต่งเว็บไซต์ให้ติดอันดับการค้นหาในตำแหน่งที่ดีที่สุด SEM คือ ผู้ที่ทำการตลาดผ่านเว็บไซต์ค้นหาต่างๆ คนเขียนแอพพลิเคชั่นบนมือถือ เป็นต้น เพราะกระแสการบริโภคสื่อออนไลน์ยังเติบโตได้ดี เห็นได้จากผลสำรวจมูลค่างบโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัล โดยสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) พบว่า ปี 2559 มีมูลค่ารวมกว่า 9,883 ล้านบาท เติบโตกว่า 22% จากปีก่อนหน้า” นพวรรณ กล่าว

ด้านคนในวงการธุรกิจ สมบุญ ประสิทธิ์จูตระกูล อดีตนายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย มองว่า อาชีพดาวรุ่งในปี 2560 คงหนีไม่พ้นกลุ่มธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ เพราะโลกการค้าไร้พรมแดนและช่องทางการขาย การสื่อสาร เปลี่ยนแปลงไปตามพฤติกรรมของผู้บริโภค ส่งผลให้ทุกองค์กรหรือทุกกลุ่มธุรกิจต้องการบุคลากรที่มีความรู้และเชี่ยวชาญการสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลคอนเทนต์ โดยยังเป็นอาชีพที่ยังขาดแคลนในตลาด

ส่วนอาชีพหนึ่งที่น่าจับตามอง คือ นักการตลาด ในยุคเศรษฐกิจไทยไม่ฟื้นตัวและเศรษฐกิจโลกมีความผกผัน เมื่อดีมานด์ในตลาดมีน้อย ขณะที่การแข่งขันมีคู่แข่งมากนัก โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กเกิดขึ้นในโซเชียล มีเดีย งบการตลาดไม่สูง ขายสินค้าได้ราคาถูกเข้ามาแย่งส่วนแบ่ง นักการตลาดจึงเป็นอาชีพดาวรุ่ง บริษัทต่างๆ ต้องการตัวมาพัฒนาสินค้าใหม่ๆ จัดกิจกรรมการตลาดตอบสนองความต้องการผู้บริโภค

ตามด้วยอาชีพซัพพลายเชนเกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจไม่ดีด้วยเช่นเดียวกัน องค์กรต่างๆ ต้องพยายามลดต้นทุน จึงต้องการผู้บริหารงานทางด้านซัพพลายเชนที่เก่ง และอาชีพกลับมาเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง คือ กลุ่มวิศวกร หลังจากภาครัฐลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในปี 2560 ด้วยงบจำนวนมาก ทำให้วิศวกรเป็นอาชีพกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง โดยเฉพาะด้านการก่อสร้าง และอาชีพที่เป็นดาวรุ่งหลายคนไม่คาดคิด คือ แผนกทรัพยากรบุคคล ถือว่าเป็นหน่วยงานสำคัญที่สุดขององค์กร เพราะเป็นประตูในการคัดเลือกรับพนักงานเข้าทำงาน องค์กรจะมีคนเก่ง หรือไม่เก่งขึ้นอยู่กับฝ่ายบุคคล

ก่อนหน้านี้ สุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท แมนพาวเวอร์กรุ๊ป (ประเทศไทย) ระบุว่า แนวโน้มโครงสร้างแรงงานปี 2560 จะเปลี่ยนไปให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยแรงงานจะเน้นพัฒนาทักษะสูงขึ้นให้สอดคล้องกับมาตรฐานวิชาชีพทั้งด้านช่างและงานบริการ ด้านเหล่านี้มีการปรับอัตราเงินเดือนมากกว่าตลาดเพื่อจูงใจให้คนเข้าทำงาน ส่วนกลุ่มแรงงานที่ยังไม่ได้ใช้ความสามารถเต็มที่จะถูกผลักดันเข้าสู่ตลาดงานมากขึ้น เช่น ผู้สูงอายุ ผู้หญิง คนพิการ คนตกงาน

นอกจากนี้ แมนพาวเวอร์ได้ทำงานวิจัยเรื่องยุคแห่งมนุษยชน 2.0 แรงงานแห่งอนาคต ประเมินว่าการขับเคลื่อนโลกการทำงานยุคนี้ไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยเงินทุน แต่ขับเคลื่อนด้วยทุนมนุษย์ คือ ความรู้ ความสามารถ และทักษะ ต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่ให้สอดคล้องกับตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เช่น การโยกย้ายแรงงานไร้พรมแดนมากขึ้น เน้นหาคนที่เติมทักษะได้มากกว่าคนที่เหมาะสม

เมื่อรู้แล้วว่าอาชีพไหนอยู่ในกลุ่มดาวรุ่งพุ่งแรง ก็ควรเร่งเพิ่มทักษะที่เกี่ยวข้องกับอาชีพเหล่านั้นเพื่อจะได้เป็นแรงงานที่อยู่ในกลุ่มที่ตลาดต้องการ