posttoday

ศึกเลือกตั้งสหรัฐ สะท้านเศรษฐกิจไทย

06 พฤศจิกายน 2559

ความแตกต่างสำคัญระหว่างนโยบายของ "ทรัมป์" และ "ฮิลลารี" คือ ความผันผวนและความมีเสถียรภาพต่อระบบเศรษฐกิจ

โดย...กองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 8 พ.ย. 2559 กำลังถูกทั่วโลกจับตาอย่างใกล้ชิด สาเหตุใหญ่คือนโยบายเศรษฐกิจของผู้สมัครรับเลือกเป็นประธานาธิบดีที่ต่างกันอย่างสุดขั้ว ซึ่งจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ เศรษฐกิจโลก รวมถึงเศรษฐกิจไทยและยังมีประเด็นที่ต้องจับตาคือ ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก หรือทีพีพี ที่ไทยยังไม่ได้เข้าร่วม ทำให้การคงอยู่หรือยกเลิกทีพีพีจะมีผลต่อการค้าของไทยในระยะต่อไป

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ การค้า กระทรวงพาณิชย์ ที่ศึกษาผลกระทบต่อไทยจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ โดยเห็นว่าความแตกต่างสำคัญระหว่างนโยบายของ โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกันและ ฮิลลารี คลินตัน จากพรรคเดโมแครตคือ ความผันผวนและความมีเสถียรภาพต่อระบบเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ นโยบายของทรัมป์ที่แตกต่างจากรัฐบาลปัจจุบัน จะทำให้เกิดความผันผวนและความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อาจทำให้ไทยต้องเผชิญความท้าทายมากขึ้นในการขับเคลื่อนการส่งออกให้ขยายตัวได้ตามเป้า รวมทั้งอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด เลื่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไปจากเดิม ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น ทำให้ราคาน้ำมัน ทองคำ และสินค้าเกษตร ผันผวนตาม รวมทั้งมีความเป็นไปได้ที่ประเทศต่างๆ จะดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้ามากขึ้น เพื่อตอบโต้นโยบายของทรัมป์

ขณะที่นโยบายของฮิลลารีจะมีผลดีต่อไทยในด้านความต่อเนื่องของนโยบายเศรษฐกิจการค้า และการลงทุน

สำหรับทีพีพีนั้น สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ฯ เห็นว่า หากฮิลลารีชนะการเลือกตั้ง และพิจารณาเข้าร่วมทีพีพีในอนาคต จะทำให้ไทยเสียเปรียบด้านการค้ากับประเทศที่เข้าร่วมทีพีพีไปก่อนหน้านี้ แต่หากทรัมป์ที่คัดค้านทีพีพีมาแต่ต้น และชนะการเลือกตั้งจะส่งผลดีต่อไทยที่ยังไม่ได้เข้าร่วมทีพีพี

ในด้านการส่งออกของไทยนั้น การที่ทรัมป์มีนโยบายที่จะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอาจส่งผลกระทบต่อไทยทางอ้อมคือ สินค้าในห่วงโซ่อุปทานที่ไทยส่งไปจีน เพื่อส่งต่อไปสหรัฐอาจได้รับผลกระทบ และในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว โดยปัจจุบันสหรัฐเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 3 ของไทย รองจากจีนและญี่ปุ่น

โดยปี 2558 ไทย-สหรัฐมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 3.79 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 9% ของมูลค่าการค้าไทยกับโลก ขณะที่ไทยส่งออกสินค้าไปสหรัฐมูลค่า 2.40 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 11% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย และนำเข้าจากสหรัฐ 1.38 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 7% ของการนำเข้าทั้งหมดของไทย โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 1.01 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปสหรัฐคือ เครื่องคอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ อัญมณีและเครื่องประดับ และเครื่องนุ่งห่ม

วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ยอมรับว่า กระทรวงพาณิชย์กำลังจับตาดูการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ โดยเฉพาะนโยบายด้านเศรษฐกิจการค้าของผู้สมัครทั้งสอง ทั้งนี้นโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์ที่แตกต่างจากรัฐบาลปัจจุบัน อาจสร้างเงื่อนไขที่ทำให้เกิดความผันผวนและความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกได้ เช่น นโยบายลดภาษีทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อให้กลุ่มธุรกิจไม่ย้ายฐานการผลิตออกจากสหรัฐ และให้คนในประเทศมีงานทำ

ขณะที่นโยบายหลายอย่างของ ฮิลลารีจะใกล้เคียงกับรัฐบาลชุดก่อน เป็น การสานต่อนโยบายเดิมของประธานาธิบดี โอบามา ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก

ส่วนข้อตกลงทีพีพี แม้ฮิลลารีจะคัดค้าน แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะพิจารณาเข้าร่วมทีพีพีในอนาคต ขณะที่ทรัมป์มีความชัดเจนตั้งแต่ต้นว่า คัดค้านทีพีพี เพราะเห็นว่าจะทำให้แรงงานต่างชาติมาแย่งงานคนอเมริกัน

ศึกเลือกตั้งสหรัฐ สะท้านเศรษฐกิจไทย

ขณะที่ นพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เห็นว่า ทั้งฮิลลารีและทรัมป์ต่างมีแนวนโยบายเดียวกันคือ กีดกันทางการค้ามากขึ้น ซึ่งในระยะสั้นจะกระทบต่อตลาดการค้าระดับหนึ่ง ขณะที่ส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้มูลค่าส่งออกปี 2560 ลดลง 0.15% แบ่งเป็นผลกระทบทางตรง 1.2% และทางอ้อม 0.03%

“ส่วนตัวมองว่า หากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งผลกระทบน่าจะน้อยกว่า เพราะมีแนวคิดใช้การค้านำ ไม่ใช่การเมืองนำอาจจะเกิดการเจรจาการค้าตกลงผลประโยชน์ร่วมกันเป็นรายประเทศได้ ซึ่งน่าจะดีต่อไทยที่จะเจรจาเปิดตลาดกับสหรัฐ โดยที่ไม่ต้องมีการเจรจาทีพีพี แต่ถ้าฮิลลารีชนะคาดว่าจะมีการทบทวนเงื่อนไขการเจรจาข้อตกลงต่างๆ ใหม่” นพพร กล่าว

สำหรับผลกระทบต่อตลาดเงินและตลาดหุ้นนั้น หลายสำนักล้วนมองไปในทิศทางใกล้เคียงกันคือ หากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งความผันผวนของตลาดเงินและตลาดหุ้นจะมีมากกว่า รวมทั้งกระทบต่อต้นทุนการระดมเงินให้สูงขึ้นในระยะต่อไปด้วย

กอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า หากฮิลลารีได้รับการเลือกตั้งก็มีโอกาสที่เฟดจะขยับดอกเบี้ยได้ตามแผน เพราะเศรษฐกิจสหรัฐไตรมาส 3 ที่ผ่านมา เติบโต 2.9% มีความพร้อมที่จะขยับดอกเบี้ยอยู่พอสมควร

แต่หากผลการเลือกตั้งพลิกเป็นทรัมป์ การค้าทั่วโลกอาจจะหดตัวจากนโยบายขึ้นกำแพงภาษีของทรัมป์ ทำให้ผู้ค้ามีรายได้จากการส่งออกลดลง ส่งผลให้ปริมาณหรือสภาพคล่องเงินเหรียญสหรัฐในตลาดน้อยลง จนเงินเหรียญสหรัฐอาจแข็งค่าขึ้น กดเงินบาทให้มีทิศทางอ่อนค่าลงได้

นอกจากนี้ นโยบายลดภาษีเงินได้นิติบุคคลของทรัมป์จะทำให้รัฐบาลสหรัฐขาดดุลการคลังสูงขึ้น ต้องก่อหนี้มากขึ้น ส่งผลต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 10 ปีของสหรัฐสูงขึ้นตาม ซึ่งอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรเป็นตัวอ้างอิงถึง 84% ดังนั้น แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรไทยที่อิงพันธบัตรสหรัฐ หรืออัตราดอกเบี้ยระยะยาวของไทยจะปรับขึ้นตามสหรัฐ ทำให้ภาคธุรกิจโดยเฉพาะรายใหญ่ที่ระดมเงินทุนผ่านตลาดพันธบัตรของไทยจะมีต้นทุนจากภาระดอกเบี้ยจ่ายที่สูงขึ้น

ด้าน อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า แม้ตลาดจะเห็นว่า หากทรัมป์ได้รับเลือกจะส่งผลกระทบที่รุนแรง แต่ส่วนตัวประเมินว่าจะเกิดความผันผวนระยะสั้นเท่านั้น ขณะที่เงินทุนเคลื่อนย้ายจะไหลเข้าหาสินทรัพย์ปลอดภัย ส่งผลให้เงินเหรียญสหรัฐและเงินเยนแข็งค่า ประกอบกับนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์ที่มุ่งเติบโตจากภายใน จะทำให้แนวโน้มค่าเงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้นอีก

อย่างไรก็ตาม ในด้านอัตราดอกเบี้ยนั้น อมรเทพ เห็นว่าปัจจัยการเมืองไม่มีผลต่อการตัดสินใจของเฟด เพราะเฟดจะพิจารณานโยบายดอกเบี้ยจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก ทำให้เชื่อว่าเฟดจะยังคงขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค.นี้ ไม่ว่าใครจะเป็นประธานาธิบดี

ขณะที่ สมประวิณ มันประเสริฐ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เห็นว่า ในระยะสั้นไม่ว่าผู้สมัครฝ่ายใดจะได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ก็น่าจะส่งผลกระทบจำกัดต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากปัจจุบันแรงขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจไทยไม่ได้มาจากด้านต่างประเทศ ไม่ได้พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก แต่เป็นการขับเคลื่อนที่มาจากในประเทศ

ส่วนผลกระทบระยะยาวต้องดูว่านโยบายผู้นำสหรัฐคนใหม่ จะมีการกีดกันทางการค้าในภาพกว้างหรือไม่ หากมีการกีดกันจริงๆ ก็คงกระทบการค้าโลกและกระทบไทยด้วย โดย มูดี้ส์ อินเวสเตอร์เซอร์วิส ศึกษาพบว่ามีความเป็นไปได้ว่า ถ้าทรัมป์ได้รับเลือกเศรษฐกิจระยะสั้นของสหรัฐจะเติบโตมาก แต่ในระยะยาวอาจจะเข้าสู้วิกฤตได้ ซึ่งถ้าสหรัฐเข้าสู่วิกฤตจริงๆ ก็ย่อมกระทบไปทั้งโลกรวมทั้งไทย

ภาพ...เอเอฟพี