posttoday

ธุรกิจเด่น-ธุรกิจดับ ปี’59 ‘4จี-สุขภาพ-ท่องเที่ยว’ มาแรง

01 มกราคม 2559

เศรษฐกิจไทยในปี 2559 ยังคงไม่สดใสมากนัก หลายสำนักพยากรณ์เศรษฐกิจต่างคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในปีหน้าโดยเฉลี่ย 3-3.5%

โดย...ทีมข่าวการเงินโพสต์ทูเดย์

เศรษฐกิจไทยในปี 2559 ยังคงไม่สดใสมากนัก หลายสำนักพยากรณ์เศรษฐกิจต่างคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในปีหน้าโดยเฉลี่ย 3-3.5% ด้วยเหตุผลที่คล้ายคลึงกัน คือ เศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงที่จะไม่ฟื้นตัวอย่างแท้จริง

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มองเศรษฐกิจโลกโดยรวมฟื้นตัวอย่างช้าๆ แต่วัฏจักรเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมหลักและกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชียแตกต่างกันชัดเจนขึ้น กนง.มองว่าเศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐ ที่มีแรงสนับสนุนจากภาวะตลาดแรงงานและการบริโภคในประเทศ

ด้านเศรษฐกิจญี่ปุ่นกลับมาขยายตัวได้ในไตรมาส 3 ตามการฟื้นตัวของการบริโภคและลงทุนภาคเอกชนเป็นหลัก

สาหรับเศรษฐกิจจีนยังคงมีแนวโน้มชะลอตัว ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจเอเชียอื่นๆ (ไม่รวมญี่ปุ่น) ชะลอตัวตาม โดยเฉพาะประเทศที่มีความเชื่อมโยงทางการค้ากับจีนสูงและยังส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อยู่ในระดับต่ำ

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้การส่งออกที่คิดเป็นสัดส่วน 60-71% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) หดตัวต่อเนื่องจากปี 2558 ที่คาดว่าส่งออกจะติดลบ 5% และ กนง.คาดว่าในปี 2559 การส่งออกจะขยายตัว 0% ซึ่งนั่นเป็นการประมาณการ แต่ตัวเลขจริงยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะดีหรือแย่กว่าที่คาดการณ์

การทำธุรกิจในปัจจุบันไม่ง่าย ข้อมูลและข่าวสารเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ทำธุรกิจควรรู้เพื่อที่จะเตรียมรับมือ ปรับตัวให้เข้ากับภาวะเศรษฐกิจที่เป็นจริง

ในปี 2559 ธุรกิจที่ยังมีอัตราการขยายตัวสูง หรือธุรกิจดาวรุ่ง หรือธุรกิจที่อยู่ในช่วงขาลง หรือธุรกิจดาวดับ จะเป็นประเภทธุรกิจใดบ้าง ก็ล้วนขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศทั้งสิ้น

ปัจจัยภายนอกประเทศที่ยังไม่ค่อยดีนักเป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก แต่ปัจจัยในประเทศเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ง่ายกว่าโดยรัฐบาลซึ่งเป็นผู้บริหารประเทศ ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่ารัฐบาลจะใช้การลงทุนในประเทศเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ ผลักดันการบริโภคในประเทศขึ้นมาทดแทนเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาภาคต่างประเทศ

ดังนั้น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับนโยบายรัฐบาล และการกระตุ้นการบริโภค จะได้รับผลประโยชน์ไปด้วย ในวิกฤตมักมีโอกาสเสมอ สำหรับผู้ที่มองเห็น

มนัส แจ่มเวหา ประธานกรรมการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) กล่าวว่า ผู้ประกอบการควรติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด เพราะยังมีความผันผวนมาก และควรเตรียมรับมือด้วยการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่จำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักรและเทคโนโลยี เพราะมีแนวโน้มค่าเงินบาทจะอ่อนลง จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ย

ทั้งนี้ สินค้าและบริการที่มีแนวโน้มขยายตัวดีในปี 2559 ได้แก่ ข้าวและน้ำตาลทราย คาดว่าจะได้รับผลดีจากราคาในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับขึ้นจากผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนินโญ  กระดาษและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ปิโตรเลียม มีแนวโน้มขยายตัวจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นของคู่ค้าหลักโดยเฉพาะอาเซียน และปิโตรเคมี ได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับจีนซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญยังผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ

ส่วนสินค้าที่มีสหรัฐเป็นตลาดหลักและมีโอกาสขยายตัวจากการนำเข้าของสหรัฐที่ฟื้นตัวขึ้น ได้แก่ ผัก-ผลไม้ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อัญมณีและเครื่องประดับแท้ นอกจากนี้สินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามภาพรวมของตลาดโลก แม้ไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามากระตุ้นตลาด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา ยางยานพาหนะ ถุงมือยางและถุงยางคุมกำเนิด รถยนต์สำเร็จรูป ชิ้นส่วนยานยนต์ และแผงวงจรไฟฟ้า สำหรับธุรกิจอื่นๆ ที่มีทิศทางดี ได้แก่ เอทานอลและไบโอดีเซล ได้รับผลดีจากราคาน้ำมันที่คาดว่าจะยังอยู่ในระดับต่ำ พลังงานไฟฟ้า มีแนวโน้มดีจากการที่ไทยให้ความสำคัญกับการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย โดยเฉพาะการลงทุนโครงการพลังงานหมุนเวียน นับว่ามีโอกาสในการขยายตัวอีกมาก

สำหรับภาคบริการที่ยังขยายตัวดีในปี 2559 อาทิ โรงแรม จากภาคท่องเที่ยวที่ยังดีอยู่ บริการสุขภาพ มีปัจจัยเกื้อหนุนจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของไทยที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากร และจำนวนผู้สูงอายุ รวมถึงกระแสใส่ใจในสุขภาพที่มีมากขึ้น รับเหมาก่อสร้าง โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พาณิชยนาวี โดยเฉพาะเรือน้ำมัน ได้ประโยชน์จากความต้องการขนส่งน้ำมันในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงอาเซียน และโทรคมนาคม ซึ่งเติบโตตามปริมาณการใช้บริการข้อมูล (Non-voice) ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการขยายขอบเขตการให้บริการในระบบ 3จี และ 4จี ซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วงลงทุนเพื่อพัฒนาระบบที่ช่วยเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการใช้บริการ

วัฒนา ถิรานุชิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริสเรทติ้ง เปิดเผยแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2559 ว่า จะขยายตัว 2.5-3% โดยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐจะเป็นปัจจัยหลักที่จะกำหนดว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้หรือไม่เพียงใด สามารถดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้หรือไม่

ทริสเรทติ้ง มองอุตสาหกรรมกลุ่มที่มีแนวโน้มดีมี 4 กลุ่ม ได้แก่ โรงพยาบาลและบริการด้านสุขภาพ ที่ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากปัจจัยบวก สัดส่วนประชาชนสูงวัยเพิ่มขึ้น และความนิยมของต่างชาติเข้ามาใช้บริการมากขึ้น เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการเติบโตที่ดี

ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ปัจจัยที่สนับสนุนการทำธุรกิจในปี 2559 มาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มีออกมาอย่างต่อเนื่อง การขับเคลื่อนโครงการเมกะโปรเจกต์ และยังได้รับผลดีจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มเห็นชัดเจนขึ้น สถานการณ์การเมืองที่มีเสถียรภาพ และการพัฒนาโครงข่าย 4จี

ทางด้านธุรกิจที่มีแนวโน้มไม่สดใสในปีหน้า หนีไม่พ้นธุรกิจที่ ได้รับผลกระทบทางลบจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศทั้งสิ้น ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจที่ปรับตัวยากกับภาวะเศรษฐกิจและสู้ทุนปลาใหญ่กินปลาเล็กไม่ได้

อย่างไรก็ดี แม้จะอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ไม่เด่นดังในปีนี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมดาวดับจะต้องปิดกิจการกันทุกราย หากผู้ประกอบการใดสามารถปรับตัว รับมือเศรษฐกิจที่ผันผวนได้ ก็จะสามารถวิ่งสู้ฟัดยืนหยัดในสมรภูมิธุรกิจต่อไปได้