posttoday

5 เสือ ฆ่าไม่ตาย สุดท้ายต้องหวยออนไลน์

29 ธันวาคม 2558

การแก้ปัญหาสลากเกินราคาในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ถือว่าสอบผ่าน แต่คะแนนยังไม่เต็มร้อย

โดย...กนกวรรณ บุญประเสริฐ

หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศชูเรื่องการลดราคาสลากเหลือ 80 บาท เป็นภารกิจสำคัญในการคืนความสุขให้ประชาชน ทำให้ในห้วงปี 2558 ที่ผ่านมาเป็นปีแห่งการแก้ปัญหาสลากเกินราคาเชิงรุก เป้าหมายคือการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ทั้งโครงสร้างภายในและโครงการสร้างเรื่องการบริหารจัดการสลาก ที่นำมาสู่การทลายอาณาจักรสลากของ 5เสือและยี่ปั๊ว ซาปั๊วรายใหญ่ ที่เป็นต้นตอสำคัญผลักดันให้มีการขายสลากเกินราคาคิดเป็นวงเงินหมุนเวียนในธุรกิจนี้มากกว่า 3-4 หมื่นล้านบาท/ปี

ทั้งนี้ ภาพรวมวิวัฒนาการแก้ปัญหาสลากเกินราคาของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นับเริ่มตั้งแต่ปลายปี 2557 มีลำดับการแก้ปัญหาสลากเกินราคาที่น่าสนใจ แต่งตั้งสมัยที่แต่งตั้งให้ สมชัย สัจจพงษ์ เป็นประธานคณะกรรมการสลากฯ ได้ออกมาตรการที่สำคัญ ได้แก่ การส่งเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสลากฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบพฤติกรรมของตัวแทนจำหน่ายที่มีการขายสลากเกินราคา การจัดทำบัตรประจำตัวของตัวแทนจำหน่ายสลาก การประทับตราสี่เหลี่ยมสีน้ำเงินบนสลากที่จัดสรรให้ตัวแทนจำหน่ายรายย่อย การกระจายสลากออกไปยังภูมิภาคมากขึ้น การเปิดรับสมัครบุคคลทั่วไปและคนพิการ รวมทั้งนิติบุคคลที่ประสงค์จะรับสลากไปจำหน่ายขึ้นบัญชีสำรองไว้ และสั่งศึกษาเรื่องโควตา 5 เสือ พร้อมนำเรื่องแก้ร่าง พ.ร.บ. สำนักงานสลากฯ เสนอเข้า ครม.

ต่อมามีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ใช้มาตรา 44 ตั้งคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลชุดใหม่ โดยให้ พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็นประธานคณะกรรมการสลากฯ และได้กำหนดการจัดสรรเงินรายได้ใหม่ แบ่งเป็นเงินรางวัล 60% ไม่น้อยกว่า 20% เป็นรายได้แผ่นดิน ไม่เกินกว่า 17% เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน และที่เหลือ 3% นำสมทบตั้งกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคม เพิ่มบทลงโทษผู้ค้าสลากเกินราคา จากเดิมปรับ 2,000 บาท เป็นโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ และจะสอบภาษีย้อนหลังสำหรับผู้ค้ารายใหญ่

หลังการเข้ามาของคณะกรรมการชุดใหม่ ที่นำโดย พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ได้ออกมาตรการแก้ปัญหาสลากเกินราคาแบบเข้มข้น เริ่มจากมาตรการระยะที่ 1 สั่งจัดสรรเงินรายได้ใหม่ เพิ่มจากเดิมได้ 7-9% เป็น 12-14% แก้ปัญหาที่รายย่อยที่อ้างว่ารายได้ไม่พอ ต้องเอาสลากไปขายต่อยี่ปั๊ว ซาปั๊ว และประกาศขอความร่วมมือผู้ค้าขายสลาก 80 บาท ทั้งประเทศ เริ่มงวดวันที่ 16 มิ.ย. 2558 มีการกระจายสลากโดยสั่งลดโควตาเหลือคนละ 5 เล่ม

มีการตั้งชุดเฉพาะกิจประกอบด้วย ทหาร ตำรวจ กระทรวงมหาดไทย และกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อตรวจสอบย้อนรอยว่าผู้ที่ขายเกินราคา มีการสั่งยกเลิกรางวัลที่ 1 พิเศษ (แจ็กพอต) รวม 52 ล้านบาท/งวด แบ่งเป็น รางวัลพิเศษ ชุดที่ 1 มูลค่า 30 ล้านบาท/งวด และรางวัลพิเศษ ชุดที่ 2 มูลค่า 22 ล้านบาท/งวด เริ่มตั้งแต่งวดวันที่ 1 ส.ค. 2558 หวังลดเรื่องการรวมชุดขายเกินราคา ปรับลดอายุสัญญาจำหน่ายสลากจาก 1 ปี เหลือ 6 เดือน และปรับเงื่อนไขสัญญาให้มีบทลงโทษที่ชัดเจนขึ้น มีการลงนามกับ ปตท. จัดพื้นที่ในสถานีบริการน้ำมัน 400 แห่ง ให้เป็นจุดจำหน่ายสลาก 80 บาท เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยไม่คิดค่าตอบแทนในการใช้พื้นที่

นอกจากนี้ ยังมีการแก้ปัญหาในเชิงเทคนิค ด้วยการประกาศออกรางวัลเลขหน้า 3 ตัว เป็นครั้งแรกในงวดวันที่ 1 ก.ย. 2558 เพื่อแก้ไขปัญหาเลขไม่สวย ที่ผู้ค้ามักอ้างว่าขายไม่ออกจึงต้องขายยกเล่มให้ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว และพิมพ์สลากกินแบ่งรัฐบาลเพิ่ม 11 ล้านฉบับ เพื่อทดแทนสลากการกุศลที่ยกเลิกไป เริ่มงวดวันที่ 1 ก.ย. 2558 เป็นต้นไป

ผลจากมาตรการระยะที่ 1 สามารถดัดหลังผู้ค้ารายใหญ่ได้ระดับหนึ่ง ทำให้ภาพรวมตลาดสลากมีการขายตามราคา 80 บาท มากกว่าครึ่ง แต่ยังมีผู้ค้าบางส่วนที่แอบลักลอบขายเกินราคา

จึงนำไปสู่การออกมาตรการระยะที่ 2 ได้แก่ การจับมือธนาคารกรุงไทย ทำโครงการซื้อ-จองล่วงหน้าสลากกินแบ่งรัฐบาล เริ่มในงวดเดือน ต.ค. 2558 และไม่ต่อสัญญาให้ผู้ค้าที่เป็นนิติบุคคล ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสาธารณะทั้งหมด แล้วจึงนำโควตาดังกล่าวมากระจายจัดสรรให้รายย่อยผ่านโครงการซื้อ-จองสลากล่วงหน้า

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการสลากฯ มีมติเห็นชอบไม่ต่ออายุสัญญาให้กับนิติบุคคลทั้งหมด รวมทั้งองค์กรหรือมูลนิธิต่างๆ ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้พิการ รวมทั้งสิ้นกว่า 2,495 แห่ง รวมทั้งสิ้น 15.8 ล้านฉบับ หรือคิดเป็น 7.9 ล้านคู่ โดยให้มีผลตั้งแต่งวดวันที่ 1 ธ.ค.นี้เป็นต้นไป ซึ่งรวมถึงโควตาสลากของ 5 เสือ ถือเป็นการอวสานปิดตำนานโควตาสลาก 5 เสือลงทันที และได้ปรับลดโควตาสลากจาก 15 เล่ม เหลือ 5 เล่ม/ราย เพื่อกระจายสลากให้ถึงมือรายย่อยเพิ่มมากขึ้น

แต่ในมุมกลับกัน การกระจายโควตาสลากให้ผู้ค้ารายย่อยที่ลงทะเบียนกว่า 1.4 แสนราย ให้มีโอกาสได้เข้าจองสลากผ่านเคาน์เตอร์และตู้เอทีเอ็มธนาคารกรุงไทย ส่วนนี้จะมีการเพิ่มโควตาเป็น 22 ล้านฉบับ เริ่มในงวดวันที่ 17 ม.ค. 2559 นี้ ทั้งนี้พบว่ามีผู้ค้าทั้งเก่าและใหม่บางส่วนที่กลัวขายสลากขาดทุน จึงขนสลากยกเล่มไปขายยี่ปั๊ว ซาปั๊วต่อ

นอกจากนี้ ยังมีโควตาสลากที่กระจายไปยังภูมิภาค และผู้ที่รับสลากผ่านการจัดสรรของผู้ว่าราชการจังหวัดและคลังจังหวัด กับโควตาของสมาคม มูลนิธิ ที่ทำประโยชน์เพื่อสังคม ส่วนนี้จะมีโควตาทั้งหมดราว 28 ล้านฉบับ ถือเป็นกลุ่มที่ต้องจับตาว่ามีกลุ่มทุนที่เข้าไปรับซื้อสลากเพื่อนำมารวมเล่มเป็นชุด ขายเกินราคาอยู่หรือไม่ เมื่อรวมกับกลุ่มรายย่อยที่ได้สลากไปขายแต่ไม่มีศักยภาพจริง ทำให้ขณะนี้ยังเห็นมีการขายสลากเลขชุดในราคาแพงกว่าที่กำหนดอยู่เกลื่อนเมือง

จะเห็นว่าการแก้ปัญหาสลากเกินราคาในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ถือว่าสอบผ่าน แต่คะแนนยังไม่เต็มร้อย แม้ภาพรวมคนส่วนใหญ่ สามารถเดินไปซื้อสลากในราคา 80 บาท ได้ไม่ยาก แต่ยังพบว่ากรณีที่สลากเลขสวย เลขดังในงวดนั้นๆ ยังถูกแม่ค้าจับขายพวงเลขไม่สวย หรือขายเกินราคาและอ้างว่ารับสลากมาแพง

ทำให้ในปี 2559 นี้ ยังเป็นปีที่ต้องจับตามาตรการระยะที่ 3 ที่สำนักงานสลากฯ จะต้องออกมาเพื่อจัดการกับพวกยี่ปั๊ว ซาปั๊ว พวก 5 เสือ และเครือญาติรายที่ไม่ยอมวางมือ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังทำให้เกิดการขายสลากเกินราคา และหนึ่งในแนวทางที่ถูกจับตาคือ การออกสลากแบบออนไลน์ แต่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลที่จะกล้าโละโควตาสลากทั้งหมดแล้วเปิดขายสลากแบบออนไลน์ให้คนได้เลือกเลขเองได้หรือไม่