posttoday

เปิดแนวรบ‘ซิงเกิ้ล เกตเวย์’

26 กันยายน 2558

เป็นกระแสร้อนขึ้นมาทันที เมื่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจัดทำแคมเปญต่อต้านการจัดตั้ง “ซิงเกิ้ล เกตเวย์ (Single Gateway)”

โดย...ทีมข่าวเศรษฐกิจภาครัฐโพสต์ทูเดย์

เป็นกระแสร้อนขึ้นมาทันที เมื่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจัดทำแคมเปญต่อต้านการจัดตั้ง “ซิงเกิ้ล เกตเวย์ (Single Gateway)” ของรัฐบาล ผ่านเว็บไซต์ www.change.org เนื่องจากมองว่ารัฐบาลกำลังควบคุมการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนโดยอ้างเรื่องความมั่นคง และตั้งแต่เริ่มแคมเปญวันที่ 24 ก.ย. 2558 ล่าสุดมีผู้ลงชื่อคัดค้านแล้ว 54,083 คน (19.00 น. วันที่ 25 ก.ย. 2558)

กระทั่ง อุตตม สาวนายน รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ต้องออกมาชี้แจงว่าการจัดตั้งซิงเกิ้ล เกตเวย์ เป็นการช่วยเหลือในด้านเศรษฐกิจ ไม่ได้เน้นงานด้านความมั่นคง โดยจะช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการที่มีโครงข่ายเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศให้ใช้งานในโครงข่ายเดียวกัน และขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาเท่านั้น

“เราไม่ได้บังคับให้ใครเข้าร่วม และไม่จำเป็นต้องมีเกตเวย์เดียว เพราะถ้าระบบล่มจะมีปัญหาได้ เพียงแต่รัฐบาลต้องการสร้างฮับเนชั่นแนลซิงเกิ้ล เกตเวย์ในประเทศ” อุตตม ย้ำ

ทว่าเมื่อย้อนไปพลิกมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการใน ครม.อย่างน้อย 4 ครั้งเร่งรัดซิงเกิ้ล เกตเวย์

เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย. 2558 พล.อ.ประยุทธ์ สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษามาตรการในการแก้ปัญหาเด็กติดเกมออนไลน์ และเข้าถึงสื่อที่ไม่เหมาะสม

นายกฯ ยังสั่งการให้กระทรวงไอซีที กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จัดตั้งซิงเกิ้ล เกตเวย์ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือควบคุมเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมและการไหลเข้าของข้อมูลข่าวสารจากต่างประเทศผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต

พร้อมทั้งให้ตรวจสอบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หากมีความจำเป็นต้องออกกฎหมายเพิ่มเติม  ก็ให้เร่งดำเนินการโดยเร็ว

ต่อมา ในการประชุม ครม.วันที่ 21 ก.ค. 2558 และ 4 ส.ค. 2558 นายกฯ ได้ย้ำให้กระทรวงไอซีทีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการจัดตั้งซิงเกิ้ล เกตเวย์ตามมติ ครม.โดยด่วน และรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการ

“เพื่อเป็นเครื่องมือควบคุมเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมและการไหลเข้าของข้อมูลข่าวสารผ่านอินเทอร์เน็ต” มติ ครม. ระบุ

ล่าสุด วันที่ 25 ส.ค. 2558 พล.อ.ประยุทธ์ เร่งรัดโครงการต่างๆ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในปีงบประมาณ 2558 ซึ่งรวมถึงการจัดตั้งซิงเกิ้ล เกตเวย์ของกระทรวงไอซีที และรายงานให้นายกฯ ทราบภายในเดือน ก.ย.นี้

ทั้งนี้ ต่อประเด็นดังกล่าว นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า กสทช.มีนโยบายเปิดเสรีการให้บริการอินเทอร์เน็ต และที่ผ่านมาได้ให้ใบอนุญาตแก่ผู้ประกอบการไปแล้ว 10 ราย หากรัฐบาลปรับเปลี่ยนนโยบายจะกระทบการลงทุนของเอกชน

“หลักการที่ผ่านมา คือ เปิดเสรีให้มีผู้ให้บริการหลายราย เพื่อให้เกิดการแข่งขันและจะทำให้ค่าบริการถูกลง แต่ทั้งนี้ก็ต้องไปดูนิยามให้ชัดว่าซิงเกิ้ล เกตเวย์ของรัฐบาลหมายถึงอะไร ต้องอธิบายให้ชัดและมีจุดสมดุลด้านความมั่นคง เศรษฐกิจและสังคม แต่ส่วนตัวมองว่าการจัดทำซิงเกิ้ล เกตเวย์เป็นไปได้ยาก เหมือนกับเรามีด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ทั่วประเทศ ถ้าจะมาบีบให้เหลือช่องทางเดียวคงเป็นไปไม่ได้” นพ.ประวิทย์ ระบุ

ด้าน อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้ก่อตั้งเว็บบล็อกนัน (blognone.com) มองว่า ในทางปฏิบัติการจัดตั้งซิงเกิ้ล เกตเวย์ทำได้ยากมาก ทั้งในเชิงเทคนิคและต้องใช้งบไม่ต่ำกว่าหลักแสนล้านบาทเพื่อลงทุนระบบเซิร์ฟเวอร์ใหม่ ซึ่งในโลกนี้มีไม่กี่ประเทศที่ใช้ซิงเกิ้ล เกตเวย์ เช่น จีน ที่จัดตั้งซิงเกิ้ล เกตเวย์และมีพัฒนาการไปอีกขั้นหนึ่ง โดยบังคับให้ทุกเว็บไซต์ต้องผ่านเกตเวย์ของรัฐบาล

“หากอ้างว่าทำซิงเกิ้ล เกตเวย์เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ คงไม่ใช่ เพราะการมีเกตเวย์เดียวมีความเสี่ยง หากมีปัญหาจะเสียหายทั้งระบบ มันไม่คุ้ม” อิสริยะ กล่าว

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (สมาคมอี-คอมเมิร์ซ) กล่าวว่า การนำอินเทอร์เน็ตมารวมไว้ที่เดียวไม่ดีแน่ เพราะทำให้การส่งผ่านข้อมูลกระจุกตัว และส่งผลให้การส่งผ่านข้อมูลช้า กระทบต่อการทำธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ การค้าขายระหว่างประเทศ และการทำธุรกรรมทางการเงิน ตลอดจนความมั่นใจของนักลงทุน เพราะทุกข้อมูลจะต้องผ่านการสกรีน

“การจำกัดช่องทางสื่อสารข้อมูลเหลือเพียงช่องทางเดียวไม่ดีแน่ เหมือนเราไปจีน เวลาจะส่งข้อมูลมาประเทศไทยจะช้ามาก และทุกวันนี้เวลาอยู่เมืองนอกเราจะส่งข้อมูลเข้ามาไทยช้ากว่าสิงคโปร์ เกาหลี เพราะไทยมีเกตเวย์น้อย ขณะที่สมาคมอี-คอมเมิร์ซ สมาคมออนไลน์ เว็บไซต์ อินเทอร์เน็ต จะร่วมกันคัดค้านเรื่องซิงเกิ้ล เกตเวย์ เพราะเสี่ยงที่จะกระทบทางเศรษฐกิจมหาศาล” ภาวุธ บอก

เหล่านี้เป็นประเด็นล่อแหลมของซิงเกิ้ล เกตเวย์ ไม่ต่างจากเมื่อครั้งผลักดันกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล 10 ฉบับ ที่ขณะนี้อยู่ในชั้นพิจารณาของกฤษฎีกา หนึ่งในนั้น คือ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ... ซึ่งมาตรา 35 (3) ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ “เข้าถึงข้อมูลการติดต่อสื่อสารทั้งทางไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ โทรสารคอมพิวเตอร์ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการสื่อสารสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือ สื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศใด เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติการเพื่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์”