posttoday

อาร์แอนด์ดี ‘ไทย’ ต่ำสุดในอาเซียน

08 กรกฎาคม 2559

จากนโยบายหลักของภาครัฐในขณะนี้ที่เร่งผลักดันประเทศไทยไปสู่อุตสาหกรรม 4.0

โดย...ทศพล หงษ์ทอง 

จากนโยบายหลักของภาครัฐในขณะนี้ที่เร่งผลักดันประเทศไทยไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยมุ่งความสำคัญหลักด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาผลิตภาพ ซึ่งรวมถึงในทุกประเทศสมาชิกอาเซียนที่ต่างให้ความสำคัญในการวิจัยและพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) เพื่อนำมาใช้เป็น ข้อมูลสำคัญร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจทุกระดับโดยเฉพาะเอสเอ็มอี

ขณะที่คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (BUSEM) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยผลวิจัยโครงการศึกษาเชิงเปรียบเทียบเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการของประเทศไทย (GEM : Global Entrepreneurship Monitor) จากแบบสำรวจผู้เชี่ยวชาญในประเทศและแบบสำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการทั่วประเทศ 3,000 ตัวอย่าง เพื่อศึกษาแนวโน้มของผู้ประกอบการตลอดจนความพร้อมด้านเงินทุน การทำวิจัยพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) และโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

สุทธิภัทร อัศววิชัยโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (BUSEM) เปิดเผยผลสำรวจการวิจัยพบว่า อัตราการขยายตัวของกิจกรรมความเป็นผู้ประกอบการในระยะเริ่มต้นลดลง (TEA : Total Early-stage Entrepreneurship Activity) จาก 23.3% ในปี 2557 เหลือเพียง 16.9% ในปีที่แล้ว ขณะที่อัตราการขยายตัวของผู้ประกอบการที่มีอายุกิจการมากกว่า 3.5 ปี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ 33.1% มาเป็น 33.6% ในปี 2558 โดยที่การลดลงของผู้ประกอบการในระยะเริ่มต้นมาจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบผลวิจัยกับประเทศสมาชิกของโครงการวิจัยทั้ง 9 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วย เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย โปแลนด์ เยอรมนี สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญการวิจัยยังให้ความเห็นตรงกันว่าแต่ละประเทศมีระดับผลการประเมินในระดับสูง มีเพียงอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์เท่านั้นที่มีผลการประเมินอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนประเทศไทยมีสภาวะด้านโครงสร้างพื้นฐานอยู่ในระดับสูง ในขณะที่มีการสนับสนุนนโยบายการเงินการลงทุนจากภาครัฐอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับการถ่ายโอนความรู้เพื่อวิจัยและพัฒนาอยู่ในระดับต่ำอีกด้วย

ขณะที่สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีสภาวะโดยรวมสำหรับผู้ประกอบการอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะด้านสนับสนุนทางการเงิน ขณะที่เวียดนามมีการสนับสนุนนโยบายทางการเงินในระดับต่ำยังต้องการแหล่งเงินทุนอีกมาก แต่กลับมีแนวโน้มการวิจัยและพัฒนาอยู่ในระดับที่ดีกว่าประเทศไทย

พร้อมระบุว่า ผู้ประกอบการรายย่อยของไทยยังผลิตเพื่อส่งออกสินค้าอยู่ในระดับต่ำ ส่วนใหญ่เน้นผลิตเพื่อขายในประเทศ แตกต่างกับประเทศที่พัฒนาอย่างเยอรมนีที่เน้นให้เอสเอ็มอีสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อส่งออก ในขณะที่เรื่องการวิจัยและพัฒนาแม้ว่าจะมีเงินทุนสนับสนุนอาร์แอนด์ดีอยู่ในระดับปานกลาง แต่กลับพบว่าตัวกลางเพื่อถ่ายโอนเชื่อมต่อองค์ความรู้ระหว่างผู้วิจัยและเจ้าของกิจการเพื่อนำไปสู่แนวทางปฏิบัติ ตลอดจนเจ้าของกิจการไทยส่วนใหญ่ไม่ชอบเสียเงินก้อนใหญ่ไปกับการซื้อเทคโนโลยีการผลิต เนื่องจากมองว่าปริมาณการผลิตนั้นไม่แตกต่างจากการใช้แรงงานคน ทำให้สินค้าไทยส่วนใหญ่มักมีปัญหาด้านการรับรองคุณภาพจนเสียเปรียบด้านการแข่งขันในตลาดโลก

“เป็นการตัดสินใจที่ดีในการก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่เกิดขึ้นมาในประเทศ โดยเฉพาะในปีนี้ที่มีเทรนด์การเติบโตเพิ่มมากขึ้น สืบเนื่องจากค่านิยมของคนในเจเนอเรชั่นนี้ที่ชอบความเป็นอิสระฉลาดในการจัดสรรเวลา อีกทั้งยังมีความเคยชินกับสื่อสังคมออนไลน์และเทคโนโลยี ทำให้ปัจจุบันเกิดธุรกิจหลายรูปแบบที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยได้ อีกทั้งรัฐบาลยังส่งเสริมอย่างเต็มที่ทั้งสิทธิพิเศษในการลงทุน ตลอดจนโครงการประชารัฐทำให้แนวโน้มการขยายตัวของกิจการใหม่จะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต” สุทธิภัทร กล่าว