posttoday

ออกญา ซอค พิเศษ เถ้าแก่น้อยกัมพูชา

04 เมษายน 2559

หนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจอายุน้อยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่น่าสนใจในประเทศกัมพูชา ออกญา ซอค พิเศษ (Oknha Sok Piseth) ที่เริ่มต้นเส้นทางธุรกิจจากสตาร์ทอัพไปสู่ตัวแทนธุรกิจของแบรนด์ระดับโลก

โดย...ปิยนุช ผิวเหลือง

หนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจอายุน้อยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่น่าสนใจในประเทศกัมพูชา ออกญา ซอค พิเศษ (Oknha Sok Piseth) ที่เริ่มต้นเส้นทางธุรกิจจากสตาร์ทอัพไปสู่ตัวแทนธุรกิจของแบรนด์ระดับโลก

ปัจจุบันได้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท จี เกียร์ (G Gear Company Limited) ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2554 และยังได้รับเลือกเป็นประธานสมาคมผู้ประกอบการเยาวชนกัมพูชา (Young Entrepreneurs Associates of Cambodia) หรือวายอีเอซีในปี 2556

ย้อนไปในช่วงวัยเรียนขณะที่กำลังศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 4 เขาได้เข้าร่วมทีมเป็นตัวแทนอาสาสมัครจากประเทศกัมพูชา ในโครงการของเอดีบี (Asian Development Bank) ด้านนโยบายการพัฒนาของธุรกิจเอสเอ็มอีของกรมอุตสาหกรรมเหมืองแร่และพลังงาน

โดยในปี 2549 ได้มีโอกาสเป็นผู้ประสานงานภาคสนามของเอ็นจีโอและในปีเดียวกันนั้นเขายังจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านเศรษฐศาสตร์สารสนเทศจากมหาวิทยาลัยภูมินทร์นิติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์
(Royal University of Law and Economics) และด้านวรรณคดีอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยภูมินทร์ พนมเปญ (Royal University of Phnom Penh) ปัจจุบันกำลังศึกษาต่อปริญญาโทคณะบริหารธุรกิจ ที่มหาวิทยาลัยชาร์ลสเติร์ท (Charles Sturt) ประเทศออสเตรเลีย

พร้อมเริ่มต้นสร้างสรรค์ธุรกิจทอยส์ แอนด์ มี (Toys&Me) เว็บไซต์รวบรวมผลิตภัณฑ์ของเล่นเด็กขึ้นในปี 2550 ด้วยวัยเพียง 23 ปี โดยได้รับแรงบันดาลใจการทำธุรกิจมาจากการสนับสนุนของครอบครัว บวกกับความรู้และความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า

ในปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท จี เกียร์ ดำเนินธุรกิจตัวแทนจำหน่ายสินค้าของแอลจี (LG) ในประเทศกัมพูชาเพียงผู้เดียว โดยปัจจุบันมีสาขา 3 แห่ง คือ พนมเปญ เสียมราฐ และพระตะบอง พร้อมแผนเปิดสาขาให้บริการในทุกจังหวัดของกัมพูชาในอนาคต

แนวโน้มธุรกิจในอนาคตของประเทศกัมพูชา ว่าปัจจุบันรัฐบาลให้ความสำคัญด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับนักลงทุน โดยเฉพาะระบบโทรคมนาคมที่ทั่วถึงเพราะมีเครือข่าย 4จี ซึ่งมีใช้ในกัมพูชามา 4-5 ปีแล้ว ประกอบกับตลาดด้านโมเดิร์นเทคโนโลยีของกัมพูชาขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ตลาดด้านไอที ซอฟต์แวร์มือถือและซอฟต์แวร์ของคอมพิวเตอร์ กลายเป็นอีกธุรกิจเป้าหมายที่น่าเข้าไปลงทุนในกัมพูชา

อีกทั้งนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมร่วมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตยิ่งขึ้น ด้วยกรอบการค้าเสรีที่สนับสนุนการค้าในอาเซียน รวมถึงการเปลี่ยนโครงสร้างหลักเพื่อเอื้อต่อการเติบโต ทั้งปฏิรูปโครงสร้าง และระบบการจัดการที่เป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจระดับสากล

จะเห็นได้ว่านอกจากเทคโนโลยี การสื่อสารที่ช่วยเอื้อประโยชน์การประกอบธุรกิจของคนยุคใหม่ ความคิดที่แตกต่างของผู้ประกอบการ และการสนับสนุนจากนโยบายของรัฐมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการทั่วไปและผู้ประกอบการรุ่นใหม่เริ่มต้นธุรกิจได้อย่างมั่นคง