posttoday

เขตเศรษฐกิจพิเศษอาเซียน (ตอน 1)

10 มีนาคม 2559

จากรายงานของ UNIDO (United Nations Industrial Development Organization) ให้คำจำกัดความคำว่า “เขตเศรษฐกิจ” (Economic Zone)

โดย...ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช

จากรายงานของ UNIDO (United Nations Industrial Development Organization) ให้คำจำกัดความคำว่า “เขตเศรษฐกิจ” (Economic Zone) ประกอบด้วย 5 ส่วนสำคัญ คือ เขตอุตสาหกรรม (Industrial Parks : IP) เขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone : SEZ) เขตอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco-Industrial Parks : EIP) เขตอุตสาหกรรมเทคโนโลยี หรือเขตอุตสาหกรรมไฮเทค (Technology Parks : TP) และเมืองนวัตกรรม (Innovation District : ID)

สำหรับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZs) นั้น ถือได้ว่าอยู่ในระยะการพัฒนาที่สองของการพัฒนาอุตสาหกรรม คือ เป็นช่วงของการเน้นการลงทุนเป็นหลัก หันมาดูจำนวนของ SEZs ในทั่วโลกกันบ้าง โดยในปี 2558 จำนวน SEZs ของโลกมีทั้งหมด 4,500 SEZs ใน 140 ประเทศ มีการจ้างงานทั้งหมด 66 ล้านคน (the Economist 2558) ในจำนวนดังกล่าว 30 ล้านคน เป็นการจ้างงานใน SEZs ของประเทศจีน และ SEZs แห่งแรกของโลกอยู่ที่เมืองแชนน่อน (Shannon) ประเทศไอร์แลนด์ (Ireland) ที่ตั้งเมื่อปี 1959 ซึ่งมีทั้งการพัฒนาเขต Export Processing Zone (EPZs)  เขต Free Trade Zone (FTZs) และ Freeports (FPs)

ส่วน SEZs แห่งแรกของเอเชียตั้งในประเทศอินเดีย ที่เมืองกันดลา (Kandla) ที่เรียกว่า “KASEZ” ซึ่งเป็นเมืองท่าเรือที่สำคัญของรัฐคุชราต (Gujarat) ตั้งเมื่อปี 1965 KASEZ เน้น Export Processing Zone และเป็น SEZs ที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย ปัจจุบันอินเดียมีทั้งหมด 19 SEZs สามารถตั้งโดยรัฐบาล และบริษัทเอกชนที่เน้นการลงทุน

สำหรับประเทศอาเซียนที่มีการตั้ง SEZs เป็นแห่งแรก คือ สิงคโปร์ ในปี 1968 และมาเลเซียในปี 1972 สำหรับประเภทของ SEZs แบ่งออกเป็น 6 ประเภท ประกอบด้วยเขตปลอดอากร (Free Trade Zones) เขตส่งเสริมการค้าหรือเขตอุตสาหกรรมส่งออก (Export Processing Zone) เขตประกอบการอุตสาหกรรม (Enterprise Zones) เขตโรงงานเดียว (Single Factory) เช่น กรณีอินโดนีเซียจับมือกับมาเลเซียในการพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันครบวงจรตามโครงการที่เรียกว่าโครงการ “Sei Mangkei” ตั้งอยู่ที่เมือง Simulungun ในจังหวัดสุมาตราเหนือ ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมโอลิโอเคมีคอลส์ (Oleochemicals) ที่ได้รับการพัฒนาในการผลิตน้ำมันปาล์มดิบครบวงจร โดยในช่วงปี 2013-2018 พื้นที่จะถูกขยายกว้างออกไปถึง 3,775 ไร่ จากเดิมแรกเริ่มที่มีเพียง 287.5 ไร่ (ปี 2008-2010 )

ปัจจุบัน Sei Mangkei สามารถผลิตน้ำมันปาล์มดิบได้ถึง 569 ตัน/ffb/ชั่วโมง ต่อมาเป็นเขตท่าเรือปลอดภาษี (FreePort) และเขตพิเศษ (Special Zones) สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของ
นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนใน SEZs ตามบทความของ Hong Hiep Hoang แห่ง “Institute of Social Science of Central Region (ISSCR), Vietnam Academy of Social Science (2015)” คือ ขนาดของตลาดที่วัดจากขนาดของ GDP และรายได้ต่อวัน จำนวนประชากร และความพร้อมโครงสร้างพื้นฐาน แต่งานวิจัยของ Rahmaj Ismail จาก Faculty of Economic แห่ง Universiti Kebangsaan Malaysia (2003) ซึ่งทำการเปรียบเทียบระหว่างประเทศไทย มาเลเซีย และฟิลิปฟินส์ พบว่าค่าจ้างที่มีราคาถูกจะเป็นตัวตัดสินใจของ FDI ในเขต SEZs

ในขณะที่ปัจจัยที่มีผลต่อ FDI ในจีน คือ อันดับหนึ่งเป็นเรื่องของความพร้อมของเงินทุน ตามด้วยศักยภาพการแข่งขันของประเทศ วัดจากโครงสร้างพื้นฐาน และทักษะฝีมือแรงงาน กฎระเบียบภายในประเทศ ความมั่นคงทางการเมือง และการเปิดประเทศ อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบกับรายงานของ UNIDO (2002) พบว่ามี 20 ปัจจัยที่สำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจของ FDI ซึ่งปรากฏว่าอันดับหนึ่งเป็นการเข้าถึงตลาดโดยง่าย (Market Access) ประเทศที่นักลงทุนต่างชาติจะเข้าไปลงทุนสามารถเชื่อมโยงการค้าและการลงทุนกับตลาดโลกได้อย่างดี หากต้องไปตั้งเป็นฐานการผลิตในการส่งออกสินค้าไปยังตลาดโลก ตามด้วยปัจจัยด้านความมีเสถียรภาพทางการเมืองและสังคม และบรรยากาศการทำธุรกิจเป็นอันดับที่สาม และปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานตามมาติดๆ

ส่วนความสามารถในการจ้างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติตัดสินใจ แต่บทความของ White, J. (2011) พบว่าที่ตั้งของ SEZs เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ หาก SEZs ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับเมืองใหญ่ก็สามารถเข้าถึงแหล่งงานทุน บริษัทและผู้ผลิต และแรงงานทักษะฝีมือได้โดยง่าย เมื่อเปรียบเทียบกับสิทธิประโยชน์

ผมคิดว่าอีกหนึ่งปัจจัยที่นักลงทุนต่างชาติพิจารณาคือสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน (แม้ว่าจะไม่อยู่ในอันดับต้นๆ ของการตัดสินใจนักลงทุนต่างชาติก็ตาม) ผมได้ทำการเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนของไทยกับประเทศ CLMV สามารถพิจารณาได้ดังนี้ ในด้านการยกเว้นภาษีนิติบุคคล ต่อฉบับหน้าครับ