posttoday

แรงงานคึก เร่งยกระดับรับประชาคมอาเซียน

24 เมษายน 2559

ทิศทางแรงงานอาเซียนในอนาคตยังคงประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานฝีมือในภาคอุตสาหกรรม

โดย...ทศพล หงษ์ทอง

การเปิดประชาคมอาเซียนส่งผลต่อทิศทางการลงทุนธุรกิจตลอดจนการเปลี่ยนของเส้นทางเม็ดเงินลงทุนที่จะไหลเข้ามาในภูมิภาค สอดคล้องกับคำพยากรณ์ของเวิลด์แบงก์ว่าในอนาคตมูลค่ารวมของจีดีพีโลกกว่า 50% จะไหลเข้ามาในภาคพื้นทวีปเอเชีย ทำให้พี่ใหญ่อย่างจีนกางแผนโครงสร้างพื้นฐานยกระดับให้กับน้องในอาเซียนเพื่อฟื้นฟูการค้ากับทวีปยุโรปอีกครั้ง ผ่านเส้นทางสายไหมที่พาดผ่านลงมาในภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนการชูสิทธิพิเศษด้านการลงทุนของแต่ละประเทศสมาชิกล้วนเป็นตัวเร่งรัดให้เกิดการลงทุนแบบเมกะโปรเจกต์ ส่งผลให้ตลาดแรงงานอาเซียนคึกคักจนแนวโน้มอัตราการว่างงานในอาเซียนมีเพียง 5.7%

ปัจจุบันแรงงานอาเซียนสามารถส่งเงินกลับเข้าประเทศบ้านเกิดได้มูลค่ากว่า 5.64 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1.83 ล้านล้านบาทคิดเป็น 10% ของปริมาณเงินส่งกลับประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ส่งออกแรงงานมากที่สุดของอาเซียน ส่งผลให้มีเงินส่งกลับประเทศมากเป็นอันดับ 3 ของโลกและอันดับ 1 ของภูมิภาคมูลค่ารวม 9.24 แสนล้านบาท ขณะที่ไทยเป็นอันดับ 4 ของอาเซียน ส่งเงินกลับราว 1.73 แสนล้านบาท ส่วนของแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศเพิ่มขึ้น 3.9% มีจำนวน 8,690 คน โดยไปสิงคโปร์และมาเลเซียมากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มพ่อครัว แม่ครัว และช่างซ่อมบำรุง ที่ให้ค่าจ้างสูงกว่าในประเทศ

อย่างไรก็ตาม นโยบายการพัฒนาของแต่ละประเทศที่แตกต่างกันทำให้ทิศทางของแรงงานอาเซียนมีการกระจายจำนวนไปอยู่ตามอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับทักษะฝีมือวิชาชีพ โดยประเทศซีแอลเอ็ม (กัมพูชา ลาว เมียนมา) ยังคงเน้นภาคอุตสาหกรรมต้นน้ำที่เน้นด้านเกษตรมากกว่า 70% ส่วนประเทศที่เศรษฐกิจแข็งแกร่งในอาเซียนอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลลิปปินส์ต่างยกระดับแรงงานให้เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการจนสัดส่วนแรงงานภาคเกษตรกรรมเหลือเพียง 1-13% ของทั้งหมด

ขณะที่ไทยและเวียดนามเป็นสมาชิกในอาเซียนที่ปรับตัวเข้าสู่ประเทศฐานการผลิตส่งผลให้มีสัดส่วนแรงงานภาคอุตสาหกรรมและบริการเพิ่มขึ้น โดยที่เหลือแรงงานภาคเกษตรกรอยู่เพียง 40% ซึ่งไทยมุ่งพัฒนาให้กลุ่มเกษตรกรเข้าสู่ภาคการผลิตภาคอุตสาหกรรมและบริการ ทั้งการสร้างแบรนด์ตลอดจนเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหารแปรรูป สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่เริ่มส่งเสริมการพัฒนาแรงงานภาคการผลิตและบริการมากขึ้น

แต่ทิศทางแรงงานอาเซียนในอนาคตยังคงประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานฝีมือในภาคอุตสาหกรรมจากผลวิจัยพบว่าแรงงานในไทย ลาว และเมียนมา มีแรงงานมีฝีมือต่อแรงงานไร้ฝีมือ คิดเป็น 2:8 ขณะที่เวียดนามและฟิลิปปินส์มีแรงงานดังกล่าว คิดเป็น 7:3 และ  9:1 ตามลำดับ อีกทั้งในประเทศไทยเองที่ยังขาดด้านวิศวกรรมอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากทัศนคติด้านการศึกษาที่นิยมส่งเสริมให้เรียนสายสังคมมากกว่าสายอาชีพ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 70:30 จนทำให้ตัวเลขการขาดแคลนแรงงานที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมและบริการในประเทศของเดือน มี.ค. 2559 มากกว่า 3 หมื่นอัตรา

พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน กล่าวว่า กระทรวงได้เร่งรัดผลักดันคุณวุฒิของแรงงานทั้ง 8 กลุ่มอาชีพที่เปิดเสรีในอาเซียนควบคู่ไปกับการวางแผนด้านการผลิตเพื่อยกระดับแรงงานภาคอุตสาหกรรมและส่งเสริมพัฒนาระบบการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ตลอดจนเปิดช่องทางพิเศษสำหรับออกใบอนุญาตทำงาน (เวิร์กเพอร์มิต) ให้แก่แรงงานวิชาชีพในกลุ่มอาเซียน หรือ Asean Lane ขึ้น เพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายเสรีที่จะมีมากขึ้นหลังจากนี้

อย่างไรก็ตาม อนาคตของแรงงานอาเซียนจะมีการไหลออกจากประเทศลดลง ขณะเดียวกันแรงงานต่างด้าวจะกลับถิ่นฐานเพิ่มมากขึ้น ภายหลังจากประเทศบ้านเกิดพัฒนาเศรษฐกิจจนเกิดการจ้างงานอย่างทั่วถึงผ่านโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและโครงการขยายเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งมีแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจมากกว่าประเทศไทยเกือบ 3 เท่า