posttoday

แนะเจรจานอกรอบ

25 กุมภาพันธ์ 2559

แนะไทยเจรจาประเด็นอ่อนไหวนอกรอบก่อนเข้าทีพีพี ดึงใช้ประสบการณ์เพื่อนบ้านเป็นตัวอย่าง

แนะไทยเจรจาประเด็นอ่อนไหวนอกรอบก่อนเข้าทีพีพี ดึงใช้ประสบการณ์เพื่อนบ้านเป็นตัวอย่าง

นายสตีเว่น วอง เชียง หมิง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สถาบันเพื่อการศึกษาทางยุทธศาสตร์นานาชาติของมาเลเซีย (ISIS) เปิดเผยว่า จากประสบการณ์ของมาเลเซียที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกหุ้นส่วนยุทธศาสตร์การค้าภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) ยอมรับว่าได้รับผลกระทบต่อการเข้าถึงตลาดและด้านสังคม แต่มาเลเซียจำเป็นต้องเข้าร่วม เนื่องจากมาเลเซียยังต้องพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศอยู่ โดยเลือกใช้วิธีการเจรจานอกรอบ (เอกสารแนบท้าย) ในการเจรจากับแต่ละประเทศ เพื่อให้การบังคับใช้ไม่ส่งผลกระทบในภาพรวมมากนัก

สำหรับเอกสารแนบท้ายของการเจรจานอกรอบในทีพีพีนั้น หลักๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ เพราะเป็นอุตสาหกรรมของประเทศที่ต้องพยายามเจรจาให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด อุตสาหกรรมยาสูบที่เปิดเสรี แต่ยังอยู่ในการกำกับดูแลของรัฐบาล และอุตสาหกรรมเหล็กที่เกิดจากปัญหาของมาเลเซียเองที่แข่งขันไม่ได้ ทำให้ที่ผ่านมารัฐบาลต้องเข้าไปอุดหนุนเงินเป็นจำนวนมาก ส่วนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) คงไม่ได้ประโยชน์จากการเข้าร่วมทีพีพีมากนัก แต่เอสเอ็มอีจำเป็นต้องปรับตัว

นายนาโอกิ คาชิวาบาระ รองผู้อำนวยการกองหุ้นส่วนเศรษฐกิจ สำนักนโยบายการค้า กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (เมติ) กล่าวว่า ญี่ปุ่นต้องเข้าร่วมเพราะเป็นเขตการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ คิดเป็น 40% ของจีดีพีโลก และคิดเป็น 30% ของการส่งออกญี่ปุ่น และมองว่าทีพีพีจะทำให้เอสเอ็มอีทำธุรกิจง่ายขึ้น

นายไดซุเกะ ฮิราซึกะ ประธานองค์กรส่งเสริมการค้าของญี่ปุ่น (เจโทร) กล่าวว่า อยู่ที่ว่าไทยจะเข้าร่วมทีพีพีหรือไม่ แต่ถ้าไม่เข้าร่วมไทยจะมีปัญหาเรื่องขีดความสามารถการแข่งขันที่อาจสู้มาเลเซียหรือเวียดนามไม่ได้ นักลงทุนอาจย้ายฐานไปประเทศเหล่านี้แทน เพราะขยายตลาดได้มากกว่า และไทยเองตอนนี้ก็มีปัญหาขาดแคลนแรงงาน

นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การเจรจานอกรอบน่าจะเป็นทางออกของไทย เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการเข้าร่วมทีพีพีมากนัก ซึ่งการที่มาเลเซียเข้าร่วมทีพีพีด้วยต้องพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศ ถ้าไม่ร่วมอาจทำให้มีต้นทุนการค้าสูง
ขึ้นและอาจโดนกีดกันทางการค้าการเข้าตลาดได้

นางปรียานุช มาลากุล ณ อยุธยา รองประธานกลุ่มอาหาร หอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเข้าร่วมทีพีพี ภาคปศุสัตว์ของไทยจะได้รับผลกระทบแน่นอน จากต้นทุนที่ไม่มีกองทุนใดเยียวยาได้ ดังนั้นต้องพยายามผลักดันให้อยู่ในบัญชีอ่อนไหวให้นานที่สุด โดยระหว่างนี้ก็ใช้กรณีศึกษาจากเวียดนามเป็นตัวอย่างในการเจรจาลดภาษี เพราะเวียดนามเป็นประเทศที่มีความใกล้เคียงกับไทยมากที่สุด